แม้โลกออนไลน์จะคึกคักจนทำให้เรานึกถึงหนังสือเล่มกันน้อยลง แต่ตลาดหนังสือเล่มก็ดูจะไม่เหงาหงอย ตรงกันข้าม หลายๆ คนคงรู้สึกได้ว่าปี 2017-2018 มีสำนักพิมพ์หน้าใหม่ผุดขึ้นมาสร้างทางเลือกให้กับนักอ่านมากมาย และการทำความรู้จักหนังสือสักเล่มอาจเกิดขึ้นผ่านจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนก็เป็นได้
ปี 2019 เป็นอีกปีที่น่าตื่นเต้น รายชื่อหนังสือแปลที่บรรดาเพื่อนๆ สำนักพิมพ์ออกมาเปิดเผยว่าจะตีพิมพ์ในปีนี้ ล้วนแต่น่าจดเข้ารายการเตรียมอ่านทั้งนั้น
เราขอแบ่งออกมาเป็นลิสต์สำหรับคอวรรณกรรม สายวิทย์อ่านสนุก และกลุ่มคนที่อ่านเพื่อมีความหวังกับชีวิตและสังคมที่ดีกว่าปีก่อนๆ
คอวรรณกรรมต้องจดไว้
The Paper Menagerie and Other Stories
ผู้เขียน: Ken Liu
สำนักพิมพ์: SALT
หนังสือรวมเรื่องสั้นคอไซไฟ-แฟนตาซี เล่มนี้เราขอปักหมุดไว้เป็นรายการแรกๆ เพราะตื่นเต้นกับผลงานฟิกชันแรกๆ ที่สำนักพิมพ์ Salt เลือกสรรมาตีพิมพ์ หลังจากที่ Salt ได้ปล่อยหนังสือคุณภาพในสายความรู้ เปิดโลกนวัตกรรม เศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์มาสักพักแล้ว
The Paper Menagerie and Other Stories ผลงานรวมเรื่องสั้นของเคน หลิว (Ken Liu) นักเขียนอเมริกันเชื้อสายจีน ซึ่งมีผลงานเรื่องสั้นได้รับรางวัลมาแล้วหลายเรื่อง และยังเป็นนักแปลเรื่องไซไฟและวรรณกรรมจากภาษาจีนสู่ภาษาอังกฤษ
ในเล่มนี้ หลิวได้รวมเอาเรื่องสั้น 15 เรื่องของเขาที่ได้รับรางวัลหรือเข้ารอบสุดท้ายมาอยู่ในเล่มเดียว เช่น รางวัลฮิวโก รางวัลเนบิวลา ฯลฯ โดยเฉพาะเรื่อง ‘The Paper Menagerie’ ที่ได้รางวัลมาหลายเวที
ทั้ง 15 เรื่องหลากหลายครอบคลุมขอบข่ายของงานไซไฟไปจนถึงแฟนตาซี นักวิจารณ์บางคนบอกว่า การอ่านเรื่องสั้นเหล่านี้ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังอ่านปกรณัมของชาวเอเชีย ตำนาน หรือนิทานปรัมปรา
สำหรับประวัติของผู้เขียน หลิวย้ายจากเมืองหลานโจว ประเทศจีน ไปอยู่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ 11 ขวบ เรียนจบอักษรศาสตร์บัณฑิต เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด และทำงานในสายงานเทคโนโลยีอยู่หลายปี ก่อนจะเรียนจบด้านกฎหมายที่ฮาร์เวิร์ดอีกใบ แล้วเปลี่ยนสายไปทำอาชีพด้านกฎหมายภาษี ก่อนขยับมาทำอาชีพที่ปรึกษาคดีความที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี
Ethan Frome
ผู้เขียน: อีดิธ วอร์ตัน
ผู้แปล: โรเบอต้า เอนกาล๊อก
สำนักพิมพ์: ไลบรารี่ เฮ้าส์
ผู้ออกแบบปกและรูปเล่ม: Wonderwhale
หนึ่งในผลงานซีรีส์วรรณกรรมแปลจากศตวรรษที่ 19 ของสำนักพิมพ์ไลบรารี่ อีธาน โฟรม วรรณกรรมอเมริกันเล่มนี้เป็นเรื่องราวความโศกเศร้า อารมณ์ความรู้สึกที่ต้องห้าม แรงปรารถนาทางเพศที่ต้องกักเก็บ เปิดฉากบรรยากาศเย็นยะเยือกของฤดูหนาวในนิวอิงแลนด์
อีธาน โฟรม ทำงานในฟาร์มและใช้ชีวิตคู่อย่างทนทุกข์กับซีน่า ภรรยาที่จิตใจไม่ค่อยปกติของเขา แต่แล้วก็ดันไปเกิดความรู้สึกสวาทกับเด็กสาวผู้เป็นญาติของหล่อน ซึ่งเข้ามาอาศัยในบ้านในฐานะหญิงรับใช้ ก่อให้เกิดเป็นสามเหลี่ยมความสัมพันธ์ที่ท้าทายค่านิยมและสังคมอันบีบคั้น
