กว่า 46 ปีแล้ว ที่เหยื่อความรุนแรงในเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 มักถูกจดจำในฐานะตัวเลขของความตาย ขณะที่เรื่องราวเกี่ยวกับเขา เกี่ยวกับตัวตน ครอบครัว รวมถึงอุดมการณ์กลับถูกละเลย เลือนหายไปตามเวลา

กว่า 46 ปีแล้ว ที่เหยื่อความรุนแรงในเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาฯ หลายคนยังคงไร้ชื่อ ไร้ตัวตน ไร้ครอบครัว ไร้เรื่องราว และไร้ศพ

กว่า 46 ปีแล้ว ที่ผู้อยู่เบื้องหลัง ผู้มีส่วนร่วมการฆ่าล้างประชาชนในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังคงได้รับอภิสิทธิ์ ลอยนวลเหนือความผิด

“แม้การทำความรู้จักผู้เสียชีวิตเหล่านี้จะไม่ทำให้การวิเคราะห์การเมืองหรือประวัติศาสตร์เปลี่ยนไปแบบมีนัยสำคัญ แต่ขณะที่พวกเขาเสียชีวิต เขาเหล่านี้ถูกทำให้เป็นอมนุษย์ ถูกเหยียบให้ต่ำกว่ามนุษย์ และถูกพรากความเป็นมนุษย์ไปเสียแล้ว นอกจากการเรียกร้องความยุติธรรมคืนสู่ผู้เสียชีวิตทุกคน การเคารพเขาที่ดีที่สุดคือการให้เกียรติเขาในฐานะมนุษย์ มอบความเป็นปัจเจกชน มอบความธรรมดาสามัญคืนให้กับเขา” อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล

ในวาระครบรอบ 46 ปี 6 ตุลาคม 2519 เราชวนทุกคนมาทำความรู้จักถึงชื่อ ตัวตน รายละเอียดของผู้เสียชีวิต เพราะพวกเขาเหล่านี้มีชื่อ มีนามสกุล มีครอบครัว มีพ่อแม่พี่น้อง และพวกเขามีหน้าตา

มาร่วมกันขับเรียกชื่อ ส่งต่อเรื่องราวของผู้เสียชีวิต คืนความเป็นปัจเจกชนให้เขามากที่สุดเท่าที่จะทำได้

1. วิชิตชัย อมรกุล อายุ 19 ปี

มรณะ: 6 ตุลาคม 2519 สาเหตุ: แขวนคอที่ต้นมะขาม, เก้าอี้ฟาด

วิชิตชัย อมรกุล หรือ ‘เปี๊ยก’ เกิดและใช้ชีวิตวัยเด็กที่จังหวัดอุบลราชธานี ครอบครัวมีฐานะค่อนข้างดี คุณพ่อเป็นเจ้าของกิจการโรงแรม จบการศึกษาชั้นประถมจากโรงเรียนอัสสัมชัญ เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเซนต์จอห์น และเข้าเรียนชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยเขาได้เริ่มเล่นกีฬารักบี้ ต่อมาเข้าศึกษาต่อที่คณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังคงเล่นกีฬารักบี้ต่อ จนภายหลังได้เป็นประธานชมรมรักบี้ที่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ

วิชิตชัยเริ่มสนใจเรื่องการเมืองหลังจากถูกหมอสั่งห้ามเล่นกีฬา ด้วยนิสัยรักความยุติธรรม และส่วนตัวเป็นนักกีฬา จึงเข้าร่วมกับขบวนการนักศึกษาในฐานะหน่วยรักษาความปลอดภัยเวลามีการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งหน่วยรักษาความปลอดภัยของจุฬาฯ ตอนนั้นมีจำนวนไม่ถึง 10 คน

“ไปมาแล้ว เดี๋ยวจะกลับไปอีก จะซื้อข้าวไปให้เขากิน” นี่คือคำพูดหลังจากที่วิชิตชัยบอกกับเพื่อนในกลุ่มว่าจะขอยืมรถไปขนข้าวให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นอาหารมื้อเที่ยงของวันที่ 5 ตุลาคม 2519 พอช่วงบ่ายๆ เขานำรถมาคืน และนี่เป็นครั้งสุดท้ายที่เพื่อนๆ ได้เห็นหน้าเขาขณะที่ยังมีลมหายใจ

วันที่ 6 ตุลาฯ วิชิตชัย อมรกุล ถูกฆ่าอย่างเหี้ยมโหดมากที่สุด เขาถูกแขวนคอที่ใต้ต้นมะขาม ที่สนามหลวง โดยถูกรุมประชาทัณฑ์จากคนไทย ทั้งเตะ ถีบ รวมถึงการนำเก้าอี้ฟาดร่างที่ไร้วิญญาณของเขา โดยมีคนยืนมุงดูอย่างไม่รู้สึกอะไร และบางคนถึงกลับยิ้มเยาะด้วยความพึงพอใจ

2. ปรีชา แซ่เฮีย หรือแซ่เอีย อายุ  25 ปี

มรณะ: 6 ตุลาคม 2519 สาเหตุ: ถูกแขวนคอ

ปรีชา แซ่เฮีย หรือแซ่เอีย ในขณะนั้นเป็นกองบรรณาธิการของนิตยสาร ‘เอเชียวิเคราะห์ข่าว’ ซึ่งเป็นหนังสือที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยให้การสนับสนุน นอกจากนี้เขายังเป็นคอลัมนิสต์แปลบทความภาษาจีนเป็นไทย และรับจัดส่งนิตยสารจากโรงพิมพ์ละแวกบางลำพูไปส่งยังแผงหนังสือต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังเคยเป็นครูสอนภาษาจีนในโรงเรียนจีนแห่งหนึ่งย่านบางรักอีกด้วย

