ทศวรรษใหม่เคลื่อนเข้ามา แต่ดูเหมือนปัญหาสิ่งแวดล้อมจะไม่ได้เคลื่อนหายไปพร้อมทศวรรษเดิมเลย หลายประเด็นต่อเนื่องจากปีก่อน ทศวรรษก่อน หรือกระทั่งศตวรรษก่อน และจะมีผลต่อไปอีกไม่รู้จบหากโครงสร้างทางกฎหมายและนโยบายยังไม่ถูกปรับแก้ ปีนี้เป็นอีกปีที่เป็นหมุดหมายสำคัญในการปรับปรุงแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น และนี่คือ 5 ประเด็นสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยที่น่าติดตามจากมุมของผู้เขียน ในปีนี้

1. เหมืองทองอัครา

‘ค่าโง่เหมืองทอง’ ถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นโจมตีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างหนักในช่วงขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ระงับประทานบัตรการประกอบกิจการเหมืองทองคำทั่วประเทศ จนบริษัทอัคราฯ ฟ้องรัฐบาลไทยต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ในปีนี้ น่าติดตามว่าคดีนี้จะดำเนินไปเช่นไร รวมทั้งเหมืองอัคราที่ถูกต่อต้านมาหลาย 10 ปีจะกลับมาประกอบการได้อีกหรือไม่

เหมืองทองอัคราครอบคลุม 3 จังหวัดในแถบภาคเหนือตอนล่าง พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ ด้วยขนาดถึง 176 ตารางกิโลเมตร เริ่มประกอบการตั้งแต่ปี 2543 หลังจากนั้นเพียง 3 ปี หลายหน่วยงานรัฐต่างยืนยันตรงกันถึงปัญหาการปนเปื้อนสารโลหะหนักในสิ่งแวดล้อมแต่ไม่มีหน่วยงานใดยืนยันว่ามาจากแหล่งใด กระทั่งศาลปกครองมีคำพิพากษาในปี 2555 ระบุว่า การปนเปื้อนน่าจะมาจากเหมือง แต่ในตอนนั้นยังไม่พบผลกระทบที่รุนแรงพอ จึงยังไม่มีเหตุให้เพิกถอนประทานบัตร ความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับเหมืองมีมาต่อเนื่อง จนกระทั่งมีการรัฐประหารในปี 2557 นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวบางกลุ่มได้พยายามผลักดันการแก้ปัญหาผ่านกลไกทหาร จนนำมาสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการจาก 4 กระทรวง และคณะทำงานย่อยเพื่อสอบสวนแหล่งการปนเปื้อนและผลกระทบในมิติต่างๆ

แต่ในระหว่างที่กำลังมีการศึกษา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับใช้อำนาจตามมาตรา 44 ระงับประทานบัตรของเหมืองทองคำทั้งหมด จนบริษัทอัครานำเรื่องนี้มาฟ้องรัฐบาลไทยต่ออนุญาโตตุลาการ จากการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย เรียกร้องค่าเสียหาย 3 หมื่นล้านบาท

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ อนุญาโตตุลาการจะเริ่มไต่สวนและพิจารณาพยานหลักฐานที่ประเทศสิงคโปร์ หนึ่งในหลักฐานที่สำคัญของรัฐบาลไทย คือ รายงานศึกษาหนากว่าพันหน้าของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ซึ่งยืนยันว่ามีการรั่วไหลของสารปนเปื้อนจากบ่อกักเก็บกากแร่ออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกจริง (แต่รายงานออกมาหลังมีคำสั่งตามมาตรา 44แล้ว) และหลักฐานการรั่วไหลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ซึ่งเก็บไว้นานตั้งแต่เหมืองเพิ่งเริ่มประกอบการ ทั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการจะออกมาภายในปีนี้เลยหรือไม่ แต่ที่ชัดเจนคือ มีความพยายามในการจัดการคนในพื้นที่ และความพยายามของรัฐมนตรีอุตสาหกรรม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในการให้รัฐบาลไทยไกล่เกลี่ยกับบริษัท ยอมจ่ายค่าชดเชยและอนุญาตให้เหมืองประกอบการอีกครั้ง

2. การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้

วิธีการฟื้นฟูที่คพ.เลือกคือ ใช้เครื่องดูดตะกอนตะกั่วใต้ลำห้วยเข้ามาเก็บในถุงกระสอบเส้นใยสังเคราะห์และขนไปฝังกลบที่บ่อฝังกลบบนภูเขา

