โลกแฟชั่นที่มีความงดงามอยู่เบื้องหน้า แต่เบื้องหลังอาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป สารคดีชีวิตของเหล่า ‘แฟชั่น ไอคอน’ ทั้งห้านี้จึงสะท้อนถึงทั้งชีวิตชีวา ความหลงใหล พลังสร้างสรรค์ และความมุ่งมั่นเต็มเปี่ยม อันปรากฎเป็นโชว์บนรันเวย์หรือผลงานในสื่อต่างๆ แต่ขณะเดียวกัน หลังฉากตระการตาเหล่านั้นมันอาจหมายถึงน้ำตาและความเจ็บปวดของบางชีวิต
Iris (2014)
ผลงานสารคดีลำดับสุดท้ายของ อัลเบิร์ต เมย์เซิลส์ ที่ได้ร่วมงานกับแฟชั่นไอคอนผู้ที่ไม่ยอมให้อายุมาบดบังความคิดสร้างสรรค์และสไตล์ของเธอลงได้ เธอคือไอริส แอพเฟล ผู้ทรงอิทธิพลในวงการแฟชั่นแม้อายุจะนำหน้าด้วยเลขเก้า ไอริสเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักสะสมเสื้อผ้าและเครื่องประดับ เธอชอบผสมผสานสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันจนกลายเป็นความแปลกใหม่ และการทำงานของเธอไม่ต่างอะไรกับการแสดงดนตรีแจ๊ซที่มีการด้นสดผสมผสาน
การเฝ้ามองไอริสที่ยังคงเต็มไปด้วยความกระตือรืนร้นจึงแทบไม่ต่างอะไรจากการเติมไฟให้ตัวเอง เหมือนเป็นการชี้ให้เห็นว่าการแต่งตัวและการใช้ชีวิตไม่ต่างอะไรกับการทดลอง ถ้าคุณรัก ชื่นชอบ และลุ่มหลง สิ่งนั้นจะกลายเป็นแรงผลักให้ชีวิตดำเนินไปข้างหน้า
ก่อนที่จะมาคลุกคลีอยู่กับวงการแฟชั่น ไอริสมีชื่อเสียงและความสามารถเป็นทุนเดิมอยู่แล้วกับอาชีพนักออกแบบตกแต่งภายใน เธอแต่งงานกับ คาร์ล แอพเฟล สามีผู้น่ารักและร่วมกันก่อตั้งบริษัทสิ่งทอ ทั้งคู่ให้คำปรึกษากับผู้คนและหน่วยงานหลากหลาย ไม่เว้นแม้แต่กับทำเนียบขาว
ในปี 2005 ไอริสได้รับเชิญจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทนให้นำของสะสมมาจัดแสดงงาน ซึ่งเธอก็ลงมาร่วมดูแลการออกแบบและจัดวางสิ่งของต่างๆ ด้วยตัวเอง นิทรรศการของเธอได้รับความสนใจกว่าที่คาด และเป็นที่กล่าวขวัญถึงในวงกว้าง
ชีวิตและการทำงานของเธอกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆ คน บางคนถึงกับเขียนจดหมายเพื่อบอกกับไอริสว่า เธอได้มอบความกล้าหาญและความสุขให้แก่พวกเขา และทุกวันนี้ในวัย 99 ปี ไอริสยังคงสนุกกับชีวิตและการแต่งตัวไม่สร่างซา
Franca: Chaos and Creation (2016)
ในชีวิตนี้คงมีเพียงเรื่องเดียวที่ ฟรังกา ซอซซานิ ไม่ประสบความสำเร็จ นั่นคือความรัก แต่นอกเหนือไปจากนั้น อะไรที่เธอต้องการหรืออยากทำในชีวิตล้วนเป็นดั่งใจหมายทุกอย่าง
