ไม่ว่าใครต่างก็เคยเป็น ‘ช่าง’ ซ่อมท้องเสียกันทั้งนั้น ปีไหนไม่ได้ซ่อมตัวเองโดยตรง ก็อาจได้ซ่อมคนใกล้ตัวบ้าง เพราะโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน หรือท้องเสีย พบได้ในทุกเพศทุกวัย เป็นได้ตลอดทั้งปี โดยจะพบมากที่สุดในช่วงหน้าหนาว คือตั้งแต่ต้นปี อย่างที่มีไวรัสโรตาระบาดเมื่อมกราคมที่ผ่านมา จากนั้นอัตราป่วยจะค่อยๆ ลดลงจนถึงปลายปี ยกเว้นช่วงหน้าร้อนที่จะมีคนท้องเสียเพิ่มขึ้นอีกระลอก เป็นวัฏจักรเช่นนี้ไปทุกๆ ปี

ประสบการณ์การรับมือกับท้องเสียในฐานะช่างหนึ่งคน จึงมีทั้งความเชื่อ ภูมิปัญญาที่ตนเองและคนรอบข้างเคยใช้ได้ผล ความรู้วิชาสุขศึกษา และวิธีการรักษาของหมอ ปะปนกันอยู่

ก่อนจะถึงหน้าร้อนอย่างเต็มตัว ผมอยากชวนทุกคนมาทดสอบความรู้เกี่ยวกับวิธีซ่อมท้องเสีย เพื่อที่จะได้รักษาตัวเองเบื้องต้นได้ถูกต้อง

1. อาการท้องเสียในข้อใดจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ?

ก. อาเจียนเยอะ
ข. มีไข้
ค. ถ่ายเป็นน้ำ
ง. ถ่ายเป็นมูกเลือด

เฉลย: ง. “ถ่ายเป็นมูกเลือด” มักเป็นอาการที่หลายคนไม่ทันได้สังเกต เพราะเมื่อถ่ายแล้วกดชักโครกเลย ไม่ได้ก้มดูลักษณะ ‘อุจจาระ’ ที่ ‘ร่วง’ ลงมาว่าเป็นอย่างไร

เวลาผมถามถึงอาการนี้ หลายคนจึงทำหน้าเหรอหรา แต่เป็นอาการที่จะช่วยให้หมอวินิจฉัยโรคท้องเสียจากเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น เนื่องจากตัวแบคทีเรียจะไปทำลายเยื่อบุลำไส้ ทำให้เป็นแผลจนได้ ‘มูกเลือด’ ออกมาเป็นเมือกๆ สีแดงปนอยู่กับอุจจาระ… ดังนั้นกรณีนี้จึงจำเป็นต้องรักษาด้วยการกินยาฆ่าเชื้อ

สำหรับอาการ ‘อาเจียนเยอะ’ เป็นอาการเด่นของโรคอาหารเป็นพิษ (food poinsoning) กล่าวคือเป็น สารพิษ (toxin) ที่แบคทีเรียสร้างไว้ในอาหารตั้งแต่ก่อนที่เราจะกินเข้าไป พอลงไปถึงกระเพาะอาหาร ร่างกายก็จะตอบสนองด้วยการอาเจียนออกมาภายใน 8-16 ชั่วโมง ซึ่งจะเห็นว่าเป็นกลไกธรรมชาติในการลดปริมาณสารพิษที่จะเข้าสู่ส่วนอื่นของร่างกาย… กรณีนี้ชัดเจนว่าการกินยาฆ่าเชื้อไม่มีประโยชน์ เพราะยาฆ่าเชื้อไม่ได้ออกฤทธิ์ต้านสารพิษแต่อย่างใด

‘ถ่ายเป็นน้ำ’  มากกว่าวันละ 3 ครั้ง เป็นอาการตามนิยามของโรคท้องเสียอยู่แล้ว ซึ่งในผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ เกิดจากสารพิษที่แบคทีเรียสร้างขึ้นมาภายหลังจากที่เรากินอาหารปนเปื้อนตัวมันเข้าไป (กรณีนี้จึงมักไม่มีอาการอาเจียน หรือคลื่นไส้อาเจียนเพียงเล็กน้อย) สารพิษจะไปกระตุ้นการรับรู้ของเยื่อบุลำไส้ให้หลั่งน้ำและเกลือแร่ออกมาในโพรงลำไส้ปริมาณมาก จนเราถ่ายออกมาเป็นน้ำ และขับเอาตัวมันออกมาด้วยในที่สุด ซึ่งเป็นกลไกธรรมชาติในการกำจัดเชื้อโรคของร่างกายอีกเช่นกัน… กรณีนี้หากไม่ได้เป็นผู้สูงอายุหรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องก็ไม่จำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อ