เนื่องจากหนังสือเล่มนี้มีน้ำเสียงและประเด็นที่ค่อนข้างแตกต่างจากเล่มอื่นๆ ของวอร์ตัน อาจเรียกได้ว่าเป็นเล่มที่ได้รับความนิยมมาเนิ่นนานและอ่านกันอย่างแพร่หลายที่สุด
คาดว่า 10 มกราคมนี้ หนังสือเล่มนี้จะออกจากโรงพิมพ์
The Portrait of a Lady
ผู้เขียน : Henry James
ผู้แปล : นพมาส แววหงส์
สำนักพิมพ์ : มติชน
วรรณกรรมที่ตีพิมพ์ครั้งแรกมาตั้งแต่ปี 1881 ของเฮนรี่ เจมส์ ที่เข้าไปสำรวจความคิดจิตใจผู้คน เช่นเดียวกับนิยายหลายเรื่องของเขา เรื่องนี้มีบรรยากาศอยู่ในฉากทวีปยุโรป ส่วนใหญ่อยู่ในอังกฤษและอิตาลี และยังเป็นผลงานที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นงานชิ้นเอกของเจมส์ในช่วงแรกของชีวิตการเป็นนักเขียน ซึ่งยังสะท้อนให้เห็นความสนใจของเจมส์ที่มีต่อความแตกต่างระหว่างโลกเก่าและโลกใหม่ เล่นกับประเด็นเสรีภาพส่วนบุคคล ความรับผิดชอบ และการทรยศ
Beginners
ผู้เขียน : Raymond Carver
สำนักพิมพ์ : บทจร
หนังสือรวมเรื่องสั้นของเรมอนด์ คาร์เวอร์ นักเขียนเรื่องสั้นชาวอเมริกัน ที่ว่ากันว่ามีอิทธิพลที่สุดต่อจากเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ผลงานของเขายังได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นโดยฮารุกิ มุราคามิ ที่ผลงานบางเล่มของมุราคามิเองได้สะท้อนให้เห็นว่าเขาชื่นชอบรูปแบบการประพันธ์ของนักเขียนคนนี้
สำหรับเรื่อง Beginners รวมเรื่องสั้นชุดนี้ ที่จริงแล้วคือเรื่องสั้นเวอร์ชันต้นฉบับของรวมเรื่องสั้น What We Talk About When We Talk About Love ที่ตีพิมพ์เมื่อ 1981 และประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่นำมาพิมพ์ใหม่แบบในแบบที่ความยาวมากกว่าหนังสือเล่มเดิมถึง 50% เปิดเผยเนื้อหาที่หายไปในฉบับก่อนหน้า เผยให้เห็นความงามทางวรรณศิลป์ของคาร์เวอร์ และยังทำให้ผู้อ่านได้เห็นว่าในขั้นตอนอีดิตหนังสือหนึ่งเล่มนั้น บรรณาธิการได้เข้าไปตัดแต่งตัดต่อเนื้อหามากมายขนาดไหน (ทั้งเรียงย่อหน้าใหม่ เปลี่ยนชื่อเรื่อง ชื่อตัวละคร และเปลี่ยนตอนจบ!) เมื่อเทียบกับต้นฉบับดั้งเดิม
A Tale of Love and Darkness
ผู้เขียน : Amos Oz
สำนักพิมพ์ : บทจร
หนังสือเล่มนี้ไม่ถึงกับเป็นเรื่องสั้นหรือนวนิยาย แต่เพราะ Amos Oz ผู้เขียน เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อวันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม 2561 ด้วยโรคมะเร็ง เมื่ออายุ 79 ปี เราจึงอยากแนะนำให้ได้รู้จัก
เขาเป็นนักเขียนชาวอิสราเอลที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากผลงานนวนิยาย ความเรียง และบันทึกความทรงจำ ซึ่งมีฉากอยู่ในห้วงเวลาครึ่งศตวรษของชีวิตเขาในประเทศอิสราเอล นับตั้งแต่วัยเยาว์ในเยรูซาเลม ไปจนถึงช่วงการเปลี่ยนผ่านปฏิรูปประเทศสู่ความทันสมัย
Tale of Love and Darkness เป็นบันทึกความทรงจำช่วงวัยเยาว์ของออซ ระหว่างที่อังกฤษยังควบคุมอิสราเอลอยู่ บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ครอบครัวที่ลุงของพ่อเขาเป็นคนค้นคว้า ตีพิมพ์ครั้งแรกในภาษาฮีบรูเมื่อปี 2002 เป็นหนังสือแปลภาษาอังกฤษที่ยอดขายถล่มทลาย และแปลไปแล้ว 28 ภาษา
