เดือนตุลาคมเป็นเดือนที่มีความหมายอย่างยิ่งในทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยอยู่เสมอ เพราะเป็นเดือนที่มีทั้งเหตุการณ์ที่เป็นที่จดจำในฐานะการโค่นล้มอำนาจเผด็จการทหารโดยพลังประชาชนอย่าง 14 ตุลาฯ 2516 อีกทั้งยังเป็นเดือนที่มีเหตุสลดครั้งใหญ่อย่าง 6 ตุลาฯ 2519 เป็นบาดแผลดำมืดของสังคมที่ยังรอการชำระความจริงอยู่อีกเช่นกัน
แม้หลายคนจะตระหนักดีอยู่แล้วถึงความสำคัญของทั้งสองเหตุการณ์ แต่บางครั้งเราอาจจดจำเหตุการณ์ทั้งสองนี้โดยไม่ได้ตั้งคำถามว่าอะไรบ้างคือผลที่ตามมาของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงนั้น และวิวัฒนาการของการเมืองไทยในรอบกว่า 40 ปีที่ผ่านมาหลังเหตุการณ์สำคัญทั้งสองนั้นเป็นไปในทิศทางใด
บทความนี้ขอนำเสนอ ‘เรื่องเล่า’ สองแบบเกี่ยวกับเส้นทางของการเมืองไทยนับแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เป็นต้นมา เรื่องเล่าทั้งสองแบบนี้มีความเหมือนกันอยู่คือทั้งคู่มองว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เป็นจุดหักเหที่ทำให้การเมืองไทยมีพัฒนาการที่เปลี่ยนไปจากเดิม แต่ก็มีความต่างสำคัญ คือเรื่องเล่าแบบแรกมองว่า 14 ตุลาฯ ได้ปลดปล่อยพลังประชาธิปไตยออกมาจนทำให้การเมืองไทยเข้าสู่จุดที่เป็นประชาธิปไตยอย่างมากในยุครัฐธรรมนูญ 2540 ขณะที่เรื่องเล่าแบบที่สองมองว่า กระแสประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์เดือนตุลาฯ นั้นไม่ได้มีพลังมากอย่างที่คิด แต่ได้ถูกควบคุมไว้อย่างแยบยลโดยเครือข่ายชนชั้นนำ
เรื่องเล่าแบบที่หนึ่ง: 14 ตุลาฯ ปลดปล่อยพลังประชาธิปไตยที่ไม่อาจต้านทานได้
ในเรื่องเล่าแบบแรก เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ถูกมองว่าเป็นเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ และมีคุณูปการอย่างมากในการช่วยเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสอำนาจทางการเมืองได้มากขึ้น กล่าวคือ 14 ตุลาฯ เป็นจุดหักเหครั้งสำคัญที่ทำให้อำนาจการปกครองประเทศที่เคยถูกยึดกุมไว้โดยกลุ่มผู้นำทหารและชนชั้นนำในระบบราชการ ได้กระจายออกมาสู่กลุ่มพลังอื่นๆ ในสังคม ทำให้ตัวแสดงที่มีบทบาทในการเมืองไทยนั้นมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้วนเวียนอยู่แค่ผู้นำทหารและข้าราชการระดับสูงไม่กี่คนเหมือนที่ผ่านมาก่อนหน้า
ด้วยเหตุนี้ 14 ตุลาฯ จึงไม่ใช่แค่การโค่นล้มเผด็จการทหารที่อยู่ในอำนาจมากว่า 15 ปีลงได้เท่านั้น แต่ยังเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นว่ารัฐบาลทหารที่มีทั้งอำนาจและอาวุธยังต้องพ่ายแพ้ให้กับพลังของผู้เล่นหน้าใหม่ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะก้าวขึ้นมาท้าทายอำนาจของพวกเขาได้ ผู้เล่นหน้าใหม่นี้ก็คือนักศึกษาและประชาชน จึงนับว่า 14 ตุลาฯ คือการประกาศตัวของ ‘ประชาชน’ ว่าได้ก้าวขึ้นสู่เวทีการเมืองไทยอย่างสง่าผ่าเผย และทำให้ประเทศไทยมีสภาพใกล้เคียงกับคำว่าประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าครั้งไหน นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เป็นต้นมา
เรื่องเล่าแบบแรกมองว่า 14 ตุลาฯ ได้ปลดปล่อยพลังประชาธิปไตยออกมา จนทำให้การเมืองไทยเข้าสู่จุดที่เป็นประชาธิปไตยอย่างมากในยุครัฐธรรมนูญ 2540
บรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้างมากขึ้นในช่วงหลัง 14 ตุลาฯ ทำให้กลุ่มที่ไม่เคยได้มีบทบาทมากนักในสังคมอย่างเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน รวมถึงกลุ่มผู้ฝักใฝ่ความคิดทางการเมืองแบบสังคมนิยมได้มีปากเสียงในเรื่องต่างๆ มากขึ้น แต่ในภาวะความตึงเครียดในช่วงสงครามเย็นในเวลานั้น ความคิดแบบคอมมิวนิสต์ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อประเทศและสถาบันกษัตริย์ อีกทั้งการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาก็ไม่เป็นที่ไว้ใจของคนบางกลุ่มในสังคม ในที่สุดกระแสการเปิดกว้างทางการเมืองที่เป็นผลมาจาก 14 ตุลาฯ ก็ถูกหยุดยั้งไว้ด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลขวาจัดของธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่เข้าสู่อำนาจหลัง 6 ตุลาฯ ก็อยู่ได้เพียงปีเดียวก่อนจะหมดอำนาจไปจากการแตกแยกของชนชั้นนำด้วยกันเอง
ในช่วงนี้ดูเหมือนรัฐไทยจะยอมรับแล้วว่ากระแสความต้องการประชาธิปไตยในหมู่ประชาชนนั้นเกิดขึ้นแล้วและมีพลังมาก และการจะพยายามฝืนทานกระแสนั้นจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ
การเมืองไทยต่อจากนั้นค่อยๆ ปรับเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น จากยุคประชาธิปไตยครึ่งใบในทศวรรษ 2520 มาถึงยุคของรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ในปี 2531 นับเป็นช่วงที่พรรคการเมืองกลับมาคึกคักขณะที่นักการเมือง พ่อค้า และนักธุรกิจ เข้ามามีอำนาจอย่างแท้จริงมากขึ้น แม้ในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบจะเป็นยุคที่ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ได้รับเลือกตั้งอย่างยาวนานกว่า 8 ปี แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่มีการแข่งขันระหว่างพรรคการเมือง ระบบรัฐสภาเริ่มลงหลักปักฐานได้มากขึ้น แม้นายทหารจะพยายามทำรัฐประหารเพื่อล้ม พล.อ. เปรม สองครั้ง แต่ก็ทำไม่สำเร็จ และถึงแม้รัฐบาลของ พล.อ. ชาติชายจะถูกยึดอำนาจโดย รสช. ในปี 2534 แต่ระบอบทหารในเวลานั้นก็ไม่สามารถสืบทอดอำนาจต่อไปได้
ประชาชนออกมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยกันอย่างเนืองแน่นอีกครั้งในเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 จนนำไปสู่กระแสการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ อันมีผลผลิตเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่มีฉายาเรียกกันแพร่หลายว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
เรื่องเล่าแบบที่สอง: 14 ตุลาฯ กับ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’
เรื่องเล่าแบบที่สองไม่ได้ปฏิเสธว่ากระแสประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลาฯ นั้นได้เกิดขึ้นจริง แต่ทว่าสิ่งที่เรื่องเล่านี้สนใจก็คือกระแสประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้ทำให้ประชาชนมีอำนาจยิ่งใหญ่อย่างแท้จริงตามที่เรามักเห็นกันในสังคมตะวันตก แต่เป็นประชาธิปไตยที่ผสมผสานเอาลักษณะบางอย่างของสังคมไทยเข้ามาจนอาจเรียกว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ
ใจความสำคัญของเรื่องเล่านี้ก็คือการชี้ให้เห็นว่ากระบวนการประชาธิปไตยของไทยมีลักษณะอนุรักษ์นิยม กล่าวคือเป็นประชาธิปไตยที่ไม่เป็นภัยต่อชนชั้นนำมากเกินไป อาจเปิดพื้นที่และให้อำนาจแก่ประชาชนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่ก็ยังรักษาสถานะและผลประโยชน์ของเครือข่ายชนชั้นนำที่ได้ประโยชน์จากแนวคิดที่ว่าสังคมไทยไม่อาจเป็นอย่างตะวันตกได้เต็มร้อย
ในแง่นี้ การเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับกระแสประชาธิปไตยอาจไม่ได้เป็นไปเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง แต่อาจเป็นกลวิธีที่ช่วยให้ชนชั้นนำสามารถหลบไปใช้อำนาจและอิทธิพลของตนอยู่เบื้องหลัง ปล่อยให้ผู้เล่นรายอื่นๆ ฟาดฟันกันในหน้าฉากของการเมือง
เรื่องเล่าแบบที่สองมองว่า กระแสประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์เดือนตุลาฯ นั้นไม่ได้มีพลังมากอย่างที่คิด แต่ได้ถูกควบคุมไว้อย่างแยบยลโดยเครือข่ายชนชั้นนำ
ตัวอย่างของเรื่องเล่าแบบนี้ปรากฏอยู่ในแนวคิดของนักวิชาการแนววิพากษ์หลายท่าน ดังเช่น เกษียร เตชะพีระ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวไว้ว่า กระบวนการประชาธิปไตยของไทยถูกควบคุมไว้อย่างแยบยลมาตลอดโดยชนชั้นนำ ขณะที่ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ที่ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ IDE-Jetro ประเทศญี่ปุ่น กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาฯ’ อันหมายถึงภาวะที่สถานะของสถาบันกษัตริย์สูงเด่นขึ้นภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และส่งผลอีกมากมายต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายหลังจากนั้น
รัฐธรรมนูญ 2540 ที่มักได้รับการยกย่องว่าเป็นฉบับประชาชน เอาเข้าจริงก็มีนักวิชาการบางส่วนมองว่าเป็นผลผลิตที่เอื้อประโยชน์ให้กับชนชั้นนำไทยเช่นกัน เพราะสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้อยู่ที่การให้อำนาจแก่ประชาชนแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการมุ่งสร้างการเมืองที่มีระบบระเบียบ มีเสถียรภาพเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการชุมนุมประท้วงของฝูงชนจำนวนมากอีก เพราะชนชั้นนำเชื่อว่าความสงบเรียบร้อยจะทำให้พวกเขายังคงรักษาผลประโยชน์ของตนไว้ได้ โดยไม่ต้องพะวงกับกระแสความต้องการของประชาชนที่เอาแน่เอานอนไม่ได้
บทสรุป: ฐานะของ 14 ตุลาฯ กับประชาธิปไตยที่ล้มลุกคลุกคลาน
ดังที่ทราบกันดีว่ายุคของรัฐธรรมนูญ 2540 ผ่านพ้นไปนานแล้ว และการเมืองไทยตั้งแต่ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีก็กลับเข้าสู่วงจรแห่งการเลือกตั้งสลับกับรัฐประหารจนถึงปัจจุบัน ภาวะล้มลุกคลุกคลานของประชาธิปไตยไทยเช่นนี้น่าจะชวนให้เราย้อนไปคิดถึงความสำคัญของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ อีกครั้งหนึ่งว่าได้ทิ้งมรดกแบบใดไว้ให้การเมืองและสังคมไทย และมรดกที่ว่านี้สอดคล้องกับเรื่องเล่าแบบแรกหรือแบบที่สองมากกว่ากัน
Tags: ประวัติศาสตร์, 14 ตุลาฯ, Octobrists, การเมืองไทย, รัฐศาสตร์, คอมมิวนิสต์, ประชาธิปไตย