หรืออีกสาเหตุหนึ่งของการถ่ายเป็นน้ำ อาจเกิดจากการที่เชื้อไวรัส เช่น ไวรัสโรตา ที่เริ่มรู้จักกันมากขึ้นเพราะเคยระบาดเมื่อต้นปี ทำลายเยื่อบุลำไส้ส่วนที่ทำหน้าที่ย่อยน้ำตาลแลคโตสเสียไป ส่งผลให้น้ำตาลที่ย่อยไม่ได้นี้เอง ดูดเอาน้ำเข้ามาในโพรงลำไส้ปริมาณมาก อุจจาระจึงมีลักษณะเหลว ในขณะเดียวกัน แบคทีเรียก็จัดการย่อยน้ำตาลแลกโตสได้เป็นกรดแลกติก อุจจาระจึงมีค่าความเป็นกรด ยิ่งถ่ายบ่อย ก็ยิ่งกัดก้นจนแดง… กรณีนี้มักพบในเด็ก จึงมีคำแนะนำให้เปลี่ยนนมชงเป็นนมที่ไม่มีน้ำตาลแลกโตส (lactose free milk) ชั่วคราว แต่ถ้าเลี้ยงด้วยนมแม่ สามารถให้นมแม่ต่อไปได้

ส่วน ‘ไข้’ ก็เช่นเดียวกัน เกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุ โดยอาจเป็นการตอบสนองของร่างกายต่อการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทะลุทะลวงเยื่อบุลำไส้ก็ได้ หรืออาจเป็นอาการของหวัด เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูก จากการติดเชื้อไวรัสนำมาก่อน 1-2 วัน จากนั้นถึงจะมีอาการอาเจียนหรือท้องเสียตามมา

ซึ่งแน่นอนว่าการติดเชื้อไวรัสไม่มียารักษาเฉพาะ เพียงแต่รักษาตามอาการเท่านั้น ในขณะที่ “ไข้” ในกรณีแรก จำเป็นต้องรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อ ดังนั้นจึงต้องอาศัยอาการอื่นด้วย เช่น มีไข้ร่วมกับถ่ายเป็นมูกเลือด หรือไข้สูงโดยที่ไม่มีอาการหวัดในตอนแรก

 

2. ยาฆ่าเชื้อที่ใช้รักษาโรคท้องเสียต้องกินกี่วัน

ก. 1 วัน
ข. 3 วัน
ค. 7 วัน
ง. หยุดกินเมื่อไม่มีอาการ

เฉลย: ข. 3 วัน หลังจากที่เรารู้แล้วว่าอาการแบบใดจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อบ้าง ต่อมาก็ต้องทราบถึงระยะเวลาในการกินที่ถูกต้อง เพราะหากกินไม่ครบ 3 วันก็อาจไม่หายขาดหรือทำให้เชื้อดื้อยาได้

ซึ่งยาฆ่าเชื้อที่รักษาโรคท้องเสีย ปกติจะกินครั้งละเม็ด วันละ 2 ครั้ง ดังนั้น จึงต้องกินให้ครบ 6 เม็ด แต่จากประสบการณ์ในการรักษาที่ผมเจอ นอกจากจะซื้อยาฆ่าเชื้อกินเองโดยไม่มีอาการอย่างที่อธิบายในข้อที่ 1. บางคนยังกินยาเพียง 1-2 เม็ดก็หยุดกิน เพราะหยุดถ่ายเหลวจึงเข้าใจว่าหายแล้ว แต่วันถัดมาก็ต้องมาพบหมอเพราะกลับมามีไข้ซ้ำ หรือบางคนกินยาไปแล้ว 1-2 เม็ดยังไม่หาย ก็มาพบหมอเพื่อขอเปลี่ยนยาฆ่าเชื้อ หรือแม้กระทั่งบางคนเพิ่มขนาดยาเป็นกิน 3-4 ครั้งภายในวันเดียว เพราะยังไม่หยุดถ่ายเหลวก็เคยเจอ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดทั้งสิ้น

 

