1. กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ

วลี “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” กลายเป็นกระแสดังบนโลกโซเชียลภายในชั่วข้ามคืนของวันที่ 23 ตุลาคม โดยวลีเด็ดที่ว่านี้มาจากเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่10 ทรงตรัสกับนายฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ขณะเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรที่มารอเข้าเฝ้าหลังเสร็จสิ้นภารกิจพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งภายหลังนายฐิติวัฒน์ได้นำคลิปเหตุการณ์ที่ว่าเผยแพร่ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว และถูกแชร์ต่ออย่างแพร่หลายด้วยเวลาอันรวดเร็ว ลามไปไกลถึงสำนักข่าวชื่อดัง อาทิ รอยเตอร์ ซีเอ็นเอ็น

สาเหตุที่ทำให้วลี “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” โดนหยิบมาวิพากษ์วิจารณ์บนสังคมโซเชียลแบบถึงพริกถึงขิงเพราะนายฐิติวัฒน์ ผู้ที่ในหลวงรัชกาลที่10 ทรงตรัสด้วยนั้นคือชายที่เพิ่งเป็นข่าวยืนถือภาพพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ปิ่นเกล้า ในขณะเดียวกันกับที่กลุ่มม็อบราษฎรบริเวณนั้นกำลังชุมนุมประท้วง จนต่อมาได้เกิดคำถามจากเหล่าม็อบราษฏรว่า วลี ‘กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ’ มีนัยยะสำคัญอะไรแอบแฝงอยู่หรือเปล่า?

วลี กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ นับวันยิ่งถูกตีความไปต่างๆนาๆตามแต่ละฝ่าย ยกตัวอย่างเช่นบน ‘เพจเฟซบุ๊ก จิตอาสาพระราชทาน’ ได้ออกมาอธิบายความหมายไว้ตามนี้ว่า

‘กล้ามาก’ ที่ยังยืนหยัดในศรัทธาของตนเอง ถึงแม้จะมีผู้เห็นต่างอยู่รายรอบตัว

‘เก่งมาก’ ที่ควบคุมสติสัมปชัญญะ และจิตใจของตนเองได้ดีในสถานการณ์แบบนั้น

‘ขอบใจ’ ที่ยังเชื่อมั่นในสถาบัน และไม่ก่อความรุนแรง เพิ่มความขัดแย้งให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ในหมู่คนไทยด้วยกัน

แต่ในส่วนของแอคเคาท์ทวิตเตอร์คณะจุฬา (@NisitChulaParty) กลับใช้วลีนี้ดัดแปลงเป็นโค้ดเพลงเชียร์เพื่อสันทนาการระหว่างจัดกิจกรรมชุมนุม โดยมีเนื้อหาเพลงพร้อมจังหวะปรบมือสั้นๆ คือ

ต้นเสียง : กล้ามั้ย กล้ามั้ยยยย

มวลชน : กล้ามาก กล้ามากกก

พร้อมกัน : กล้ามาก (ปรบมือ 1 2)

กล้ามาก (ปรบมือ 1 2)

เก่งมาก (ปรบมือ 1 2)

ขอบใจ (ปรบมือ 1 2)

(ติดกัน) กล้ามาก กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ 12 112 12 12 1

นอกจากนี้ กิจกรรมกีฬาสีของนักเรียนมัธยมหลายโรงเรียน ยังมีการนำวลีนี้ไปใช้บนสแตนเชียร์เช่นเดียวกัน โดยล่าสุด ที่โรงเรียนนารีรัตน์ จังหวัดแพร่ ก็ได้มีการนำไปใช้ และกลายเป็นต้นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต้องเข้าไปตรวจสอบถึงความเหมาะสม ตลอดเวลาที่ผ่านมา สังคมยังมีการนำเอาวลีดังกล่าวไปดัดแปลงอีกมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งเพลง มีม ซึ่งสุดท้ายแล้วการจะตีความแบบใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาน และบริบทของแต่ละบุคคลเป็นตัวกำหนดนั่นเอง