หากจำกันได้ หนึ่งในข่าวสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในปี 2556 คือ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่สั่งให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้ปลอดภัยเป็นไปตามค่ามาตรฐาน อันดูเหมือนเป็นชัยชนะของชุมชนกะเหรี่ยงจากหุบเขาจังหวัดกาญจนบุรี แต่ผ่านมา 6 ปีแล้ว การฟื้นฟูจริงเพิ่งจะเริ่มต้นและไม่มีทีท่าว่าจะจบในเร็ววัน คำพิพากษาที่ว่ายากแล้ว การบังคับตามคำพิพากษายิ่งยากกว่า

ในการปฏิบัติตามคำพิพากษา แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการไตรภาคีซึ่งรวมเอาหลายภาคส่วนมาร่วม แต่อำนาจในการตัดสินใจยังถูกผูกอยู่ที่คพ. ซึ่งหลายครั้งไม่มีฐานทางวิชาการที่ชัดเจนรองรับ เช่น มีการถมดินทับบ่อกักเก็บกากแร่เดิมของโรงแต่งแร่ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษหลัก โดยไม่มีรายการคำนวณจากวิศวกรทำให้บ่อร้าวตั้งแต่ปลายปี 2561 เสี่ยงต่อการรั่วไหลของสารตะกั่วลงลำห้วยเพิ่ม การก่อสร้างฝายดักตะกอนที่ไม่มีการคำนวณว่าสามารถดักตะกอนได้ในขนาดเท่าใดได้บ้าง ดักหางแร่ขนาดเล็กมากๆ ได้ทั้งหมดจริงๆ หรือไม่ หรือการดูดตะกอนตะกั่วในลำห้วยออกไปฝังกลบโดยไม่มีการคำนวณการฟุ้งกระจายของตะกั่วจนทำให้ชุมชนเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบเพิ่มเข้าไปอีก

นอกจากนี้ ด้วยสภาพของพื้นที่ที่เป็นป่าเขา ระบบราชการที่ต้องขออนุญาตหลายหน่วยงานหลายขั้นตอนกว่าจะดำเนินการได้แต่ละอย่าง การไม่มีประสบการณ์การฟื้นฟูของทั้ง คพ. ที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และบริษัทเบตเตอร์เวิลด์กรีน ผู้รับจ้าง ทำให้แม้จะมีคำพิพากษามา 6 ปีแล้ว การทำงานที่ผ่านมาก็ยังสาละวนอยู่กับการแก้ปัญหาการดำเนินงานของตัวเอง นี่ยังไม่นับรวมการสำรวจแหล่งกำเนิดมลพิษที่ไม่ครอบคลุมของที่ปรึกษา จนทำให้เพิ่งพบแหล่งลักลอบทิ้งสารตะกั่วบนดินเพิ่มกว่า 8 จุด ในปีนี้ ตามที่กำหนดใน TOR บริษัทผู้รับจ้างจะเริ่มดูดตะกอนตะกั่ว 40,000 ตัน ภายในเวลา 4 เดือน เพื่อให้เสร็จก่อนเข้าฤดูฝนซึ่งน้ำจะไหลเชี่ยว การเดินทางเข้าหมู่บ้านจะยิ่งยากลำบาก แหล่งน้ำทดแทนลำห้วยที่จะขุ่นจากการดูดตะกอนตะกั่ว ก็กำลังจะเริ่มสร้างต้นปีนี้

คลิตี้อาจดูเป็นกรณีเล็กๆ ที่มีผู้ได้รับผลกระทบไม่มาก แต่เป็นคดีการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมแรกและคดีเดียวที่เดินทางมาถึงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มรูปแบบ คดีการปนเปื้อนสารแคดเมียมในลุ่มน้ำแม่ตาวจากเหมืองสังกะสีในจังหวัดตาก คดีการปนเปื้อนสารหนูและไซยาไนด์จากเหมืองทองคำจังหวัดเลย รวมทั้งพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษจากกิจการอุตสาหกรรมต่างๆ ยังคงต่อคิวรอการแก้ปัญหาอยู่ และคลิตี้จะเป็นตัวอย่างแรกว่าประเทศไทยจัดการปัญหาเช่นนี้ได้แค่ไหน

