No news is good news
(การไม่มีข่าวคือข่าวดี)
สำนวนภาษาอังกฤษที่ใช้เมื่อเราไม่ได้ยินข่าวคราวจากใครสักคนมาระยะหนึ่งซึ่งหมายถึงการที่เขาคนนั้นน่าจะอยู่สุขสบายดี ไม่มีเรื่องให้รบกวนใจ สำนวนที่ถูกนำมาใช้พูดถึงเหตุบ้านการเมืองเช่นกันว่าการไม่มีข่าวนั้นคือการที่บ้านเมืองเป็นปกติดี ไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายจนต้องแทรกคิวขึ้นหน้าหนึ่งในแต่ละวัน
แต่มันไม่ใช่สำนวนที่ใช้ได้กับปี 2020 แน่ๆ
ปี 2020 ที่เรียกได้ว่า ‘โหด’ ที่สุดปีหนึ่งของมนุษยชาติ หรืออย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตของใครหลายคน ความหนักหน่วงของปีนี้ถึงขั้นที่ Time Magazine ฉบับธันวาคม 2020 ใช้คำว่า “The Worst Year Ever” (ปีที่เลวร้ายที่สุดตลอดกาล) ลงบนปก พร้อมเครื่องหมายกากบาท X สีแดงซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ที่นิตยสาร Time จะใช้ในช่วงเวลาวิกฤตจริงๆ เท่านั้น
12 เดือนท่วมท้นไปด้วยข่าวสารถาโถมเข้ามาไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เริ่มต้นปีตั้งแต่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความขัดแย้งระหว่างขั้วมหาอำนาจโลก สงครามก่อการร้าย การจากไปของบุคคลสำคัญในแวดวงต่างๆ และโรคระบาดครั้งใหญ่ที่เปลี่ยนโลกในทุกระดับไปตลอดกาล
The Momentum รวบรวม 10 ข่าวต่างประเทศที่สร้าง ‘แรงกระเพื่อม’ ที่สุดแห่งปี ที่ถึงแม้การไม่มีข่าวนั้นอาจเป็นข่าวดีดั่งที่สำนวนภาษาอังกฤษได้ว่าไว้ แต่อย่างน้อยที่สุด การได้บันทึก ทบทวน เรียนรู้จากข่าวที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อาจพอทำให้เรากำหนดได้ว่าจะใช้ชีวิตแบบไหน ในปี 2021 ที่กำลังจะมา
‘ไฟป่าออสเตรเลีย’ เหตุการณ์เริ่มต้นปีใหม่ที่สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ต่อระบบนิเวศ
หลังเปิดศักราชใหม่ได้เพียงไม่กี่วัน ทั่วโลกต่างตกตะลึงกับเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าครั้งประวัติศาสตร์ในรัฐนิวเซาท์เวลส์และรัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ที่เริ่มลุกโหมมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2019 ก่อนจะสามารถควบคุมไฟได้ในช่วงเดือนมีนาคม
ความเสียหายครั้งนี้กินพื้นที่ราว 12.6 ล้านเฮกตาร์ (ราว 78 ล้านไร่) คร่าชีวิตสัตว์ป่านับพันล้านตัว เผาไหม้ที่พักอาศัยและทรัพย์สินของผู้คนหลายพันหลังคาเรือน และชาวออสเตรเลียร้อยละ 57 ได้รับผลกระทบจากควันพิษที่ปกคลุมไปหลายพื้นที่
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น นักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาเตือนว่าสภาพอากาศร้อนและแห้งขึ้นจะทำให้เกิดไฟป่าถี่และรุนแรงขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็วและครอบคลุมพื้นที่เป็นวงกว้างมากขึ้นด้วย
แต่ขณะที่โลกกำลังเดินเข้าสู่ปากเหว ผู้นำบางประเทศกลับไม่ได้ตระหนักถึงปัญหานี้ และเลือกที่จะรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไว้แทนการเยียวยาภาวะโลกร้อน ‘สกอตต์ มอร์ริสัน’ นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียเองก็ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในนั้น
เนื่องจากเขามุ่งผลักดันให้ออสเตรเลียเป็นแชมป์การผลิตและส่งออกถ่านหินในตลาดโลก สวนทางข้อตกลงปารีสที่ออสเตรเลียตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ร้อยละ 26-28% ภายในปี 2030 แถมเขายังยืนยันที่จะดำเนินการตามนโยบายเดิมทุกประการ จนภายหลังประชาชนออสเตรเลียออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลงมือแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง
ไฟป่าออสเตรเลียเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ว่าโลกกำลังทยอยเอาคืนสิ่งที่มนุษย์ได้ก่อ หากไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ได้ อีกในไม่ช้าโลกอาจต้องพบกับผลกระทบที่ร้ายแรงกว่าที่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย
‘สหรัฐฯ – อิหร่าน’ สงครามโลกครั้งที่ 3 ไม่มาตามนัด
3 มกราคม 2020 เกิดเหตุการณ์ ‘ช็อกโลก’ ขึ้น เมื่อพลตรีคัสเซม โซไลมานี นายทหารระดับสูงของอิหร่าน ผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ถูกกองกำลังสหรัฐอเมริกาลอบสังหารด้วยโดรนติดอาวุธที่สนามบินนานาชาติแบกแดด สร้างความโกรธแค้นให้กับชาวอิหร่าน ส่งให้ตลาดหุ้นดิ่งลงฮวบฮาบทันที เมื่ออิหร่าน ประกาศ ‘พร้อมรบ’ กับสหรัฐอเมริกา เพื่อล้างแค้นให้กับนายพลโซไลมานีอย่างสาสม ทั่วโลกต่างก็วิตกกังวลว่าการต่อสู้ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน จะขยายวงกว้างเป็นการต่อสู้ระหว่างผู้นำโลกเสรี อย่างสหรัฐฯ กับตะวันออกกลางอย่างเต็มรูปแบบ และก่อตัวเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ในที่สุด