2. จ้วบจ้าบ

วลีเด็ด “หยุดจ้วบจ้าบสถาบัน” ที่กลายเป็นไวรัลให้พูดถึงไปทั่วอินเตอร์เน็ต จนถึงขั้นติดเทรนด์ในทวิตเตอร์นั้น มีที่มาจากคอมเมนต์ในแอพพลิเคชั่นยอดฮิตอย่าง TikTok ที่กล่าวไว้ว่า “หยุดจ้วบจ้าบสถาบัน” ซึ่งคาดว่าเป็นการพิมพ์ผิดจากคำว่าว่า “หยุดจาบจ้วงสถาบัน”

กระแสของคำว่า จ้วบจ้าบ นั้น กลายเป็นที่พูดถึงไปทั่วอินเตอร์เน็ตจนกลายเป็นทั้ง มีม (Meme) กรอบโปรไฟล์เฟสบุ๊ค และเทรนดิ้งในทวิตเตอร์ จนกลายเป็นคำฮิตติดปากของชาวเน็ตในการใช้พูดกันในระหว่างเพื่อน อีกทั้งกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) ได้ดัดแปลงประโยคดังกล่าวให้กลายเป็นคำว่า “หยุดจ้วบจ้าบประชาชน” เพื่อเป็นการบอกว่าการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกนั้น ไม่มีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังเหมือนที่ “กลุ่มประชาชนรักสถาบัน” ได้กล่าวอ้างไว้

โดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2545 ได้ระบุความหมายของคำว่า ‘จาบจ้วง’ ไว้ว่า อาจเอื้อม, ล่วงเกินผู้อื่นด้วยวาจา, จ้วงจาบ ส่วนตัวอย่างการใช้คำว่า จ้วบจ้าบ เป็นต้นว่า“หยุดจ้วบจ้าบสถาบัน” แปลได้ว่า หยุดอาจเอื้อมสถาบัน “หยุดจ้วบจ้าบประชาชน” แปลได้ว่า หยุดล่วงเกินประชาชน “หยุดจ้วบจ้าบหัวใจเรา” แปลได้ว่า หยุดจ้วงจาบหัวใจของเรา

3. มันคือแป้ง

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมีนาคม ในการ “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” ของพรรคอนาคตใหม่ ได้มีการเปิดโปง ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวว่า เมื่อตอน ร้อยเอก ธรรมนัส มีอายุ 27 ปี และอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย เขาได้โดนถูกแจ้งความดำเนินคดีฐานสมคบคิดในการขนยาเสพติดจากกรุงเทพฯ ออสเตรเลีย ในขณะนั้นที่ใช้ชื่อว่า มนัส โบกพรหม พร้อมให้การรับสารภาพ และยอมรับโทษจำคุก 4 ปี ก่อนถูกส่งตัวกลับประเทศ

แต่เมื่อได้ฟังดังนั้น ทางด้านร้อยเอก ธรรมนัสก็ออกมาชี้แจงว่าเขาไม่เคยรับสารภาพว่าเป็นผู้นำเข้า ส่งออก จำหน่ายเฮโรอีนในประเทศออสเตรเลีย แถมบอกอีกว่ารัฐธรรมนูญของไทยตราขึ้นเพื่อใช้ในประเทศไทยเท่านั้น เพราะฉะนั้นกฎหมายของประเทศอื่นนั้นจะนำมาบังคับใช้ในประเทศไทยไม่ได้

“ประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร การจะอ้างคำสั่งใด ๆของประเทศอื่นมามีผลบังคับใช้กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 ไม่ได้” ร.อ. ธรรมนัสกล่าว และในขณะที่ ร้อยเอก ธรรมนัส กำลังอธิบายตัวเองอยู่นั้น เขาก็ได้พูดว่า สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามยาเสพติดของออสเตรเลียบอกว่าเป็นเฮโรอีนนั้น “มันคือแป้ง” จนกลายเป็นวลีเด็ดทอล์กออฟเดอะทาวน์ ที่มีคนนำมาล้อเลียนมากมาย

