ผมรู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นผู้ใหญ่ในแบบที่สังคมคาดหวัง
เขาไม่ได้มีมาดแบบคนรุ่นใหญ่ หรือสร้างช่องว่างระหว่างวัยจนผมรู้สึกอึดอัด ผมเห็นเขาสะพายเป้ Freitag สีดำล้วน อดไม่ได้ที่จะชวนเขาคุยเรื่องกระเป๋าแบรนด์โปรดทั้งของเขาและของผม
“ที่บ้านมีอยู่ 30 กว่าใบ สีดำล้วนราคาสูงกว่าปกติเพราะเป็นสีหายาก แต่ผมจะมีคนคอยชี้เป้าให้เวลามีสีนี้เข้ามา” ป๋าเต็ดเล่าให้ฟัง
ตลอดบทสนทนา เขาคุยอย่างออกรสออกชาติราวกับเป็นเด็กที่กำลังเห่อของเล่นใหม่ จนผมลืมไปเลยว่าป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม อายุ 50 ปีแล้ว แต่เหมือนผมกำลังคุยกับเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอกันนานมาก ที่กำลังอัพเดตชีวิตในรอบปีที่ผ่านมาให้ฟัง ทั้งเรื่องการตัดสินใจออกจากแกรมมี่มาตั้งบริษัททำอีเวนท์ของตัวเอง และกำลังมีโปรเจ็กต์ Yak Fest ไลฟ์สไตล์เฟสติวัลเก๋ๆ ที่จะมีขึ้นช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้
รวมไปถึงการทบทวนชีวิตการทำงานในวงการเพลงและจัดอีเวนท์ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งที่ประสบความสำเร็จและความล้มเหลวที่ไม่ได้เป็นสิ่งเกินรับได้สำหรับเขา
ผู้ชายคนหนึ่งที่หัวใจยังเป็นวัยรุ่นอยู่เสมอ
ทำไมคุณถึงตัดสินใจออกจากแกรมมี่มาเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง
มันหลายอย่างผสมกัน แต่โดยหลักคือเริ่มมีงานบางลักษณะที่ผมอยากทำ และอาจจะสะดวกกว่าถ้าออกมาตั้งบริษัทเอง สมมติถ้ายังทำอยู่แกรมมี่ ผมก็ต้องดูเรื่องภาพรวมธุรกิจเป็นหลักด้วย แต่สำหรับงานที่เรามีแพสชั่น เป็นโปรเจ็กต์ส่วนตัวที่อาจไม่เป็นประโยชน์ และทำให้สมาธิกับความรับผิดชอบของเรากับงานที่แกรมมี่ลดลง มันก็คงดูไม่แฟร์นัก
ผมก็คุยกับคุณไพบูลย์ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ) ท่านก็เข้าใจว่าการที่เราออกมาตั้งบริษัทเอง อย่างแรกเราไม่ได้ทำธุรกิจแข่งกับแกรมมี่ เพราะว่างานไหนก็ตามที่ผมยังทำให้แกรมมี่ได้อยู่ และเห็นว่าเราเหมาะที่จะเป็นผู้ทำ ก็ยังทำงานร่วมกันได้ ยกตัวอย่างที่ชัดเจนคืองาน Big Mountain คุณเจ๋อ (ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค) เขาบอกว่าเราคือคีย์พาร์ตเนอร์ อะไรที่ยังทำได้ดี ก็ให้เราทำต่อไป
แต่การตั้งบริษัทของตัวเอง มันจะมีโปรเจ็กต์ซนๆ หรือความฝันบางอย่างที่ผมสามารถทุ่มเทให้กับมันทั้งในเแง่ของเวลาและธุรกิจ เพราะเราก็ทำอีเวนท์ออแกไนเซอร์อยู่ จริงๆ น่าจะเรียกว่าอีเวนต์โปรโมเตอร์มากกว่า เพราะว่าเราเน้นการสร้างงานและแบรนด์ของเราเองและให้มันเติบโตอย่างต่อเนื่อง
งานลักษณะนี้ยากมากที่จะทำแล้วได้กำไรมหาศาลตั้งแต่ครั้งแรก แทบจะเรียกว่าเป็นไปไม่ได้เลย มันจำเป็นต้องค่อยๆ สร้างแบรนด์ จากขาดทุน ไปขาดทุนน้อยลง เสมอตัว และกำไร คือต้องใช้เวลา ส่วนใหญ่เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 2-3 ปี กว่าจะเห็นหน้าเห็นหลัง พอเป็นแบบนี้ผมรู้สึกสบายใจว่าไม่ใช่การเอาเงินของคนอื่นมาผลาญในฝันของตัวเอง
เหตุผลที่ออกจากแกรมมี่ ผมไม่ได้อยากรับผิดชอบเรื่องที่ไม่สนุกเท่านั้นเอง ตำแหน่งสุดท้ายตอนที่อยู่แกรมมี่คือรองประธานในฝั่งโชว์บิซ มีหน้าที่ต้องเข้าประชุมบอร์ด เสนอตัวเลข ซึ่งกินเวลาชีวิตผมมาก ผมเบื่อกับการประชุมนานๆ คืออยากเดินแล้วออกมานั่งคิดงานต่อ
บริษัทแก่น 555 จำกัด จะทำงานอีเวนต์แบบไหนบ้าง
เราก็คงจะสร้างสรรค์งานคอนเสิร์ต และเทศกาลดนตรี หรือต่อไปอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับดนตรีเพียงอย่างเดียว อาจจะเป็นอีเวนต์ในเรื่องอาหาร หนัง หรืออื่นๆ ที่เป็น Show Business แต่ถ้าให้อธิบายเพิ่มเติม เรียกว่าเราถนัดและรักที่จะบริหารพื้นที่ อย่างเทศกาลดนตรีมันไม่ใช่แค่คอนเสิร์ต แต่คือการบริหารพื้นที่ให้คนมาอยู่ด้วยกัน ว่าควรจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง อันนี้เป็นเรื่องสนุกที่เราจะทำ
ถ้าเทียบระหว่างคอนเสิร์ตกับเทศกาลดนตรี เราสนุกกับการทำเทศกาลดนตรีมากกว่า ไม่ใช่ว่ารังเกียจคอนเสิร์ตนะ แต่ผมแค่รู้สึกว่าไม่ได้อยากจัดการเรื่องที่อยู่บนเวที แต่อยากจัดสิ่งที่อยู่บริเวณโดยรอบด้วยว่าผู้คนที่มาอยู่ในงาน เขาควรจะได้รับประสบการณ์อะไรบ้าง นอกเหนือจากสิ่งที่เขาเห็นบนเวที
มีตั้งเป้าไว้ไหมว่าในปีหนึ่งจะมีสักกี่งาน
ถ้าเป้าหมายสูงสุดเลยผมอยากมีแค่อีเวนต์เดียวในปีหนึ่ง แต่ขอเป็นอีเวนต์ใหญ่ระดับโลกที่ทำให้เราไม่มีเวลาว่างไปทำอย่างอื่นอีกแล้ว เพราะว่ามันง่ายมากเลยที่เราจะโฟกัสอยู่กับงานเดียว ผมอยากใช้ชีวิตแบบทั้งปีเพื่อคิดงานนี้ เตรียมงานนี้แล้วพอถึงวันงานผมจะอยู่กับมัน พอจบงานวันรุ่งขึ้นเราก็จะคิดงานนี้ของปีหน้าเลย