ในวันเกิดเหตุ ปรีชาอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพยายามจะออกจากมหาวิทยาลัย มีความเป็นไปได้ว่า เขาอาจถูกตามโดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบและสกัดเขาไว้ขณะพยายามเดินทางออก

ปรีชาถูกแขวนคอบริเวณใกล้กับตึกราชบัณฑิตยสถาน (ตึกแดง) ช่วงเวลาเกิดเหตุประมาณ 10.45-11.00 น. ภายหลังชันสูตรศพพบว่า ก่อนตายเขาถูกทารุณกรรมอย่างเหี้ยมโหดก่อนจะเสียชีวิต

3. อรุณี ขำบุญเกิด อายุ 19 ปี

มรณะ: 7 ธันวาคม 2519 หลังจากรักษาตัว 3 เดือน สาเหตุ: ถูกยิง

อรุณี ขำบุญเกิด หรือ ‘นี’ นักศึกษานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นชาวจังหวัดชุมพร เธอถูกยิงในวันที่ 6 ตุลาฯ และถูกส่งโรงพยาบาลศิริราช หลังจากรักษาตัวเป็นเวลาสามเดือน อรุณีเสียชีวิตในวันที่ 7 ธันวาคม 2519

เรื่องเล่าเกี่ยวเธอถูกเล่าผ่าน ปรีชา ขำบุญเกิด ลูกพี่ลูกน้อง ว่าเธอเป็นลูกสาวคนสุดท้องของครอบครัว มีพี่ชายต่างแม่หนึ่งคน ครอบครัวเธอเปิดร้ายขายน้ำชากาแฟบริเวณหน้าวัดสุบรรณนิมิตร อำเภอเมืองชุมพร หลังจากเธอเสียชีวิตร้านน้ำชาถูกขายต่อ พ่อบวชเป็นพระ และเสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ส่วนแม่เสียชีวิตไปก่อนหน้านั้น

4. เนาวรัตน์ ศิริรังสี อายุ 23 ปี

มรณะ: 6 ตุลาคม สาเหตุ: ถูกยิง

เนาวรัตน์ ศิริรังสี เป็นนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เขาเรียนและทำงานไปพร้อมกัน ขณะเสียชีวิตเขามีลูกชายอายุไม่กี่เดือน

น้องสาวของเขาเล่าว่า เนาวรัตน์เป็นคนเงียบๆ เรียบร้อย ขยันทำงาน และเป็นคนที่สนใจการเมืองชอบไปฟังการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ เขามีภรรยาและลูกชายอายุไม่กี่เดือนขณะที่เสียชีวิต ในวันที่ 5 ตุลาฯ เพื่อนของเนาวรัตน์ที่เป็นเพื่อนบ้านและเพื่อนที่เรียนมหาวิทยาลัยด้วยกันชวนเขาไปชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาวันที่ 6 เพื่อนคนนี้กลับบ้านและบอกว่าไม่เจอเนาวรัตน์อีกเลย หลังจากนั้น 2-3 วัน ตำรวจสถานีบางกอกน้อยแจ้งมาที่บ้านเพื่อให้ไปดูศพเขา ตำรวจได้มาที่บ้านและตรวจค้น ค้นหนังสือต่างๆ ของเนาวรัตน์ และหลังจากนั้นเป็นต้นมาที่บ้านก็ไม่มีใครต้องการพูดถึงเรื่องนี้อีก

5. วิมลวรรณ รุ่งทองใบสุรีย์ อายุ 20 ปี

มรณะ: 6 ตุลาคม 2519 สาเหตุ: ถูกยิงในแม่น้ำเจ้าพระยา

วิมลวรรณ รุ่งทองใบสุรีย์ หรือ ‘ใหญ่’ หรือ ‘วิ’ เป็นคนจังหวัดสมุทรสงคราม ขณะเสียชีวิตเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะพยาบาลศาสตร์ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี เป็นลูกสาวคนโตของบ้าน เธอเป็นคนเรียนเก่ง ขยันเรียน

โดยเธอมักใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่านหนังสือ ยกเว้นเวลาที่นักศึกษามีกิจกรรมสำคัญ ก็มักจะอาสามาช่วยเสมอ รวมถึงการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ก่อนวันที่ 6 ตุลาฯ โดยวิมลวรรณทำหน้าที่เป็นหน่วยพยาบาลเพื่อมวลชน ที่อยู่ในความรับผิดชอบของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นหลัก ตั้งแต่คืนวันที่ 5 ตุลาคม ซึ่งเธอได้รับผิดชอบหน่วยปฐมพยาบาลบริเวณใต้ตึกเศรษฐศาสตร์ซึ่งอยู่ติดริมน้ำ

ทัศนีย์ ศรีจันทร์ เพื่อนสนิทของวิมลวรรณ เล่าว่า ในวันเกิดเหตุ 6 ตุลาฯ มีเสียงปืนดังขี้นตลอด ทุกคนรู้ว่าไม่มีใครปลอดภัยแล้ว ต้องหนีลงน้ำ โดยเพื่อนที่เป็นการ์ดจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงช่วยให้หน่วยปฐมพยาบาลหนีลงน้ำทีละคน

