ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่คุกรุ่นในสังคมไทย The List สัปดาห์นี้ ขอชวนมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ ผ่าน 5 ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจาก ‘เรื่องจริง’ อันสะท้อนให้เห็นถึง ‘อำนาจ’ และการต่อสู้เพื่อ ‘ความยุติธรรม’ ในหลายๆ บริบท จากมุมเล็กๆ ไปจนถึงระดับชาติ แต่ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการต่อสู้ของผู้คนที่เราเรียกว่า ‘ประชาชน’ ต่อการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมของรัฐและผู้มีอิทธิพล
First They Killed My Father (2017)
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของผู้มีอำนาจ
ผลงานการกำกับฯ ของนักแสดงหญิงที่เรารู้จักกันดีอย่าง แองเจลินา โจลี เนื้อหาดัดแปลงมาจากบันทึกของ ‘หลวง อัง’ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกัมพูชา–อเมริกัน เธอต้องผ่านช่วงสงครามอันเลวร้ายในวัยห้าขวบ ต้องแยกจากกับครอบครัว และต้องเห็นผู้คนล้มตายไปต่อหน้าต่อตา
การถ่ายทำกินเวลาทั้งสิ้น 60 วัน ด้วยงบประมาณ 24 ล้านเหรียญ ทีมงานได้ว่าจ้างนักแสดงประกอบชาวกัมพูชาเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่งคือทหารในกองทัพยุคปัจจุบันกว่า 500 คน จึงเป็นประเด็นให้เกิดข้อถกเถียงถึงความไม่เหมาะสม
เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ศิลปินนักแสดงและคนในแวดวงภาพยนตร์ชาวกัมพูชาเกือบทั้งหมดถูกสังหารจากการปกครองของเขมรแดง มีผู้กำกับฯ เพียงไม่กี่คนที่สามารถหลบหนีออกนอกประเทศได้ และภาพยนตร์ส่วนใหญ่ก็ถูกทำลายจนหลงเหลือมาได้แค่เพียงหยิบมือเท่านั้น
เรื่องราวเริ่มต้นจากชีวิตอันสุขสบายของ ‘หลวง’ เด็กน้อยที่มีพี่น้องถึงหกคน ครอบครัวของเธอมีฐานะค่อนข้างดี พ่อรับราชการ ส่วนแม่เป็นแม่บ้าน แต่แล้ววันหนึ่งเรื่องร้ายก็เกิดขึ้น เมื่อเขมรแดงเป็นฝ่ายมีชัยในสงครามกลางเมือง คนทั้งหมดถูกกวาดต้อนจากบ้านไปสู่ชนบท ทิ้งทรัพย์สินมีค่าไว้เบื้องหลัง เพราะเขมรแดงบอกว่าทุกคนต้องเท่าเทียมกัน
จากนั้นทั้งประเทศกัมพูชาก็ตกอยู่ภายใต้กฎระเบียบของคอมมิวนิสต์ ทุกคนกลายเป็นผู้ใช้แรงงานไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ บ้างไถนา บ้างปลูกข้าว บ้างถือปืน บ้างกลบระเบิด พวกเขาได้แต่จำยอมต่อชะตากรรม ครอบครัวของหลวงก็เช่นกัน นับวันพลเมืองยิ่งโรยราอ่อนแรง อาหารแทบไม่ตกถึงท้อง น้ำท่าแทบไม่ได้อาบ ชีวิตทั้งหมดขึ้นอยู่กับคำสั่ง แล้วคนในครอบครัวของหลวงก็ค่อยๆ ตายจากไปทีละคน หลวงยังโชคดีที่สุดท้ายได้กลับมาพบพี่น้อง แต่อีกหลายชีวิตก็ต้องจากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ การเรืองอำนาจของเขมรแดงคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชา ที่ผู้รอดชีวิตและโลกไม่มีวันลืม
On the Basis of Sex (2018)
เพราะความเท่าเทียมทางเพศควรเป็นของทุกคน
รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก จากโลกนี้ไปในเดือนกันยายน 2020 ขณะมีอายุ 87 ปี เธอคือสตรีคนที่สองที่ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดในสหรัฐฯ และเป็นเธอคนเดียวกันที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศมาโดยตลอด รูธเป็นเพียงผู้หญิงร่างเล็กที่ลงมือทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ อย่างไม่ต้องสงสัย On the Basis of Sex คือภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของเธอ
ในปี ค.ศ. 1956 โลกกฎหมายยังเป็นโลกของผู้ชาย และการเป็นนักศึกษาหญิงดูจะแปลกและผิดที่ผิดทาง รูธเป็นนักศึกษาหญิงเพียง 1 ใน 9 คนท่ามกลางนักศึกษาชายกว่า 500 คน เธอต้องพบแรงกดดันตั้งแต่อยู่ในชั้นเรียน รวมถึงการเลือกปฏิบัติต่อความเป็นเพศหญิง แม้จะมีผลการเรียนที่โดดเด่น และจบหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่เธอไม่เคยมีโอกาสได้เป็นทนายความตามที่ตั้งใจ เพราะถูกปฏิเสธงานจากทุกแห่งที่ไปสมัคร
ถึงจะไม่ถอดใจจากความฝัน แต่รูธก็ต้องเบนเข็มมาเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายแทน ซึ่งไม่นานต่อมา มาร์ติน — ผู้เป็นสามีและอัยการไฟแรงก็เอาแฟ้มคดีฟ้องร้องเรื่องการเสียภาษีของชายคนหนึ่งมาให้เธอ นั่นคือการจุดประกายขึ้นในใจของรูธ การกดขี่และความเหลื่อมล้ำทางเพศ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศและทุกคน ที่ส่งผลต่อความไม่เป็นธรรมและความเท่าเทียมกันในสังคม กฎหมายที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปีสมควรที่จะต้องปรับเปลี่ยนแก้ไข รูธจึงเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิที่ทุกคนพึงได้รับ ไม่ควรมีใครมีอภิสิทธิ์เหนือใคร ไม่มีใครต้องได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
รูธไม่ได้ต่อสู้บนเส้นทางนี้เพียงลำพัง หากแต่มีเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีกมากที่อยากเห็นสังคมเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เพราะนั่นหมายถึงอนาคตลูกหลานของพวกเขาด้วย และเมื่อไฟแห่งการต่อสู้เรียกร้องโหมกระพือ มันก็ยากที่จะดับลง รูธยึดมั่นและทุ่มเทแรงกายแรงใจจนได้รับชัยชนะ
Vice (2018)
สงครามและการสั่งการของผู้มีอำนาจ
ภาพยนตร์เรื่องนี้ติดตามเส้นทางการเมืองของ ดิก เชนีย์ รองประธานาธิบดีที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา ผลงานการกำกับฯ ของอดัม แม็คเคย์ ผู้กำกับฯ ภาพยนตร์เรื่อง Anchorman และ The Big Short โดยได้นักแสดงผู้ทุ่มเทอย่าง คริสเตียน เบล กลับมาร่วมงานอีกครั้ง
ในการรับบทเชนีย์ คริสเตียน เบลเพิ่มน้ำหนักขึ้นถึง 45 ปอนด์ ทั้งยังโกนหัว ฟอกคิ้ว และออกกำลังกายเพื่อเน้นให้ลำคอของเขาดูหนาขึ้นด้วย นี่เป็นครั้งแรกที่เขาต้องพึ่งพานักโภชนาการช่วยในการเพิ่มน้ำหนัก เพราะเบลให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพมากกว่าตอนที่ยังหนุ่มกว่านี้ นอกจากนี้ ในชีวิตจริงเชนีย์ยังมีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจด้วย เบลจึงต้องศึกษาเกี่ยวกับโรคนี้เพิ่มเติม เพื่อความสมจริงในการรับบทบาท นั่นทำให้เขาเข้าใจการปฐมพยาบาลเบื้องต้นของอาการหัวใจวาย ซึ่งในระหว่างการถ่ายทำผู้กำกับฯ ก็เกิดประสบกับอาการนี้ แต่โชคดีที่ได้เบลช่วยไว้