สารคดีเรื่องนี้เป็นการสัมภาษณ์ฟรังกา โดยฟรานเชสโก คาร์รอซซินิ ลูกชายของเธอซึ่งเป็นผู้กำกับฯ สารคดีเรื่องนี้ การสัมภาษณ์ส่วนใหญ่ถ่ายทำในรถระหว่างการเดินทาง เดาว่าคงเป็นช่วงเวลาที่เธอต้องไปทำงานที่ใดที่หนึ่ง “การเป็นบรรณาธิการก็เหมือนกับการเป็นผู้กำกับฯ ไม่มีอะไรที่คุณต้องทำ แต่สุดท้ายคุณก็ต้องทำทุกอย่าง” ฟรานเชสโกกล่าวไว้เช่นนี้
ฟรังกา ซอซซานิ เป็นคนสวยผู้ดื้อรั้น แต่ก็รอบคอบและมีอารมณ์ขัน เธอแต่งงานเพื่อจะได้ออกมาจากครอบครัวเดิมของเธอ และเพียงเวลาสามเดือนเธอก็แยกกันอยู่กับสามีและเริ่มออกเดินทาง ซึ่งนั่นอาจเป็นแรงบันดาลใจให้เธอค้นพบความต้องการในชีวิต
ฟรังกาเข้ามาเป็นบรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Vogue อิตาลี ในช่วงปี 1988 กล่าวได้ว่าเป็นช่วงเดียวกับที่แอนนา วินทัวร์ เป็นบรรณาธิการบริหารของนิตยสาร Vogue อเมริกา ต่างคนต่างมีแนวทางในการทำงานของตัวเอง แต่ก็ให้เกียรติและความนับถือซึ่งกันและกัน
ฟรังกาเริ่มปฏิวัติแฟชั่นออกจากรูปแบบเดิมๆ เธอผสมผสานทั้งศิลปะ แนวคิด และการเล่าเรื่องผ่านภาพ เธอมีความเฉียบคมในการมองคน สามารถเลือกใช้คนได้ตรงกับผลงาน เธอจึงได้ผลงานภาพที่โดดเด่นจากบรรดาช่างภาพมากมาย ฟรังกาเป็นคนที่สร้างปกนิตยสาร Vogue อิตาลีได้โดดเด่นที่สุดในช่วงที่เธอกุมบังเหียน ทุกฉบับที่ผ่านฝีมือเธอเต็มไปด้วยแรงกดดัน แต่ฟรังกาเลือกเดินต่อไปตามสัญชาตญาณของเธอเสมอ ไม่ว่าการนำเสนอประเด็นต่างๆ เช่น ฉบับ Makeover Madness นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับศัลยกรรมพลาสติก ฉบับ A Black Issue ที่ใช้นางแบบผิวสีทั้งหมด และฉบับ Water & Oil ที่เล่นประเด็นการรั่วไหลของน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก
นอกจากเรื่องของหน้าที่การงานอันเต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์ของเธอ สารคดีเรื่องนี้ยังมีรายละเอียดต่างๆ ของความสัมพันธ์ในครอบครัว การทะเลาะเบาะแว้งเล็กๆ ความลับที่ไม่เคยเปิดเผย ที่ล้วนแต่เป็นเรื่องส่วนตัวของฟรังกาและครอบครัว ซึ่งถ้าผู้กำกับฯ ไม่ใช่ฟรานเชสโกผู้เป็นลูกชายของเธอแล้ว มันคงไม่ออกมาเป็นแบบนี้ได้ง่ายดายนัก
Manolo: The Boy Who Made Shoes for Lizards (2017)
ถ้าจะมีอะไรสักอย่างนอกเหนือจากเสื้อผ้าที่ผู้หญิงมักครอบครองไว้จำนวนไม่น้อยแล้ว ไอเท็มที่รองลงมาน่าจะเป็นรองเท้า เพราะรองเท้าแต่ละคู่ต่างก็มีบทบาทแตกต่างกันตามการแมตช์กับเสื้อผ้าและการใช้งาน สารคดีเรื่องนี้พาเราไปสำรวจชีวิตของ มาโนโล บลาห์นิก ชายผู้สร้างสรรค์ทำรองเท้ามาตลอดชีวิต
