ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ตัวเลขของผู้หญิงที่ทำงานเบื้องหลังในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ยังคงไม่ขยับไปไหน ผลการสำรวจจาก San Diego State University ฉบับ Center for the Study of Women in Television and Film เผยว่า เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่ทำงานเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุด 250 เรื่อง ลดลงจาก 11% ในปี 2017 เป็น 8% ในปี 2018 แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าพลังของพวกเธอจะยังคงส่งสะท้อนออกมาเป็นผลงานใหม่ๆ ให้เราได้ชมกันต่อไป

สำหรับ The List ตอนนี้ ขอชวนชม 5 ผลงานโดดเด่นจาก 5 ผู้กำกับฯ หญิงในโลกภาพยนตร์

Zero Dark Thirty (2012) – Kathryn Bigelow

แคทริน บิเกโลว์ เติบโตมาในแคลิฟอเนียร์ ในช่วงมัธยมฯ เธอให้ความสนใจในงานศิลปะและมุ่งมั่นในการวาดภาพ แต่พอเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เธอก็เบนเข็มมาสู่เส้นทางภาพยนตร์ฉันรักศิลปะ ฉันชอบที่ได้วาดภาพแต่ศิลปะเหล่านี้มีอยู่ในโลกที่เงียบสงบ สิ่งที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับภาพยนตร์คือการก้าวข้ามขอบเขตทางชนชั้น พวกเขานำเสนอประสบการณ์ร่วมกันที่สามารถ่ายทอดประเด็นต่างๆ ได้ หรือแม้แต่การทำให้คนดูรู้สึกนึกคิดตาม นั่นคือความสวยงามของภาพยนตร์

แคทรินเป็นผู้กำกับฯ หญิงคนแรกที่ชนะรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ จากเรื่อง The Hurt Locker (2008) สำหรับเรื่อง Zero Dark Thirty เดิมทีจะต้องว่าด้วยการไล่ล่าตามหาโอซามา บินลาเดน แต่ขณะนั้นมีข่าวออกมาพอดีว่าบินลาเดนถูกสังหารแล้ว บทภาพยนตร์จึงเขียนขึ้นใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ปรากฎอยู่ในเนื้อหาจะเป็นจริง 100%

ปฏิบัติการไล่ล่าครั้งนี้เป็นที่จับตามองทั่วโลก เพราะมันคือการจับกุมคนร้ายที่ขึ้นชื่อว่าอันตรายที่สุดคนหนึ่ง การทำงานของหน่วยสืบสวนราชการลับจึงต้องรัดกุมและเด็ดขาด ภาพยนตร์เริ่มต้นด้วยการสืบข้อมูลของผู้เกี่ยวของกับบินลาเดนให้ได้มากที่สุด โดยคนที่มีบทบาทสำคัญได้แก่ มายา เจ้าหน้าที่ซีไอเอหญิง เธอเดินทางไปยังปากีสถาน ลงมือค้นคว้าและสืบสาวทุกเรื่องราว ซึ่งบางครั้งวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะมันคือการทรมานนักโทษ เพื่อให้ยอมจำนนเพราะความเจ็บปวด

เรื่องดำเนินไปอย่างกดดัน ตึงเครียด ชวนลุ้นระทึกอยู่ตลอดเวลา แทบทุกตัวละครต่างได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการครั้งนี้กันถ้วนหน้า สุดท้าย ภารกิจสำเร็จลุล่วงก็จริงอยู่ แต่มันกลับทิ้งความกระอักกระอ่วนใจเกินกว่าจะสรุปได้ว่า เราควรรู้สึกอย่างไรกันแน่กับเรื่องทั้งหมดนี้?

Can You Ever Forgive Me? (2018) – Marielle Heller

แมเรียลล์ เฮลเลอร์เคยเป็นนักแสดงมาก่อน จากนั้นจึงกระโดดมาเขียนบทและกำกับฯ ในภาพยนตร์เรื่องแรก The Diary of a Teenage Girl (2015) ซึ่งมีพื้นฐานมาจากนิยายภาพที่เธอได้รับเป็นของขวัญมาจากพี่สาว ผลงานการกำกับฯ ครั้งต่อมาก็คือเรื่องนี้ที่สร้างมาจากเรื่องจริงของ ลี อิสราเอล นักเขียนชีวประวัติรุ่นใหญ่ที่ชีวิตกำลังตกต่ำย่ำแย่ถึงขีดสุด