ท่ามกลางความร้อนแรงในตะวันออกกลาง อยู่ดีๆ วันที่ 8 มกราคม ก็เกิดเหตุเครื่องบินโบอิง 737-800 ของสายการบินยูเครน อินเตอร์เนชันแนล แอร์ไลน์ ตกใกล้กับสนามบินนานาชาติเตหะราน อิหร่าน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตยกลำกว่า 176 คน โดยมีคลิปวิดีโอชัดเจนว่าเครื่องบินดังกล่าวถูก ‘ยิงตก’ ชัดเจน
ในที่สุด ทางการอิหร่านก็ออกมาแถลงยอมรับว่า เป็นความผิดพลาดของมนุษย์ ที่ยิงเครื่องบินตก เนื่องจากช่วงเวลานั้น เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการ ‘ยิงถล่ม’ ฐานทัพ 2 แห่งในอิรักที่ทหารสหรัฐฯ ประจำการอยู่พอดี และคิดว่าเครื่องบินดังกล่าว เป็นเครื่องบินของกองทัพสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้ปฏิบัติการของอิหร่าน จึงตัดสินใจยิงเครื่องดังกล่าวตกทันที
เมื่อเกิดเหตุเครื่องบินตกจนมีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตมากมาย สงครามขนาดใหญ่ที่หลายคนเชื่อว่าจะปะทุขึ้นแน่ๆ ก็จบลงกลางคัน ประชาชนชาวอิหร่านหลายพันคน ออกมาเดินขบวนประท้วงกลางกรุงเตหะราน เรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบเหตุการณ์เครื่องบินยูเครนตก แทนที่จะสนับสนุนการแก้แค้นให้นายพลโซไลมานี
ตลอดปี 2020 ยังมีการปะทะกันประปราย ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านหลายครั้ง แต่เมื่อทั้งสหรัฐฯ และอิหร่าน ถูกศัตรูตัวฉกาจ ที่ชื่อว่า โควิด – 19 เล่นงานจนอ่วม สงครามระหว่างทั้ง 2 ชาติ ก็ไม่ได้รุนแรงอย่างที่หลายคนคาด
Parasite ภาพยนตร์เอเชียเรื่องแรกที่ได้รางวัลสูงสุดจากเวทีออสการ์
การก้าวมาจนถึงจุดนี้ของภาพยนตร์ Parasite นับเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่ทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียต้องจับตามองเพราะนี่คือหนังจากประเทศเกาหลี ที่ทีมงานทั้งหมดเป็นคนเกาหลี สามารถคว้ารางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture) จากเวทีออสการ์มาครอง และอีก 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม (Best Original Screenplay) รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Director) และรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม (Best International Feature Film)และยังถือเป็นการเฉลิมฉลองให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีในวาระครบรอบ 100 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1919 ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าสนใจมากว่าปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
‘การสนับสนุนจากภาครัฐคือหนึ่งในตัวแปรสำคัญ’ ในอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี (Korea Wave) โดยมีจุดแข็งอย่างหนึ่งที่สำคัญ คือการที่รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่ได้แค่วางแผนยุทธศาสตร์อย่างเดียว แต่ยังเป็นแหล่งสนับสนุนทุกด้านให้กับผู้ผลิต อาทิ แหล่งเงินทุน งบประมาณ หรือจับคู่บริษัทยักษ์ใหญ่ให้เป็นสปอนเซอร์ผู้ผลิตบางราย ในการผลิตรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และนักร้อง นักดนตรี ไปจนถึงการแก้กฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการผลิตอุตสาหกรรมบันเทิง รวมถึงผลิตงานวิจัยเพื่อสร้างเนื้อหาที่แปลกใหม่ออกไป จนทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้
โดยในปี 2019 รัฐบาลเกาหลีได้เพิ่มเงินทุนสำหรับการผลิตภาพยนตร์มากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 300 ล้านบาท) ต่อปี โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมเกาหลีใต้ในต่างประเทศ อีกทั้งภายใต้กฎหมายส่งเสริมภาพยนตร์ของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ระบุว่า ต้องมีการฉายภาพยนตร์ท้องถิ่นปีละ 140 วัน หรือประมาณ 40% ของทั้งปี เพื่อเป็นการโปรโมตภาพยนตร์ และยังเปิดโอกาสให้บริษัทผู้ผลิตเนื้อหาที่แปลกใหม่มากยิ่งขึ้น ไม่จำเป็นต้องทำเพียงหนังประเภทรักปนเศร้า ตลกปนซึ้ง หรือหนังผีคอมเมดี้ เท่านั้น
ผลลัพธ์ก็เป็นไปตามคาด เพราะการลงทุนครั้งใหญ่ของเกาหลี ได้รับผลตอบแทนจากการที่ Parasite สามารถทำเงินได้มหาศาล เอาเฉพาะแค่ตลาดนอกบ้านอย่างในสหรัฐฯ ก็ทำเงินได้มากถึง 165 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 515 ล้านบาท)
