“มึงจำคำกูไว้ เดี๋ยวกูจะเข้า TU Band แล้วทำ TU Band ให้เป็นวงร็อก”

ประโยคนี้เป็นคำพูดของเฟรชชี่คณะสังคมวิทยาฯ ม.ธรรมศาสตร์ คนหนึ่ง เมื่อ 20 ปีก่อน ที่พูดไว้เมื่อตอนที่เขาได้เห็นวงดนตรีประจำมหาวิทยาลัยเล่นในงานรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก

ตัดภาพมาที่อีกหนึ่งปีหลังจากนั้น เด็กหนุ่มคนเดียวกันได้เข้า TU Band ตามที่ตั้งใจ แต่แทนที่จะได้เล่นเพลงร็อก เขากลับได้เล่นเพลงสุนทราภรณ์แทน

ฟอร์เวิร์ดไปอีกทีตอนที่อายุ 25 หนุ่มนักดนตรีเลือกวางกีตาร์ แล้วไปเป็นเซลล์ขายรถ โดยไม่คิดว่าจะกลับมาเล่นดนตรีอีกครั้ง

มาที่ภาพปัจจุบัน ในวัย 38 ปี ผู้ชายคนเดียวกันกับคนที่เคยหันหลังให้งานเพลง กลายมาเป็นทั้งนักดนตรี นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ มิวสิกไดเรกเตอร์ ออกอัลบั้มของวงตัวเองมาแล้วสี่ชุด และร้องนำในบางเพลง แบบที่เรียกว่าเป็นทุกอย่างให้เธอแล้วในวงการดนตรีจริงๆ สำหรับ โอ – ทฤษฎี ศรีม่วง หรือ โอ มือกีตาร์ โปรดิวเซอร์ และคนแต่งเพลงเกือบทั้งหมดของวง Jetset’er

คุณรู้ตัวว่าชอบฟังเพลงมากมาตั้งแต่เมื่อไร

ชอบมาตั้งแต่เด็กเลย เป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่บ้านด้วย สมัยอนุบาล พ่อเปิดดิสโก้เธค ซึ่งน่าจะเป็นดิสโก้เธคที่แรกในร้อยเอ็ด เราก็เลยโตมากับเพลงดิสโก้ เพลงร็อกยุค ’80s ที่จริงพ่อเป็นช่างถ่ายรูป ไม่ใช่นักดนตรีอาชีพ แต่พ่อชอบดนตรี ชอบฟังเพลงมาก ที่บ้านเลยมีไวนิล มีเปียโน มีกีตาร์ มีเบส เราเห็นพ่อเล่นกีตาร์ตั้งแต่ตอนสัก 4-5 ขวบแล้ว เวลาพ่อไปรับจากโรงเรียนอนุบาลก็จะมาที่เธค ได้เห็นพ่อใส่วิกผมทอง เล่นกีตาร์ เฟี้ยวมาก แล้วพ่อก็เป็นคนสอนเราเล่นกีตาร์คนแรกตั้งแต่ตอนอยู่ ม.ต้น ตอนนั้นน่าจะอายุสัก 13 ได้

พอเริ่มชอบกีตาร์จริงจังขึ้น ก็บอกพ่อว่าอยากเรียนกีตาร์เพิ่ม แต่พ่อส่งไปเรียนเปียโนแทน ทั้งที่เราไม่อยากเรียนเปียโนเลย มันดูคุณหนู แต่ถึงวันนี้ต้องขอบคุณพ่อมาก เพราะมันช่วยในอาชีพการงานทุกวันนี้อย่างมหาศาล มันทำให้เราเห็นภาพรวมของการเรียบเรียงเพลงทั้งหมด คือเราไม่ได้เล่นเปียโนเก่งขนาดมือเปียโนเทพๆ นะ แต่การเล่นเปียโนมันช่วยในการเรียบเรียงเพลงได้เยอะ

ความที่ไม่ได้อยากเรียนแต่แรก ตอนนั้นก็เลยไม่ได้ตั้งใจเรียนเท่าไร แต่เราชอบฟังสิ่งที่คุณครูเล่นแล้วจำ ฟังแล้วจำ จำแล้วก็เล่นตาม สิ่งที่ได้ก็คือ ear training แล้วก็ชอบแกะเพลง แต่อ่านโน้ตนี่ไม่ได้เลย

สมัยนั้นชอบแกะเพลงวงไหนบ้าง

ส่วนใหญ่เป็นเพลงสากล เป็นเพลงร็อก ยุคนั้นยังเป็นเทปคาสเซ็ตต์ ตอนนั้นเรายังไม่มีกีตาร์ไฟฟ้า มีแต่กีตาร์โปร่งยามาฮ่าตัวละไม่กี่พันที่แม่ซื้อให้ แต่ถ้าเล่นเพลงร็อก มันต้องเป็นกีตาร์เสียงแตก เราก็เลยพยายามทำให้กีตาร์อะคูสติกได้เสียงใกล้เคียงกับเพลงอย่างของ Black Sabbath อะไรอย่างนี้ ก็เลยหาวิธี สุดท้ายก็หาปิ๊กอัพถูกๆ ราคาไม่กี่ร้อยติดกับกีตาร์โปร่ง แล้วก็เอาสายแจ็กไปเสียบช่องไมค์ของเครื่องเล่นเทปที่มันจะมีที่เสียบไมค์สำหรับร้องคาราโอเกะ สุดท้ายก็เร่งโวลุ่มเยอะๆ เสียงก็จะแตก

กว่าจะเจอวิธีนี้นี่ลองมาเยอะมาก เสียบมั่วซั่วเลย เพราะอยากเล่นกีตาร์เสียงแตก แต่ไม่มีกีตาร์ไฟฟ้า ไม่มีเอฟเฟ็กต์ พอค้นพบวิธีนี้ก็ได้ฟีลที่อยากได้ แต่มันก็เป็นการทำให้เครื่องพังด้วยนะ (หัวเราะ)