Vice เป็นการขึ้นสู่อำนาจของ ดิก เชนีย์ ชายที่เคยเป็นรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาลของ จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ผู้พ่อ ก่อนที่จะออกไปดำรงตำแหน่งประธานของบริษัทน้ำมันฮัลลิเบอร์ตัน แล้วเขาก็หวนกลับมาสู่การเป็นนักการเมืองอีกครั้ง ในตำแหน่งรองประธานาธิบดียุคของ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช คนลูก โดยมีเงื่อนไขบางประการ เพราะไม่ต้องการเป็นเพียงไม้ประดับทำเนียบขาวเท่านั้น
เชนีย์ได้รับมอบหมายความรับผิดชอบสำคัญหลายด้าน เช่น ด้านพลังงาน การทหาร และนโยบายต่างประเทศ อันเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจใหญ่ๆ อย่างการวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ทางการทหาร สำหรับเหตุการณ์ 11 กันยายน 2011 หรือ 9/11 เชนีย์จัดเป็นนักการเมืองฝ่ายขวาที่ทรงอิทธิพลไม่น้อย เขาถืออุดมการณ์ ‘นีโอคอน’ ประเภทสหรัฐอเมริกาต้องมาก่อน ทั้งอำนาจและผลประโยชน์ ซึ่งบางทีอาจหมายรวมถึงความทะยานอยากของเขาด้วยในฐานะผู้มีอำนาจคนหนึ่ง
Just Mercy (2019)
ความอยุติธรรมต้องไม่มีอำนาจเหนือใคร
ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากบันทึก Just Mercy: A Story of Justice and Redemption ที่เขียนโดย ไบรอัน สตีเวนสัน ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ถือเป็นหนังสือยอดนิยมของนักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา รวมถึงได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในเล่มที่มีอิทธิพลมากที่สุดแห่งทศวรรษ
หนึ่งในคดีแรกของเขาคือ วอลเตอร์ แมคมิลเลียน ชายที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อหาฆาตกรรมอันฉาวโฉ่ ซึ่งนี่เป็นคดีที่ดึงไบรอันเข้าสู่ความยุ่งเหยิงต่างๆ นานาไม่ว่าจะเป็นเล่ห์กลทางการเมือง หรือการปิดกั้นทางกฎหมาย แต่มันกลับยิ่งผลักดันให้เขาแสวงหาความยุติธรรมอันแท้จริง
ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่าน สตูดิโอวอร์เนอร์สฺ ยังประกาศให้ชาวอเมริกันชมภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ฟรีผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้สอดรับกับประเด็น Black Lives Matter ที่คุกรุ่นอยู่ในขณะนั้น
ในปี 1898 ไบรอัน สตีเวนสัน เป็นนิติศาสตร์บัณฑิตหนุ่มไฟแรงจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาเดินทางสู่รัฐแอละแบมาโดยมุ่งหวังว่าจะช่วยว่าความให้คนยากไร้ที่ไม่สามารถหาตัวแทนทางกฎหมายได้ ในดินแดนแห่งนี้คนผิวสีแทบไม่ได้รับความยุติธรรม และถูกซุกไว้ห่างไกลจากคำว่าเท่าเทียม ไบรอันให้ความสนใจคดีของ วอลเตอร์ แมคมิลเลียน ชายที่ไม่ต่างอะไรจาก ‘แพะ’ ของกระบวนการยุติธรรม
