ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึงความจำเป็นของการทำนโยบาย ‘บนฐานความเข้าอกเข้าใจ’ ว่าเป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่รัฐบาลจะช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนได้อย่างแท้จริง (โดยไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ) ในวิกฤติโควิด-19 โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายสามกลุ่ม ได้แก่ 1) บุคลากรทางการแพทย์และอาชีพอื่นๆ ที่ช่วยให้พวกเรา ‘เว้นระยะห่างทางสังคม’ ได้ 2) ประชาชนทั่วไปที่เดือดร้อน และ 3) ธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ที่เดือดร้อน

สำหรับตอนนี้ ทีแรกผู้เขียนตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องวิธีที่รัฐควร ‘ช่วยเหลือ’ ธุรกิจใหญ่ และวิธี ‘ร่วมมือ’ กับธุรกิจใหญ่ในการแก้วิกฤติ (เพราะธุรกิจขนาดใหญ่โดยนิยามแปลว่ามีสายป่านยาว น่าจะมีศักยภาพที่จะยืนหยัดฝ่าวิกฤติและช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐได้ ไม่ล้มหายตายจากไปง่ายๆ แม้อาจะถูกกระทบค่อนข้างมาก ต่างจากธุรกิจขนาดเล็กหรือ SMEs ที่มีสายป่านสั้นกว่ากันมาก) แต่เมื่อได้อ่าน ‘จดหมายเปิดผนึก‘ ที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี เขียนถึงมหาเศรษฐี 20 คน (แถมระบุด้วยว่าเกณฑ์คือ คนที่ ‘รวยที่สุดในประเทศ’) ก็คิดว่าต้องเขียนถึงเรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษ 

เพราะการเขียนจดหมายเปิดผนึกจากผู้นำสูงสุดฝ่ายบริหารถึงมหาเศรษฐีแบบเฉพาะเจาะจง คือวิธีที่รัฐบาลไม่ควรทำแม้แต่น้อย!

คนจำนวนไม่น้อยมองว่า ก็ไม่เห็นเป็นไรนี่นาที่นายกฯ จะขอแรงมหาเศรษฐีมาช่วยแก้ปัญหา เพราะพวกเขามีทรัพยากรมหาศาล น่าจะช่วยชาติได้มาก อีกหลายคนบอกว่านายกฯ ไม่ได้ ‘ขอเงิน’ แบบที่พวกติดแท็ก #รัฐบาลขอทาน ในทวิตเตอร์ปั่น เขา ‘ขอความคิด’ ในการแก้ปัญหาต่างหาก (สุดท้ายเนื้อหาก็เผยว่าไม่ได้ขอความคิดใดๆ แต่ขอทรัพยากรนั่นแหละ เพียงแต่ไม่ได้ขอเงินตรงๆ แต่ไพล่ไป “ขอโครงการ” แทน คนในทวิตเตอร์เข้าใจไม่ผิดแต่อย่างใด) 

การที่หลายคนมองว่าการส่งจดหมายเปิดผนึกแบบนี้ไม่มีอะไรเสียหาย เป็นเรื่องปกติ สะท้อนว่าความเข้าใจเรื่องหลักธรรมาภิบาลเบื้องต้นของสังคมไทยเสื่อมลงอย่างน่าตกใจนับตั้งแต่สิบปีก่อน ตอนที่คนจำนวนมากพร้อมใจกันท่องคำว่า ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’ ‘คอร์รัปชันเชิงนโยบาย’ และ ‘ทุนสามานย์’ และยกตัวอย่างได้เป็นฉากๆ 

ก่อนอื่นพึงสังเกตว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้ประกาศเชิญมหาเศรษฐี 20 คน มาเข้าร่วมคณะกรรมการหรือคณะทำงานที่มีคนจากหลายภาคส่วน มีเป้าหมาย ขอบเขต และความรับผิดชอบชัดเจน (ดังเช่นกรณี task force ด้านเศรษฐกิจของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีสมาชิก 80 คน ตั้งแต่นักธุรกิจใหญ่ อดีตผู้ว่าฯ รัฐแคลิฟอร์เนียจากสองพรรคใหญ่ อดีตผู้ว่าฯ ธนาคารกลาง ฯลฯ) และในความเป็นจริง รัฐบาลก็มีกลไกที่จะรับฟังข้อเสนอแนะจากนักธุรกิจ และร่วมมือกับธุรกิจมากมายอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) หรือคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ซึ่งทั้งสองคณะนี้มีกลไกย่อยถึงระดับจังหวัด 