นอกจากพ่อแล้ว มีใครอีกไหมที่มีอิทธิพลกับเราเรื่องดนตรี

มีพี่ชาย เขาเป็นมือเบสวงโรงเรียน พี่ชายเป็นคนที่มีอิทธิพลกับเรามากเรื่องการฟังเพลง เพราะตอนนั้นเราไม่รู้ว่าไอ้เพลงแบบไหนคือเพลงที่เท่ เพลงที่ดี ก็จะได้จากพี่ชายนี่ล่ะ ดูว่ามันฟังเพลงอะไรวะ มันฟังเพลงไม่เหมือนชาวบ้านชาวช่องเขา แต่พี่ชายจะฟังเพลงร็อกและเป็นคนเอาเพลงพวกนี้มาให้เราฟังด้วย อารมณ์มันจะเหมือนในเรื่อง Sing Street ถ้าเป็นคนเล่นดนตรีแล้วมีพี่ชาย ดูเรื่องนี้แล้วน่าจะอินมากเหมือนเรา

ยังจำได้ไหมว่า เทปม้วนแรกที่ซื้อเองคืออะไร

เทปพี่เบิร์ด ชุด ธ.ธง เป็นไงล่ะ เล่ามาทั้งหมด เล่าถึงความเป็นชาวร็อก แต่เทปม้วนแรกที่ซื้อเองคือเพลงพี่เบิร์ด (หัวเราะ)

ที่เราไม่ได้ซื้อเทปเยอะเพราะว่าพี่ชายเราซื้อหมด ซื้อเยอะมาก พวกวงร็อกอย่าง ดิ โอฬาร โปรเจ็คท์, เดอะ ซัน, หิน เหล็ก ไฟ พวกนี้พี่ชายกวาดเรียบ พวกเพลงใต้ดินร็อกๆ อย่าง พราย ปฐมพร เราก็ได้ฟังจากเขา พอซื้อเองเลยซื้อพี่เบิร์ด เพลงป็อปๆ เราก็ฟังนะ เพราะมันก็ดีจริง แต่มันแค่อาจจะดูขัดกับความร็อกของเรานิดนึง

แล้ววงดนตรีแรกในชีวิตของโอคือวงไหน

ชื่อวง 6 O’clock ตอนอยู่ ม.5 อาจารย์ที่เป็นเจ้าของห้องซ้อมตั้งชื่อนี้ให้เพราะเห็นว่าทุกคนในวงมีตัว O ในชื่อกันหมดเลย จริงๆ ตั้งวงมาตั้งแต่ ม.ต้น แล้ว แต่พอขึ้น ม.ปลาย ก็เริ่มจริงจังขึ้น ได้เล่นงานโรงเรียน สมัยนั้นวงโรงเรียนที่ร้อยเอ็ดวิทยาลัยจะมีอยู่สองวง อีกวงเขาก็จะเล่นสไตล์โจ๊ะๆ หน่อยตามยุคสมัย แต่เราเลือกเล่นเพลงของแบล็คเฮด เล่นเพลงจากเรื่อง That Thing You Do! ตอนนั้นหนังมันเพิ่งมา เราดูแล้วก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันเท่ว่ะ อยากเล่น

เริ่มแต่งเพลงมาตั้งแต่สมัยนั้นเลยด้วยไหม

ตอน ม.ปลาย ยังไม่ได้แต่งเพลง ตอนนั้นจะแกะเพลงมากกว่า แต่ก็เริ่มรู้แล้วว่าเราชอบเพลงประมาณนี้ๆ นะ มาเริ่มเขียนเพลงเอาก็ตอนเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 ยังจำเพลงแรกที่เขียนได้อยู่เลย ไม่ได้อัดไว้นะ แต่จำได้ว่าคอร์ดมันประมาณไหน เนื้อหาก็จะเด็กๆ หน่อย

แต่ไม่ได้เอาเพลงนั้นมาใช้เป็นเพลง Jetset’er

โอ๊ย ไม่ได้เลยๆ เขินมาก (หัวเราะ)

พอเข้ามหาวิทยาลัยแล้วก็เล่นดนตรีมาตลอดเลยหรือเปล่า

ใช่ ที่ธรรมศาสตร์มันจะมีชุมนุมดนตรีสากล คือ TU Band แล้วไอ้ตอนที่เราอยู่ปี 1 เขาก็มีงานรับน้องที่จะมีศิลปินมาเล่น แล้วก็มี TU Band เล่นปิด เราดูแล้วก็หันไปบอกเพื่อนว่า “มึงจำคำกูไว้ เดี๋ยวกูจะเข้า TU Band แล้วทำ TU Band ให้เป็นวงร็อก” โคตรเอาแต่ใจอ่ะตอนนั้น เราพูดเพราะรู้สึกว่า TU Band เล่นเพลงวาไรตี้มาก แต่มันก็เป็นชุมนุมเดียวที่ทำให้เราได้เล่นดนตรีฟรีๆ แบบที่ไม่ต้องเสียค่าห้องซ้อม เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าชุมนุมนี้สิ แต่แค่ตอนแรกเราอาจจะไม่ได้ประทับใจมาก เพราะมองว่าไม่เท่ ถ้าเท่มันต้องร็อกดิวะ

พอปี 2 เราก็เลยเข้า TU Band แล้วเราก็ไปเล่นเพลงสุนทราภรณ์แบบ TU Band (หัวเราะ) สรุปก็เข้าไปอยู่ในวงจรนั้น แต่ต้องขอบคุณชุมนุมนี้มากๆ เพราะทำให้เราพัฒนาทักษะและขยายทัศนคติในการเล่นดนตรีของเราให้กว้างขึ้น เราไม่ได้อยู่แค่กับร็อกเท่านั้นแล้ว

