สืบเนื่องจากบทความตอนที่แล้ว หากความน่าเสียดายของ Utøya: July 22 คือการเบือนหน้าหนีความกลัวที่แท้จริงในนาทีสุดท้าย สิ่งที่ทำให้ 22 July ไปไม่ถึงจุดที่ควรจะเป็น คืออารมณ์เอ่อล้นของตัวบทวิเคราะห์ที่ไม่ยอมสบตากับความกลัวอย่างตรงไปตรงมา ทั้งที่เนื้อเรื่องหลักส่วนหนึ่งอุทิศให้ตัวละครที่พยายามต่อสู้ทางจิตใจเพื่อเผชิญความกลัวหลังรอดชีวิตจากเกาะอูเตอญา
อาการหลบตาเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องเข้าใจยาก ด้วยสิ่งที่ดูเป็นภัยใกล้ตัวย่อมจัดการความรู้สึกยากกว่า และเราเห็นอาการนี้ในโลกภาพยนตร์ได้โดยไม่ต้องย้อนประวัติไกล เพราะในขณะที่ผู้กำกับตะวันตกเผชิญหน้ากับพระวีระธูและแนวคิดสุดโต่งต่อต้านอิสลามกับโรฮิงญาใน The Venerable W. (Barbet Schroeder, 2017) หรือกลุ่มอันธพาลพลเมืองสมัยกวาดล้างคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซียที่ยังภาคภูมิและผุดผ่องด้วยเกียรติประวัติการฆ่าใน The Act of Killing (Joshua Oppenheimer, 2012) ได้อย่างพิสดารพันลึก แต่การพาการเมืองขั้วตรงข้ามไปนั่งถกเถียงกับ Steve Bannon ผู้ออกแบบชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ และมีบทบาทสำคัญต่อพื้นที่ของกลุ่มขวาจัดยุคใหม่ใน American Dharma (Errol Morris, 2018) ทำให้หนังต้องรับแรงกระแทกทางการเมืองจากฝ่ายเสรีนิยม และยังไม่สามารถหาผู้จัดจำหน่ายในอเมริกาได้
22 July มีคุณสมบัติเริ่มต้นอย่างคนนอกเต็มที่ เพราะไม่ใช่แค่ร่วมอำนวยการสร้างโดย Netflix หรือกำกับโดยคนอังกฤษที่สร้างชื่อในฮอลลีวูดอย่าง Paul Greengrass (ผู้กำกับ Bloody Sunday, United 93, The Bourne Ultimatum, Captain Phillips) แต่หนังยังพูดอังกฤษตลอดเรื่องทั้งที่นักแสดงบทหลักๆ ก็เป็นชาวนอร์เวย์หรือสแกนดิเนเวีย ตัวเลือกนี้ถือเป็นเรื่องพ้นสมัยสำหรับทศวรรษปัจจุบัน แต่ก็สะท้อนความกลัวลึกๆ ของผู้สร้างและภาพคนใน-คนนอกที่ซ้อนทับสลับเปลี่ยนไปมาได้น่าสนใจ (แม้เหตุผลหลักอาจเป็นเรื่องการตลาดของความคุ้นชิน) เพราะหากเราลองสวมบทคนที่ใช้ชีวิตในโลกภาษาอังกฤษ (หรือ ‘สากล’) เมื่อหนังพูดภาษานอร์วีเจียน พวกเขาจะกลายเป็นคนนอกที่เข้าไปรับรู้เรื่องราวของคนภาษาอื่นโดยปริยาย
โดยเฉพาะเมื่อหนังตั้งใจชี้ช่องหยอดรายละเอียดบางประการ เพื่อให้คนดูเชื่อมโยงเห็นว่าการก่อการร้ายที่นอร์เวย์ครั้งนี้ แตกแขนงเติบโตมาจากรากเดียวกับแบนนอน, ทรัมป์ หรือการชุมนุมของมวลชนขวาจัดที่ Charlottesville