เพราะจริงๆ แล้วการจัดการอีเวนต์ซับซ้อนและต้องการรายละเอียดสูง ต้องใช้เวลากับมันค่อนข้างเยอะ คือตัวงานอาจจะเกิดขึ้นภายในวันสองวัน แต่ว่ามีงานด้านอื่นที่คนไม่เห็น อย่างเวลาคุณไปเทศกาลดนตรี คุณแค่เห็นว่ามีวงอะไรขึ้นมาเล่น มีบูธอะไรมาขายของ มีอาหารอะไรให้กิน แต่จริงๆ มีสิ่งที่คนดูไม่เห็นเยอะมาก เช่น เรื่องที่จอดรถ สิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลาย ระบบโลจิสติกส์ทั้งหมด
สมมติ Big Mountain มีทั้งหมดแปดเวที สิ่งที่คุณเห็นคือใครขึ้นมาเล่นบ้าง แต่สิ่งที่คุณไม่เห็นคือ เริ่มตั้งแต่ศิลปินเดินทางมา เขาจะเข้างานทางไหนที่ไม่ทับซ้อนกับทางเข้าของคนดู ระบบการคัดกรองและรู้ได้อย่างไรว่าเป็นศิลปินจริง เพราะมีหลายงานที่การ์ดไม่ให้ศิลปินเข้างาน เพราะเขาจำหน้าศิลปินไม่ได้ มันต้องมีระบบที่ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวที่สะดวก
พอเข้ามาแล้วศิลปินจะเดินมาถึงหลังเวทีได้อย่างไรโดยไม่ผ่านผู้คนที่อยู่ในงาน เครื่องดนตรีจะเอาขึ้นบนเวทีอย่างไร ศิลปินกินข้าวที่ไหน พักที่ไหน พอถึงเวลาแสดง รถเริ่มติด ตัวศิลปินที่มาตอนหลังจะเดินทางมาอย่างไร ร้านอาหารที่อยู่ในงาน เขาจะไปล้างจานกันตรงไหน ถ้าของที่ใช้ปรุงอาหารหมด เราจะช่วยเขาได้อย่างไรให้ทัน ซึ่งบางงานใช้เวลาหลายปีกว่าจะลงตัว แล้วเวลาเปลี่ยนสถานที่จัดงานเราต้องมาดีไซน์ใหม่ทั้งหมด
เทศกาลดนตรีมันไม่ใช่แค่คอนเสิร์ต แต่คือการบริหารพื้นที่ให้คนมาอยู่ด้วยกัน
มันเป็นสิ่งที่คนมองไม่เห็นทั้งนั้น เลยทำให้เรารู้สึกว่า ถ้ามีเวลาทั้งปีเพื่อทำงานเดียว เราคงโฟกัสกับงานได้ดีกว่านี้ ทุ่มเทกับมันจนเป็นงานที่สมบูรณ์แบบได้ แต่คงเป็นความฝันอีกยาวไกลกว่าจะเป็นอย่างนั้น คือถ้าไม่มีงานใหญ่งานเดียวที่เลี้ยงดูบริษัทได้ ในที่สุดเราก็ต้องทำงานอื่นมารองรับ เพื่อรอวันที่เราจะทำงานใหญ่นั้นได้ แล้วถึงวันนั้น ผมจะเหลืองานเดียวจริงๆ
กำลังจะถามว่าถ้ารับงานเดียวต่อปี รายได้จะพอเลี้ยงคนในบริษัทหรือ
ไม่ได้ครับ แต่ถ้างานเราใหญ่พอ มันทำได้สบายๆ คือถ้าขนาดของงานใหญ่พอที่จะขายตั๋วได้เยอะ มีสปอนเซอร์ในงานมาก ทำให้รายได้จากงานมากพอที่บางทีไม่จำเป็นต้องมีหลายงานเลย เพราะจริงๆ การมีหลายงานมันเพิ่มความเสี่ยง ไม่ใช่ทุกงานที่ได้กำไร
คุณคิดว่าจะไปถึงความฝันนี้นี่ยากไหม
ก็ต้องคิดว่าเป็นไปได้ไว้ก่อน ไม่งั้นเราจะไม่พยายามต่อ แต่ผมว่าต้องใช้เวลาครับ คงไม่เกิดภายในปีนี้ แต่ปีหน้าไม่แน่ ก็พยายามอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ว่ามีแค่เราอย่างเดียว มีปัจจัยหลายส่วน สภาพเศรษฐกิจโดยรวม พฤติกรรมของคนดู พฤติกรรมในการใช้จ่าย คู่แข่งเขาทำอะไรกันอยู่ ตลาดโลกเป็นอย่างไร ก็ต้องมีจังหวะที่เหมาะสมมันถึงจะทำอย่างนั้นได้
อย่าง Yak Fest ถือเป็นเทศกาลที่เข้าข่ายอย่างที่ว่าไหม
Yak Fest ก็เป็นแพสชั่นแบบหนึ่ง แต่ว่าสเกลงานเราไม่ได้ตั้งใจให้ใหญ่นัก แต่อยากให้มันเข้มข้นมากกว่า คำว่าไม่ใหญ่หมายความว่า Big Mountain เราตั้งเป้าคนดูเฉลี่ยวันละ 7.2 หมื่นคน แต่ Yak Fest เราตั้งเป้าไว้แค่ 1.5 หมื่นคน ซึ่งไม่น้อย แต่สำหรับเราถือว่าเป็นอีเวนต์ขนาดกลาง
หัวใจของ Yak Fest ไม่ได้อยู่ที่จำนวนคน เรากำลังจะเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่มาเที่ยวเทศกาลดนตรี เราอยากให้เป็นเทศกาลดนตรีที่คุณไม่ได้อยากมาดูวงดนตรีวงใดวงหนึ่ง แต่คุณอยากมาทำอะไรบางอย่างที่นี่มากกว่า ดนตรีเป็นเรื่องรอง งานลักษณะนี้เรียกว่า ‘ไลฟ์สไตล์ เฟสติวัล’ มันจะเป็นงานที่ผู้จัดโฟกัสไปที่กิจกรรมที่ผู้ร่วมงานจะได้ทำร่วมกัน บางงานอาจะเน้นในเรื่องศิลปะ การอนุรักษ์ธรรมชาติ การปาร์ตี้ หรือการนำเสนอความคิดสร้างสรรค์
สำหรับ Yak Fest ผมเน้นไปที่การนำเสนอการเชื่อมโยงคอมมูนิตี้ที่หลากหลายให้เชื่อมต่อกัน คือในโลกยุคโซเชียลมีเดีย เราสามารถสร้างคอมมูนิตี้หรือชุมชนได้ง่ายขึ้น คุณสามารถใช้เครือข่ายเฟซบุ๊ก หรือไลน์ สร้างกรุ๊ปขึ้นมาแล้วถ้ารวมคนที่สนใจเรื่องเดียวกันให้เข้ามาคุยกันได้
ตอนเรารีเสิร์ชก็พบว่ามีกลุ่มคนที่สนใจเรื่องการเต้นแจ๊ซ เราก็คิดว่ามีคนสนใจเต้นแจ๊ซกันเยอะขนาดนี้เลยเหรอ คือถ้าใครที่ไม่สนใจเรื่องนี้จะไม่รู้เลยว่ามีเรื่องพวกนี้อยู่ หรือประหลาดที่สุดตอนที่เรารีเสิร์ชคือ คนที่สนใจการดูเมฆ คนเหล่านี้จะเอารูปภาพเมฆมาแชร์กันและก็พูดคุยกันเรื่องเมฆ
ตรงนี้คือแรงบันดาลใจที่ว่า แล้วถ้าเกิดคนที่สนใจเรื่องนี้ มาเจอกับคนที่สนใจอีกเรื่องหนึ่ง มันจะเกิดอะไรขึ้น เขาอาจจะแชร์ความสุนทรียะกัน แทนที่เขาจะสนใจอยู่เรื่องเดียว กลายเป็นว่าเขาสนใจหลายเรื่องเลย Yak Fest มันเริ่มจากตรงนี้