แต่ไอ้ความเป็นร็อกที่จะเอาไปยัดเยียดเขาในตอนแรกก็ทำได้นะ เพราะหลายๆ คนที่อยู่ในชุมนุมช่วงนั้น พอซ้อมพาร์ทของชุมนุมเสร็จ แล้วเราเริ่มเดี่ยวกีตาร์เสียงแตกขึ้นมา ก็จะมีพวกเดียวกันมาเล่นรวมๆ กัน บางงานก็มีเพลงพวกนี้หลุดออกไปบ้าง 3-4 เพลง

แล้วโอเริ่มเล่นดนตรีกลางคืนด้วยตั้งแต่ช่วงไหน

เริ่มเล่นกลางคืนหาเลี้ยงชีพตอนปี 4 เล่นเป็นอะคูสติกกีตาร์กับนักร้องรุ่นพี่ที่ชุมนุม เขาชวนไปเล่นที่ร้านตรงเอกมัย ตื่นเต้นมากเพราะว่าไม่เคยเล่นดนตรีหาเงินมาก่อน ค่าตัวก็ถือว่าโอเค อาทิตย์หนึ่งเล่นสามวัน พฤหัสฯ ศุกร์ เสาร์

ช่วงนั้นเริ่มคิดแล้วหรือเปล่าว่า จบไปคงเป็นนักดนตรีมากกว่าทำงานด้านสังคมวิทยาที่เรียนมา

แน่นอน ตั้งเป้าไว้เลยว่าต้องมีวง ต้องเขียนเพลงเอง เป็นเป้าหมายที่ไว้ตั้งแต่ตอนเข้า TU Band แล้ว เพราะพอเราได้เล่นเพลงเยอะขึ้น ทั้งเพลงสุนทราภรณ์ เพลงมหาวิทยาลัย เพลงแจ๊ซ เพลงลูกทุ่ง งานกาชาดที่สวนอัมพรก็ไปเล่น เพราะมันเป็นประเพณีที่ CU Band, TU Band แล้วก็ RU Band จะไปแจมกัน เราก็ได้เห็นนักดนตรีเก่งๆ ของแต่ละที่ ได้เห็นว่าเวลาเล่นและเรียบเรียงเพลงแนวนี้มันเล่นเป็นยังไง ตรงนี้แหละที่สนุก

จุดเปลี่ยนอีกจุดก็คือตอนที่พี่ๆ เขาชวนไปที่ร้าน Saxophone ทำให้เราเห็นว่ามีนักดนตรีไทยเก่งระดับโลก ความรู้สึกของเด็กปี 2 ตอนนั้นมันรู้สึกว่า เฮ้ย มีคนเล่นเก่งๆ แบบนี้ในเมืองไทยด้วยเหรอวะ เล่นบลูส์ถึงๆ เล่นแจ๊ซถึงๆ คือเราไม่ได้อยู่แค่โลกของเราแล้ว เพราะได้พวกรุ่นพี่ช่วยเปิดโลกให้

พอบอกที่บ้านว่าจบไปจะเป็นนักดนตรีนะ เขาก็ไม่ได้ห้าม แต่ก็ไม่ได้สนับสนุน บอกว่ากลับมาทำธุรกิจที่บ้านดีกว่าไหมลูก เป็นนักดนตรีมันไม่มั่นคง

การเล่นดนตรีเริ่มกลายเป็นอาชีพจริงจังตั้งแต่เมื่อไร

ก่อนเรียนจบมันมีงานประกวดวงดนตรีในมหาวิทยาลัย เราก็ตั้งวงประกวดกัน ซึ่งก็เป็นที่มาของ Jetset’er นี่ล่ะ ได้เอ็ดดี้ (จุมพฎ จรรยหาญ-มือกลอง) ได้หมู (วรพจน์ วิศรุตนาถ-มือเบส) ได้เพื่อนๆ ใน TU Band มาร่วมวง คัตโตะ (อารมณ์ โพธิ์หาญรัตนกุล – นักร้องนำวงลิปตา) เป็นคนร้องนำ เราประกวดจนได้เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยแล้วไปแข่งทั่วประเทศ รอบชิงชนะเลิศไปแข่งที่จุฬาฯ

พอชนะงานนี้ มีพี่คนนึงเป็น sound engineer อยู่ที่แกรมมี่ เขาเรียกเข้าไปคุยที่ตึก ช่วงนั้นแกรมมี่กำลังจะเปิดร้านตรงศูนย์สิริกิติ์ ชื่อ เดบู คาเฟ่ เป็นที่ที่แกรมมี่เอาไว้เปิดอัลบั้มศิลปินส่วนใหญ่ พี่เขาก็บอกว่าอยากให้เราไปเล่นที่ร้านนั้น ช่วงเล่นที่นั่นเลยได้เล่นเวทีเดียวกับพี่ๆ มืออาชีพ วงที่เขาเล่นเป็นแบ็กอัพคอนเสิร์ตใหญ่ๆ ของแกรมมี่อย่างวงฟิวเจอร์  เรานี่เป็นเด็กน้อยเลยเมื่อเทียบกับเขา แต่มันก็ทำให้มันเราได้ฝึกเพิ่ม แล้วก็เริ่มหาที่อื่นเล่น ตามข้าวสาร ทองหล่อ เอกมัย ไปหมดเลย เล่นอาทิตย์ละสี่วัน บางคืนก็วิ่งรอกสองที่

หลังจากเล่นกลางคืนอยู่ 3-4 ปี เราเริ่มรู้สึกว่าความรู้ที่เรามีกับสิ่งที่เราเล่นได้มันไม่พอ ถ้าวันหนึ่งเราอยากทำเพลงเองแล้วมีความรู้แค่นี้ เราจะทำได้ยังไง ตอนนั้นยังใช้โปรแกรมอะไรไม่เป็นเลย ก็เลยไปเรียนด้าน sound engineer เพิ่มที่ SAE [School of Audio Engineering]