‘ถึงแบคอัพจะดีขนาดไหน คอนเทนต์ก็ต้องดีไม่แพ้กัน’ เพราะหากพูดถึงตัวหนังเอง บง จุน โฮ (Bong Joon-ho) ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ ‘Bong Joon-ho Menon’ ที่ทำการสั่นคลอนวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลกในฐานะหนังที่ก้าวข้ามกำแพงของภาษา เปิดโอกาสให้หนังต่างประเทศมีพื้นที่ในเวทีประกวดมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นแรงกระตุ้นให้นักทำหนังมีกำลังใจและเกิดความมุ่งมั่นทุ่มเทในการผลิตผลงานในอนาคตข้างหน้า
#Blacklivesmatter แรงกดทับที่แสนอยุติธรรมบนคอของ ‘จอร์จ ฟลอยด์’
ประเด็นเรื่องการเหยียดสีผิวนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาในสังคมอเมริกัน เนื่องจากในอดีตชาวผิวสีนั้นถูกใช้เป็นแรงงานทาสสำหรับคนผิวขาวในช่วง ศตวรรษที่ 19 และแม้ว่า อับราฮัม ลินคอล์น จะประกาศเลิกทาศหลังจากการชนะสงครามกลางเมือง (Civil War) มาเป็นเวลาร้อยกว่าปีแล้ว แต่ด้วยสภาพสังคมทำให้กลุ่มคนผิวสีในอเมริกันยังคงถูกกดทับ ด้วยอำนาจที่มองไม่เห็นจากการเลือกปฏิบัติ และการแบ่งแยก
25 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมาได้เกิดคดีสะเทือนขวัญที่เป็นชนวนการประท้วงครั้งยิ่งใหญ่ในประเทศสหรัฐฯ โดยไม่เกรงกลัวเชื้อไวรัสโควิด เนื่องด้วยการตายของ จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายผิวสีที่ถูกตำรวจใช้กำลังจับกุมจนเสียชีวิต จากการที่นายตำรวจในรัฐมินิโซตา ใช้เข่ากดทับที่บริเวณคอของเขานานถึง 8 นาทีจนเขาเสียชีวิต จากคลิปวิดีโอที่มีการถ่ายไว้จะเห็นได้ว่า ฟลอยด์ นั้นไม่ได้ขัดขืนการจับกุมแต่อย่างใด และตะโกนว่า “ผมหายใจไม่ออก” (I can’t breath) ถึง 4 ครั้ง แต่นายตำรวจทั้ง 2 นายที่ทำการจัดกุม ก็ไม่ได้ยกเข่าออกจากคอของเขาแต่อย่างใด
จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันถึงการทำเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ว่า การเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ เกิดจากอคติในการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่? เพราะในอดีตนั้น เคยมีคดีในรูปแบบเดียวกันที่ทำให้ ผู้ต้องหาชาวผิวสีต้องเสียชีวิตจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง
มีการเก็บข้อมูลทางสถิติพบว่าในจำนวนผู้ต้องหา 1,000 คน หากคุณเป็นคนผิวดำคุณมีแนวโน้มว่าจะถูกวิสามัญ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่าคนผิวขาวสูงถึง 2.5 เท่า ถึงแม้ว่าคุณจะไม่มีอาวุธอยู่ในมือเลยก็ตาม จึงทำให้เกิดกระแสโกรธเกรี้ยวของมวลชน และเริ่มออกเดินประท้วงของผู้คนของรัฐต่างๆในประเทศสหรัฐฯ พร้อมเกิดวลีที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ชาวผิวสีที่เขียนไว้ว่า #Blacklivematter และ #JusticeforGeorgefloyd เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ จอร์จ ฟลอยด์
โดยเฉพาะกับในรัฐมินิโซตาที่มีการรวมตัวกันที่หน้าสถานีตำรวจเขต 3 ซึ่งเป็นสถานีที่ “ดีเร็ก ชอฟวิน” ตำรวจผู้ใช้เข่ากดลงที่คอของฟลอยด์จนเสียชีวิต การประท้วงได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทั้งพ่นสีสเปรย์ใส่กำแพงสถานี และรถตำรวจ จนทางตำรวจต้องสลายการชุมนุมโดยใช้น้ำผสมกับสารเคมีฉีดเข้าใส่ผู้ชุมนุม จนผู้ว่าการรัฐมินิโซตา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และเรียกกองกำลังแห่งชาติ (National Guard) มากวกว่า 600 คน มาเพื่อควบคุมสถานการณ์
สถานการณ์ยิ่งบานปลายไปเรื่อยๆ เมื่อมีการประท้วงเพิ่มขึ้นอีกในหลายเมืองใหญ่ทั่วประเทศ อาทิ เดนเวอร์, เมมฟิส, โคลัมบัส, ฟีนิกซ์, พอร์ตแลนด์, แอลบูเคอร์กี, ลอสแอนเจลิส และนิวยอร์ก ที่ถึงแม้ว่าจะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นมาก แต่ก็มีผู้คนบางส่วนที่ก่อความรุนแรงสร้างความเสียหายแก่บ้านเมืองอีกด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้นจึงเป็นประเด็นถกเถียงกันว่า สิ่งที่กดทับอยู่บนคอของ จอร์จ ฟลอยด์ นั้น อาจไม่ใช่เพียงแค่แรงกดทับของ ‘ดีเร็ก ชอฟวิน’ แต่เป็นแรงกดทับของการแบ่งแยก การเหยียดสีผิว และความไม่เท่าเทียมกันของเชื้อชาติ ที่ทำให้เขาต้องตาย เพียงแค่เพราะใช้ธนบัตรปลอมในการซื้อบุหรี่เท่านั้นเอง
เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าไม่ใช่เพียงแค่ ‘ทุกชีวิตมีค่า’ แต่สิ่งที่พวกเขาเรียกร้อง #Blacklivematter อาจจะเป็นเพียงแค่การขอร้องให้สังคมยอมเปิดตามองเห็นว่า ชีวิตของคนผิวสีนั้น เท่าเทียมกับทุกคนเสียที
