การเดินขบวนครั้งแรกของผู้ชุมนุมคณะราษฎร 2563′ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 พวกเขาชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล ก่อนประกาศปักหลัก 3 วัน แต่เพียงชั่วข้ามคืน รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพฯ ตาม ...บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมเข้าจับกุมแกนนำคนสำคัญอย่างทนายอานนท์ นำภา’ ‘รุ้งปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และจับกุมแกนนำอีกหลายคนตามมา

แต่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีข้อห้ามไม่ให้จัดชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปก็ไม่อาจหยุดยั้งการชุมนุม เพราะตกเย็นวันที่ 15 ตุลาคม ผู้ชุมนุมกลับมารวมตัวกันที่แยกราชประสงค์ และมีจำนวนไม่น้อยไปกว่าการชุมนุมในวันก่อน อีกทั้งผลสะท้อนกลับจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การไล่จับกุมแกนนำและผู้ชุมนุม กลับยิ่งเร่งเร้าให้มีการนัดหมายชุมนุมทุกวัน จนสถานการณ์ฉุกเฉินแทบไร้ความหมาย 

ในเมื่อกฎหมายพิเศษ ไม่อาจหยุดยั้งการชุมนุมได้ ซ้ำมีแนวโน้มจะมีการชุมนุมทุกวัน การตัดสินใจสลายการชุมนุมเพื่อให้เกิดความเกรงกลัวจึงเกิดขึ้น 

ในค่ำคืนวันที่ 16 ตุลาคม หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมไม่สามารถไปชุมนุมที่ถนนราชประสงค์ได้อีกเหมือนเมื่อวาน เพราะถูกตำรวจปิดกั้นพื้นที่ กลุ่มเยาวชนปลดแอกจึงนัดหมายรวมตัวกันใหม่ที่แยกปทุมวัน ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เตรียมตรึงกำลังอยู่ที่แยกราชประสงค์ต้องจัดขบวนวางกำลังกันใหม่ เพราะตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำจนเกิดเป็นศัพท์ที่คนรุ่นใหม่เรียกว่าแกง‘ 

วันนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้ตำรวจควบคุมฝูงชนถึง 18 กองร้อย หรือเกือบ 3 พันนาย เพื่อรับมือกับผู้ชุมนุมที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ใช้อุปกรณ์กีดขวาง ทั้งลวดหนามหีบเพลง แบริเออร์ รั้วเหล็ก นำมาวางกั้นบนถนนใจกลางเมืองหลวง ตรอกซอยซอยที่ทะลุเชื่อมถึงถนนราชประสงค์ มีตำรวจยืนตรึงกำลังไม่ให้คนเข้าพื้นที่โดยรอบ ก่อนใช้กำลังตำรวจควบคุมฝูงชน พร้อมอุปกรณ์โล่ กระบอง และรถฉีดน้ำเข้าสลายการชุมนุม ทั้งน้ำแรงดัน น้ำผสมแก๊สน้ำตา และน้ำผสมสี

การสลายฝูงชนใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง ตำรวจก็เข้าถึงแยกปทุมวัน ยึดพื้นที่ชุมนุมได้สำเร็จ ทำให้ค่ำคืนวันศุกร์สุดสัปดาห์นั้น ดูเหมือนจะเป็นชัยชนะของตำรวจและรัฐบาล ที่สามารถสลายการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษา แต่นั่นก็เป็นเพียงชัยชนะสั้นๆ ที่เกิดจากการวิเคราะห์สถานการณ์ผิดพลาดเท่านั้น เพราะช่วงกลางคืนจนถึงวันรุ่งขึ้น เสียงประณามต้านการกระทำของรัฐบาลและตำรวจก็ดังขึ้นทั่วสารทิศ กลบเสียงผู้สนับสนุนฝ่ายรัฐเสียจนสิ้น 

เกมที่พลิกผันปรากฏเด่นชัดในเย็นวันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม เพียงไม่ถึง 20 ชั่วโมงภายหลังตำรวจควบคุมฝูงชนสลายการชุมนุม ผู้ชุมนุมนัดตอบโต้ด้วยการชุมนุมแบบแฟลชม็อบที่เกิดขึ้นพร้อมกัน 3 จุดในกรุงเทพมหานคร คือ ห้าแยกลาดพร้าว วงเวียนใหญ่ และอุดมสุข