มาโนโลในวัยเจ็ดสิบกลางๆ ยังคงดูดี มีผมสีขาวที่ดูเหมือนปุยเมฆ และแว่นตากรอบสีดำบนใบหน้า เราจะได้เห็นเขาในวัยนี้ และเรื่องราวที่ย้อนกลับไปในอดีต เส้นทางในการพัฒนาตัวเองสู่การเป็นดีไซเนอร์รองเท้าที่ทั่วโลกต่างยอมรับ ไม่ว่าแฟชั่นจะหมุนไปในทิศทางใด รองเท้าของเขายังคงอยู่และเป็นที่หมายปองของหญิงสาวทุกยุค
หากใครเคยดูซีรีส์ Sex and the City จะรู้ว่านี่เป็นแบรนด์รองเท้าสุดโปรดของ แครี แบรดชอว์ และขนาดแอนนา วินทัวร์ บรรณาธิการ นิตยสาร Vogue อเมริกายังเคยกล่าวไว้ด้วยว่า เธอไม่ใส่รองเท้ายี่ห้ออื่น นอกจากของมาโนโลเท่านั้น นอกเหนือจากแอนนา ในสารคดีเรื่องนี้ยังมีคนมีชื่อเสียงอีกมากมายหลายคนที่พร้อมใจกันชื่นชมดีไซเนอร์คนนี้ ถึงความคิดสร้างสรรค์ การทำงานอย่างเข้มงวดและทุ่มเท
มีคนเคยถามมาโนโลว่า ทำไมคุณถึงไม่ออกแบบแว่นตา เครื่องประดับ หรือหมวก เขาตอบว่า “ไม่ ผมจะทำแต่รองเท้า และจะทำมันให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความสุขในชีวิตของผม คือการได้ใช้เวลาอยู่ในโรงงาน มันอาจดูเศร้าที่พูดแบบนี้ แต่มันเป็นสิ่งเดียวในชีวิตที่ผมรัก”
McQueen (2018)
ลี อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน ดีไซเนอร์ชาวอังกฤษผู้ล่วงลับไปด้วยการตัดสินใจฆ่าตัวตาย แต่ทุกสิ่งที่เขาสร้างสรรค์ไว้ยังคงส่งแรงกระเพื่อมต่อวงการแฟชั่นจนถึงทุกวันนี้ แม็กควีนไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง แต่เขาชอบวาดรูปเสื้อผ้า และมักนำเงินที่ได้ไปซื้อหาผ้ามาทดลองออกแบบตัดเย็บ เมื่ออายุได้ 16 ปี แมคควีนตัดสินใจไปฝึกงานที่ย่านตัดสูท แล้วเริ่มเดินต่อไปตามความหลงใหลในเสื้อผ้า
สารคดีเรื่องนี้แบ่งออกเป็น 5 บท โดยไล่เรียงตามช่วงเวลาในการทำงานและผลงาน ตัดต่อสลับกับฟุตเทจชีวิตของแมคควีน รวมถึงบทสัมภาษณ์จากคนใกล้ตัว ซึ่งช่วยขับให้สารคดีชิ้นนี้เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก สะท้อนความมุ่งมั่น ความกดดัน ความสุข — และความสุขนี่ละที่กลับกลายมาเป็นคมดาบทิ่มแทงตัวเขาเอง
เราจะได้เห็นความบ้าบิ่นและความทุ่มเทไม่หยุดยั้งของแมคควีน แม้ตัวตนภายในของเขาจะแตกสลายเพียงไหน แต่ทุกโชว์ของเขาก็สร้างความตื่นตะลึงให้ผู้ชมได้เสมอ นับแต่ผลงานในปี 1992 ที่เขายังเรียนมหาวิทยาลัย คอลเลกชั่นอื้อฉาวอย่าง Highland Rape หรือคอลเลกชั่น Plato’s Atlantis ที่เขามอบให้เพื่อนผู้แสนดี—อิซาเบลล่า โบว์ล และเป็นคอลเลกชั่นสุดท้ายที่แมคควีนฝากไว้บนโลกใบนี้เช่นกัน
