ใครว่าเพศเป็นข้อจำกัดในการเรียนรู้และการพัฒนาความสามารถของผู้หญิง? คงต้องกลับไปพิจารณาดูเสียใหม่ เพราะในปี พ.ศ. 2561 นี้ มีผลงานอันควรค่าแก่การยกย่องจากสตรีทั้งในแวดวงวิทยาศาสตร์และศิลปะ อย่างดอนนา สตริกแลนด์ (Donna Strickland) ชาวแคนาดา สตรีคนที่ 3 ของโลกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ส่วนประเทศไทย ก็มีนักเขียนรางวัลดับเบิ้ลซีไรต์อย่าง คุณวีรพร นิติประภา เป็นผู้หญิงคนแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งรางวัลนี้ขึ้นมา

‘ผู้หญิง’ มีบทบาทก้าวหน้าทางอาชีพมากขึ้น โดยเฉพาะแวดวงวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี บริษัทลอรีอัลแห่งประเทศไทย เห็นความสำคัญของการสนับสนุนนักวิจัยหญิงเหล่านี้เป็นอย่างดี เพราะจุดเริ่มต้นของลอรีอัลก็ก่อตั้งด้วยมันสมองของผู้เชี่ยวชาญทางด้านเคมี งานวิจัยและผลงานวิทยาศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่ลอรีอัลยกให้เป็นอาวุธอันแข็งแกร่ง เพื่อยืนหยัดอยู่บนเส้นทางธุรกิจมายาวนาน

ลอรีอัลจึงร่วมกับยูเนสโก (UNESCO) หรือสำนักเลขาธิการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ริเริ่มโครงการทุนวิจัยเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ (For Women in Science : FWIS) ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์หญิง สำหรับในไทย ทุนนี้มอบให้นักวิจัยหญิงที่อายุระหว่าง 25-40 ปี จำนวนไม่เกินปีละ 5 ทุน ทุนละ 250,000 บาท ซึ่งวิธีการเลือกจะดู H-index หรือดัชนีที่วัดผลผลิตและผลกระทบของงานวิจัยจากการตีพิมพ์เผยแพร่ จนถึงปัจจุบันนี้ โครงการได้ดำเนินต่อเนื่องในไทยมาเป็นเวลากว่า 16 ปีแล้ว และครบรอบ 20 ปีของโครงการทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว

ในปีนี้โครงการทุนวิจัย FWIS มีการปรับเปลี่ยนวิธีการรับสมัครด้วย คือเปิดรับให้สมัครผ่านทางออนไลน์ รวมถึงเกณฑ์การพิจารณาก็เปลี่ยนแปลง จากเดิมที่มี 3 สาขา ยุบเหลือเพียงแค่ 2 สาขา คือ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Sciences) กับสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Sciences) เป็นการนำ 2 สาขาเดิมมารวมกัน และเพิ่มสาขาย่อยเข้าไปให้ครอบคลุมหลากหลายมากขึ้น เพื่อที่ว่านักวิจัยหญิงที่มีความสนใจในวิทยาศาสตร์แขนงแตกต่างกันจะได้รับโอกาสมากขึ้น นำทุนจากโครงการวิจัยครั้งนี้ไปต่อยอดสู่สากลได้

เปิดรายชื่อ 5 นักวิจัยหญิงที่ได้ทุน

หลังจากปิดรับสมัครไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 พร้อมทั้งประกาศผลในเดือนกันยายน 2561 ก็ได้ฤกษ์เปิดตัว 5 นักวิจัยหญิงกับผลงานวิจัยของพวกเธออย่างเป็นทางการที่งานแถลงข่าว ‘โครงการทุนวิจัยเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2561’ เมื่อวันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม 2561 ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ทั้งนี้แบ่งออกเป็นผลงานสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ 3 คน และผลงานสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ 2 คน

มาดูกันว่า 5 นักวิจัยหญิง ผู้ได้รับทุน FWIS ในปี 2561 ปีนี้ คือใคร และผลงานของพวกเธอคืออะไรบ้าง

(จากซ้ายไปขวา) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร. วริษา พงศ์เรขนานนท์, ดร. จันทร์เจ้า ล้อทองพานิชย์, ดร. วิรัลดา ภูตะคาม, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุรภา เทียมจรัส, ดร. จุฬารัตน์ วัฒนกิจ

