ถ้าปี 2018 ถือเป็นปีทอง เป็นปีแห่งความสำเร็จของเกาหลีใต้ เรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในปี 2019 อาจตรงกันข้าม…

ในความทรงจำของผู้อ่านหลายท่าน ปี 2018 เป็นปีแห่งความสามัคคีปรองดอง ร่วมพี่ร่วมน้องด้วยกันระหว่างสองเกาหลี นับตั้งแต่สัญญาณบวกในสุนทรพจน์ปีใหม่ของท่านประธานคิม จ็อง-อึน ยกระดับขึ้นเรื่อยมาจนถึงกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวแห่งสันติภาพ ปิดท้ายซีรีส์แห่งความดื่มด่ำกำซาบด้วยการพบปะของสองผู้นำในเดือนเมษายน ณ พันมุนจ็อม ความสำเร็จทั้งหมดทั้งปวงนี้ ทำให้ท่านประธานาธิบดีมุน แช-อินแห่งเกาหลีใต้ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนถึง 83% ในเดือนพฤษภาคม จากผลสำรวจของ Gallup Korea ซึ่งเป็นผลตอบรับที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้ร่วมสมัย สำหรับการทำงานปีแรกของประธานาธิบดี

แต่ช่วงเวลาแห่งความระรื่นชื่นใจนี้กลับอยู่กับท่านมุนได้ไม่นาน เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผลสำรวจ พบว่า คนเกาหลีเริ่มไม่ชอบใจท่านมากขึ้น จนคะแนนนิยมของท่านลดลงเหลือ 48.8% ซึ่งก็ถือว่าต่ำที่สุดตั้งแต่รับตำแหน่ง

บทความนี้จะชวนให้ท่านผู้อ่านเห็นสารพัดมรสุมที่รุมเร้ารัฐบาลท่านมุน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งผลสุดท้ายแล้วปัญหาเหล่านี้อาจเป็นเหตุสนับสนุนที่เพียงพอให้ฝ่ายอนุรักษนิยมกลับมาชิงบัลลังก์การเมืองเกาหลีใต้ก็เป็นได้

มรสุมเศรษฐกิจลิขิตชะตาชีวิตของรัฐบาล

หลังจากท่านมุนรับตำแหน่งประธานาธิบดี รัฐบาลได้ประกาศใช้แผนนโยบาย 5 ปี ในเดือนกรกฎาคมปี 2017 โดยกำหนดวิสัยทัศน์แห่งชาติว่า สาธารณรัฐเกาหลีจะต้องเป็น “ประเทศของประชาชน สาธารณรัฐที่มีความเป็นธรรม (A Nation of the People, A Just Republic of Korea)” ด้วย 5 เป้าหมาย 20 ยุทธศาสตร์ 100 นโยบาย

ในบรรดา 5 เป้าหมายหลักนี้ มี 3 เป้าหมายเน้นไปที่เรื่องเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดี มีแนวนโยบายสำคัญ เช่น การสร้างงานและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มรายได้ (Income-driven Growth) การปฏิรูปกลุ่มทุนใหญ่หรือแชบ็อล การสร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรมสำหรับแรงงานและชนชั้นกลาง การส่งเสริมธุรกิจสตาร์ตอัปและ SMEs การยกระดับสวัสดิการสำหรับทุกกลุ่ม การกระจายอำนาจและการพัฒนาที่เท่าเทียมในแต่ละภูมิภาค ฯลฯ

อย่างไรก็ดี รายงานของ The Korea Herald นำเสนอข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของเกาหลีใต้ว่า ในปีที่ผ่านมา อัตราว่างงานของคนเกาหลีอายุ 25-34 ปี ในเดือนกรกฎาคม (หรือ 1 ปีหลังจากท่านมุนประกาศนโยบายเศรษฐกิจ) อยู่ที่ 338,000 คน ซึ่งถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1999 หลังจากเกาหลีฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย

