“พวกรับเงินต่างชาติ!”
ประโยคยอดฮิตสำหรับโจมตีและใส่ร้ายขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชนในชื่อ ‘เยาวชนปลดแอก’ และ ‘คณะราษฎร’ ไปจนถึงคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ไอลอว์หรือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนจัดทำและรวบรวมรายชื่อเพื่อผลักดันเข้าสภาฯ น่าเสียดายที่ประโยคดังกล่าวกลายเป็นจุดจบของบทสนทนาแทนที่เราจะมาพูดคุยกันด้วยหลักการ เหตุผล และหาจุดประนีประนอมเพื่อให้สังคมเดินหน้า
ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้ยินประโยคดังกล่าว ก็อดไม่ได้ที่จะเถียงในใจว่า “รับเงินต่างชาติ แล้วไง?” เมื่อประเทศไทย (บอกตัวเองอย่างสม่ำเสมอ) ว่าเป็นเสรีประชาธิปไตย การค้าขายไหลเวียนของเงินทุนก็เชื่อมต่อกับประชาคมโลก ถ้านักลงทุนต่างชาติยังสามารถเข้ามาถือหุ้น ลงทุนในบริษัทสัญชาติไทยได้ แล้วทำไมรัฐบาลต่างชาติหรือเหล่ามหาเศรษฐีจึงสมควรถูกประนามหากจะนำเงินมาบริจาคเพื่อขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะที่สนใจ
สิ่งที่น่าแปลกใจคือมวลชนฝั่งอนุรักษ์นิยมทำประเด็นนี้ให้เป็นเรื่องใหญ่ที่สามารถทำลายความชอบธรรมของขบวนการเคลื่อนไหวทั้งหมดโดยสรุปว่าคือ ‘การแทรกแซงของต่างชาติ’ บ้างถึงขั้นใช้คำว่าแทรกแซง ‘อธิปัตย์’ นับเป็นการตีความที่เกินเลยจนน่าหัวเราะ ที่น่าสนใจคือพวกเขาหรือเธอดูจะไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังถูก ‘ยุยงปลุกปั่น’ และเชื่อทฤษฎีสมคบคิดแบบสนิทใจจากเว็บไซต์สื่อที่รัฐบาลรัสเซียสนับสนุนอย่าง Land Destroyer
ทำไมเอ็นจีโอต้องรับเงินจากต่างชาติ?
เอ็นจีโอ (Non-Governmental Organization: NGO) หรือองค์กรพัฒนาเอกชน เป็นชื่อเรียกรวมๆ ขององค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณะที่โครงสร้างภาครัฐขาดตกบกพร่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านสิทธิมนุษยชน ที่ดิน การอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม การศึกษา ผู้อพยพ เด็กและคนชรา และอีกสารพัด
ด้วยความที่เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร แม้จะมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกรวมถึงเงินบริจาคจากประชาชน แต่รายได้หลักของเอ็นจีโอคือการขอรับเงินทุนสนับสนุนจากองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน หรือกระทั่งองค์กรไม่แสวงหากำไรด้วยกันเองที่ดำเนินงานในรูปกองทุนจากทั้งในและนอกประเทศ
กระแสการมอบเงินสนับสนุนเอ็นจีโอเพื่อทำให้ในพื้นที่แต่ละประเทศนั้น เริ่มขึ้นในช่วงสงครามเย็นเพราะสองขั้วมหาอำนาจต่างต้องการผลักดันประเทศที่ยากจนและรายได้ปานกลาง ให้ยึดถืออุดมคติทางการเมืองแบบเดียวกับตน นั่นคือโลกเสรีประชาธิปไตยที่นำโดยสหรัฐอเมริกา และโลกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่นำโดยรัสเซีย ความช่วยเหลือดังกล่าวมักจะส่งตรงไปยังรัฐบาล แต่ก็มีเงินจำนวนไม่น้อยที่ไหลบ่าสู่องค์กรพัฒนาเอกชนจนเพิ่มจำนวนอย่างก้าวกระโดด
แน่นอนครับว่าเม็ดเงินเหล่านั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอยู่รอดของเอ็นจีโอในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งทรัพยากรมีจำกัด รัฐบาลเองก็มองว่าเงินช่วยเหลือดังกล่าวมีประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ กระทั่งองค์กรพัฒนาเอกชนที่ได้รับเงินสนับสนุนจากต่างชาติเริ่มตั้งคำถามและกลายเป็น ‘ภัยคุกคาม’ ของระบอบการปกครอง เมื่อนั้นรัฐบาลจะออกกฎหมายจำกัดหรือสร้างเงื่อนไขการรับเงินจากต่างชาติของภาคประชาสังคมซึ่งทำให้เอ็นจีโอในหลายประเทศต้องปิดตัวลง
