ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึงจดหมายเปิดผนึกที่หัวหน้ารัฐบาลทหารส่งถึงมหาเศรษฐีไทย 20 คนที่รวยที่สุดในประเทศว่า เป็นตัวอย่างของที่รัฐบาลไม่ควรทำสามอย่าง ได้แก่ 1) เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม 2) เกิดข้อครหาเรื่อง ‘ผลประโยชน์ต่างตอบแทน’ และแรงกดดันทางสังคมอย่างไม่เป็นธรรม และ 3) ตีตรารับรองกิจกรรมที่ไม่มีกลไกรับผิด และอาจบั่นทอนกลไกกำกับดูแล พร้อมยกตัวอย่างวิธีที่รัฐ (ชอบอ้างว่า) ช่วยธุรกิจใหญ่อีกสองวิธีที่ไม่ควรทำ นั่นคือ 4) การจงใจ ‘อุดหนุน’ สินค้าและบริการ มากกว่าจะ ‘เยียวยา’ ประชาชน และ 5) การเอื้อประโยชน์ธุรกิจ เกินเลยการเยียวยาธุรกิจจากผลกระทบที่เกิดจริง
ในบทความนั้นผู้เขียนทิ้งท้ายไว้ว่า แทนที่จะขยันทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ 5 ประการข้างต้น รัฐบาลควรทำในสิ่งที่ควรทำเวลาคิดเรื่องการ ‘ช่วยเหลือ’ และ ‘ร่วมมือ’ กับธุรกิจใหญ่ โดยใช้ 5 วิธีต่อไปนี้แทน ได้แก่ 1) กำหนดกรอบความร่วมมือที่เปิดกว้าง 2) กำหนดกรอบความช่วยเหลือแบบ win-win (ธุรกิจและประชาชนได้ประโยชน์) 3) ปล่อยและเปิดข้อมูล (open data) ให้ธุรกิจนำไปใช้ โดยไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัว 4) เปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วม และ 5) ส่งเสริมการสร้างคุณค่าร่วม (shared value)
-
กำหนดกรอบความร่วมมือที่เปิดกว้าง
ดังที่ผู้เขียนอธิบายไปแล้วในตอนที่แล้วว่า รัฐบาลปกติจะพยายามรักษาหลักการ ‘ไม่เลือกปฏิบัติ’ ระหว่างผู้ประกอบการรายต่างๆ อย่างเคร่งครัด เนื่องจากไม่อยากตกเป็นเป้าครหาว่า ‘เอื้อประโยชน์’ หรือที่แย่กว่านั้นคือ ‘คอร์รัปชันเชิงนโยบาย’ ดังที่เราได้ยินอยู่บ่อยครั้งในช่วงก่อนรัฐประหาร 2549 แต่หลังรัฐประหารคำคำนี้กลับหายไปจากหน้าสื่อส่วนใหญ่ ทั้งที่บางนโยบายสุ่มเสี่ยงว่าอาจเป็นการเอื้อประโยชน์หรือคอร์รัปชันเชิงนโยบายไม่ต่างจากสมัยก่อนหน้านั้น
ในเมื่อรัฐบาลปกติ (แปลว่าถ้า ‘ไม่ปกติ’ คงไม่แคร์สิ่งเหล่านี้) จำเป็นจะต้องรักษาระยะห่างจากธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่ถูกเพ่งเล็งว่าอาจเป็น ‘ถุงเงิน’ ของพรรครัฐบาล หรือมาหาประโยชน์โดยมิชอบ ดังนั้น เวลาจะกำหนดกรอบความร่วมมือใดๆ กับธุรกิจใหญ่ รัฐควรกำหนดอย่าง ‘เปิดเผย’ และ ‘เปิดกว้าง’ โดยกำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนและเป็นเหตุเป็นผล ทุกบริษัทที่สนใจจะได้ร่วมมือตามความสมัครใจได้ง่ายๆ ไม่ใช่มาเจาะจง ‘เลือก’ บริษัทใดบริษัทหนึ่งเพื่อประกาศความร่วมมือเป็นการเฉพาะ
ลักษณะความร่วมมือที่ควรทำในช่วงโควิด-19 ควรอยู่ในรูปแบบที่ชัดเจนว่าช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชนทั่วไป และธุรกิจขนาดเล็กที่เดือดร้อน ตามแนวคิด ‘นโยบายบนฐานความเข้าอกเข้าใจ‘ ที่ผู้เขียนเคยนำเสนอก่อนหน้านี้
ผู้เขียนเห็นว่า ข้อเสนอแนะของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยต่อภาครัฐหลายข้อเข้าข่าย ‘การร่วมมือที่เปิดกว้าง’ และชัดเจนว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่น
“ภาคเอกชนพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการเร่งรัดจัดหาหน้ากากให้เพียงพอกับการใช้งาน ทั้งโดยการผลิตภายในประเทศและการนำเข้า อย่างไรก็ดี ภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนการผลิต/นำเข้าและกระจายเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่างๆ อย่างเร่งด่วน (เช่น Test Kit, เครื่องช่วยหายใจ, วัตถุดิบในการผลิตยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น)”