รายงานเดียวกันนี้ยังระบุถึงสาเหตุสำคัญของอัตราว่างงาน ประกอบด้วย

1) นโยบายเพิ่มรายได้ของท่านมุน นโยบายนี้ทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการสตาร์ตอัป SMEs ไม่มีเงินจ่ายค่าตอบแทนทั้งเต็มเวลาและล่วงเวลา ขณะเดียวกัน บริษัทขนาดใหญ่ที่มีจำนวนพนักงานเกิน 300 คน หลายแห่งได้ใช้อัตราค่าแรงเป็นข้ออ้างเพื่อลดจำนวนพนักงานและไม่จ้างเพิ่ม

2) สภาพแวดล้อมการทำงานในบริษัทเกาหลี บริษัทเกาหลีมีชั่วโมงการทำงานมาก (แม้จะลดจำนวนชั่วโมงการทำงานจาก 68 ชั่วโมงเหลือ 52 ชั่วโมงต่อหนึ่งสัปดาห์) เจ้านายชอบกดดัน และมีประเด็นเรื่องการปฏิบัติต่อพนักงานชั้นผู้น้อยอย่างไม่เป็นธรรมอยู่บ่อยครั้ง ทำให้คนเกาหลีในช่วงอายุดังกล่าวไม่มีแรงจูงใจเข้าทำงาน

3) การเพิ่มตำแหน่งงานในภาครัฐ การทำงานภาครัฐแม้จะมีความมั่นคง แต่ก็มีกระบวนการคัดเลือกที่เข้มข้น บางรายใช้เวลาเตรียมสอบนานถึง 5 ปี เพราะเห็นว่าเป็นทางเดียวที่จะทำให้มีงานประจำได้ แต่เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น โอกาสเข้าทำงานในภาคเอกชนก็น้อยลงตามไปด้วย หากสอบไม่ผ่าน ก็จะต้องตั้งหน้าตั้งตาสอบเรื่อยไปทุกปี

ที่มาภาพ: REUTERS/Kim Hong-Ji/Pool

หลังจากรายงานนี้เผยแพร่ออกไป รัฐบาลได้ออกคำสั่งให้ ดร. ฮวัง ซู-กย็อง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติในขณะนั้นพ้นจากตำแหน่ง หลังจากรับตำแหน่งได้เพียง 1 ปี (ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับการประกาศนโยบายเศรษฐกิจ) ดร. ฮวัง ยืนยันว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเธอเป็นไปตามหลักวิชาและมีความเป็นมืออาชีพ อย่างไรก็ดี นักการเมืองฝ่ายค้านวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งนี้ว่า รัฐบาลพยายามกลบเกลื่อนความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายของตัวเอง คนที่สมควรถูกตำหนิที่สุดไม่ใช่ผู้อำนวยการฯ แต่เป็นหัวหน้าทีมนโยบายเศรษฐกิจต่างหาก

นอกจากเรื่องลดอัตราว่างงานแล้ว การปฏิรูปแชบ็อลก็ถือเป็นวาระสำคัญในนโยบายเศรษฐกิจของท่านมุนที่ต้องการเห็นการกระจายรายได้และการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และสานต่อเจตนารมณ์ของพี่น้องมวลมหาโคริยาชนคนดีที่ร่วมการชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงเมื่อปี 2016-2017 เพื่อต่อต้านพฤติกรรมฉ้อฉลของนางสาวปัก คึน-ฮเย อดีตประธานาธิบดี ผู้เปิดโอกาสให้เพื่อนสนิทอ้างชื่อไปหาประโยชน์จากแชบ็อล

ท่านมุนได้ให้คำมั่นในช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่า หากได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี จะดำเนินมาตรการต่างๆ อาทิ ห้ามผู้ถือหุ้นหลักและเครือญาติใช้องค์กรหรือสถาบันในสังกัดแชบ็อลแสวงหาประโยชน์ส่วนตน เพิ่มบทลงโทษที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ติดตามกระบวนการทำธุรกรรมอย่างละเอียด แยกส่วนการผลิตกับส่วนการเงินออกจากกัน ออกกฎหมายพิเศษให้แชบ็อลต้องเสริมสร้างขีดความสามารถทางธุรกิจของ SMEs

