ขณะที่ผู้เขียนเขียนอยู่นี้ เป็นหนึ่งสัปดาห์ก่อนวันสงกรานต์ 2563 ปีแรกที่เราจะไม่ได้เห็นเทศกาลสาดน้ำอย่างร่าเริง เหมือนทุกปีที่ผ่านมา เนื่องด้วยมาตรการ ‘รักษาระยะห่างทางสังคม’ ของรัฐทวีความเข้มข้น ช่วงวิกฤตโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ระบาด และประชาชนก็พยายามทำตามด้วยความยากลำบาก

สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่หาเช้ากินค่ำ ไร้ทางเลือกในชีวิต การถูกสถานการณ์หรือมาตรการบังคับให้ ‘อยู่กับบ้าน’ อาจหมายถึงชีวิต หลายคนถึงกับพูดว่า “โควิดก็กลัว แต่กลัวอดตายมากกว่า” เพราะความเสี่ยงที่จะอดตายสำหรับพวกเขานั้นแจ่มชัดยิ่งกว่าความเสี่ยงที่จะติดและตายจากโรคอุบัติใหม่ ซึ่งการคิดค้นวัคซีนและยายังคงต้องกินเวลาอย่างน้อยอีกเป็นแรมปี

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่ควรประณามว่า ‘ขาดจิตสำนึก’ เวลาที่เราเห็นผู้มีรายได้น้อยยังทำมาหากินนอกบ้าน หรือแห่กันเดินทางกลับบ้าน หากแต่เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า รัฐและสังคมยังยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือพวกเขาไม่มากพอต่างหาก ทำให้พวกเขาไม่อาจรักษาระยะห่างทางสังคมได้

วิกฤติที่ไทยและอีกนับร้อยประเทศกำลังประสบ จึงไม่ใช่ ‘วิกฤติสุขภาพ’ แต่เพียงอย่างเดียว หากยังเป็น ‘วิกฤติเศรษฐกิจ’ ที่รุนแรงและส่อแววยืดเยื้อ เนื่องจากมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมที่รัฐใช้ในการรับมือเพื่อไม่ให้เกินกำลังของระบบสาธารณสุขนั้นเป็นการ ‘จำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ’ อย่างหนัก ทำให้ประชาชนและธุรกิจเดือดร้อนเป็นวงกว้าง นอกเหนือจากธุรกิจท่องเที่ยว การบิน และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ซึ่งถูกกระทบอย่างจังก่อนหน้านั้นมาแล้วกว่าหนึ่งเดือน จากการที่นักท่องเที่ยวลดลงอย่างฮวบฮาบ

นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักคาดการณ์ว่า วิกฤติเศรษฐกิจในไทยจะรุนแรงกว่าหลายประเทศเพราะเราพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวกว่า 20% ของจีดีพี มีคนไทยที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมมากกว่า 20 ล้านคนทั่วประเทศ

ในเมื่อ ‘ทวิวิกฤต’ สุขภาพบวกเศรษฐกิจแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้ารัฐจะดำเนินนโยบายช่วยเหลือขนานใหญ่ในแบบที่ไม่เคยทำมาก่อนเช่นกัน และคนที่รัฐควรเน้นการช่วยเหลือมากที่สุดก็คือผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางอื่นๆ ในสังคม ไม่เพียงแต่เพราะรัฐมีหน้าที่ดูแลประชาชน และไม่เพียงแต่เพราะเราเป็นมนุษย์ที่ควรเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน แต่ยังเพราะเหตุผลง่ายๆ ว่า ถ้าพวกเขาไม่รอด พวกเราก็ไม่รอด ดังที่อาจารย์บุญเลิศ วิเศษปรีชา นักมานุษยวิทยาผู้คลุกคลีกับชีวิตของกลุ่มเปราะบางในสังคมมานาน อธิบายในบทความ ‘ไม่มีเขาไม่มีเรา ในวิกฤติโควิด-19’ ว่า

