The Yers ถือเป็นวงดนตรีร็อกอินดี้คุณภาพของบ้านเราอีกวงหนึ่ง หลังจากก่อตั้งวงในปี 2546 ก่อนจะปล่อยอัลบั้มแรก Y ในปี 2554 มีเพลงฮิตอย่าง ระหว่างขับรถ และคืนที่ปวดร้าว ต่อมาในปี 2557 พวกเขาย้ายบ้านมาอยู่จีนี่ เรคคอร์ด ในเครือแกรมมี่ และมีสองอัลบั้มจนถึงปัจจุบันคือ You ปี 2558 และ Cry อะคูสติกอัลบั้ม ในปี 2561
ตลอดสิบปีพวกเขาค่อยๆ สร้างฐานแฟนเพลงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากเพลงที่ปล่อยออกไปเข้าหูคนฟัง แม้อาจไม่ใช่เพลงที่ฮิตติดลมบน ขนาดมีคนร้องตามได้ทั่วบ้านทั่วเมือง หรือมีงานจ้างเข้ามาแบบรัวๆ แต่พวกเขาก็เชื่อมั่นในการทำเพลงตามแนวทางของตัวเองตลอดมา
ข้อดีคือทำให้พวกเขามีแฟนเพลงที่เหนียวแน่น ชื่นชอบ และเข้าใจ ความเป็น The Yers จริงๆ แม้ไม่อาจนำมาซึ่งเงินทอง หรือหาเลี้ยงชีพโดยใช้คำว่า ‘อาชีพศิลปิน’ ได้ก็ตาม แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะวงเปลี่ยนมันเป็นการทำเพลงอย่างมืออาชีพเสียมากกว่า
สมาชิกปัจจุบันประกอบด้วย อู๋-ยศทร บุญญธนาภิวัฒน์ (ร้องนำและกีตาร์), ต่อ-พนิต มนทการติวงค์ (กีตาร์), โบ๊ท-นิธิศ วารายานนท์ (เบส) และบูม-ถิรรัฐ ภู่ม่วง (กลอง)
และถือเป็นเรื่องธรรมดาที่การเดินทางมาถึงสิบปีในวงการเพลง จำเป็นต้องมีคอนเสิร์ตตอบแทนแฟนเพลง พวกเขาก็เช่นเดียวกัน กำลังจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกของวงที่ GMM Live House @ Central World ในวันที่ 25 สิงหาคม 2562
สิบปีในความรู้สึกของวง เวลามันผ่านไปเร็วหรือช้าอย่างไร
อู๋: เรารู้สึกว่ายังเป็นวงหน้าใหม่ตลอดเวลา บางคนคิดว่าเราเป็นวงใหญ่หรืออีกรุ่นหนึ่งแล้ว แต่เรายังรู้สึกว่าเป็นวงที่เพิ่งปล่อยเพลงได้ไม่นาน อาจเพราะเรายังไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของชื่อเสียงเงินทอง เลยคิดว่ายังไปไม่ถึงไหนเสียที
โบ๊ท: ไม่ทันตั้งตัว
ต่อ: เร็วมาก รู้สึกว่าแก่ขึ้นเร็ว รู้ตัวอีกทีก็สิบปีแล้ว ยิ่งมาอยู่จีนี่ เรคคอร์ด เราเหมือนยังเป็นจูเนียร์มากขึ้นไปอีก
บูม: วงการเพลงมันเปลี่ยนเร็วมาก เรียกว่าปีต่อปี แป๊บเดียวแก่เลย เพราะตอนเราเข้ามาที่จีนี่ เรายังดูเป็นหน้าใหม่อยู่เลย
อู๋-ยศทร บุญญธนาภิวัฒน์ (ร้องนำและกีตาร์)
ที่บอกว่ายังไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของชื่อเสียงเงินทอง หมายถึงอย่างไร