ในวิกฤติโควิด-19 นี้เองก็มีการตั้งคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจของ ศบค.) โดยมีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เป็นประธาน สมาชิกส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจที่มาในฐานะ ‘ตัวแทนสมาคมธุรกิจ’ ไม่ว่าจะเป็นสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งคณะที่ปรึกษาชุดนี้ได้เริ่มประชุมเพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลแล้ว

รัฐบาลวันนี้จึงมิได้ขาดแคลนข้อเสนอแนะ คำแนะนำ คำร้องขอความช่วยเหลือ ฯลฯ จากภาคธุรกิจแต่อย่างใด และเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกก็ชัดเจนว่าไม่ใช่การ ‘ขอความคิด’ จากมหาเศรษฐี โดยระบุว่า

“ผมขอให้ท่านทำเอกสาร นำเสนอสิ่งที่ท่านพร้อมจะทำเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือพี่น้องคนไทย โดยผมไม่ขอรับเป็นเงินบริจาค แต่ผมขอให้ท่านลงมือทำโครงการที่จะออกไปช่วยเหลือประชาชนคนไทยทุกกลุ่มทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการบรรเทาความทุกข์ร้อนของประชาชนทางด้านใดก็ตาม หรือด้วยวิธีการใดก็ตาม ขอให้เป็นการช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งสิ่งใดที่ท่านเห็นว่ารัฐบาลจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับโครงการนั้น ได้ขอให้ท่านโปรดส่งมาให้ผมรับทราบภายในสัปดาห์หน้า”

ถ้าจะอธิบายด้วยภาษาที่นักวิชาการใช้ทุกวันนี้ ข้อความข้างต้นคือการขอให้มหาเศรษฐี 20 คน ทำโครงการ ‘after-process CSR’ หรือการกุศลภาคธุรกิจ ซีเอสอาร์ประเภท ‘คืนกำไรสู่สังคม’ (ช่วยเหลือประชาชนอย่างไรก็ได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจหลัก) โดยเสนอว่าจะเอาทรัพยากรของรัฐไป “อำนวยความสะดวก” ให้

ผู้เขียนสรุปปัญหาหลักของเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้เป็นสามประเด็นว่า 1) เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม 2) เกิดข้อครหาเรื่อง ‘ผลประโยชน์ต่างตอบแทน’ และแรงกดดันทางสังคมอย่างไม่เป็นธรรม และ 3) ตีตรารับรองกิจกรรมที่ไม่มีกลไกรับผิด และอาจบั่นทอนกลไกกำกับดูแล

(ผู้เขียนจะยังไม่พูดถึงประเด็นศักดิ์ศรีของรัฐ รวมถึงการเชื่อมโยงเทียบบัญญัติไตรยางค์แบบมักง่ายว่า มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุด = ผู้อาวุโสของสังคม แม้จะเห็นว่าทั้งสองเรื่องเป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะในเมื่อมันขัดแย้งกับความพยายามในสังคมตลอดหลายปีมานี้ที่จะปัดเป่ามายาคติ ‘คนรวยเท่ากับคนเก่งโดยอัตโนมัติ’) 

ผู้เขียนจะอธิบายปัญหาไปทีละข้อดังนี้

  1. เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

การที่นายกฯ ส่งจดหมายโดยตรงแบบเฉพาะเจาะจงถึงมหาเศรษฐี 20 คน โดยใช้เกณฑ์ง่ายๆ ว่า เป็นคนที่ ‘รวยที่สุดในประเทศ’ ขอให้พวกเขาทำโครงการซีเอสอาร์มากขึ้น ก่อให้เกิดคำถามทันทีว่า แล้วมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยเป็นอันดับที่ 21 ลงมา ทำไมถึงไม่ได้รับจดหมายฉบับนี้ ทำไมถึงเจาะจงเฉพาะ 20 คนที่รวยที่สุดเท่านั้น ทั้งที่นักธุรกิจทั่วประเทศ ไม่ว่าจะรวยน้อยหรือรวยมาก หลายคนมอบนโยบายให้บริษัททำซีเอสอาร์กันเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว และตัวเองก็ทำการกุศลช่วยสังคมอยู่แล้วมากมาย? (ดูตัวอย่างโครงการซีเอสอาร์ที่พยายามช่วยแก้วิกฤติโควิด-19 ได้จากเว็บไซต์ SD Perspectives)