“การที่จะอยู่รอดได้ในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักถึงคนที่ไม่อยู่ในสถานะและเงื่อนไขที่จะทำงานที่บ้าน และต้องร่วมกันสื่อสารถึงรัฐบาลว่า ต้องช่วยคนกลุ่มนี้โดยเร็ว ให้เขาสามารถอยู่รอดได้โดยไม่ต้องออกมาทำงาน โอกาสของการแพร่และกระจายเชื้อจึงจะน้อยลง รวมถึงคนที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อและจะต้องกักตัว 14 วัน รัฐบาลต้องมีเงินชดเชยการขาดรายได้ให้กับผู้ที่ถูกกักตัวและไม่มีเงินเดือนประจำ หากไม่มีการชดเชย ก็จะทำให้คนจำนวนหนึ่งเลี่ยงที่จะไปพบแพทย์ เพราะพวกเขากลัวว่า หากถูกกักตัวแล้วจะขาดรายได้ในระหว่างที่ต้องกักตัว หรืออย่างน้อย ต้องให้พวกเขาเข้าถึงการตรวจฟรีโดยเร็ว ให้รู้ว่ามีเชื้อไวรัสอยู่ในตัวหรือไม่

“สังคมต้องช่วยกันผลักดันว่า การทุ่มงบประมาณกับการจำกัดการระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การชดเชยรายได้สำหรับผู้ที่ต้องกักตัว หรือการตรวจหาเชื้อบุคคลที่มีความเสี่ยง อย่างน้อยก็มีต้นทุนที่ ‘ถูก’ กว่าการปล่อยให้สถานการณ์ลุกลาม มิเช่นนั้นจะเข้าทำนอง ‘เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย’ และจำเป็นต้องตระหนักให้หนักแน่นว่า สถานการณ์ขณะนี้ถ้าคนเล็กคนน้อยไม่สามารถอยู่รอดได้ ยังมีความเสี่ยงที่จะรับเชื้อ และแพร่กระจายเชื้อ สังคมก็ไม่สามารถหยุดยั้งการระบาดในวงกว้างได้”

หลังจากที่รัฐทำงานในลักษณะที่ผู้เขียนเห็นว่า ‘วิ่งตามปัญหา’ มาสองเดือน วันนี้ก็ชัดเจนว่ารัฐบาลไทยกำลังยกระดับมาตรการดูแลและเยียวยาให้เข้มข้นขึ้น โดยเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ออกพระราชกำหนด 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อรับมือกับวิกฤติครั้งนี้ และให้ “ตราพระราชบัญญัติโอนและปรับเปลี่ยนการใช้งบประมาณปี 2563 เพื่อโอนงบของหน่วยงานต่างๆ ที่มีอยู่ราว 8 หมื่นล้านบาท ถึง 1 แสนล้านบาท มาเป็น ‘งบกลาง’ ใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน” อีกด้วย

ในระหว่างที่เรายังไม่เห็นรายละเอียดของการใช้งบประมาณ ผู้เขียนอยากเสนอว่ารัฐบาลควรวางหลักคิด กลุ่มเป้าหมาย และมาตรการทั้งหมด บนฐาน ‘ความเข้าอกเข้าใจ’ (empathy) ในหัวอกของประชาชน ว่าวันนี้ใครกำลังเผชิญกับความท้าทายอะไรบ้าง

ยิ่งประชาชนเผชิญกับวิกฤติที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ความเข้าอกเข้าใจยิ่งเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจพึงใส่ใจอย่างยิ่งในการออกแบบและดำเนินมาตรการ ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นหวังดีประสงค์ร้าย ความช่วยเหลือไปไม่ถึงมือผู้เดือดร้อนจริงๆ มิหนำซ้ำผู้เดือดร้อนอาจตกเป็นเหยื่อของการใช้อำนาจรัฐ โดยเฉพาะในภาวะ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดใดๆ ทั้งสิ้นตามกฎหมาย 

ยกตัวอย่างเช่น คนหาเช้ากินค่ำที่กลับเข้าบ้านไม่ทันอาจถูกตำรวจจับและสั่งดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไปลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท บนเว็บของรัฐ ถูกขู่ว่าต้องไปถอนชื่อออกถ้าหากไม่ตรงตามเกณฑ์ เพราะการให้ข้อมูลเท็จเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ (แถมถ้าถอนชื่อ ยังต้องกดปุ่มยินยอมว่าจะไม่มาขอเยียวยาอีก!) ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลเองโม้ว่า ใช้เทคโนโลยี Artificial Intelligence หรือ AI ช่วยในการคัดกรองคุณสมบัติของผู้ที่ลงทะเบียน 