“วิมลวรรณบอกว่า เขาเป็นคนแม่กลอง ชีวิตผูกพันอยู่กับน้ำมาตลอด อาบน้ำก็อาบในแม่น้ำแม่กลอง ว่ายน้ำได้ ไม่ต้องห่วง แม่น้ำเจ้าพระยา เขาดูแลตัวเองได้ เขาก็เลยลงไปก่อน พวกเราก็เดินตาม ในระหว่างที่กำลังเดินเลาะกำแพงของธรรมศาสตร์ มีเสียงตำรวจน้ำตะโกนบอกว่า นักศึกษาธรรมศาสตร์ที่หนีออกนั้นให้กลับขึ้นฝั่งเดี๋ยวนี้ ไม่งั้นจะยิง พวกเรากลัวกันมาก มีเพื่อนนักศึกษาชายถอดเสื้อ บอกไปว่า พวกเรายอมแพ้แล้วนะ ไม่ทันขาดคำ แป๊บเดียว เสียงปืนดังมาหนึ่งนัด มีเสียงตะโกนว่ามีคนถูกยิง” ทัศนีย์เล่า

ภายหลังทุกคนถึงทราบว่าเพื่อนที่ถูกยิงวันนั้นคือวิมลวรรณ ส่วนแม่ของเธอกล่าวในเหตุการณ์นี้ว่า “นี่คือความหวังของฉัน ลูกคนนี้เป็นลูกที่ฉันหวังเขามากแล้วก็เขาไปก่อนใครๆ ฉันรู้สึกเหมือนไม่มีอะไรเหลือ”

6. ภูมิศักดิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย อายุ 22 ปี

มรณะ: 6 ตุลาคม 2519 สาเหตุ: ถูกยิง

ภูมิศักดิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย หรือภูมิ เป็นลูกชายคนโตคนเดียวของครอบครัวจีน มีน้องสาว 4 คน ครอบครัวทำธุรกิจขนมจีนเล็กๆ ในชุมชนแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านบางโพ ขณะนั้นเขาเรียนชั้นปีที่ 2 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

อัญชลี ศิระศุภฤกษ์ชัย และรุ่งทิพย์ วงศ์งามดี น้องสาวของเขาเล่าให้ฟังว่า เขาเป็นคนพูดน้อยใจเย็น และรักน้องๆ มาก ดูแลเทกแคร์น้องๆ ตลอด ถอดแบบผู้เป็นพ่อมาแทบทุกอย่าง เป็นคนมีน้ำใจ ไม่เคยต่อว่าใคร โดยส่วนใหญ่ครอบครัวจะใช้ให้เขาเป็นคนส่งขนมและสั่งของพวกที่จำเป็นต้องทำขนม เช่น น้ำตาล นอกจากนี้เขายังเป็นคนเรียนเก่ง เขาจบจากมหาวิทยาลัยเกริก และมาเรียนต่อที่รามคำแหง ได้เกรดจีถึง 4-5 ตัว และได้ทุนเรียนฟรี

ในช่วงที่เขาเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ครอบครัวไม่เคยทราบเรื่องที่เขาทำกิจกรรมมาก่อน มารู้หลังจากที่เขาเสียชีวิต ตอนที่มีการสลายการชุมนุม โดยพ่อและญาติออกตามหาตามโรงพยาบาล ตามโรงพัก ฯลฯ ภายหลังเจอในรายชื่อของกรมพลาธิการทหารบก นั่นคือเขาเสียชีวิตไปแล้วเนื่องจากถูกยิงด้วยกระสุนปืน

การเสียชีวิตของภูมิศักดิ์ส่งผลให้พ่อแม่กลายเป็นคนไม่พูด เงียบ จากเดิมเป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใส และพ่อเสียชีวิตทั้งที่อายุไม่ถึง 60 ปี รวมถึงแม่ก็เสียชีวิตทั้งที่อายุไม่ถึง 40 ปี

7. จารุพงษ์ ทองสินธุ์ อายุ 19 ปี

มรณะ: 6 ตุลาคม 2519 สาเหตุ: ถูกผูกคอด้วยผ้าขาวม้าแล้วลากวิ่งไปมากลางสนาม

จารุพงษ์ ทองสินธุ์ หรือ ‘เกี๊ยะ’ เป็นคนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใส สุภาพเรียบร้อย จริงใจ และมุ่งมั่น

ในเช้าวันที่ 6 ตุลาฯ ขณะที่มีการล้อมปราบสังหารนักศึกษาอย่างเหี้ยมโหด จารุพงษ์เป็นคนวิ่งขึ้นลงเพื่อบอกให้เพื่อนๆ รีบหนีไปให้ระหว่างที่ทยอยลงจากตึก เขาก็เป็นคนยืนคุ้มกันให้เพื่อนๆ และหลังจากตรวจสอบแล้วไม่เหลือใคร เขาก็วิ่งไปทางตึกนิติศาสตร์เพื่อไปช่วยลำเลียงผู้บาดเจ็บต่อ แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีใครเห็นเขาอีกเลย