อย่างไรก็ดี แนวร่วมสหภาพแรงงานแห่งเกาหลีใต้ (Korea Confederation of Trade Unions – KCTU) ประชาสังคมฝ่ายก้าวหน้า ซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งที่นำการชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงขับไล่อดีตประธานาธิบดี วิจารณ์ว่านโยบายปฏิรูปแชบ็อลของรัฐบาลท่านมุนนั้นดำเนินไปอย่างเชื่องช้า และท่านมุนก็ดูจะไม่จริงจัง แถมยังปรับท่าทีขึงขังมาเป็นมิตรกับแชบ็อลมากขึ้น

บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฝ่ายก้าวหน้าอย่าง The Hankyoreh ก็ตอกย้ำประเด็นนี้เช่นกัน โดยตั้งคำถามไปที่ความเหมาะสมของการที่ท่านมุนเชิญผู้บริหารแชบ็อลเข้าหารือ หรือตัวท่านเองไปเข้าร่วมกิจกรรมหาประโยชน์ทางธุรกิจของแชบ็อลเหล่านั้น ทั้งที่ผู้บริหารแชบ็อลบางคน เช่น อี แช-ยง (รองประธานกรรมการกลุ่มซัมซ็อง) ชิน ทง-บิน (ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มล็อตเต้) คือ นักโทษที่ถูกปล่อยตัว แต่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีติดสินบนคนสนิทอดีตประธานาธิบดี

ดูเหมือนว่า ปัญหาเศรษฐกิจจะไม่ได้ส่งผลแค่คะแนนนิยม ยังส่งผลสืบเนื่องถึงปฏิกิริยาของแนวร่วมที่ครั้งหนึ่งอาจมีแนวคิดเชิงนโยบายใกล้เคียงกับท่านมุนและคณะ ที่ตอนนี้ เริ่มหันมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมากขึ้น เช่นเดียวกับแรงต้านจากปัญหาสังคมที่สั่งสมมาก่อนหน้า ดังที่จะกล่าวต่อไป

มรสุมจากประเด็นร้อนทางสังคมที่สั่งสมมาก่อนหน้า

คุณูปการที่สำคัญของการชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงเมื่อปี 2016-2017 คือ การเปิดพรมให้สังคมได้ดึงเอาปัญหาที่สะสมอยู่ออกมาชำระสะสาง และขบวนการมีทู (#Metoo) ก็เป็นหนึ่งในนั้น

เกือบสองปีที่ผ่านมา ขบวนการมีทูได้แสดงแสนยานุภาพในสังคมเกาหลี โดยดึงผู้ชายที่มีหน้ามีตาในสังคมแต่มีประวัติไม่ค่อยน่าชื่นชมในเรื่องการวางตนต่อเพศหญิงออกมาเปิดโปง ตั้งแต่ระดับพนักงานออฟฟิศ อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้กำกับภาพยนตร์ นักแสดง นักกีฬา มหากวี เรื่อยไปจนถึงนักการเมืองว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อไป…

กรณีของนักการเมืองที่พูดกันมากที่สุดคือ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชุงช็องใต้ อัน ฮี-จ็อง ซึ่งคาดการณ์กันว่า จะเป็นได้ถึงประธานาธิบดีคนต่อไปของเกาหลีใต้ ถูกจับข้อหาล่วงละเมิดทางเพศเลขานุการตัวเอง กรณีนี้ศาลชั้นต้นตัดสินให้ปล่อยตัว เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานของฝ่ายหญิงนั้นไม่เพียงพอ ขณะที่อันยืนยันว่า การกระทำของตนเป็นความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย แม้อันเองจะมีครอบครัวแล้ว