ผลงานของแม็คควีนล้วนเป็นแรงขับจากภายใน เรื่องส่วนตัว หรือแม้กระทั่งความรัก เขาไม่ใช่คนที่สมบูรณ์แบบ เป็นเพียงคนคนหนึ่งที่รู้ชัดว่าตัวเองต้องการสิ่งใดและอยากจะทำอะไร แต่ท้ายที่สุดบางส่วนในชีวิตของเขาก็ยังคงแหว่งวิ่นขาดหาย เพราะความสูญเสียไม่ใช่สิ่งที่เขาหรือใครในโลกนี้จะหยุดยั้งได้
Westwood: Punk. Icon. Activist. (2018)
วิเวียน เวสต์วูด คือแฟชั่นดีไซเนอร์ผู้โด่งดัง ไม่ว่าจะด้วยทัศนคติขบถแบบชาวพังก์ การเป็นแอ็กทิวิสต์ และวิธีสร้างสรรค์งาน เธอจัดเป็นไอคอนแห่งยุคสมัยคนหนึ่งที่โลกจะไม่มีวันลืม แม้วิเวียนจะบอกว่าคุณภาพของสารคดีเรื่องนี้ใช้ไม่ได้ เพราะฟุตเทจต่างๆ ไม่แปลกใหม่ หาชมได้ไม่ยาก แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังทำให้เห็นตัวตนของเธอรอบด้าน และคาแร็กเตอร์อันคาดคะเนไม่ได้ของเธออย่างชัดเจน
วิเวียน เวสต์วูด เกิดในครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะมากนัก เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมฯ ในวัย 16 ปี เธอเลือกเรียนต่อวิชาแฟชั่นและการทำเครื่องเงิน แต่ก็ต้องลาออกในภายหลัง เพราะค่าเล่าเรียนสูงมาก เธอจึงเปลี่ยนไปเรียนวิชาด้านการสอน สาขาศิลปะ จนล่วงเข้าสู่ทศวรรษ 1970 อังกฤษประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ วิเวียนกับมัลคอล์ม แม็กลาเรน แฟนหนุ่มในตอนนั้น จึงจับมือกันเปิดร้านเสื้อผ้าเล็กๆ ที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นในเวลาต่อมา
ในปี 1984 ทั้งสองแยกทางกัน วิเวียนยังคงเดินในเส้นทางดีไซเนอร์ต่อไป เธอกรุยทางอาณาจักรแฟชั่นอย่างไม่ได้รับการยอมรับในช่วงต้น ซ้ำยังเป็นเหมือนตัวตลกให้คนอื่นนำไปนินทาอย่างสนุกปาก จนเมื่อวิเวียนก้าวขึ้นมาเป็นดีไซเนอร์แถวหน้าและได้รับรางวัลดีไซเนอร์แห่งปีของอังกฤษถึง 2 ครั้ง เธอจึงได้รับการยอมรับ ก่อนจะยกระดับตัวเองไปอีกขั้นจากการปรากฎตัวที่กรุงปารีสในช่วงต้นของยุค ’90 เพราะถึงแม้ว่าผลงานของเธอจะโดดเด่นด้วยสไตล์พังก์ แต่เธอก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานแบบโอต์กูตูร์ที่มีความหรูหราและยังคงกลิ่นอายตามสไตล์ของตัวเองได้โดดเด่นไม่แพ้กัน
วิเวียนคือหนึ่งในแรงกระเพื่อมของยุคสมัย เธอถูกพูดถึงทั้งในฐานะพังก์ตัวแม่ แฟชั่นดีไซเนอร์ และการเป็นนักกิจกรรมตัวยง เธอให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม แม้มันอาจจะฟังดูขัดแย้งกับอุตสาหกรรมและธุรกิจแฟชั่นที่เธอทำอยู่ แต่วิเวียนก็พยายามปรับวิถีชีวิตและการทำงานให้สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว แต่แน่นอนว่า สิ่งที่ยังคงปรากฎอยู่เสมอ คือจิตวิญญาณขบถในตัวเธอ