หลังจากได้ชมภาพถ่ายของฮันนี่-ภัสสร บุณยเกียรติ โดยฝีมือของบี๋-ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์ ในนิตยสาร จันทร์ เป็นครั้งแรกในชีวิต ผมก็จินตนาการถึงภาพถ่ายเหล่านี้ในกรอบรูปที่เรียงรายอยู่บนฝาผนังของแกลเลอรีที่ไหนสักแห่ง ก่อนจะถ่ายทอดความคิดดังกล่าวสู่ คุณอุ้ม-ปณิดา ทศไนยธาดา ที่เพิ่งหยิบนิตยสาร 4-5 เล่มส่งให้ผม

คุณอุ้มบอกว่าเธอก็กำลังคิดถึงเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน

นิตยสาร จันทร์ ฉบับแรกวางแผงเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2530 มันมีอายุอยู่บนแผงหนังสือยาวนานอย่างน้อย 10 ปี และน่าจะเป็นหนึ่งในนิตยสารที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายคน

จันทร์ คือหนึ่งในสิ่งพิมพ์อันมากมายหลากหลายของบริษัท การพิมพ์บางกอก จำกัด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ บางกอกรายสัปดาห์ นิตยสารที่เคยมียอดพิมพ์สูงที่สุดในประเทศไทย

อุ้ม-ปณิดา ทศไนยธาดา คือทายาทรุ่นหลานของ วิชิต โรจนประภา ผู้ก่อตั้งนิตยสารฉบับนี้ร่วมกับ ศรี ชัยพฤกษ์ (เจ้าของนามปากกา ‘อรชร’) เธอเกิดมาในยุคที่ บางกอกรายสัปดาห์ ยังโบยบินอยู่บนแผงขายหนังสือ ขณะเดียวกัน เธอก็เป็นคนหนึ่งที่ได้เฝ้ามองการปรากฏตัวของฉบับที่ 3034 ซึ่งเป็นฉบับสุดท้าย (บางกอกรายสัปดาห์ ฉบับแรกวางแผงเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2501 ขณะที่หนังสือถึงเอเยนต์จำหน่ายหนังสือเพื่อแจ้งการอำลาแผง ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2559)

“อุ้มเห็นตั้งแต่มันเฟื่องฟูมากๆ จนมันค่อยๆ ลง จนถึงวันที่ปิด”

ด้วยเหตุดังกล่าว หลังจากคุณยายส่งมอบกุญแจของโรงพิมพ์แห่งแรกซึ่งตั้งอยู่บนถนนหลานหลวงให้กับเธอ เธอจึงเนรมิตมันเป็น ‘Bangkok Publishing Residence’ โรงแรมที่รวบรวมทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นประวัติศาสตร์ของ ‘การพิมพ์บางกอก’

ต้นไม้

บ่ายวันที่ 29 สิงหาคม ผมมีนัดกับคุณอุ้มที่ Bangkok Publishing Residence เราเริ่มต้นการพูดคุยด้วยเรื่องธุรกิจ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยแจ่มใสนักในปัจจุบัน

“อารีย์การ์เด็นกับที่นี่ก็ยังไปได้ด้วยดีค่ะ จะเรียกว่า sustainable business ก็ได้ คือไม่ได้กำไรอู้ฟู่อะไร จุดมุ่งหมายของอุ้มคืออยากทำสิ่งที่อยากจะทำ แต่สิ่งที่อยากจะทำ มันต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่อุ้มต้องควักกระเป๋าทุกเดือน มันต้องเป็นธุรกิจที่ดูแลตัวมันเองได้”

อารีย์การ์เด็น (Aree Garden) คือธุรกิจเริ่มแรกของเธอ

“ที่อารีย์การ์เด็น จริงๆ แล้วอุ้มอยากทำสวนสาธารณะ และมีร้านเล็กๆ เป็นซุ้มๆ แต่นั่งคุยกับสถาปนิก คือพี่ศรันย์ สุนทรสุข พี่ศรันย์ก็บอกว่าอุ้มจะบ้าหรือ ก็เจ๊งสิ ถ้าทำแค่นั้น แบ่งพื้นที่ให้เช่าแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครเขาทำกันหรอก เราก็มาเจอสายกลาง คืออุ้มก็ยังอยากให้มันเป็นสวน ก็เอาต้นไม้นำ เอาภูมิทัศน์เข้ามาก่อน ใช้ภูมิทัศน์เป็นตัวนำ และสถาปนิกก็ต้องยอมให้ต้นไม้บังงานของตัวเองได้ ซึ่งก็โชคดีมากที่พี่ศรันย์ยอมให้บังทุกอย่างเลย และทำให้ตัวงานกลมกลืนไปกับต้นไม้ด้วย”