อู๋: คือในแง่ของความฝันของผม มันประสบความสำเร็จตั้งแต่วันแรกที่เพลง ‘การสื่อสาร’ ปล่อยออกไป แต่ในแง่ของวงการเพลง การตลาด สินค้าตัวนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จขนาดนั้น เพราะตลอดสิบปีที่ผ่านมายังไม่มีเพลงที่ฮิตจริงจังไปทั่วบ้านทั่วเมือง ไม่ได้เล่นคอนเสิร์ตแบบที่วงประสบความสำเร็จเขามีกัน เราเลยมองว่าไม่ได้เป็นวงที่ดังขนาดนั้น ยังต้องเป็นวงที่ต่อสู้อยู่เสมอ ผมว่าเป็นข้อดีทำให้เราไม่หมดไฟไปกับการทำงาน และไม่หลงระเริงไปมากมาย
ต้องต่อสู้กับอะไรบ้าง
อู๋: คล้ายกับว่าถ้าวันหนึ่งเราประสบความสำเร็จมากๆ เรามีชื่อเสียง เพลงมีคนรู้จักไปทั่วบ้านทั่วเมือง ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ เข้าถึงทุกซอกซอย มีคนดูร้อยล้านวิวในยูทูบ เล่นวันหนึ่ง 20-30 โชว์ ผมว่าการทำงานหลังจากนั้นมันต้องเครียดมาก กดดันมากๆ แน่ แต่ว่าในทางกลับกัน ของเราเป็นแบบค่อยๆ ขยับเดินหน้าขึ้นเรื่อยๆ เราไม่ต้องสู้ก้บความกดดันนั้น เราไม่ต้องสู้กับการทำงานเพื่อทำอย่างไรให้คงอยู่ในกระแส และมีชื่อเสียงมากขึ้น
โบ๊ท: มันกดดันตัวเองมากกว่า เพราะอายุเราก็มากขึ้น วงรุ่นใหม่มีเรื่อยๆ การจะอยู่ในจุดนี้ได้อย่างไร คือรักษาคุณภาพมากขึ้นไปอีก ไม่แพ้คนรุ่นใหม่ รวมทั้งการวางตัวและการใช้ชีวิต
โบ๊ท-นิธิศ วารายานนท์ (เบส)
แล้วเราจะสลัดความกดดันนั้นออกไปได้อย่างไร
โบ๊ท: โดยส่วนตัวกดดันจนไม่กดดันแล้ว ถ้าเป็นโชว์คอนเสิร์ต เราจะสบายๆ กับมันแล้ว แต่น่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิตอย่างไร การวางตัว ทั้งในแง่ของความเป็นส่วนตัวและการเป็นศิลปิน
อู๋: สิบปีที่ผ่านมา เราได้คำตอบแล้วว่าเราไม่สามารถยึดเป็นอาชีพหลักได้ ด้วยวิธีคิด แนวเพลง การนำเสนอ ภาพลักษณ์ของวง นี่ไม่ใช่อาชีพหลักของเรา วิธีการจัดการกับความคิดคือ มองว่าเป็นสนามเด็กเล่นของเรา ที่เอาไว้ระบายตัวเอง ในแง่หนึ่งเป็นพื้นที่เอาไว้บ่งบอกฐานะในสังคมว่าเราเป็นคนแบบไหน มีรสนิยมแบบไหนมากกว่า พอคิดได้แบบนั้น เราก็มองว่า The Yers เป็นวงดนตรีวงหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลักต่อไป และทำงานด้วยความสบายใจ ไม่ต้องมานั่งเครียดว่า กูจะมีเงินไหม ได้งานไหม เพราะสิบปีที่ผ่านมาไม่เคยได้อะไรเลย (หัวเราะ)
คือสมัยก่อนเราเคยฝันว่าจะไม่ทำอาชีพอื่นแล้ว เราจะยึดการเล่นดนตรีเป็นหลัก ปรากฏว่าไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะเรามีรสนิยมแบบนี้ เราชอบเพลงแบบนี้ เราไม่รู้ว่าจะให้คนอื่นชอบมากกว่านี้อย่างไร แต่เราก็มีแฟนคลับของเรา ซึ่งเรามีความสุขกับการอยู่ในฐานะแบบนี้มากกว่า ถามว่าวันหนึ่งจะกระเตื้องเป็นอาชีพหลักได้ไหม มันก็ดี พอเลิกคิด แล้วก็ไม่ซีเรียส
