กลางเดือนมีนาคมของทุกปี จะมีกิจกรรมระลึกถึง ‘สมชาย นีละไพจิตร’ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนมายาวนานกว่า 20 ปี ก่อนที่จะหายตัวอย่างไม่ทราบชะตากรรมเมื่อ 12 มี.ค. 2547
พอดิบพอดีกับวันที่ 12 มี.ค. 2561 คือวันครบรอบ 14 ปี การหายไปของทนายสมชาย ปีนี้ กิจกรรมระลึกถึงเขาจัดขึ้นที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในงาน ’14 ปีสมชายหาย: สังคมไทยได้อะไร?’
ประเด็นสำคัญในวันนั้นก็คือการตั้งคำถามต่อรัฐและกระบวนการยุติธรรมไทย ของอังคณา นีละไพจิตร ในฐานะครอบครัวของผู้สูญหายจากการกระทำของรัฐ และพัฒนาการร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย หลังจากเมื่อปี 2560 ร่างฉบับนี้ถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งกลับไปให้ยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ทบทวนใหม่
อังคณา นีละไพจิตร: 14 ปี ผ่านไป จนชั่วชีวิตคงไม่ได้ความยุติธรรม
อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชายกล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2558 ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจห้านาย ในกรณีกักขังหน่วงเหนี่ยวสมชาย นีละไพจิตร เธอก็ตั้งใจว่าจะยุติบทบาททวงถามความเป็นธรรมจากรัฐ แต่จะเฝ้ามองว่ารัฐจะดำเนินการอย่างไรในการให้ความยุติธรรมกับพลเมืองของรัฐ ในกรณีที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
หลังจากนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษก็มีหนังสือถึงครอบครัว แจ้งว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษจะงดการสอบสวน ระบุข้อความสั้นๆ ประโยคเดียวว่า การสอบสวนคดีสมชายได้เสร็จสิ้นแล้ว เนื่องจากไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิด
“ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือหาคนผิดไม่ได้ ไม่มีปัญญาหาคนผิด ก็จบๆ ไป หลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับคดีสมชายเป็นคดีพิเศษยาวนานถึง 11 ปี กับ 2 เดือน”
นอกจากนี้ หากยังจำกันได้ ปลายปี 2556 ที่มีการประท้วงบริเวณกรมสอบสวนคดีพิเศษ อดีตผู้อำนวยการสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ให้ข่าวกับสื่อมวลชนว่า ผู้ประท้วงเข้าไปในกรมสอบสวนคดีพิเศษและได้ลักเอาแฟ้มคดีทนายสมชายไป
“ดิฉันได้ขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คำถามคือห้องจัดเก็บเอกสารที่มีความปลอดภัยมากๆ ชาวบ้านธรรมดาจะเข้าไปได้ยังอย่างไรถ้าไม่มีรหัสผ่าน แฟ้มคดีสำคัญจะหายไปได้อย่างไร เพียงไม่ถึงสัปดาห์ทางกระทรวงยุติธรรมได้แจ้งข่าวว่า เจอแฟ้มแล้วไม่ได้หายไปไหน แต่ที่หาเจอแล้วดิฉันก็ไม่รู้ว่าข้างในมีอะไรหรือไม่ อาจจะไม่มีอะไรเลยก็ได้
“ดิฉันคิดว่าเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้เราได้มองเห็นว่า หลายครั้งที่รัฐมองความทุกข์ของชาวบ้านซึ่งเป็นเรื่องที่ร้ายแรงแต่รัฐกลับมองเป็นเรื่องไม่สำคัญ”
เธอกล่าวว่า ต้องขอบคุณรัฐบาลที่ผ่านมา ที่มอบเงินเยียวยาให้กับครอบครัว แต่การให้เงินเพื่อเยียวยาเป็นแค่การสงเคราะห์มากกว่าที่รัฐจะสำนึกผิดในสิ่งที่รัฐได้กระทำลงไป