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลสูงกรุงโซลพิพากษาจำคุกอันเป็นเวลา 3 ปีครึ่ง โดยชี้ว่า อันมีเพศสัมพันธ์โดยการใช้อำนาจมิชอบ (sexual intercourse by abuse of authority) เนื่องจากอันมีสถานะที่จะให้คุณให้โทษแก่ฝ่ายหญิงได้ แม้อันจะกล่าวว่าเป็นความยินยอมพร้อมใจของสองฝ่าย ก็ไม่อาจสรุปได้ว่า ฝ่ายหญิงยินยอมอย่างเต็มใจ

ที่มาภาพ: REUTERS/Kim Hong-Ji

เมื่อปีที่แล้ว หลังจากอัน ฮี-จ็อง กลายเป็นข่าวดังในสังคมเกาหลีได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ ท่านมุนได้ประกาศสนับสนุนขบวนการมีทูและการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศของผู้หญิงเกาหลี การประกาศจุดยืนครั้งนี้ทำให้ท่านมุนได้รับคะแนนนิยมที่เพิ่มสูงขึ้นในหมู่ผู้สนับสนุนขบวนการมีทู ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง

อย่างไรก็ดี รายงานของ John Power ชี้ให้เห็นว่า การที่ท่านมุนประกาศสนับสนุนขบวนการมีทูทำให้คะแนนนิยมในหมู่ผู้ชายช่วงอายุ 20-30 ปี ลดลง อยู่ที่ 29.4% เมื่อเทียบกับความนิยมในหมู่ผู้หญิงช่วงอายุเดียวกันที่สูงถึง 64.5% ซึ่งถือว่าแตกต่างกันอย่างมาก ดูเหมือนว่า ปัจจัยนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คะแนนนิยมของท่านมุนลดลง รองลงมาจากปัญหาว่างงานและเศรษฐกิจถดถอย

นอกจากประเด็นมีทูแล้ว ในสังคมเกาหลียังมีคำศัพท์ใหม่ที่วัยรุ่นเรียกประเทศของพวกเขาว่าเป็น “นรกโชซ็อน (Hell Joseon)” ซึ่งสื่อความหมายเชิงบริภาษว่า การเกิดมาเป็นคนประเทศนี้เหมือนเข้าใกล้ประตูนรกไปทุกขณะ เพราะประเทศนี้มีกฎระเบียบที่วุ่นวายกับชีวิตประชาชนไปเสียหมด แล้วก็ต้องเข้าไปในระบบการศึกษา ระบบทหารที่ผู้มีตำแหน่งสูงกว่าคอยแต่จะใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงตลอดเวลา พอโตมาก็ต้องเข้าไปทำงานรับใช้แชบ็อล เป็นข้าทาสทุนนิยมไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อเป็นอย่างนี้ ทางรอดมีทางเดียวก็คือต้อง หลบลี้หนีภัยออกไปจากนรกโชซ็อนนี้เสีย

คำว่านรกโชซ็อนนี้ได้กลายเป็นเครื่องมือให้สื่อฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างหนังสือพิมพ์ชุงอังรายวัน ซึ่งเคยเป็นสื่อที่วิพากษ์รัฐบาลอดีตประธานาธิบดีอย่างแข็งขันในช่วงการชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงได้หันกลับมาตั้งคำถามกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลท่านมุน ผู้เขียนบทความยกตัวอย่างคำพูดของท่านมุนและคณะที่โจมตีรัฐบาลก่อนว่า เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศเกาหลีกลายเป็นนรกโชซ็อน เป็นประเทศที่ไม่น่าอยู่ ดังนั้น รัฐบาล(ที่แล้ว) ก็ควรมีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อสร้างความเท่าเทียม และความรู้สึกเชิงบวกให้คนหนุ่มสาวของเราสิ ผู้เขียนสรุปทิ้งท้ายบทความอย่างเจ็บแสบว่า ข้อความเหล่านี้ยังคงใช้ได้อยู่ในปัจจุบัน ในรัฐบาลของคนพูดเอง