‘โควิด-19’ โรคระบาดมรณะแห่งศตวรรษที่ 21
ปี 2020 คงไม่มีข่าวใด เหตุการณ์ใด หรือวิกฤตการณ์ใด ที่จะสั่นสะเทือนโลก ได้มากกว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 อีกแล้ว
โรคระบาดมรณะรอบใหม่ ที่ถูกบันทึกว่ารุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ รองจากโรคระบาดใหญ่ในอดีต อย่างกาฬโรค ฝีดาษ และไข้หวัดสเปน ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนจำนวนหลายล้านทั่วโลก
เริ่มจากเดือนธันวาคม 2019 ณ เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน มีรายงานว่า พบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจาก ‘เชื้อไวรัสปริศนา’ ต่อมามีการติดต่อระหว่างคนสู่คนอย่างรวดเร็ว ประกอบกับเป็นช่วงตรุษจีนที่มีชาวจีนนับหมื่นเดินทางกลับภูมิลำเนา รวมถึงท่องเที่ยวไปยังประเทศต่างๆ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ที่ลุกลามบานปลายเกินกว่าใครจะคาดคิด
ต้นปี 2020 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern :PHEIC) พร้อมตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘โควิด-19’ ก่อนจะยกระดับให้โควิด-19 เป็นภาวะโรคระบาดใหญ่ (pandemic) หลังจากยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างควบคุมไม่ได้ รัฐบาลหลายประเทศในยุโรป เอเชีย แอฟริกา สหรัฐอเมริกา รวมถึงไทย ออกมาตรการล็อกดาวน์ ปิดสนามบิน ปิดเมือง สั่งให้ประชาชนอยู่บ้าน รักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing)
ผลกระทบของเชื้อไวรัสมรณะครั้งนี้ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจไปทุกองคาพายพ เมื่อสนามบินถูกปิด สายการบินและธุรกิจท่องเที่ยวพังพินาศ กิจการร้านรวงต่างๆ ล้มครืนจากมาตรการปิดเมือง บริษัทเล็กใหญ่พากันล้มละลาย ปิดกิจการ ผู้คนตกงาน ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จนถึงฆ่าตัวตาย ถึงขั้นที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF วิเคราะห์ว่า อาจย่ำแย่ที่สุดตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในช่วงทศวรรษ 1930 และถือเป็นครั้งแรกที่ทั้งประเทศเศรษฐกิจหลักและประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่ภาวะถดถอยพร้อมกัน
ขณะเดียวกัน วิกฤตโควิด-19 ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนในหลายประเทศไปตลอดกาล หรือที่เรียกว่า ‘วิถีชีวิตปกติแบบใหม่’ (New Normal) หน้ากากอนามัยกลายเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 เครื่องตรวจวัดไข้ถูกติดตั้งตามอาคารสถานที่ ไม่ต่างจากระบบเซนเซอร์ตรวจจับวัตถุต้องสงสัย คำว่า Work From Home กลายเป็นกติกาใหม่ของหลายบริษัท เช่นเดียวกับพฤติกรรมการสั่งอาหารออนไลน์ ยอดดาวน์โหลดโปรแกรมแชทประชุมทางไกลอย่าง Zoom รวมถึงแอพพลิเคชั่น Tiktok เพื่อความบันเทิงในช่วงที่ถูกกักตัว ล้วนเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจุบัน สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก มียอดผู้ติดเชื้อรวมกว่า 70 ล้านราย เสียชีวิตแล้วกว่า 1.5 ล้านราย ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย บราซิล รัสเซีย และฝรั่งเศส ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 151 มีผู้ติดเชื้อจำนวน 4,180 ราย (อัพเดตเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563)
แม้วันนี้จะมีข่าวดีเกี่ยวกับเรื่องวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาออกมาแล้ว และกำลังจะเริ่มแจกจ่ายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก สถานการณ์มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น แต่ก่อนจะถึงวันนั้น — วันที่โลกปลอดเชื้อ มนุษยชาติก็ยังต้องสวดภาวนากันต่อไป ภายใต้ความหวังว่าจะไม่เกิดโรคระบาดระลอกใหม่ขึ้นอีก
ทรัมป์สั่งแบน TikTok เพราะส่งผลต่อความมั่นคงของชาติ
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้หลายประเทศประกาศใช้มาตราการล็อกดาวน์ และนโยบาย Work From Home ให้ทุกคนกักตัวอยู่บ้าน เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ TikTok เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา กระแสความนิยมนี้ได้ส่งผลให้โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สั่งแบนการใช้งานเพราะกังวลต่อความมั่นคงของชาติ จนหลายคนมองว่านี่คือการทำสงครามเย็นระหว่าง สหรัฐอเมริกาและจีน
