เมื่อพูดถึงสถานที่สงบๆ คุณจะนึกถึงที่ไหนเป็นอันดับแรกๆ? เชื่อแน่ว่าหนึ่งในนั้นจะต้องมีพิพิธภัณฑ์หรือห้องสมุด สถานที่ซึ่งรวบรวมผลงานและประวัติศาสตร์ของยุคสมัยเอาไว้ เปรียบเสมือนแหล่งโอเอซิสทางปัญญา ซึ่งบรรจุหลากกาลเวลาไว้ในที่เดียว รอให้เราไปค้นพบหรือค้นคว้า โดยที่ไม่ปล่อยให้ทุกอย่างสูญเปล่าอยู่ตรงนั้น

สำหรับสัปดาห์นี้เราขอชวนเพลิดเพลินไปกับภาพยนตร์ 3 พิพิธภัณฑ์ 2 ห้องสมุด ตั้งแต่เรื่องราวสนุกๆ อย่างโดราเอมอน ไปจนถึงเรื่องราวเข้มๆ อย่างการปิดปรับปรุงพิพิธภัณฑ์นานสิบปี เมื่อชมจบแล้วบางทีเราอาจคว้ากระเป๋าออกไปหาสถานที่สงบๆ เหล่านี้บ้างก็ได้

Doraemon: Nobita’s Secret Gadget Museum (2013)

โนบิตะล่าโจรปริศนาในพิพิธภัณฑ์ของวิเศษ เป็นภาพยนตร์โดราเอมอนลำดับที่ 33 ซึ่งมียอดผู้เข้าชมกว่า 1.56 ล้านคนภายใน 2 สัปดาห์ และทำรายได้สูงสุดเป็นอันดับที่ 5 ของปีในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงเป็นภาพยนตร์ภาคต่อที่มีผู้ชมมากที่สุดในประเทศ ยอดจำหน่ายตั๋วรวมกันเป็นจำนวน 100 ล้านใบ นับตั้งแต่เปิดตัวภาคแรกในปี 1980

ความอลหม่านในภาคนี้มีจุดเริ่มต้นในวันสงบๆ วันหนึ่ง โดราเอมอนกำลังนอนกลางวันเพื่อพักผ่อน แต่พอรู้สึกตัวอีกทีกระดิ่งห้อยคอของเขาก็ถูกขโมยไปแล้ว ซึ่งมันส่งผลให้โดราเอมอนกลายเป็นหุ่นยนต์ที่ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพอย่างแต่ก่อน โนบิตะจึงเสนอตัวเป็นนักสืบโดยขอยืมอุปกรณ์จากกระเป๋าวิเศษเช่นเคย

ปฏิบัติการยอดนักสืบจึงถือกำเนิด ซึ่งประกอบไปด้วยเหล่าผองเพื่อนเจ้าประจำ พวกเขาสืบเสาะไปจนถึงเบาะแสสำคัญ และเดินทางไปสู่โลกอนาคตอันเป็นที่ซ่อนของกระดิ่งห้อยคอ แล้วทั้งหมดก็มาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ของวิเศษ ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมของวิเศษตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และที่นี่ก็เป็นหนึ่งในจุดหมายตาของจอมโจรเดอลุกซ์เช่นกัน แก๊งโนบิตะจึงร่วมมือกับเคิร์ต เด็กหนุ่มนักประดิษฐ์และสารวัตรมัสตาร์ด เพื่อหยุดยั้งอาชญากรรมครั้งนี้ รวมถึงทวงคืนกระดิ่งที่ขอโมยไป ซึ่งหากไม่ทันการณ์โดราเอมอนก็จะมีอาการทรุดลงเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นจะมัวชักช้าอยู่ไม่ได้แม้แต่วินาทีเดียว!

The New Rijksmuseum – The Film (2014)

พิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์ หรือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งอัมสเตอร์ดัมมีอายุมายาวนานกว่า 200 ปี โดยแรกเริ่มนั้นก่อตั้งขึ้นในกรุงเฮก แล้วจึงย้ายมาเปิดที่กรุงอัมสเตอร์ดัมในปี 1808 ซึ่งเปิดให้เข้าชมเมื่อปี 1885 ที่นี่นับเป็นพื้นที่จัดเก็บและจัดแสดงผลงานชิ้นสำคัญๆ มากมาย ผลงานบางส่วนถูกคัดสรรมาจัดแสดงเพียง 8,000 ชิ้น จากทั้งหมดราวหนึ่งล้านชิ้น

สารคดีเรื่องนี้ไม่ได้จะพาเราเดินชมผลงานอันควรค่าเพียงอย่างเดียว แต่ยังเล่าถึงช่วงเวลาของการปิดปรับปรุงครั้งใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์ ซึ่งตามแผนการบูรณะครั้งนี้จะใช้ระยะเวลา 5 ปี แต่กลับยืดเยื้อไปอีกเท่าตัว กว่าพิพิธภัณฑ์จะเปิดขึ้นอีกครั้งก็ในปี 2013 และใช้งบไปมากเกือบ 400 ล้านยูโร