3. ฝุ่น

ปัญหามลพิษอากาศ โดยเฉพาะ PM2.5 ที่ครอบคลุมทั่วประเทศในทุกช่วงฤดูหนาวยังคงวนเวียนกลับมาในปีที่ผ่านมาอีกครั้ง ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาหลายสิบปีแล้ว แต่การแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างกฎหมายโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ทั้งการจัดทำข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษและสัดส่วนการปลดปล่อยจากแหล่งต่างๆ อย่างชัดเจน รวมทั้งการควบคุมจัดการแหล่งกำเนิดนั้นๆ ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก

ในปีที่ผ่านมารัฐบาลโดยกรมควบคุมมลพิษได้ออกแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ กำหนดแผนการทำงานในแต่ละช่วงปีว่าจะดำเนินการอะไรบ้าง ในแง่ของแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น รายงานได้แบ่งออกเป็น ยานพาหนะ การเผาในภาคเกษตร การจัดการผ่านเครื่องมือผังเมือง และอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าซึ่งในต่างประเทศถือเป็นแหล่งปลดปล่อยมลพิษอากาศหลัก ไม่ได้ถูกบรรจุในแผนนี้

ในปี 2563 สิ่งที่เราต้องตรวจสอบการปฏิบัติตามแผนของรัฐมีดังนี้
• ยานพาหนะ รัฐจะออกมาตรการจูงใจในการให้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงกำมะถันไม่เกิน 10 ppm ก่อนกฎหมายบังคับใช้ เพิ่มทางเลือกในการสัญจร เชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะ ควบคุมการนำเข้ารถยนต์ใช้แล้ว เพิ่มความเข้มงวดของมาตรฐานและวิธีการตรวจวัดการระบายมลพิษรถยนต์ สนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า กำหนดพื้นที่และจำกัดจำนวนรถเข้าเขตใจกลางเมือง แต่เรื่องการบังคับใช้มาตรฐาน EU5 จะอยู่ในปี 2564 และ EU6 ในปี 2565
• การเผาในภาคเกษตร ส่งเสริมการนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์แทนการเผา สร้างเครือข่ายชุมชน เพิ่มประสิทธิภาพท้องถิ่นในการจัดการขยะมูลฝอยเพื่อให้กำจัดโดยการเผาในที่โล่ง สั่งห้ามการเผาอย่างเด็ดขาด กำหนดพื้นที่ปลอดการเผาอ้อย 100% ใน 5 จังหวัด นำร่อง ออกกฎหมายกำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบไม่เกินร้อยละ 20 ต่อวันภายในปี 2564 และหมดไปในปี 2565
• ผังเมือง กำหนดกฎระเบียบและมาตรการในการควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง ส่งเสริมให้มีการจัดทำผังเมืองและการก่อสร้างโดยคำนึงถึงการระบายอากาศและการสะสมมลพิษอากาศ บังคับใช้กฎหมายเข้มงวดกับกรณีทำให้หิน ดิน ทรายปลิวตกหล่นบนถนน (ตามความเห็นของผู้เขียน ไม่น่าเกี่ยวกับเรื่องฝุ่น PM2.5) และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ตามมาตรฐานสากล (9 ตรม./คน)
• อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศโดยคำนึงถึงศักยภาพในการรองรับมลพิษทางอากาศของพื้นที่ ติดตั้งระบบตรวจสอบการระบายมลพิษทางอากาศแบบอัตโนมัติที่ปล่องโรงงานและรายงานผลออนไลน์ และจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ แต่สิ่งสำคัญอย่างการทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานการปลดปล่อยมลพิษจากโรงงานจะถูกวางเอาไว้ไกลถึงปี 2565-2567

ขณะเดียวกัน ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร หลังจากประชุมซักถามหน่วยงานรัฐอย่างต่อเนื่องเมื่อปีก่อน คณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดการมลพิษอากาศ โดยเฉพาะเรื่องฝุ่น ทั้ง 3 ชุด จะรวบรวมข้อมูลและเตรียมออกรายงานวิเคราะห์สภาพปัญหาและเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐในการปรับปรุงการแก้ปัญหาต่อไป
นอกจากนี้ น่าติดตามว่า เครือข่ายภาควิชาการและภาคประชาชน เช่น เครือข่ายอากาศสะอาด สภาลมหายใจเชียงใหม่ จะผลักดันการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมอย่างไร รวมทั้ง ปีนี้จะมีการขยายจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบพกพา (Dustboy) กว่า 8,000 จุดทั่วประเทศด้วย