พอไปเรียนที่นั่นก็ได้เจอคนในสายงานนี้เยอะขึ้นไปอีก หนึ่งในนั้นคือ อาร์ต นักร้องนำวง Monkey Act ช่วงพักเรานั่งเล่นกีตาร์อยู่ที่โรงเรียน อาร์ตมายืนฟังแล้วก็บอกว่า เฮ้ย เล่นกีตาร์ดี มาช่วยอัดให้เราหน่อยได้ไหม กำลังทำเพลงอยู่ ตอนนั้นอาร์ตไม่ได้มีวงแล้ว แต่ยังอยากทำเพลง ก็เลยชวนเราให้ไปช่วย ซึ่งนั่นก็เป็นจุดที่ทำให้เราเอา Jetset’er ตั้งแต่สมัยยังไม่มีที (พิพิธพล พุกกะณะสุต-นักร้องนำ) ไปเสนอค่าย ทำเพลงเสนอไปอยู่เป็นปีแล้วก็ไม่ผ่าน ไม่ได้ออกเพลง แต่ก็ถือว่าได้ประสบการณ์ที่ดี ได้ความรู้หลายๆ อย่างจากผู้ใหญ่ สุดท้ายตอนนั้นก็ตัดสินใจว่าขอออกมาทำอินดี้เองดีกว่า เพราะเราอยากทำเพลงแบบที่เราอยากทำ

พอออกมาก็เลยทำเพลงอินดี้กับค่าย RIP Studio ทำกันสามคน มีเอ็ดดี้ หมู แล้วก็เรา ร้องเองด้วย ใช้ชื่อวงว่า Oreoh น่ารักไหมล่ะ (หัวเราะ) ซึ่งมันก็เป็นพื้นฐานของ Jetset’er นะ ตอนนั้นค่ายส่งเพลงไปให้แฟตเรดิโอด้วย ได้เป็น New Fat อยู่ประมาณอันดับที่สามสิบกว่า แต่แค่ได้ยินเพลงตัวเองดังในวิทยุตอนที่เราขับรถอยู่นี่ก็กรี๊ดลั่นรถแล้ว เวลาไล่ชาร์ตก็ลุ้นมากว่าเพลงเราจะติดไหม ไม่ต้องอันดับสูงหรอก แค่ได้ยินเขาเปิดในวิทยุก็ฟินแล้ว

หลังจาก Oreoh แล้วเป็น Jetset’er เลยหรือเปล่า

ไม่ เพราะมันมีจุดเปลี่ยนชีวิตครั้งใหญ่ เราเลิกกับแฟนแล้วเป๋ไปเลย ช่วงนั้นพังมาก เป็นช่วงอายุสัก 25 เราเลิกเล่นดนตรีกลางคืน เลิกทุกอย่าง เพราะรู้สึกว่าไม่เซลฟ์ หมดความเชื่อทุกสิ่ง คิดว่าการเป็นนักดนตรีแบบที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จมันคือเหตุผลที่เขาไม่อยู่กับเราหรือเปล่า ก็เลยเปลี่ยนมาใช้ชีวิตปกติแบบที่คนอื่นเขาเป็นกัน ทำงานกลางวัน เป็นพนักงานออฟฟิศ ตอนนั้นโทรหาเพื่อนเลยว่ามีอะไรให้กูทำบ้าง เพื่อนบอกว่ามึงชอบพูดคุย มึงน่าจะเป็นเซลล์ได้ เราก็ไปทำเลย ขายรถเชฟโรเล็ตทั้งที่ไม่รู้เรื่องรถ ดูโบรชัวร์ก็ยังงงเลย

สองเดือนแรกนี่งงมาก ผู้จัดการต้องคอยช่วย แต่พอทำได้สักครึ่งปี ค่อยๆ เรียนรู้ไป เฮ้ย มันเริ่มได้ว่ะ ช่วงมอเตอร์เอ็กซ์โปนี่ขายได้เดือนละ 10 คันเลย รายได้ก็ถือว่าดีสำหรับตอนนั้น ก็เลยรู้ว่า จริงๆ แล้วเราจะทำอะไรก็ทำได้ ถ้าเกิดเราตั้งใจเรียนรู้มัน

แต่มันจะมีช่วงที่อยู่โชว์รูมแล้วไม่มีลูกค้า เราก็นั่งจ๋อยๆ ถามตัวเองว่า อยากเป็นเซลล์ขายรถจริงๆ เหรอวะ ถึงเราจะขายได้ก็เถอะ แต่ก็รู้สึกว่ายังไม่ใช่น่ะ ยังมีความอยากทำดนตรีอยู่ แล้วเราก็เขียนเพลงในโชว์รูมตอนที่ว่างๆ นั่นแหละ เขียนเก็บได้สัก 2-3 เพลง

จนวันหนึ่ง รุ่นพี่ที่เรียน sound engineer ด้วยกันโทรมาหา บอกว่ากำลังจะทำห้องอัด อยากได้คนแต่งเพลงและชวนมาทำด้วยกัน เราเลยลาออกจากงานเซลล์เลย ส่วนเรื่องเลิกกับแฟนก็หายแล้ว จากที่รู้สึกว่าตัวเองห่วย ไม่เคารพตัวเอง ก็กลับมาเคารพตัวเอง เห็นคุณค่าตัวเอง พอโอกาสเรื่องงานเพลงมันกลับมาหาเราอีกรอบ เลยตัดสินใจมาทำต่อ

ตอนนั้นวงเรายังมีแค่สามคน เราร้องเองก็จริง แต่เรามองว่าตัวเองไม่ใช่นักร้องที่แข็งแรงพอถ้าจะต้องดีดกีตาร์แล้วเป็นฟรอนท์แมนด้วย ก็เลยออดิชั่นหานักร้อง มีคนสนใจเข้ามาลองสิบกว่าคน ทีมาเป็นคนสุดท้ายเลย ตอนนั้นเขาร้องเพลง ‘นิดนึงพอ’ พอได้ยินแล้วว่ารู้สึกว่าฟีลลิ่งมันได้ ก็หันไปบอกเจ้าของค่ายเลยว่า ผมเจอแล้ว คนนี้แหละพี่