แต่ผมว่า The Yers ให้อย่างอื่นกลับมา อย่างที่ชัดๆ เลยคือว่าให้นามสกุลเรามา ไปที่ไหนถ้าเป็นอู๋เฉยๆ ก็คงไม่มาเชิญครับๆ อย่างตัวผมเองก็ได้โอกาสทำงานเบื้องหลัง หรือการไปสอนที่มหาวิทยาลัย ก็มานั่งคิดจริงๆ แล้วความเป็น The Yers ไม่ได้ให้เราโดยตรง แต่ให้เราทางอ้อม ซึ่งมันก็แฟร์ดี
บูม-ถิรรัฐ ภู่ม่วง (กลอง)
จริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ดีใช่ไหม
บูม: ผมว่าการที่เราเป็นแบบนี้ ทำให้เราไปข้างหน้าเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าวันหนึ่งขึ้นสูงมากแล้วร่วงลงมา เราจะไม่มีเหตุการณ์แบบนั้น เพราะเราเดินทางเรียบ ข้อดีคือมีแฟนเพลงที่รักในตัวเราจริงๆ ไม่ใช่แฟนเพลงที่ฟังจากรวมเพลงฮิต แต่เป็นแฟนเพลงที่ชอบทุกเพลงของ The Yers
ต่อ: ความกดดันทุกคนมีอยู่แล้วโดยส่วนตัว ถ้าเรามองข้ามไป มันก็จะไม่มี
อู๋: ในข้อเสียมันก็มีข้อดี อยู่ดีๆ เรามีชื่อเสียงขึ้นมา แล้วต้องไปเล่นในร้านอย่าง ป.กุ้งเผา โรงเหล้าแสงจันทร์ โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง คือเราไม่ใช่วงที่เป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ แล้วเรารับไม่ได้แน่ๆ ถ้าวันหนึ่งมีชื่อเสียงขึ้นมา อย่างวงรุ่นน้องที่ดังฉิบหายวายปวง เรามานั่งดูตารางทัวร์แล้ว เฮ้ย กูไม่เอาก็ได้นะ ไม่อยากดังแบบมึง เราไม่เอาแบบนั้นก็ได้ ถ้าต้องไปเล่นในสถานที่แบบนั้น คงไม่มีความสุขแน่ๆ เลย คือผมไม่เข้าใจทำไมวงที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ สุดท้ายต้องมานั่งทัวร์คอนเสิร์ตในร้านที่คนสั่งกุ้งเผา ปลากระพงนึ่งมะนาวมากิน
การที่เราอยู่ในระดับนี้ ไม่ต้องไปเจออะไรแบบนี้ เพราะประเทศเรา มองดนตรีเป็นแค่ส่วนประกอบของการกินข้าวอยู่ แล้วผมว่าการเล่นเยอะระดับนั้น มันคงบั่นทอนความสุขในการเล่นดนตรีไป อย่างเราทุกวันนี้ จะเล่นครั้งหนึ่งก็ยังมีความสุขกับมันอยู่ เพราะเราไม่ได้เล่นจนเป็นชีวิตประจำวัน เรามีความสุขเล็กๆ น้อยๆ กับการคุยกันเรื่องซื้ออุปกรณ์ใหม่ดีไหมวะ หรือแบบโชว์นี้เปลี่ยนไปเล่นแบบนี้ดีไหม
โบ๊ท: คือเราไม่ได้รังเกียจการไปเล่นสถานที่แบบนั้นนะ แต่เราว่ามันไม่ซิงค์กันมากกว่ากับลักษณะของวง ถ้าไปเจอกัน คนดูก็ไม่อิน วงก็ไม่อยากเล่น ถ้าไปเจอกันมันมีแต่ส่งผลเสียมากกว่า
อู๋: เราไม่ได้ทำโชว์ของเราให้เป็นแบบคนนั่งดูแล้วมีความสุข ของเราคือวงร็อกที่มีการเพอร์ฟอร์มแบบยืนดู เราไม่ได้ออกแบบโชว์มาให้นั่งดูแล้วกินข้าวไปด้วย
ต่อ-พนิต มนทการติวงค์ (กีตาร์)
แต่มันจะขัดกับความเป็นศิลปินมืออาชีพหรือเปล่า