หลังจากที่เรารีเสิร์ชเป็นสิบๆ กลุ่มก็พบเรื่องน่าสนใจเต็มไปหมด แต่ว่าในปีแรก ผมอยากเลือกสักประมาณห้ากลุ่มที่ยังไม่แปลกเกินไป คือพอจะเข้าใจได้ง่าย และแต่ละกลุ่มก็มีแฟนติดตามเหนียวแน่น มีกิจกรรมที่ชัดเจน ก็เลยลองเอามาทำเป็น 5 หมู่บ้าน ได้แก่หมู่บ้านฮิปฮอป หัวหน้ากลุ่มคือ Rap is Now หมู่บ้านออร์แกนิค หัวหน้ากลุ่มคือ Thailand Young Farmers หมู่บ้านปาร์ตี้ หัวหน้ากลุ่มคือ Trasher หมู่บ้านเบียร์ หัวหน้ากลุ่มคือ Stone Head และหมู่บ้านทอล์ก หัวหน้ากลุ่มคือ Glow ที่ทำ TedxBangkok ซึ่งแต่ละหมู่บ้านก็จะมีความบันเทิงเป็นของตัวเอง อาหารการกินของตัวเอง และกิจกรรมต่างๆ ที่จะทำร่วมกันได้ในแบบของตัวเอง
เราใช้เวลาคุยและเตรียมงานกับห้ากลุ่มนี้กันเป็นปี นั่งคุยว่าจะไปทำอะไรกันดีในหมู่บ้าน คือผมจะให้โจทย์เขาไปคิดว่าถ้าเป็นหมู่บ้านจริงๆ ที่มีลานวัดเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน มีตลาดโต้รุ่งและตลาดนัด มีวัฒนธรรมท้องถิ่น ดังนั้นแล้วหมู่บ้านของเขาจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ตอนแรกเราจะปล่อยให้เขาฟุ้งไอเดียกันเต็มที่ แล้วเราก็เอาประสบการณ์ในการทำอีเวนต์มาช่วยเขาตัดออกว่าอันไหนเวิร์กไม่เวิร์ก หรืออันนี้อาจจะไม่เหมาะกับงานลักษณะนี้ ก็เหลาจนในที่สุดลงตัวออกว่าในแต่ละหมู่บ้านควรมีอะไรบ้าง
แล้วตุ๊กตาเป่าลมยักษ์ที่เป็นจุดเด่นของงานนี้มาได้อย่างไร
ตุ๊กตาเป่าลมเกิดขึ้นตอนที่เรากำลังคิดว่ามันมีอีเวนต์แบบไหนที่เราอยากทำบ้าง อยู่ดีๆ วันหนึ่งผมนึกถึงตุ๊กตาเป่าลม เพราะว่าเราไม่จำเป็นต้องทำโครงสร้างอะไรที่ใหญ่โต เราเพียงแค่เป่าลมเข้าไปมันก็จะใหญ่ทันที และถ้าเราใช้เสร็จแล้ว แค่เอาลมออกมันก็จะยุบลงมาพับเก็บใส่กล่อง และเคลื่อนย้ายไปไว้ที่อื่นได้ หรือเก็บไว้ใช้ปีหน้าอีกได้ คือดีต่อผู้จัดงาน เพราะช่วยประหยัดต้นทุน
ถ้าเราจะเพิ่มมูลค่าให้ตุ๊กตาเป่าลม ผมไปนึกถึงตุ๊กตาเป็ดสีเหลืองที่เคยลอยน้ำอยู่ที่ฮ่องกง ก็คิดว่าศิลปินไทยเก่งๆ มีอยู่เยอะแยะ แต่เขาไม่ได้มีโอกาสที่จะทำ เพราะว่าต้นทุนสูง ถ้าเราเชิญศิลปินไทย ฝีมือดี มีเอกลักษณ์ แล้วเราก็ให้ทุนเขาทำตุ๊กตาเป่าลมขึ้นมาคนละตัว มันจะเกิดอะไรขึ้น
คนแรกที่นึกถึงเลยคือ ตั้ม-วิศุทธิ์ พรนิมิตร เพราะเขามีคาแรกเตอร์ที่ดังที่สุดอย่างน้องมะม่วง ลองคิดดูว่าถ้าเขาได้ทำน้องมะม่วงสูง 5 เมตร มันคงตื่นตาตื่นใจดี เราก็ลิสท์ศิลปินคนอื่นๆ มาได้ทั้งหมดเก้าคน ล้วนแล้วเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว เช่น ยุรี เกนสาคู รักกิจ ควรหาเวช P7 และ Alex Face เป็นต้น
ตุ๊กตายักษ์เป่าลมเป็นแก่นของงาน แต่ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นเปลือกด้วย เพราะเรามองว่าเวลาเอาภาพตุ๊กตาเป่าลมโปรโมตออกไป มันเข้าใจง่าย คนเห็นตุ๊กตาเป่าลมเก้าตัว ก็น่าเข้าไปถ่ายรูปด้วย แล้วเวลานึกถึงตุ๊กตาเป่าลม ผมจะนึกถึงความฝัน คนเรามักจะฝันใหญ่เกินจริงเสมอ เหมือนตุ๊กตาเป่าลม เราเป่าแล้วมันใหญ่กว่าเรา มองแล้วมันได้กำลังใจ รู้สึกฮึกเหิม
เวลานึกถึงตุ๊กตาเป่าลม ผมจะนึกถึงความฝัน คนเรามักจะฝันใหญ่เกินจริงเสมอ มองแล้วมันได้กำลังใจ รู้สึกฮึกเหิม
คราวนี้ห้าหมู่บ้านก็ตอบโจทย์ว่า คุณมางานนี้จะอยากมาหมู่บ้านฮิปฮอป แต่เห็นอีกสี่หมู่บ้านข้างๆ ก็เข้าไปดู เคยได้ยินเรื่องของ Trasher ที่ชอบจัดปาร์ตี้ แต่เพิ่งเคยเห็นครั้งแรก ชอบหรือไม่ชอบก็ตัดสินใจอีกที หรือเคยได้ยินเรื่องออร์แกนิคของกลุ่ม Thailand Young Farmers ที่โด่งดังเรื่องฟาร์มไส้เดือน พอไปดูก็จะพบว่าเป็นเรื่องที่สนุกมาก ไม่น่าเบื่ออย่างที่คิด หรือเคยได้ยินเรื่อง TedX แต่ไม่เคยไปฟัง พอไปดูหมู่บ้านของพวก Glow เราก็จะเห็นสิ่งที่เขา curate มาว่าลักษณะการเล่าเรื่องแบบไหนที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมแบบนี้
หลังจากงานนี้กลายเป็นว่าคุณอาจจะอยากฟังทอล์กมากขึ้น สนใจไปปาร์ตี้ของ Trasher มากขึ้น เริ่มสนใจเรื่องอาหารออร์แกนิค เลยเป็นที่มาของสโลแกนเราว่า ‘ลอง แล้ว จะ ยักษ์!’ คือเราอยากให้คุณตัวใหญ่ขึ้น มีโลกที่กว้างเพื่อจะได้มองอะไรที่กว้างขึ้น ได้ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยเจอ หรือสิ่งที่ไม่เคยได้ทำมาก่อน
ฟังเหมือนว่าแนวโน้มของเทศกาลดนตรีจะเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นไลฟ์สไตล์ เฟสติวัลมากขึ้น
ไม่จำเป็น สิ่งที่ผมชื่นชมกับวงการอีเวนท์บ้านเราคือถ้าย้อนไป 7-8 ปีก่อน รูปแบบของเทศกาลดนตรีไม่ได้หลากหลายเท่าทุกวันนี้ มองไปรอบตัวจะเห็นว่าเทศกาลดนตรีหรืออีเวนต์อะไรก็ตามเริ่มมีรูปแบบและไอเดียใหม่ๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นการรวมกันของศิลปินเยอะๆ อย่างเดียวแล้ว มันมีงานอย่างวันเดอร์ฟรุตที่เป็นไลฟ์สไตล์ เฟสติวัล เป้าหมายของเขาก็เป็นอีกแบบหนึ่ง หรืองาน Freeform Festival ก็มีแนวคิดอีกแบบหนึ่ง คือรวบรวมคนที่สนใจในเรื่องหนึ่งมารวมกัน ผมคิดว่าตรงนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดี ฉะนั้นแล้วไม่ได้บอกว่าแนวโน้มจะมีงานแบบไลฟ์สไตล์ เฟสติวัล มากขึ้น แต่ไม่ว่าจะเทศกาลอะไรก็ตาม คุณต้องหาแก่นของคุณให้เจอ แล้วต้องสร้างความแตกต่าง เพราะมันมีเยอะเหลือเกิน คุณต้องสร้างเหตุผลให้คนเลือกที่จะมางานของคุณ เราทำเหมือนกันไม่ได้แล้ว