กับงานเพลงชุดแรกที่ได้แต่งเอง โปรดิวซ์เองอย่างใจ มองย้อนกลับไปตอนนี้แล้วเป็นอย่างไรบ้าง

เพลงก็จะเป็นสไตล์กรู๊ฟๆ เลย เฟี้ยวฟ้าวหน่อยสำหรับเราในยุคนั้นนะ เราคิดว่าตอนนั้นมันเจ๋งแล้ว ของเยอะมาก มันคือโอกาสที่ได้ทำแล้ว เลยทำเหมือนเป็นอัลบั้มสุดท้ายของชีวิต มีอะไรก็ยัดๆๆ ใส่เข้าไป ผลก็คือมันเลอะเทอะ (หัวเราะ)

แต่อย่างเพลง ‘เชื่อในตัวฉัน’ ตอนที่ปล่อยออกไปเราไม่รู้หรอกว่ามันจะดังหรือเปล่า รู้แค่ว่ามันเป็นเพลงที่ดี แต่ก็รู้ว่าเพลงเรามันไม่ได้แมส เพราะฉะนั้นตอนที่มันขึ้นอันดับหนึ่งของ FM One ได้นี่กรี๊ดลั่นเลย

พอมาถึงชุด 2 เป็นอย่างไรบ้าง

พอจบอัลบั้มแรก ค่ายก็ทำอัลบั้มที่ 2 ต่อเลย ไฟเราก็ยังเยอะอยู่ ชุด 2 นี่เรียกว่าบ้าเลือดเลยล่ะ วางกีตาร์อะคูสติกไว้ก่อนแล้วหยิบกีตาร์ไฟฟ้ามาอัด เสียงแตกมาเลย ชุดนี้เราคิดว่าเราเรียบเรียงได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับชุดแรก เริ่มรู้ว่าตรงไหนที่ควรเด่น ตรงไหนที่ควรหลบ ไม่ใช่เติมอย่างเดียว  ชุดนี้เราได้เพลงอย่างเพลง ‘จูบ’ ‘ฝ่าไฟแดง’ ‘ใจร้าย’ แต่มันก็ไม่ได้ตู้ม ไม่ได้ทำให้วงเราดังขึ้นหรือคนรู้จักเรามากขึ้น

พองานมันไม่ได้เยอะอย่างที่คิด เรากับทีก็กลับไปเล่นกลางคืน เล่นอะคูสติกกันสองคนแล้วก็มีมือแซ็กโซโฟนอีกคน เพราะบางเดือนไม่มีงานหรือมีแค่เดือนละงานสองงาน มันก็อยู่ไม่ได้ ค่าจ้างตอนนั้นก็ยังไม่ได้เยอะ หารกันยิ่งเหลือน้อยไปใหญ่ ส่วนเอ็ดดี้กับหมูเขายังมีงานประจำ

นอกจากเล่นกลางคืนก็ไปแบ็กอัปให้พี่บี (พีระพัฒน์ เถรว่อง) ซึ่งเขาก็พาเรากับเอ็ดดี้เข้าไปเล่นให้เลิฟอีส (ค่ายเพลง LOVEis) เป็นช่วงที่เป็นมือปืนห้องอัด อัดเพลงให้ศิลปินหลายๆ คนและได้ขึ้นไปเล่นแบ็กอัปให้คอนเสิร์ตใหญ่ของเลิฟอีสด้วย ตรงนั้นนี่โคตรดีเลยเพราะเราได้เห็นการทำงานของพี่ไก่ (สุธี แสงเสรีชน) ที่เป็นมิวสิกไดเรกเตอร์ ได้รู้ว่ามันมีรายละเอียดเยอะมากแค่ไหนในการทำคอนเสิร์ต

ช่วงนั้นเรียกว่ามีอะไรให้ทำ เราทำหมด จนวันหนึ่งเพลง ‘จูบ’ มันเริ่มมา มันมาจากการที่วงกลางคืนเขาเริ่มเอาไปเล่นกันตามร้าน จู่ๆ ไปผับไหนก็เจอคนเล่น กลายเป็นเพลงประจำผับ คนเริ่มรู้จักเพลง แล้วก็ทำให้เรามีงานจ้างเพิ่มขึ้น ยิ่งพอเพลงได้รางวัล Record of the Year จากแฟตเรดิโอ เป็นรางวัลแรกที่วงได้ ก็เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้วงเราได้รับการยอมรับมากขึ้น

จากชุด 2 มาชุด 3 เว้นช่วงกี่ปี

ประมาณสามปี แล้วก็ย้ายจากค่ายเดิมคือ Zyd Records มาอยู่สนามหลวง พี่เต็ด (ยุทธนา บุญอ้อม) เรียกมาคุยว่าสนใจไหม เราคุยแล้วก็รู้สึกว่ามันคลิก เขาเองก็ให้อำนาจในการทำงานตามเงื่อนไขที่เราขอทุกอย่าง วงเราเคาะงานเองได้ ไม่ต้องผ่านใคร เขาก็บอกว่าอยากทำอะไรทำ ไม่เจ๊งก็พอ เราก็บอกว่า เจ๊งไม่เจ๊งไม่รู้ว่ะพี่ ผมก็ทำเต็มที่ของผม

ชุด 3 นี่มันเหมือนกับว่าในทางดนตรีเราเจอทางของเราแล้ว มันคือการเบลนด์สองชุดแรกเข้าด้วยกันแล้วหาตรงกลาง ไม่เบาไป ไม่หนักไป ตอนนั้นก็โดนครหาเหมือนกัน โดนค่อนแคะ ตามสไตล์วงอินดี้เข้าตึกใหญ่ โดนบอกว่าขายวิญญาณ แต่เราก็รู้ว่าวงเราทำอะไร และไม่ว่าจะทำอะไรมันก็หนีไม่พ้นคำวิจารณ์อยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเรารู้ตัวว่าทำอะไรอยู่ แล้วต่อให้เปลี่ยนค่าย แต่คนต้นทางที่สร้างงานมันคือศิลปิน ถ้าวันหนึ่งตัวต้นทางเขาคิดจะเปลี่ยน มันก็คือสิ่งที่เขาเลือกไง