TikTok เป็นแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียจากไบต์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทอินเทอร์เน็ตสัญชาติจีน เปิดตัวเมื่อราวปี 2017 ในปัจจุบันแอปพลิเคชัน Tiktok มีผู้ใช้งานกว่า 800 ล้านบัญชีทั่วโลก มียอดการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันกว่า 1,500 ล้านครั้ง โดยสหรัฐอเมริกามีผู้ใช้งาน TikTok กว่า 30 ล้านคน และมียอดการดาวน์โหลดกว่า 100 ล้านครั้ง
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 โดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาลงนามคำสั่งห้ามบุคคลหรือบริษัทอเมริกันทำธุรกิจกับบริษัทไบต์แดนซ์ และบริษัทเทนเซ็น (Tencent) เจ้าของแอปพลิเคชัน วีแชท (WeChat) โดยคำสั่งดังกล่าวจะมีผลภายในระยะเวลา 45 วัน ยกเว้นว่าสองบริษัทจีนจะขายกิจการให้กับบริษัทอื่นในสหรัฐ โดยให้สาเหตุหลักของการสั่งแบนว่า แอปพลิเคชันทั้งสอง ส่งผลต่อความมั่นคงของชาติ เนื่องจากทางรัฐบาลกังวลว่า TikTok จะนำข้อมูลผู้ใช้งานในสหรัฐไปมอบให้กับรัฐบาลจีน เพื่อใช้ในการสอดแนมและข่มขู่ ภายหลังบริษัทไบต์แดนซ์ได้ออกมาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
จากการลงนามคำสั่งห้ามบุคคลหรือบริษัทอเมริกันทำธุรกิจกับบริษัทไบต์แดนซ์ และบริษัทเทนเซ็น ส่งผลให้ บริษัทไบต์แดนซ์มีเวลาเพียง 45 วันในการจัดการกับธุรกิจในสหรัฐ ซึ่งวันที่ 20 กันยายน เป็นวันครบกำหนด แต่ภายหลังศาลมีคำสั่งเลื่อนวันครบรอบกำหนดเป็นวันที่ 12 พฤศจิกายน และมีคำสั่งว่า บริษัทไบต์แดนซ์ต้องจัดการทำลายข้อมูลผู้ใช้งานของสหรัฐที่บันทึกไว้ทั้งหมด
ภายหลังการลงนามสั่งห้าม ส่งผลให้บริษัทในสหรัฐหลายแห่ง ได้พยายามยื่นข้อเสนอเพื่อซื้อกิจการแอปพลิเคชัน TikTok ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ไมโครซอฟ (Microsoft), ทวิตเตอร์ (Twitter), บริษัท ไพรเวท อิควิตี้ (Private Equity) และบริษัทโอราเคิล (Oracle)
วันที่ 20 กันยายนบริษัทไบต์แดนซ์ ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ทางเทคโนโลยีระหว่าง Tiktok, Oracle และ Walmart โดยเงื่อนไขเบื้องต้นทาง TikTok จะให้ Oracle เข้าดูแลคลาวด์ข้อมูลเทคโนโลยีให้กับ TikTokในสหรัฐเพื่อรักษาความปลอดภัยของผู้ใช้งานในประเทศ
ระเบิดท่าเรือเบรุต โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของเลบานอน
เหตุระเบิดรุนแรงบริเวณท่าเรือที่กรุงเบรุต เลบานอน เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก ผลจากแรงระเบิด ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 135 คน บาดเจ็บอีกกว่า 5,000 คน ภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวในช่วงที่เกิดระเบิดโดยผู้เห็นเหตุการณ์ถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็ว แรงระเบิดพวยพุ่งเหมือนเห็ด ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนกระจายเป็นวงกว้าง อาคารจำนวนมากพังทลาย หน้าต่างของอพาร์ทเมนต์แตกละเอียด รถยนต์พลิกคว่ำ รวมทั้งโรงพยาบาลเซนต์จอร์จ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเบรุตก็เสียหายหนักเช่นกัน จนต้องอพยพผู้ป่วยออก ส่วนโรงพยาบาลหลายแห่งในกรุงเบรุตมีผู้เข้ารับการรักษาจนล้นในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
ทางการเลบานอนระบุออกมายอมรับว่าเหตุการณ์การระเบิดใหญ่ในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการเก็บแอมโมเนียไนเตรดจำนวน 2,750 ตัน อย่างไม่ได้มาตรการด้านความปลอดภัย ซึ่งสารแอมโมเนียไนเตรดทั้งหมดเป็นของกลางที่ทางการยึดไว้ และถูกเก็บไว้ในคลังเป็นเวลานานถึง 6 ปี
ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังเหตุระเบิดรุนแรงครั้งประวัติศาสตร์ของเลบานอน นอกจากความเสียหายและประชาชนบาดเจ็บล้มตายแล้ว ประชาชนราว 3 แสน คนต้องไร้ที่อยู่อาศัยเพราะบ้านเรือนเสียหายจากแรงระเบิด
นอกจากนี้ประชาชน ยังออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลด้วยความโกรธแค้น มีการประทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลุ่มผู้ชุมนุมได้จุดไฟ ขว้างปาหินใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ ต้องยิงแก๊สนำ้ตาใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญหน้ากับทั้งวิกฤตโควิด – 19 วิกฤตทางเศรษฐกิจ ซ้ำเติมประชาชนที่มีฐานะยากจนอยู่แล้ว ให้ยากจนมากขึ้นไปอีก
รัฐบาล นายกรัฐมนตรี ฮันซัน ดิอับ แห่งเลบานอน ในขณะนั้น จำต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งพร้อมกับคณะรัฐมนตรี เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการระเบิดครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของกรุงเบรุต
ท่ามกลางความวุ่นวายและการหาคนรับผิดชอบ สื่อฝ่ายรัฐบาลเลบานอนระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ 16 คนถูกควบคุมตัวเพื่อสอบสวน ส่วนอธิบดีกรมศุลกากรได้ให้สัมภาษณ์กับรายการโทรทัศน์ท้องถิ่นว่าหน่วยงานของเขาส่งเอกสารแจ้งเตือนไปแล้ว 6 ครั้ง และสั่งให้นำออกไปแต่ก็ไม่เป็นผล โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญหาเหตุผล ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวรายหนึ่งที่ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ของท่าเรือระบุว่า มีการตรวจพบสารแอมโมเนียมไนเตรทเมื่อ 6 เดือนที่แล้วและเตือนว่า ถ้าไม่ย้าย จะส่งผลกระทบ ทำให้เบรุต ระเบิดทั้งเมือง
ระเบิดที่เบรุต ส่งผลกระทบโดยตรงไม่เพียงแต่ทาง ‘กายภาพ’ เท่านั้น แต่ยังส่งแรงสะเทือนไปถึงโครงสร้างอำนาจรัฐ และทำให้ทั่วโลกได้บทเรียน ในการคุมเข้มวัตถุระเบิดให้แน่นหนามากยิ่งขึ้น
‘โจ ไบเดน’ เหมือนชนะแต่ก็ยังไม่ชนะ ความปั่นป่วนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีนี้แตกต่างจากปีก่อน ๆ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ ตัดสินใจลงคะแนนผ่านทางไปรษณีย์เพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คน แต่ถึงอย่างนั้น การแข่งขันระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ผู้ลงสมัครจากพรรครีพับลิกัน กับ โจ ไบเดน (Joe Biden) ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต ก็ยังคงความร้อนแรงไม่เปลี่ยน
ก่อนการนับคะแนน ผลสำรวจเกือบทุกสำนักพากันคาดเดาว่าไบเดน จะมีคะแนนนำเหนือประธานาธิบดีทรัมป์แบบทิ้งห่าง แต่พอนับคะแนนจริงในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2020 ผลที่ออกมากลับสูสีคู่คี่ชวนให้ปวดหัว และต้องหยุดนับชั่วคราวเพราะล่วงเลยเข้าสู่กลางดึก หลังนับคะแนนกันหลายวันก็เป็นดังที่ผลสำรวจคาดการณ์ไว้ คะแนนทางไปรษณีย์ที่มาช้ากว่า ส่งให้ไบเดนตีห่างทรัมป์ไปเรื่อย ๆ จนมีคะแนนถึง 270 ก่อน
แม้ผลจะค่อนข้างแน่ชัด แต่การนับคะแนนทั้งหมดยังไม่เสร็จสิ้น ประธานาธิบดีทรัมป์ยืนยันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คือการโกงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ มีการโกงผลคะแนนทางไปรษณีย์ ท่ามกลางการโต้กลับของเหล่านักวิชาการที่มองว่าประเด็นการโกงที่ประธานาธิบดีทรัมป์กังวลไม่สามารถทำได้ง่าย ๆ ระหว่างการนับคะแนนยังไม่จบ การประท้วงได้ลุกลามไปยังหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในรัฐสมรภูมิ (Swing State) และเมืองใหญ่หลายแห่ง จนเกิดการปะทะของกลุ่ม ‘ทีมไบเดน’ กับ ‘ทีมทรัมป์’ ในหลายเมือง
พรรครีพับลิกันตัดสินใจฟ้องศาลสูงหลายรัฐ ท่ามกลางผู้พิพากษาหลายรัฐที่ออกมาปฏิเสธคำร้อง ส่วนประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทวิตข้อความซ้ำ ๆ ซึ่งข้อความที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ ‘STOP THE COUNT!’ (หยุดนับคะแนนได้แล้ว!) ที่สร้างความงุนงงให้กับคนทั่วโลก จนทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กต้องติดแจ้งเตือนว่าเนื้อหาบางส่วนอาจมีการบิดเบือน ชี้นำ หรือกล่าวหาเกินจริง ส่วนคู่แข่งขันอย่างไบเดน เสนอให้ ‘Count every vote’ หรือนับทุกคะแนนต่อไป
ขณะที่ โจ ไบเดน ผู้ชนะอย่างไม่เป็นทางการ กำลังเตรียมจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ ประธานาธิบดีทรัมป์ตัดสินใจใช้อำนาจที่มีอยู่สั่งปลด มาร์ค เอสเปอร์ (Mark Esper) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่เคยมีความขัดแย้งกันเรื่องการใช้กำลังทหารปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงเรื่องสีผิว ตามด้วย คริส เครบส์ (Chris Krebs) ผู้อำนวยการความมั่นคงทางไซเบอร์ หลังเขายืนยันว่าเลือกตั้ง 2020 ปลอดภัยที่สุดในประวัติศาสตร์ ท่ามกลางคำวิจารณ์ของสมาชิกสภาคองเกรสคนอื่นๆ ที่มองว่าประธานาธิบดีทรัมป์กำลังใช้อำนาจในช่วงสุดท้ายปั่นป่วนประชาธิปไตย ทั้งหมดนี้ ทำให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีมีสีสันและมีอารมณ์ที่หลากหลายมากกว่าการเลือกตั้งครั้งไหน ๆ
‘SpaceX’ บริษัทเอกชนเจ้าแรกที่พามนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศ
ปี 2020 เป็นอีกปีที่วงการอวกาศได้จารึกประวัติศาสตร์ไปอีกขั้น เพราะว่า SpaceX บริษัทการบิน และอวกาศของมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ เจ้าของฉายา Iron Man ในชีวิตจริง ได้เป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกที่ได้ทำการส่งมนุษย์ไปยังอวกาศ และได้รับใบอนุญาตให้มีสายการบินขึ้นไปบนอวกาศในเชิงพาณิชย์อีกด้วย
