จากเดิม สิงโตอินเดียก็เสี่ยงสูญพันธุ์อยู่แล้ว แต่จู่ๆ สิงโตมากถึง 21 ตัวก็ล้มตายภายในสามสัปดาห์

สิงโตทั้ง 21 ตัวนี้อยู่ในอุทยานแห่งชาติเกอร์ (Gir) รัฐคุชราต อินเดีย ซึ่งเป็นพื้นที่สุดท้ายในโลกที่มีสิงโตอินเดียหรือสิงโตเอเชีย (Asiatic lion) เหลืออยู่ประมาณ 500 ตัว

ในปี 2000 สิงโตอินเดียจัดอยู่ในสถานะสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์ แต่หลังจากที่มีความพยายามควบคุมและเฝ้าระวังสิงโตในอุทยานแห่งชาติเกอร์ จำนวนก็เพิ่มขึ้นจนปรับมาอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ตั้งแต่ปี 2008

แต่เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 61 อุทยานแห่งชาติเกอร์ประกาศว่า ภายในสามสัปดาห์ สิงโตอินเดียตายแล้ว 21 ตัว และมีอย่างน้อย 4 ตัวที่สามารถยืนยันได้ว่ามีไวรัสไข้หัดสุนัข (canine distemper virus) ขณะที่ 6 ตัวตายจากการติดเชื้อปรสิตที่มาจากเห็บ

การตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัขทำให้จะมีการตรวจสิงโต 11 ตัวที่ตายไปเมื่อเดือนที่แล้วเพิ่มเติมว่ามีไวรัสชนิดนี้หรือไม่

ไวรัสไข้หัดสุนัขซึ่งสามารถแพร่กระจายจากสุนัขในป่าไปยังสัตว์อื่นๆ ได้ เคยคร่าชีวิตสิงโต 1,000 ตัวในแทนซาเนียในช่วงทศวรรษ 1990

“ผู้เชี่ยวชาญกำลังตรวจสอบสาเหตุของการติดเชื้อไวรัส เพราะทั้ง 21 ตัว ตายบนทุ่งหญ้าสาระสิยา (Sarasiya) เรื่องนี้ค่อนข้างน่ากังวล” เจ้าหน้าที่ของอุทยานกล่าว

สิงโตอีก 31 ตัว จากพื้นที่เดียวกันกำลังอยู่ในช่วงเฝ้าระวัง แม้ว่ายังไม่มีสัญญาณใดๆ ที่บอกว่าพวกมันติดเชื้อ

คุชราตเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของสิงโตอินเดีย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีอยู่มากมายในอินเดียและตะวันออกกลาง จากการนับจำนวนเมื่อปี 2015 มีสิงโตอยู่ 523 ตัว ในพื้นที่ 22,000 ตารางกิโลเมตรของแปดเขต รวมทั้งอุทยานแห่งชาติเกอร์ด้วย

หน่วยอนุรักษ์ป่ารัฐคุชราตกล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญไปถึงที่ป่าเกอร์แล้ว และกำลังเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ตรวจร่างกายสิงโตและเก็บตัวอย่างเลือด รวมทั้งมีมาตรการเฝ้าระวังและป้องกัน ด้วยการนำเข้าวัคซีนมาจากสหรัฐอเมริกา

 

 

ที่มาภาพ: INDRANIL MUKHERJEE / AFP

ที่มา:

Tags: , , , ,