การดำเนินนโยบายช่วยเหลือที่ผ่านมาของรัฐในวิกฤติโควิด-19 บางเรื่องจึงส่อว่าไม่ได้ตั้งอยู่บนความเข้าอกเข้าใจที่มากพอ ผลลัพธ์ของความไม่เข้าอกเข้าใจ ประกอบกับอำนาจไร้ความรับผิดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ก็คือประชาชนสุ่มเสี่ยงที่จะถูกคุกคามโดยไม่จำเป็น และผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ บางกลุ่มอาจเข้าไม่ถึงเงินช่วยเหลือ เช่น การกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระต้องไปลงทะเบียนบนเว็บ แปลว่าผู้สูงวัยที่อยู่ตัวคนเดียว คนที่ไม่มีโทรศัพท์ เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต หรือลงทะเบียนผ่านเว็บไม่เป็น จะถูกกีดกันออกจากเงินช่วยเหลือโดยปริยาย เป็นต้น 

ผลลัพธ์ของความไม่เข้าอกเข้าใจ ประกอบกับอำนาจไร้ความรับผิดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ก็คือประชาชนสุ่มเสี่ยงที่จะถูกคุกคามโดยไม่จำเป็น และผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ บางกลุ่มอาจเข้าไม่ถึงเงินช่วยเหลือ

แล้ว ‘นโยบายที่ตั้งอยู่บนความเข้าอกเข้าใจ’ ที่จะช่วยให้เรารับมือกับวิกฤติสุขภาพบวกเศรษฐกิจครั้งนี้ควรมีหลักคิดและหน้าตาอย่างไร?

ก่อนที่จะออกมาตรการช่วยเหลือใดๆ ก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าทุกมาตรการควรตั้งอยู่บนหลักคิดที่เข้าอกเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งควรคำนึงถึงสามเรื่องใหญ่ๆ ดังนี้ 

  1. ทำทุกอย่างให้ง่ายที่สุดสำหรับประชาชน – รัฐมีทะเบียนคนจน มีทะเบียนผู้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีทะเบียนเกษตรกร มีฐานข้อมูลมากมายที่ควรนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อเฟ้นหากลุ่มเป้าหมาย รวมถึงมองหาผู้ที่มีข้อมูลนี้อยู่ในมือและขอความช่วยเหลือ เพื่อให้ง่ายที่สุดสำหรับประชาชนที่เดือดร้อน ไม่ควรต้องรอให้แสดงเจตจำนงหรือให้กรอกแบบฟอร์มยุ่งยาก ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องจ้างคนมาทำเว็บใหม่อีกรอบ ยกตัวอย่างเช่น หากรัฐต้องการจะเยียวยาแม่ค้าในตลาด หรือผู้ขับแท็กซี่ ก็สามารถเรียกเจ้าของตลาดมาสอบถามข้อมูลผู้ค้าในตลาด หรือเรียกสหกรณ์แท็กซี่มาสอบถามข้อมูลสมาชิกได้ เป็นต้น

  2. สนับสนุนภาคประชาชน โดยเฉพาะระดับท้องถิ่น – รัฐควรประสานงานและอาศัยองค์กรและเครือข่ายองค์กรในภาคประชาสังคม กลุ่มชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่น อาทิ กลุ่มออมทรัพย์ สัจจะออมทรัพย์ รวมถึงกิจการเพื่อสังคม (social enterprise) ที่ทำงานช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางต่างๆ ในสังคมอยู่แล้ว ให้ได้มากที่สุด เนื่องจากพวกเขารู้จักคุ้นเคยกับกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี และรู้วิธีว่าทำอย่างไรจึงจะช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะคิดมาตรการช่วยเหลือสำหรับคนไร้บ้านโดยตรง รัฐสามารถให้เงินอุดหนุนกับองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานกับคนไร้บ้านมานาน เป็นต้น เพราะหลายเรื่องรัฐมีแต่เงิน แต่ไม่มีความเข้าอกเข้าใจ ส่วนองค์กรภาคประชาสังคมหลายแห่งเข้าอกเข้าใจเป็นอย่างดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ การ ‘จับคู่’ เงินช่วยเหลือของรัฐเข้ากับความรู้ความเข้าใจของภาคประชาสังคมและชุมชน จึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งในวิกฤติโควิด-19
    นอกจากนี้ รัฐยังสามารถอุทิศงบประมาณส่วนหนึ่งให้กับการรณรงค์เพื่อเฟ้นหา ‘นวัตกรรมทางสังคม’ (social innovation) ในการแก้ปัญหาและจับคู่ความต้องการที่กล่าวถึงข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน หรือนวัตกรรมที่ไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยี รวมถึงเปิดข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับ โควิด-19 เป็นข้อมูลเปิด (open data) เอื้อต่อการนำไปเผยแพร่และใช้งานต่อ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่สนใจและสร้างสรรค์ได้เข้ามาร่วมแก้ปัญหา