มาตรา 5(6) ตาม พ.ร.บ. มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะต้อง “ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ” 

การส่งจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีอย่างเฉพาะเจาะจง 20 คน ทั้งที่ไม่มีข้อมูลใดๆ บ่งชี้ว่ามีเพียง 20 คนนี้เท่านั้นที่มีศักยภาพจะทำโครงการซีเอสอาร์ช่วยเหลือประชาชน (ตามเนื้อหาในจดหมาย) จึงเป็นการเลือกปฏิบัติ ขัดต่อประมวลจริยธรรมอย่างค่อนข้างชัดเจน น่าคิดว่านักธุรกิจที่ไม่ได้รับจดหมายจะรู้สึกอย่างไร (อาจจะโล่งอกก็ได้! ดูปัญหาข้อสองในหัวข้อถัดไป) 

(แถมมีกระแสข่าวว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและ ‘คู่ปรับ’ ของรัฐบาลทหาร มหาเศรษฐีอันดับที่ 16 ไม่มีชื่ออยู่ในรายนามเศรษฐีที่ได้รับจดหมาย เท่ากับเลือกปฏิบัติซ้อนเลือกปฏิบัติเข้าไปอีก)

  1. เกิดข้อครหาเรื่อง ‘ผลประโยชน์ต่างตอบแทน’ และแรงกดดันทางสังคมอย่างไม่เป็นธรรม

การเขียนจดหมายโดยตรงถึงมหาเศรษฐี 20 คน ย่อมนำไปสู่ข้อครหาว่าอาจมี ‘ผลประโยชน์ต่างตอบแทน’ ในอนาคต อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในเมื่อคนจำนวนมากมองว่ารัฐ ‘เอาใจ’ ธุรกิจใหญ่ ไม่เคยกำกับได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคำว่า ‘บุญคุณต้องทดแทน’ ยังมีน้ำหนักและล่วงล้ำเข้ามาในแดนของการใช้อำนาจรัฐอยู่เป็นนิจ

รัฐบาลมีอำนาจให้คุณให้โทษกับธุรกิจ นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลกุมอำนาจสูงสุด การเชื้อเชิญให้มหาเศรษฐีทำซีเอสอาร์ที่ล้ำเข้ามาในแดนนโยบายสาธารณะ (หน้าที่ของรัฐ) มากขึ้น แถมเสนอว่าจะ “อำนวยความสะดวก” ให้ ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้การออกนโยบายสาธารณะถูกครอบงำ และนำไปสู่การเอื้อประโยชน์ในอนาคต โดยเฉพาะสำหรับเศรษฐีที่ธุรกิจหลักเป็นคู่ค้าสำคัญของรัฐ หรือรับสัมปทานจากรัฐ 

ในเมื่อรัฐสามารถให้คุณให้โทษกับธุรกิจ และธุรกิจอาจมีอิทธิพลเหนือรัฐ กลไกต่างๆ ในสังคมสมัยใหม่จึงถูกออกแบบมาเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ผลประโยชน์ต่างตอบแทน ฯลฯ ให้ได้มากที่สุด ในไทยเองก็มีกลไกมากมาย (หลายคนมองว่าเข้มงวดเกินไปด้วยซ้ำ) ตั้งแต่การห้าม ส.ว. และ ส.ส. ถือหุ้นในธุรกิจสัมปทาน การให้ผู้มีอำนาจทางการเมืองยื่นบัญชีทรัพย์สิน ฯลฯ 

ความเสี่ยงที่จะเกิด ‘ข้อครหา’ จากสังคมนับเป็นเรื่องใหญ่สำหรับนักธุรกิจที่นิสัยดีและมีวิสัยทัศน์ เพราะอาจทำให้พวกเขาเสื่อมเสียชื่อเสียงได้ ต่อให้พวกเขาไม่ได้รับผลประโยชน์ต่างตอบแทนหรือการเอื้อประโยชน์ใดๆ จากรัฐเลย ลำพังการถูกตั้งคำถามจากสังคมก็กระทบต่อชื่อเสียง ไม่มีนักธุรกิจคนไหนอยากให้เกิด 