หนังสือสายวิทย์อ่านสนุก
Little Histories of Science
ผู้เขียน: William F. Bynum
ผู้แปล: ลลิตา ผลผลา
สำนักพิมพ์ : Bookscape
เป็นอีกหนึ่งในหนังสือแปลชุด Little Histories ของสำนักพิมพ์บุ๊คสเคปที่ออกมาแล้วสองเล่ม อย่างประวัติศาสตร์ปรัชญาและประวัติศาสตร์วรรณกรรม คราวนี้เปลี่ยนโหมดมาที่วิทยาศาสตรที่จะพาเราไปดูประวัติศาสตร์ของการค้นพบ การต่อสู้คัดง้างความเชื่อเดิมด้วยข้อเท็จจริงใหม่ พาไปส่องกล้องในแวดวงดาราศาสตร์ ท่องไปบนตารางธาตุ มุดลงใต้พื้นผิวโลก และพร้อมเปิดสู่สิ่งที่เรายังไม่รู้และต้องค้นหากันต่อไป กระตุ้นเร้าให้เราเห็นความน่าตื่นเต้นของการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่สุดแสนจะคาดเดาไม่ได้
The Sports Gene: Inside the Science of Extraordinary Athletic Performance
ผู้เขียน: David Epstein
สำนักพิมพ์ : Salt
เวลาที่เราบอกว่าตัวเองเล่นกีฬาไม่เก่ง มันเป็นเพราะเราไม่ได้ฝึก ไม่ชอบเล่น หรือเพราะร่างกายเราไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นนักกีฬา หนังสือเล่มนี้มากับคำถามที่ว่า นักกีฬาชื่อดังอย่าง ยูเซน โบลต์ ไมเคิล เฟลป์ส หรือเซเรน่า วิลเลียมส์ เกิดมาบนโลกพร้อมยีนพิเศษที่ทำให้โดดเด่นในกีฬาชนิดนั้น หรือก็เพียงคนธรรมดาที่เอาชนะข้อจำกัดทางชีวภาพของตัวเองด้วยการฝึกหนัก
ผู้เขียนพาไปสำรวจหาคำตอบ ทั้งด้วยการไปเยือนพื้นที่ต่างๆ ในโลก สนทนากับนักวิทยาศาสตร์และนักกีฬาที่ชนะในเกมโอลิมปิก เพื่อให้เราได้คิดใหม่เกี่ยวกับธรรมชาติของความเป็นนักกีฬา
The Hidden Reality: Parallel Universes and the Deep Laws of the Cosmos
ผู้เขียน : Brian Greene
ผู้แปล : อรรถกฤต ฉัตรภูติ, ปริญญา การดำริห์ และ ภาวิน อิทธิสมัย
สำนักพิมพ์: มติชน
หนังสืออีกเล่มหนึ่งของไบรอัน กรีน ผู้เขียน The Fabric of the Cosmos หนังสือขายดีออกมาก่อนหน้านี้ เขาเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีและอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่มักบรรยายเรื่องทฤษฎีสตริง
สำหรับเล่มนี้มาพร้อมกับคำถามอันยิ่งใหญ่ที่ว่า “เอกภพของเรานี้มีเพียงหนึ่งเดียวหรือไม่” ขัดกับความคิดความเชื่อดั้งเดิมที่คำว่า ‘เอกภาพ’ นี้ครอบคลุมทุกสรรพสิ่งที่มีอยู่ แต่การค้นพบต่างๆ ทางฟิสิกส์และจักรวาลวิทยา ทำให้นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งสรุปว่าเอกภพของเราอาจเป็นเพียงหนึ่งในเอกภพอีกมากมาย
แต่ไม่ได้หยุดแค่นั้น ไบรอัน กรีน อธิบายให้เห็นแนวคิดที่แตกต่างกันเกี่ยวกับพหุภพ (multiverse) ที่ว่านี้ แนวคิดหนึ่งอาจมีพหุภพที่มีตัวคุณอีกคนอยู่ในที่ต่างๆ นับไม่ถ้วน และแต่ละคนก็กำลังอ่านประโยคนี้พร้อมกันในเอกภพอื่นอันห่างไกล หรืออาจเป็นพหุภพรูปแบบมหาสมุทรที่ประกอบด้วยฟองของเอกภพต่างๆ มารวมกัน ความคิดเหล่านี้อาจเปิดจินตนาการของเรา และนำไปสู่มุมมองทางวิทยาศาสตร์รากฐานในอีกรูปแบบ
เพื่อปี 2019 ที่สุขกว่า
The Happiness Hypothesis: Finding Modern Truth in Ancient Wisdom