ช่วงปี 1991 ลีประสบกับความล้มเหลวอย่างรุนแรงในชีวิต เธอต้องดิ้นรนกับปัญหาทางการเงิน ทั้งค้างจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่ารักษาแมว แม้แต่ค่าอาหารการกินก็แทบจะไม่มี ไหนจะเป็นโรคติดสุราเรื้อรังอีก ความสำเร็จในอดีตของลีแทบไม่หลงเหลือ แม้เธอจะบากหน้าไปขอให้เอเยนต์ช่วยเจรจากับสำนักพิมพ์ เพื่อเบิกค่าเขียนหนังสือเล่มใหม่ล่วงหน้า ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือแต่อย่างใด หนำซ้ำยังถูกสบประมาทอย่างไร้เยื่อใย

ลีเริ่มทยอยขายทรัพย์สินต่างๆ เท่าที่มีเพื่อเป็นค่าครองชีพ เธอขายกระทั่งจดหมายส่วนตัวที่ได้รับจาก แคทเธอรีน เฮพเบิร์น ดาราชื่อดัง เงินที่ได้รับจึงพอจะจ่ายเป็นค่าอาหารและค่าเหล้า ขณะนั้นเองที่เธอได้พบกับเพื่อนใหม่อย่าง แจ็ค ฮ็อค ผู้มีสภาพไม่ต่างกัน ทั้งคู่ต่างแปลกแยก เปลี่ยวเหงา และยากไร้ทั้งไร้เงิน ไร้เพื่อน ไร้คนรัก ลียังคงหมายมั่นจะเขียนงานต่อไป นั่นทำให้เธอพบจดหมายของ แฟนนี ไบรซ์  (นักแสดงตลกชาวอเมริกัน) สองฉบับระหว่างหาข้อมูล เหมือนเคยเธอนำจดหมายฉบับหนึ่งไปขาย ส่วนอีกฉบับนั้นเธอเก็บไว้ก่อน ด้วยจับทางได้แล้วว่าจดหมายแบบใดที่จะมีมูลค่าเพิ่ม ลีเลยต่อเติมข้อความบางอย่างลงไปในจดหมายด้วยมุ่งหวังจะได้เงินมากขึ้น

ลีใช้ทักษะการเขียนที่มี ใช้ชื่อเสียงจากคนที่ตายไปแล้ว เขียนจดหมายปลอมๆ ขึ้นมา แล้วนำไปขายให้นักสะสม เธอทำได้ดีเสียยิ่งกว่าดี แต่นั่นหาใช่ความดีงามที่จะพาชีวิตเธอไปสู่ความสำเร็จไม่แม้ตอนจบจะไม่ยากเกินคาดเดา แต่มันก็ทำให้เราได้มองเห็นความเป็นปุถุชนคนธรรมดา คนที่มีชีวิตอยู่อย่างเย้ยหยันโลก หัวเราะ และทุกข์ทนไปพร้อมๆ กัน

You Were Never Really Here (2018) – Lynne Ramsay

ลินน์ แรมเซย์ ผู้กำกับฯ ชาวสก็อตแลนด์ที่ผลิตหนังยาวออกมาเพียงสี่เรื่องในระยะเวลาการทำงานยี่สิบปี แต่แต่ละเรื่องล้วนมีลายเซ็นเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าด้านภาพ การเล่าเรื่อง หรือมุมมองต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นที่เกิดขึ้นซ้ำซากเกี่ยวกับความเศร้า ความผิด ความตาย และผลพวงของมัน

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากนวนิยายในชื่อเดียวกัน ภายในเรื่องมีฉากรุนแรงเพียงเล็กน้อย แต่กลับเต็มไปด้วยผลพวงของความรุนแรงที่เกิดขึ้น ลินน์บอกว่าข้อจำกัดด้านงบประมาณทำให้ไม่สามารถถ่ายทำฉากแอ็คชั่นที่ซับซ้อนได้ เธอเลยเกิดความคิดที่จะแสดงให้เห็นถึงฉากของความโกรธคลั่งแทนความรุนแรง ซึ่งเธอสารภาพว่ามันเสี่ยงมากที่จะใช้วิธีนี้ เพราะถ้าไม่ได้ผล เธอจะไม่สามารถย้อนกลับมาถ่ายทำใหม่ได้อีก