ระหว่าง พ.ศ. 2536 ถึง 2555 ประเทศยากจนและรายได้ปานกลางราว 1 ใน 4 มีการบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่ที่กำหนดเงื่อนไขในการรับเงินจากต่างชาติของเอ็นจีโอภายในประเทศ ตั้งแต่กำหนดสัดส่วนและปริมาณเงินที่รับบริจาคได้ กำหนดกลไกในการขอรับบริจาค กำหนดเงื่อนไขในการใช้เงินทุน ไปจนถึงกำหนดให้จัดทำรายงานแก่ภาครัฐ
ตัวอย่างที่น่าสนใจเช่นการประท้วงใหญ่ของฝ่ายค้านที่ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศเอธิโอเปียเมื่อ พ.ศ. 2548 จนฟากรัฐบาลเดิมต้องออกกฎเพิ่มเติม เอื้อให้พรรคตนได้เปรียบเพื่อให้สามารถคว้าชัยชนะจากการเลือกตั้ง พร้อมทั้งกล่าวหาว่าการเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลนั้นได้รับเงินสนับสนุนจากต่างชาติ (คุ้นๆ ไหมครับ?)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 รัฐบาลเอธิโอเปียใช้เหตุผลข้างต้นในการผ่านกฎหมายบังคับให้องค์กรไม่แสวงหากำไรทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศที่ดำเนินการในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและประเด็นอ่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ต้องระดมเงินทุนจากภายในประเทศอย่างน้อย 90 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังมีการบังคับใช้อย่างเข้มข้นจนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในเอธิโอเปียแทบทั้งหมดต้องปิดตัวลง เพราะไม่สามารถระดมทุนได้อย่างเพียงพอ
เหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวยังพบในประเทศซิมบับเวและเอกวาดอร์ โดยกลุ่มประเทศส่วนใหญ่ที่มีกฎหมายบังคับการไหลเข้าของเงินสนับสนุนองค์กรพัฒนาเอกชนมักจะมีระบอบการเมืองที่ไม่มั่นคงโดยเป็นกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเป้าหมายที่โลกตะวันตกต้องการผลักดันคุณค่าร่วมเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนให้กับประเทศเหล่านี้
ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าเอ็นจีโอในไทยจำนวนไม่น้อย อาทิ ไอลอว์, ฮิวแมนไรทท์ วอช ประเทศไทย หรือ ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) ต่างก็ได้รับเงินสนับสนุนจากต่างชาติ แต่นั่นก็ถือเป็นเรื่องที่แสนจะปกติธรรมดาในแวดวงเอ็นจีโอของประเทศกำลังพัฒนา
รับเงินใครมา? ว่าด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน
หลายคนกังวลในประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) เพราะองค์กรเหล่านี้รับเงินต่างชาติมา จึงจำเป็นต้องตอบแทนเคลื่อนไหวเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อแหล่งทุนดังกล่าว บ้างหยิบยกกฎหมายควบคุมพรรคการเมืองแล้วเทียบเคียงว่าถ้าไอลอว์เคลื่อนไหวด้านการเมืองก็ควรห้ามรับเงินทุนต่างชาติเสมือนหนึ่งพรรคการเมือง บ้างบอกว่าการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนั้นมีผลประโยชน์แอบแฝงเพราะต่างชาติหนุนหลัง และอีกสารพัด
อ่านแล้วก็ชวนฉงนสงสัย ว่าเอ็นจีโออย่างไอลอว์ไปมีอำนาจมากมายล้นฟ้าตั้งแต่เมื่อใด เพราะองค์กรพัฒนาเอกชนมีเงื่อนไขข้อจำกัดทั้งเงินทุนและทรัพยากร ทำงานขับเคลื่อนภายใต้กรอบกฎหมายไม่ต่างจากภาคเอกชนทั่วไปคือการรณรงค์ เรียกร้อง ช่วยเหลือในประเด็นสาธารณะที่รัฐบาลมองข้าม สุดท้ายหากจะต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายก็ต้องผ่านเข้าสู่ระบอบสภาฯ เพื่อพิจารณาอีกขั้นหนึ่ง