“อุตสาหกรรมที่มีความจำเป็น (Essential) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรงจะต้องสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม, เวชภัณฑ์การแพทย์, เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, ธนาคาร, ธุรกิจการเกษตร, พลังงานและสาธารณูปโภค รวมถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำ ที่ต้องป้อนอุตสาหกรรมข้างต้น ตลอดจนการจัดจำหน่าย การขนส่ง และโลจิสติกส์”
“เชิญชวนให้ผู้ประกอบการจัดทำมาตรการเชิงรุก (Proactive) ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้มข้น ทั้งในสำนักงานและโรงงาน และต้องมีแผนรับรองกรณีที่พบผู้ติดเชื้อ ทั้งสำหรับสำนักงานและโรงงาน”
“ภาคเอกชนจะประสานงานกับภาครัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อผ่อนผันให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าสามารถขนส่งสินค้าได้ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคและบริโภคในอุตสาหกรรมที่จำเป็น เพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการขนส่งต้องมีมาตรการคุมเข้มด้านความสะอาดและปลอดภัย ให้แก่พนักงานขนส่ง”
ตัวอย่างแนวทางการร่วมมือข้างต้นชัดเจนว่าเปิดกว้าง เพราะผู้ประกอบการทุกรายที่เข้าข่ายสามารถให้ความร่วมมือกับรัฐได้โดยตรง โดยไม่มีการเจาะจงให้ผลประโยชน์แก่เอกชนรายใดรายหนึ่ง
-
กำหนดกรอบความช่วยเหลือแบบ win-win
ในส่วนของการให้ความ ‘ช่วยเหลือ’ แก่ธุรกิจ รัฐบาลควรกำหนดกรอบความช่วยเหลือแบบ win-win คือสร้างความเชื่อมั่นว่าทั้งประชาชนและธุรกิจจะได้ประโยชน์ ไม่ใช่ให้ธุรกิจได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว แล้วคิดแบบหยาบๆ เหมารวมไปเองว่าประชาชนจะได้ประโยชน์โดยอัตโนมัติ ถ้าหากว่าธุรกิจได้ประโยชน์
แนวคิดประเภท trickle-down economics หรือ ‘เศรษฐกิจไหลริน’ ที่ตั้งอยู่บนความเชื่อแบบบูชาตลาดเสรีสุดขั้วว่า ถ้าธุรกิจ (ในความหมายผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นของบริษัท) ได้ประโยชน์ ส่วนอื่นๆ ของสังคมก็จะได้ประโยชน์ไปด้วยนั้น ได้ถูกวิกฤติโควิด-19 ตอกย้ำอีกครั้งว่าล้าสมัย และไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
แนวคิดประเภท trickle-down economics หรือ ‘เศรษฐกิจไหลริน’ ที่ตั้งอยู่บนความเชื่อแบบบูชาตลาดเสรีสุดขั้วว่า ถ้าธุรกิจ (ในความหมายผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นของบริษัท) ได้ประโยชน์ ส่วนอื่นๆ ของสังคมก็จะได้ประโยชน์ไปด้วยนั้น ได้ถูกวิกฤติโควิด-19 ตอกย้ำอีกครั้งว่าล้าสมัย และไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
ถ้ารัฐเอาเงินภาษีมหาศาลไป ‘อุ้ม’ ธุรกิจโดยไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้เงินที่ชัดเจน สุดท้ายเงินนั้นก็อาจจะไหลเข้าสู่กระเป๋าผู้บริหารรายได้สูงหรือผู้ถือหุ้น มากกว่ามาช่วยลูกจ้างหรือลูกค้าของธุรกิจ ดังตัวอย่างลือลั่นในอเมริกาช่วงวิกฤตซับไพรม์ ปี 2009