  3. ลดทอนอุปสรรคของระบบราชการให้ได้มากที่สุด – รับรู้กันทั่วไปมาช้านาน และรับรู้กันแพร่หลายยิ่งกว่าเดิมในวิกฤติโควิด-19 ว่า ความเทอะทะอุ้ยอ้าย ล่าช้าและเน้นเอกสารจิปาถะของระบบราชการไทยนั้นฉุดรั้งการแก้ปัญหาเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นก่อนจะออกมาตรการช่วยเหลืออะไรออกมา รัฐควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขสิ่งที่จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เช่น ผ่อนปรนกฎระเบียบที่บังคับให้คนไปต่อคิวกันยาวเหยียดหน้าสถานที่ราชการ (กลายเป็นไม่รักษาระยะห่างทางสังคมไปอีก) อำนวยความสะดวกในการติดต่อราชการทางโทรศัพท์หรือออนไลน์แทน เป็นต้น

สำหรับเป้าหมายและกลุ่มเป้าหมาย ผู้เขียนเห็นว่า เป้าหมายหลักของวงเงินช่วยเหลือ 1.9 ล้านล้านบาท รวมถึงงบกลางส่วนเพิ่มที่จะโอนจากหน่วยงานต่างๆ ควรเน้นการยกระดับศักยภาพและประสิทธิภาพในการรับมือกับโรคระบาดทุกมิติ ตั้งแต่การตรวจหาเชื้อ การสอบสวนโรค การกักตัว และการดูแลผู้ป่วย, การดูแลกลุ่มเปราะบางที่ดูแลตัวเองไม่ได้, การดูแลให้ประชาชนยังมีรายได้ จะได้รักษาระยะห่างทางสังคมได้, การช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชน และการช่วยพยุงเศรษฐกิจ 

กลุ่มเป้าหมายหลักที่รัฐควรเน้นการช่วยเหลือ มีอยู่สามกลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกันดังต่อไปนี้

  1. บุคลากรที่ทำงานดูแลประชาชนหนักขึ้นมากในภาวะวิกฤติ

  2. ประชาชนที่เดือดร้อนจากวิกฤติ

  3. ธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ที่เดือดร้อนจากวิกฤติ

แนวนโยบายที่ควรใช้สำหรับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มมีดังต่อไปนี้

หนึ่ง บุคลากรที่ทำงานดูแลประชาชนหนักขึ้นมากในภาวะวิกฤติ

  1. ทุ่มงบประมาณให้กับการดูแลบุคลากรทางการแพทย์ – วิกฤติโควิด-19 ประกอบกับมาตรการบังคับระยะห่างทางสังคม แปลว่าบุคลากรในระบบสาธารณสุข ตั้งแต่แพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ ฯลฯ ต้องทำงานหนักกว่าเดิมและเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และบุคลากรในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งเป็น ‘หน้าด่าน’ สำคัญในชนบท รัฐควรทุ่มงบประมาณให้กับการดูแลพวกเขาอย่างเพียงพอ ตั้งแต่อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ ไปจนถึงค่าตอบแทนและสวัสดิการ รวมถึงสวัสดิการครอบครัวของพวกเขาด้วย