ซิดนีย์มอร์นิ่งเฮอรัลด์ สื่อของออสเตรเลียที่เคยรายงานเอกสารคดีดังกล่าวก็ได้ออกมาเผยแพร่บทความว่า “รัฐมนตรีชาวไทยผู้ที่ยอมรับสารภาพในคดีเฮโรอีนในซิดนีย์ตอนนี้อ้างว่ามันเป็นแป้ง” อีกด้วย การตอบโต้ “มันคือแป้ง” ของ ร้อยเอกธรรมนัสในครั้งนี้ทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามมากมายถึงความชอบธรรมของคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในแง่ของความชอบธรรม และความสามารถในการบริหารประเทศ แต่จนแล้วจนรอด ผ่านมาจนใกล้ขึ้นปีใหม่ เก้าอี้ของร้อยเอกธรรมนัส ก็ยังเหนียวอยู่จนถึงทุกวันนี้

4. #ผนงรจตกม

งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 มีไฮไลท์ที่น่าสนใจไม่แพ้ผลการแข่งขันฟุตบอล นั่นคือสีสันการแปรอักษรและขบวนพาเหรดล้อการเมืองทั้งของทั้งจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ท่ามกลางการคุมเข้มของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ขอความร่วมมือไม่ให้นำเสนอภาพ หรือการแปรอักษรที่มีเนื้อหาล่อแหลม รวมทั้งป้ายผ้าที่มีข้อความล้อการเมืองในขบวนพาเหรด ที่มีข้อความดุเดือดเสียดสีรัฐบาลก็ถูกเซ็นเซอร์ไม่ให้เข้าสนามด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามด้วยพลังคนรุ่นใหม่ แม้จะถูกคุมเข้มหรือเซนเซอร์จากเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ยังสร้างสรรค์ป้ายผ้าล้อการเมืองได้อย่างเจ็บแสบ โดยเฉพาะป้ายผ้าที่มีข้อความว่า ‘“ผนงรจตกม WE WILL PASS AWAY TOGETHER” ของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนมีการแชร์กันเยอะบนโลกออนไลน์ จนกลายเป็น แฮชแท็กฮิตในทวิตเตอร์ พร้อมกับการตีความกันไปต่างๆ นานา ว่ามันหมายถึงอะไรกันแน่

จนทวิตเตอร์ วิวาทะ @quote_wiwata ได้เฉลยว่า “ทำป้ายอย่างไร ให้เอาออกมาโชว์ได้โดยไม่ถูกยึด 555 ผนงรจตกม = ผู้นำโง่เราจะตายกันหมด ซึ่งประโยคนี้ คือประโยคดังที่ ‘หนูดี’ วนิษา เรซ ผู้อำนวยการโรงเรียนวนิษา หรือเป็นที่รู้จักในนามผู้แต่งหนังสือ “อัจฉริยะสร้างได้” เคยโพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ @nudi_vanessa ระบุว่า “ขอพูดอะไรแรงๆ สักครั้งในชีวิตค่ะ พูดแล้วจะร้องไห้…น้ำท่วมไม่กลัว กลัวอย่างเดียว…ผู้นำโง่ เพราะพวกเราจะตายกันหมด” สมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ต้องเจอกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ซึ่งในเวลาต่อมา แม้หนูดี จะปฏิเสธว่าข้อความดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ ‘ผู้นำ’ หมายถึง ‘ผู้นำชุมชน’ แต่ข้อความในทวิตเตอร์ดังกล่าว ก็โผล่มาทุกครั้ง ทุกปี โดยเฉพาะเวลาเกิดเหตุอุทกภัย หรือเวลาที่ผู้นำ ทำอะไรที่ไม่ฉลาด..

ทั้งนี้ #ผนงรจตกม มักขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์บ่อยครั้ง ยามประชาชนหัวร้อนเมื่อไม่พอใจต่อนายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างการแถลงข่าวกรณีเหตุกราดยิงโคราช ในท่าทางที่สบายจนเกินไป แถมยังไม่สำรวม จนขึ้นอันดับหนึ่งเทรนด์ทวิตเตอร์ในช่วงเวลานั้น