Falcon 9 คือชื่อของจรวดที่ได้พา 2 นักบินอวกาศ ดัค เฮอร์ลีย์ (Doug Hurley) และ บ็อบ เบห์นเคน (Bob Behnken) ในภารกิจครั้งนี้ โดย Falcon 9 เป็นจรวดที่ถูกออกแบบ และพัฒนาโดย SpaceX มีคุณสมบัติพิเศษคือการลงจอดแบบแนวตั้ง และ ”บินซ้ำได้” ทำให้ประหยัดเงินในการเดินทางไปอวกาศได้อย่างมหาศาล จรวด Falcon 9 นั้นได้ทำการบินซ้ำไปแล้วทั้งสิ้น 43 ครั้งจากการบิน 100 ครั้งด้วยกัน
ความสำเร็จของการส่งมนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของวงการอวกาศ และเพลิกโฉมหน้าธุรกิจการบิน เนื่องจาก SpaceX อาจะใช้ใบอนุญาตในการพามนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศนี้ในการสร้าง “ทริปท่องเที่ยวอวกาศ” สำหรับผู้ที่สนใจ และมีกำลังในการซื้อมากพอ ซึ่งก็ตรงกับปณิธานส่วนตัวของ อีลอน มัสก์ อยู่แล้วในการพามนุษย์ย้ายถิ่นฐานไปยังดาวอังคาร เพราะฉะนั้นความสำเร็จในภารกิจครั้งนี้จึงมีความสำคัญต่อตัว อีลอน มัสก์ และ SpaceX เป็นอย่างมาก
ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงต่อความสำเร็จนี้ก็คือองค์การบริหารอวกาศและการบินแห่งชาติ สหรัฐฯ (The National Aeronautics and Space Administration หรือ NASA) เพราะในปัจุบันในการส่งนักบินขึ้นไปสู่อวกาศในแต่ละครั้ง NASA จำเป็นที่จะต้องใช้กระสวยอวกาศ “โซยุส” ของประเทศรัสเซีย เป็นพาหนะสำหรับนำนักบินอวกาศขึ้นไปนอกชั้นบรรยากาศ โดยหลังจากนี้ NASA เตรียมที่จะเป็นลูกค้ารายใหญ่ของ SpaceX เพราะเมื่อ SpaceX สามารถผลิตกระสวยอวกาศ และจรวดได้เอง จะทำให้ NASA สามารถประหยัดเงินได้ถึง 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 900 ล้านบาท) ต่อนักบินอวกาศ 1 คน
อีกหนึ่งเกร็ดเล็กน้อยในภารกิจนี้ก็คือชุดนักบินอวกาศสุดเท่ที่ ดัค เฮอร์ลีย์ และ บ็อบ เบห์นเคน ได้ใส่เดินเข้าไปในกระสวยอวกาศครั้งนี้ได้รับการออกแบบโดย โฮเซ่ เฟอร์นานเดซ (Jose Fernadez) ดีไซน์เนอร์ชื่อดังของฮอลลีวู้ดได้ที่ออกแบบชุดต่างๆ ที่อยู่ในหนังฮอลลีวู้ดมามากมายอาทิเช่น Captain America : Civil War และ Batman vs Superman : Dawn of Justice โดยที่เขานึกว่าตัวเองกำลังออกแบบชุดนักบินอวกาศสำหรับภาพยนต์อยู่ ชุดที่เราได้เห็นนี้จึงเป็นแค่ชุดที่ใส่ได้ภายในกระสวยอวกาศเท่านั้น และไม่สามารถนำออกไปใช้ในภารกิจในอวกาศ หรือ Space Walk ได้
2020 ปีที่ดวงดาวเจิดจรัสหลายดวงดับแสง
ปี 2020 นับเป็นอีกปีที่โลกได้สูญเสียบุคคลที่มีชื่อเสียงไปอย่างไม่มีวันกลับมากมาย ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี ดวงดาวเหล่านี้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยจรัสแสงบนฟากฟ้า ส่องประกายสวยงามลงมาให้ผู้คนได้เฝ้ามอง เป็นแรงบันดาลใจ ให้ความหวัง แต่เมื่อถึงวันหนึ่งก็ต้องดับแสงไปไม่ต่างจากทุกชีวิต เหลือไว้เพียงเรื่องราวอันเป็นตำนานจดจารและเล่าขาน ที่แม้แสงในตัวเองจะดับไป แต่มันได้จุดประกายให้เกิดแสงขึ้นในจิตใจคนอีกนับไม่ถ้วน
เริ่มตั้งแต่ต้นปีโลกก็ต้องพบข่าวเศร้า เมื่อปลายเดือนมกราคม โคบี ไบรอัน (Kobe Bryant) นักบาสเก็ตบอลอเมริกันจาก ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส (Los Angeles Lakers) ผู้สร้างปรากฏการณ์และเป็นแรงบันดาลใจให้คนทั้งโลกต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ในวัย 41 ปี จากเหตุการณ์อุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่เมืองกาลาบาซัส รัฐแคลิฟอร์เนีย พร้อมจิอันนา (Gianna) ลูกสาววัย 13 ปี ปิดฉากตำนานมากมายที่เขาทิ้งไว้ให้กับเอ็นบีเอและนักบาสรุ่นหลัง ทั้งการเป็นผู้เล่นตำแหน่งการ์ดคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับเลือกเข้าสู่เอ็นบีเอ โดยที่เขายังอายุไม่ถึง 18 ปี, พาต้นสังกัดเป็นแชมป์เอ็นบีเอ 5 สมัย, พาทีมชาติอเมริกาคว้าเหรียญทองโอลิมปิก 2 สมัย, ทำแต้มสูงสุดในเกมเดียวเป็นอันดับ 2 ตลอดกาลของเอ็นบีเอ และอีกมากมาย
เข้าช่วงกลางปี แวดวงบันเทิงโลกต้องสูญเสียนักแสดงขวัญใจคนรักภาพยนตร์มาเวลล์อย่าง แชตวิค บอสแมน (Chadwick Boseman) นักแสดงมากความสามารถจากบทแบล็กแพนเทอร์ ไปในวัย 43 ปี ด้วยโรคมะเร็ง หลังได้รับการตรวจและพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 3 มาตั้งแต่ปี 2016 และต่อสู้มาตลอด 4 ปี ผ่านการรักษาด้วยการผ่าตัดและทำคีโมบำบัด โดยระหว่างนั้นเขายังคงทำงานตามปกติด้วยการเดินหน้าถ่ายทำภาพยนตร์หลายเรื่อง และไม่ได้เปิดเผยอาการต่อสาธารณชนเกี่ยวกับสิ่งที่เขากำลังเผชิญ ก่อนที่จะเสียชีวิตลง ทิ้งไว้เพียงตำนานของนักสู้ตัวจริงทั้งในจอ และนอกจอ
