เป็นที่แน่นอนแล้วว่าพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ตกลงร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ หลังจากที่คลุมเครือมานาน ทั้งในแง่ที่ยังไม่ตกปากรับคำเสียที แม้จะร่วมกันโหวตประธานสภาฯ ให้นายชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ และจากนโยบายการหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง ที่ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย มีความคลุมเครือในการบอกว่าจะสนับสนุน/หรือไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช. ในการสืบทอดอำนาจ

แม้ว่าในระหว่างความคลุมเครือนี้ จะเต็มไปด้วยกระแสเสียงทั้งจากฝั่งประชาชนที่เรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยทำตามในสิ่งที่เคยพูดก่อนการเลือกตั้ง (ซึ่งที่จริง สิ่งที่เคยพูดไว้ก็ยังคลุมเครือและมีช่องโหว่อยู่มาก) หรือแม้กระทั่งหลายคนใน ‘7 พรรคฝั่งประชาธิปไตย’ จะคอยหยอดขนมหวานเรื่อยๆ ยอมให้ได้แม้กระทั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี (1, 2)

แต่สุดท้าย…พวกเขาก็ไม่มา ว่าแต่ทำไม

1.ประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง

สำหรับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งปัจจุบันมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรค อดีตได้รับการขนานนามว่า “พรรคงูเห่า” จากกลุ่มเพื่อนเนวิน ซึ่งถูกเรียกว่า “กลุ่มงูเห่า 2551” (กลุ่มงูเห่าออริจินัลคือ กลุ่ม ส.ส. พรรคประชากรไทย ซึ่งมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค แต่กลับหันมาสนับสนุนให้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา เป็นนายกฯ ปลายปี 2540) จากเหตุการณ์ที่กลุ่มเพื่อนเนวิน ซึ่งเดิมสังกัดพรรคพลังประชาชนหันมาสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาลในปลายปี พ.ศ. 2551 ภายหลังจากที่พรรคพลังประชาชนถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรค

รวมไปถึงการที่นายเนวิน ชิดชอบ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เปิดแถลงข่าวร้องห่มร้องไห้ในวันที่ 7 เมษายน 2552 อันเป็นชนวนใหญ่แตกหักอย่างไม่เผาผีระหว่างนายเนวิน ชิดชอบและทักษิณ ชินวัตร หรือพรรคเพื่อไทยในเวลาต่อมา

ซึ่งปัจจุบันแม้ว่านายเนวิน ชิดชอบ จะประกาศยุติบทบาททางการเมืองทั้งหมดแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาคือผู้มีอิทธิพลอย่างมากในพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรคในตอนนี้ การที่พรรคภูมิใจไทยจะเข้าร่วมกับฝั่ง ‘ประชาธิปไตย’ ซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ (และถูกมองว่ามีทักษิณ ชินวัตรอยู่เบื้องหลัง) จึงเป็นไปได้ยากเมื่อวัดจากความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในอดีต

ในขณะเดียวกันทางฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีความแตกร้าวแบบละเอียดเป็นผุยผงมากกว่า จากกรณีการล้อมปราบการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ในยุคซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

ความขัดแย้งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่แค่ความขัดแย้งทางการเมืองของพรรคหรือนักการเมืองเท่านั้น แต่มันยังเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่และลึกที่สุดในสังคมไทยฝังรากลงไปสู่ประชาชนและฐานคะแนนเสียงของทั้งสองพรรค ที่ไม่อาจจะประนีประนอมกันได้ในนามเสื้อเหลือง- เสื้อแดง เพราะฉะนั้นถึงแม้ก่อนเลือกตั้งปี 2562 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะประกาศว่าไม่สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพรรคประชาธิปัตย์และฐานคะแนนเสียงพรรคประชาธิปัตย์จะสามารถจับมือกับพรรคเพื่อไทยได้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาก่อน และมันทำให้การร่วมมือกัน อยู่ฝั่งเดียวกันในการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้เป็นไปได้ยากยิ่ง

2.เก้าอี้นายกฯ VS เก้าอี้รัฐมนตรี

มีการคาดการณ์กันไว้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งว่า การเลือกตั้งครั้งนี้แม้จะมีการตั้งรัฐบาลได้ ไม่ว่าฝั่งไหนก็ตาม ก็คงจะเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพมาก (ซึ่งในตอนนี้เราเห็นแล้วว่าเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ด้วยตัวเลข 254 ต่อ 246 เสียงโดยประมาณ) พร้อมจะมีงูเห่าได้ทุกเมื่อ พร้อมจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ทุกเมื่อ และที่สำคัญก็คือพร้อมที่จะยุบสภาฯ และเลือกตั้งใหม่ได้ทุกเมื่อ ซึ่งมีบางกระแสเสียงบอกว่ารัฐบาลใหม่มีอายุไม่น่าจะเกิน 1 ปีเลยด้วยซ้ำไป