ขอถามย้อนอดีต อะไรเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณสนใจอยากทำอีเวนต์อย่างพวกงานเทศกาลดนตรี
ตอนนั้นผมเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น มีโอกาสได้ดูวิดีโอภาพยนตร์เรื่อง Woodstock คือตอนนั้นบ้านเรายังไม่มีคำว่า มิวสิคเฟสติวัล หรือเทศกาลดนตรี เคยอ่านแต่ในหนังสือ ไม่เคยเห็นว่าหน้าตาเป็นอย่างไร แต่พอดูหนังเรื่องนี้ โห…เปิดโลกผมเลย ทั้งๆ ที่ ตอนนั้นฟังภาษาอังกฤษยังไม่ค่อยแข็ง
สิ่งที่ Woodstock บอกผมในหนังคือแต่ก่อนเราจะรู้จักแต่คำว่าคอนเสิร์ต เวลาไปนั่งดูคอนเสิร์ตทุกคนนั่งหันหน้าไปทางเดียวกันที่เวที แต่ในมิวสิค เฟสติวัล ทุกคนไม่ได้หันหน้าไปทางเวทีอย่างเดียว มันมีเรื่องอยู่รอบๆ ตัว ในหนังบอกว่าคนเป็นล้านมางานนี้ ผมคิดว่าไอ้คนที่นั่งอยู่หลังสุด มึงดูรู้เรื่องได้ยังไง ตอนนั้นก็ยังไม่มีเทคโนโลยีจอใหญ่ๆ อย่างทุกวันนี้ด้วยนะ
แล้วทำไมเขายังนั่งอยู่ตรงนั้น…แปลว่ามันไม่เกี่ยวกับเรื่องบนเวทีอย่างเดียวแล้ว เขาอาจจะมีความสุขกับการนั่งท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้ หรือถ้าในหนังเห็นภาพรถติดแบบนิ่งสนิทเป็นชั่วโมง จนในที่สุดคนจอดรถทิ้งไว้บนถนนแล้วเดิน ถ้าในความเชื่อของเรา รถติดแล้วจะต้องหงุดหงิด เลี้ยวรถกลับบ้าน แต่ทำไมในหนังเขาจอดรถไว้แล้วเดินไปที่งานอีก ทำไมรถติดหยุดเขาไม่ได้
ถ้าผมเอาตัวผมไปยืนอยู่ใน Woodstock เรื่องที่เกี่ยวกับเพลงจริงๆ มีไม่ถึงครึ่งหนึ่งของงาน มันกลายเป็นบรรยากาศทั้งหมด เป็นสิ่งที่เปิดโลกผมให้เข้าใจว่ามิวสิค เฟสติวัลเป็นอย่างนี้ มันคือการสร้างพื้นที่ และดึงกิจกรรม ส่วนประกอบต่างๆ มาอยู่ด้วยกัน และที่สำคัญที่สุดคือ เติมคนดูเข้าไปแล้วเราเฝ้าดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะผมเชื่อว่าคนจัด Woodstock ก็ไม่รู้หรอกว่าจะเกิดอะไรแบบนี้ ไม่ได้ดีไซน์ไว้ว่าจะเป็นอย่างนี้ เขาคงอยากให้งานเรียบร้อย แต่ด้วยความที่คนมา ร่วมงานก่อให้เกิดเรื่องที่เหนือความคาดหมาย มันเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น และน่าสนุกสำหรับผม
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ผมรู้สึกว่าถ้ามีโอกาสก็อยากจะทำอะไรอย่างนี้บ้าง เพียงแค่ว่าโอกาสที่จะทำงานใหญ่อย่างนี้ยังไม่มี แต่ว่าทุกครั้งไม่ว่าจะมีโอกาสในการทำงานเล็กแค่ไหนก็ตาม ไอ้ภาพจำเหล่านี้ก็จะย้อนกลับมาว่า มันไม่ได้มีแค่เรื่องบนเวที มันมีเรื่องที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวด้วย
ป๋าเต็ดผ่านงานมาแล้วหลายอีเวนต์ มีแนวทางหรือสูตรตายตัวไหมว่าทำแบบนี้แล้วจะออกมาดี
อาจจะมีก็ได้ แต่ผมไม่เคยรู้ว่ามันคืออะไร มีบางคนที่เขาเก่งกว่าผม แล้วสามารถสรุปออกมาเป็นสูตรได้ แต่สำหรับผมแล้วทุกครั้งที่เริ่มต้นงานใหม่ เหมือนเริ่มต้นจากศูนย์ทุกทีเลย อย่างหนึ่งคือผมเป็นคนขี้ลืม และอีกอย่างคือผมคิดว่าบริบทในแต่ละครั้งเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วเมื่อบริบทเปลี่ยนไป ไอ้สิ่งที่จะเกิดขึ้นในนั้น ตั้งแต่สิ่งที่เราคิดจะใส่เข้าไป ไปจนถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงก็จะเปลี่ยนไปด้วย
แต่สิ่งหนึ่งที่เรียกได้ว่ามักเกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตาม คือคนดู เหมือนไก่กับไข่ คุณสร้างอะไรคุณก็ได้คนดูแบบนั้น หรือคุณดึงคนดูแบบไหนมาคุณก็จะได้งานแบบนั้น ดังนั้นการดึงคนดูมาสนุกที่งานได้เยอะที่สุด ยังไงงานก็ออกมาสนุก ไม่เกี่ยวกับว่าศิลปินเป็นใคร หรือโปรดักชันอลังการแค่ไหน เพราะจากประสบการณ์ของผม เคยมีงานที่สนุกเกิดขึ้นตั้งแต่งานเล็กๆ มีคนดูอยู่ 70-80 คน ไปจนถึงงานใหญ่ๆ มีคนดูหลายหมื่น ผมว่าเวลาที่งานลงตัว ความสนุกไม่ต่างกันเลย
เหมือนไก่กับไข่ คุณสร้างอะไรคุณก็ได้คนดูแบบนั้น หรือคุณดึงคนดูแบบไหนมาคุณก็จะได้งานแบบนั้น ผมว่าเวลาที่งานลงตัว ความสนุกไม่ต่างกันเลย
หัวใจสำคัญของคนที่เป็นอีเวนต์โปรโมเตอร์ที่ประสบความสำเร็จคือเขาต้องรู้จักคนดู และเขาก็ต้องรู้ว่าคนดูแบบไหนเหมาะที่จะอยู่ในเทศกาลดนตรี หรือในอีเวนต์ที่เขากำลังจะทำ และทำอย่างไรที่จะดึงคนดูเหล่านั้นมาอยู่ในงานเขาได้ คือไม่ใช่เริ่มต้นจาก ‘เราจะทำอะไร’ แต่เริ่มต้นจาก ‘เราจะทำอะไรให้ใครดู’ มากกว่า
เพราะแต่ละงาน โจทย์ไม่เหมือนกันเลยใช่ไหมครับ