ในฐานะที่เคยทำงานเอ็นจีโอในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ที่รับเงินทุนจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ไม่มีครั้งใดที่ผู้ให้ทุนจะเข้ามายุ่มย่ามกับการจัดการภายในองค์กร เพราะผู้ให้สนับสนุนเหล่านั้นทราบดีถึงรายละเอียดการใช้ทุนและเป้าหมายขององค์กรตั้งแต่วันแรกที่มีการอนุมัติ ฝั่งเอ็นจีโอมีหน้าที่เพียงรายงานความก้าวหน้าเป็นระยะ พร้อมรับคำแนะนำเล็กน้อยในการทำงานจากผู้ให้ทุน
คำกล่าวหาว่าองค์กรเอ็นจีโอถูกครอบงำเพียงเพราะได้รับเงินสนับสนุนบางส่วนจากต่างประเทศจึงเป็นคำกล่าวเกินจริงเพื่อบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือเท่านั้น
การรับเงินทุนของเอ็นจีโอก็คล้ายคลึงกับการรับเงินสนับสนุนงานวิจัยในแวดวงวิชาการ ถ้ามีการเปิดเผยอย่างโปร่งใส ให้สาธารณชนรับรู้ว่าได้รับเงินมาจากแหล่งใดและอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างไรบ้างก็นับว่าเพียงพอแล้ว การรับเงินจากต่างชาติจึงไม่ได้เป็นสาระสำคัญ แต่ผู้พิจารณากลั่นกรองควรตัดสินใจเนื้อหา ไม่ใช่พูดย้ำเรื่องรับเงินต่างชาติเป็นแผ่นเสียงตกร่อง
ในทางกลับกัน กลุ่มสำคัญที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างชัดเจนในกระบวนการพิจารณารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ไอลอว์เป็นผู้รณรงค์ผลักดันเข้าสภาฯ คือสมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้งทั้ง 250 คน เพราะหากมีการบังคับใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจริง ทั้ง 250 คนจะต้องพ้นจากตำแหน่ง อีกทั้งวุฒิสภาชุดนี้ยังแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงต้อง ‘ตอบแทน’ ความเอื้ออาทรโดยการปกป้องมรดกของ คสช. อย่างเต็มกำลัง
จึงไม่น่าแปลกใจนักที่การตอบโต้ของฝั่งอนุรักษ์นิยมและสมาชิกวุฒิสภาจึงเน้นไปที่ประเด็น ‘รับเงินทุนต่างชาติ’ รวมถึงสร้างวาทกรรม ‘ขายชาติ’ ป้ายสีเอ็นจีโออย่างไอลอว์ โดยมีการกล่าวถึงเนื้อหาน้อยมาก หรือหากกล่าวถึงก็มองในแง่ร้ายจนเกินจริง ทั้งที่ตามกระบวนการแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญยังต้องผ่านการขัดเกลาและกลั่นกรองอีกหลายชั้นก่อนจะนำมาบังคับใช้
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมฝั่งอนุรักษ์นิยมถึงหมกมุ่นกับประเด็นการ ‘รับเงินต่างชาติ’ หากใครได้มีโอกาสอ่านหนังสือสุดฮิต ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี โดยณัฐพล ใจจริง คงจะพอเห็นภาพว่าฝั่งอนุรักษ์นิยมเคยเป็น ‘ผู้รับ’ เงินทุนจากต่างชาติเพื่อสั่งสมกำลังทหารและก่อสร้างขบวนการขวาพิฆาตซ้ายในช่วงสงครามเย็น
ถ้าย้อนเวลากลับไปสัก 60 ปี ผู้เขียนก็อาจจะเห็นพ้องว่าเอ็นจีโอไทยอาจรับเงินต่างชาติเพื่อขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองโดยมีนัยแอบแฝง
แต่เผื่อใครไม่ทราบ สงครามเย็นได้จบลงไปนานแล้ว ท่านผู้ทรงเกียรติในสภาฯ จึงควรก้าวข้ามวาทกรรม ‘รับเงินต่างชาติ’ แล้วพิจารณาเนื้อหา หลักการ และถกเถียงด้วยเหตุผลให้คุ้มค่ากับที่ ‘รับเงินจากภาษีประชาชน’
เอกสารประกอบการเขียน
Stop Meddling in my Country! Governments’ Restrictions on Foreign Aid to NGOs
Tags: เอ็นจีโอ, ไอลอว์, แหล่งทุน, รับเงินต่างชาติ