อู๋: ผมเคยคิดแบบนั้น เราต้องเป็นศิลปินมืออาชีพให้ได้ ต้องอยู่กับจุดนี้ให้ได้ แต่ว่างานเพลงที่เราทำเราก็ปฏิบัติกับมันว่าเป็นงานที่สมบูรณ์แบบ มีความเป็นมืออาชีพ ที่ใครฟังก็ตาม รู้สึกว่าเราเป็นมืออาชีพอยู่ เราใส่ใจกับการแต่งเพลง เข้าห้องอัด และการเดบิวต์แต่ละอย่างของวงออกไป ทั้งเอ็มวี ภาพลักษณ์ แต่แค่เราเรียนรู้ว่าสิบปีที่ผ่านมามันไม่ได้ตอบรับอย่างที่คนภายนอกเข้าใจว่ามันเป็นแบบนั้น
ต่อ: ทุกคนคิดว่าชื่อเสียงมาพร้อมเงินทอง แต่ในความเป็นอาชีพนี้ มันไม่ได้มาพร้อมกันแบบนั้น
อู๋: ใช่ ถูกต้องเลย…แล้วผมงงมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา คนชอบบอกว่า The Yers คือวงใหญ่ดังแล้ว เราไม่เคยเข้าใจว่าทำไมเขาคิดแบบนั้น เรามาเข้าใจช่วงที่เล่นคอนเสิร์ตบ่อยๆ มีทั้งเอาอยู่บ้าง เอาไม่อยู่บ้าง ช่วงแรกเลยนะ แต่ตอนนี้ทุกคอนเสิร์ตที่เราเล่นไม่ว่าที่ไหนก็ตาม เราเอาอยู่หมด เพราะเรามีเพลงที่คนรู้จักไปทั่วประเทศ แม้จะไม่รู้จักหน้าตาเราก็ตาม เราก็รู้ว่าสุดท้ายแล้วเรามีชื่อเสียงสำหรับประชาชนมากๆ คนรู้จักเพลงเราเยอะมากๆ แต่ไม่เข้าใจว่าผลตอบแทนที่กลับมาขัดแย้งกัน ก็ไม่เป็นไร เราไม่ซีเรียสกับมันแล้ว
แสดงว่าในที่สาธารณะ คนจำพวกคุณได้แล้ว
อู๋: จำได้ โดยผมเองรู้สึกได้ด้วยตัวเอง คือสมัยก่อน เวลาผมออกจากบ้าน ชุดนอนกับชุดอยู่บ้านคือชุดเดียวกับ อย่างจะไปส่งของที่ไปรษณีย์ ก็แต่งตัวแบบชิลๆ ชุดนอนไปด้วยซ้ำ แต่กลับกลายเป็นพนักงานไปรษณีย์จำได้ ตอนนี้เวลาออกจากบ้านต้องแต่งตัวดีๆ หน่อย คิดดูว่าพนักงานไปรษณีย์ทำงานวันหนึ่งหลายชั่วโมง เขาไม่ได้ดูทีวี ฟังเพลงแน่ๆ ถ้าเขารู้จักเราได้ แสดงว่าไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว
รสนิยมเพลงของ The Yers เป็นอย่างไร
อู๋: ผมว่ามีบางอย่างที่คอยบังคับงานให้เป็นแบบ The Yers ผมเชื่อว่าทุกสิ่งที่ออกจาก The Yers คือรสนิยมของผมที่สะสมมา คือผมแต่งเพลงทั้งหมดและโปรดิวซ์ทั้งสามอัลบั้ม เราฟังเพลงแบบนี้อยู่ในกรอบกระดาษสี่เหลี่ยม ทั้งชีวิตเราฟังแต่เพลงแบบนี้ แล้วเวลาการนำเสนอหรือแต่งเพลง ปล่อยเพลงอะไรก็ตาม ผมก็ให้มันอยู่ในเซฟโซนที่เราโอเคกับประมาณนี้ ขณะเดียวกันคนอื่นอาจจะฟังเพลงนอกเหนือไปจากนี้บ้าง ผมก็ฟังนะ แต่เวลาทำเพลงถ้ามันออกไปจากกรอบสี่เหลี่ยมของผมเมื่อไร มันไม่ใช่ The Yers แล้ว ซึ่งผมพูดได้เลยว่ากรอบสี่เหลี่ยมของผม ผมเชื่อว่าคนข้างนอกไม่อยากเข้ามาในนี้ เพราะมันส่วนตัวมาก และจับต้องยากมาก ผมเป็นคนเบลนด์อย่างอื่นเข้ามา แต่จะนำเสนอแบบนี้เสมอ เพื่อไม่ให้มันเขินหรือออกนอกกรอบ ผมเชื่อว่าประชาชนทั่วไปมีรสนิยมที่จะเข้ามาในช่องสี่เหลี่ยมนี้ได้แค่บางคนเท่านั้น ไม่ครบทุกวัย อาชีพ ทุกรสนิยม ผมเลยมองว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่ได้ไปจูนติดกับคนธรรมดาทั่วไปขนาดนั้น