1 สัปดาห์ต่อมา ทุกคนพบเห็นเขาในภาพที่อยู่หน้าแรกของหนังสือพิมพ์ เป็นรูปที่เขากำลังนอนหลับตาอยู่บนสนามฟุตบอลโดยมีชายไทยใช้ผ้าขาวม้ารัดคอและลากเขาไปมาที่สนามฟุตบอล ที่เขาและเพื่อนมักจะเตะฟุตบอลกันบ่อยๆ

ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จินดา ทองสินธุ์ (พ่อ) ได้เขียนจากบันทึก 6 ตุลา พลิกแผ่นดินตามหาลูก เพื่อบันทึกเรื่องราวต่างๆ แต่เขาเขียนไม่จบ หลังจากเหตุการณ์วันนั้น จินดาได้เดินทางจากสุราษฎร์ธานีเพื่อมาตามหาลูกชายที่กรุงเทพฯ โดยเดินทางด้วยรถไฟ ถึงกรุงเทพฯ ในเช้ามืดวันที่ 8 ตุลาคม แต่เขาหาเท่าไรก็ไม่พบ และไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่า จารุพงษ์เสียชีวิตแล้ว

เนื้อหาบางตอนของบันทึกเปิดเผยว่า “บรรยากาศในหอพักนักศึกษาในวันนั้นผิดกับวันก่อนหรือครั้งก่อนๆ… ที่ข้าพเจ้าได้มาเยี่ยมลูก ทุกคนในหอพักในวันนี้ต่างก็มองหน้ากันและเงียบสงัด ไม่มีเสียงจอแจหรือแม้แต่เสียงวิทยุ

“ข้าพเจ้าก็เกิดความวิปลาสในใจทันที ขณะนั้นมองหน้าต่างหอพักที่ลูกอยู่ปิดตาย แต่ใจหนึ่งยังคิดว่าลูกกำลังนอนจึงรีบขึ้นไป แต่ที่ไหนได้ เมื่อเห็นประแจติดประตูไว้อย่างแข็งแรง แต่ลอดมองดูจากข้างฝาเข้าไปภายในได้ตลอด ไม่เห็นลูกเลยแม้แต่เงา

“ตอนนี้จิตใจของข้าพเจ้าเหมือนจะหลุดลอยออกจากร่าง เข่าอ่อนรีบก้าวลงจากหอพัก ขณะลงบันได มีนักศึกษาที่พักอยู่ห้องใกล้ๆ กันเดินสวนทางขึ้น ข้าพเจ้าบอกว่ามาหาลูกจารุพงษ์ เพียงเท่านั้นนักศึกษาคนนั้นนํ้าตาไหลพรากบอกว่า จารุพงษ์เขาไม่กลับมาหอพักตั้งแต่วันก่อนเกิดเหตุ 1 วัน คือวันที่ 5 ตุลาคม 2519 เมื่อเสียงนี้แว่วเข้าหูข้าพเจ้า ทำให้อื้อจนไม่รู้จะว่าอะไรอีก”

8. มนัส เศียรสิงห์ อายุ 22 ปี

มรณะ: 6 ตุลาคม 2519 สาเหตุ: ถูกยิง

มนัส เศียรสิงห์ ที่บ้านเรียกว่า ‘ปุ๊ก’ แต่เพื่อนเรียกว่า ‘แดง’ เขามีน้องชายคนหนึ่ง เติบโตมากับตาและยายที่บ้านสวน จังหวัดปทุมธานี พ่อกับแม่แยกทางกัน พ่อเป็นชาวอินเดีย ส่วนแม่เสียชีวิตตั้งแต่เขายังเด็ก เขาเป็นนักศึกษาวิทยาลัยเพาะช่าง โดยได้เข้าร่วมการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและสังคมที่ดีกว่ากับขบวนการ 14 ตุลาฯ เป็นสมาชิกของกลุ่ม ‘แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย’ และอาสารับหน้าที่เป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเสียชีวิต

เขาขาดการติดต่อกับครอบครัวตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม โดยที่ตายาย ญาติๆ ไม่รู้ว่าเขาเสียชีวิต ในวันที่ 6 ตุลาฯ เขาถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อครอบครัวเขาไม่ทราบว่าเสียชีวิต ร่างของเขาจึงถูกระบุไว้ในเอกสารชันสูตรว่า ‘ชายไทยไม่ทราบชื่อ’ ภายหลังครอบครัวคิดว่าเขาคงเสียชีวิตแล้ว เพราะรู้ว่าเขาเข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษา จึงอยากได้ศพของเขามาประกอบพิธีทางศาสนา

9. สุพล พาน (บุญทะพาน) อายุ 24 ปี

มรณะ: 6 ตุลาคม 2519 สาเหตุ: ถูกยิงขณะพยายามพาคนเจ็บไปโรงพยาบาล

สุพล พาน (บุญทะพาน) เป็นลูกชายคนที่สองของบ้านที่มีลูก 5 คน เป็นคนจังหวัดอุดรธานี ลูกทั้ง 5 คนอยู่กับแม่ที่หย่าร้างกับพ่อ ครอบครัวมีรายได้จากการต้มถั่วและมันขาย เขาออกจากโรงเรียนหลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เพื่อทำงานช่วยเหลือที่บ้าน และส่งเสียน้องเรียน โดยทำงานเป็นคนขับรถตู้ส่งของให้กับร้านค้าต่างๆ และเปิดขายของเองบางครั้ง

สุพลเคยเกลียดชังการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษา เพราะเขาเคยเป็นทหารเกณฑ์ และได้รับฟังเรื่องเลวร้ายของนักศึกษามาจากค่ายทหาร ในขณะที่พี่ชายของเขา สมทัด บุญทะพาน มีความคิดสนับสนุนกลุ่มนักศึกษาจึงบอกให้เขาลองไปฟัง และร่วมชุมนุมกับนักศึกษาเพื่อทำความเข้าใจดู ภายหลังการฟังอภิปรายของนักศึกษาทำให้เขาเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหว และบอกกับพี่ชายว่าปรารถนาจะทำงานต่อสู่เสียสละเพื่อสังคม

สุพลเข้าร่วมการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาฯ โดยขับรถตู้ที่บ้านเพื่อช่วยพาคนเจ็บไปส่งโรงพยาบาล แต่เมื่อเขาพยายามกลับมาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกครั้ง เขาถูกยิงสามนัดที่ศีรษะและหน้าอก

ภาพที่เขาพยายามขับรถเพื่อเข้าไปรับผู้บาดเจ็บภายในธรรมศาสตร์ ถูกถ่ายทอดผ่านข่าวโทรทัศน์ในวันที่ 7 ตุลาคม ซึ่งเป็นภาพที่สุพล ขับรถและพยายามเลี้ยวรถไปมาเพื่อหลบกระสุนปืน แต่ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ผู้บรรยายข่าว กลับกล่าวโจมตีว่าการขับรถซิกแซกเช่นนี้ได้ แสดงว่าคนขับได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ในขณะที่สมทัด พี่ชายของเขากล่าวว่า ถ้าจะมีใครฝึกฝนให้สุพลขับรถเช่นนี้ ก็คงได้รับการฝึกมาจากค่ายทหาร

10. ดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง อายุ 21 ปี

มรณะ: 6 ตุลาคม 2519 สาเหตุ: ถูกยิง

ดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง หรือ อ้อย เป็นลูกชายคนที่ 5 ของครอบครัวใหญ่ที่มีพี่น้องทั้งหมด 12 คน เป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะนั้นเรียนคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นคนที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองตลอด เป็นคนจิตใจดี รักในสิ่งที่ถูกต้อง

นัดดา เอี่ยมคง พี่สาวเล่าว่า ภายหลังเกิดเหตุ 6 ตุลา ก็เดินทางไปตามหาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงแต่ไม่พบ สอบถามเพื่อนฝูงก็ไม่เจอ ตามหาตามโรงพยาบาลก็มักจะเจอแต่คำว่า ‘ชายไทยไม่ทราบชื่อ’ เพราะตอนนั้นยังระบุไม่ได้ว่าเป็นใคร

ข้อความส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์เธอเล่าว่า เช้ามืดวันที่ 7 ตอนเดินทางไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อตามหาน้องชาย พบว่าตึกในมหาวิทยาลัยพรุนไปหมด และคนที่ถูกเผา ก็ยังคงถูกเผาอยู่ ไม่ได้ถูกเก็บไปไหน รอยกระสุนปืนที่ยิงมาจากข้างนอก ตึกแตกกระจายไปหมด ทุกอย่างไม่ได้เป็นอย่างที่เขาประกาศตามวิทยุและทีวี ที่บอกว่าหนีลงหลุม หลุมมันอยู่ตรงไหนกัน มันแค่ตึกธรรมดา

หลังจากหาไม่เจอ จนมาถึงช่วงกลางคืนที่เดินทางกลับบ้าน ก็มีเพื่อนดนัยศักดิ์โทรมาบอกว่า ‘อ้อยเสียแล้วนะ’ เราก็ไปรับศพ และเห็นว่า เขาโดนยิงที่ขาข้างซ้ายและขวา เขานุ่งกางเกงยีนซึ่งถอดไม่ออก จนตอนอาบน้ำศพต้องตัดกางเกง และกางเกงตัวนั้นยังถูกเก็บไว้จนถึงทุกวันนี้

11. อภิสิทธิ์ ไทยนิยม อายุ 21 ปี

มรณะ: 6 ตุลาคม 2519 สาเหตุ: สะเก็ดระเบิดทำลายสมอง

อภิสิทธิ์ ไทยนิยม เป็นลูกชายคนเดียวของบ้านที่มีพี่น้องสี่คน ครอบครัวเรียกเขาว่า ‘น้อง’ เขาเกิดที่จังหวัดจันทบุรี ขณะเสียชีวิตกำลังเรียนชั้นปีที่ 3 คณะเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

บังเอิญ ไทยนิยม (แม่) เล่าว่า เขาเป็นคนอัธยาศัยดี ไม่เกเร วันที่เกิดเหตุพี่สาวของเขาโทร.มาบอกว่า อภิสิทธิ์หายตัวไป อยู่ในสนามหลวงแต่ไม่กลับบ้าน สักพักเขาก็โทร.มาอีกแล้วบอกว่า “เขาบอกให้ไปรับศพ” เราก็ไปรับ เพื่อนเขาบอกว่าเขาถูกยิงมาจากกำแพง โดนที่ขา โดนเส้นเลือดใหญ่กางเกงของเขาเปียกชุ่มไปหมด

จากผลชันสูตรพลิกศพพบว่า เขาเสียชีวิตจากแผลสะเก็ดระเบิดทำลายสมอง นอกจากนี้ ยังมีบาดแผลฉีกขาดที่ขาทั้งสองข้าง