ดร. จันทร์เจ้า : สเต็มเซลล์รักษาผู้ป่วยเกล็ดเลือดพร่อง

มาเริ่มที่สาขาวิทยาศาสร์ชีวภาพคนแรก เธอเป็นนักวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศทางงานวิจัยสเต็มเซลล์ของศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.จันทร์เจ้า ล้อทองพานิชย์ กับผลงานวิจัยหัวข้อ งการเพิ่มอัตราการผลิตเกล็ดเลือดจากเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อประโยชน์ทางการรักษาผู้ป่วยเกล็ดเลือดพร่อง’ ว่าด้วยการนำเอาสเต็มเซลล์จากเม็ดเลือดในผิวหนังและเซลล์ต้นกำเนิดที่ได้จากการเหนี่ยวนำมาผลิตเป็นเกล็ดเลือดทดแทน เพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยเกล็ดเลือดพร่อง เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดเลือดในไขกระดูกต่ำ และผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย

เนื่องจากเจ้าเซลล์สองตัวนี้สามารถแบ่งตัวได้มาก และสามารถเจริญเติบโตไปเป็นเซลล์เลือดชนิด ‘เมกะคารีโอไซท์’ ที่มีหน้าที่ผลิตเกล็ดเลือดได้อย่างต่อเนื่อง และปลอดภัยกว่าการรอใช้เกล็ดเลือดจากการบริจาค เพราะบางทีเลือดที่คนนำมาบริจาคกันนั้น มีการปนเปื้อนของเม็ดเลือดขาวหรือเชื้อก่อโรค กว่าจะคัดแยกและผลิตเกล็ดเลือดออกมาได้จึงน้อยมาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย พูดง่ายๆ ก็คือ กว่าจะได้เกล็ดเลือด 1 ถุง ต้องมาจากการบริจาคเลือดกว่า 4-6 คนเลยทีเดียว

งานวิจัยนี้จึงถือว่ามีประโยชน์อย่างมาก เพราะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาสภาวะเลือดคงคลังไม่พอของโรงพยาบาลและสภากาชาดไทย โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของไข้เลือดออก แต่ขณะนี้การผลิตเกล็ดเลือดในห้องทดลองยังมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่ร่างกายผลิตได้ ในอนาคตจึงต้องหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ได้ปริมาณมากขึ้น

ดร. วริษา : โปรตีน CAMSAP และเซลล์มะเร็งปอด

คนที่สองเป็นเภสัชกรหญิง ผศ. ดร. วริษา พงศ์เรขนานนท์ จากภาควิชาเภสัชวิทยาและสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงานวิจัยหัวข้อ ‘การศึกษาบทบาทของโปรตีน CAMSAPs ต่อความรุนแรงของเซลล์มะเร็งปอด’ โดยสังเกตการแพร่กระจายของโปรตีนที่ชื่อ CAMSAP3 ในเซลล์มะเร็ง

ปกติแล้วเมื่อเซลล์มะเร็งเกิดขึ้น เซลล์ดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงรูปร่าง มีระยะการเคลื่อนที่ไปทั่ว ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตภายในประมาณ 5 ปี เธอจึงริเริ่มโครงการวิจัยนี้ขึ้นมา เพื่อผลิตยาที่ช่วยลดการแพร่กระจายโปรตีน CAMSAP ในเซลล์มะเร็ง เนื่องจากตัวยาจะไปช่วยยับยั้งการแพร่กระจาย ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งได้

ดร.วริษา พบไอเดียผลิตยารักษานี้จากการสังเกตการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งปอด และศึกษากลไกการทำงานของโปรตีน CAMSAPs พบว่าโปรตีนดังกล่าวเชื่อมต่อกับสิ่งที่เรียกว่าไมโครทูบูล (microtubule) ซึ่งเป็นโครงร่างของเซลล์และเป็นตัวที่คอยส่งถ่ายสัญญาณภายในเซลล์มะเร็ง

เมื่อศึกษาแล้วก็นำมาเป็นแนวทางยับยั้งการรุกรานของเซลล์ เธอทดลองเพาะเลี้ยงเซลล์มะเร็งปอด แล้วใช้เทคนิคทางพันธุวิศวกรรมลบยีนที่มีโปรตีน CAMSAPs ออก เมื่อไม่มีโปรตีนเหล่านี้ เซลล์เลยไม่มีที่ยึดเกาะ การเรียงตัวและองค์ประกอบของเซลล์มะเร็งก็เปลี่ยนไป เธอจึงค้นพบว่าหากผลิตตัวยาที่ทำปฏิกิริยากับโปรตีน CAMSAPs ก็จะสามารถนำมาใช้ช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด

อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงกลไกการทำงานของโปรตีน CAMSAP ในระดับโมเลกุลให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อนำมาพัฒนายาให้มีประสิทธิภาพ สอดรับความต้องการของผู้ป่วยที่มีลักษณะอาการต่างกัน