เมื่อการขยายตัวของฝ่ายขวาในโลกตะวันตกกำลังถูกจับจ้องในฐานะปรากฏการณ์ทางการเมือง ภัยที่เผยตัวในนอร์เวย์เมื่อ 7 ปีก่อนจึงใกล้ชิดทางความรู้สึกกับหนังและฝ่ายที่กำลังเฝ้าดูสถานการณ์อย่างระแวดระวัง เพราะพวกเขารู้สึกร่วมในระดับใกล้เคียงกับชาวอเมริกันเสรีนิยมกลุ่มที่เบือนหน้าหนีหรือโจมตี American Dharma —ความใกล้ชิดนี้เองที่ทำให้หนังแสดงท่าทีแบบบทบันทึกและการวิเคราะห์เหตุการณ์ที่ไม่ยอมสบตากับความกลัวอย่างจริงจัง แต่ในขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะรู้สึกร่วมมากแค่ไหน พวกเขาก็ตระหนักดีถึงความเป็นคนนอก เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นในนอร์เวย์หลังจากนั้นช่างแตกต่างจากสิ่งที่อาจเกิดขึ้น หรือเคยเกิดขึ้น หากโลกภาษาอังกฤษต้องเผชิญความกลัวลักษณะเดียวกันนี้โดยตรง
หลายเสียงเห็นตรงกันว่า 34 นาทีแรกซึ่งแสดงลายเซ็นทางภาพยนตร์ของ Paul Greengrass อย่างเต็มที่ คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดของหนัง (น่าเสียดายที่หนังยาวถึง 143 นาที) ด้วยลำดับเหตุการณ์ที่เริ่มอย่างเยียบเย็นและพัฒนาสู่สถานการณ์บีบคั้นของการหนีตาย หนังเริ่มต้นคล้ายกับ United 93 (2006) ที่แสดงอิริยาบถช่วงเช้าของผู้ก่อการร้ายก่อนขึ้นเครื่องบิน เมื่อผู้ชมได้เห็น Anders Behring Breivik ผู้ก่อเหตุ (แสดงโดย Anders Danielsen Lie) ตั้งแต่ออกรถจากคลังแสงส่วนตัวกลับบ้าน หลบสายตาประหลาดใจของแม่เข้าห้องส่วนตัว อีเมลแถลงการณ์ให้ทุกคนในลิสต์ เล็ดรอดรัศมีกล้องวงจรปิดไปติดตั้งระเบิดใต้รถแวน และสวมเครื่องแบบตำรวจปลอมไปที่เกาะอูเตอญาเมื่อมั่นใจว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผน
ในขณะที่เสียงปืนกับคำประกาศเจตนารมณ์ชิงชังดังก้องไปทั้งเกาะ หนังก็เปลี่ยนโฟกัสให้คนดูร่วมหนีตายและเผชิญชะตากรรมพลิกผันไปกับลูกชายนายกเทศมนตรีวัยสิบหก Viljar Hanssen (Jonas Strand Gravli) ก่อนจบความโกลาหลขององก์แรกและวันที่ 22 ด้วยภาพตัดสลับระหว่างปฏิบัติการกู้ชีพของทีมแพทย์ที่ดึงชีวิตเขากลับมาได้ทั้งที่มีกระสุนปืนฝังในศีรษะ และการสอบปากคำเบื้องต้นหลัง Breivik มอบตัวในที่เกิดเหตุ แล้วจึงเดินหน้าไปจนถึงวันอ่านคำพิพากษาคดีนี้ในปี 2012 ด้วยท่าทีสุขุมจริงจัง ยืนพื้นด้วยเรื่องเล่าของคู่ตรงข้ามที่เป็นใจความสำคัญของเรื่อง คือผู้ก่อการร้ายที่คนทำหนังพยายามทำความเข้าใจถึงปัจจัยที่ประกอบสร้างขึ้นเป็นความเกลียดชัง อันนำมาสู่การสังหารหมู่ครั้งประวัติศาสตร์ และผู้รอดชีวิตที่ต้องหัดใช้ชีวิตใหม่อย่างผู้พิการทางกายที่ตายได้ทุกเมื่อ และเอาชนะความกลัวในใจเพื่อบอกเล่าเรื่องจริงต่อหน้าบัลลังก์ศาล
