‘ซีพี-เทเลนอร์’ ย้ำการควบรวมกิจการเป็นไปอย่างเท่าเทียม

ด้านพรรคก้าวไกลกังวลดีลอาจผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคมไทย

หลังจากเป็นข่าวครึกโครมมาตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ล่าสุดวันนี้ 22 พฤศจิกายน 2564 สองค่ายมือถือยักษ์ใหญ่อย่าง ‘True Corporation’  ของ บมจ.เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) และ ‘DTAC’ ของ บมจ.โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (จำกัด) ได้แถลงบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพิจารณาการควบรวมธุรกิจ ในลักษณะ ‘สร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน’ (Equal Partnership)  โดยการควบรวมจะมีการปรับโครงสร้างสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company)  ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ และเสริมธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ตามยุค 4.0 เช่น การสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม หรือการจัดตั้งกองทุนสตาร์ทอัพ พร้อมทั้งแบ่งสรรปันส่วนจำนวนหุ้นอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่เป็นการเทคโอเวอร์จากกลุ่ม True Corporation ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้  

ทั้งนี้ สองยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมได้ส่งหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงการศึกษาความเป็นได้ในการควบรวมกิจการ และแจ้งรายละเอียดการทำการตรวจสอบกิจการของอีกฝ่ายจนเป็นที่พอใจตกลง (Due Diligence) เพื่อขออนุมัติมติที่เกี่ยวข้องจากที่ประชุมคณะกรรมการ ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนดำเนินการตามข้อกฎหมายให้แล้วเสร็จ

ปัจจุบันผู้ใช้งานโทรศัพท์เครือข่าย ‘TrueMove H’ มีผู้ใช้งานกว่า 32 ล้านหมายเลข และมีผลประกอบการช่วง 9 เดือนแรกอยู่ที่ 103,177 ล้านบาท ขณะที่ ‘DTAC’ มีผู้ใช้งานราว 19.3 ล้านหมายเลข และมีผลประกอบการช่วง 9 เดือนแรกอยู่ที่ 59,855 ล้านบาท โดยหากทั้งสองสามารถควบรวมกิจการได้จะมีผู้ใช้งานรวมกันราว 51.3 ล้านหมายเลข ซึ่งนั่นหมายความว่าผู้ใช้งานเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในบ้านเราจะมีทางเลือกเหลือเพียงสองเจ้าเท่านั้น คือ ทรู-ดีแทค หรือ เอไอเอส (AIS) เพียงเท่านั้น  นับว่าเป็นการควบรวมกิจการครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับตั้งแต่ เทเลเนอร์ รวมกิจการกับเอเชียตา (Axiata) บริษัทโทรคมนาคมของมาเลเซีย เมื่อเดือน มิ.ย. 2564

อย่างไรก็ตามปัญหา ‘การผูกขาดธุรกิจ’ ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายจับตามอง และยังอยู่ในขั้นตอนที่ทาง ‘คณะกรรมการกิจการกระจาย กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ’ (กสทช.) ต้องทำการตรวจสอบความเป็นไปได้โดยละเอียด เพราะการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู-ดีแทค จะส่งผลบริษัทโทรคมนาคมรายใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นจะก้าวเป็นบริษัทโทรคมนาคมอันดับหนึ่งของประเทศไทยทันที และมีรายได้ส่วนแบ่งทางการตลาดเกินกว่า 50%

ด้านพรรคก้าวไกล นำโดย ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกลได้ออกมาแสดงความคิดเห็นและคัดค้านกรณีดังกล่าวว่าการควบรวมกันระหว่าง ทรู-ดีแทค เป็นการผูกขาดของนายทุนใหญ่หรือไม่ โดยตามที่มีการเปิดเผยตัวเลขส่วนแบ่งทางการตลาดออกมา พร้อมตั้งคำถามว่าหากดีลนี้สำเร็จจะส่งผลกระทบอย่างไรกับผู้บริโภค เนื่องจากดีลที่ว่ามีความซับซ้อน เพราะแม้ ‘พระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า’ จะถูกยกเว้นหากอุตสาหกรรมนั้นมีกฎหมายกำกับดูแลเฉพาะตัว  เช่น กรณีนี้ที่เป็นอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ย่อมจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ที่ควรเป็นไปตามประกาศของกทช. ตามมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ในข้อ 8 โดย ศิริกัญญา อธิบายถึงกรณีดังกล่าวไว้ว่า