ดร. วิรัลดา : ปะการังและอุณหภูมิน้ำทะเล

ลำดับต่อมา คือ ดร. วิรัลดา ภูตะคาม จากห้องปฏิบัติการวิจัยจีโนม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) กับหัวข้อโครงการวิจัยเรื่อง ‘การศึกษากระบวนการตอบสนองของปะการังต่อการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำทะเลและการประเมิณความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังในน่านน้ำไทย เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศใต้ท้องทะเลอย่างยั่งยืน’

โดยธรรมชาติ ปะการังจะอาศัยอยู่ร่วมกับสาหร่ายสีน้ำตาล เพราะฉะนั้นคนมักจะคุ้นเคยกับปะการังที่มีสีน้ำตาลอยู่เสมอ แท้จริงแล้วปะการังมีสีใส แต่เมื่อระดับอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น สาหร่ายจะกระจายตัวออกไป ทำให้ปะการังไม่มีอะไรป้องกัน จนกระทั่งฟอกขาวและตายลงในที่สุด

งานวิจัยนี้เกิดขึ้นเพราะการเห็นความสำคัญของผลกระทบจากสถานการณ์โลกร้อนที่มีต่อปะการังฟอกขาวในน้ำทะเล และต้องการอนุรักษ์ปะการังเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศในทะเล

เริ่มจากการศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการัง เพื่อสังเกตดูการทนร้อนของมัน โดยเก็บตัวอย่างปะการังมาเปรียบเทียบ ‘การแสดงออกของยีน’ เมื่ออยู่ในสภาวะอุณหภูมิน้ำทะเลปกติกับอุณหภูมิที่สูงกว่าปกติ จากนั้นก็สกัด RNA ปะการังออกมา นำเทคโนโลยีจีโนมิกส์มาประยุกต์สร้างชุดตรวจ DNA ใช้ค้นหาและพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุล (DNA BARCODE) นำมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ DNA ของปะการังทนร้อน ก่อนทำการขยายพันธุ์ ย้ายปลูกเพิ่มแนวปะการังสู่ทะเล

ดร. จุฬารัตน์ : โลหะพรุนเร่งปฏิกิริยาในการผลิตยาและเครื่องสำอาง

มาที่ผลงานวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพกันบ้าง ดร. จุฬารัตน์ วัฒนกิจ จากสำนักวิชาวิทยาการพลังงาน สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) กับหัวข้อ ‘การสังเคราะห์สารอิแนนทิโอเมอร์และการแยกไครัลโมเลกุลด้วยเทคนิคทางเคมีไฟฟ้าบนขั้วโลหะเคมีไฟฟ้า’

อธิบายง่ายๆ ก็คือ เธอคิดค้นวัสดุโลหะที่ออกแบบเป็นรูพรุนเพื่อเร่งปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้า เพื่อใช้สำหรับการผลิตยาและเครื่องสำอาง เนื่องจากเธอเข้าใจถึงการผลิตสารอิแนนทิโอเมอร์ที่มีความบริสุทธิ์สูงในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอางว่าต้องใช้ต้นทุนสูงถึงจะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ รวมถึงมีโครงสร้างโมเลกุลตามที่ต้องการ ดังนั้นวัสดุที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะนี้ จึงเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมดังกล่าวในระยะยาว

ผศ. ดร. สุรภา : เซนเซอร์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย

คนสุดท้ายคือ ผศ. ดร. สุรภา เทียมจรัส จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กับผลงานวิจัยหัวข้อ ‘ระบบเซนเซอร์อัจฉริยะสำหรับสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย’ คือการออกแบบพัฒนาฮาร์ดแวร์สร้างเครื่องมือทางการแพทย์อย่างอุปกรณ์เซนเซอร์วัดการเคลื่อนไหว ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีโครงข่ายเซนเซอร์ร่างกายและ IoT มาพัฒนาระบบ Body Sensor Network ไว้สำหรับเฝ้าระวัง ตรวจจับ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาสุขภาพที่มักพบบ่อยในผู้สูงอายุ