5. Work from Home (WFH)

ในทางประวัติศาสตร์ คำนี้เกิดตั้งแต่เมื่อแรกมีอินเตอร์เน็ต และมนุษย์เงินเดือน พนักงานออฟฟิศ เริ่มมีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเป็นของตัวเอง ทำให้ไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน หลายครั้ง สามารถทำงานที่บ้านได้ หากติดธุระ รู้สึกไม่สบาย มีเหตุจำเป็นต้องเลี้ยงลูก หรือรู้สึกไม่อยากเข้าออฟฟิศโดยไม่ทราบสาเหตุ ตัวย่อ WFH ที่เป็นตัวย่อของ work from home นั้น เริ่มมีการใช้ในทวิตเตอร์อย่างแพร่หลาย ตั้งแต่ปี 2006 หรือ 14 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ทวิตเตอร์ยังจำกัดตัวอักษรอยู่ที่ 140 ตัว สะท้อนให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหม่

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโรคโควิด – 19 คำนี้ อย่างเป็นทางการ ก็ถูกนำมาใช้เป็นวงกว้างทันที ตั้งแต่วันที่จีนปิดเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 จีนเริ่มให้พนักงานหลายเมืองที่เดินทางมาจากอู่ฮั่น work from home เรื่อยไปจนถึงเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง ฯลฯ

ในที่สุด เมื่อโรคนี้ เดินทางมาถึงประเทศไทย โดยมีเหตุการณ์การระบาดเป็นวงกว้างแบบ Super Spreader ที่สนามมวยลุมพินี วันที่ 6 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา กลายเป็นแรงส่ง ทำให้เกิดการประกาศล็อคดาวน์ ให้ปิดห้างสรรพสินค้า ปิดสถานที่ทำงาน ปิดร้านอาหาร และทุกธุรกิจที่ไม่จำเป็นทั่วประเทศ WFH ก็ถูกใช้งานอย่างจริงจัง ทุกออฟฟิศ ขอให้พนักงานทำงานที่บ้าน ประชุมผ่านโปรแกรม Zoom เพื่อ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ ลดการติดต่อระหว่างกัน เพื่อ ‘กดกราฟ’ ผู้ป่วย ให้ลดลงจากที่สูงสุดที่วันละ 143 คน ให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อรักษาทั้งชีวิตคน ทั้งระบบสาธารณสุขไว้ให้ได้ ก่อนที่จะเริ่มมีการผ่อนปรนล็อคดาวน์ ให้เริ่มเปิดกิจการต่างๆ เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม ผู้คนจึงได้กลับมาเจอหน้ากัน ออฟฟิศเริ่มกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง และคำว่า WFH ก็ค่อยๆ ถูกใช้น้อยลง

กระนั้นเอง หลายออฟฟิศ ก็เล็งเห็นว่าการ WFH ในต่างกรรม ต่างวาระ ก็ไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานน้อยลง จึงทำให้หลายบริษัท ให้พนักงาน WFH ในวันที่ไม่จำเป็นได้มากขึ้น ปรากฏการณ์ที่สำคัญช่วง WFH ได้แก่ความแพร่หลายของสินค้าหลายชนิด อาทิ หม้อทอดไร้น้ำมัน (Air Fryer) ต้นไม้ประเภทปลูกได้ในคอนโดมิเนียม เก้าอี้ – โต๊ะทำงาน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม หลังจากเริ่มเปิดทำการตามปกติ หลายบริษัท (ที่ยังไม่ได้ลดพนักงาน) ได้อาศัยโอกาสนี้ให้พนักงานที่ไม่มีประชุม ไม่ต้องหาลูกค้า WFH อาทิตย์ละวัน หรือสองวัน พร้อมๆ กับลดเงินเดือนไปด้วย เพราะเห็นว่าพนักงานไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

ตัวอย่างการใช้คำว่า WFH เช่น: วันนี้ขอ WFH นะคะหัวหน้า รู้สึกไม่ค่อยสบาย หรือ ผมรักงานของผมมาก เพราะผมสามารถ WFH ได้ สัปดาห์ละ 3 วัน เป็นต้น

6. ถ้าการเมืองดี

กระแสความตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองในหลายรูปแบบ ทั้งการลงถนนเพื่อเข้าร่วมการชุมนุม การเป็นท่อน้ำเลี้ยงช่วยสนับสนุน การเป็นการ์ดแนวหน้าดูแลความปลอดภัยให้ประขาชน และการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านช่องทางออนไลน์หลายรูปแบบ รวมไปถึง แฮชแท็ก #ถ้าการเมืองดี ที่มียอดทวิตอย่างน้อย 4 แสนครั้ง