เหยื่อรายล่าสุด ศาสตราจารย์ ดร. คิม ฮย็อน-ช็อล ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของประธานาธิบดี และประธานคณะกรรมการระดับชาติเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy) ได้แสดงปาฐกถาโดยระบุใจความว่า ต้องการให้คนเกาหลีออกไปแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งจะเป็นทางออกที่ช่วยคลี่คลายความคิดเรื่องนรกโชซ็อนได้ พอพูดเสร็จ สื่อต่างๆ ลงข่าว เกิดเป็นกระแสต้านอาจารย์คิมขึ้นมา ท่านจึงตัดสินใจลาออกทันที (หรือจริงๆ แล้วท่านตั้งใจจะสละเรือแป๊ะก่อนจะถูกด่าถูกคุ้ยมากกว่านี้ก็ไม่รู้นะครับ)

การใช้ประเด็นทางสังคมเป็นเครื่องมือโจมตีรัฐบาลนี้ ทำให้ท่านมุนสูญเสียกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจที่กำลังเป็นปัญหา ทำให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลลดน้อยถอยลงไป และทำให้ฐานอำนาจของท่านเริ่มสั่นคลอน

มรสุมการเมืองค่อยๆ สั่นคลอนฐานอำนาจประธานาธิบดี

นอกจากคำมั่นสัญญาเรื่องเพิ่มอัตราจ้างงาน ปฏิรูปแชบ็อล สร้างความเท่าเทียมทางเพศแล้ว อีกปฏิบัติการทางการเมืองหนึ่งที่สำคัญมากของท่านมุนคือ การกวาดล้างอธรรม (Liquidation of deep-rooted evils) ภาษาเกาหลีใช้คำว่า ช็อกพเย ช็องซัน (적폐 청산)

ฐานคิดของปฏิบัติการนี้มาจาก 2 ส่วนครับ ส่วนแรก เป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงที่ต่อต้านการประพฤติมิชอบของอดีตประธานาธิบดีและพวกพ้อง ส่วนที่สอง อาจกล่าวได้ว่า เป็นการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองโดยอ้างการทุจริตและประพฤติมิชอบ

ที่มาภาพ: REUTERS/Kim Hong-Ji

ตัวอย่างมีหลายกรณีด้วยกัน แต่ที่สำคัญคือ กรณีของอดีตประธานาธิบดี นางสาวปัก คึน-ฮเย ที่ถูกฝากขังในเรือนจำห้อง 503 ตั้งแต่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ซึ่งกลุ่มผู้นิยมชมชอบนางสาวปักหรือที่เรียกว่า ปักซาโม ระบุว่า เป็นการฝากขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ว่าง่ายๆ คือ นางสาวปักโดนขังฟรีอยู่ประมาณหนึ่งปี กว่าจะมีการพิจารณาโทษอย่างเป็นทางการ

อีกกรณีคือ อดีตประธานาธิบดีอี มย็อง-บัก ที่ถูกพิพากษาจำคุกด้วยข้อหาใช้อำนาจมิชอบและรับสินบน โดยย้อนไปอ้างถึงการกระทำที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน แรงจูงใจในการเริ่มกระบวนการดำเนินคดีอาจมาจากข้อสันนิษฐานที่ว่า อี มย็อง-บัก มีส่วนสำคัญที่ทำให้อดีตประธานาธิบดีโน มู-ฮย็อน รุ่นพี่ผู้เป็นที่เคารพรักยิ่งของท่านมุนถูกกล่าวหา จนต้องกระโดดหน้าผาในที่สุด

แล้ววันหนึ่งถ้าท่านมุนหมดอำนาจลง ท่านมุนจะโดน “เช็กบิล” แบบสองคนก่อนหน้าท่านหรือไม่?

คำตอบคือ เป็นไปได้มาก!