วอลเตอร์ถูกจับโดยนายอำเภอในกลางดึกของคืนวันหนึ่ง เขาถูกเรียกขานด้วยชื่อ จอห์นนี ดี ฆาตกรร้ายผู้พรากชีวิตของเด็กสาวอเมริกันด้วยคำให้การของ ราล์ฟ ไมเออร์ นักโทษอีกคดีหนึ่ง เพื่อแลกกับการพิจารณาโทษที่เบาลง ดังนั้น วอลเตอร์จึงถูกตัดสินว่ามีความผิดและต้องได้รับโทษประหารชีวิต แต่แล้วเมื่อสตีเวนสันเริ่มลงมือสืบคดีดังกล่าว เขาก็ยิ่งพบความไม่ชอบมาพากล ซ้ำยังถูกข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ ถึงแม้สตีวเนสันจะไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้มีอำนาจท้องถิ่น แต่เขาก็ไม่ยอมถอดใจ เพราะถ้าหากยอมแพ้ให้ความอยุติธรรมในวันนี้ แล้วจะมีความยุติธรรมในวันหน้าได้อย่างไร
Dark Waters (2019)
การต่อสู้กับระบบยุติธรรมที่บิดเบี้ยว
เรื่องจริงอีกเรื่องหนึ่งที่สร้างมาจากบทความในนิตยสารเดอะนิวยอร์กไทม์สฺ ปี 2016 ชื่อ ‘The Lawyer Who Became DuPont’s Worst Nightmare’ ว่าด้วยเรื่องราวการต่อสู้ทางกฎหมายในชีวิตของ โรเบิร์ต บิลอตต์ ที่ต้องมาห่ำหั่นกับดูปองท์ บริษัทระดับโลกที่มีอิทธิพลมากที่สุดแห่งหนึ่ง ในสัปดาห์แรกที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดตัว ราคาหุ้นของดูปองท์ลดลง 7.15 จุด จาก 72.18 เป็น 65.03 ดอลลาร์สหรัฐ
Dark Waters นำแสดงโดย มาร์ค รัฟฟาโล กับแอนน์ แฮทธาเวย์ เป็นเรื่องที่สองของมาร์คที่ได้ปรากฎตัวในภาพยนตร์ที่มีชื่อของดูปองท์เข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องแรกคือ Foxcatcher (2014))
โรเบิร์ต บิลอตต์ เป็นทนายความประจำ Taft Stettinius & Hollister LLP สำนักงานกฏหมายแห่งหนึ่งในซินซินเนติ ซึ่งทำงานให้กับบริษัทเคมีภัณฑ์มาโดยตลอด เขามีหน้าที่ปกป้องไม่ให้บริษัทถูกฟ้องร้อง แต่จู่ๆ วันหนึ่ง วิลเบอร์ เทนแนนท์ ชายชาวไร่คนหนึ่งก็โผล่มาบอกกับเขาว่า สัตว์ในฟาร์มของตัวเองล้มตายด้วยอาการป่วยที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นไปได้ว่าเป็นเพราะสารพิษที่รั่วไหลมาจากโรงงานในเครือของดูปองท์
โรเบิร์ตค้นหาคำตอบอยู่นานจนพบว่า สาเหตุนั้นมาจากการผลิตสินค้าอย่างกระทะเทฟลอนซึ่งมีสารพิษ PFOA (Perfluorooctanoic acid) อันเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็งและเป็นพิษต่ออวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายด้วย แม้บริษัทจะรู้มาโดยตลอดว่าสารนี้จะก่อให้เกิดอันตราย แต่พวกเขากลับนิ่งเฉย และยังปล่อยให้สารดังกล่าวรั่วไหลลงสู่แม่น้ำ โดยที่ประชาชนในละแวกนั้นไม่รู้อะไรเลย เมื่อน้ำในแม่น้ำปนเปื้อนสารพิษสะสมมานานกว่า 40 ปี มันจึงส่งผลให้ทั้งชาวบ้าน สัตว์เลี้ยง และพืชพันธุ์ ได้รับผลกระทบเต็มๆ
คดีส่วนใหญ่ที่ฟ้องร้องบริษัทดูปองท์มักถูกทำให้เงียบหายไป ไม่เพียงเพราะดูปองท์เป็นบริษัทใหญ่ แต่พวกเขามีอำนาจแทรกซึมทั่วทุกเส้นสายของหน่วยงานด้านความยุติธรรม การต่อสู้ของโรเบิร์ตและชาวบ้านจึงเป็นการงัดข้อกับองค์กรใหญ่ ฟาดฟันกับระบและการเล่นไม่ซื่อทางกฎหมาย มันเป็นเส้นทางที่ยากลำบาก แต่มันก็เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องรวมพลังมุ่งมั่นเดินต่อไป
Tags: Bryan Stevenson, DuPont, The list, Ruth Bader Ginsburg, Khmer Rouge Genocide, Dick Cheney