แต่คนทำเพลงบางคนก็เลือกที่จะออกนอกกรอบหรือทดลองอะไรใหม่ๆ
อู๋: ผมไม่ได้บอกว่ากรอบนี้เป็นแนวเพลงหรืออะไร แต่มันเป็นกรอบบางๆ ของผมที่สร้างขึ้นมาว่าถ้าลูกกลองเป็นแบบนี้ วิธีเล่นกีตาร์หรือเนื้อหาเพลงแบบนี้ ไม่ใช่เราแล้วนะ
จริงๆ เพลงช้าที่ดังมากอย่าง เพียงหนึ่งครั้งหรือเกลียด มันเป็นการดึงอะไรบางอย่างเข้ามา ทั้งๆ ที่เราไม่เคยคิดจะทำมาก่อน ซึ่งสุดท้ายมันก็เป็นเพลงช้าในแบบที่เราเป็น ไม่ใช่คนฟังเพลงช้าของบิ๊กแอสหรือบอดี้แสลมจะชอบฟังเพลงช้าในแบบเรา มันถูกจำกัดด้วยอะไรบางอย่าง แฟนเพลงของเราจะถูกดึงเข้ามาในกรอบนี้มากกว่า ถ้าใครชอบก็จะถูกดึงเข้ามาอยู่เป็นเพื่อนกูในนี้
กรอบที่ว่าจะมีโอกาสขยายได้ไหม
อู๋: ผมไม่รู้ว่ามันขยายมากน้อยอย่างไร จากวันแรกเมื่อสิบปีที่แล้ว กรอบมันเล็กมาก แต่ทุกวันนี้มันขยายไปมากขึ้นเรื่อยๆ เวลาเราปล่อยเพลงออกไป เหมือนหาเพื่อนไปเรื่อยๆ เพราะผมว่าคนชอบเพลงเรา เป็นอีกลักลักษณ์หนึ่ง ไม่ได้ชอบวงที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างที่บูมบอกว่าคนที่ชอบเราไม่ใช่คนที่ฟังเพลงฮิตประจำสัปดาห์
สังเกตว่าเพลงของ The Yers มักพูดถึงเรื่องความเศร้า ความเจ็บปวด ทำไมมันถึงเป็นแบบนั้น
อู๋: ผมเป็นคนชอบพูดเรื่องซีเรียส ผมหลงใหลในบทสนทนาที่ซีเรียสมากๆ ความผ่อนคลายของผมไม่ใช่แบบอยู่ในวงสนทนา หรือนั่งกินเบียร์แล้วคุยเรื่องสะเปะสะเปะ ถ้าแบบนั้นผมเดินหนีกลับบ้านเลย แต่ถ้ามานั่งเงียบๆ แล้วคุยกันว่าชีวิตจะยังไงต่อ ตอนนี้มึงทำอะไรอยู่ มึงมองโลกแบบไหน เราชอบมาก รู้สึกว่าตรงนี้ผ่อนคลาย เวลาคุยเรื่องแบบนี้มันมีประโยชน์กับร่างกาย แล้วผมชอบฟังเพลง ดูหนัง งานศิลปะ ภาพถ่าย ที่มันมีความหม่น ความเศร้าซ่อนอยู่ สุดท้ายแล้วเวลานำเสนออะไรมามันก็เป็นแบบนี้ เรานำเสนอแบบอื่นไม่ได้เลย
แต่ตัวจริงผมเป็นปกตินะ มีความกวนตีน ชอบพูดจาตลก แต่เฉพาะกับคนที่สนิทสนมกันมากกว่า เวลาเราจะบอกคนอื่นว่าเราเป็นคนแบบไหน ผมชอบบอกว่าเป็นคนซีเรียสมากๆ ชอบพูดเรื่องที่มีประโยชน์เท่านั้น เป็นคนสุขุม เงียบ ถ้าไม่รู้จักกัน อย่าเข้ามาใกล้กู (หัวเราะ) เป็นคนปิดกั้นคนภายนอกเสมอ แต่เราไม่ใช่คนซีเรียส แต่เป็นคนหลงใหลในความซีเรีย
อย่างสเตรนเจอร์ ธิงส์ กับดาร์ก ผมดูทั้งสองเรื่อง แต่ผมชอบดาร์กมากกว่า เพราะมันเงียบ ไม่โฉ่งฉ่าง แต่สเตรนเจอร์ ธิงส์ก็มันนะ
ทำไมคุณหลงใหลในความซีเรียส