เธอรักต้นไม้ อารีย์การ์เด็นจึงกลายเป็นพื้นที่สีเขียวที่รายล้อมไปด้วยอาคารคอนกรีต

“อุ้มชอบเข้าป่า ชอบเดินป่า ชอบปลูกต้นไม้ ตอนเด็กๆ ก็สอยมะม่วงหน้าบ้าน เล่นตำใบไม้ เล่นหม้อข้าวหม้อแกง เด็ดใบไม้หน้าบ้านมาเล่นกัน อุ้มชอบอยู่กับธรรมชาติ ตอนไปอยู่ที่เมลเบิร์นเจ็ดปี เมลเบิร์นเป็นเมืองที่ขับรถออกไปหนึ่งชั่วโมงก็จะเจออุทยานแห่งชาติ ช่วงปิดเทอมอุ้มจะขับรถออกไปเลยหนึ่งเดือน ค่ำไหนนอนนั่นไปเรื่อยๆ แล้วก็ไปตามอุทยานแห่งชาติ อุ้มชอบอยู่กับธรรมชาติ พอกลับมาเมืองไทยแล้วอยู่ในเมือง อุ้มรู้สึกอึดอัด รู้สึกว่ามันไม่มีธรรมชาติ”

“ที่อารีย์การ์เด็น ตอนอุ้มมาทำ คอนโดฯ กำลังจะขึ้น แล้วคนแบบอุ้มล่ะ คนที่อยากจะนั่งทำงานใต้ต้นไม้ ซึ่งชีวิตในคอนโดฯ มันไม่มีต้นไม้ให้ทำอะไรแบบนี้ อุ้มก็เลยทำอารีย์การ์เด็นให้เป็นสวนหลังบ้าน สำหรับคนแบบอุ้มที่หลังบ้านไม่มีสวนอีกแล้ว ก็ให้มาที่อารีย์การ์เด็น”

คุณอุ้มบอกว่าเธอทำธุรกิจบนพื้นฐานความชอบของตัวเอง และ Bangkok Publishing Residence ก็คือความชอบอีกแบบหนึ่งของเธอ

“คุณยายโยนกุญแจให้ บอกว่าอารีย์การ์เด็นอยู่ตัวแล้ว ให้มาทำที่นี่ต่อ พอได้โจทย์นี้มาก็คิดว่าย่านนี้ยังไม่มีพิพิธภัณฑ์สิ่งพิมพ์ ทั้งที่ย่านนี้คือย่านสิ่งพิมพ์ชัดๆ และสิ่งที่เรามีอยู่ในมือทั้งหมดคือทุกอย่างที่โละออกมาจากโรงพิมพ์ มันคือความจริง และที่นี่ก็เป็นโรงพิมพ์จริงๆ ทุกอย่างมันเริ่มต้นจากที่นี่”

ที่ชั้นบนสุดของ Bangkok Publishing Residence คือห้องอ่านหนังสือเปิดโล่งขนาดกำลังดี มองออกไปเห็นท้องฟ้าและสีเขียวของต้นไม้ที่จัดวางเป็นสวนหย่อมขนาดย่อม คุณอุ้มบอกว่าเธอพยายามทำให้ที่นี่เป็นเหมือนกับบ้าน และบ้านก็ควรจะมีที่เงียบๆ สำหรับการอ่านหนังสือ

สำหรับผู้เข้าพักบางคน เพียงแค่ห้องนี้และ ‘ทุกอย่างที่โละออกมาจากโรงพิมพ์’ ก็เพียงพอสำหรับการขลุกอยู่ที่นี่ครึ่งค่อนวัน

ไม่เพียงเท่านั้น คุณอุ้มยังชวนผมปีนบันไดขึ้นไปยังชั้นบนสุดเหนือห้องอ่านหนังสือ สถานที่ ‘ส่วนตัว’ ซึ่งไม่อนุญาตให้ผู้เข้าพักปีนขึ้นมา

มันไม่ใช่สถานที่หรูหราโออ่า แต่มันคือพื้นที่สำหรับกระถางต้นไม้ กองดิน และอุปกรณ์การเพาะปลูก

นี่คือสถานที่พักผ่อนของคุณอุ้ม มันคือพื้นที่สำหรับการบ่มเพาะและการดูแลต้นไม้ที่เธอรัก