4. การจัดการขยะ

ภาพการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมภายนอกพื้นที่โรงรีไซเคิล (บน) และ ภายในโรงงานรีไซเคิล (ล่าง)

เครดิตภาพ (จากบนลงล่าง) https://www.77kaoded.com/content/99293 และ  https://www.thairath.co.th/news/local/central/1214807 

หากจะพูดถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมที่เป็นอีกหนึ่งกระแสนอกเหนือจาก PM2.5 คงหนีไม่พ้นเรื่องขยะล้นเมือง มาตรการที่เด่นชัดกระทบกับทุกคนตอนนี้ คือ การแบนถุงพลาสติกในร้านค้าและห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ แต่ปัญหาขยะของไทยไม่ได้มีอยู่เพียงถุงพลาสติก แต่ซับซ้อนและสั่งสมมายาวนาน กระทบกับผลประโยชน์ของคนหลายกลุ่มยิ่งกว่านั้น น่าสนใจว่าปีนี้จะมีแนวโน้มคลี่คลายได้มากขึ้นหรือไม่
หนึ่งในนโยบายขยะที่ถูกพูดถึงตั้งแต่สมัยรัฐบาลคสช. คือ นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มุ่งให้เกิดการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรมากที่สุดโดยให้เหลือหลุดรอดออกไปเป็นขยะที่ต้องเผาหรือนำไปฝังกลบให้ได้น้อยที่สุด แม้จะเป็นหลักการสำคัญที่หลายประเทศทั่วโลกนำไปใช้

แต่สำหรับประเทศไทย สถิติของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในปี 2559 พบว่าจากขยะสะสมทั้งหมด 27 ล้านตัน มีการกำจัดไม่ถูกต้องถึง 43% กิจการรีไซเคิล ซึ่งถือเป็นแกนสำคัญในการนำขยะกลับเข้าสู่วงจรการใช้ประโยชน์อีกครั้ง กลับถูกตรวจพบว่ามีการนำขยะที่รับมาไปลักลอบทิ้งอย่างผิดกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2551-2558 กรมควบคุมมลพิษพบการลักลอบทิ้งขยะอันตรายถึง 105 กรณี พื้นที่ที่ถูกลักลอบทิ้งเท่าที่สามารถเก็บข้อมูลได้กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 42 จุด ขยะอันตรายที่หลุดออกจากระบบสูงสุดถึง 60% นี่ยังไม่นับรวมขยะที่จะเกิดขึ้นมหาศาลจากอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

การจัดการขยะในประเทศที่มีปัญหาได้ถูกทบทวีขึ้นไปอีกด้วยการนำเข้าขยะเพิ่มขึ้นถึง 7,000% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สาเหตุเนื่องจากจีนซึ่งเคยเป็นผู้รับรีไซเคิลขยะจากต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดของโลก เพิ่งออกมาตรการยกเลิกการนำเข้าขยะอันตราย ทำให้ขยะจากประเทศพัฒนาแล้วต้องกระจายมายังประเทศอื่นๆ ที่มีระบบกฎหมายสิ่งแวดล้อมไม่เข้มแข็ง ดังเช่นประเทศไทย ประกอบกับรัฐบาลไทยได้ตกลงเปิดเขตการค้าเสรีกับจีน ยกเลิกภาษีนำเข้ากลุ่มขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะพลาสติก จีนจึงกลับกลายเป็นประเทศลำดับต้นๆ ที่ส่งขยะเข้ามาไทยแทน

ปี 2563 จึงเป็นเรื่องท้าทายของประเทศไทยในการจัดการทั้งขยะที่มีอยู่ในประเทศ ขยะนำเข้า และขยะอุตสาหกรรมที่จะเกิดใหม่ การแบนถุงพลาสติกเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแต่เป็นเพียงจุดเล็กๆ เท่านั้นเมื่อเทียบกับปัญหาขยะทั้งหมด ร่างพ.ร.บ. การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ค้างมานานหลายปีจะได้ประกาศในปีนี้หรือไม่