แฮชเท็ก #ถ้าการเมืองดี เป็นแฮชแท็กที่สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคนและทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จนนำไปสู่การตั้งคำถามต่อสวัสดิการจากภาครัฐ ระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข การขนส่งสาธารณะ สิ่งแวดล้อม สิทธิเสรีภาพ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และหลักการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจตุลาการ ผ่านการใช้ แฮชแท็กนี้ ยกตัวอย่างการใช้ แฮชแท็ก #ถ้าการเมืองดี ผ่านทวิตเตอร์ เช่น

#ถ้าการเมืองดี ศิลปะจะไม่ใช่เรื่องไกลตัว เราจะไม่ต้องมาเสียเวลากับขนส่งสาธารณะที่ไม่ได้คุณภาพ เราจะมีหนังสือให้อ่านในราคาที่จับต้องได้ necessity goods เข้าถึงทุกชนชั้น ผ้าอนามัย ยาสีฟัน ฯลฯ ธุรกิจรายย่อยแข่งกับนายทุนได้ เราจะมีเวลานึกถึงความฝันและอนาคตเพื่อตนเอง จากทวิตเตอร์ @zornitsaxx

#ถ้าการเมืองดี เราจะกระจายความเจริญไปสู่ต่างจังหวัด จะมีการจ้างงานและคนในพื้นที่มีรายได้ ไม่ต้องเข้ามากระจุกอยู่แต่ในกรุงเทพ พ่อแม่ไม่ต้องฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายายที่ต่างจังหวัด เค้าจะมีอาชีพและอยู่ดูแลชุมชนของเค้าได้โดยไม่ต้องมาทำงานโรงงานหรือรับจ้างในเมืองหลวง จากทวิตเตอร์ @vivianthehooker

ข้อความในเบื้องต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการตั้งคำถามต่อภาครัฐ ผ่านแฮชแท็ก #ถ้าการเมืองดี ประเทศจะพัฒนาอย่างไร ประชาชนจะได้รับสวัสดิการ การคุ้มครองแบบไหน แล้วคุณล่ะ คิดว่า ถ้าการเมืองดี ชีวิตเราจะเป็นอย่างไร?

7. ให้มันจบที่รุ่นเรา

ในวันที่ท้องถนนกลายเป็นที่ชุมนุมในการเดินหน้าขับไล่เผด็จการอย่างทรงพลังและเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าการต่อสู้ในครั้งนี้จะยาวนานแค่ไหน พวกเขาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ความขัดแย้งทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ ให้มันจบที่รุ่นเรา’

หากจะสืบสาวถึงที่มาของคำว่า ให้มันจบที่รุ่นเรา นั่นเริ่มตรงจุดไหน คำตอบโดยชัดแจ้งคงเป็นไปได้ยาก เพราะนี่คือหนึ่งในอีกหลายคำที่ปรากฎบนทวิตเตอร์ ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่กำลังสร้างวัฒนธรรมชิิ้นใหม่อันเป็นของคนในยุคสมัยนี้โดยเฉพาะ “ลึกๆ แล้ว เราอยากให้จบเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพราะเราไม่อยากจะทนอยู่ในสภาพสังคมแบบนี้แล้ว เราไม่อยากจะทนในการต้องมีหมายจับหรือการถูกดำเนินคดี เราอยากให้เกิดสังคมที่เป็นประชาธิปไตยเร็วที่สุด” ความเห็นของ อั๋ว-จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ถึงคำดังกล่าวที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในปัจจุบัน

“โครงสร้างสังคมไทยเป็นระบบที่กดกันลงมาเป็นทอดๆ ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจก็พยายามใช้อำนาจมาบีบเรา ทั้งอำนาจสั่งการ อำนาจศาล อำนาจจับกุมต่างๆ สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าการต่อสู้ของพวกเราไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างอายุ การต่อสู้ของพวกเราไม่ได้เป็นเรื่องระหว่างวัย แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างผู้มีอำนาจกับประชาชนธรรมดามากกว่า เราต่อสู้เพื่อสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียม”

