ย้อนไปเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2016 การจากไปอย่างกะทันหันของคนทำหนังชาวอิหร่าน อับบาส เคียรอสตามี (Abbas Kiarostami) ทำเอาวงการภาพยนตร์และบรรดานักดูหนังทั่วโลกช็อคไปตามๆ กัน ผลงานชั้นเยี่ยมของเขา ไม่ว่าเป็น Where Is the Friend’s Home (1987), Taste of Cherry (1997), The Wind Will Carry Us (1999) ไปจนถึง Certified Copy (2010) ล้วนตรึงคนดูไว้ด้วยเรื่องราวสามัญที่บอกเล่าออกมาอย่างงดงาม เป็นภาพกวีอันน่าพิศวง อีกทั้งยังบันดาลใจคนทำหนังรุ่นใหม่มากมายด้วยการท้าทายขนบภาพยนตร์ พลังของภาพ และขอบเขตระหว่างความจริงกับเรื่องแต่ง
การสูญเสียเคียรอสตามีนับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของแวดวงภาพยนตร์โลก จึงเป็นเรื่องน่ายินดียิ่งเมื่อโปรเจ็กต์ที่เขาทำค้างไว้อย่าง 24 Frames ได้ฉายเปิดตัวที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 2017 ก่อนจะได้รับการจัดจำหน่ายเป็นดีวีดีโดย Criterion Collection ในปีนี้
เคียรอสตามีใช้เวลาสามปีในการปลุกปั้นโปรเจ็กต์นี้ขึ้นมา (และหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว อะห์หมัด เคียรอสตามี ลูกชาย ก็มาควบคุมให้แล้วเสร็จตามวิสัยทัศน์เดิม) โดยผสานเอาความหลงใหลที่เขามีต่องานศิลปะทั้งสองศาสตร์คือภาพยนตร์และภาพถ่ายเข้าไว้ด้วยกัน
ภาพนิ่ง 24 รูป (ทั้งภาพถ่ายและภาพวาด) ถูกเลือกมาใช้สำรวจชั่วขณะที่เคลื่อนอยู่ก่อนและหลังจากชั่วขณะที่ถูกบันทึกลงไปในภาพ ซึ่งเคียรอสตามีใช้เทคนิคดิจิทัลเข้ามาช่วยสร้างความเคลื่อนไหวให้เกิดขึ้นในภาพได้น่าอัศจรรย์
หนังไม่ได้เล่าเรื่องราวใดๆ แต่ใช้คอนเซปต์อันเรียบง่ายดังกล่าวในการสำรวจถึงสิ่งที่ดำเนินไปตามกาลเวลา และภาวะยื้อยุดกันระหว่างความนิ่งกับความเคลื่อนไหว
ทั้ง 24 รูป (หรือ ‘เฟรม’) ถูกขยายให้ยาว 4 นาทีครึ่งและวางเรียงต่อกันตั้งแต่เฟรมแรกไปจนเฟรมสุดท้าย เริ่มจากภาพวาด The Hunters in the Snow อันโด่งดังของปีเตอร์ เบรอเกิล (Pieter Brueghel) ก่อนจะเป็นภาพสัตว์ในธรรมชาติและภาพทิวทัศน์ที่เคียรอสตามีเคยถ่ายเอาไว้ นั่นทำให้หนังไม่ได้เล่าเรื่องราวใดๆ แต่ใช้คอนเซปต์อันเรียบง่ายดังกล่าวในการสำรวจถึงสิ่งที่ดำเนินไปตามกาลเวลา และภาวะยื้อยุดกันระหว่างความนิ่ง (ของภาพนิ่ง) กับความเคลื่อนไหว (ของภาพยนตร์)