ในวิกฤติโควิด-10 รัฐบาลหลายประเทศออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจในทางที่ชัดเจนว่าไม่เชื่อเรื่อง trickle-down economics อีกต่อไป ด้วยการกำหนดเงื่อนไขเงินช่วยเหลือในทางที่ชัดเจนว่าประชาชน (ในฐานะลูกจ้าง) จะได้ประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่นประเทศต่อไปนี้
ออสเตรเลีย รัฐบาลสนับสนุนให้ธุรกิจขนาดเล็กราว 70,000 แห่ง สามารถจ้างคนงานระดับแรกเข้าหรือเด็กฝึกงาน (apprentices และ trainees) ต่อไปได้ ด้วยการให้เงินอุดหนุนค่าจ้างไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าแรง เป็นเวลา 9 เดือนจนถึงปลายเดือนกันยายน 2020 ถ้าธุรกิจจำเป็นต้องเลิกจ้าง เงินอุดหนุนก้อนนี้ก็จะย้ายไปให้กับบริษัทใหม่ที่จ้างงานคนคนนั้นแทน
ออสเตรีย ออกมาตรการลดเวลาทำงานโดยรักษาค่าจ้าง (Corona-Kurzarbeit) วงเงิน 5 พันล้านยูโร อนุญาตให้บริษัทลดจำนวนชั่วโมงทำงานลงถึง 0 เปอร์เซ็นต์ ภายในสามเดือน ภายใต้เงื่อนไขว่าในระหว่างนั้นต้องมีชั่วโมงทำงานจริงเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของเวลาทำงานปกติ โดยที่ระหว่างนั้นให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างปกติ (แม้อาจไม่ต้องมาทำงานเลย) โดยรัฐบาลจะจ่ายส่วนต่างค่าตอบแทนให้มากสุด 90 เปอร์เซ็นต์ (ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากบริษัทลดชั่วโมงทำงานของลูกจ้างลงเหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ บริษัทต้องจ่ายค่าจ้างในส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ (ที่ลูกจ้างมาทำงาน) ส่วนรัฐบาลจะออกค่าจ้างที่เหลือ 70 เปอร์เซ็นต์ให้)
โครเอเชีย จับมือกับธนาคารพาณิชย์ ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) สำหรับธุรกิจ เพื่อนำไปจ่ายค่าจ้างและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานพื้นฐาน (รัฐบาลไทยประกาศมาตรการ soft loan สำหรับธุรกิจมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่ระบุเงื่อนไขให้ชัดเจนว่าต้องนำสินเชื่อไปจ่ายค่าจ้างและค่าใช้จ่ายพื้นฐานเท่านั้น)
มาตรการตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นชัดเจนว่า win-win คือประชาชน (ในฐานะลูกจ้าง) ได้ประโยชน์ บริษัทก็ได้ประโยชน์ ไม่ใช่รัฐยื่นมือช่วยเหลือธุรกิจโดยไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ แล้วหวังลมๆ แล้งๆ ว่า ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของตลาดจะทำงาน ประโยชน์จะไหลรินมาถึงประชาชนโดยอัตโนมัติ
-
ปล่อยและเปิดข้อมูล (open data) ให้ธุรกิจนำไปใช้ โดยไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัว
ภาครัฐมีข้อมูลสาธารณะจำนวนมหาศาลอยู่ในมือที่สร้างประโยชน์ได้มาก โดยเฉพาะในการออกแบบและดำเนินมาตรการ ‘เปิดเมือง’ ค่อยๆ เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทางที่ส่งเสริมการรักษาระยะห่างทางสังคม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลพิกัดร้านค้า ร้านอาหาร ชุมชน ข้อมูลการจราจร ฯลฯ ดังนั้นควรเร่งปล่อยและเปิดข้อมูลเหล่านั้นให้อยู่ในรูป open data หรือ ‘ข้อมูลเปิด’ ที่คอมพิวเตอร์สามารถรวบรวมและนำไปประมวลผลได้ง่าย ให้ได้มากที่สุด บริษัทเอกชนและคนเก่งๆ จะได้นำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ในการออกแบบมาตรการที่เหมาะสม และเราอาจได้เห็นนวัตกรรมหรือโมเดล ‘ธุรกิจเพื่อสังคม’ (social enterprise) ใหม่ๆ เกิดขึ้นจากวิกฤตินี้ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม การปล่อยและเปิดข้อมูลของรัฐควรตั้งอยู่บนหลักการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวอย่างเคร่งครัด เป็นไปตาม พ.ร.บ. ข้อมูลคุ้มครองส่วนบุคคล ซึ่งจะมีผลบังคับใช้กลางปี 2020 นี้ และรัฐก็ควรเล่นบทบาท ‘ผู้ส่งเสริม’ (facilitator) ให้หน่วยงานราชการปล่อยและเปิดข้อมูล ไม่ใช่ตั้งตัว ‘ดูด’ ข้อมูลส่วนบุคคลมาไว้ที่รัฐแบบรวมศูนย์ ภายใต้ข้ออ้างว่าจำเป็นต่อการรับมือกับโควิด-19 – ผู้เขียนจะพูดถึงประเด็นนี้ในตอนต่อไป