มันคือเรื่องราวของโจ อดีตทหารผ่านศึกและเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ ชีวิตของเขากำลังอยู่ท่ามกลางความเครียดและความบอบช้ำทางใจ แต่ก็ไม่สามารทำอะไรได้มากนัก นอกจากรับงานแล้วหาเงินมาเลี้ยงชีวิต อาชีพในปัจจุบันของโจคือมือปืนรับจ้าง และภารกิจในครั้งนี้ คือการไปช่วยเด็กสาวลูกนักการเมืองที่ถูกแก๊งโสเภณีเด็กจับตัวไป ซึ่งมันก็ไม่ได้เกินความสามารถของเขาแน่นอน

แต่เมื่อภารกิจสำเร็จ เหตุการณ์กลับไม่เป็นไปตามคาด นายจ้างฆ่าตัวตาย และคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็ตายหมด ใครบางคนกำลังพยายามเข้าถึงตัวโจ พวกนั้นฆ่าไม่เว้นแม้แต่แม่เขา แต่ที่สุดโจก็คาดคั้นเอาคำตอบมาได้จากเจ้าหน้าที่คนหนึ่งว่าทำไมเขาถึงโดนหมายหัว อันที่จริงเขาไม่ได้กังวลว่าตัวเองจะต้องตาย เพราะเขาพร้อมตายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่บางอย่างได้ยื้อเขาไว้ และตอนนี้มันก็ยังยื้อลมหายใจของโจไว้อีกเช่นกัน

Leave No Trace (2018) – Debra Granik

เดบรา กรานิค ผู้กำกับฯ หญิงที่เคยส่งบทบาทให้ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ จากภาพยนตร์เรื่อง Winter’s Bone (2010) กลายเป็นที่กล่าวขวัญอย่างมาก สำหรับเรื่องนี้แก่นกลางของเรื่องยังคงอยู่ที่เด็กสาวและพ่อของเธอ เนื้อหามาจากหนังสือ My Abandonment  ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์จริงอีกทอดหนึ่ง

หนังสือเล่มนี้สร้างจากบทความเล็กๆ ที่ปีเตอร์ ร็อกนักเขียน เคยอ่านผ่านตา มันกล่าวถึงสวนในพอร์ตแลนด์ว่าเจ้าหน้าที่พบเจอพ่อลูกคู่หนึ่ง พวกเขาอาศัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลาหลายปีโดยที่ไม่มีใครสังเกตเห็น มันทำให้เดบรานึกสงสัยอย่างจริงจังว่า ชีวิตประจำวันของพวกเขานั้นเป็นอย่างไร? จากนั้นเดบราก็ร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้กับ แอนน์ รอเซลลินี เรื่องในครึ่งแรกเป็นไปตามสิ่งที่ปีเตอร์เขียนไว้ ในหนังสือ แต่ครึ่งหลัง บทภาพยนตร์แตกต่างไปจากหนังสือพอสมควร ซึ่งเป็นสิ่งที่เดบราตั้งใจให้เกิดขึ้น

ภาพยนตร์จะพาเราไปยังเขตป่าสงวนของเมืองพอร์ตแลนด์ สถานที่ที่ไม่ควรมีใครอาศัยอยู่ เพราะเป็นพื้นที่ของรัฐ แต่กลับมีสองพ่อลูก วิลล์และทอม แอบใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น พวกเขาดูไม่ทุกข์ร้อนนักกับการเป็นคนไม่มีหลักแหล่ง ไม่ข้องเกี่ยวกับสังคม ไม่เดือดร้อนที่จะอยู่กันเองตามลำพัง แต่หลายครั้งวิลล์ก็ยอมเข้าเมืองบ้างเพื่อซื้ออาหารและของใช้จำเป็น

แต่ในที่สุดการอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ก็ถูกเปิดเผย ทั้งสองคนถูกจับกุมแล้วส่งตัวไปยังหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ ทางรัฐพยายามเข้ามาดูแลวิลล์กับทอมอย่างดีที่สุด ทั้งหาบ้านให้อยู่ หางานให้ทำ หาโรงเรียนให้ลูก แต่มันอาจไม่ใช่สิ่งที่ทั้งคู่ต้องการ? เมื่อเรื่องดำเนินไปเรื่อยๆ เราก็จะรู้พื้นเพของวิลล์เพิ่มขึ้น เขาไม่ใช่คนจรจัด แต่เป็นคนที่ทุกข์ทรมานจากอดีต ดังนั้น เขาจึงหนีมาอยู่ในป่า มันคือความต้องการของเขา ซึ่งตอนนี้เขาอาจต้องถามทอม ลูกสาวของตัวเองด้วยว่า นี่ใช่ความต้องการในชีวิตของเธอด้วยหรือเปล่า?

