ปัญหาความขัดแย้งเรื่องเงินค่านายหน้าและเงินส่วนต่างจากการกู้ซื้อบ้าน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโศกนาฏกรรมกลางเมืองครั้งใหญ่ในประเทศไทย ถือเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หลายคนมองว่า ‘บ้านเช่าซื้อ’ ในค่ายทหารสำหรับกำลังพลมีมานับสิบปีแล้ว แนวคิดนี้มาจากไหน บทความนี้จะชวนไปดูบริบทเปรียบเทียบ กับโครงการบ้านจัดสรรในค่ายทหารสหรัฐอเมริกา หนึ่งในประเทศที่มีอิทธิพลเรื่องแบบแผนทางการทหารต่อกองทัพไทย และมีนายทหารศึกษาเรื่องนี้ไว้เป็นรายงานในโรงเรียนการทหารระดับสูง

ในการสร้างกองทัพที่เข้มแข็งเพื่อให้กำลังพลมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่เพียงแต่การกำหนดรายได้ที่มากพอและมีค่ายทหารที่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่หนาแน่น แต่การช่วยเหลือให้กำลังพลมี ‘บ้าน’ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ในภาคสนาม 

แต่เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เน้นตัดลดงบประมาณความมั่นคง โดยยกเลิกฐานทัพในภูมิภาคต่างๆ และไม่ได้ให้ความสำคัญกับบ้านของกำลังพลเท่าไรนัก

การสำรวจของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หลังการสิ้นสุดสงครามเย็นในปี 1991 พบว่า กำลังพล 100,000 ครอบครัว หรือ 1 ใน 3 อาศัยในบ้านพักทหารในค่าย ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง กำลังพลมากกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในบ้านที่ไม่มีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดี การที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะแก้ไขปัญหานี้ คาดว่าต้องใช้เวลามากถึง 30 ปี และใช้งบประมาณ 16,000 ล้านเหรียญดอลลาร์

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ จึงออกสองมาตรการ คือ 1. เงินช่วยเหลือค่าบ้าน (Basic Allowance for Housing) ใกล้ค่ายทหาร และ 2. ในกรณีที่บ้านพักใกล้ค่ายทหารแพง กระทรวงกลาโหมจะจัดหาพื้นที่ก่อสร้างบ้านพักให้ หรือ โครงการ MILCON (Military Construction)

แต่มาตรการทั้งสองก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนบ้านของกำลังพลได้อย่างรวดเร็ว จนกระทั่งสภาคองเกรสเสนอแนวทางการแก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่ต่อกระทรวงกลาโหม 

ในปี 1996 สภาคองเกรสและกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาเสนอ Military Housing Privatization Initiative (MHPI) ซึ่งเป็นรูปแบบการทำโครงการแบบรัฐร่วมเอกชน อนุมัติให้เอกชนพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะยาวบนที่ดินของรัฐให้กับทหารทุกเหล่าทัพ โดยกระทรวงกลาโหมตั้งกองทุนให้กำลังพลมากู้ซื้อบ้าน คาดว่าการพัฒนาที่อยู่อาศัยในรูปแบบนี้จะทำให้กำลังพลมีบ้านคุณภาพดีและเพียงพอภายในปี 2010 ร่นระยะเวลาการแก้ปัญหาลงได้นับสิบปี โครงการแรกเริ่มตั้งเป้าก่อสร้างบ้านจำนวน 404 หลังคาเรือน ใน NAS Corpus Christi ในมลรัฐเท็กซัส หลังจากนั้น บ้านจัดสรรในค่ายทหารที่ดำเนินการโดยเอกชนก็เพิ่มจำนวนอีกหลายสิบโครงการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อ US Government Accountability Office หน่วยงานตรวจบัญชีกลางของรัฐบาล ได้ตรวจสอบโครงการบ้านจัดสรร พบว่าการก่อสร้างบ้านในพื้นที่นำร่องล่าช้ากว่ากำหนดเป็นอย่างมาก เช่น โครงการในค่ายคาร์สัน (Fort Carson) ของมลรัฐโคโลราโด เนื่องจากเป็นการลงทุนรูปแบบใหม่ที่บริษัทลงทุนไม่คุ้นเคยกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การทำสัญญาจึงล่าช้าออกไปกว่าที่คิด อีกทั้งกระทรวงกลาโหมใช้วิธีการคำนวนต้นทุนที่ผิดพลาด ทำให้บ้านสำหรับกำลังพลมีราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น 

หน่วยงานตรวจบัญชีกลางมีข้อแนะนำให้กระทรวงกลาโหมใช้มาตรการดั้งเดิม ซึ่งเน้นเงินช่วยเหลือค่าบ้านใกล้ค่ายทหาร ควบคู่ไปกับการให้เอกชนลงทุนบ้านเช่าซื้อ ในปี 2000 หน่วยงานตรวจบัญชีกลางรายงานว่า ไม่มีโครงการใดที่สามารถก่อสร้างบ้านได้ครบตามจำนวนที่ตั้งเป้าไว้ และการลงทุนในรูปแบบที่เอกชนเป็นตัวนำ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาบ้านที่ไม่เพียงพอได้ 