12. พงษ์พันธ์ เพรามธุรส อายุ 20 ปี

มรณะ: 6 ตุลาคม 2519 สาเหตุ: สะเก็ดระเบิด ขณะทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในวันที่ 6 ตุลาฯ

พงษ์พันธ์ เพรามธุรส คนสนิทเรียกเขาว่า ‘เซี้ยะ’ เรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เกิดในครอบครัวใหญ่ย่านบางยี่เรือ ฝั่งธนบุรี มีพี่น้องหลายคนเขาเป็นคนที่ 3 ฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี พี่น้องคนอื่นไม่ได้เรียนหนังสือ แต่พงษ์พันธ์เริ่มทำงานตั้งแต่เด็กๆ เพื่อส่งเสียตัวเองและน้องๆ ให้เข้าโรงเรียน ตอนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เขาเริ่มขายไอศกรีม จากนั้นขายโรตีสายไหม และเมื่อเข้าชั้นมัธยมก็เริ่มทำปอเปี๊ยะขายหน้าโรงเรียน

พี่สาวของเขาเล่าว่า พงษ์พันธ์เป็นคนจิตใจดี มีน้ำใจ รักครอบครัว ช่วยเหลือคนอื่นเสมอ เขามักจะแบ่งอาหารให้เพื่อนๆ กลับไปฝากคนที่บ้าน และย้ำกับน้องๆ ว่าพวกเขาต้องได้เรียนหนังสือ ขณะเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เขาเริ่มทำกิจกรรมนักศึกษาต่างๆ ไปค่าย เดินทางไปภาคอีสานหลายครั้ง ทุกครั้งที่กลับมาก็จะมาเล่าปัญหา สถานการณ์ให้ฟัง พร้อมกับร้องเพลงนักศึกษาสมัยนั้นให้น้องๆ พี่ๆ ในบ้านฟัง จนเป็นแรงบันดาลใจให้พี่สาวเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มนักศึกษาจนถึงตอนนี้อีกด้วย

วันสุดท้ายที่คนในบ้านได้เจอเขาคือช่วงค่ำของวันที่ 5 ตุลาฯ บริเวณสนามฟุตบอลภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะนั้นพี่สาวเข้าร่วมการชุมนุมด้วย แต่พงษ์พันธ์ได้เตือนพี่สาวว่าวันนี้อาจเกิดเหตุการณ์รุนแรงให้ระวังตัว พี่สาวกลับบ้านประมาณเที่ยงคืนเพราะต้องเตรียมตัวมาขายของ

ช่วงตี 5 ของวันที่ 6 ตุลาฯ มีข่าวประกาศออกมาว่า มีการปราบปรามภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พี่สาวจึงนั่งรถเมล์ไปตามหาน้องชายที่บริเวณสนามหลวง แต่เธอไม่สามารถเข้าไปข้างในมหาวิทยาลัยได้ ขณะที่น้องชายของพงษ์พันธ์ ตอนนั้นกำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาและกำลังวิ่งเล่นกับเพื่อนได้ยินเสียงประกาศรายชื่อผู้เสียชีวิตจากวิทยุ หนึ่งในสามรายชื่อแรกมีชื่อของพี่ชายเขาอยู่

13. อับดุลรอเฮง สาตา อายุ 23 ปี

มรณะ: 6 ตุลาคม 2519 สาเหตุ: ถูกยิงศรีษะ

อับดุลรอเฮง สาตา (Abdul Rahim Sata) หรือ ‘อับดุล’ นักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นคนจังหวัดนราธิวาส พ่อเป็นครูสอนศาสนา แม่มีอาชีพขายข้าวยำ ฐานะทางบ้านยากจน เขาเป็นคนแรกของครอบครัวที่ได้เรียนโรงเรียนสายสามัญ และเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐ พี่น้องคนอื่นเรียนโรงเรียนศาสนาทั้งหมด เขามีความหวังว่าจะได้กลับมาทำงานที่หมู่บ้านเพื่อช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขของชุมชน

อับดุลรอเฮงเป็นคนร่างเล็ก ไว้ผมยาวประบ่า เป็นคนสุภาพ เรียบร้อยเงียบ สุขุม ขยันเรียน เขาเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมและการเมืองอยู่เสมอ นอกจากนี้ อับดุลรอเฮงยังเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มสลาตัน ซึ่งเป็นขบวนการนักศึกษามลายูปัตตานีที่ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมและสิทธิมนุษยชนระหว่างปี 2515-2520

กลุ่มสลาตันเข้าร่วมการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม เมื่อถึงตอนเย็นทุกคนกลับมาบ้านเช่าเพื่อพักผ่อนรับประทานอาหาร เพื่อจะกลับไปชุมนุมต่อในวันที่ 6 แต่อับดุลรอเฮงกลับไปชุมนุมต่อในวันที่ 5 ซึ่งเขาทำหน้าที่เป็นหน่วยพยาบาลเพื่อมวลชนของมหิดล เขาถูกยิงที่ศีรษะขณะหลบอยู่ในตึกคณะบัญชีฯ และเสียชีวิตพร้อมกับเพื่อนๆ จากมหาวิทยาลัยมหิดลอีก 2 คน คือ วีระพล โอภาสวิไล และสัมพันธ์ เจริญสุข

