หากจะให้กล่าวถึงลักษณะเด่นของการปกครองประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในช่วงเวลาที่ผ่านมากว่า 3 ปี คงจะต้องยกให้การที่ คสช. ประสบความสำเร็จในการทำให้ทหารกลับมาตั้งมั่นในโครงสร้างอำนาจของประเทศไทยได้อย่างชัดเจนที่สุด นับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารที่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง ต่างจากการทำรัฐประหารสองครั้งก่อนหน้านี้ คือในปี 2534 และ 2549 ที่ผู้นำการทำรัฐประหารไม่ได้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีภายหลังการยึดอำนาจ

การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ทั้งกับตัว พล.อ.ประยุทธ์เองและทหารไทยโดยรวม เพราะเรามักคิดกันว่าการมีอำนาจเป็นเรื่องดี เป็นสิ่งที่ใครก็ปรารถนา แต่ในอีกด้านหนึ่ง ใครที่มีอำนาจปกครองประเทศก็ย่อมจะตกเป็นเป้าของเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความไม่พอใจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการวิจารณ์แบบมีเหตุผลหรือใช้อารมณ์ก็ตาม สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นราคาที่ต้องจ่ายสำหรับผู้มีอำนาจ ซึ่งแม้แต่ คสช. ที่มีมาตรา 44 อยู่ในมือก็ไม่อาจหยุดยั้งได้ทั้งหมด

 

การศึกษาทางวิชาการพบว่าทหารในหลายประเทศไม่ต้องการดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยตนเอง แต่มักพอใจที่จะมีอำนาจอยู่หลังฉากมากกว่า ด้วยเหตุผลที่ว่าการอยู่หลังฉากช่วยให้ไม่ต้องรับผิดชอบในกรณีที่มีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น

สำหรับประเทศไทย เราก็เห็นแล้วว่าทหารตกเป็นเป้าของเสียงวิจารณ์และความโกรธแค้นโดยตรงจากเหตุความรุนแรงในปี 2516 และ 2535 ขณะที่ในปี 2553 ทหารก็เข้าไปอยู่ในใจกลางการปะทะกับกลุ่มเสื้อแดงโดยตรง เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นผลเสียในหลายด้านต่อภาพลักษณ์และสถานะของกองทัพโดยรวม

ดังนั้น การเป็นนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องตัวบุคคล แต่เป็นการส่งสัญญาณว่าคราวนี้ทหารไทย ‘เอาจริง’ นั่นคือพร้อมจะใช้อำนาจเต็มรูปแบบอย่างไม่เกรงกลัวเสียงวิจารณ์หรือการต่อต้าน โดยเฉพาะในด้านการจับกุมกวาดล้างใครก็ตามที่มีพฤติกรรมเป็นภัยต่อกลุ่มผู้มีอำนาจ อีกทั้งตัว พล.อ.ประยุทธ์เองก็มีประวัติแนบแน่นอยู่กับขั้วอำนาจอนุรักษนิยมของไทย และเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารในปี 2549 รวมถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553

ทิศทางการใช้อำนาจอันไม่ประนีประนอมของ คสช. ส่งผลให้บุคคลจำนวนหนึ่ง อันมีทั้งแกนนำกลุ่มการเมือง นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว และสื่อมวลชน จำต้องเดินทางลี้ภัยออกนอกประเทศตั้งแต่หลังรัฐประหาร

 

แน่นอนว่าคำกล่าวที่ว่า คสช. ประสบความสำเร็จ ไม่ได้หมายความว่าการปกครองของ คสช. เป็นไปด้วยความราบรื่นไร้อุปสรรค จะเห็นได้ว่าในเชิงนโยบายก็มีหลายครั้งที่ คสช. ยอมถอยเพราะกระแสสังคมตีกลับ ดังเช่นในกรณี Single Gateway หรือการกวดขันเรื่องการนั่งท้ายรถกระบะ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศก็ยังประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง

แต่ในทางการเมือง คสช. สามารถ ‘คุมเกม’ ได้เป็นส่วนใหญ่ ทั้งการสยบความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง จัดการกับกระแสต่อต้านและกลุ่มนักกิจกรรมต่างๆ การล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ที่เนื้อหาไม่เป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยที่ถูกปรับแก้เนื้อหาบางประการและผลักดันให้ผ่านการลงประชามติไปได้ (แม้ว่าขั้นตอนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นไปอย่างไม่ราบรื่นเท่าใดนัก) ขณะที่บรรดาแกนนำ คสช. ก็ไม่ยอมถูกต้อนจนมุมด้วยการให้คำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งขึ้นเมื่อใดกันแน่ ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ก็กล่าวเป็นนัยว่าการเลือกตั้งอาจไม่เกิดขึ้น หากประเทศยังมีความวุ่นวาย