ไม่เหมือนกันเลย ผมยกตัวอย่างย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนทำ Hotwave Rock Marathon เรารู้เลยว่าต้องรับมือกับคนดูที่เด็กมากๆ และมีแนวโน้มว่าจะอารมณ์ร้อน ก็ต้องมีการเตรียมการไว้ หลังจากนั้นเรารู้ว่า ถ้าไม่อยากให้คนกลุ่มนี้มางาน หรืออยากได้กลุ่มคนดูแบบไหน ต้องคิดเรื่องไลน์อัปศิลปินที่ต้องเปลี่ยนไป วงที่เป็นแม่เหล็กจะดึงคนแบบไหนมา เราต้องจัดวงแบบนี้ หรือจัดการบางอย่างที่ให้คนบางกลุ่มมาไม่ได้
มีงานหนึ่งที่ผมเคยจัดแล้วชอบมากเป็นคอนเสิร์ตไมโครชื่อ ‘เติมสีเขียว’ จัดที่ลานจอดรถเซ็นทรัล ลาดพร้าว แค่วันแรกก็มีตีกันจนงานต้องยกเลิก แล้วกลับมาจัดใหม่ในชื่อ ‘เติมสีเขียวหวาน’ ก็ให้ผู้หญิงเข้าเท่านั้น ผู้ชายเข้าไม่ได้ แล้วกลายเป็นคอนเสิร์ตที่เรียบร้อยแต่สนุกสนาน
หรือตอนผมมาทำแฟต เรดิโอ ก็มีวงดนตรีอินดี้หลายวงที่อาจจะไม่ได้มีแฟนเพลงเยอะ เราก็คิดงาน ‘เล็กชิ้นสด’ มีคนดูแค่หลักร้อย แต่เป็นแฟนเพลงตัวจริง แล้วทุกคนร้องเพลงตามได้หมด อย่างคอนเสิร์ตพาราด็อกซ์ ผงาดง้ำค้ำโลก เรารู้ว่าแฟนเพลงพาราด็อกซ์ที่จะซื้อบัตรได้ ราคาบัตรไม่ควรเกินเท่านี้ และจำนวนคนดูอยู่ที่ 4,000-5,000 คน เราคิดแบบนั้นก็จัดขึ้นมา ก็ได้แฟนเพลงจริงๆ กลายเป็นคอนเสิร์ตที่ลงทุนน้อยมากเทียบกับคอนเสิร์ตอื่นๆ ที่เคยทำ ทุกคนมีความสุขมาก เพราะนี่คือคนดูที่ถูกต้องกับการแสดงที่ถูกต้อง บรรยากาศเหลือเชื่อมาก เป็นคอนเสิร์ตที่เรามีความสุขที่สุดเลย
พอมาคิดกับ Big Mountain โจทย์เป็นอีกแบบว่าทำอย่างไรถึงจะเป็นเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือตอนนั้นมีเทศกาลดนตรีเยอะแล้ว เราทำทีหลังก็เราใหญ่และเยอะกว่า คนดูจะหลากหลาย วิธีการบริหาร Big Mountain ก็จะเป็นแบบหนึ่ง แต่ละเวทีคนดูไม่เหมือนกัน ไม่รู้เรียกว่าสูตรหรือเปล่า แต่เราเรียกว่าคนดูคือหัวใจ
ต้องคิดงานให้ใหญ่ไว้ก่อนไหม หรือคิดเล็กก็ได้
คิดเล็กก็ได้ แต่เราจะเอาข้อจำกัดมาเป็นตัวตั้ง หมายความว่าในแต่ละสถานการณ์ หรืองานที่เราจะทำ จริงๆ มีข้อจำกัดอยู่แล้ว แค่เรามองเห็นหรือเปล่า ยอมรับมันไหม หรือหลอกตัวเองว่ามันไม่ใช่ข้อจำกัด
อย่างที่บอกคอนเสิร์ตพาราด็อกซ์ชัดเจนมาก ข้อจำกัดของพาราด็อกซ์คืออะไร ไม่ใช่วงซูเปอร์สตาร์ แต่ในขณะเดียวกันมีแฟนเพลงเหนียวแน่นมาเป็นสิบปี อาจไม่อยากซื้อบัตรแพง อย่าลืมว่าพาราด็อกซ์เป็นวงที่มีเพลงเยอะมาก ตั้งแต่เพลงที่โคตรฮิตไปถึงเพลงที่ใต้ดินมากๆ แฟนเพลงตัวจริงอยากฟังทั้งสองแบบ ตอนที่ทำคอนเสิร์ตก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องเวลาอีก เรามีเวลาคิดแค่เดือนเดียวแล้วเราต้องทำคอนเสิร์ตออกมาให้ได้
ถ้าเราลิสต์ข้อจำกัดทั้งหมดมันจะบอกเราเองว่างานนี้ควรจะเล็กหรือควรจะใหญ่ และจัดที่ไหน ขายบัตรราคาเท่าไร และมีอะไรอื่นในงานบ้าง แต่ปัญหาคือเราลิสต์ข้อจำกัดออกมาให้ครบ แล้วต้องยอมรับและไม่หลอกตัวเอง
แต่หลายครั้งที่เราลิสต์ข้อจำกัดไม่หมด แล้วพลาดจนเจ๊งเลย เช่น ตอนคอนเสิร์ต ดัม – มะ – ชา – ติ ของบอดี้สแลม เราทัวร์ทุกจังหวัด คือหลอกตัวเองอยู่ เพราะมีข้อจำกัดหนึ่งที่เราทำเป็นมองไม่เห็นว่าคนกรุงเทพฯ กับคนต่างจังหวัดมีกำลังซื้อบัตรราคาเดียวกันจริงหรือเปล่า กับว่าคนดูต้องการโปรดักชันยิ่งใหญ่ระดับนี้จริงหรือเปล่า หรือแค่อยากดูบอดี้สแลมเล่นสดเท่านั้น
งานนั้นทำให้เห็นว่าสิ่งที่เราคิดไม่สอดคล้องกับคนดูบอดี้สแลมทั่วประเทศ คือถ้าจัดที่กรุงเทพฯ อย่างเดียว ทั้งหมดสามรอบ บัตรก็ขายหมด แต่พอเราจัดทั่วประเทศ ทำให้เราใช้เงื่อนไขเดียวกันที่อุดรธานี หาดใหญ่ และเชียงใหม่ ไม่ได้ ทั้งที่เป็นเมืองใหญ่ เพราะเอาเข้าจริงมีรายละเอียดเยอะมากกว่านั้นที่เราต้องรู้ จึงเป็นข้อผิดพลาดที่ต้องจดจำเลย คือการเอาความอยากของตัวเองเป็นตัวตั้ง ไม่ได้ดูบริบทและข้อจำกัดโดยรวมที่แท้จริง
นอกจากคอนเสิร์ตของบอดี้สแลม มีงานไหนอีกที่ไม่เป็นไปอย่างที่คิด
เพียบเลย อย่างตอนทำ Fat Festival ครั้งแรกนั่นคอดนตรีรู้ก็บอกต่อ ครั้งที่สองก็เริ่มมีคนมาเยอะขึ้น พอครั้งที่สาม คนที่มาไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าคืออะไร ได้ยินข่าวว่าคนมาเยอะก็แห่กันมา พอครั้งที่สี่ พีคสุด เราจัดที่สนามม้านางเลิ้ง คนมาเยอะเกินความคาดหมาย มองไปรู้เลยว่าคนที่มาไม่ใช่คนฟังของเราแน่ๆ ไม่รู้จักวงที่แสดง มันเป็นความล้มเหลวในแง่การจัดการ
เราไม่พร้อมที่จะบริหารงานที่มีคนดูเยอะขนาดนั้น ไม่ได้เตรียมการรองรับคนดูจำนวนมหาศาล ตอนแรกคิดว่าเอาอยู่ ปรากฏว่ามีจุดรั่วเต็มไปหมด บวกกับปัจจัยภายนอกที่เราคาดไม่ถึง เป็นครั้งที่ผมโดนตำรวจสั่งปิดงาน ไม่ให้จัดต่อ วันแรกตอนห้าโมงเย็น ตำรวจสั่งปิด ผมยืนไหว้ตำรวจอยู่สามแยกนางเลิ้ง ‘เฮ่ยพี่…วันนี้ผมมีศิลปินจากต่างประเทศมา ยกเลิกไปมันเสียหาย ความวุ่นวายจากคนส่วนน้อย เดี๋ยวผมจะจัดการระบบให้ดีขึ้น’