ขณะเดียวกัน เดวิด ฮอบสัน (David Hobson) สมาชิกสภาคองเกรสในฐานะประธานอนุกรรมาธิการงบประมาณก่อสร้างกลาโหม (Subcommitee on Military Construction Appropriations) เรียกร้องให้กระทรวงกลาโหมสร้างระบบการประเมินต้นทุนบ้านที่สร้างในโครงการ MHPI พร้อมสำรวจราคาบ้านตามท้องตลาดไปพร้อมกัน เพื่ออุดช่องโหว่ในเรื่องส่วนต่างเงินกู้ซื้อบ้านและราคาที่พึง อีกทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้เอกชนใช้ที่ดินของค่ายทหารสร้างบ้านแข่งกับผู้เล่นรายอื่นในตลาดที่ดินเอกชน 

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กระทรวงกลาโหมว่าจ้าง Mahlon Apgar ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีประสบการณ์มาบริหารโครงการบ้านจัดสรรในค่ายทหาร ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เนื่องจากได้เปลี่ยนวิธีคิดการทำโครงการบ้านจัดสรรสำหรับกำลังพลไปสู่การบริหารอสังหาริมทรัพย์แบบเอกชน กองทัพถือหุ้น 49% ส่วนเอกชนถือหุ้น 51% ในชื่อ Residential Communities Initiatives ซึ่งเป็นโครงการที่นิติบุคคลบริหารชุมชนบ้านพักอาศัย สวนสาธารณะ และห้างสรรพสินค้า 

การเปลี่ยนวิธีคิดดังกล่าวทำให้บ้านในค่ายทหารมีสภาพไม่ต่างจากบ้านจัดสรรที่ลงทุนในที่ดินเอกชน ผู้ที่อยู่อาศัยบ้านในค่ายทหารกลับเป็นข้าราชการพลเรือน ทหารที่เกษียณอายุ และคนทั่วไป ซึ่งย้ายจากบ้านที่อยู่นอกค่ายทหารเข้ามาเช่าในโครงการ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชุมชนรอบค่ายทหารเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถเก็บภาษีที่อยู่อาศัยในค่ายทหารได้ นายกเทศมนตรีเมืองหนึ่งถึงกลับกล่าวว่า โครงการบ้านเหล่านี้หลบเลี่ยงภาษีที่อยู่อาศัยไปจำนวนมาก 

นอกจากนั้น กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ต้องการลดอัตรากำลังพล จาก 1.46 ล้านคน จนเหลือ 1.36 คน ในปี 2014 ซึ่งลดอัตรากำลังพลไปนับแสน และคาดการณ์ว่าในปี 2020 จะลดทหารประจำการอีกหลายหมื่นคน แนวโน้มของกำลังพลและเจ้าหน้าที่กลาโหมที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้โครงการบ้านในค่ายทหารอยู่ในสภาวะเสี่ยงที่จะไม่สามารถบริหารสาธารณูปโภคได้ตามมาตรฐานที่ตั้งไว้

ปี 2019 ที่ผ่านมา ผู้ตรวจสอบภายในของกองทัพ (Army Inspector General) ได้สำรวจและตรวจสอบโครงการบ้านจัดสรรในค่ายทหาร พบว่า บทบาทและความรับผิดชอบของนิติบุคคลที่รับผิดชอบโครงการไม่ชัดเจน รวมถึงระบบของโครงการบ้านจัดสรรก็ไม่สามารถตรวจสอบการทำงานและการเงินได้ สาเหตุเกิดจากพนักงานที่ดูแลโครงการมีจำนวนไม่เพียงพอ 

แต่เนื่องด้วยโครงการบ้านจัดสรรยังอยู่ในสัญญาการบริหารของเอกชน ทำให้กระทรวงกลาโหมที่เป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย ไม่สามารถสั่งการผู้จัดการได้โดยตรง ทำให้ผู้นำเหล่าทัพพยายามที่จะขอเจรจาสัญญาการให้สิทธิบริหารโครงการบ้านจัดสรรใหม่ ส่วนสมาชิกสภาคองเกรสก็รับไม่ได้กับการบริหารงานของเอกชนที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของกำลังพลและเจ้าหน้าที่ที่อาศัยในโครงการ โดยทางกรรมาธิการจะติดตามการตรวจต่อไปให้ถึงที่สุด

โครงการบ้านจัดสรรเอกชนในค่ายทหารสหรัฐอเมริกา ถือเป็นบทเรียนและความท้าทายที่สำคัญของหน่วยงานตรวจสอบกองทัพ ที่จะช่วยให้แก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมของกำลังพลในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยและคำกล่าวหา “แดนสนธยา” ที่สังคมตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงในช่วงที่ผ่านมาได้บ้าง 

อ้างอิง

  • Else, D. H. (2001, July). Military housing privatization initiative: Background and issues. Congressional Research Service, the Library of Congress.
  • Godfrey, M. C., Sadin, P., Vogel, D., Pollarine, J., & Kryloff, N. (2012). Privatizing military family housing: A history of the US Army’s residential communities initiative 1995–2010
  • US Government Accountability Office. (1998). Comptroller General’s 1998 Annual Report
  • U.S. Department of Housing and Urban Development. Community Housing Impacts of the Military Housing Privatization Initiative
  • Punja, T., & Kerek, G. (2004). Assessment of costs and benefits of the military housing privatization initiative in selected areas. NAVAL POSTGRADUATE SCHOOL MONTEREY CA.
  • US Army. (2019) Department of the Army Inspector General Special Interest Item Assessment of the Residential Communities Initiatives (RCI) 14 February – 22 March 2019.
  • https://federalnewsnetwork.com/army/2019/09/army-ig-finds-major-oversight-weaknesses-in-privatized-housing-program/ 
Tags: , ,