พลันที่ข่าว (อันสับสนและโกลาหล) เรื่องกรุงเทพมหานครสั่งปิดห้างร้านต่างๆ รวมไปถึงการสั่งการให้ร้านอาหารไม่ว่าจะอยู่ในห้าง คอมมูนิตี้มอลล์ ห้องแถว แผงลอย งดให้นั่งรับประทาน แต่ให้ซื้อกลับบ้านบ้านได้อย่างเดียว ออกมา ก็สร้างผลกระทบสะเทือนเลือนลั่นครั้งใหญ่ เพราะแรงงานภาคบริการทั้งหลาย ต่างถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ถูก ‘เลิกจ้างชั่วคราว’ พนักงานห้างก็ไม่มีงานทำ เพราะห้างปิด พนักงานเสิร์ฟก็ไม่จำเป็นต้องมีแล้ว เพราะร้านอาหารขายแบบซื้อกลับบ้านเพียงอย่างเดียว

แล้วคนเหล่านี้ต้องทำอย่างไรกับชีวิต

แน่นอนว่า…เป็นสิ่งที่รัฐคิดไม่ถึง หรือคงไม่ได้คิด เพราะหลังจากประกาศฉบับแรกและฉบับที่สองผ่านไปหนึ่งวัน ค่อยออกมาบอกว่า ‘อย่ากลับภูมิลำเนา’ เพราะการเดินทางกลับภูมิลำเนานอกจากจะเป็นการเดินทางไปรวมกลุ่มกันอย่างแออัดยัดเยียดที่ บขส. หรือหัวลำโพง อันขัดต่อมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมแล้ว ยังอาจจะเป็นการแพร่กระจายไวรัสไปสู่ต่างจังหวัดอย่างรวดเร็วอีกด้วย หากผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนานั้นมีเชื้อโคโรนาไวรัสอยู่ในตัว

แต่มันก็สายไปเสียแล้ว เมื่อในขณะนี้ทั้งที่สถานีขนส่งหมอชิต สายใต้ใหม่ หรือหัวลำโพงต่างเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่กำลังเดินทางกลับภูมิลำเนาไม่แพ้ในช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ ถามว่าเขาไม่กลัวไวรัสเหรอไปรวมตัวกันมากมายใกล้ชิดขนาดนั้น แน่นอน…ใครก็กลัว แต่คงกลัวจะอดตายเพราะไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ และไม่รู้จะใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ได้อย่างไรมากกว่า

การจัดการอันไร้ประสิทธิภาพของรัฐในการแก้ปัญหาโควิด-19 นี้มีเรื่อยมาจนเริ่มจะชาชิน ตั้งแต่เรื่องหน้ากากอนามัย การแบนไม่แบนนักเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยง การกักตัวทั้งผู้ที่มาจากประเทศเสี่ยง หรือแม้กระทั่งจัดการหรือการออกมาตรการต่างๆ เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากตัวเลขที่เพิ่มขึ้นทวีคูณรายวัน และสะท้อนความไม่รู้รอบในการจัดการปัญหา มีแต่การออกมาตรการแนะนำ สั่งห้าม แต่ไม่มีมาตรการรองรับหรือเยียวยา

ที่สำคัญก็คือมาตรการทั้งหลายนั้นต่างละเลยคนตัวเล็กตัวน้อยและผู้ที่มีรายได้ต่ำในสังคมไปเกือบทั้งหมด

ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการสร้างระยะห่างทางสังคม โดยเฉพาะการใช้ขนส่งมวลชน แม้จะมีคำแนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งมวลชนที่แออัดยัดเยียดเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโคโรนาไวรัส แต่คนที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัวจะทำอย่างไร คนที่มีเงินเดือนเพียงพอแค่ขึ้นรถเมล์หรือรถไฟฟ้าจะทำอย่างไร ในขณะที่เราเห็นมาตรการรองรับการแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขบวนหรือจำนวนรถให้มากขึ้น และจำกัดการขึ้นต่อขบวนหรือคัน เพื่อลดความใกล้ชิดอันเป็นความเสี่ยงในการติดเชื้อโคโรนาไวรัส แต่ในประเทศไทยนั้นกลับมีแค่มาตรการคำแนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยปิดจมูกและล้างมือให้บ่อยครั้ง รวมถึงเสนอให้ลดความแออัดของระบบขนส่งมวลชน แต่ยังไม่มีการบังคับใช้มาตรการอะไรออกมา