-
เปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วม
การทำประชาพิจารณ์ที่มีความหมายเลือนหายจากสังคมไทยอย่างต่อเนื่องนับจากรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา (ก่อนหน้านี้ก็ใช่ว่าจะดี แต่สถานการณ์หลังจากนั้นแย่ลงมาก) แต่วิกฤติโควิด-19 รวมถึงมาตรการปิดเมืองและกึ่งปิดเมืองทั้งหลายส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อประชาชนทั่วประเทศ จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่รัฐจะไม่เปิดให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ ดำเนินการ ตลอดจนติดตามมาตรการช่วยเหลือและร่วมมือกับธุรกิจ
ผู้เขียนเคยเสนอก่อนหน้านี้ว่า “รัฐควรประสานงานและอาศัยองค์กรและเครือข่ายองค์กรในภาคประชาสังคม กลุ่มชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่น อาทิ กลุ่มออมทรัพย์ สัจจะออมทรัพย์ รวมถึงกิจการเพื่อสังคม (social enterprise) ที่ทำงานช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางต่างๆ ในสังคมอยู่แล้ว ให้ได้มากที่สุด เนื่องจากพวกเขารู้จักคุ้นเคยกับกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี และรู้วิธีว่าทำอย่างไรจึงจะช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด”
นอกจากรัฐจะประสานความช่วยเหลือของตัวเองผ่านองค์กรท้องถิ่นและองค์กรในภาคประชาสังคมในพื้นที่แล้ว ยังสามารถช่วยออกแบบกลไก ‘จับคู่’ กับธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยากมีส่วนช่วยเหลืองานขององค์กรเหล่านี้ เท่ากับช่วยยกระดับซีเอสอาร์แบบ ‘คืนกำไรสู่สังคม’ หรือ after-process CSR อย่างเป็นระบบ โดยที่ไม่ต้องเจาะจงบริษัท ไม่ต้องร่อนจดหมายถึงมหาเศรษฐีให้คนค่อนขอดว่าเป็น #รัฐบาลขอทาน แต่อย่างใด
-
ส่งเสริมการสร้างคุณค่าร่วม (shared value)
ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากมองว่า วิกฤติโควิด-19 จะพาโลกเข้าสู่ภาวะ ‘ความปกติใหม่’ หรือ New Normal ในหลากหลายมิติ ภาวะนี้จะมีหน้าตาอย่างไร อะไรที่ไม่ใช่ New Normal แต่เป็นเพียงความผิดปกติชั่วคราวที่จะกลับมาเหมือนเดิม คำถามเหล่านี้คงเป็นที่ถกเถียงไปอีกหลายเดือน ในระหว่างที่วัคซีนโควิด-19 ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา และทุกสังคมยังต้องเผชิญกับวงจรการผ่อนปรน-เข้มงวดของมาตรการรัฐ เพื่อป้องกันการระบาดระลอกใหม่
ไม่ว่า New Normal จะมีหน้าตาอย่างไร ในส่วนของธุรกิจขนาดใหญ่ ผู้เขียนเห็นว่าวิกฤตินี้เรียกร้องให้มีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลมากขึ้น มองเห็นความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจควรตระหนักถึงอันตรายร้ายแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และตระหนักว่าการทำลายล้างสิ่งแวดล้อมอย่างไม่บันยะบันยังจนถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหดหายไปเรื่อยๆ ทำให้สัตว์ป่ารวมถึงไวรัสที่อาศัยในสัตว์ป่าเข้ามาใกล้กับคนมากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาดอุบัติใหม่ดังเช่นโควิด-19