“อยากให้มันจบที่รุ่นเรา เราไม่สามารถสัญญาได้ว่าจะเป็นตอนไหน แต่เราก็พยายามจะผลักดัน ขับเคี่ยวไปเรื่อยๆ เพื่อให้ผู้มีอำนาจคิดได้แล้วว่าเราอยากเห็นสังคมดีขึ้น ไม่ใช่พอพวกเราออกมาก็หาวาทกรรมมาใส่ร้าย ถ้าทำแบบนี้ไม่จบแน่ๆ”

จะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้ว ‘รุ่นเรา’ ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงคนรุ่นใหม่ คนรุ่นก่อน วัยรุ่น หรือรุ่นใหญ่ แต่อย่างใด แต่กลับหมายถึงภายในเร็ววันที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะต้องอย่าลืมว่าการต่อสู่ทางการเมืองจนเกิดคำดังกล่าวนี้ ล้วนมีราคาที่ต้องจ่าย มีการเสียสละยอมแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นอยู่เสมอ

8. เฟมทวิต

ช่วงเดือนมิถุนายน ‘เฟมทวิต’ กลายมาเป็นคำคุ้นตาที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในโลกโซเชียล หลังมีการปะทะกันระหว่าง กลุ่มเฟมินิสต์ในทวิตเตอร์ที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘เฟมทวิต’ กับกลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์ในนามว่า The sanctuary of เบียวชิบหาย ที่ถกเถียงกันถึงประเด็น #มองนมไม่ผิด

เดิมทีคำว่า ‘เฟมทวิต’ เป็นการใช้เชิงเสียดสีกลุ่มที่ออกมารณรงค์เรื่องความเสมอภาคทางเพศและต่อต้านเรื่องการเหยียดเพศ ตลอดจนการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิงผ่านทวิตเตอร์ แต่กลุ่มต่อต้านมองว่าพวกเขาเป็นแค่เฟมินิสต์ที่เอาแต่ ‘ฉอด’ ในทวิตเตอร์ไปวันๆ ไม่ได้ลงมือทำอะไรเหมือนเฟมินิสต์ตัวจริงที่ขับเคลื่อนอยู่นอกโลกออนไลน์

ภายหลังกลุ่มที่ถูกเรียกว่า ‘เฟมทวิต’ ได้ใช้คำนี้ในความหมายใหม่เพื่อสื่อสารสิ่งที่ตัวเองเรียกร้อง จากคำที่มีความหมายดูแคลนจึงพลิกมาเป็นคำที่ใช้นิยามตัวเองได้อย่างภาคภูมิ เห็นได้จากผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายคนที่หันมาใช้คำนี้ในชื่อแอคเคาท์ของตัวเอง

แถมนับวันประเด็นสิทธิสตรีในไทยก็ยิ่งได้รับการพูดถึงมากขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องกฎหมายการทำแท้ง การคุกคามทางเพศ รวมสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเองที่จะใส่อะไรก็ได้ ผู้หญิงที่ถูกสังคมชายเป็นใหญ่กดทับมานานต่างพร้อมใจกันออกมาส่งเสียงของพวกเขา จนตอนนี้คนที่นิยามตัวเองว่าเป็น ‘เฟมินิสต์’ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

9. I hear too

ปีนี้นับว่ากระแสการเมืองในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่มีความตื่นตัวเป็นอย่างยิ่ง ดังที่เราได้เห็นการเคลื่อนไหวในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะม็อบบนถนนที่นอกจากจะขับเคลื่อนเป้าหมายทางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแล้ว ยังเต็มไปด้วยสีสันและความสร้างสรรค์ที่น่าสนใจ ราวกับเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ของการเคลื่อนไหวในรูปแบบม็อบขึ้นมา