หรือมีความล้มเหลวแบบที่ในเชิงธุรกิจประสบความสำเร็จหมด แต่เราไม่ชอบสิ่งที่เกิดขึ้น รู้สึกว่าเราทำได้ดีกว่านั้นก็มี ตอนทำนิตยสาร DDT ก็เจ๊งเละเทะ แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้ เวลามีเหตุผิดพลาด เราได้อะไรบางอย่างมากกว่าความสำเร็จ มันให้บทเรียนเราเยอะกว่า เราไม่ค่อยเรียนรู้อะไรจากความสำเร็จนะ เรามักจะคิดหรือพูดอะไรก็ถูกหมด ซึ่งบางทีมันอาจจะไม่ถูกก็ได้
แต่เวลาผิดพลาด เราได้กลับมาย้อนมองตัวเองมากขึ้น และต้องยอมรับในสิ่งที่เราอาจจะมองข้ามด้วยความหยิ่งผยอง ความโง่ หรือประสบการณ์น้อย ดังนั้นผมไม่ได้รังเกียจความล้มเหลว ผมมีเรื่องพลาดเยอะ แต่ผมไม่ค่อยให้ความสำคัญกับมันขนาดนั้น ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นจุดบอดของชีวิต
ความล้มเหลวกระทบจิตใจป๋าเต็ดมากน้อยแค่ไหน
ก็มีบ้าง แต่เป็นแรงผลักดันให้ทำงานต่อไปดีขึ้นกว่าเดิม คือผมเริ่มอาชีพจากการเป็นดีเจที่ต้องจัดรายการสด ก็เจอเหตุการณ์ข้อผิดพลาดทุกวัน มีปัญหาเฉพาะหน้าให้แก้ตลอด เพราะฉะนั้นเลย ผมมีนิสัยไม่ตื่นเต้นกับเรื่องข้อผิดพลาด ผมไม่มีนิสัยโวยวายหาคนผิด ถึงเวลาผมจะพุ่งไปที่ปัญหาแล้วมาคิดว่าทำอย่างไรต่อไปดี การฟูมฟายเป็นเรื่องเสียเวลา ถามว่ามีแว้บหนึ่งไหม ก็มีนะ เป็นเรื่องธรรมชาติ ซึ่งผมจะไม่ไปเสียเวลากับเรื่องเหล่านั้น
เวลามีเหตุผิดพลาด มันให้บทเรียนเราเยอะกว่า เราไม่ค่อยเรียนรู้อะไรจากความสำเร็จนะ
แต่เวลาประสบความสำเร็จก็คงจะทำให้รู้สึกดีมากเลย
เคมีในร่างกายสดชื่นเป็นปกติ แล้วจริงๆ คนที่ทำงานด้านนี้จะคิดคล้ายๆ กันหมดคือเหนื่อยฉิบหายเลย รายได้ก็ไม่เยอะ ทำอย่างอื่นรวยกว่า แต่ทุกครั้งที่เราเห็นคนดูปรบมือ ยกมือถือขึ้นมาถ่ายรูป ผมว่าให้ความสุขกับเรามาก ซึ่งเงินซื้อไม่ได้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่ก็อีกนั่นแหละ ในที่สุดภารกิจต่อไปคืองานใหม่จะต้องดีกว่าเดิมอย่างไร
ข้อผิดพลาดแบบไหนในการจัดงานที่คุณคิดว่าต่อไปนี้จะไม่ให้เกิดขึ้นอีก
โดยรวมเป็นเรื่องของการเตรียมตัว คืองานแสดงสด ไม่ได้แปลว่าเราต้องคิดสดทุกอย่าง การเตรียมตัวต้องเยอะกว่าปกติ 100 เท่า อย่าง Big Mountain สอนผมเยอะเลย มีตั้งแปดเวที จะใช้แค่ทีมงานเดียวไม่ได้ เราต้องแบ่งเป็นแปดทีม ในการดูแล ไหนจะเรื่องไฟฟ้า น้ำ ที่จอดรถ ระบบรักษาความปลอดภัย
ด้วยความที่ขนาดของงานใหญ่มาก กว่าเราจะจัดสรรเวลาและวิธีการทำงานจนสามารถให้ทีมงานประชุมกันได้ระหว่างวัน ถ้าจำไม่ผิดผมใช้เวลาห้าปีกว่าจะรู้ว่าเรามีเวลานั่งประชุมกันตอนไหน ฉะนั้นการเตรียมตัวเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
แม้แต่งานที่ไปขายลูกค้าก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่ได้เตรียมพรีเซนเทชันให้ดี เราไม่ได้ขยี้กับมัน เวลาไปพรีเซนต์ก็จะรู้สึกไม่มั่นใจ พูดอะไรก็ดูไม่น่าซื้อ ถ้าผมเป็นลูกค้าผมก็ไม่ซื้อ แต่ถ้าเราเตรียมตัวดี ซ้อมยิงคำถามยากๆ ให้กับตัวเองแล้วให้เราตอบได้ เวลาไปพรีเซนต์ก็จะดี
ป๋าเต็ดบอกว่าชอบทำงานกับวัยรุ่น ชอบสื่อสารกับวัยรุ่น คิดว่าได้อะไรจากการทำงานกับคนกลุ่มนี้บ้าง
วัยรุ่นเป็นวัยที่มีความต้องการความท้าทาย กล้าลอง กล้าพิสูจน์ และวัยรุ่นแต่ละยุคสมัยก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งวัยรุ่นในแต่ละช่วงก็จะมีรสนิยมฟังเพลงและพฤติกรรมแบบหนึ่ง ถ้าเราทำงานกับคนที่อายุมากกว่า ไม่ว่าตอนวัยรุ่นคุณจะไม่เหมือนกันอย่างไร แต่ธรรมชาติของมนุษย์ พอถึงวัยหนึ่งก็จะคล้ายๆ กันไปหมด สถานการณ์มันเยอะและเหลาให้สงบขึ้น ในที่สุดก็จะคล้ายกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่เป็นเรื่องน่าเบื่อ บางทีวัยรุ่นก็จะมีเรื่องจุกจิกเหมือนกัน เรื่องมากบ้าง แต่นั่นคือความสนุกและมันทำให้เราได้เรียนรู้
ผมรู้ว่าตัวเองแตกต่างจากเพื่อนก็วันที่ผมไปงานเลี้ยงรุ่น แต่ละคนก็ทำงานในแวดวงของตัวเอง บางคนเป็นตำรวจ บางคนเป็นนายอำเภอ แต่เรายังดูเหมือนตอนที่เรียนไม่จบ เพราะว่าเรามีบ่อน้ำวิเศษที่ได้ดื่มกินอยู่ทุกวัน ทำให้กระฉับกระเฉงและเป็นประโยชน์ต่อตัวเรา
ไม่ว่าตอนวัยรุ่นคุณจะไม่เหมือนกันอย่างไร แต่ธรรมชาติของมนุษย์ พอถึงวัยหนึ่งก็จะคล้ายๆ กันไปหมด ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่เป็นเรื่องน่าเบื่อ
อาจเพราะการแต่งตัวของคุณด้วยหรือเปล่า
เราไม่จำเป็นต้องสงบเหมือนคนวัยเดียวกันที่เขาสงบกันแล้ว มีอีกหลายเรื่องที่เราคุยกันได้ สังเกตในกรุ๊ปไลน์ บางทีเราก็ได้แต่อ่าน เรื่องที่เขาคุยแต่ละเรื่อง เริ่มมีเรื่องธรรมะเข้ามามากขึ้น คือเรามีได้ แต่ไม่จำเป็นต้องทิ้งความสนุกในช่วงวัยรุ่นไป
จนถึงวันนี้ที่คุณอายุ 50 แล้ว ยังทำงานและสื่อสารกับวัยรุ่นได้ดีแค่ไหน