ในเรื่องการทำงาน ตอนชุด 3 นี่สนุกมาก เพราะค่ายซัพพอร์ตทุกอย่าง เรารู้สึกว่าตัดสินใจถูกแล้วที่มาอยู่สนามหลวง ข้างนอกใครจะว่ายังไงก็ตามใจ แต่เรารู้ว่าเราทำงาน ตอนนั้นก็ได้จัดคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกตอนปี 2555 หลังจากออกอัลบั้มมาเจ็ดปี

คอนเสิร์ตนั้นคืองานแรกในฐานะมิวสิกไดเรกเตอร์ของโอใช่ไหม

ใช่ เป็นครั้งแรกที่ทำมิวสิกไดเรกเตอร์เอง ตื่นเต้นมาก เพราะมันเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกของวงเรา แล้วเราก็ต้องดูภาพรวมทั้งหมดของคอนเสิร์ตเอง แต่เราก็คิดว่าทำโชว์กับ TU Band มาก็เยอะ ส่วนเพลงนี่ก็รู้อยู่แล้วว่ามีเพลงอะไรบ้าง อารมณ์เพลงเป็นแบบไหน จริงๆ ในวงก็ช่วยๆ กันนะ จะบอกว่าทำคนเดียวไม่ได้หรอก

ช่วงนั้นน่าจะเรียกว่าเป็นช่วงพีคที่สุดของวง มีแฟนคลับที่ตามเราเป็นกลุ่มใหญ่เลย…แต่กลุ่มใหญ่ของ Jetset’er นี่ 20-30 คนก็ถือว่าใหญ่แล้วนะ (หัวเราะ) เวลาไปงานในกรุงเทพฯ เขาก็จะตามมาดูกัน มีป้ายไฟ ถ้าเจอแก๊งนี้ เราก็จะอุ่นใจว่า สบายแล้ว ซึ่งเดี๋ยวนี้มันไม่ได้เยอะเหมือนตอนนั้น แต่มีบางคนที่มีครอบครัวแล้วกระเตงลูกมาดูนะ แล้วก็มีแฟนเพลงกลุ่มใหม่ๆ บ้าง อย่างกลุ่มที่เป็นเด็กมัธยมเลย เวลาเราไปเล่นตามโรงเรียนหรือแคมปัสทัวร์แล้วเห็นแฟนเพลงรุ่นเด็กๆ ร้องตามได้ อย่างเพลง ‘จูบ’ ที่ผ่านมา 10 ปีแล้ว ตอนที่ปล่อยเพลงนี้ เขาน่าจะยังเด็กกันมาก แต่เขาก็ร้องกันได้ว่ะ เวลาเห็นแบบนี้ก็ปลื้มนะ เพราะเราไม่ได้คิดว่าเพลงมันจะมาถึงเจเนอเรชั่นนี้

ผ่านช่วงพีคมาแล้ว เรารู้สึกวูบๆ หรือกังวลบ้างไหม

ไม่นะ เราว่ามันเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดา กราฟชีวิตมันก็มีขึ้นลงตามปกติอยู่แล้ว เราก็แค่มีความสุขกับตอนนั้น ไม่ต้องไปกังวล ถ้าเรายังมีไฟ ถ้าเรายังมีความสุขกับการเขียนเพลง แต่งเพลง เล่นดนตรี ก็แค่ทำมันต่อไปเรื่อยๆ

ตอนนี้นอกจากอัลบั้มชุดที่ 4 ที่ออกมาเมื่อปลายปีที่แล้วและงานมือปืนห้องอัดที่ยังมีอยู่ตลอด โอยังมีทั้งงานโปรดิวเซอร์และงานมิวสิกไดเรกเตอร์ด้วย หน้าที่ที่เพิ่มขึ้นนี้เริ่มต้นได้อย่างไร

ทางค่ายมองว่าเราเหมาะก็เลยให้โอกาสตรงนี้ อย่างปีนี้ถ้าเป็นศิลปินในค่ายก็จะมีโอปอ (ประพุทธ์ พิมมาพา) กับซิน (ทศพร อาชวานันทกุล) ซินนี่เพิ่งเข้ามาอยู่ที่ White Music ค่ายก็ลองเรียกเรามาคุยกัน คุยแล้วไอเดียมันไปทางเดียวกันได้เลยลองทำงานด้วยกันดู ซึ่งปีนี้งานโปรดิวเซอร์จะมากขึ้นเพราะพอ Jetset’er ปิดอัลบั้มไปแล้ว เราก็เริ่มมีเวลาทำให้คนอื่นมากขึ้น

การโปรดิวซ์งานคนอื่นมันสนุกดีนะ ได้ลองทำโจทย์ใหม่ๆ ซึ่งเป็นโจทย์ที่เราไม่ได้วางเอง อย่าง Jetset’er นั่นเราเป็นคนวางภาพรวมเอง แต่ศิลปินอื่นอย่างโอปอ น้องเขาเป็นเด็กที่มีของเยอะ เราก็สนุกในการทำงาน เขามีไอเดียที่มาจากตัวเขาเอง เราก็มาช่วยตัดขอบ เติมนู่น เติมนี่ให้ มันก็เป็นวิธีการทำงานอีกแบบที่ต่างไปตอนทำวงเรา เพราะเราจะต้องคุยกับตัวศิลปินก่อน เพื่อให้รู้ว่าเขาได้ยินเสียงในหัวเป็นแบบไหน เรามองว่าอันไหนเข้าท่า เห็นภาพเดียวกัน ก็จะวางว่าจะเอาใครมาอัด ไปอัดที่ไหน ถึงจะได้ซาวนด์แบบที่เขาอยากได้ยิน เหมือนเป็นคนช่วยเลือกเสื้อผ้า เลือกช่างตัดเย็บ ให้เขาได้ชุดที่ออกมาพอดีตัว