(คณะกรรมการร่วมต่างๆ ระหว่างรัฐ-เอกชน มีนักธุรกิจไปนั่งในฐานะตัวแทน ‘สมาคม’ ธุรกิจ (ประกอบด้วยบริษัทจำนวนมาก) ไม่ใช่ตัวแทน ‘บริษัท’ (แห่งเดียว) ที่เขาทำงานประจำ ส่วนหนึ่งก็เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาทำนองนี้)

ยังไม่นับว่าการส่งจดหมายโดยตรงถึงมหาเศรษฐี 20 คน ยังสุ่มเสี่ยงที่จะสร้างแรงกดดันทางสังคมอย่างไม่เป็นธรรม มหาเศรษฐีจำนวนมากทำการกุศลแบบ ‘ปิดทองหลังพระ’ ไม่ได้ต้องการอยู่ในสปอตไลต์หรือโปรโมทตัวเอง ไม่ว่านายกฯ จะส่งจดหมายหรือไม่ส่ง พวกเขาก็ทำ และถึงที่สุดแล้ว การกุศลโดยนิยามเป็นกิจกรรมที่ทำโดยสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ ขึ้นอยู่กับความสนใจและเงื่อนไขของคนแต่ละคน มหาเศรษฐีก็ไม่เว้น แต่ในเมื่อนายกฯ ส่งจดหมายไปหา การขอความร่วมมือจึงมีนัยเท่ากับกึ่งบังคับ (เพราะดังที่อธิบายไปข้างต้นว่า นายกฯ มีอำนาจให้คุณให้โทษกับธุรกิจ) คนในสังคมบางส่วนก็จะไปเพ่งเล็งว่าในบรรดามหาเศรษฐีที่ได้รับจดหมาย ใครทำอะไรหรือไม่ทำ ทำเท่าไหร่และขนาดไหน เกิดเป็นแรงกดดันที่ไม่ยุติธรรมกับนักธุรกิจ ทำให้กิจกรรมที่ควรทำโดยสมัครใจอาจกลายเป็นกิจกรรมที่รู้สึกว่าต้องจำใจทำเพราะถูกบังคับ

เกิดภาวะอิหลักอิเหลื่อ กลืนไม่เข้าคายไม่ออกโดยไม่จำเป็น (และด้วยเหตุนี้ เศรษฐีที่ไม่ได้รับจดหมายอาจถอนหายใจอย่างโล่งอกก็ได้!) 

  1. ตีตรารับรองกิจกรรมที่ไม่มีกลไกรับผิด และอาจบั่นทอนกลไกกำกับดูแล

โครงการซีเอสอาร์จำพวกกิจกรรม ‘คืนกำไรสู่สังคม’ หรือการกุศลภาคธุรกิจนั้น เป็นกิจกรรมที่บริษัทห้างร้านต่างๆ ทำโดยสมัครใจ ในเมื่อเป็นความสมัครใจจึงมักไม่อยู่ภายใต้กลไกรับผิด (accountability) ใดๆ ทั้งสิ้น 

ตลอดระยะเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปีที่ผ่านมา กิจกรรมซีเอสอาร์จำนวนไม่น้อยช่วยแก้ปัญหาสังคม ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน บางโครงการยกระดับจาก ‘กิจกรรม’ ระยะสั้น ไปเป็น ‘กิจการเพื่อสังคม’ (social enterprise) ที่ช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว (เช่น โครงการปั๊มชุมชนบางจาก) บางโครงการพยายามยกระดับเป็น ‘ซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์’ (strategic CSR) หรือโครงการสร้างคุณค่าร่วม (shared value) ระหว่างบริษัทกับสังคม (ผู้เขียนจะอธิบายรายละเอียดและตัวอย่างในตอนต่อไป) 

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่ากิจกรรมซีเอสอาร์ทุกโครงการจะสร้างผลลัพธ์เป็นบวกทั้งหมด บางโครงการสร้างผลกระทบทางลบโดยที่ผู้ทำโครงการไม่ตั้งใจ เช่น บางบริษัทไปสร้างฝายชะลอน้ำผิดที่ผิดทางหรือผิดวิธี แต่ในเมื่อเป็นกิจกรรมการกุศลที่ทำโดยสมัครใจ บริษัทจึงมักไม่มีความรับผิดชอบทางกฎหมายต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น และโดยรวมก็ไม่มีใครสามารถ(หรือแม้แต่อยาก)ไปร้องเรียนให้รัฐเอาผิดกับผู้ดำเนินโครงการ ในกรณีที่เกิดความเสียหายได้