อู๋: ผมไม่รู้เลยครับ พยายามหาคำตอบให้ตัวเองอยู่ เรามาเป็นตอนที่อยู่มหาวิทยาลัย เหมือนเวลาอยู่กับความเงียบ มีสมาธิ ไม่วอกแวก แล้วมันสะกดเราได้ คือเสน่ห์มากๆ เมื่อสิบปีที่แล้วตอนทำวง ผมไม่เอนเตอร์เทนคนเลย เวลาเล่นคอนเสิร์ตไม่พูดอะไรเลยบนเวที แต่พออยู่ในวงการนี้นานๆ เราทำแบบนั้นไม่ได้ ก็ต้องปรับตัว แต่ถามว่ามันอยากเป็นคนเอนเตอร์เทนเก่งไหม ก็ไม่ขนาดนั้น เราต้องหาตรงกลางให้เจอว่าเท่านี้พอ
ผมไม่ใช่วงดนตรีที่แบบมีการเต้นบนเวที หรือพูดจาแบบไลฟ์โค้ช ผมจะไม่ทำ การแสดงของผมมันแล้วแต่อารมณ์เลย ถ้าอารมณ์เสียมากๆ ก็พูดจากวนตีนไปเลย หมดฟิวส์แล้วไม่พูดอะไรเลย เล่นเสร็จแล้วกลับ ทำให้คนไปคอนเสิร์ตเราจะได้หลายอารมณ์มากๆ ถ้าคนดูส่งพลังมาบ้ามากๆ เราก็เต็มที่ใส่ หรืออาจจะเล่นนิ่งๆ แบบที่เราต้องการ
พวกคุณใส่ชุดสีดำมาโดยตลอด มันสะท้อนอะไรในความเป็น The Yers
บูม: เราแค่หาตรงกลางว่าวงจะไปในทิศทางไหน แล้ววงที่เราชอบส่วนใหญ่ก็มีภาพลักษณ์แบบนี้
อู๋: วงที่เราชอบใส่ชุดดำหมดเลย ง่ายที่สุดเวลาออกจากบ้านไม่ต้องนัดกันเลยว่าใส่เสื้อสีอะไร ซึ่งก็ไม่ได้นัดว่าจะใส่เสื้อสีอะไรมา 9 ปีแล้ว คือปีแรกยังงงๆ อยู่ว่าแทรกสีนี้ได้ไหม พอมาถึงจุดหนึ่งรู้แล้วว่าชิ้นนี้ใส่กับวงได้ ชิ้นนี้ไม่ได้
โบ๊ท: เราเจอกันที่สีดำใช่ แล้วเราเคยทดลองมาก่อน มาดูภาพลักษณ์ แบบคิดว่าไม่ได้ อยู่ๆ มันก็เข้าหากันพอดี
อู๋: ผมว่าเราน่าจะเป็นวงแรกที่ใส่ยูนิฟอร์มสีดำอย่างซีเรียสที่สุด แล้วหลังจากนั้น ก็มีคนพยายามจะตามเราเยอะมาก เราเป็นยูนิฟอร์มสีดำวงเดียวตอนอยู่สมอลล์รูม ขณะที่วงอื่นสีสันกันมาก แล้วหลังจากนั้นก็มีวงใหญ่ๆ ที่อยากจะมียูนิฟอร์มดำแบบเรา
สิบปีที่ผ่านมาคนที่พยายามมากที่สุด และเป็นปรปักษ์กับบวงมากที่สุดคือสไตล์ลิสต์ เขาไม่เข้าใจว่า เราไม่ได้ยึดติดขนาดนั้นหรอก แต่ช่วยเข้าใจว่าวงเราได้รับอิทธิพลมาจากอะไร ทำไมถึงใส่ชุดดำ ทำไมไม่พยายามใส่สีอื่นเลย แต่เรามักเจอคนที่แบบว่า พี่ว่าต้องลองดู แต่กูลองมาแล้วก็ไม่รอด มีคนพยายามจะเปลี่ยนตลอดเวลา
คิดอย่างไรที่คนบอกว่าเราอาจจะสูญเสียจุดยืนเรื่องการทำเพลงไป เมื่อย้ายจากค่ายเล็กมาค่ายใหญ่
อู๋: คนที่คิดแบบนี้ไม่ใช่แฟนเพลงเราอยู่แล้ว อย่างเราชอบวงดนตรีวงหนึ่ง เราคงไม่ตัดสินเขาที่ค่าย แค่นั้นเลย แต่กระแสตรงนี้มันมาแค่เพลงแรกที่เราทำกับแกรมมี่คือ ‘คืนที่ฟ้าสว่าง’ แต่พอมาเพลง ‘เสพติดความเจ็บปวด’ เขาก็เข้าใจว่าไม่น่าด่าเลย
ผมให้สัมภาษณ์เสมอว่า จีนี่ไม่เคยแก้เพลงผมเลย ในขณะที่ผมโดนแก้เนื้อเพลงจากค่ายเก่า ผมโดนแก้เนื้อเพลงประโยคที่ผมชอบที่สุดในอัลบั้ม แต่ผมทำเพลงสองอัลบั้มกับจีนี่ และเพลงพิเศษ ไม่เคยมีใครบอกให้ผมแก้คำไหนแม้แต่คำเดียว มันเป็นแบบนั้น
พวกคุณหนักใจกับคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกของวงบ้างไหม
อู๋: ตอนอยู่สมอลล์รูม เรามีคอนเสิร์ตเล็กๆ ชื่อ Inside-out เล่นที่คอสมิก คาเฟ่ ที่ปัจจุบันคือ NOMA วันนั้นเป็นคอนเสิร์ตในฝันเลย เพราะคนที่มาคือแฟนเพลงและเพื่อนๆ เราทั้งหมด ผ่านมา 7-8 ปี เราก็ยังไม่เคยเจอคอนเสิร์ตแบบนั้นอีกเลย ที่มันถูกต้องไปทุกอย่าง มนุษย์ทุกคนในสถานที่นั้น บรรยากาศ ความอบอุ่นของคอนเสิร์ต เรารู้สึกว่าถ้าคอนเสิร์ตนี้เป็นแบบวันนั้นได้ มันจะสมบูรณ์แแล้วถูกต้องมากๆ สิ่งที่ผมกลัวคือคนมาคือคนที่ฟังเพลงเราจากชาร์ตร้อยเพลงฮิตประจำปี 2018 แต่ถามว่าเขามาได้ แต่กลัวผิดหวัง (หัวเราะ) เพราะโชว์นี้เราจะปฏิบัติกับคนดูแบบว่าคนที่รู้จักเราจริงๆ
จะเล่นทุกเพลง และไม่เคยทำมาก่อนกับคอนเสิร์ตไหน ช่วงนี้ผมเลยต้องวิ่งฟิตร่างกาย เพราะไม่เคยโชว์เพลงเยอะขนาดนี้มาก่อน แล้วคนดูจะต้องเจอกับ The Yers ในแบบที่เป็นเราจริงๆ หมายความว่าคอนเสิร์ตนี้จะไม่เหมือนคอนเสิร์ตสิบปีขอวงดนตรีอื่นๆ คือเราจะเป็นมนุษย์ที่ต่อต้านการทำซ้ำกับคนอื่น อย่าหวังจะมีซีนเซอร์ไพรส์แบบที่เดินมาตรงกลางแล้วเล่นอะคูสติกตรงนั้น อย่าหวังว่าจะมีแขกรับเชิญเป็นร้อยเป็นพันคน อย่าหวังว่าจะมีการเอนเตอร์เทนคนแบบที่คนอื่นทำกัน แต่มีอีกลู่ทางหนึ่งที่ผมเชื่อว่าน่าสนใจกว่าในหนทางของเรา
อู๋ดูเป็นจุดศูนย์กลางของวง ทั้งแต่งเพลงและกำหนดทิศทางวง คุณต้องแบกความกดดันมากน้อยแค่ไหน
อู๋: บางเรื่องก็เยอะ อย่างเรื่องเพลง ผมเครียดมาก ผมทำดนตรีเพลงหนึ่งไว้ดีมาก แล้วจะเครียดมากกับเนื้อเพลงว่าจะต้องออกมาเป็นอย่างไรให้มันสมบูรณ์ แต่ว่าความกดดันเป็นสิ่งที่เราเริ่มมาตั้งแต่แรก ด้วยระบบของวงที่เป็นคนกลางออกไอเดียเกือบทุกเรื่องเสมอ มันเป็นความสุขที่แม้เราจะเหนื่อยหรือเครียด เราก็โอเคกับมัน ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาของวงขนาดนั้น แล้วการที่ผมเป็นหัวเรือ มันทำให้ทิศทางของวงชัดเจน พอแบรนด์ดิงแข็งแรง คนก็จับต้องได้ ว่ามันคืออะไร แล้วคนชอบอะไร
แล้วเวลามีความเห็นแย้งกันจัดการอย่างไร
อู๋: โดนปัดทิ้ง (หัวเราะ) แต่ในบางเรื่อง คือบางเรื่องผมฟังเพื่อน เช่น ท่อนนี้ของโชว์ทำแบบนี้ดีไหม สลับลิสต์เพลงเล่นดีไหม
ฟังดูคุณเป็นเผด็จการ
อู๋: ก็ประมาณหนึ่ง 80% แต่การปัดทิ้งของผมมีเหตุผล
คุณเชื่อว่าความคิดของเราน่าจะถูกต้องกับวงมากที่สุด