การเป็นนายกฯ ในรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำจึงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ดีมากนัก อีกทั้งยังต้องใช้พลังอำนาจในการต่อรองทางการเมืองขั้นสุดไปตลอดการบริหารประเทศ ตัวเลือกการเป็นนายกฯ จึงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีสำหรับทั้งทางพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ที่มีจำนวนเสียงในสภาฯ น้อย แต่ต้องใช้พลังอำนาจควบคุมการต่อรองของพรรคอื่นๆ ที่มีจำนวนเสียงในสภาฯ มากกว่า

และเมื่อหันมาดูที่เก้าอี้รัฐมนตรีจะพบว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่ามาก ยกตัวอย่างพรรคภูมิใจไทย กับการต่อรองเก้าอี้ รมว. คมนาคม (นายอนุทิน เป็นบุตรชายของผู้บริหารบริษัท ซิโนไทย ซึ่งรับเหมาก่อสร้างรัฐสภาฯ ใหม่อยู่ในขณะนี้) รมว. สาธารณสุข แน่นอนว่าตอบรับกับนโยบายกัญชา หรือแม้กระทั่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่เข้าทางผู้มีอิทธิพลในพรรคอย่างนายเนวิน ชิดชอบ

เพราะฉะนั้นอย่างที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้กล่าวไว้ว่า ไม่ได้เข้ามาเพื่อแสวงหา “อำนาจ” การเป็นนายกรัฐมนตรีมีอำนาจก็จริง แต่การเป็นรัฐมนตรีได้อย่างอื่นที่เหมาะสมและดีกว่า “อำนาจ” ด้วยซ้ำไป

3.พลังแห่งอำนาจเก่า

จากข้อที่แล้วในเรื่องอายุของรัฐบาลใหม่ที่อาจจะสั้น และพร้อมจะมีการเลือกตั้งใหม่ได้ทุกเมื่อ ยังมีคำถามและช่องโหว่ตามมาว่า แล้วถ้าเป็นเช่นนั้นประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ไม่กลัวการเทคะแนนเสียงของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรอกหรือ หากการตัดสินใจเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐในครั้งนี้เป็นการผิดคำพูดที่เคยให้ไว้กับประชาชน

    อย่างแรก…เราต้องแยกเสียงประชาชนในโซเชียลมีเดียกับเสียงฐานคะแนนจริงในพื้นที่ออกจากกันให้ได้เสียก่อน พรรคภูมิใจไทยมีฐานเสียงเหนียวแน่นทั้งในจังหวัดบุรีรัมย์ นครราชสีมา ศรีสะเกษ ปราจีนบุรี และภาคใต้ ภาคกลางและภาคตะวันออกกระจายเป็นหย่อมๆ เช่นเดียวกันกับพรรคประชาธิปัตย์ที่แม้คะแนนเสียงจะลดลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่ด้วยความที่เป็นพรรคเก่าแก่ก็ยังคงมีฐานเสียงและผู้สนับสนุนอยู่ (ในกรณีของประชาธิปัตย์ที่ได้รับคะแนนเสียงลดลง ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าเกิดจากภาพลักษณ์ของพรรคโดยตรง หรือการเกิดขึ้นของสองพรรคใหม่อย่างพลังประชารัฐและอนาคตใหม่ หรือเป็นเพราะทั้งหมดแต่มีสัดส่วนเท่าใดจริงๆ กันแน่)

แต่ถึงอย่างนั้นภายใต้กติการัฐธรรมนูญใหม่ ในการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ก็ยังส่งผลให้ทั้งสองพรรคได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น กลายเป็นสองพรรคขนาดกลางที่มีอำนาจการต่อรองสูง และเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ เพราะฉะนั้นข้อที่หลายคนหยิบยกขึ้นมาว่า “การเลือกตั้งครั้งหน้าสูญพันธุ์แน่” จึงไม่ใช่ข้อกังวลสำหรับพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย เพราะมันยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา หรืออีกหลายปัจจัยที่ทำให้ได้เก้าอี้ ส.ส. เพิ่มขึ้นมาได้ เช่น การโยกย้ายซื้อตัวนักการเมือง (เหมือนอย่างที่พลังประชารัฐ พรรคเกิดใหม่ทำ)

และไม่ใช่แค่การประเมินกำลังฐานเสียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการประเมินพลังของกลุ่มอำนาจเก่าที่ทำให้เห็นว่าฝั่งนี้จะยังคงกุมอำนาจไปได้อีกนานเสียด้วย ซึ่งพิจารณาได้จากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีการออกแบบและวางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพในการนำมาใช้ตีความเพื่อผลประโยชน์ตน ทั้งการคำนวณระบบ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ระบบ ส.ว. องค์กรอิสระอย่าง กกต. หรือศาลรัฐธรรมนูญที่สามารถสอดรับกันได้เป็นอย่างดี และสามารถอ้างได้ว่า “เป็นการกระทำตามบทบัญญัติกฎหมาย” โดยที่ไม่สามารถคัดค้านทัดทานได้ หรือได้แต่ไม่มีผล

ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จากพรรคเล็กทั้ง 11 พรรค (ก่อนจะลดเหลือ 10 พรรคและ พปชร. ปชป. ได้มาอีกพรรคละ 1 ที่นั่ง) ที่มาจากการใช้สูตรคำนวณของ กกต. ที่มีดุลยพินิจกระทำได้ตามกฎหมาย ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ “เกมพลิก” หลังจากที่ก่อนหน้านี้ดูเหมือนว่าฝั่งพลังประชารัฐจะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ และฝั่ง 7 พรรคประชาธิปไตยดูเหมือนจะมีความชอบธรรมมีเปอร์เซ็นต์ในการจัดตั้งรัฐบาล

รวมไปถึงยังสามารถสร้างความมั่นใจได้ว่า “การออกแบบ” รัฐธรรมนูญทำไว้ได้เป็นอย่างดี เป็นตัวการันตีได้ว่ากลุ่มอำนาจเก่าสามารถ “คุมเกม” ไว้ได้ ซึ่งความมั่นใจในการคุมเกมนี้จะรวมไปถึง กกต. หรือศาลรัฐธรรมนูญด้วยก็ได้ และที่สำคัญ การจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้นมีความเป็นไปได้ยาก หรือในความเป็นไปได้นั้นจะต้องใช้เวลานานมากกว่า 1 สมัยของรัฐบาลเลยทีเดียว แม้ทางฝั่ง ‘7 พรรคประชาธิปไตย’ จะได้เป็นรัฐบาลในสมัยนี้แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถปลดล็อกรัฐธรรมนูญ และโครงสร้างอื่นๆ ได้เลยทันที นั่นยิ่งทำให้เห็นว่าอาวุธที่ถูกออกแบบและสร้างขึ้นมาอย่างดีนี้จะมีประสิทธิภาพในการใช้งานไปอีกนาน

ไม่เพียงแค่นั้น หากเราพิจารณาประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะพบว่า อีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็คือ การเมืองบนถนน ม็อบ หรือการชุมนุมทางการเมืองนั่นเอง แต่จากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมปี 2553 ก็ทำให้เห็นแล้วว่า คงไม่มีใครอยากจะลงไปบนถนนอีก เพราะไม่อยากก่อให้เกิดความรุนแรงและการเสียเลือดเสียเนื้อเสียชีวิตอีกครั้ง แม้กระทั่งธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เอง ที่แม้ประเด็นทางการเมืองของเขาอาจจะเป็นประเด็นที่ “จุดติด” แต่เขาเองก็เคยประกาศแล้วว่าจะไม่มีการนำประชาชนไปลงถนนแน่นอน (หรือหากประกาศ ก็ยังไม่แน่ใจว่ากลุ่มคนที่เป็นฐานเสียงของอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นคนชนชั้นกลางรุ่นใหม่จะพร้อมลงถนนไปด้วยหรือไม่) หรือแม้แต่ทางฝั่งพรรคเพื่อไทยที่เต็มไปด้วยมวลชนก็ตาม

จากกุญแจสำคัญอีกหนึ่งดอกนี้ ยิ่งทำให้กลุ่มอำนาจเก่าเห็นว่าสามารถ “คุมเกม” ได้อย่างเบ็ดเสร็จและยาวนานต่อเนื่องไปได้อย่างแน่นอน และหากจะมีความขรุขระอยู่บ้าง มันก็จะเป็นความขรุขระที่สามารถก้าวผ่านไปได้ด้วยอำนาจและสิ่งที่ถูกออกแบบสร้างไว้มารองรับ อย่างที่เราเห็นมาโดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเรื่องนาฬิกา งบประมาณฯ การออกกฎหมาย การไม่แสดงทรัพย์สิน การไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ฯลฯ เรื่อยมาจนถึงการเลือกตั้ง และจนจะตั้งรัฐบาลได้แล้วในอีกไม่กี่วันนี้

แฮชเท็กอันดับหนึ่งบนทวิตเตอร์ไม่ช่วยอะไร การล่ารายชื่อใน change.org ไม่ช่วยอะไร ข่าวบนโซเชียลฯ ไม่ช่วยอะไร การประท้วงหน้าหอศิลป์ ไม่ช่วยอะไร แม้กระทั่งการเลือกตั้งที่มีพรรคที่มีที่นั่งในสภาฯ มากกว่าก็ไม่ช่วยอะไร ฯลฯ

ไม่ได้หมายความว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีความหมาย แต่มันไม่สามารถทำลายโครงสร้างของการออกแบบที่ออกแบบมา “คุมเกม” ไว้ได้ และมันก็จะเป็นเพียงข่าวแล้วข่าวเล่าแล้วก็จบไป ประเดี๋ยวก็มีข่าวใหม่เกิดขึ้น แล้วก็จบไปอีกเช่นเคย

เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกใจที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยจะเลือกร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะมันอุ่นใจกว่าเห็นๆ ที่สำคัญจากปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา มันทำให้เห็นว่าใคร “คุมเกม” อยู่ และดูท่าจะคุมเกมต่อไปอีกนาน…เท่านาน

 

Tags: , , ,