3.  อาหารในข้อใดเหมาะสำหรับโรคท้องเสีย

ก. โจ๊ก, ข้าวต้ม
ข. แกงจืดหมูสับ
ค. กล้วยน้ำว้าสุก
ง. ถูกทุกข้อ

เฉลย: ง. ถูกทุกข้อ ข้อนี้น่าจะตอบถูกกันทุกคน เพราะตัวเลือก ‘ถูกทุกข้อ’ มีโอกาสถูกมากกว่าข้ออื่น (ฮา) แต่ความจริง ทุกคนก็น่าจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า เวลาท้องเสียควรกินอาหารอ่อน เน้นอาหารพวกข้าว แป้ง เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำข้าว ขนมปังเค็ม งดอาหารมันๆ อาจเลือกเป็นเนื้อไม่ติดมัน หรือเนื้อปลา เป็นต้น

สามารถดื่มน้ำผลไม้ นมถั่วเหลืองได้ ส่วนนมสดยังไม่ควรดื่ม แต่อาจกินโยเกิร์ตแทนได้

ที่สำคัญ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีความเข้มข้นของน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มบำรุงกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับดื่มหลังออกกำลังกาย (sport drink) รวมถึง ‘น้ำสไปรท์ใส่เกลือ’ ที่เชื่อกันว่าดื่มแทนน้ำเกลือแร่ได้ เพราะน้ำตาลเข้มข้นจะทำให้ท้องเสียมากขึ้น คล้ายกับอาการท้องเสียจากการติดเชื้อไวรัสอย่างที่อธิบายในข้อที่ 1.

สำหรับกล้วยน้ำว้าสุกและน้ำมะพร้าว สามารถกินเสริมได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพราะเป็นแหล่งแร่ธาตุโพแทสเซียม ช่วยชดเชยสิ่งที่สูญเสียออกมากับอุจจาระ ส่วนทางฝั่งอเมริกาอาจมีคนเคยได้ยินว่ามีคำแนะนำให้กิน BRAT diet (B-banana กล้วย, R-rice ข้าว, A-apple sauce ซอสแอปเปิ้ล และ T-toast ขนมปัง) แทนอาหารอื่นในช่วงท้องเสีย แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีงานวิจัยสนับสนุนเพียงพอ แต่สำหรับผมคิดว่าเป็นคำช่วยจำอาหารที่กินได้วิธีหนึ่ง

โดยสรุป คนท้องเสีย ให้กินเท่าที่กินได้ จะกินอะไรก็ได้ที่ไม่ได้ห้ามไว้ข้างต้น เพราะยิ่งเริ่มกินเร็วเท่าไรจะช่วยให้ลำไส้ฟื้นตัวเร็วขึ้นเท่านั้น แต่ถ้ากินอะไรไม่ได้เลยให้จิบน้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสียครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยๆ แทนไปก่อน

 

4.  การรักษาตามอาการเฉียบพลันในข้อใดผิด

ก. กินยาแก้คลื่นไส้หรืออาเจียน
ข. กินยาแก้ปวดท้อง
ค. กินยาหยุดถ่าย
ง. ดื่มน้ำเกลือแร่ชดเชยที่เสียไป

เฉลย ค. กินยาหยุดถ่ายเพื่อลดการถ่ายอุจจาระลง เป็นวิธีการรักษาที่คนทั่วไปเข้าใจผิดมาโดยตลอด หลายคนจึงไปหาซื้อยาหยุดถ่ายซึ่งออกฤทธิ์ลดการเคลื่อนไหวของลดไส้ เช่น โลเพอรามายด์ (Loperamide)-ชื่อการค้า อิโมเดียม (Imodium) ไดเฟนอกซิเลต (Diphenoxylate)-ชื่อการค้า โลโมติล (Lomotil) กินเอง หรือบางคนมาพบหมอแล้ว ก็ร้องขอให้หมอจ่ายให้ ซึ่งผมก็ต้องอธิบายให้ฟังว่า ในโรคท้องเสียเฉียบพลันที่เพิ่งเป็นมา 1-2 วัน การกินยาหยุดถ่ายมีผลเสียมากกว่าผลดี

เพราะอย่างที่กล่าวถึงการถ่ายเป็นน้ำไปแล้วในข้อที่ 1. ว่าการถ่ายอุจจาระเป็นกลไกธรรมชาติในการขับถ่ายเอาของเสียออกจากร่างกาย ดังนั้นเมื่อกินยาหยุดถ่าย แม้ความถี่ในการเดินเข้าออกห้องน้ำอาจลดลงก็จริง แต่ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรียหรือสารพิษที่แบคทีเรียสร้างขึ้นมา ก็จะยังคงค้างอยู่ในร่างกาย หากเป็นเชื้อที่รุนแรง เชื้อก็จะยิ่งทำลายเยื่อบุลำไส้ ทำให้มีอาการหนักขึ้นไปอีก