อู๋: มันไม่ใช่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง แต่มันคือผมชอบหรือไม่ชอบ จริงๆ เป็นเรื่องที่ผมสู้มาตลอดสิบปี จนหลังๆ คนเริ่มเข้าใจ ก็สู้น้อยลง ในช่วงปีแรกผมสู้มาตลอด อย่างเรื่องการแต่งตัว การแต่งเพลง เล่นสด เอ็มวี คนก็จะด่าผมเยอะมากว่าไม่เปิดใจหน่อยเหรอ เพลงอะไรฟังไม่รู้เรื่องเลย ร้องแบบนี้ไม่ได้ พออัลบั้มแรกปล่อยออกมา ผมก็หายเหนื่อย เข้าใจกูเสียทีว่าเป็นอย่างไร
เหมือนคุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) ที่กำลังต่อสู้เพื่อสิ่งนั้นอยู่ คืออุดมการณ์คือสิ่งที่เราต้องสู้ เรามองสิ่งที่ทำเป็นอย่างไร แล้วส่งผลอย่างไร ช่วยให้อนาคตเป็นอย่างไร ผมว่าต้องสู้กับคนไม่เข้าใจเสียที ช่วงแรกไปเล่นคอนเสิร์ต พอเล่นเสร็จ เรากลับเลย ไม่สุงสิงกับใคร เจ้าของร้านชวนไปกินเหล้า เราไม่อยากกิน ก็ไม่ไป ก็เราเป็นคนแบบนั้น สิ่งที่เราจะบอกคือ เราเป็นคนแบบนี้ เป็นตัวเอง เราก็ต้องพยายามทำให้เห็นว่าสิ่งที่เราทำไม่ได้เห็นแก่ตัว ไม่ได้เรื่องมาก ถ้าคุณเข้าใจเรา จะรู้ว่าผมเป็นแบบนี้ เหมือนตอนนี้ที่คนรอบข้างเข้าใจผม
มีอะไรอยากฝากถึงคุณธนาธรบ้างไหม
สู้ต่อไปครับ ตอนช่วงที่คุณธนาธรเปิดพรรคอนาคตใหม่ เขาจัดคอนเสิร์ตแบบคนรุ่นใหม่ มีวงโพลีแคท Bomb At Track แล้วเขาเชิญวงผมไปเล่น แต่ผมปฏิเสธเพราะไม่อยากยุ่งกับการเมือง คือผมยังไม่รู้จักพรรคเขาด้วยซ้ำ เราเป็นวงเดียวที่ปฏิเสธไป สิ่งที่อยากจะบอกคุณธนาธรคือผมขอโทษครับ ตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่าอุดมการณ์คุณเป็นอย่างไร
แสดงว่าเขาฟัง The Yers แน่เลย
ไม่น่าครับ เคยฟังสัมภาษณ์ เขาฟังแต่เพลงเก่า คนที่เคยฟัง The Yers คือคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) เป็นแฟนตัวยง เคยให้สัมภาษณ์ว่าวงไทยที่ชอบคือ The Yers
Fact Box
- The Yers วงดนตรีร็อกอินดี้ที่ก่อตั้งวงในปี 2546 ก่อนจะปล่อยอัลบั้มแรก Y ในปี 2554 กับค่ายสมอลล์รูม ต่อมาในปี 2557 พวกเขาย้ายบ้านมาอยู่จีนี่ เรคคอร์ด ในเครือแกรมมี และมีสองอัลบั้มจนถึงปัจจุบันคือ You ปี 2558 และ Cry อะคูสติกอัลบั้ม ในปี 2561
- สมาชิกปัจจุบันประกอบด้วย อู๋-ยศทร บุญญธนาภิวัฒน์ (ร้องนำและกีตาร์), ต่อ-พนิต มนทการติวงค์ (กีตาร์), โบ๊ท-นิธิศ วารายานนท์ (เบส) และบูม-ถิรรัฐ ภู่ม่วง (กลอง)
- พวกเขากำลังจะมีคอนเสิร์ต 10 ปีในชื่อ ไทยประกันชีวิต Presents HALL OF FAN Sunday Evening Concert ตอน The Yers 10 Years เปิดจำหน่ายบัตรวันที่ 30 ก.ค. - 25 ส.ค. 62 บัตรยืนราคาเดียว 399 บาท ในรูปแบบ E-Ticket ผ่านทาง Application The CONCERT หรือดาวน์โหลดได้ที่ http://onelink.to/xg82rs