ในเมื่อโครงการซีเอสอาร์อาจให้ผลเป็นบวกก็ได้ เป็นลบก็ได้ หรือเป็นบวกมากกว่าลบ หรือลบมากกว่าบวก จึงไม่ใช่เรื่องที่หน่วยงานภาครัฐ (ซึ่งโดยอำนาจหน้าที่ต้องกำกับดูแลธุรกิจ) ควรรองรับสนับสนุนโดยอัตโนมัติ จะร่วมมือกับโครงการซีเอสอาร์ของเอกชนโครงการไหน ก็ควรพิจารณาเป็นรายโครงการไป และวางกรอบความร่วมมือให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาเรื่องการเอื้อประโยชน์ – และนี่ก็คือสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยทำอยู่แล้ว

การที่นายกฯ เขียนจดหมายเปิดผนึกโดยตรงถึงมหาเศรษฐี 20 คน ขอให้ทำซีเอสอาร์มากขึ้น แถมยังเสนอว่าจะเอาทรัพยากรของรัฐช่วย “อำนวยความสะดวก” จึงเท่ากับเป็นการ ‘ตีตรารับรอง’ ซีเอสอาร์ของมหาเศรษฐีไปล่วงหน้าแบบเหมารวมว่า ‘ดี’ อย่างแน่นอน ทั้งที่ในความเป็นจริง บางโครงการอาจก่อผลลบมากกว่าบวกก็ได้ 

แถมยังทำให้หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจหลักของเศรษฐีเหล่านี้เกิดความอิหลักอิเหลื่อ เกิดแรงกดดันว่าต้อง ‘หยวนๆ ยอมๆ’ มากขึ้น แทนการกำกับดูแลอย่างเข้มข้น เพราะหัวหน้ารัฐบาลลงทุนขอร้องให้ทำโครงการช่วยเหลือประชาชน

 

จดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีของนายกรัฐมนตรีจึงสร้างปัญหาหลักสามข้อข้างต้น ปล่อยให้มหาเศรษฐีและคนอื่นๆ ในสังคมทำกิจกรรมซีเอสอาร์ การกุศลต่างๆ ไปเองจะดีกว่า ออกจดหมายแบบนี้มีแต่เสียกับเสีย

นอกเหนือจากจดหมายเปิดผนึก ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ผู้เขียนสังเกตว่ามีอีกบางวิธีที่รัฐช่วยเหลือธุรกิจใหญ่ หรือร่วมมือกับธุรกิจใหญ่โดยอ้างว่านี่คือการช่วยเหลือประชาชน แบบที่ ‘ไม่ควรทำ’ อีกสองวิธี จึงจะอธิบายเป็นข้อ 4 และ 5 ดังต่อไปนี้  

  1. จงใจ ‘อุดหนุน’ สินค้าและบริการ มากกว่าจะ ‘เยียวยา’ ประชาชน

ในบางกรณี รัฐอ้างว่าจะช่วยเหลือประชาชน แต่ใช้วิธีทุ่มเงิน ‘อุดหนุน’ สินค้าหรือบริการของธุรกิจ เกินเลยระดับที่จะเรียกได้ว่า ‘เยียวยา’ ไปมาก วิธีนี้ไม่ควรทำเพราะมองได้ว่ามุ่งเอื้อประโยชน์ธุรกิจ มากกว่าช่วยเหลือประชาชน

ยกตัวอย่างเช่น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกาศดำเนินโครงการเพิ่มเน็ตมือถือและเพิ่มความเร็วเน็ตบ้าน เป็นการสนองนโยบายรัฐที่จะให้ประชาชนอยู่บ้านเพื่อลดการแพร่เชื้อโควิด-19 ซึ่งในหลักการเป็นเรื่องดี แต่ ‘วิธี’ ที่ กสทช. ใช้ คือจะจ่ายเงินให้แก่ค่ายมือถือ 100 บาท เป็นค่าเน็ตที่เพิ่มขึ้นจำนวน 10GB โดยอ้างว่านี่คือการจ่ายแทนประชาชนในราคาที่ต่ำมาก 