ปฏิบัติการนี้เริ่มหันมาทิ่มแทงคนใกล้ตัวท่านมุนมากขึ้น ล่าสุด คิม คย็อง-ซู ผู้ว่าราชการจังหวัดคย็องซังใต้ คนสนิทอีกคนของท่านมุน ที่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าอาจเป็นผู้สมัครประธานาธิบดีคนต่อไป ถูกพิพากษาจำคุกด้วยข้อหา “นำเข้าข้อมูลเท็จ” ตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ และแทรกแซงการเลือกตั้ง เนื่องจากคิมถูกกล่าวหาว่า ร่วมกับบล็อกเกอร์การเมืองคนหนึ่งใช้โปรแกรมเพิ่มยอดไลก์อัตโนมัติให้หลายโพสต์ออนไลน์ที่สนับสนุนท่านมุนในช่วงเลือกตั้ง คิมปฏิเสธและยืนยันต่อสู้จนถึงที่สุด เขากล่าวว่า บล็อกเกอร์คนนั้นเบิกความเท็จและไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน

อีกกรณียิ่งเข้าใกล้ท่านมุนมากขึ้นไปอีก…

เมื่อเดือนธันวาคม 2018 ทีมงานทำเนียบประธานาธิบดีถูกกล่าวหาว่า แทรกแซงการแต่งตั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเอกชน Korea Tobacco & Ginseng (KT&G) โดยผู้กล่าวหาระบุว่า ทีมงานของทำเนียบได้กดดันผู้แทนของธนาคารเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ (Industrial Bank of Korea: IBK) ให้ลงมติคัดค้านการดำรงตำแหน่งของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KT&G ต่อเป็นวาระที่สองในที่ประชุมคณะกรรมการสรรหา

ก่อนหน้านี้ รัฐสภาเคยเรียกหัวหน้าสำนักประธานาธิบดีและเลขาธิการอาวุโสด้านกิจการพลเรือนเข้าชี้แจงกรณีที่เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจสอบพิเศษภายใต้สำนักประธานาธิบดี มีพฤติกรรมสอดแนมการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนพลเมือง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาดำเนินคดีต่อทีมงานอดีตประธานาธิบดี

นอกจากปัญหารายวันจากการทำงานในระบบแล้ว ขบวนการอนุรักษนิยมแทกึกกี ที่พัฒนามาจากปักซาโมและใช้ธงชาติเกาหลีเป็นสัญลักษณ์ เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวบนท้องถนนอีกกลุ่มหนึ่งที่แสดงตัวต่อต้านท่านมุนอย่างชัดเจนโดยกล่าวหาว่าท่านเป็นพวกคอมมิวนิสต์ นิยมเกาหลีเหนือ

ขบวนการนี้เริ่มเคลื่อนไหวถี่ขึ้น และมีแนวร่วมเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาและปริญญาตรีเพิ่มขึ้น ซึ่งกลุ่มเด็กและเยาวชนถือเป็นฐานการเคลื่อนไหวสำคัญในการชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงเมื่อปี 2016-2017 ทั้งนี้ ต้องติดตามต่อไปว่า ขบวนการแทกึกกีจะสามารถระดมมวลมหาโคริยาชนคนดีแล้วล้มรัฐบาลได้สำเร็จอย่างคราวชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงหรือไม่?

ฐานที่มั่นสุดท้ายคือนโยบายต่างประเทศ

ในเมื่อนโยบายเศรษฐกิจก็ทำท่าจะไม่สำเร็จ ขบวนการมีทูและการกวาดล้างอธรรมก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น และอาจมีคนที่เป็นเครือข่ายของท่านมุนถูกเล่นงานมากขึ้น ก็เหลือฐานที่มั่นสุดท้ายที่ต้องทำให้สำเร็จ นั่นคือ นโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเกาหลีเหนือและอาเซียน

ความสำเร็จในการจัดประชุมสุดยอดกับเกาหลีเหนือในปีที่ผ่านมาเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลนี้ที่ทำให้รัฐบาลท่านมุนพิเศษกว่ารัฐบาลก่อนๆ จนตั้งความหวังกันไปถึงขั้นว่าจะลงนามสนธิสัญญาสันติภาพ (Peace Treaty) ระหว่างสองเกาหลี

สนธิสัญญาสันติภาพนี้มีข้อดีคือ หากลงนามได้จริง รัฐบาลสามารถใช้สนธิสัญญานี้เป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จที่ทดแทนปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้าได้ทั้งหมด และท่านมุนก็จะกลายเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์โลก (แต่ยังไม่ต้องคิดไปถึงเรื่องรวมชาตินะครับ มีข้อจำกัดเยอะมาก)