ตรงกันข้ามกับการกินยาแก้ปวดท้อง เช่น ไฮออสซีน (Hyoscine)-ชื่อการค้า บัสโคแพน (Buscopan) ไดไซโคลมีน (Dicyclomine) ซึ่งออกฤทธิ์ลดการบีบเกร็งของลำไส้จะไม่ลดความถี่ในการเดินเข้าออกห้องน้ำ แต่จะช่วยลดอาการปวดท้องบิดๆ ลงได้ เวลามาโรงพยาบาลเพราะปวดท้องมาก หมอก็จะฉีดยาในกลุ่มนี้ให้หลังจากตรวจแล้วมั่นใจว่าไม่ได้เป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ

ในขณะที่การกินยาแก้คลื่นไส้หรืออาเจียน เช่น ดอมเพอริโดน (Domperidone)-ชื่อการค้า โมทิเลียม (Motilium) สามารถทำได้ เพราะยาจะไปออกฤทธิ์เพิ่มการบีบตัวของหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร ทำให้เราสามารถดื่มน้ำเกลือแร่ชดเชยที่เสียไปได้

ต้องเน้นย้ำอีกครั้งว่า เกลือแร่สำหรับโรคท้องเสีย (oral rehydration salt: ORS) เป็นคนละสูตรกับเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับดื่มหลังออกกำลังกาย เพราะองค์การอนามัยโลกกำหนดให้ ORS มีความเข้มข้นของน้ำตาลไม่เกิน 2% และเป็นสัดส่วนต่อโซเดียมเท่ากับ 1:1 ทว่าเครื่องดื่มหลังออกกำลังกายทั่วไปมีความเข้มข้นของน้ำตาล 5-10% เลยทีเดียว

 

5.  อาการในข้อใดที่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล

ก. อ่อนเพลียมาก
ข. ท้องเสียมา 3 วันยังไม่ดีขึ้น
ค. ปวดท้องย้ายไปด้านขวาล่าง
ง. ถูกทุกข้อ

เฉลย ง. ถูกทุกข้อ อีกเช่นกัน  (ถูกต้องนะคร้าบ…) โดยธรรมชาติ อาการของโรคท้องเสียส่วนใหญ่จะดีขึ้นเองภายใน 3 วัน แต่ถ้ามีอาการอ่อนเพลียมาก หน้ามืด เวียนศีรษะ หมดแรง ลุกเดินไปไหนไม่ไหว ต้องนั่งหรือนอนอยู่กับเตียง ซึ่งเป็นอาการของภาวะขาดน้ำปานกลางถึงรุนแรง ก็ควรไปพบหมอเพื่อประเมินความจำเป็นในการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ เพื่อชดเชยกับน้ำและเกลือแร่ที่อาเจียนหรือถ่ายอุจจาระออกมาอย่างทันท่วงที

สำหรับในเด็ก มักจะมีอาการปากแห้ง ไม่ปัสสาวะเป็นเวลานาน ซึมลง ไม่เล่น ควรไปพบหมอตั้งแต่เนิ่น ๆ

ส่วนถ้าท้องเสียมา 3 วันยังไม่ดีขึ้น แม้จะมีอาการอ่อนเพลียไม่มากก็ควรไปพบหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุต่อไป

สุดท้ายข้อนี้สำคัญมาก หากตอนแรกปวดท้องตรงกลาง แต่ต่อมาอาการปวดท้องย้ายไปด้านขวาล่าง ร่วมกับมีไข้ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ไม่อยากกินอะไร ก็จำเป็นต้องไปพบหมอเพื่อตรวจร่างกายเพิ่มเติม เพราะนั่นอาจไม่ได้เป็นโรคท้องเสียธรรมดา แต่อาจเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งต้องรักษาด้วยการผ่าตัดก็เป็นได้

 

แหล่งข้อมูล:

Fact Box

ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาระดับชาติ [5] (NARST : National Antimicrobial Resistance Surveillance Center) ระบุว่า เชื้อก่อโรคท้องเสีย โดยเฉพาะในผู้ที่เดินทางท่องเที่ยว (traveler’s diarrhea) อย่างเชื้ออีโคไล (E. coli) ตอบสนองต่อยาฆ่าเชื้อที่ใช้รักษาโรคท้องเสียในปัจจุบันเฉลี่ยเพียง 48-50% เท่านั้น เท่ากับว่าแม้ท้องเสียจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจริง แต่การกินยาฆ่าเชื้อแล้วหายท้องเสียอาจเกิดจากการที่ร่างกายสามารถรักษาได้เองถึงครึ่งต่อครึ่ง

Tags: , , , ,