ผมว่าต้องเปลี่ยนวิธีทำงานมากกว่า ตัวผมเองอาจจะทำงานกับวัยรุ่นโดยตรงไม่ดีเท่ากับตอนที่อายุน้อยกว่านี้ ต้องฟังความเห็นจากผู้ร่วมงานที่อายุน้อยกว่าเรามากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการทำงานของผมที่ชอบทำงานกับผู้ร่วมงานหน้าใหม่ๆ โดยเฉพาะกับงานครีเอทีฟ ทุกครั้งที่รับพนักงานใหม่ ผมพยายามรับเด็กเพิ่งจบ เด็กที่ยังอายุน้อยมากๆ เพราะผมจะได้ไอเดียหรืออย่างน้อยทัศนคติที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกับกลุ่มเป้าหมายของผม
ผมเชี่ยวชาญเรื่องการตัดขอบ รับฟังไอเดียแล้วเลือกว่าใช่หรือไม่ใช่และเอามาขยายผลต่อ ดังนั้นทำให้เราต้องฟังมากกว่าพูด ระยะหลังในการประชุม ถ้าไม่จำเป็น ผมพยายามไม่เข้าด้วยซ้ำ อยากให้น้องๆ เขาคิดกันเองแล้วเคาะกันมากกว่า เพราะด้วยภาพของเรา น้องๆ อาจไม่กล้าเสนอหรือแย้ง ดังนั้นเราให้เขาคิดเสร็จก่อน แล้วเราค่อยช่วยเลือกอีกที
ฉายา ‘เจ้าพ่อเด็กแนว’ ได้มาอย่างไร
ก็เป็นสื่อมวลชนเนี่ยแหละครับ ตอนทำ Fat Festival ครั้งที่ 4 เป็นครั้งแรกที่นักข่าวยื่นไมค์มาถามว่ารู้สึกอย่างไรที่ถูกคนเรียกว่าเจ้าพ่อเด็กแนว ผมว่าเป็นความหวังดีของนักข่าวที่พยายามหาคำนิยามสำหรับคนที่ไม่เคยฟังแฟต เรดิโอได้เข้าใจมากขึ้น
เพียงแต่ความหวังดีนั้นก็เป็นดาบสองคม เพราะผมก็ตอบไม่ได้ว่าทำไมถูกเรียกแบบนี้ และทำให้ภาพลักษณ์ของผมทำอะไรก็ดูอินดี้ไปหมด ซึ่งความจริงเราไม่ได้ตั้งใจ แม้กระทั่งตอนทำแฟต เรดิโอ จริงๆ แล้วคือความป็อปในมุมมองของเรา ที่กว้างกว่าคนทั่วไป มันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าวงดนตรีที่เปิดในแฟตฯ ยุคนั้น เช่น กรูฟไรเดอร์ สครับบ์ บอดี้สแลม บิ๊กแอส ทุกวันนี้ก็เป็นวงป๊อปกันหมด
ผมไม่ชอบการปะตรา เหมือนทุกยุคก็จะมีแบบนี้ อย่างล่าสุดคำว่า ฮิปสเตอร์ ใช้จนกลายเป็นคำด่า เริ่มจากการที่กูใช้ชีวิตแบบของกู แล้วมึงก็มาเรียกกูว่าฮิปสเตอร์ ซึ่งก็ยังงงๆ อยู่เลยว่าคืออะไร แล้วอีกสักพัก ก็มาด่าว่าฮิปสเตอร์ดูกระแดะ ทั้งๆ ที่ใช้ชีวิตเหมือนเดิมอะไรอย่างนี้
ทุกวันนี้ยังมีคนเรียกเจ้าพ่อเด็กแนวอยู่ไหม
เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วครับ คนจะเรียกว่าเป็นกรรมการ The Mask Singer มากกว่า ไปที่ไหนก็มีแต่เด็กๆ ขอถ่ายรูป (หัวเราะ)
แต่ยุคหนึ่งก็ถือว่าป๋าเต็ดเป็นหนึ่งในคนที่สร้างทางเลือกใหม่ในการฟังเพลงนะ
ก็อาจเป็นได้ ถ้าให้มองกลับไปจริงๆ ผมเป็นคนเดินสายกลางมาโดยตลอด สมัยทำคลื่นฮอตเวฟ ซึ่งเป็นคลื่นวัยรุ่นที่แมสส์มาก เราก็หาวิธีใหม่ๆ ที่ไม่ใช้กันในฝั่งแมสส์ เปลี่ยนวิธีการพูดคุยในวิทยุ ไม่จำเป็นต้องเป็นเสียงนุ่มๆ เสมอไป ก็จะเป็นดีเจฮอตเวฟที่มีความเป็นกันเองกับคนฟังมากขึ้น
ในขณะที่ข้ามฟากมาทำแฟต เรดิโอซึ่งคนมองว่าเป็นคลื่นอินดี้ แต่วิธีสร้างแบรนด์ของแฟต เรดิโอ เราพยายามเอาวิธีของกระแสหลักมาใช้ ทำอย่างไรให้เพลงไปถึงหูคนฟังในวงกว้าง
ทั้งสองกรณีอยู่จุดเดียวกัน เราดึงฮอตเวฟจากขวาสุดมาอยู่ตรงกลาง แฟต เรดิโอจากซ้ายสุดมาอยู่ตรงกลาง อยู่ที่ว่าคนมองจากมุมไหนมากกว่า อย่าง Big Mountain เป็นงานที่ตั้งใจให้แมสส์มากๆ แต่วิธีเลือกคนมาทำงาน เราเลือกคนจากฟากอินดี้สุดๆ เพื่อทำให้งานนี้มีภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากงานแมสส์ทั่วไป ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ เพราะบรรดาโปรดักชั่นดีไซเนอร์ของผม ต่างก็ทำงานให้กระแสหลักกันหมด
รู้มาว่าคุณชอบดูหนังมาก มันมีอิทธิพลกับชีวิตคุณมากน้อยแค่ไหน
ที่สุดในทุกด้าน ผมเคยเกือบเขียนหนังสือชื่อ ทุกสิ่งที่ผมรู้ ผมเรียนจากหนัง เพราะเป็นแบบนั้นจริงๆ คือตอนเด็กชอบอ่านหนังสือมาก อ่านได้เช้าจรดเย็น แล้วชอบดูหนังด้วย แต่สมัยก่อนหนังหาดูไม่ได้หลากหลายเท่าทุกวันนี้
เราเจอหนังสือที่พูดเรื่องหนังเต็มไปหมด ได้ยินชื่อหนัง Citizen Kane, Psycho, 2001: A Space Odyssey ทำยังไงให้กูได้ดูวะเนี่ย พอไปเช่าวิดีโอมาก็ฟังไม่รู้เรื่องเพราะไม่มีซับไตเติล แต่พอโตขึ้นเข้าสู่ยุคที่หนังพวกนี้หาดูได้ง่าย ก็เข้าสู่ช่วงเวลาที่เราเริ่มอ่านหนังสือน้อยลง เลยเลือกดูหนังเยอะขึ้น บางวันดู 3-4 เรื่องก็มี
ข้อดีของหนังคือ สรุปทุกอย่างจบภายใน 1-2 ชั่วโมง หนังถูกออกแบบมาให้วอกแวกไม่ได้ ต้องดูจนจบ ทำให้เรามีสมาธิและรับสารทุกอย่างได้ครบถ้วน
ที่ผมบอกว่าเรียนรู้ทุกอย่างจากหนัง เพราะมันให้ความรู้กับเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แม้หนังที่ห่วยที่สุด ก็ยังให้ความรู้กับเรา เช่น หนังที่สร้างจากเรื่องจริง อันนี้มันย่อมาให้เราอ่าน อาจจะดัดแปลงมาบ้าง แต่ที่สุดเราจะไปหามาอ่าน สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ คือดูจบปุ๊บ เสิร์ชกูเกิ้ลหาข้อมูลทันที