วิกฤติโควิด-19 จึงเรียกร้องให้ธุรกิจเข้าใจในความจำเป็นของการทำธุรกิจแบบใหม่ แบบที่สร้าง ‘คุณค่าร่วม’ (shared value) ระหว่างธุรกิจกับสังคม ไม่ใช่ทำกำไรโดยที่สังคมและสิ่งแวดล้อมต้องแบกรับต้นทุนหรือความเสี่ยง และในแง่นี้ รัฐก็มีบทบาทได้มากในการสนับสนุนให้ธุรกิจมุ่งไปสู่การสร้างคุณค่าร่วมที่แท้จริง
ตัวอย่างของแนวทางที่รัฐส่งเสริมให้ธุรกิจสร้างคุณค่าร่วมมีอะไรบ้าง? ผู้เขียนชอบข้อเสนอของ We Mean Business แนวร่วมระหว่างสมาคมธุรกิจเพื่อความยั่งยืนกับองค์กรพัฒนาเอกชนชั้นนำ ที่เสนอรัฐบาลทุกประเทศอย่างกระชับชัดเจนว่า การจะผลักดันให้บริษัทต่างๆ ลดความเสี่ยง สร้างศักยภาพที่จะยืดหยุ่น (resilience) และเตรียมพร้อมสำหรับความสำเร็จในอนาคตแห่งการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (zero-carbon) นั้น แปลว่าบริษัทที่ได้รับการช่วยเหลือจากเงินภาษีในระยะยาวควรต้องถูกกำหนดให้ทำสามเรื่องต่อไปนี้
1. บูรณาการความเสี่ยงเข้าไปในการเปิดเผยข้อมูลของบริษัท ตามข้อเสนอแนะของคณะทำงานว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures – TCFD) การถูกบังคับให้กลั่นกรองความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอในการลงทุนและกลยุทธ์ของบริษัทจะช่วยให้การตัดสินใจลงทุนในอนาคตเป็นไปในทางที่บรรเทาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในอนาคต
2. ใช้วิถีวิทยาศาสตร์ในการกำหนดกลยุทธ์ของบริษัท บริษัทควรตั้งเป้าที่ใช้วิทยาศาสตร์เป็นฐาน สอดคล้องกับการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และเข้าถึงการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 การทำความเข้าใจกับวิทยาศาสตร์และบูรณาการวิทยาศาสตร์เข้ามาในการตัดสินใจ คือวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันแรงสะเทือนใหม่ๆ ในอนาคต
3. ลงทุนในธุรกิจคาร์บอนต่ำเพื่อสร้างงานใหม่ๆ เช่น พลังงานหมุนเวียน หรือลงทุนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตขนานใหญ่ในเทคโนโลยีที่สามารถทำให้อุตสาหกรรมปลอดคาร์บอน
5 วิธีที่รัฐควรทำในการ ‘ช่วยเหลือ’ และ ‘ร่วมมือ’ กับธุรกิจเหล่านี้ ล้วนเป็นวิธีที่รัฐสามารถช่วยให้ธุรกิจรับมือกับความท้าทายในปัจจุบัน ในทางที่ประชาชนได้ประโยชน์ในฐานะลูกจ้างและลูกค้า และปูทางสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนกว่าเดิมในอนาคต
สุดท้าย ผู้เขียนอยากย้ำว่า การกุศลของภาคธุรกิจแม้เป็นเรื่องดี แต่ลำพังการกุศลไม่อาจแก้ปัญหาเชิงระบบได้ ยิ่งเราปล่อยให้การกุศลภาคธุรกิจ (ในไทยนิยมเรียกว่า after-process CSR) ล้ำแดนเข้ามาในนโยบายสาธารณะ เข้ามาในแดนที่ควรเป็นหน้าที่ของรัฐมากเท่าไร แถมถ้ารัฐเองเป็นคนเอ่ยปากร้องหาการกุศลจากธุรกิจ เราทั้งสังคมยิ่งสุ่มเสี่ยงที่จะต้องจ่าย ‘ราคา’ ที่แพงขึ้นมากเท่านั้น ในรูปการสูญเสียความรับผิดทางการเมือง (ในเมื่อซีเอสอาร์ทำโดยสมัครใจ ย่อมไม่มีใครต้องรับผิด) ความไร้น้ำยาหรือ ‘เกรงอกเกรงใจ’ ในการกำกับภาคธุรกิจ และความไม่คืบหน้าในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ธุรกิจมีส่วนสร้าง – ปัญหาที่ขัดขวางการเปลี่ยนทิศทางธุรกิจและนโยบายรัฐ เข้าสู่ถนนสายการพัฒนาที่ยั่งยืน