การใช้คำว่า ‘เฟรม’ จึงไม่เพียงส่อนัยถึงภาพนิ่งที่ประกอบกันหลายๆ ภาพจนทำให้เห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวในภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงกรอบของภาพที่ศิลปินจัดวางให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปอยู่ภายในนั้น ซึ่งภายในกรอบภาพที่หยุดนิ่งนั่นเอง เคียรอสตามีแสดงให้เห็นความเคลื่อนไหวของสัตว์น้อยใหญ่ เช่น นก แกะ กวาง ม้า สิงโต กระทั่งมนุษย์ ซึ่งสอดประสานไปกับการเคลื่อนคล้อยของเวลากับสภาพภูมิอากาศ การผันแปรของอุณหภูมิแดด การพรั่งพรูลงมาของสายฝน หรือหิมะที่ร่วงหล่นลงมา โดยในบางเฟรม ภาวะต่อเนื่องดังกล่าวอาจถูกขัดจังหวะอย่างไม่คาดฝันโดยบางสิ่ง เช่น เสียงปืนที่ดังเข้ามาไล่ความสงบของเหล่าสัตว์ นกน้อยที่ร้องเสียงเจื้อยแจ้วถูกเจ้าแมวกระโดดเข้ามาตะครุบ ต้นไม้ที่ถูกโค่นล้มลงมา หรือเครื่องบินที่อยู่ๆ ก็เคลื่อนเข้ามาให้เห็นไกลๆ บนท้องฟ้า
แต่การเคลื่อนไหวในแนวระนาบนั้นหาใช่สิ่งเดียวที่เกิดขึ้นภายในเฟรม เคียรอสตามียังจับจ้องการเคลื่อนไหวในแนวลึกของภาพได้อย่างน่าฉงนฉงาย ในเฟรมหนึ่งเราอาจเห็นวัวเดินผ่านจากซ้ายไปขวา พร้อมๆ กับที่เราเห็นคลื่นทะเลซัดสาดอยู่ในฉากหลัง วัวทอดกายลงนอนอย่างโดดเดี่ยวอยู่ในระยะประชิดสายตา ในอีกเฟรมที่มองผ่านกรอบหน้าต่างออกไป เมื่อม่านบังตาเคลื่อนออก เผยให้เห็นทั้งนกน้อยที่เกาะอยู่ริมหน้าต่าง ต้นไม้ที่กิ่งก้านไหวลู่ลม ขณะที่ในฉากลึก เมฆเคลื่อนคล้อยผ่านไปบนท้องฟ้าโดยไม่ยี่หระต่อสิ่งใดที่บังเกิดขึ้นบนโลก
การเคลื่อนไหวในแนวระนาบนั้นหาใช่สิ่งเดียวที่เกิดขึ้นภายในเฟรม เคียรอสตามียังจับจ้องการเคลื่อนไหวในแนวลึกของภาพได้อย่างน่าฉงนฉงาย
การสร้างมิติความตื้นลึกของภาพที่เคลื่อนไหวดำเนินไปพร้อมๆ กัน พิสูจน์ว่าโปรเจ็กต์ 24 Frames เป็นมากกว่าการเอากล้องไปวางแล้วจับภาพมาเฉยๆ เพราะในหลายๆ เฟรมเรารับรู้ได้กระบวนการผลิตภาพอันซับซ้อนและการจัดวางอย่างประณีต เช่น ในเฟรมของกลุ่มนักท่องเที่ยวชายหญิงชาวมุสลิมที่ยืนจ้องหอไอเฟลในความนิ่งงัน พวกเขาถูกแช่แข็งอยู่ในกาลเวลาอันหยุดนิ่งของภาพถ่าย ทว่าฉากหน้ากลับเห็นการเคลื่อนไหวของผู้คนที่สัญจรไปมา และฉากหลังคือการแปรผันของสภาพภูมิอากาศในช่วงเวลาต่างๆ ของวัน และหอไอเฟลที่ประดับไฟระยิบระยับเมื่อรัตติกาลมาเยือน
เฟรมดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่ดีว่าความจริงที่ถูกฉายภาพอยู่ใน 24 Frames เป็นมากกว่าความจริงที่เรามองเห็นได้โดยทั่วไป แต่เป็นชั่วขณะของความจริงที่ถูกมนตร์สะกดด้วยพลังทางภาพยนตร์ เคียรอสตามีได้รับการยกย่องมาโดยตลอดในด้านการเล่าเรื่องของผู้คนธรรมดาออกมาได้อย่างลุ่มลึก ลักษณะดังกล่าวยังคงได้รับการขับเน้นในผลงานเรื่องสุดท้ายของเขาที่มอบความสำคัญให้กับชั่วขณะธรรมดาๆ ที่ดูไม่สลักสำคัญอะไร ชั่วขณะธรรมดาที่หากจดจ้องอย่างถี่ถ้วนพอถึงจะเห็นความงดงามของบางสิ่ง
เคียรอสตามีเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเขาต้องการให้ภาพยนตร์ของเขามอบดวงตาคู่ใหม่ให้คนดูได้หยิบยืมไปใช้ เพื่อที่จะได้มองเห็นไม่เพียงที่ปรากฏอยู่ในเฟรมเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งอื่นๆ ที่ซุกซ่อนอยู่และไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ความงดงามประการสำคัญของ 24 Frames จึงเป็นความศรัทธาที่ตัวเคียรอสตามีมีต่อพลังของภาพ พลังที่ถ่ายโอนดวงตาของผู้ชมให้ได้ประจักษ์กับความจริงบางอย่างอันยากจะมองเห็นหากไม่ได้ถูกนำจับเข้ามาวางไว้ในเฟรม
ภาพที่ปรากฏในเฟรมอาจเป็นภาพของความเป็นจริง ภาพจากความฝัน หรือภาพจากจินตนาการของตัวเคียรอสตามีเองที่ใคร่ครวญพิจารณาสิ่งต่างๆ และเชื้อเชิญให้คนดูใคร่ครวญไปพร้อมกัน สารอันว่าด้วยความผันผวนของเวลาหรือจะเป็นความเปราะบางของสรรพสิ่งที่ปรากฏอยู่ในหนัง ได้รับการสรุปไว้อย่างงดงามในเฟรมสุดท้าย
สารอันว่าด้วยความผันผวนของเวลาหรือจะเป็นความเปราะบางของสรรพสิ่งที่ปรากฏอยู่ในหนัง ได้รับการสรุปไว้อย่างงดงามในเฟรมสุดท้าย
เราเห็นผู้หญิงนอนฟุบหน้าอยู่บนโต๊ะในความมืด ตรงหน้ามีจอคอมพิวเตอร์เล่นฉากจุมพิตจากหนัง The Best Years of Our Lives (1946) พร้อมเพลง Love Never Dies ของแอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบอร์ (Andrew Lloyd Webber) ที่กำลังบรรเลง ราวกับเคียรอสตามีกำลังยืนยันให้เราอุ่นใจว่าท่ามกลางทุกสิ่งที่เคลื่อนคล้อยและจากไปในกาลเวลา ความรักยังคงดำรงอยู่ ไม่อาจถูกพรากไปด้วยความตาย ไม่เลือนหายจากไปไหน
แม้ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นผลงานสุดท้ายในชีวิต แต่ 24 Frames ก็ทำหน้าที่เป็นผลงานอำลาจากคนทำหนังชั้นครูผู้นี้ได้อย่างยอดเยี่ยมและสมบูรณ์ เคียรอสตามีไม่เพียงเผยให้คนดูเห็นสายตาการมองโลกอันแสนละเอียดอ่อนของตนเอง แต่ยังบอกลามันไปพร้อมความเชื่อมั่นอย่างมหาศาลต่อทั้งสิ่งที่ดำเนินไปตามกาลเวลาและเหนือกาลเวลา ไม่ว่ามันจะเป็นธรรมชาติ ชีวิต ความรัก หรือแม้กระทั่งภาพยนตร์
Tags: Abbas Kiarostami, อับบาส เคียรอสตามี, 24 Frames