“บริษัทที่ถือใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นบริษัทลูก (ทรูมูฟ – ดีแทคไตรเน็ต) แต่บริษัทที่จะควบรวมเป็นบริษัทแม่ (ทรูคอร์ป – โทเทิลแอคเซสคอมมูนิเคชั่น) ซึ่งอาจกลายเป็นช่องทางที่กรณีนี้จะหลุดจากมือ กสทช. ไปสู่การขออนุญาตต่อบอร์ดแข่งขันทางการค้า (กขค.) นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะตามประกาศหลักเกณฑ์การควบรวมของ กสทช. นั้นเข้มงวดกว่าของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า แถมยังระบุหลักเกณฑ์ที่เป็นตัวเลขชัดเจนไว้อีกด้วย” 

นอกจากนี้ แม้แนวโน้มธุรกิจโทรคมนาคมทั่วโลกจะมีการควบรวมกิจการมากขึ้น แต่จากการสำรวจในเบื้องต้นพบว่า เกือบทุกประเทศทั่วโลกมีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ต่ำกว่า 3 เจ้า ที่เป็นเจ้าที่มีส่วนแบ่งการตลาดแทบทั้งสิ้น  เช่น ในมาเลเซีย กลุ่มเทเลนอร์ได้ควบรวมกิจการกับบริษัทเอเชียตา และอยู่ในระหว่างการขออนุญาตจากองค์การกำกับดูแล หากดีลนี้สำเร็จก็ยังพบว่าจะเหลือผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้งหมด 3 เจ้า ยังไม่นับรวมบริษัทโทรคมนาคมเจ้าเล็ก ที่มีส่วนแบ่งตลาดราว 16%

“แน่นอนว่ากลุ่มเทเลนอร์ที่มีนโยบายถอนการลงทุนจากภูมิภาคนี้อยู่แล้ว จึงเลือกที่จะเป็น พาร์ทเนอร์ กับกลุ่มซีพี แต่ความเป็นจริงคือยังมีตัวเลือกอีกมากมายที่ไม่ได้อยู่ในตลาดเดียวกัน ซึ่งสามารถเป็น ‘พาร์ทเนอร์’ ใหม่กับกลุ่มเทเลนอร์ ทั้งนี้ องค์กรที่ยึดมั่นในบรรษัทภิบาลอย่างเทเลนอร์ ไม่สมควรจะเลือกทางเลือกที่จะเป็นการทำลายการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมของไทยแบบนี้ และยังไม่ต้องพูดถึงการดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังการลงนามในข้อตกลง ซึ่งอาจหมายถึงการเปิดเผยข้อมูลทางการค้า ฐานลูกค้า ราคาค่าบริการ และต้นทุน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ความสำคัญต่อการแข่งขันทั้งสิ้น”

สุดท้าย ศิริกัญญา ยังกล่าวถึงบอร์ด กสทช. ชุดใหม่ที่จะต้องเข้ามาเป็นผู้ตรวจสอบถึงดีลนี้ ถึงความกล้าหาญที่จะต้องสิทธิของผู้บริโภค และปกป้องสัดส่วนการตลาดโทรคมนาคม ซึ่งคาดว่าจะมีการตัดสินภายในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 นี้ จึงที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าดีลดังกล่าวจะจบลงอย่างไร ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างนานา ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านของยุคโทรคมนาคม

 

ภาพ: CP, เทเลนอร์

 

 

Tags: , , , ,