นอกจากรูปแบบแล้ว คลื่นการเคลื่อนไหวนี้ยังก่อให้เกิด ‘ข้อความ’ หรือ ‘ประโยค’ ใหม่ๆ ที่ผู้ชุมนุมใช้สร้างความเข้าใจกันในการชุมนุมประท้วง บ้างก็ใช้เปล่งเสียงพร้อมกันเพื่อพลังบางอย่างในการรวมตัว หนึ่งในคำยอดนิยมคือ ‘I hear too’ ที่ฟังเผินๆ คือคำภาษาอังกฤษทั่วไป ที่แปลตรงตัวได้ความหมายว่า ‘ฉันได้ยินเหมือนกัน’ ซึ่งมีนัยยะสะท้อนถึงสิ่งที่กลุ่มผู้ชุมนุมหรือคนรุ่นใหม่พูด มักถูกกลืนหายไปเสมอ แต่การที่มีผู้ร่วมชุมนุมออกมารวมตัวกันมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เพื่อเป็นการบอกว่า พวกเขาได้ยินสิ่งที่เพื่อนร่วมอุดมการณ์ต้องการเช่นเดียวกัน

เพียงแต่ว่า เมื่อประโยคนี้ถูกเปล่งออกมาจากผู้ชุมนุมอย่างพร้อมเพรียงกัน มันฟังคล้ายกับเป็นการอ้างอิงถึงบุคคลผู้หนึ่งในแง่ของการก่นด่า และกลายเป็นประโยคฮิตนับแต่นั้นมา ดังนั้น ในแง่นี้ ประโยค ‘I hear too’ จึงเป็นประโยคภาษาอังกฤษที่ใช้สื่อสารกันในกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งไม่ได้แปลว่า ‘ฉันได้ยินเหมือนกัน’ เพียงแค่อย่างเดียว

ความฮิตของประโยคนี้เพิ่มมากขึ้นเมื่อมีการใช้ประกอบบทเพลง ‘1 2 3 4 5 I Love You’ ของวง The Bottom Blues ที่มีนักร้องนำคือ แอมมี่ – ‘ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์’ ศิลปินผู้บ่ายหน้าเข้าสู่เส้นทางการต่อสู้ทางการเมืองร่วมกับกลุ่มเยาวชนปลดแอก นัยว่า เมื่อถึงท่อนฮุกที่ต้องร้องว่า ‘1 2 3 4 5 I love you’ ก็ถูกแปรเปลี่ยนไปเป็น ‘1 2 3 4 5 I hear too’ ไปเรียบร้อย จนทุกวันนี้ไม่สามารถกลับไปร้องตามเนื้อเพลงเดิมได้อีกแล้ว

แม้ I hear too อาจจะฟังดูก้าวร้าวไปบ้างในแง่เป็นคำด่า แต่มันก็สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของประชาชน โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่เขามีต่อผู้นำได้อย่างชัดเจนจริงๆ เพราะอย่าลืมว่า ถ้าการเมืองดี อนาคตของพวกเขาก็จะดีตาม

10. มิได้เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง

คำว่า “มิได้เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง” มีที่มาจากประกาศราชกิจจานุเบกษาวันที่ 2 กันยายน 2563 เรื่องการแต่งตั้งให้ดำรงตำฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตราพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยระบุว่า นางสาวสินีนาฏ วงศาวชิราภักดิ์ มิได้เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง จึงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงฐานันดรศักดิ์ เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี กับตำแหน่งข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหารและยศทหาร และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตรา โดยให้ถือว่า ไม่เคยถูกถอดถอนฐานันดรศักดิ์กับตำแหน่ง

เมื่อประชาชนส่วนใหญ่เห็นรายละเอียดในราชกิจจานุเบกษาฉบับดังกล่าว จึงพากันติดแฮชแท็กคำว่า #มิได้เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง บ้างก็ดัดแปลงคำเสียใหม่เป็น ‘มิได้เป็นผู้มีมลทินแมวเหมียว’ ส่งให้คำดังกล่าวกลายเป็นไวรัลชั่วข้ามคืน

วิธีใช้คำ “มิได้เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง” ส่วนใหญ่มักใช้พูดกับคนรักเวลาทำผิดแล้วยอมรับผิด ฝ่ายที่ยกโทษให้จะสามารถใช้คำว่า ‘มิได้เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง’ เพื่อตอบรับคำขอโทษหรือกล่าวปลอบใจอีกฝ่ายได้เช่นกัน

Tags: ,