หลานสาวของอับดุลรอเฮง เล่าว่า การเสียชีวิตของเขาไม่ได้เป็นเพียงการสูญเสียของครอบครัวเท่านั้น แต่เป็นการสุญเสียของหมู่บ้าน ของตำบลที่มีชายหนุ่มเพียงคนเดียวที่มีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดี และเป็นกำลังในการพัฒนาระบบสาธารณสุข

14. ไพบูลย์ เลาหจิรพันธ์ อายุ 22 ปี

มรณะ: 6 ตุลาคม 2519 สาเหตุ: ถูกยิง

 ไพบูลย์ เลาหจิรพันธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่มาเล่าเรื่องราวของเขาไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อ ไพบูลย์เป็นคนจังหวัดเชียงราย ครอบครัวมีฐานะดีและกว้างขวางในจังหวัด การเสียชีวิตของเขาเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดของครอบครัว โดยเอกสารชันสูตรพลิกศพระบุว่า เขาเสียชีวิตจากกระสุนปืน

15. อนุวัตร อ่างแก้ว อายุ 22 ปี

มรณะ: 6 ตุลาคม 2519 สาเหตุ: ถูกยิง

อนุวัตร อ่างแก้ว หรือ ‘แจ๊ค’ เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเด็กกิจกรรมอยู่ชุมนุมวรรณศิลป์ อธึกกิต แสวงสุข เพื่อนสนิทของอนุวัตรเล่าว่า เขาเป็นคนนครนายก อยู่ชมรมวรรณศิลป์ด้วยกัน เมื่อขึ้นปี 3 อนุวัตรได้เป็นรองประธานฝ่ายวิชาการของชุมนุม “แจ๊คเป็นคนนิสัยดี ในแง่ที่ดูแลคนอื่นได้ดี น้องๆ จะรัก เขาเป็นคนที่คอยเทกแคร์น้อง เขาเป็นคนตัวใหญ่ เป็นคนแข็งแรง และเป็นคนอารมณ์ดี เพื่อนล้อได้ เป็นคนที่ช่วยเพื่อนเสมอ เป็นคนมีน้ำใจ เขาเป็นคนลักษณะนั้นมาตลอดตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ ตั้งแต่เรายังไม่ได้เข้าขบวนการนักศึกษา” อธึกกิตกล่าว

ในคืนวันที่ 5 ตุลาคม ทั้งสองคนอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนที่เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มระดมยิง “มันยิงกราดเข้ามาจากด้านพิพิธภัณฑ์ ตรงมาที่หน้าตึกบัญชี กระสุนมาเต็มไปหมดเลย เราพยายามทุบประตูตึกบัญชีเข้าไปเพื่อให้คนเข้าไปหลบ ไม่งั้นก็อาจจะโดนยิงกันเยอะกว่านี้ เพราะว่ามหาวิทยาลัยปิดตึกหมด แจ๊คก็เป็นคนหนึ่งที่พังประตู เขาเป็นคนตัวใหญ่ ค่อนข้างแข็งแรง พังครั้งแรกนี่กระแทกประตูไม่สำเร็จ ครั้งที่สองเขาก็พังได้ แต่เขาถูกยิงพอดี กระสุนเข้าที่ด้านขวา เขาร้องได้คำเดียวว่าถูกยิง เขาไม่ได้เสียชีวิตทันที แต่ก็ไม่สามารถช่วยได้ เพื่อนตรงนั้นพาเขาไปส่งหน่วยแพทย์มหิดล แต่อาการหนักมาก แล้วไม่มีรถพยาบาลเลย ถูกปิดล้อมอยู่ เขาก็เสียชีวิต”

อนุวัตรเสียชีวิตจากการถูกยิงขณะพยายามกระแทกดันประตูคณะบัญชีเพื่อให้เพื่อนๆ ได้เข้าไปหลบภัยจากกระสุนปืนที่เจ้าหน้าที่กระหน่ำยิงลงมาจากฝั่งพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ตามเอกสารชันสูตรพลิกศพ เขาเสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนปืนบริเวณช่องท้อง

หลังเขาเสียชีวิตครอบครัวยังถูกทำร้ายจิตใจจากสังคม จากเพื่อนบ้านที่มาด่าทอ มาประณามว่า ไม่มีเงินส่งเสียลูกหรือไง ถึงต้องให้ไปรับเงินคอมมิวนิสต์ ภายหลังหนังสืองานศพที่ชุมนุมวรรณศิลป์พิมพ์ไปให้และของที่เกี่ยวข้องกับอนุวัตรถูกเผาทิ้งไปหลายอย่าง

16. บุนนาค สมัครสมาน อายุ 22 ปี (แต่รายงานชันสูตรพลิกศพระบุว่าอายุ 18 ปี)

มรณะ: 6 ตุลาคม 2519 สาเหตุ: ถูกยิงศีรษะ

บุนนาค สมัครสมาน นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นคนจังหวัดสุรินทร์ ครอบครัวมีอาชีพทำนา เขาเป็นลูกคนเดียวของบ้าน และมีโอกาสได้เรียนหนังสือสูงที่สุดในหมู่ญาติ ภายหลังครอบครัวทราบว่าเขาเสียชีวิต แม่ใช้เวลานับ 10 ปี ในการทำใจยอมรับการสูญเสีย

ผู้เล่าเรื่องราวของบุนนาค เป็นลูกพี่ลูกน้องที่ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อ ผลการชันสูตรศพพบว่า เขาเสียชีวิตจากการถูกยิงศีรษะ สมองถูกทำลาย