งานวิจัยนี้มีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแลที่จำเป็นต้องเฝ้าอาการอย่างต่อเนื่อง โดยกระบวนการของระบบเซนเซอร์นี้คือ เมื่อตัวเซนเซอร์ตรวจพบการเคลื่อนไหวจะส่งข้อมูลไปที่ตัวรับสัญญาณ เพื่อแจ้งเตือนแก่ผู้ป่วยหรือผู้ดูแล เช่นในกรณีที่ผู้ป่วยหกล้มมีแผลกดทับ ซึ่งจำเป็นต้องขยับพลิกตัวบ่อยๆ นอกจากนี้ยังสามารถดูบันทึกการแจ้งเตือนแต่ละครั้งได้อีกด้วย อุปกรณ์นี้จะเริ่มทดลองใช้ในโรงพยาบาลก่อน จากนั้นถึงจะพัฒนาสำหรับใช้ในบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานทั่วไป

เรียกได้ว่าผลงานวิจัยทั้ง 5 นี้ มีประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ เป็นบทพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์ไม่ควรถูกจำกัดด้วยอคติทางเพศ เพราะผู้หญิงก็สามารถสร้างสรรค์ ระดมกำลังความคิด ผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพเช่นนี้ได้ในฐานะมนุษย์ เช่นเดียวกับผู้ชาย ตราบใดที่โลกยังต้องการวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ย่อมต้องการกำลังจากผู้หญิงกับผู้ชายอย่างเท่าเทียมในการขับเคลื่อนองค์ความรู้ พัฒนาผลิตสร้างวิทยาการใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ร่วมกันในอนาคตต่อไป

สัดส่วนผู้หญิงทำงานวิทย์ ไทยคือ 1 ใน 3 ประเทศในเอเชียที่โดดเด่น

ดร.เบนโน โบเออ หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งองค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ อธิบายเรื่องสถานการณ์การศึกษาด้าน STEM ทั้งสี่สาขาของผู้หญิงในประเทศไทยและทวีปเอเชีย อันได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology)  วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) จากสถิติของยูเนสโก ที่เปรียบเทียบระหว่าง เพศชายกับเพศหญิง พบว่าปัจจุบันมีผู้หญิงเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ทำงานวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเฉพาะทวีปเอเชีย สัดส่วนของผู้หญิงที่ทำอาชีพดังกล่าวโดดเด่นอยู่แค่สามประเทศจาก 18 ประเทศ อันได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์ (52 เปอร์เซ็นต์) ประเทศไทย (53 เปอร์เซ็นต์) และประเทศคาซัคสถาน (50 เปอร์เซ็นต์) อย่างไรก็ตาม ประเทศมาเลเซียกับประเทศไทยมีแนวโน้มว่าผู้หญิงจะได้รับการสนับสนุนในการศึกษาสาขาดังกล่าวมากขึ้น เนื่องจากมีโครงการการสนับสนุนอยู่

ถึงแม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่มากมายนัก แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงมีตัวตนอยู่ในแวดวงสาขาอาชีพของงานที่ใช้ศาสตร์ตรรกะและเหตุผลไม่ต่างจากผู้ชาย องค์การยูเนสโกมองเห็นถึงความสำคัญในการสนับสนุนและให้โอกาสแก่สตรีที่มีความเชี่ยวชาญสนใจวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด ทั้งยังพิจารณาว่าสายอาชีพดังกล่าวไม่ควรถูกจำกัดอยู่ภายใต้ระบบความคิดเรื่องเพศอีกต่อไป เพราะยิ่งส่งเสริมให้ผู้หญิงมีโอกาสในการศึกษาวิทยาศาสตร์มากเท่าไร ย่อมเป็นผลดีต่อมนุษยชาติร่วมกันเท่านั้น

คุณอรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ ตัวแทนจากลอรีอัลเสริมว่า ไม่ใช่แค่ 55 เปอร์เซ็นต์ของนักวิจัยลอรีอัลที่เป็นผู้หญิง แต่ลอรีอัลได้พยายามผลักดันนักวิจัยหญิงมานานแล้ว ทั้งในไทยและต่างประเทศ จากโครงการ International rising talents ที่มอบทุนรางวัลให้กับ Laureates ปีละ 5 คน คนละ 100,000 ยูโร นอกจากนี้ยังรวมถึงการจัดตั้งสถาบัน For Women in Science Academy แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อช่วยเทรนเสริมทักษะด้านการบริหารจัดการ การพัฒนาสู่ความเป็นผู้นำ การสื่อสาร การแนะนำแหล่งความรู้และเครื่องมือเสริมการทำงาน ตลอดจนมอบทุนเรียนดีให้กับเด็กรุ่นใหม่ที่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นักวิจัยหญิงในประเทศไทย มีศักยภาพแข็งแกร่ง พัฒนาผลงานก้าวสู่ระดับนานาชาติ เป็นหน้าตาให้กับประเทศไทยต่อไป

 

 

อ้างอิงจาก

Tags: , , , , ,