The Souvenir (2019) – Joanna Hogg

ฉันพยายามจะจดจำเรื่องราวของมันให้มากที่สุดเสียงจากบทสัมภาษณ์ชิ้นหนึ่งของ โจแอนนา ฮ็อกก์ ที่กำลังพูดถึงภาพยนตร์ที่สร้างจากช่วงชีวิตหนึ่งของเธอ มันเป็นช่วงชีวิตที่เธอต้องเผชิญหน้ากับความสัมพันธ์ที่เป็นพิษร้ายมากกว่าจะเป็นสิ่งเยียวยา มันเกือบจะฉุดทั้งความฝันและช่วงเวลาที่สดใสในชีวิตของเธอให้พังทลายลง 

โจแอนนา ฮ็อกก์ บอกเล่าอัตชีวประวัติที่แสนขมขื่นในวัย 20 ต้น โดยได้ออเนอร์ สวินตัน เบิร์น (ลูกสาวของนักแสดงทิลดา สวินตัน) มารับบทเป็นตัวเธอ ภาพยนตร์คว้ารางวัล Grand Jury Prize จากเทศกาลหนังซันดานซ์ ในปี 2019 และกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งกับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีจาก Sight and Sound นิตยสารภาพยนตร์รายเดือนของอังกฤษ ซึ่งเฉือนชนะเรื่อง Parasite (2019) ไปอย่างเฉียดฉิว

เรื่องเกิดขึ้นในยุคปี ’80 จูลีนักศึกษาสาขาภาพยนตร์วาดฝันว่าจะสร้างผลงานของตัวเองสักเรื่อง ในวัย 20 ต้นๆ เธอมีทุกอย่างพร้อม มีไลฟ์สไตล์แบบคนเมือง มีบ้านในลอนดอน และมิตรสหายรายรอบ แต่แล้ววันหนึ่งก็มีผู้ชายลึกลับเข้ามาในชีวิตของเธอ แอนโทนี ชายวัย 40 ที่บอกกับเธอว่าเขาทำงานอยู่กระทรวงการต่างประเทศ ในยุคนั้นอังกฤษต้องพบกับเหตุการณ์ความไม่สงบอยู่หลายครั้ง เธอจึงเลือกที่จะไม่ถามลงลึกถึงการงานของเขา และเขาก็เลือกที่จะบอกว่า ไม่อาจเผยถึงรายละเอียดงานของตัวเองได้

แอนโทนีเข้ามาอยู่ร่วมบ้านกับเธอ นอนร่วมเตียงเดียวกับเธอ แม้จะยังมีการเย้าหยอกเรื่องอาณาเขตเส้นแบ่งของเตียง วันหนึ่งขณะที่เขากลับจากปารีส เขานำของขวัญกล่องสีชมพูวางบนเตียงแล้วบอกเธอว่าลองใส่ดูสิจูลีทำตามอย่างว่าง่าย เธอเดินเข้าไปในห้องน้ำ แกะกล่องของขวัญและเดินออกมาที่หน้าประตูในชุดชั้นในสีดำที่เขาซื้อให้ แล้วความสุขและความทุกข์ของหญิงสาวเดียงสาอย่างเธอก็เริ่มต้นขึ้น ถึงแม้คนรอบข้างจูลีจะไม่เห็นด้วยกับความสัมพันธ์นี้ แต่เธอก็ยังเลือกที่จะปล่อยให้ตัวเองทำตามหัวใจ ถลำลึกลงไปเรื่อยๆ ด้วยความลุ่มหลง โดยไม่รู้ว่ามันจะนำสิ่งใดมาสู่ชีวิตเธอบ้าง

ภาพยนตร์ดำเนินเรื่องไปอย่างช้าๆ ให้เราค่อยๆ สัมผัสถึงความรู้สึกของตัวละคร รวมไปถึงความทรงจำที่ครั้งหนึ่งในชีวิตหญิงสาวคนหนึ่งยากจะลืมเลือน

Tags: , , , ,