จุดห้าแยกลาดพร้าว นับเป็นจุดที่มีคนไปร่วมชุมนุมแบบแฟลชม็อบมากที่สุด ประเมินด้วยสายตาตัวเลขน่าจะแตะใกล้หลักแสน และอาจมากกว่าการชุมนุมที่ราชประสงค์ในวันที่ 15 ตุลาคม และการชุมนุมที่แยกปทุมวันในวันที่ 16 ตุลาคมด้วยซ้ำ หลายคนเป็นผู้ร่วมชุมนุมหน้าใหม่ ที่แต่ก่อนเพียงแค่ส่งกำลังใจผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ยังไม่เคยเข้าร่วมชุมนุมจริง แต่การใช้วิธีสลายชุมนุมของรัฐบาลกลายเป็นเชื้อไฟอย่างดีให้ผู้คนจำนวนมากออกมาบนท้องถนน 

เช่นเดียวกับเย็นวันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม เกิดแฟลชม็อบที่จุดหลักอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จุดย่อยที่แยกอโศกมนตรี และอีกหลายจุดทั่วประเทศ ส่วนเย็นวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม จุดหลักแยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุดย่อยหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และสถานีรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที กระทรวงสาธารณสุข

ต่อมา ในช่วงเย็นวันวันอังคารที่ 20 ตุลาคม ผู้ชุมนุมจำนวนมากทยอยไปรวมตัวกันบริเวณสถานีรถไฟฟ้าทั่วกรุงเทพฯ ตามการนัดหมายผ่านผ่านทวิตเตอร์และเทเลแกรมของแกนนำ เพื่อรอบิ๊กเซอร์ไพรส์หลายคนเป็นผู้ที่เคยร่วมชุมนุมมาแล้วหลายครั้ง แต่หลายคนเพิ่งมาเป็นครั้งแรก 

ที่สถานีรถไฟฟ้าอโศก นักเรียนหญิงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 2 คน เดินทางจากโรงเรียนมาถึงจุดนัดหมาย หวังว่าจะได้เข้าร่วมชุมนุมเป็นครั้งแรก ทั้งสองคนบอกว่า อยากเข้าร่วมชุมนุมตั้งแต่มีการชุมนุมครั้งแรกๆ แต่ผู้ปกครองไม่อนุญาต และจุดเปลี่ยนสำคัญที่ต้องแอบมาชุมนุม เพราะเหตุการณ์ตำรวจสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน ทั้งคู่จึงเดินทางมายังสถานีรถไฟฟ้าอโศก เพื่อหวังว่าจะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมเป็นครั้งแรกในชีวิต

แม้วันนั้น เด็กหญิงทั้งสองต้องผิดหวังเล็กน้อยที่ไปสถานีอโศก เพราะกลุ่มราษฎรเพียงจัดให้มีกิจกรรมชูสามนิ้วหลังการร้องเพลงชาติ และประกาศพักการชุมนุมหนึ่งวัน เพื่อเก็บแรงไว้สำหรับการชุมนุมครั้งต่อไป แต่ก็นับเป็นก้าวแรกของผู้ชุมนุมหน้าใหม่ทั้งสองคน

ในวันรุ่งขึ้น 21 ตุลาคม มีการประกาศรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนร่วมกันแสดงพลังสะท้อนกลับถึงรัฐบาล พวกเขาเคลื่อนขบวนมุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาล แม้เป็นการนัดหมายกันวันต่อวัน แต่การเดินขบวนครั้งนั้นนับเป็นภาพหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกสลายการชุมนุมเป็นครั้งที่ 2 แต่ไม่สามารถหยุดยั้งพลังของพวกเขาได้ อีกทั้งผู้ชุมนุมระมัดระวังเป็นพิเศษ มีการถอดบทเรียนไม่สร้างเงื่อนไขในการสลายการชุมนุม 

เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเดินเท้าถึงทำเนียบรัฐบาล และยื่นหนังสือเรียกร้องให้ พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสร็จสิ้นแล้ว ก็รีบยุติการชุมนุมในคืนนั้นทันที เรียกได้ว่าเดินเกมชุมนุมโดยสงบอย่างแท้จริง

ในวันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม หลังจากมีการปล่อยตัวชั่วคราวไผ่ ดาวดินหนึ่งในแกนนำจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กลุ่มผู้ชุมนุมในนามภาคีนิรนามได้จัดกิจกรรมนอนแคมป์ ไม่นอนคุกที่หน้าเรือนจำฯ มีการปราศรัยและเล่นดนตรีบนเวทีเล็กๆ ก่อนจะยุติลงในช่วงเที่ยงคืน โดยมีผู้ชุมนุมบางส่วนนอนค้างแรมที่บริเวณหน้าเรือนจำ 

ทั้งนี้ได้มีการนัดแนะกลุ่มผู้ชุมนุมให้ไปรวมตัวกันในเย็นวันที่ 25 ตุลาคม ที่แยกราชประสงค์ ตามกำหนดครบ 3 วันขีดเส้นตายให้นายกฯ ลาออก ซึ่งเป็นการชุมนุมแบบแฟลชม็อบอีกเช่นกัน มีเวทีย่อยและกิจกรรมตามจุดต่างๆ ทั่วบริเวณดังกล่าว และการชุมนุมยุติลงในเวลาประมาณ 21.00 .

ล่าสุด คือวันที่ 26 ตุลาคม คณะเยาวชนปลดแอก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม หรือเรียกรวมว่าคณะราษฎรปลดแอกได้นัดหมายชุมนุมกันเวลา 17.00 . ที่บริเวณสามย่าน ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังสถานทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย บนถนนสาทรใต้

นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนจำนวนมากเคลื่อนขบวนอย่างสงบไปตามเส้นทางจนถึงสถานทูตเยอรมนี ขณะที่ปลายแถวอยู่บริเวณแยกถนนวิทยุ มีการอภิปรายอย่างเข้มข้นหน้าสถานทูตฯ และส่งตัวแทนผู้ชุมนุม 3 คน เพื่อเข้าพบและยื่นหนังสือต่อเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย หลังจากนั้นแกนนำได้ออกมาปราศรัยถึงรายละเอียดในหนังสือฉบับดังกล่าวให้ผู้ชุมนุมได้รับทราบ และยุติการชุมนุมอย่างสงบในเวลาประมาณ 21.30 .

…..

หากย้อนไปก่อนหน้านี้ การชุมนุมใหญ่จัดเพียงเดือนละครั้ง ครั้งแรกเดือนกรกฎาคม ครั้งที่สองเดือนสิงหาคม ครั้งที่สามเดือนกันยายน และครั้งที่สี่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม แต่วันนี้กลับบานปลายเป็นแฟลชม็อบแทบจะรายวันที่ผู้คนเข้าร่วมจำนวนมาก และยิ่งมากขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา อันเป็นเพราะความพยายามของรัฐบาลที่ใช้อำนาจของกฎหมายพิเศษและใช้กำลังสลายการชุมนุมเพื่อให้เกิดความหวาดกลัว อีกทั้งยังเดินเกมไล่จับแกนนำ แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มเยาวชนก็ออกแบบม็อบยุคใหม่ ที่ใครๆ ก็เป็นแกนนำได้ หรือดังคำกล่าวที่ว่าทุกคนคือแกนนำ

การยกระดับสถานการณ์ให้ดูรุนแรง ไม่ว่าด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (ก่อนที่จะประกาศยกเลิก โดยให้มีผลในวันที่ 22 ตุลาคม เวลา 12.00 .) และสั่งสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน รวมทั้งการจับกุมผู้ชุมนุมจำนวนมาก กลับเป็นเสมือนการจุดเชื้อไฟ กระตุ้นให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ออกมาร่วมชุมนุมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังชุมนุมกันไม่เว้นแต่ละวัน วันละหลายจุด กระจายไปตามจังหวัดต่างๆ

จะเห็นได้ว่าการชุมนุมเคลื่อนไหวยังมีต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนแรงลง 

อีกทั้งการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ในระหว่างวันที่ 26-27 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่เกิดขึ้นตามคำขอของรัฐบาลที่หวังลดแรงกดดันจากผู้ประท้วงบนท้องถนน และคาดหวังจะใช้สภาหาทางออกให้แก่ประเทศก็ดูจะไม่ส่งผลในทางบวกแต่อย่างใด

ทั้งหมดคือการประเมินสถานการณ์ผิด เพราะยิ่งปิดกั้นคนยิ่งอยากแสดงออก ยิ่งสลายผู้ชุมนุมกลับยิ่งเบ่งบาน และสั่นคลอนรัฐบาลได้มากยิ่งขึ้นเมื่อพิจารณาถึงวินาทีนี้