อัปลักษณะที่หนังขีดเส้นเน้นย้ำให้ Breivik คือความถือดี อวดฉลาด และหลงตนว่ายิ่งใหญ่ระดับผู้นำความคิด และได้พิพากษาโทษรัฐบาลกับสังคมเสรีนิยมเอียงซ้ายของนอร์เวย์ด้วยการสังหารหมู่ (คล้ายสื่อตะวันตกหลายหัวที่กางแถลงการณ์เจาะจี้เป็นจุดๆ ให้เห็นความด้อยตรรกะ และคัดลอกข้อความใครต่อใครมาแบบไม่ให้เครดิตหรือผิดบริบท) นายกรัฐมนตรี Jens Stoltenberg (Ola G. Furuseth) ต้องรับมือเหตุวินาศกรรมครั้งรุนแรงที่สุดโดยไม่ทันตั้งตัว และเมื่อกฎหมายนอร์เวย์เปิดช่องให้ผู้ต้องหาระบุชื่อทนายความที่รัฐจัดหาได้ เจ้าตัวก็กวนประสาทด้วยการเรียก Geir Lippestad (Jon Øigarden) ทนายชื่อดังอันดับต้นๆ ผู้อยู่สุดขั้วตรงข้ามทางการเมือง ให้ต้องจำใจว่าความปกป้องฆาตกร
การเลือกเหยื่อเป็นเยาวชนสร้างแรงสั่นสะเทือนได้ตามคาด เมื่อผู้ก่อการร้ายมองขาดว่าคนรุ่นใหม่คือจุดตายของพวกลิเบอรัล เพราะนอกจากเป็นลูกหลาน ยังถูกใช้เป็นภาพแทนและตัวสืบทอดอุดมคติสังคมแบบที่เขารังเกียจ มือปืนเฉลยความคิดเบื้องหลังให้ทนายฟังอย่างภาคภูมิ แต่เมื่อพ้นประเด็นนี้ หมากที่ Breivik คิดว่าชาญฉลาดกลับค่อยๆ แข็งขืน ให้คำตอบคนละอย่างกับที่เจ้าตัวต้องการ และภาพมายาที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลค่อยๆ ถูกคนทำหนังกร่อนเซาะทำลายไปทีละขั้น
Lippestad ทำหน้าที่ตามวิชาชีพอย่างตรงไปตรงมา (จนอาจดูเกินจริงเป็นอุดมคติไปด้วยซ้ำ) แต่ในขณะที่พยายามหาเหลี่ยมมุมกฎหมายตามศักยภาพของรูปคดี ก็ไม่เคยลดราวาศอกเมื่อต้องปะทะกับท่าทีอวดโอ่หรือทัศนคติบิดเบี้ยวของลูกความจำเป็น แถมยังเป็นด่านแรกที่ได้รับรู้และคอยกระทุ้งให้เห็นว่า ในโรงละครที่จำเลยจินตนาการว่าตัวเองมีอำนาจกำกับควบคุมเบ็ดเสร็จ แท้จริงแล้วมีแค่เขาอยู่ลำพัง – เมื่อทนายยังถูกคนแค้นคอยคุกคาม จึงเข้าใจได้ว่าทำไมแม่ Breivik ถึงไม่ยอมขึ้นให้การช่วยลูกชาย แต่กระทั่งนักกิจกรรม (หากจะใช้คำนี้ได้) และเซเล็บฝ่ายขวาเกือบทั้งหมดที่ Lippestad ติดต่อไปต่างปฏิเสธจะเกี่ยวข้อง คนเดียวที่ยอมปรากฏตัวในการพิจารณาคดีที่ถ่ายทอดสดก็แสดงจุดยืนหักหน้าว่า การสังหารหมู่ไม่ได้ช่วยและไม่เคยใช่หนทางสู่เป้าหมายสูงสุดของอุดมการณ์
สิ่งที่ 22 July ตั้งใจเพ่งมองหาก็คือรอยแตกแห่งเรื่องเล่าและเปลือกของความเกลียดชัง เพื่อเชื่อมโยงเหตุผลต่างๆ จากเหตุการณ์จริงไปสู่คำอธิบายที่พอจะปลอบประโลมฝ่ายเสรีนิยมที่กำลังหวั่นระแวงในอุณหภูมิการเมืองโลกปัจจุบัน – หลังปากคำของพยานฝ่ายขวา ผู้ชมจึงได้เห็น Breivik ที่หยามหยันยกตนมาตลอดต้องออกอาการหัวเสียเป็นครั้งแรก ด้วยสถานะผู้นำความคิดที่เขาแต่งตั้งตนเองได้ถูกทำลายลง กลางโรงละครที่วาดหวังไว้ให้ช่วยประกาศศักดาทางอ้อม ตอกย้ำด้วยคำให้การของ Viljar Hanssen ซึ่งพูดต่อหน้าชายที่ฝังกระสุนไว้ในหัวเขาว่าคงเป็นความแปลกแยกในสังคมใหม่นี้เองที่ทำให้ Breivik รู้สึกสูญเสียและโดดเดี่ยวกระทั่งพัฒนาเป็นความชิงชังรังเกียจ คล้ายคำอธิบายการแสดงท่าทีเหยียดหยามกีดกันความแตกต่างอย่างรุนแรง ว่าเป็นเพราะฝ่ายขวารู้สึกสูญเสียอำนาจและความได้เปรียบทางสังคมที่เคยมี และกล่าวโทษว่าต้นเหตุคือระบบที่เปิดกว้างและรับรองสิทธิคนกลุ่มอื่นมากขึ้น