เบื้องหลังของการทำงานครั้งนี้ไม่ราบรื่นอย่างแผนที่วางเอาไว้ ปัญหาค่อยๆ งอกออกมาทีละน้อย เริ่มตั้งแต่การเงิน การแย่งชิงตำแหน่ง การแก้แบบ การประมูลงานศิลปะ ไปจนถึงการประท้วงของกลุ่มคน เช่น ผู้ใช้จักรยานและคนพิการ ซึ่งนำไปสู่การต้องวางแผนใหม่ในการปรับปรุง แต่นอกเหนือไปจากการจัดการปัญหาเหล่านี้ เราก็จะได้เพลิดเพลินไปกับงานศิลปะทั้งหลาย ได้เห็นถึงขั้นตอนในการบูรณะภาพสำคัญๆ สีสันที่ค่อยๆ เผยตัวให้เห็นจากคราบความเก่า และผลลัพธ์ที่ได้มาก็ช่างคุ้มค่ากับเรี่ยวแรงที่สูญเสียไป ไม่ต่างจากการปรับปรุงของพิพิธภัณฑ์ ที่ถึงแม้ระหว่างทางมันจะเกิดปัญหาวายป่วงไปบ้าง แต่ท้ายที่สุดสิ่งที่ได้รับกลับมาก็คู่ควรแก่การรอคอย ทุกคนต่างปลาบปลื้มกับความสำเร็จ เปรียบเสมือนความภาคภูมิใจของชาติ และอีกหนึ่งอย่างที่การันตีความสำเร็จนี้ก็คือสถิติผู้เยี่ยมชมที่มากขึ้นถึง 2.47 ล้านคนในปี 2014

The Square (2017)

ภาพยนตร์ของผู้กำกับชาวสวีเดน รูเบน ออสต์ลันด์ ที่พยายามตั้งคำถามและเสียดสีวงการศิลปะร่วมสมัยได้อย่างแสบสัน ใครที่ได้ดูคงจะต้องมีความรู้สึกแสบๆ คันๆ กันบ้าง รวมถึงมวลความอึดอัดบางอย่างที่จะเข้ามากระแทกซ้ำ

แรงบันดาลใจที่ถูกหยิบมาใส่ในภาพยนตร์มีที่มาจากหลากหลายผลงาน อาทิ งานของโรเบิร์ต สมิธสัน ศิลปินแลนด์อาร์ต, งานของเทรซี เอมิน ศิลปินร่วมสมัยชาวอังกฤษ, งานของโอเล็ก คูลิค ศิลปินชาวรัสเซีย 

The Square เป็นเรื่องราวที่ว่าด้วยพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งหนึ่ง โดยมีตัวละครสำคัญคือ คริสเตียน ภัณฑารักษ์หนุ่มใหญ่ที่กำลังประสบกับความวุ่นวาย ทั้งในแง่ชีวิตและการงาน เหตุการณ์รายล้อมที่เกิดขึ้นกับตัวคริสเตียนจะล้อไปกับแนวคิดของงานศิลปะ เมื่อดูไปมันจะเกิดคำถามตามรายทางเสมอๆ ในขณะเดียวกันก็เห็นด้านที่ไม่ค่อยงดงามนักของธุรกิจในวงการศิลปะ รวมถึงความเหลื่อมล้ำของสังคมที่ใส่มาอย่างไม่ปิดบัง

เรื่องมันยิ่งชวนหัวมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การทำกระเป๋าตังค์หายของคริสเตียน การที่เขาหลับนอนกับนักข่าวสาว การประชาสัมพันธ์งานศิลปะชิ้นใหม่ที่ออกมาพังพินาศ และไฮไลท์ที่โจษจั่นในงานเลี้ยงอาหาร การแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตของศิลปินที่สวมบทบาทลิง ซึ่งคุกคามทั้งแขกผู้เกียรติและผู้ชมอย่างเราๆ

สิ่งที่ภาพยนตร์กำลังจะบอกไม่ได้จำกัดอยู่แค่วงการศิลปะ แต่เป็นอะไรที่ง่ายและเข้าถึงคนได้มากกว่านั้น เช่น อิสรภาพทางการสื่อสาร ศีลธรรมของมนุษย์ การตีกรอบและให้ค่า รวมถึงความเท่าเทียม ใครที่เกรงว่าจะดูไม่เข้าใจอยากให้ลองเปิดใจดูก่อน แล้วความตลกร้ายนี้แหละจะสร้างความบันเทิงให้กับคุณ

American Animals (2018)

ผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของบาร์ต เลย์ตัน ที่ก่อนหน้านี้เคยชิมลางมาจากการกำกับสารคดี ภาพยนตร์เรื่องนี้เขาหยิบเหตุการณ์จริงมาเล่า (ไม่ใช่แค่เค้าโครงมาจากเรื่องจริง แต่ทั้งหมดนี้คือเรื่องจริง!) ดังนั้น มันจึงมีกลิ่นความเป็นสารคดีนิดๆ สอดแทรกเข้ามาด้วยในตอนที่สัมภาษณ์บุคคลต้นเรื่อง