ที่สำคัญที่สุดคือการที่ คสช. วางกลไกการสืบทอดอำนาจเอาไว้อย่างชัดเจน อันหมายความว่าแม้รัฐบาลนี้จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่อิทธิพลของทหารก็ยังจะอยู่กับเราไปอีกนาน เปรียบได้กับงานเลี้ยงที่ไม่มีวันเลิกรา ดังเช่นการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีที่รัฐบาลต่อๆ ไปต้องทำตาม การเปิดทางให้มีนายกฯ คนนอก การให้อำนาจ ส.ว. (ที่กลับไปใช้ระบบแต่งตั้งทั้งหมด) ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อันเป็นหัวใจของกลไกเหล่านี้ก็ถูกกำหนดให้แก้ไขได้ยาก

 

ในด้านหนึ่ง การกำหนดโฉมหน้าของการเมืองไทยไว้ล่วงหน้าอย่างชัดเจนเช่นนี้ก็แสดงถึงความแข็งแกร่งของ คสช. ในห้วงเวลาปัจจุบัน แต่ในอีกด้านก็ไม่แน่เสมอไปที่อำนาจของทหารจะดำรงอยู่ในลักษณะนี้ได้ตลอด เพราะการวางกลไกต่างๆ ไว้อย่างแน่นหนามากเกินไปนั้นอาจเป็นผลเสียต่อทหารเองก็ได้

กลไกทางการเมืองที่แน่นหนาจนไม่เปิดช่องว่างให้มีการเปลี่ยนแปลง อาจเป็นตัวเร่งให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในสังคม เพราะประชาชนหรือกลุ่มการเมืองบางส่วนอาจมองว่าเป็นระบบที่บีบคั้นเกินไป การต่อสู้เคลื่อนไหวอยู่ในระบบไม่สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายได้ สุดท้ายพวกเขาก็ถูกบีบให้ต้องเล่นการเมืองนอกระบบ เช่น การชุมนุมประท้วงบนท้องถนน

กรณีนี้เปรียบได้กับยุคของรัฐบาลทักษิณช่วงปี 2548-2549 ที่การครอบงำสื่อและกลไกตรวจสอบต่างๆ ทำให้การเมืองในระบบรัฐสภาอ่อนแอ จนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้คนเล็งเห็นว่าต้องออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน ดังนั้น คสช. อาจจะคิดว่าตนเองแข็งแกร่ง แต่การปิดกั้นฝ่ายตรงข้ามมากเกินไปก็อาจย้อนกลับมาสั่นคลอนอำนาจของตนเสียเอง

หรือถึงแม้จะไม่มีกระแสต่อต้านจากฝ่ายตรงข้าม แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นภายในกองทัพและกลุ่มชนชั้นนำเสียเอง ต้องไม่ลืมว่ามีกระแสข่าวมาเป็นเวลาพอสมควรว่าประเทศไทยอาจจะยังมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไปหลังการเลือกตั้ง นับตั้งแต่การประกาศจุดยืนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ของไพบูลย์ นิติตะวัน ไปจนถึงการให้สัมภาษณ์ล่าสุดของสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ประกาศชัดเจนว่าตนต้องการเห็นนายกฯ คนนี้เช่นกัน ซึ่งหาก พล.อ.ประยุทธ์ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ ต่อไป ก็จะเป็นนายกฯ ที่ไม่ต้องเดินสายหาเสียงหรือลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะเสียงของ ส.ว. รวมกับ ส.ส. อีกบางส่วนก็เพียงพอที่จะเชิญ พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นนายกฯ คนนอกได้ ดังเช่นในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในอดีต

 

การที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ต่อไปนั้นอาจเป็นที่ชื่นชอบของคนบางกลุ่ม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นไปได้ว่าจะสร้างกระแสความไม่พอใจในกลุ่มขั้วอำนาจอื่นของกองทัพที่อาจมองว่ากลุ่มก้อนของ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในอำนาจต่อเนื่องยาวนานเกินไป ซึ่งโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการแบ่งปันผลประโยชน์ในกองทัพได้ลงตัวมากน้อยเพียงใด

หากคุยกันด้วยดีไม่ได้ ความขัดแย้งในหมู่ทหารด้วยกันเองก็อาจลุกลามบานปลายจนยากจะจินตนาการ

Tags: , ,