กล้องจับสีหน้าของตัวละคร Breivik ที่ดูคล้ายยอมรับคำกล่าวของเด็กหนุ่มอย่างเงียบเชียบ หลังศาลอ่านคำพิพากษา ยังพยายามประกาศศักดาก่อนเข้าห้องขังว่าทุกอย่างทั้งหมดนี้คือชัยชนะ และถูก Lippestad ตอกกลับว่า ‘เรา’ ต่างหากที่ ‘เอาชนะ’ คนอย่างแกได้ในที่สุด
นอกจาก Breivik ตัวจริงที่กำลังรับโทษสูงสุดในเรือนจำ คงไม่มีใครตอบได้ว่าความเชื่อสุดโต่งของเขาถูกสั่นคลอนท้าทายบ้างหรือไม่ แต่คนทำหนังก็เลือกใช้ภาษาภาพยนตร์เพื่อสื่อนัยดังกล่าว กระตุ้นภาพความหวังว่าต่อให้หลักการหรืออุดมคติจะเป็นอุปสรรคขัดแย้งกับความรู้สึกชั่วแล่นต่อสถานการณ์เลวร้ายตรงหน้า ท้ายที่สุด ‘เรา’ จะยัง ‘ชนะ’ อย่างภาคภูมิ – วัยรุ่นหญิงอพยพผิวสีผู้รอดขีวิต Lara Rachid (Seda Witt) พูดปลุกใจ Hanssen เมื่อเห็นเขาแสดงท่าทีหวาดหวั่นไม่มั่นใจก่อนขึ้นศาลว่า คนเราสามารถอ่อนแอเปราะบางและเข้มแข็งไปได้พร้อมกัน สภาพร่างกายอย่างผู้พิการของเด็กหนุ่ม ความพยายามเอาชนะความกลัวที่ถาโถม และประโยคสำคัญที่ปลดล็อคความรู้สึก สามารถอธิบายโลกเสรีนิยมที่กำลังสั่นไหวได้เหมาะเจาะพอดี
น่าเสียดายที่ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการชโลมใจ ต่อให้การเล่าภาพกว้างของหนังจะนำเสนอรายละเอียดได้มากกว่า Where to Invade Next (Michael Moore, 2016 – ซึ่งเลือกสัมภาษณ์พ่อที่สูญเสียลูกแต่ทั้งให้อภัยและต่อต้านโทษประหารชีวิต เพื่อเทียบกับทัศนคติของสังคมอเมริกัน) ทว่าหนังก็เลือกหยุดตัวเองแค่ภาพความโกรธแค้นของชาวนอร์เวย์บางส่วนที่ไม่ได้เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของเรื่อง กับผลตรวจสอบของคณะกรรมาธิการที่ระบุว่ารัฐบาลกับตำรวจผิดพลาดล่าช้าในการรับมือสถานการณ์ (ยิ่งช่วยชโลมใจ ‘เรา’ ว่าระบบยังทำงาน และหลักการทำให้ระบบกล้ายอมรับข้อด้อยของตนเอง) มากกว่าจะพินิจหัวใจของความหวั่นระแวงในปัจจุบันให้ท้าทายลึกซึ้ง เพราะถึงที่สุดหนังก็ใช้สายตาเดียวกับคนนอกสแกนดิเนเวียที่มักตื่นตาตื่นใจกับภาพลักษณ์ประเทศร่ำรวยที่แสนสุข เป็นแม่แบบประชาธิปไตยรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ไปจนถึงคุกที่เพียบพร้อมยิ่งกว่าห้องเช่าของนักศึกษามหาวิทยาลัยโลกที่สาม