นี่เป็นเรื่องจริงเกี่ยวกับนักศึกษาที่ขโมยหนังสือล้ำค่าจากมหาวิทยาลัยทรานซิลเวเนีย ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเล็กซิงตัน รัฐเคนทักกี แม้ว่าจะถ่ายทำในนอร์ทแคโรไลนา และในระหว่างการถ่ายทำนักแสดงจะไม่ได้รับอนุญาตให้พบกับบุคคลที่เขาสวมบทบาทอยู่เลย เพราะผู้กำกับเกรงว่านั่นอาจจะไม่ใช่ผลดีเท่าไร

การลงมือปล้นของพวกเขาไม่ได้เท่เหมือนใน Ocean’s Twelve ไม่โชคดีเหมือน Logan Lucky และไม่ฉลาดเหมือน Now You See Me แต่ทั้งสี่คนก็คิดว่าตัวเองน่าจะมีฝีมือมากพอกับปฎิบัติการครั้งนี้ สิ่งที่พวกเขาหมายตาคือหนังสือหายากมูลค่า 12 ล้านเหรียญ ซึ่งถ้าปล่อยขายแล้วก็จะนำเงินมาแบ่งกัน แผนการถูกวางขึ้นโดยศึกษาจากภาพยนตร์อื่นๆ มีการวางหมากอย่างเป็นขั้นเป็นตอนว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และก่อนลงมือก็สำรวจห้องสมุดไว้ด้วยว่ามีพนักงานกี่คน แต่ละคนทำหน้าที่อะไร แปลนห้องสมุดมีทางหนีทีไล่ตรงไหนบ้าง

เมื่อมาถึงวันปล้น แผนที่วางไว้ก็พังไม่เป็นท่า ทั้งจากความลนลานและสิ่งไม่คาดคิด แต่อย่างน้อยๆ หนังสือเล่มนั้นก็มาอยู่ในมือพวกเขาจริงๆ เราอาจเรียกว่ามันประสบความสำเร็จได้ หากมองในแง่ของผลลัพธ์ แต่ผลกระทบจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นี้ก็สั่งสอนพวกเขาหนักพอดู อนาคตที่เคยมีดับวูบ สูญเสียช่วงเวลาสำคัญในชีวิต แทนที่จะก้าวไปทางที่ดีกลับก้าวไปในทางที่พลาด บทเรียนครั้งนี้ราคาแพงจริงๆ

The Public (2018)

เอมิลิโอ เอสเตเวซ ชายที่เข้ามาโลดแล่นในวงการภาพยนตร์ด้วยบทบาทนักแสดงในทีแรก ก่อนที่จะขยับมาเป็นนักเขียนบทและผู้กำกับ เขาเป็นที่รู้จักดีในฐานะสมาชิกของ Brat Pack (กลุ่มนักแสดงรุ่นใหม่ที่ปรากฎตัวในภาพยนตร์วัยรุ่นยุค 80s) ซึ่งเอมิลิโอมีผลงานหลากหลายเรื่องในช่วงเวลานั้น อาทิ The Outsiders (1983), The Breakfast Club (1985) และ St. Elmo’s Fire (1985)

สำหรับแรงบันดาลใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ เอมิลิโอ อ้างถึงบทความของ Chip Ward ในปี 2007 หัวข้อ “What They Didn’t Teach Us in Library School: The Public Library as an Asylum for the Homeless”   ซึ่งพูดถึงห้องสมุดสาธารณะในฐานะที่ลี้ภัยสำหรับคนจรจัด

ห้องสมุดสาธารณะเป็นสถานที่ที่ใครก็สามารถไปใช้บริการได้แล้ว ทั้งยังมีสิ่งอำนายความสะดวกที่สามารถเข้าถึงได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ หรือห้องน้ำ จุดสำคัญคือมันทั้งสงบและปลอดภัย เมื่อเข้าไปก็ไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครมาไล่หากยังไม่ถึงเวลาปิดบริการ

สจวร์ต กู๊ดสัน ทำงานเป็นบรรณารักษ์ในห้องสมุดสาธารณะซินซินนาติ ซึ่งนอกจากจะเป็นห้องสมุดแล้วมันยังเป็นสถานที่หลบภัยของคนจรจัดด้วย พวกเขามักรออยู่ข้างนอกทุกเช้า เมื่อถึงเวลาเปิดก็รีบเข้ามาและใช้เวลาอยู่ที่นี่ทั้งวัน แล้วพอถึงช่วงฤดูหนาวอันแสนโหดร้าย คนจรจัดบางคนก็เสียชีวิตลงเพราะอากาศหนาว ดังนั้น คนจรจัดซึ่งนำโดยแจ็คสันจึงตัดสินใจที่จะไม่ออกจากห้องสมุด ซึ่งกู๊ดสันก็ยอมรับอย่างไม่มีทางเลือก แต่แน่นอนว่ามันนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรวดเร็ว ระหว่างกลุ่มคนจรจัดกับตำรวจและนักการเมือง แล้วเหตุการณ์ก็ค่อยๆ บานปลายขึ้นทุกขณะ จนเกิดการจลาจลและการต่อสู้ทางกฎหมายระหว่างคนสองกลุ่ม

Tags: , , ,