นี่ยังไม่นับว่าในยามที่หน้ากากอนามัยและเจลล้างมือหาซื้อยาก และที่หาได้ก็ราคาสูง ผู้ที่มีรายได้น้อยจะสามารถหาได้ฟรีๆ จากไหนบ้าง โดยที่เขาไม่ต้องลางานไปต่อคิว

ความคิดไม่รอบหรือไม่คิดถึงคนยากคนจนของมาตรการต่างๆ ของรัฐ นั้นสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุดในประกาศการปิดห้างร้าน และให้ร้านอาหารขายได้เฉพาะแบบสั่งกลับบ้านในครั้งนี้ โดยที่ไม่มีมาตรการการเยียวยามารองรับ (ในขณะที่มาตรการเรื่องคืนค่ามัดจำมิเตอร์ไฟนั้น ใช้ได้แต่กับคนที่เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยเท่านั้น) ที่สุดท้ายแล้วสิ่งนี้กลายเป็นแรงผลักดันให้คนเหล่านี้ต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาของตัวเอง พร้อมถูกตีตราว่า ไม่มีวินัย ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ส่วนรวม ไปจนถึงไม่มีแม้กระทั่งจิตสำนึก

ดังเช่นที่รัฐมนตรีท่านหนึ่งออกมากล่าวว่า “โควิด-19 นี้ จะแพร่ระบาดแค่ไหนอยู่ที่ประชาชน”

ทั้งที่จริงแล้ว รัฐต่างหากที่นอกจากจะไร้ประสิทธิภาพในการจัดการแล้ว ยังเป็นผู้ที่ใช้มาตรการที่ไม่รอบด้านทำให้เกิดการแพร่กระจายของโคโรนาไวรัส มิหนำซ้ำยังโยนความผิดบาปด้วยข้อหาไร้วินัย ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีจิตสำนึกมาให้ประชาชนอีกด้วย

การเป็นคนจนในประเทศนี้ ล้วนถูกตีตราเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นวาทกรรม ‘โง่ จน เจ็บ’ ยิ่งจนยิ่งกินเหล้า เกษตรกรเผาป่า ตัดป่าทำไร่ ฯลฯ แต่ที่จริงทั้งหมดล้วนมาจากแนวความคิดของการเป็นรัฐของชนชั้นกลาง (ขึ้นไปไปจนถึงนายทุน) ต่างหาก ออกนโนบายคืนค่ามิเตอร์ไฟฟ้า อยากทราบว่าจะมีคนจนหรือแรงงานต่างจังหวัดสักกี่คนที่เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยที่จะมีมิเตอร์ไฟเป็นของตัวเอง ออกมาตรการการทำงานที่บ้าน อยากทราบว่างานประเภทไหนหรือที่สามารถนั่งทำงานที่บ้านได้บ้าง ออกมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมแต่ไม่มีอะไรมาอำนวยความสะดวกว่า แล้วคนที่มันไม่มีเงิน มันเลือกไม่ได้เขาจะต้องทำอย่างไรเพื่อจะเว้นระยะห่างทางสังคมได้

การออกมาตรการปิดสถานบริการ ห้างร้าน งดเว้นการนั่งรับประทานอาหารในร้านแต่ไม่มีมาตรการเยียวยาผู้คนอีกหลายล้านที่จะต้องตกงาน (แต่มีมาตรการการอุ้มตลาดทุน) จนผลักให้เขาต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา แล้วค่อยมาห้ามทีหลัง ประณามหยามเหยียดว่าจะเป็นตัวการที่ทำให้โคโรนาไวรัสแพร่ระบาด ควบคุมไม่ได้

ไม่ใช่ประชาชนหรอกที่ไม่มีจิตสำนึก รัฐเองต่างหากไม่มีจิตสำนึกต่อประชาชน คนยากคนจนในประเทศนี้

 ภาพ :  Lillian SUWANRUMPHA / AFP

Tags: ,