การให้เงินเพื่อเยียวยาเป็นแค่การสงเคราะห์มากกว่าที่รัฐจะสำนึกผิดในสิ่งที่รัฐได้กระทำลงไป
อังคณากล่าวว่า หลักประกันหนึ่งที่ควรมี คือเหตุการณ์อุ้มหายและการซ้อมทรมานไม่ควรจะเกิดขึ้นซ้ำ แต่ที่ผ่านมาก็เห็นได้ว่า รัฐไม่มีความเต็มใจและไม่มีเจตจำนงที่จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย ผ่านสภาและบังคับใช้
“ดิฉันคิดว่าน่าจะเป็นตัวแทนครอบครัวของผู้สูญหาย และน่าจะสามารถบอกเล่าความรู้สึกนั้นได้ ดิฉันพบว่าสิ่งหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นกับครอบครัวไม่ต่างกันเลย คือวันที่สมชาย นีละไพจิตรหายไป ญาติพี่น้องหายไปจากครอบครัว เราทุกคนกลัวหมด ทนายความที่เป็นเพื่อนกับสมชายทำคดีมาด้วยกันต่างหายหน้ากันไปหมด บ้างคนหลบไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนที่เป็นนักการเมืองอยู่ในฝั่งรัฐบาลมาที่บ้านแล้วบอกว่าทำอะไรไม่ได้หรอก ตอนนี้เผาทิ้งไปหมดแล้ว
“นี่คือซึ่งที่เกิดขึ้นกับทนายความที่เป็นที่รู้จัก แต่ถ้าเกิดขึ้นกับประชาชนธรรมดา ความหวาดกลัวจะทำให้เหยื่อไม่สามารถที่จะออกมาพูดอะไรได้เลย สิ่งที่รัฐจำเป็นต้องทำก็คือ รัฐจำเป็นต้องปกป้องเหยื่อไม่ให้เกิดความหวาดกลัว ต้องไม่ให้เจ้าหน้าที่ลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจตามอำเภอใจเช่นนี้อีก”
ความคืบหน้าของกฎหมายซ้อมทรมาน
ตลอด 14 ปี การหายไปของทนายสมชาย ก่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนทางสังคมจนนำไปสู่ความพยายามผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ที่เริ่มเสนอตั้งแต่ปี 2555 แต่ปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบ
ทั้งนี้ในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยเห็นชอบร่างกฎหมายการซ้อมทรมานและการอุ้มหายฯ เมื่อปี 2559 และส่งไปให้ สนช. พิจารณา ก่อนที่ สนช.จะส่งร่างกฎหมายฉบับนี้กลับคืนให้ ครม. ทบทวนอีกรอบ โดยอ้างมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ได้รับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน
นงพร รุ่งเพ็ชรวงศ์ จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เล่าความคืบหน้าของร่างกฎหมายซ้อมทรมานและการอุ้มหายฯ ว่า ตอนนี้ได้ร่างฉบับใหม่ หลังจากหารือกับกระทรวงต่างประเทศและหน่วยงานความมั่นคง จากนี้จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นนำร่างกฎหมายเข้าไปในเว็บไซต์ประมาณ 30 วัน ก่อนจะนำเสนอเข้าสู่ ครม.อีกครั้งหนึ่ง
ขณะที่ ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า มีประเด็นหนึ่งที่ต้องผลักดันให้สำเร็จ คือ มาตรา 30 ที่กำหนดให้เอาผิดผู้บังคับบัญชาเฉพาะกรณีอุ้มหาย แต่ไม่เอาผิดกรณีทรมาน ถ้าเป็นเช่นนี้กฎหมายนี้จะมีเอาไว้แค่โชว์สหประชาชาติ และก็ไม่มีผลบังคับใช้ในความเป็นจริง อย่างไรก็ตามก็เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ แม้ว่าจะมีข้อบงพร่องแต่ยังดีกว่าไม่มี
Tags: ดีเอสไอ, สิทธิมนุษยชน, สมชาย นีละไพจิตร, กฎหมาย