อย่างหนังที่ห่วยที่สุด มันห่วยเพราะอะไร ถ้าจะแก้ให้ดีขึ้นจะทำอย่างไร ทุกเรื่องมีสิ่งเราเรียนรู้ได้หมด ผมเลยมีความสุขมากกับการดูหนัง
ข้อดีของหนังคือ สรุปทุกอย่างจบภายใน 1-2 ชั่วโมง หนังถูกออกแบบมาให้วอกแวกไม่ได้ ต้องดูจนจบ ทำให้เรามีสมาธิและรับสารทุกอย่างได้ครบถ้วน
เคยคิดจะทำหนังบ้างไหม
ผู้กำกับหนังเป็นอาชีพที่ผมอยากทำมากที่สุด ตั้งแต่ตอนเรียนนิเทศฯ จุฬาฯ เพียงแต่ว่าไม่มีจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม เพราะว่าผมเป็นคนทำงานตั้งแต่เรียน ตกกระไดพลอยโจนไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีโอกาสตั้งตัวเลย เผลอนิดเดียวก็มาถึงตรงนี้แล้ว หนังยังคงอยู่ใน Bucket List ที่อยากทำ
ถ้ามีโอกาสได้ทำ หนังเรื่องแรกของป๋าเต็ดจะเป็นแนวไหน
เรื่องที่อยากทำที่สุดคือ ‘คดีเปรตอาจารย์กู้’ ตอนที่คนฮือฮากันเรื่องนี้ ผมนั่งทำงานอยู่ที่แฟต เรดิโอ มีลูกน้องคนหนึ่งวิ่งหอบขึ้นบันไดมา ทุกคนนั่งอยู่เต็มออฟฟิศ แล้วเขาก็บอกเสียงดังว่า “พี่ดูนี่ยัง” แล้วก็เสียบเครื่องเล่นวิดีโอกลางออฟฟิศ ทุกคนมุงดู ‘เปรตมีจริงครับพี่!’ ก็เป็นภาพเปรตปลอมของอาจารย์กู้มาพูดภาษาเทพ แล้วมีคนมาปัดกวาดใส่
คือลูกน้องคนนี้ไม่ใช่คนเหลวไหล เป็นคนน่าเชื่อคนหนึ่งในออฟฟิศ ซึ่งทุกคนคิดแล้วว่าเรากำลังจะได้เห็นภาพเปรตจริงๆ พอดูเรารู้สึกว่าไม่ใช่เปรตแต่คือคน นี่คือเรื่องตลก ในขณะที่คนเอามาให้ดูมั่นใจมากว่าใช่ เราก็ไม่กล้าบอก เดี๋ยวทำร้ายจิตใจมัน สุดท้ายคนก็ค่อยๆ ถอยออกมาแล้วเหลือลูกน้องคนนั้นนั่งดูอยู่คนเดียว ผมก็แอบมองว่ามันคิดอะไรอยู่ คือช็อคที่โดนหลอก หรือกำลังอินอยู่คนเดียว
ตัวละครอย่างอาจารย์กู้ ฉากสำคัญคือหลอกลวงชาวบ้านแล้วยังไม่ยอมรับเรื่องเสกดินเป็นพระ ผมจำได้ว่าออกข่าวทุกช่อง ตำรวจและนักข่าวนั่งล้อมกันเต็มไปหมด อาจารย์กู้ก็นั่งหน้าซีดๆ แล้วตำรวจก็บอกว่า ทำให้ดูหน่อย ซึ่งอาจารย์กู้ก็ทำทั้งๆ ที่รู้ว่ายังไงก็เสกดินเป็นพระไม่ได้ เราอยากรู้ว่าอาจารย์กู้คิดอะไรอยู่
ตัวละครอีกตัวคืออาจารย์มหาวิทยาลัย ผมไม่เอ่ยชื่อก็แล้วกัน ท่านเชื่ออาจารย์กู้มาก ตอนที่อาจารย์กู้ยอมรับและสารภาพทุกอย่างว่าเสกไม่ได้ ก็นั่งแถลงข่าวคู่กับอาจารย์ท่านนั้นด้วย อาจารย์กู้พูดว่าผมยอมรับแล้วว่าที่ผ่านมาคือการหลอกลวง ภาพจับไปที่สีหน้าอาจารย์ท่านนั้นก็ช็อค แบบทำไมถึงพูดเช่นนั้นออกไป เพราะเขายังเชื่ออยู่เลยว่าอาจารย์กู้เป็นผู้วิเศษแล้วก็พูดกับอาจารย์กู้ด้วยว่า คุณไม่รู้หรอกว่าคุณทำอะไรได้…นี่มันคือฉากสำคัญในหนังของเราว่าด้วยเรื่องของการเป็นนักหลอกหลวง และนักเชื่อ
ผมอยากรู้ว่าอาจารย์กู้โตมาอย่างไร เส้นเรื่องคงสนุกมาก จิตนาการไปเองว่าน่าจะเติบโตมาโดยเรียนวิชาการหลอกมาตั้งแต่เด็กจนกลายเป็นซูเปอร์สตาร์นักหลอก ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งสภาพแวดล้อมเขาเป็นอย่างไรจึงเติบโตมาเป็นนักเชื่อ ผมไม่ด่าเขานะ แค่อยากจะเข้าใจเขา แล้วหนังเรื่องนี้จะเล่าเปรียบเทียบสองคนนี้ ซึ่งไม่มีใครผิดเลย เพราะอาจารย์กู้โตมาท่ามกลางอาชีพที่หารายได้จากการหลอก
พล็อตนี้ผมขอบันทึกไว้ว่าจองแล้วนะ มีแคสติ้งในใจแล้วด้วยซ้ำไปว่าอยากให้พี่อ๊อฟ-พงษ์พัฒน์ เล่นเป็นอาจารย์กู้ และอีกฝั่งผมนึกถึงพี่นก-ฉัตรชัย
Fact Box
ยุทธนา บุญอ้อม หรือป๋าเต็ด จบการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก่อนเข้าเรียนที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เรียนไม่จบ เริ่มต้นการทำงานโดยเข้ามาฝึกงานที่แกรมมี่ในแผนกคอนเสิร์ต ก่อนที่จะได้มาเป็นนักจัดรายการวิทยุคลื่นฮอตเวฟ พร้อมกับเป็นผู้ปลุกปั้นการประกวด Hotwave Music Awards
หลังจากนั้นเขาลาออกมาก่อตั้ง บริษัท คลิกเรดิโอ จำกัด มีคลื่นดังอย่าง แฟต เรดิโอ 104.5 และทำเทศกาลดนตรีอินดี้อันโด่งดังอย่าง Fat Festival รวมทั้งทำเคยทำนิตยสารเพลง DDT ก่อนจะปิดตัวลงไป และกลับมาที่แกรมมี่อีกครั้งโดยเป็นผู้บริหารบริษัท เกเร จำกัด รับทำงานอีเวนท์ต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ Big Mountain ล่าสุดเขาลาออกจากแกรมมี่อีกครั้ง มาก่อตั้งบริษัท แก่น 555 จำกัด โดยวางทิศทางของบริษัทเป็นอีเวนต์ โปรโมเตอร์
Yak Fest ไลฟ์สไตล์ เฟสติวัล 24 ชั่วโมง ภายใต้สโลแกน ‘ลอง แล้ว จะ ยักษ์’ จะจัดขึ้นที่ The Ocean เขาใหญ่ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 โดยแบ่งออกเป็น 5 หมู่บ้าน ได้แก่ Talk Village, Bitchyland, Organic Village, Rap Village และ B Village พร้อมกับ ตุ๊กตาเป่าลมยักษ์เก้าตัว ที่ได้ศิลปินดังเก้าคนของไทยมาออกแบบให้ได้แก่ วิศุทธิ์ พรนิมิตร, อเล็ก เฟส, โลเล, จี๊ป คงเดชะกุล, ยูริ เกนสาคู, กะปิ, พี7, รักกิจ ควรหาเวช และ เสลด ทอย