พ.ร.บ. โรงงานฉบับใหม่ที่ลดบทบาทการตรวจสอบโรงงานของกระทรวงอุตสาหกรรมลงและยกเลิกขั้นตอนการต่อใบอนุญาตจะกระทบต่อการควบคุมกิจการรีไซเคิลและหลุมฝังกลบให้ปฏิบัติตามกฎหมายแค่ไหนเพียงใด ประกาศแบนการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ของกรมการค้าต่างประเทศจะเกิดขึ้นได้จริงในปีนี้หรือไม่ ขยะประเภทอื่นๆ ที่ล้นทะลักเข้ามาในปีก่อนๆ จะถูกจำกัดอย่างไร และมาตรการของรัฐบาลในการจัดการขยะที่เกิดจาก EEC จะเป็นอย่างไร นี่คือประเด็นปัญหาขยะที่น่าติดตามในปีนี้

5. วิกฤติสภาพภูมิอากาศ

ผ่านพ้นปีใหม่ได้ไม่กี่วัน ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นทั่วโลกเหมือนไม่มีวันหยุด ไฟป่าครั้งใหญ่ในออสเตรเลีย น้ำท่วมใหญ่ที่อินโดนีเซีย หรือภัยแล้งรุนแรงในประเทศไทย นี่จึงไม่แปลกที่ในปีก่อนจะได้เห็นการเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจมากขึ้นของคนรุ่นใหม่ที่ต้องแบกรับธรรมชาติที่ผุกร่อนจากคนรุ่นก่อน ปีนี้นับเป็นอีกปีที่สำคัญในการร่วมกันแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และแน่นอนประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทั้งสร้างปัญหาและได้รับผลกระทบจากปัญหานี้โดยตรง

หลังจากเป็นที่ยุติในทางวิทยาศาสตร์แล้วว่า ก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ความพยายามในการแก้ปัญหาทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองและผ่านกระบวนการศาลก็เกิดขึ้นต่อเนื่องมามากกว่า 20 ปี

แต่ปัจจุบัน ผลลัพธ์ดูไม่เป็นอย่างที่หวัง เมื่อปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกล่าสุดกลับสูงขึ้นจากปี 2558 ถึง 4% ทำให้คาดการณ์ว่าปีนี้อุณหภูมิโลกจะสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 1.11 องศาเซลเซียส สูงสุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน

หากยังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนไปแตะเพดาน 1.5 องศา โลกจะเจอผลกระทบที่หนักหนามากยิ่งขึ้นไปอีก  การจะหลีกเลี่ยงผลกระทบนั้นได้ เราต้องลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบครึ่งหนึ่งของที่ปลดปล่อยในปี 2553 ให้ได้ภายในปี 2573 และแน่นอนสิ่งสำคัญคือการลดการพึ่งพิงพลังงานฟอสซิล

ปี 2563 จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศต่างๆ ซึ่งกำหนดเป้าหมายและมาตรการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้ข้อตกลงปารีสในปี 2559 จะกลับมาประชุมทบทวนการปฏิบัติตามสิ่งที่เคยตกลงกันไว้ ทำให้เป็นปีที่ตัดสินว่าประเทศไหนจะอยู่หรือออกจากข้อตกลงบ้าง นอกจากนี้ ปีนี้ยังเป็นปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับสองของโลก เมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดนัลด์ ทรัมป์ได้ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส และดำเนินนโยบายสนับสนุนพลังงานฟอสซิลเต็มที่ หากยังชนะการเลือกตั้งในปีนี้อีก จะยิ่งทำให้การบรรลุเป้าหมายยากเข้าไปอีก

ประเทศไทย ไม่ได้เป็นประเทศที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับต้นๆ ของโลก แต่เป็นประเทศที่ถูกคาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นอันดับ 10 ของโลก ปัญหาที่เห็นชัดมากที่สุดนอกจากสภาพอากาศที่ผันแปรไม่แน่นอนแล้ว คือสภาพภัยแล้งที่ยาวนานและหนักหนามากขึ้น ปีนี้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติประมาณการณ์ว่าฝนจะตกในเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมน้อยมาก และในฤดูฝน ฝนจะตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 16%

กรมชลประทานยอมรับว่าปัญหาภัยแล้งในปีนี้รุนแรงเท่าปี 2558 แต่น้ำน้อยและแห้งเร็วกว่าเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ปัญหาภัยแล้งรุนแรงจะครอบคลุมถึง 43 จังหวัดทั่วประเทศ ชาวนาเริ่มถูกห้ามใช้น้ำ เกิดภาวะน้ำประปาเค็มเนื่องจากน้ำในเขื่อนไม่พอผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี

ที่ผ่านมา แนวนโยบายของรัฐบาลไทยยังไม่สอดคล้องกันนัก เช่น ขณะที่กรมสรรพากรเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนจากรถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ (บิ๊กไบค์) และรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาระบบรางทั่วประเทศ แต่มาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้ากลับยังไม่มีความชัดเจน จนผู้ประกอบการต้องออกมากดดัน

นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดสระบุรี และเตรียมพิจารณาเหมืองถ่านหินในภาคเหนืออีกหลายแห่ง อีกทั้งยังสนับสนุนการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่ม และสนับสนุนโรงไฟฟ้าขยะที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีก

น่าติดตามว่าทิศทางการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทยจะเป็นอย่างไร และในการประชุมระหว่างประเทศปลายปีนี้ ประเทศไทยจะแสดงบทบาทในฐานะประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

อ้างอิง

เหมืองอัครา

https://prachatai.com/journal/2012/04/40193

https://enlawfoundation.org/newweb/wp-content/uploads/Pichit_Gold_mining_license_AdminCourt_Decision.pdf

https://www.komchadluek.net/news/politic/395475

https://www.posttoday.com/economy/news/558319

http://www.dpim.go.th/dpimdownload/project.pdf

https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/1621596

ลำห้วยคลิตี้

https://www.bbc.com/thai/thailand-41225292

https://enlawfoundation.org/newweb/?cat=106

https://news.thaipbs.or.th/content/285983

ฝุ่น

http://air4thai.pcd.go.th/webV2/download.php

https://www.posttoday.com/politic/news/603992

ขยะ

https://www.prachachat.net/csr-hr/news-315858

https://www.ryt9.com/s/iq03/3034651

https://www.prachachat.net/economy/news-404099

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/852923

https://www.thairath.co.th/news/local/central/1214807

https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9620000104423

วิกฤติสภาพภูมิอากาศ

https://outrider.org/climate-change/timelines/climate-history-world-reacts

https://www.europarl.europa.eu/infographic/climate-negotiations-timeline/index_en.html#event-1972

https://www.bbc.com/news/science-environment-50839974

https://www.pri.org/stories/2019-09-17/why-2020-key-year-climate-action

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/857137

https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_3309067

https://www.channelnewsasia.com/news/asia/jakarta-floods-indonesia-climate-change-environment-wake-up-call-12233124

https://www.bbc.com/thai/international-50982679?SThisFB&fbclid=IwAR0rK88dLNN69ZnNZirZ03E56YStyaPeocf3M-_bmjFZkdUY_eGNj_CqxyE

https://germanwatch.org/sites/germanwatch.org/files/Global%20Climate%20Risk%20Index%202019_2.pdf

Fact Box

• ตามลำดับในการจัดการขยะที่เป็นรากฐานของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และหลายประเทศทั่วโลก การจัดการต้องเริ่มจากมาตรการป้องกันการเกิดขยะ (Prevention) ไปสู่ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการรีไซเคิล หากยังมีขยะเล็ดรอดออกมาอีก จึงนำไปเผาสร้างพลังงานและสุดท้ายคือฝังกลบ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทิศทางการแก้ปัญหาขยะล้นเมืองของรัฐบาลคสช. กลายเป็นกลับทิศ คือ เน้นสนับสนุนโรงไฟฟ้าขยะอย่างสุดตัว ถึงขั้นออกคำสั่งตามมาตรา 44 ยกเว้นการใช้บังคับผังเมืองไว้ชั่วคราวเพื่อให้โรงไฟฟ้าขยะไปตั้งที่ไหนก็ได้ รวมทั้งคำสั่งยกเว้นโรงไฟฟ้าขยะทุกขนาดไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ปัจจุบันหน่วยงานรัฐได้นำคำสั่งดังกล่าวมาออกเป็นประกาศกระทรวงใช้บังคับจนถึงปัจจุบัน
• หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชิ้นแรกที่ได้ชี้ผลกระทบจากการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2399 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ชื่อ Eunice Foote งานศึกษาถูกพัฒนามาเรื่อยๆ จนกระทั่ง James Hansen ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศจากองค์การนาซ่า ยืนยันต่อสภาคองเกรสด้วยความเชื่อมั่น 99% ในปี 2531 ว่า อุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้นเกิดจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจกรรมของมนุษย์ แต่กระนั้นข้อกล่าวอ้างเรื่องความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์ก็ยังคงมีอยู่8

Tags: , , , , , ,