เพราะถึงตัวละครจะเขียนขึ้นจากบุคคลจริง และหลายเหตุการณ์บนเกาะก็แทบคัดลอกมาจากภาพจำวงกว้างในระดับที่ถูกบันทึกไว้ในหน้า Wikipedia (เสียงประกาศความเกลียดชังมาร์กซิสต์กับลิเบอรัล, การเล็งยิงจากบนหน้าผา หรือเหยื่อที่แกล้งตายแต่ถูกย้อนมาฆ่าภายหลัง) บางข้อเท็จจริงที่ไม่สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของหนังก็ย่อมถูกลดทอนหรือตัดทิ้งไปจากเรื่องเล่า
น่าครุ่นคิดว่าทำไมผู้ก่อการร้ายที่มีความเกลียดชังทางการเมืองเป็นแรงขับและมีความถือดีเป็นเจ้าเรือน จึงยอมไหลตามการสู้คดีช่วงแรกของทนายที่พยายามเลี่ยงคุกด้วยเหตุผลคลาสสิกอย่าง ‘วิกลจริต’? หนังย้ำให้เห็นความถือดีเมื่อเขากลับคำให้การเพื่อใช้ศาลเป็นเวทีเผยแพร่ความคิดบิดเบี้ยวสู่สาธารณะ แต่เราจะอ่านหรือตีความคนคนนี้อย่างไร ถ้าหนังเล่าข้อเท็จจริงว่าเขาโทรศัพท์หาตำรวจเพื่อมอบตัวถึงสองครั้งระหว่างกำลังไล่ฆ่าคน และเป้าหมายหลักที่อูเตอญาของเขาคืออดีตนายกหญิง Gro Harlem Brundtland ที่ไปให้โอวาทในแคมป์ แต่คลาดกันเพราะปัญหาจราจร? เช่นเดียวกัน รัฐบาลกับตำรวจที่ขยับตัวช้าไม่ทันการ ยังได้รับความเข้าอกเข้าใจเพราะต้องเจอเหตุร้ายแรงที่สุดในรอบเกือบร้อยปี แต่เราจะทำหน้าอย่างไรถ้าหนังเล่าข้อเท็จจริงที่ว่า หนึ่งในผู้รอดชีวิตชาวเชชเนียชื่อ Anzor Djoukaev ถูกตำรวจนอร์เวย์จับเปลื้องผ้า คุมตัวไว้ในห้องขังนานถึง 17 ชั่วโมงโดยไม่ติดต่อครอบครัว และสอบสวนโดยไม่มีทนายความ?
จริงอยู่ว่านอร์เวย์ยังไม่พลิกคว่ำตกราง สุนทรพจน์ของนายก Stoltenberg ที่ยืนยันหลักการยังได้รับเสียงสรรเสริญ และคือสิ่งที่ประเทศผู้ก่อสงครามต่อต้านการก่อการร้ายไม่สามารถจินตนาการได้ แต่ก็ใช่ว่าความบ้าคลั่งของ Breivik จะไม่สะเทือนหรือท้าทายเลย เพราะยังพบคนร้ายที่พยายามก่อเหตุลักษณะเดียวกันในสาธารณรัฐเช็คกับโปแลนด์แม้จะไม่สำเร็จ ภายใต้หลักการที่เสมอหน้าใช่ว่าจะไร้อารมณ์ชั่วแล่น และภายใต้นโยบายเปิดกว้างก็ใช่ว่าอคติทางชาติพันธุ์หรือสถานะทางสังคมจะไม่ทำงาน – Lara Rachid ตัวจริง เคยให้สัมภาษณ์ตั้งข้อสังเกตในประเด็นหลังสุดว่าหนังเลือกดำเนินเรื่องผ่านตัวละครชายผิวขาว 4 คน ทั้งที่เป้าหมายหนึ่งของการก่อการร้ายคือคนต่างเชื้อชาติศาสนา และ Breivik ก็เหมือนฝ่ายขวาฟาสซิสต์ทั่วไปคือเกลียดและเหยียดผู้หญิงอย่างเปิดเผย
สำหรับคนทำหนังและผู้เขียนหนังสือต้นฉบับ (One of Us: The Story of a Massacre in Norway — and Its Aftermath โดย Åsne Seierstad) ชีวิตพลิกผันและการฮึดสู้ของ Viljar Hanssen คงเหมาะสมกับสารในภาพยนตร์กับหนังสือและจับใจพวกเขาที่สุดโดยบริสุทธิ์ใจ แต่เมื่อสามตัวละครฝ่าย ‘เรา’ ที่หนังพูดถึงด้วยน้ำเสียงเชิดชูประกอบไปด้วยนายกรัฐมนตรี ทนายความ และลูกชายนายกเทศมนตรี ข้อกล่าวหาที่ Breivik สาดใส่พวกลิเบอรัลว่าเป็นเครือข่ายชนชั้นสูงสืบทอดอำนาจ จึงใช่ว่าจะไม่มีเค้ามูลความจริงเอาเสียเลย