ผู้เขียน : Jonathan Haidt
ผู้แปล : โตมร ศุขปรีชา
สำนักพิมพ์ : Salt
การตามหาชีวิตที่เป็นสุขมีมาทุกยุคทุกสมัย แต่ในยุคที่ความเศร้าหรือไร้สุขนั้นครอบงำสังคม เหมือนเป็นบรรยากาศมวลรวม หนังสือเล่มนี้ของนักจิตวิทยา โจนาธาน เฮดต์ อาจอยู่เป็นเพื่อนคุณได้ เพราะเขาพาย้อนไปสำรวจปรัชญาญาณว่าด้วยความสุขผ่านสายตาของจิตวิทยา ทบทวนคำขวัญประจำใจแสนคลาสสิก (และบางคนอาจมองว่าเฝือ) ว่าส่งผลต่อวิธีคิดและเปลี่ยนแปลงชีวิตคนเราได้อย่างไร
เขายังอธิบายว่าเหตุใดการทำสมาธิ การบำบัดจิต และยาโพรแซค ต่างก็เป็นวิธีการที่สมเหตุสมผลในการรักษาความเครียดและซึมเศร้า เข้าไปตั้งคำถามกับศาสนาในฐานะหนทางแก้ปัญหาเชิงวัฒนธรรม เหตุใดคนรักถึงทำตัวเหมือนเด็กเมื่ออยู่ด้วยกัน ทำไมการนินทาถึงเป็นกุญแจสำคัญของวัฒนธรรมมนุษย์ และทำไมนักข่าวถึงได้หดหู่ซึมเซา
การเข้าใจตัวเองในฐานะสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง อาจทำให้เราได้คิดทบทวนความหมายของความสุข (และความไม่มีสุข) ในอีกแง่มุม
Happy City: Transforming Our Lives through Urban Design
ผู้เขียน : Charles Montgomery
ผู้แปล : พินดา พิสิฐบุตร
สำนักพิมพ์: Passion Fruit
ลืมเรื่องทางเท้ากระโดกกระเดก หรือสวนสาธารณะต้นไม้หรอมแหรมแถวบ้านไปก่อน แล้วตามชาร์ลส์ มอนต์โกเมรี ไปดูว่าเมืองที่(ออกแบบมา)ดี ส่งผลต่อความรู้สึก ความคิด และการกระทำของปัจเจกบุคคลและสังคมอย่างไร
เขารวบรวมข้อมูลมาจากทั้งการศึกษาด้านจิตวิทยา ประสาทวิทยาศาสตร์ และการออกแบบผังเมือง รวมทั้งการทดลองของเขาเอง เปิดสายตาให้เราได้มองปัญหาที่เมืองต่างๆ ในโลกกำลังเผชิญ และหนทางแก้ปัญหาอันชาญฉลาด
มอนต์โกเมรีบอกว่า เมืองที่มีความสุข เมืองสีเขียว และเมืองคาร์บอนต่ำ นั้นต่างมีความหมายเหมือนกัน และเราสามารถสร้างมันได้
“ท้องถนนในเมือง หัวใจ และระบบการขนส่ง เป็นเหมือนโครงสร้างสาธารณูปโภคของความรู้สึก ซึ่งทั้งสามารถ ‘สร้าง’ หรือ ‘ทำลาย’ สุขภาพและความสุขของพลเมืองได้” มอนต์โกเมรีกล่าวถึงหนังสือเล่มนี้
Happy City: Transforming Our Lives Through Urban Design ตีพิมพ์เมื่อปี 2013 เป็นหนังสือสารคดีที่ได้เข้ารอบสุดท้ายรางวัล Shaughnessy Bishop-Cohen ในงานเขียนสายการเมือง และรางวัลชนะเลิศ Robert Bruss Real Estate Book Awards
Tags: Brian Greene, บทจร, Henry James, The Happiness Hypothesis: Finding Modern Truth in Ancient Wisdom, ไลบรารี่ เฮาส์, สำนักพิมพ์ Salt, Jonathan Haidt, พินดา พิสิฐบุตร, A Tale of Love and Darkness, Happy City: Transforming Our Lives through Urban Design, Raymond Carver, Amos Oz, Charles Montgomery, bookscape, Little Histories of Science, The Paper Menagerie and Other Stories, William F. Bynum, Ken Liu, ลลิตา ผลผลา, Ethan Frome, The Sports Gene: Inside the Science of Extraordinary Athletic Performance, โตมร ศุขปรีชา, อีดิธ วอร์ตัน, David Epstein, Beginners, เคน หลิว, The Hidden Reality: Parallel Universes and the Deep Laws of the Cosmos, มติชน, The Portrait of a Lady