งานมิวสิกไดเรกเตอร์ก็อย่างที่เล่าว่าเริ่มจากคอนเสิร์ตตัวเองก่อน ถัดมาเป็นคอนเสิร์ต Whitehaus ครั้งแรกและครั้งที่ 2 ซึ่งตอนครั้งแรกนี่เหนื่อยมาก เพราะเป็นคอนเสิร์ตของศิลปินทั้งค่าย White Music เพลงเยอะมาก ตอนนั้นใช้พลังงานแบบหมดก๊อกจริงๆ ก๊อกสองงัดขึ้นมาแล้วก็ยังหมด กลับไปบ้านแต่ละวันนี่สลบเลย เพราะว่าเวลาอยู่ในห้องซ้อมเราต้องใช้ความคิดตลอดเวลา แล้วเราเล่นเองด้วย ไม่ใช่แค่เรียบเรียงแล้วคุมวงซ้อม เราเลือกเล่นไปด้วยเพราะชอบและมีความสุข แต่เวลาเล่น ในหัวเราก็ต้องคิดไปด้วยตลอดเวลา เวลาซ้อมชั่วโมงครึ่ง สองชั่วโมง แล้วพักประมาณ 15 นาที ช่วงนั้นจะรู้สึกว่าหัวเราหมุนติ้วๆ เลย เลือดวิ่งขึ้นมาที่หัวจนหน้าแดง หัวร้อนเลย แต่พอผ่านมาได้ก็รู้สึกว่ามันสนุกดี ได้อัพเลเวลให้ตัวเอง

ถึงจะใช้พลังเยอะมาก แต่มันเป็นงานที่เราชอบ เพราะเราชอบแกะเพลงอยู่แล้ว เวลาแกะเพลงแต่ละเพลงแล้วเรียบเรียงใหม่ มันเหมือนเป็นการสังเคราะห์ว่าคนแต่งเพลงนี้เขาแต่งขึ้นมาได้ยังไง ซึ่งในการเป็นมิวสิกไดเรกเตอร์ เราต้องสังเคราะห์ออกมา แล้วก็ต้องแจกแจงให้ทุกคนในวงเล่นให้ได้ ซึ่งมันจะต้องเป็นเวอร์ชั่นสำหรับคอนเสิร์ตด้วย ให้มันต่างไปที่เคยฟัง

ส่วนปีนี้ที่แน่ๆ ก็มี 2 คอนเสิร์ต คือคอนเสิร์ต First Date ของผลิต (เป๊ก-ผลิตโชค อายนบุตร) ตอนเดือนเมษาฯ และคอนเสิร์ตของ Zeal กลางเดือนมิถุนาฯ ของผลิตที่ห่วงหนักๆ คือห่วงแค่เรื่องเวลามากกว่า เพราะว่าคิวของน้องค่อนข้างแน่นมาก แต่ในเรื่องการทำงาน เราเคยทำงานกับน้องมาก่อนแล้วตั้งแต่ตอนคอนเสิร์ต Whitehaus ครั้งที่ 2 เรื่องเวลาก็ใช้เวลาดูว่าเป๊กมีเวลาให้เรา ให้วงเท่าไหร่ ในช่วงเดือนครึ่งถึงสองเดือนก่อนถึงคอนเสิร์ต ซึ่งดูแล้วว่ามันเพียงพอ พอวางแผนไว้แล้วก็ไม่ได้กดดัน

บรรยากาศในการซ้อมคอนเสิร์ตของเป๊กตั้งแต่ตอนแรกจนถึงตอนนี้ที่อีกไม่ถึง 36 ชั่วโมงก็จะถึงรอบแรกเป็นอย่างไรบ้าง

บรรยากาศการซ้อมเริ่มด้วยความชิลล์แล้วมาเข้มข้นเอาตอนโค้งสุดท้ายก่อนวันจริงประมาณสองอาทิตย์ เรากับวงต้องเก็บรายละเอียดเพลงให้คมชัดทั้งหมด

แรกเริ่มเดิมทีตั้งใจจะคุมวงอย่างเดียว แต่พอลิสต์รายชื่อเพลงที่จะเล่นมาปุ๊บ แกะไปแกะมา เสี้ยน อยากเล่นเองตามสไตล์ ก็เลยขึ้นไปประจำการบนเวทีด้วย เล่นยาวเกือบทั้งโชว์ ถ้าใครถามว่าเหนื่อยไหม ตอบเลยว่าสองเดือนที่ผ่านมานับว่านอนน้อยที่สุดล่ะ เหนื่อยเถอะ (หัวเราะ) แต่พอมันเป็นงานที่เรารัก เราทำมันด้วยหัวใจ ยังไงก็เอนจอย

นอกจากจะแกะเพลงอย่างเข้าใจแล้ว การเป็นมิวสิกไดเรกเตอร์จำเป็นต้องรู้จักคาแรกเตอร์ของศิลปินด้วยใช่ไหม

แน่นอนว่าการทำคอนเสิร์ตให้ศิลปินไม่ว่าคนไหนหรือกลุ่มไหน มิวสิกไดเรกเตอร์จำเป็นต้องรู้จักคาแรกเตอร์ของศิลปินนั้นๆ เป็นอย่างดี ในกรณีของผลิต ผลิตมีความเป็นศิลปินที่เรียกว่าครบเครื่อง น้ำเสียงมีเอกลักษณ์ พื้นฐานการร้องดี เต้นเก่ง ขี้เล่น เป็นที่น่าเอ็นดู และทุ่มเทให้กับการซ้อมคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกมากๆ

กดดันไหมในการรับหน้าที่ทำคอนเสิร์ตให้กับศิลปินที่มีคนรักเยอะมากอย่างเป๊ก

ตอบเลยว่าไม่ เพราะเรามั่นใจในตัวผลิตและทีมงานทุกคน รวมถึงตัวเราเองด้วย ทุกคนทุ่มเทกันมากๆ จากที่ได้ทำงานกันมา มั่นใจว่าจะต้องออกมาดีแน่นอน