  2. ทุ่มงบประมาณให้กับคนที่มีอาชีพดูแลคนอื่น – นอกจากบุคลากรทางการแพทย์จะเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้นแล้ว ผู้ที่มีอาชีพบริการหรือดูแลคนอื่น เช่น แม่บ้าน พ่อครัว คนส่งของ คนส่งอาหาร พนักงานกู้ภัย พี่เลี้ยงคนแก่ พนักงานทำความสะอาด คนเก็บขยะ ซึ่งอาชีพเหล่านี้ปกติก็มักจะได้ค่าจ้างน้อยกว่าที่ควรจะได้อยู่แล้ว ยังต้องทำงานหนักกว่าเดิมในช่วงวิกฤติโควิด-19 เพราะคนที่พวกเขาต้องดูแลเรียกร้องการดูแลมากขึ้นมากในช่วงรักษาระยะห่างทางสังคม และพวกเขาก็ทำงานลำบากกว่าเดิม แถมหลายคนอาจขาดแคลนรายได้ ดังนั้นรัฐจึงสมควรอุทิศงบประมาณในการดูแลและตอบแทนพวกเขาให้ดีขึ้นมากในช่วงนี้ เพราะพวกเขาทำงานสำคัญที่ช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐ ช่วยให้คนอื่นทำตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมได้

    ภาพ: ขจรศิริ อุ่ยมานะชัย (4 เมษายน 2563)

  3. จ้างคนเพิ่มมาช่วยแบ่งเบาภาระของคนกลุ่มที่ 1 และ 2 – เนื่องจากทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และคนที่ทำงานดูแลคนอื่น ต้องรับภาระหนักขึ้นมากในช่วงวิกฤติโควิด-19 รัฐจึงควรกันงบประมาณส่วนหนึ่งมาจ้างคนจำนวนมากมาช่วยแบ่งเบาภาระของพวกเขา เช่น จ้างคนมาช่วยนักเทคนิคการแพทย์ตรวจหาเชื้อ, จ้างคนมาช่วยทีมสอบสวนโรคและดูแลผู้ป่วยที่เข้าข่ายต้องกักกันตัว 14 วัน, จ้างคนมาช่วย อสม., จ้างคนเก็บขยะ (เพราะขยะน่าจะเพิ่มปริมาณขึ้นมากในช่วงที่คนพยายามทำงานกับบ้าน) ฯลฯ ซึ่งการจ้างคนมาทำงานเหล่านี้ก็นับเป็นมาตรการช่วยเหลือผู้ตกงาน (ดูข้อถัดไป) ที่ดีด้วย ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว

สอง ประชาชนที่เดือดร้อนจากวิกฤติ

  1. ดูแลเรื่องการยังชีพสำหรับกลุ่มเปราะบาง – เน้นการนำส่งอาหารและปัจจัยอื่นที่จำเป็นต่อการยังชีพให้กับผู้สูงวัย ผู้ป่วยติดเตียง คนไร้บ้าน และกลุ่มเปราะบางอื่นๆ ที่ดูแลตัวเองไม่ได้ โดยอาศัยเครือข่ายขององค์กรภาคประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่น ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในหลักคิดข้างต้น 

  2. ช่วยชดเชยรายได้ที่หายไปสำหรับประชาชนทั่วไป – เน้นการชดเชยรายได้โดยตรงผ่านการโอนเงินช่วยเหลือ และมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ อาทิ การลดค่าน้ำค่าไฟ ลดภาษี เลื่อนกำหนดการยื่นภาษี (มาตรการแนวนี้รัฐบาลไทยได้เริ่มทำไปบ้างแล้ว) 

  3. แบ่งเบาภาระหนี้สินของประชาชน – วันนี้หนี้ครัวเรือนสูงถึง 80% ของจีดีพี ยิ่งรายได้น้อยยิ่งสุ่มเสี่ยงจะเป็นหนี้มาก ลำพังการช่วยชดเชยรายได้จึงไม่เพียงพอ ถ้าหากภาระหนี้สินยังค้ำคอ ผู้เขียนเคยเสนอเรื่องนี้ไปแล้วในบทความ ‘มาตรการบรรเทาทุกข์ลูกหนี้ในวิกฤติโควิด-19 ที่ควรทำ‘ 