ที่มาภาพ: NICHOLAS KAMM / AFP

แต่จะลงนามสนธิสัญญาตอนนี้และต่อจากนี้คงไม่ง่ายเสียแล้ว เพราะสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์เปลี่ยนไป และมีแต่เงื่อนไขที่เป็นข้อจำกัด ทั้งความพลิ้วไหวในวิเทโศบายของเกาหลีเหนือ ความเอาใจยากของทรัมป์ ความเข้มแข็งของจีน ปัญหาจุกจิกกวนใจกับญี่ปุ่นที่เข้มข้นมากขึ้น และข้อจำกัดของปัญหาเศรษฐกิจเกาหลีใต้ที่อาจทำให้ประชาชนเกาหลีใต้ไม่สนับสนุนยุทธศาสตร์พัวพัน (engagement) ของท่านมุน ที่เน้นช่วยเหลือเกาหลีเหนือในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการให้เงินทุน อีกต่อไป พวกเขาอาจรู้สึกว่า เศรษฐกิจไม่ดี เงินก็ไม่มี ยังจะเอาเงินไปให้พวกเกาหลีเหนือ โดยไม่รู้ว่าจะได้อะไรตอบแทนกลับมาอีก ซึ่งยุทธศาสตร์พัวพันโดยไม่ดูตาม้าตาเรือนี้เอง เคยทำให้ประชาชนเกาหลีหันกลับไปใช้บริการฝ่ายอนุรักษนิยมในการเลือกตั้งเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว

เพราะฉะนั้นนโยบายที่ทำแล้วปลอดภัยสบายใจที่สุดก็คือ นโยบายมุ่งใต้ใหม่ที่เน้นขยายความสัมพันธ์กับอาเซียน เพราะมีแต่ประโยชน์ ด้านเศรษฐกิจ ก็จะได้คู่ค้าและแหล่งลงทุนที่เป็นมิตรและยั่งยืนมากกว่าจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ด้านสังคมวัฒนธรรมก็จะได้คนอาเซียนมาช่วยขายและขยายอิทธิพลวัฒนธรรมเกาหลีผ่าน K-Pop ด้านการเมือง-ความมั่นคง ก็ได้พันธมิตรใหม่ช่วยเจรจากับเกาหลีเหนือ แต่ว่าหัวขบวนคนทำเขาเพิ่งลาออกไปจากกรณีนรกโชซ็อนไง แล้วอย่างนี้ ท่านมุนจะทำได้ไหม…ทำได้หรือเปล่า?

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของกระแสลมการเมืองเกาหลีใต้ที่กำลังเปลี่ยนทิศครับ ประธานาธิบดีเกาหลีนี่น่าเห็นใจมากนะครับ มีวาระการทำงาน 5 ปี แต่มีเวลาขับเคลื่อนทุกสิ่งทุกอย่างแค่ปีเดียว…

ที่เป็นอย่างนี้ ด้านหนึ่งก็เพราะเกาหลีเป็นประชาธิปไตย 99.99% ที่ผู้นำประเทศต้องฟังเสียง ฟังความต้องการของประชาชน ส่วนอีกด้านหนึ่งก็เพราะการเมืองเกาหลีนั้นขับเคลื่อนด้วยการต่อสู้ของสองขั้วการเมืองระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายก้าวหน้า “สองโคริยาประชาธิปไตย” คือ เคารพกติกาพื้นฐานของประชาธิปไตยนะ แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพลี่ยงพล้ำ อีกฝ่ายก็จะรุมซ้ำแบบไปต่อไม่รอแล้วนะ

ส่วนลมการเมืองคราวนี้จะพัดไปทางขวาแบบเด็ดขาดหรือไม่นั้น ผลการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาทั่วไปในปี 2020 จะเป็นตัวชี้วัดที่ดีที่สุดครับ!

Tags: , , ,