17. อัจฉริยะ ศรีสวาท อายุ 23 ปี

มรณะ: 6 ตุลาคม 2519 สาเหตุ: จมน้ำ

อัจฉริยะ ศรีสวาท หรือ ‘ไข่’ เป็นลูกชายคนเดียวของครอครัวชาวสวน จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียนอยู่ปี 3 วิทยาลัยกรุงเทพฯ (มหาวิทยาลัยกรุงเทพ) โกศล ศถุงคาร ลุงของเขาล่าว่า อัจฉริยะเป็นคนตั้งใจเรียน หัวดี เป็นคนนิสัยดีมาก เป็นคนรักเพื่อน รักพี่น้องครอบครัว เป็นคนกว้างขวางมีเพื่อนเยอะ ทำอะไรทำจริง โดยอัจฉริยะมีความสนใจทางการเมือง และเข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษาอย่างแข็งขัน จนโกศลกังวลว่าจะกระทบการเรียน จนต้องให้พ่อแม่ของเขาขึ้นมากรุงเทพฯ เพื่อขอให้เขาหยุดกิจกรรมทางการเมือง และเขาสัญญาว่าจะยอมหยุด

“แต่อัจฉริยะเข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 5 ตุลาฯ ทำให้วันที่ 6 ตุลาฯ เขาผิดนัดที่ต้องไปส่งน้องสาวที่สถานีรถไฟหัวลำโพงซึ่งเขาไม่เคยผิดนัดมาก่อน ที่เขาผิดนัดนั้น เขาตายแล้ว เขาต้องตายคืนหนึ่งแล้ว เขาลอยน้ำมาคืนหนึ่งแล้ว อย่างอัจฉริยะนี่รู้อยู่ว่าเขาว่ายน้ำไม่เป็น” โกศลกล่าว

ตำรวจตรวจพบร่างของอัจฉริยะ ในวันที่ 7 ตุลาคม บริเวณท่าน้ำหน้าสถานีตำรวจคลองสาน เขาเสียชีวิตจากการจมน้ำ

18. สุรสิทธิ์ สุภาภา อายุ 24 ปี

มรณะ: 6 ตุลาคม 2519 สาเหตุ: ถูกยิง กระสุนทะลุหัวใจ

สุรสิทธิ์ สุภาภา หรือ ‘อู๊ด’ เป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช เขาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล น้าชาย ผู้ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเขาว่า เขาเป็นคนเงียบๆ เรียบร้อย ช่างคิด ใจเย็น เรียนดี เป็นที่รักของครอบครัวและเพื่อนๆ

รายงานชันสูตรพลิกศพระบุว่า เขาถูกยิง กระสุนทะลุหัวใจ เลือดตกในเสียชีวิตในทันที

19. ยุทธนา บูรศิริรักษ์ อายุ ไม่ทราบ

มรณะ: 6 ตุลาคม 2519 สาเหตุ: ถูกยิง

พงษ์พันธ์ เพรามธุรส เพื่อนของยุทธนาเล่าว่า เขาเป็นคนสนุก ร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส เพื่อนฝูงต้องการอะไร เขาก็จะพยายามหามาให้ เช่น ไม่มีน้ำกินตอนชุมนุม เขาก็จะพยายามหามาให้ เขาเสียชีวิตเพราะถูกยิง

20. กมล แก้วไกรไทย อายุ ประมาณ  19 ปี

มรณะ: 6 ตุลาคม 2519 สาเหตุ: ถูกยิง กระสุนทะลุช่องปอด

กมล แก้วไกรไทย หรือ ‘คม’ หากดูในรายงานชันสูตรเขาคือ 1 ใน 6 รายงาน ‘ชายไทยไม่ทราบชื่อ’ ศพที่ระบุตัวไม่ได้ สุดท้ายไม่มีญาติมารับศพ

รายชื่อเหยื่อความรุนแรง ที่โครงการ ‘บันทึก 6 ตุลาฯ’ อยู่ระหว่างเรียบเรียงสืบค้น 

21. มนู วิทยาภรณ์

22. สัมพันธ์ เจริญสุข

23. สุวิทย์ ทองประหลาด

24. วีระพล โอภาสวิไล

25. สุพจน์ พันธุ์กาฬสินธุ์

26. ภรณี จุลละครินทร์

27. วัชรี เพชรสุ่น

28. ชัยพร อมรโรจนาวงศ์

29. สงวนพันธุ์ ซุ่นเซ้ง

30. สมชาย ปิยะสกุลศักดิ์

31. วิสุทธิ์ พงษ์พานิช

32. ศิริพงษ์ มัณตะเสถียร

33. วสันต์ บุญรักษ์

34. ชายไทยไม่ทราบชื่อ ถูกสะเก็ดระเบิดที่ศรีษะ

35. ชายไทยไม่ทราบชื่อ ถูกกระสุนปืนเข้าช่องปอด

36. ชายไทยไม่ทราบชื่อ ถูกกระสุนปืน

37. ศพถูกเผาไม่ทราบชื่อที่ 1

38. ศพถูกเผาไม่ทราบชื่อที่ 2

39. ศพถูกเผาไม่ทราบชื่อที่ 3

40. ศพถูกเผาไม่ทราบชื่อที่ 4

 

ที่มา: บันทึก 6 ตุลา

Tags: , , ,