เปลือกที่ห่อหุ้มฟาสซิสต์ผิวขาวคนหนึ่งถูกกะเทาะ แต่หนังกลับปูพรมทับรอยแตกเล็กๆ ของระบบที่แข็งแรงใกล้เคียงอุดมคติให้พ้นทัศนวิสัยของผู้ชม แน่นอนว่ามันเสียดเย้ย ท้าทาย ไม่เป็นไปตามครรลองความเชื่อ และนำไปสู่คำถามที่ยากจะตอบ แต่ถ้าไม่มีใครพยายามมองให้เห็นว่ารอยแตกนี้สะท้อนภาพความกลัวของโลกตะวันตกในปัจจุบันมากแค่ไหน ก็ย่อมหมดปัญญาที่จะอุดรูรั่วหรือซ่อมแซมแก้ไข
Fact Box
- 22 July เปิดตัวในสายประกวดหลักเทศกาลภาพยนตร์เวนิซ (Venice Film Festival) เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่พลาดรางวัลสูงสุดให้หนังขวัญใจนักวิจารณ์ประจำปีนี้อย่าง Roma ของ Alfonso Cuarón – ปัจจุบันสามารถรับชมอย่างถูกลิขสิทธิ์ได้ที่ Netflix
- ในช่วงปี 2012 มีละครเวทีในยุโรปอย่างน้อย 3 เรื่องที่ตั้งใจดัดแปลงหรือได้รับแรงบันดาลใจจากการโจมตีครั้งนี้
- Manifesto 2083 ละครเวทีสัญชาติเดนมาร์กของคณะละคร Café Teatret ที่ใช้แถลงการณ์อีเมล์ของ Breivik เป็นต้นเรื่อง ญาติของเหยื่ออูเตอญากับนักการเมืองในเดนมาร์กคัดค้านการแสดงเรื่องนี้อย่างหนัก เมื่อข่าวการแสดงทั้งในเดนมาร์กกับนอร์เวย์ถูกประชาสัมพันธ์ออกไป ก่อนที่คณะละครจะตัดสินใจเลื่อนแสดงแบบไม่มีกำหนด เมื่อ Breivik กลับคำให้การและปรากฏตัวในศาล โดยโปรดิวเซอร์ Christian Lollike ให้เหตุผลว่า ภาพการพิจารณาคดีที่ถ่ายทอดสดได้ทำหน้าที่แทนความตั้งใจของละครเรื่องนี้อย่างสมบูรณ์แล้ว
- Breivik Meets Wilders ละครเวทีสัญชาติเนเธอร์แลนด์ เขียนบทโดย Theodor Holman เปิดแสดงเมื่อเดือนมีนาคมที่โรงละคร De Balie กรุงอัมสเตอร์ดัม โดยสมมติสถานการณ์ให้ Breivik พบและพูดคุยกับ Geert Wilders นักการเมืองฝ่ายขวาชาวดัตช์ที่มีชื่อเสียงจากแนวคิดต่อต้านอิสลาม ที่สนามบินฮีทโธรว์ในกรุงลอนดอน
- The Martyrs หรือ Märtyrer ละครเวทีสัญชาตินอร์เวย์ เขียนบทโดย Marius von Mayenburg เปิดแสดงที่ Nationaltheatret ในกรุงออสโล โดยแตก Breivik ออกเป็นสองตัวละครที่สะท้อนสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของสังคมนอร์เวย์ เมื่อสังคมต้องยอมรับว่าเขามีสติสัมปชัญญะครบถ้วน หากต้องการให้เขาถูกกฎหมายลงโทษอย่างเต็มที่ แม้อีกด้านหนึ่งจะไม่ต้องการนับรวมเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนอร์เวย์ แต่ถ้าเขาถูกตีตราเป็นคนบ้าหรือวิกลจริต ก็จะรอดพ้นเงื้อมมือกฎหมายไป (ในฉากที่ Breivik กลับคำให้การใน 22 July พอจะมองเห็นประเด็นนี้เช่นกัน แต่น่าเสียดายที่หนังตั้งใจบันทึกความโกรธของครอบครัวเหยื่อมากกว่า)