ถ้านับตั้งแต่เริ่มเป็นเริ่มเล่นดนตรีเป็นอาชีพมาถึงตอนนี้ก็ 17 ปีแล้ว มีทั้งกราฟขึ้นและกราฟลง ตอนช่วงที่ลงที่สุด เคยคิดจะเลิกอาชีพนักดนตรีไหม

ไม่เคยเลย เราแค่บอกตัวเองว่ามันยังไม่ใช่เวลา แล้วก็แค่ปรับตัวตามสิ่งที่เกิด จริงๆ มันอยู่ที่เรา ถ้าเราทำตัวให้มันพอดีกับสถานะที่เป็นอยู่ เราก็จะอยู่ได้เสมอ ตอนช่วงที่เรากลับไปเล่นกลางคืนหลังจากออกชุด 2 นั่น เราไปรับจ้างเล่นดนตรีตามห้างด้วยนะ เล่นที่เซ็นทรัลเวิลด์นี่ล่ะ ตรงลานข้างๆ ที่นั่งคุยกันอยู่นี่ล่ะ จำได้เลย ซึ่งมันก็เป็นประสบการณ์ที่ดีเพราะเราก็ได้เล่นเพลงหลากหลายขึ้น อย่างเพลงแนวบอสซาโนวาหรือเพลงแจ๊ซ

ช่วงนั้นในวงก็จะคุยกันตลอดว่า อยู่ให้ได้นะพวกเรา ตอนนี้งานอาจจะน้อยหน่อย ลำบากหน่อย ก็ค่อยๆ ปรับตัวกันไป

ทำมาหมดทั้งแต่งเพลง โปรดิวซ์งาน คุมคอนเสิร์ต อัดเพลงให้ศิลปินอื่น และร้องเอง มีเรื่องอะไรในกระบวนการทำเพลงอีกไหมที่เรายังไม่ได้ทำและอยากทำ

อยากทำเพลงร็อก เพราะชอบร็อกมานานแต่ยังไม่เคยแต่งแนวนี้เลย เดี๋ยวคงต้องทำแล้วล่ะ เพราะว่าข้างในมันเรียกร้อง

แต่ถ้าในแง่ของกระบวนการทำงานก็คิดว่าเราลองมาเกือบหมดทุกหน้าที่แล้ว ถ้าอยากทำให้มากขึ้นน่าจะเป็นเรื่องของการทำงานกับคนอื่น กับสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย ออกจาก safe zone ของตัวเอง แล้วเอาสิ่งที่เรามี intersect กับคนอื่น ดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มๆ ทำแนวนี้มากขึ้นล่ะ การเป็นมิวสิกไดเรกเตอร์หรือโปรดิวเซอร์มันให้โอกาสเราในการทดลองทำอะไรกับคนอื่นๆ

อยู่ในวงการมาเกือบ 20 ปี เคยคิดไหมว่าต่อไปอีก 20 ปีข้างหน้า จะเห็นตัวเองอยู่ตรงไหนในวงการเพลง

ขอบวกก่อนนะว่าอายุเท่าไหร่ (หัวเราะ) คิดว่าก็น่าจะเป็นตาลุงที่สะพายกีตาร์อยู่ โปรดิวซ์เพลงให้หลานๆ ทำงานเบื้องหลัง มีความสุข แล้วก็คิดว่าตอนนั้นน่าจะมีอะไรที่มันเรียบง่ายมากขึ้น เพราะใจจริงก็อยากทำสวนเล็กๆ เหมือนกัน แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ยังไม่ทิ้งดนตรีแน่นอน เพราะว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของเราไปแล้ว

Fact Box

โอ-ทฤษฎี ศรีม่วง เริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่อายุ 13 โดยมีพ่อเป็นครูสอนกีตาร์คนแรกในชีวิต ก่อนจะเล่นมาอย่างต่อเนื่องและตัดสินใจว่าจะเป็นนักดนตรีเต็มตัวตั้งแต่สมัยเรียนอยู่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ และเป็นนักดนตรีประจำวง TU Band ซึ่งเป็นที่ที่ทำให้เขาได้เจอกับสมาชิกวง Jetset’er ในเวลาต่อมา

ปัจจุบัน วง Jetset’er มีอายุวง 14 ปี และมีผลงานออกมาแล้วทั้งหมดสี่อัลบั้ม คือ Jetset’er: The Album สังกัด Zyd Records, Nude สังกัด Zyd Records, Jet’s สังกัดสนามหลวงการดนตรี และ Magic Moment สังกัด White Music

นอกจากจะเป็นนักดนตรีแล้ว โอยังเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับศิลปินอีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็นโอปอ ประพุทธ์, ซิน ทศพร, หมอเอิ้น-พิยะดา, โรส-ศิรินทิพย์ และน้องๆ วง Natural จากเวทีฮอตเวฟมิวสิกอวอร์ด รวมถึงเล่นกีตาร์อัดเพลงให้กับศิลปินอีกมาก ทั้งในและนอกหลังคาแกรมมี่

ตลอดชีวิตของโอตั้งแต่เริ่มเล่นดนตรีมาจนถึงทุกวันนี้ มีเพิ่งช่วงเดียวในชีวิตที่เขาห่างจากการเล่นดนตรีคือช่วงที่อกหักครั้งใหญ่ แต่นอกนั้นแล้วดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขาเสมอ แม้กระทั่งตอนเทรกกิ้งขึ้นเขา Annapurna Base Camp ที่เนปาล โอก็ยังเอากีตาร์ติดตัวไปด้วยเพื่อเล่นระหว่างที่พักตามจุดพักต่างๆ เรียกว่าสำหรับเขาแล้ว กีตาร์ถือเป็นของมันต้องมีสำหรับการเดินทางในทุกทริป

Tags: , , , , , , , ,