เคยดื่มน้ำอัดลมหมดกระป๋องแล้วแยกไม่ถูกว่าต้องทิ้งลงถังขยะสีไหนไหมครับ?

เราเชื่อว่าหลายคนคงเจอปัญหาชวนปวดหัวนี้อยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะสีและประเภทของถังขยะที่ไม่ตรงกันตามหลักสากล ฟอนต์บอกประเภทถังขยะบนตัวถังที่จางลงทุกวันๆ แม้แต่รูปแบบการใช้ชีวิตแบบติดสปีดในปัจจุบัน การมายืนละเมียดละไมคัดแยกขยะทีละชิ้นๆ ก็ดูจะผิดคอนเซปต์พอสมควร

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ สงสัยใช่ไหมครับว่าทำไมเราถึงต้องคัดแยกขยะให้ถูกประเภทก่อนทิ้งลงถังด้วยล่ะ?

แยกขยะช่วยลดปริมาณค่าใช้จ่ายของประเทศ

จากข้อมูลสถิติปริมาณขยะช่วงปลายปี 2559 (ตุลาคม-ธันวาคม) ในกรุงเทพฯ โดยสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ระบุว่า ปริมาณขยะตลอดช่วง 3 เดือนมีสูงถึง 940,033 ตัน หรือเฉลี่ยวันละ 10,217 ตัน

โดยสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ได้ประมาณการเพิ่มเติมว่า ขยะทุกๆ 1 กิโลกรัม จะมีค่าใช้จ่ายในการกำจัด 2 บาท

และอาจสรุปได้ว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา เราเสียเงินไปกับการกำจัดขยะถึงประมาณ 1,880 ล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละ 20.434 ล้านบาทเลยทีเดียว

หากสามารถลดค่าใช้จ่ายการกำจัดขยะลงไปได้เพียงครึ่งเดียว เราจะนำเงินจำนวน 940 ล้านบาท ไปสร้างเป็นสวนสาธารณะพื้นที่ 100 ไร่ได้มากถึง 2 แห่ง (สวนสาธารณะบางบอนพื้นที่ 100 ไร่ ใช้งบประมาณในการสร้าง 736 ล้านบาท อ้างอิงจาก ไทยรัฐ) โดยเหลือเงินนำไปใช้ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคได้อีกกว่า 204 ล้านบาทเลยทีเดียว

ซึ่งเทคนิคพิเศษที่จะช่วยให้คุณลดปริมาณขยะโดยไม่เปลืองเวลาคือ ‘การคัดแยกขยะ’ เพราะหากสามารถคัดแยกขยะที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ หรือรีไซเคิลใหม่ได้ ปริมาณขยะที่ต้องกำจัดในแต่ละเดือนก็จะลดลง ที่สำคัญขยะรีไซเคิลเหล่านั้นยังสามารถแปรรูปเป็นเงิน หรือวัตถุดิบในกระบวนการอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างมีประโยชน์อีกด้วย

‘แยก แลก ยิ้ม’ โครงการที่ทำให้เรารู้ว่าขยะสร้างรอยยิ้มให้ใครได้อีกหลายคน

เพราะเห็นถึงความสำคัญของการคัดแยกขยะ และการต่อยอดให้เกิดประโยชน์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงเปิดตัวโครงการ ‘แยก แลก ยิ้ม’ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ด้วยการตั้งจุดคัดแยกขยะ ณ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. มากกว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีในการคัดแยกขยะ และสร้างประโยชน์คืนสู่สังคม

ทุกๆ จุดคัดแยกขยะของ ปตท. จะประกอบไปด้วยถังขยะจำนวน 3 ถังที่ยึดแนวคิดในการออกแบบจากประเทศญี่ปุ่น โดยถังขยะแต่ละใบจะถูกออกแบบกรอบปากถังแบบพิเศษให้ใกล้เคียงกับลักษณะขยะที่ต้องการแยก ประกอบไปด้วย

1. ถังขยะสีน้ำเงิน ปากถังขยะทรงกลมสำหรับแยกขวดแก้วและกระป๋อง

2. ถังขยะสีเขียว ปากถังขยะทรงเหลี่ยมสำหรับแยกขวดพลาสติก PET

3. ถังขยะสีส้ม ปากถังขยะทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า สำหรับแยกขยะทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก เศษกระดาษ เศษอาหาร ฯลฯ

หลังจากนั้น พนักงานประจำสถานีบริการน้ำมัน ปตท. จะทำหน้าที่จัดเก็บ คัดแยก และนำขยะจำพวกขวดแก้ว กระป๋อง และขวดพลาสติกไปขาย เพื่อนำเงินที่ได้มาเก็บสะสมและลงบันทึก ก่อนนำเงินจำนวนดังกล่าวไปลงทุนให้เกิดประโยชน์ และสร้างรอยยิ้มของชุมชน เช่น ซื้ออุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์การแพทย์ บริจาคเงินเพื่อการกุศล สร้างห้องน้ำสาธารณะ หรือทำกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์อื่นๆ ฯลฯ

ตั้งแต่เปิดตัวโครงการในปี 2559 ‘แยก แลก ยิ้ม’ ก็เริ่มออกดอกออกผลสร้างสรรค์ประโยชน์กลับคืนสู่สังคมมาโดยตลอด ไล่ตั้งแต่ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ในภูมิภาคต่างๆ ที่นำเงินจากการขายขยะในโครงการแยก แลก ยิ้ม ไปแปรรูปเป็นอุปกรณ์กีฬาและทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่ขาดทุนทรัพย์ในโรงเรียนบ้านเชียงดาว จ.เชียงใหม่, โรงเรียนเทศบาลตำบลในเมือง จ.สุโขทัย, โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 และเทศบาลตำบลท่าระหัด จ.สุพรรณบุรี, โรงเรียนบ้านวังหวายวิทยาคม และโรงเรียนบ้านวังไคร้มิตรภาพ จ.ตาก เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านี้โครงการ แยก แลก ยิ้ม ยังส่งผลต่อระบบบริหารจัดการภายใน ของสถานีบริการน้ำมัน ให้พนักงานรวมทั้งเจ้าของสถานีบริการน้ำมันมีส่วนในการเข้ามาบริหารจัดการภายใน และทำดีตอบแทนกลับคืนสู่ชุมชนใกล้เคียง ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา แยก แลก ยิ้ม ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทุกคนก็มีส่วนร่วมช่วยประหยัดงบประมาณกำจัดขยะและต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อใครอีกหลายคนได้ด้วยวิธีง่ายๆ

ทั้งนี้ตัวโครงการจะดำเนินเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีกำหนดการสิ้นสุด เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม และนำรอยยิ้มกลับคืนสู่ชุมชนให้มากที่สุด

รายละเอียดเพิ่มเติม www.yaklakyim.com

หรือทดลองเล่นเกมได้ที่ www.yaklakyim.com/game 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

อ้างอิง:

Tags: , ,