ช่วงปลายปี วงการกีฬาต้องพบกับความสูญเสียอีกครั้ง กับการจากไปของตำนานนักเตะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลอย่าง ดิเอโก มาราโดนา (Diego Maradona) จากภาวะหัวใจหยุดเต้นที่บ้านในเมืองติเกร ประเทศอาร์เจนตินา ปิดฉากขวัญใจแฟนฟุตบอลชาวอาร์เจนตินา ผู้สร้างสีสันมากมายให้โลกลูกหนัง และเป็นแรงบันดาลใจให้นักเตะรุ่นหลังจำนวนมาก ตลอดชีวิตของมาราโดนาได้สร้างช็อตจดจำมากมายทั้งในและนอกสนาม ผ่านชีวิตทั้งสูงสุดถึงต่ำสุด โดยเฉพาะตำนานนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกในปี 1986 กับสองประตูสำคัญที่ช่วยให้อาร์เจนตินาคว้าชัยเหนืออังกฤษ ทั้งประตูหัตถ์พระเจ้า (Hand of God) และการลากเลื้อยหลบผู้เล่นอังกฤษจากกลางสนามถึงหกคนเข้าไปยิงประตู ในขณะที่ชีวิตส่วนตัว เขาผ่านการติดเหล้า โคเคน และเผชิญปัญหาสุขภาพหลายต่อหลายครั้ง เคยถูกส่งไปบำบัดการติดยาที่คิวบา ภายใต้การดูแลของประธานาธิบดี ฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) อย่างไรก็ตาม ทุกปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนสะท้อนความเป็น ‘มาราโดนา’ ที่ยากจะมีใครเสมอเหมือน ตราบจนวันสุดท้ายของชีวิตพระเจ้าแห่งอาร์เจนตินาผู้นี้
นอกจากทั้ง 3 คนแล้ว ปีนี้วงการฮอลลีวูด ยังสูญเสีย ฌอน คอนเนอรี (Sean Connery) นักแสดงอาวุโสวัย 88 ปี ผู้ทำให้บทเจมส์ บอนด์ สายลับชาวอังกฤษโด่งดังไปทั่วโลก, อีร์ฟาน ข่าน (Irrfan Khan) นักแสดงชาวอินเดีย ซึ่งโด่งดังจากภาพยนตร์เรื่อง The Lunchbox, Life of Pi และ Jurassic World จากอาการติดเชื้อในลำไส้ ด้วยวัยเพียง 53 ปี รวมถึงเคิร์ก ดักลาส (Kirk Douglous) ดาราอาวุโส เจ้าของผลงานหนังคลาสสิคมากมาย บิดาของไมเคิล ดักลาส (Kirk Douglous) ซึ่งเสียชีวิตด้วยวัย 103 ปี
‘ลิเวอร์พูล’ เถลิงแชมป์ลีกในรอบ 30 ปี
ถึงแม้ในปี 2020 จะเป็นปีที่ไม่น่ายินดี ยินร้ายเสียเท่าไหร่ แต่คงไม่ใช่ ณ เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ เพราะทีมฟุตบอลเจ้าของฉายา ‘เดอะเรดแมชชีน’ หรือที่ชาวไทยรู้จักกันดีในนาม ‘หงส์แดง’ สามารถคว้าแชมป์ลีกสูงสุดสมัยที่ 19 มาครองได้ในรอบ 30 ปี และนับเป็นครั้งแรกหลังเปลี่ยนมาใช้ชื่อรายการพรีเมียร์ลีกตั้งแต่ปี 1992 ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญของวงการลูกหนังที่สร้างอิมแพ็คต่อโลกจนต้องขอฉีกเพิ่มไว้ในอันดับ11
โดยฤดูกาล 2020 ลิเวอร์พูล ภายใต้การคุมทีมของ เจอร์เกน คล็อป ผู้จัดการทีมชาวเยอรมัน เดินหน้าบดขยี้คู่แข่งด้วยเกมรุกอันดุดันจากสามประสานในแนวลุกทั้ง ซาดิโอ มาเน, โรแบร์โต้ ฟีร์มีโน่ และ โมฮาเหม็ด ซาล่า สตาร์ตัวเก่งชาวอียิปต์ของทีม นอกเหนือจากตัวรุกหลักทั้งสามรายที่กล่าวมา ตำแหน่งอื่นๆภายในทีมยังเล่นเข้าขากันชนิดที่เรียกว่ามองตาก็รู้ใจ โดยเฉพาะแผงกองหลังที่นำมาโดย เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค เซนเตอร์ผู้เป็นหัวใจหลัก , โจเอล มาติป , แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน , เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาโนลด์ และผู้รักษาประตู อลิสซอน เบ็คเกอร์
นอกจากการคว้าแชมป์ลีกมาครองในปีนี้ ลิเวอร์พูลยังสร้างสถิติใหม่อันน่าอัศจรรย์ต่างๆมากมาย ทั้งชัยชนะเกมเยือนถึง 14 แมตช์ , เก็บชัยชนะทั้งหมด 32 แมตช์ (เทียบเท่าสถิติที่แมนฯซิตี้ ทำไว้เมื่อปี 2017/2018 และ2018-2019) , การันตีแชมป์พรีเมียร์ลีกได้ขณะเหลือโปรแกรมการแข่งขันอีก 7 เกม ซึ่งถือเป็นสถิติที่เร็วที่สุดของฟุตบอลลีกอังกฤษนับตั้งแต่ก่อตั้งมา สรุปผลงานในปี 2020 ลูกทีมของ เจอร์เกน คล็อป เก็บชัยชนะไปทั้งหมด 32 เกม เสมอ 3 แพ้ 3 กระหน่ำตาข่ายคู่แข่งไป 85 ประตู เสีย 33 ประตู และโกยคะแนนรวมทั้งสิ้น 99 แต้ม
อย่างไรก็ตามท่ามกลางความยินดียังมีความน่าเสียดายอยู่ จากบรรยากาศการฉลองแชมป์ที่ดูจะกร่อย เพราะขาดแฟนบอลมาร่วมยินดีทั้งในและนอกสนาม ด้วยเหตุจำเป็นที่ว่าสถานการณ์ไวรัสโควิด -19 ยังระบาดหนักอยู่ในช่วงเวลานั้น แตกต่างจากบ้านเราที่เหล่าเดอะค็อปนำรถออกมาแห่ถ้วยสร้างสีสันครึกครื้นทั่วประเทศจนกลายเป็นกระแส ‘ลิเวอร์พูลฟีเวอร์’
สุดท้ายนี้ต้องขอสดุดีความพยายามของสโมสรลิเวอร์พูลในตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมากับการไล่ล่าถ้วยแชมป์ลีกอันถวิลหาจนประสบผลสำเร็จ และเหล่าสาวกเดอะค็อปจะได้พูดประโยคเด็ด ‘You’ll Never Walk Alone’ ด้วยรอยยิ้มแห่งความยินดีเสียที
Tags: The Momentum, Global Affairs