ผู้เขียนเห็นด้วยกับข้อทักท้วงของอนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ที่ว่า กสทช. ใช้สมมติฐานว่าประชาชนจะ ‘อยาก’ ซื้อเน็ตเพิ่ม 10GB เป็นเวลา 30 วัน แทนที่จะคิดบนสมมติฐาน (ที่มีความเป็นไปได้มากกว่า) ว่า ผู้ใช้เน็ตมีความต้องการที่แตกต่างกัน หลายคนซื้อเน็ตไปแล้วเป็นแพ็คเกจรวมกับค่าโทรศัพท์ และอยากให้ผู้ให้บริการช่วย ‘ลดค่าใช้จ่าย’ ตรงๆ เช่น ลดราคาค่าบริการ มากกว่าการมาแจกโปรโมชั่นเพิ่มเติม (ด้วยเงิน กสทช.) ที่ตัวเองอาจไม่จำเป็นต้องใช้

สมมติถ้าการไฟฟ้าฯ ประกาศว่าจะไม่ลดค่าไฟ แต่รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจะจ่ายเงินซื้อไฟฟ้า ‘ส่วนเพิ่ม’ ให้ประชาชน ครัวเรือนละ 1,000 หน่วยฟรี (คือเพิ่มจากไฟฟ้าที่เราใช้อยู่เดิม) แบบนี้เราคงมองเห็นได้ไม่ยากว่าใครได้ประโยชน์ 

  1. เอื้อประโยชน์ธุรกิจ เกินเลยการเยียวยาธุรกิจจากผลกระทบที่เกิดจริง

อีกวิธีที่รัฐไม่ควรทำ ก็คือการอ้างว่าจะ ‘เยียวยา’ ธุรกิจ แต่แท้จริงกลับ ‘เอื้อประโยชน์’ เกินเลยความเสียหายไปมาก ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 คณะกรรมการบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) มีมติให้ “ยกเว้นการจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือน และผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี โดยคงไว้เพียงผลตอบแทนในอัตราร้อยละ หรือ ‘เปอร์เซ็นต์’ เป็นเวลา 2 ปี” ยาวไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 สำหรับสัญญาดิวตี้ฟรีที่ไม่ได้มีผลตอบแทนคงที่ ซึ่งหลักๆ ก็คือกลุ่มคิงพาวเวอร์ แถมยังยืดอายุสัญญาให้อีก 2 ปี ส่งผลให้รายได้ ทอท. หายไปนับหมื่นล้านบาท

ทอท. อ้างว่าทั้งหมดนี้เป็น ‘มาตรการเยียวยา’ ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรี แต่คำถามคือ แล้ว ทอท. รู้ได้อย่างไรว่าวิกฤติโควิด-19 จะยืดเยื้อไปถึงสองปี? มีเหตุผลอะไรที่ต้อง ‘เยียวยา’ แบบใจป้ำและยาวนาน จนขนาดที่รัฐเสียผลประโยชน์เป็นหมื่นล้าน? ผู้เขียนเห็นว่านี่คือการเอื้อประโยชน์อย่างน่าเกลียด เกินเลยระดับความจำเป็นไปมหาศาลด้วยการยกโควิด-19 มาเป็นข้ออ้าง

บางคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจเกิดคำถามว่า แล้วรัฐควร ‘ช่วยเหลือ’ และ ‘ร่วมมือ’ กับธุรกิจขนาดใหญ่อย่างไรในวิกฤติโควิด-19 ถ้าไม่ใช่วิธีที่ไม่ควรทำ 5 ประการข้างต้น? 

ด้วยเนื้อที่จำกัด ผู้เขียนตอบสั้นๆ ก่อนว่า 5 วิธีที่รัฐควรทำ ได้แก่ 1) กำหนดกรอบความร่วมมือที่เปิดกว้าง 2) กำหนดกรอบความช่วยเหลือแบบ win-win (ธุรกิจและประชาชนได้ประโยชน์) 3) ปล่อยและเปิดข้อมูล (open data) ให้ธุรกิจนำไปใช้ โดยไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัว 4) เปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วม และ 5) ส่งเสริมการสร้างคุณค่าร่วม (shared value)

สำหรับรายละเอียดของวิธีเหล่านี้ โปรดติดตามในตอนต่อไป.

Tags: , , ,