  4. จ้างงานผู้ตกงานโดยตรง – รัฐควรอุทิศงบประมาณส่วนหนึ่งมาจ้างงานผู้ที่ตกงานในช่วงนี้โดยตรง แทนที่จะแต่แจกเงินอย่างเดียว โดยเฉพาะผู้ที่ตกงานจากธุรกิจท่องเที่ยว โดยให้พวกเขาทำงานที่เป็นประโยชน์ เช่น จ้างมาช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรด้านสาธารณสุข (เขียนถึงไปแล้วข้างต้น) จ้างคนมาแปลงเอกสารราชการที่เป็นกระดาษให้อยู่ในรูปดิจิทัล (จะได้เริ่มเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 อย่างแท้จริงเสียที) จ้างคนมาขุดลอกคูคลองเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ฯลฯ งานเหล่านี้นอกจากจะสร้างประโยชน์ทางสังคมแล้ว ยังสามารถช่วยปรับเพิ่มทักษะ (reskill) แรงงาน อาทิ ทักษะด้านการใช้คอมพิวเตอร์ แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถเปลี่ยนอาชีพหรือมีงานที่ดีกว่าเดิมในอนาคต 

สาม ธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ที่เดือดร้อนจากวิกฤติ

  1. ช่วยธุรกิจในทางที่แบ่งเบาภาระของระบบสาธารณสุข – ในเมื่อธุรกิจท่องเที่ยวและร้านอาหารได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลสามารถช่วยเหลือธุรกิจเหล่านี้ในทางที่ช่วยแบ่งเบาภาระของระบบสาธารณสุขไปด้วยในคราวเดียวกัน เช่น ประกาศเช่าห้องพักในโรงแรมทั่วประเทศเป็น ‘สถานที่กักตัว’ สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่เข้าข่ายต้องกักตัว 14 วัน, เพิ่มงบให้โรงพยาบาลสามารถสั่งอาหารจากร้านอาหารในละแวกใกล้เคียงมาดูแลบุคลากรและผู้ป่วย ฯลฯ 

  2. จ้างธุรกิจเปลี่ยนไลน์การผลิตเพื่อเพิ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ – เช่น จ้างโรงงานตัดเย็บหน้ากาก เปลี่ยนไลน์การผลิตจากเอทานอลเป็นแอลกอฮอล์ทางการแพทย์ ฯลฯ 

  3. แบ่งเบาภาระหนี้สิน เพิ่มสภาพคล่อง – ด้วยการออกมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น มาตรการแนวนี้รัฐและธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มดำเนินการแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าควรกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจนว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับการช่วยเหลือเหล่านี้จะต้องจ้างงานพนักงานส่วนใหญ่ต่อไป (โดยอาจกำหนดเป็นตัวเลขขั้นต่ำให้ชัดเจน เช่น 80%) เพื่อให้มั่นใจว่าประโยชน์จากการช่วยเหลือจะตกถึงมือประชาชนจริงๆ ไม่ใช่เจ้าของกิจการหรือผู้บริหารเป็นหลัก

  4. ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในทางที่จูงใจให้ลดภาระกันเป็นทอดๆ – เช่น ลดภาษีให้กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ตกลงงดการเก็บค่าเช่าจากผู้เช่า 3 เดือน, ลดภาษีให้กับผู้ประกอบการที่ช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สินของลูกจ้าง, ลดภาษีให้กับผู้ประกอบการที่ยังจ่ายเงินคู่ค้ารายย่อยตรงเวลา เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป ทางเลือกนโยบายมีอยู่มากมายในช่วงนี้ หลายเรื่องเป็นเรื่องของ ‘วิธี’ มากกว่า ‘ตัวเงิน’ และหลายมาตรการอาจดีกว่าแนวนโยบายที่ผู้เขียนเสนอโครงร่างไว้โดยสังเขปข้างต้น แต่ไม่ว่าจะใช้นโยบายอะไร ไม่ว่าจะออกแบบมาตรการแบบไหนก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่ามีเพียงนโยบายที่ตั้งอยู่บน ‘ความเข้าอกเข้าใจ’ ในสถานการณ์จริงของประชาชนเท่านั้น ที่จะเป็นการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงจุด และสอดคล้องกับมาตรการด้านสุขภาพในวิกฤติโควิด-19 

มีเพียงนโยบายที่คิดขึ้นบนฐานความเข้าอกเข้าใจเท่านั้น ที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนได้อย่างแท้จริง ซึ่งก็รวมถึงวิกฤติใหญ่ทางเศรษฐกิจที่รอเราอยู่ในอนาคตอันใกล้.

Tags: , ,