ศิลปะ

ดูจากภายนอก ปณิดา ทศไนยธาดา ไม่มีมาดของนักธุรกิจแม้แต่น้อย เธอดูเหมือนนักดนตรีหรือคนทำงานศิลปะมากกว่า ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริงๆ

เธอเรียนจบทางด้านวิจิตรศิลป์ (Fine Art) ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท จากมหาวิทยาลัย RMIT ประเทศออสเตรเลีย โดยเน้นไปที่การศึกษาปรัชญาในระดับปริญญาโท

ในฐานะคนที่ห่างเหินจากแวดวงศิลปะ ผมถามเธอว่าวิจิตรศิลป์กับปรัชญามันเกี่ยวโยงกันอย่างไร

“อุ้มคิดว่ามันเกือบจะเป็นสิ่งเดียวกัน ระหว่างศิลปะกับศาสนา จริงๆ แล้วทุกศาสนาก็คือปรัชญาเดียวกัน ถ้าเราเข้าใจมันอย่างลึกซึ้ง และการเรียนศิลปะก็สอนเราอย่างหนึ่งว่ามันไม่มีผิดไม่มีถูก วิชาที่อุ้มเรียน ทุกสัปดาห์ต้องมีคนไปแขวนงานของตัวเอง แล้วทุกคนก็ต้องไปยืนติชม จะด่าจะว่าจะตีความอย่างไรก็จัดไป ทุกคนต้องโดน รวมถึงงานของอุ้มด้วย เอางานขึ้นไป แล้วก็ให้ทุกคนยำ เพราะฉะนั้น เราก็จะชินกับการโดนติ โดนชม ซึ่งมันช่วยเราในแง่ของความมั่นใจ คือทำอะไรก็ทำไปเถอะ เราไม่สามารถตอบสนองทุกคนได้ งานชิ้นนี้ที่เราคิดว่ามันเป็นแบบนี้ ความตั้งใจของเราคือสื่อความหมายนี้ คน 20 คนมาดู ยังตีความหมายออกมา 20 แบบเลย เพราะฉะนั้นจะเอาอะไรกับงานออกแบบหรืองานอะไรก็ตาม”

เธอยกตัวอย่างตู้เหล็กเก่าคร่ำที่ตั้งอยู่ใกล้กับวงสนทนา

“อย่างตู้หลังนั้น มันเป็นตู้ขึ้นสนิมที่ผิดมากเลยตอนที่มันอยู่ที่โรงพิมพ์ แต่พอมาอยู่ที่นี่ ในบริบทแบบนี้ อยู่ข้างๆ เครื่องโรเนียวที่อยู่ในยุคเดียวกัน มันกลับดูเป็นของที่สวยขึ้นมา เพราะฉะนั้น ศิลปะมันอาจจะสอนสิ่งนี้ ว่านี่แหละคือชีวิต การเดินทางของชีวิตมันไม่มีอะไรที่บอกว่านี่คือทางที่ดี มันคือทางเลือกของทุกคน ดีก็คือดีของแต่ละคน นิยามของคำว่าดีของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน”

นอกจากภายนอกจะไม่ใช่นักธุรกิจ ภายในของเธอก็อาจจะไม่ใช่นักธุรกิจยิ่งกว่า

“นักธุรกิจทุกคนบอกว่าอุ้มประสาท การคำนวณ การวางแผนธุรกิจ หรือการตลาดของอุ้ม เอาให้พวกครีเอทีฟดู เขาจะเข้าใจว่าทำไมทำแบบนี้ แต่ถ้าเอาไปให้พวกที่เรียนจบทางด้านการเงิน เขาอาจจะบอกว่ามึงบ้า แต่บ้าก็บ้า จะบอกว่าบ้าก็ได้ แต่อุ้มก็จะทำแบบบ้าๆ เพราะอุ้มคิดว่ามันไม่มีคำว่าผิดและถูก ทุกอย่างคือการเรียนรู้ อุ้มไม่ได้เรียนจบการโรงแรม แต่ในเมื่อต้องทำก็ทำ ก็เรียนรู้ไป ทำให้ดีที่สุด อุ้มเชื่อว่าก่อนจะทำอะไร ถ้าเราไม่ประมาท และเราศึกษา เราอ่าน เราหาความรู้ ถ้าเราไม่รู้ก็ไปหาคนที่เขารู้ ปรึกษาเขา ถามเขา จ้างเขามาทำ จ้างเขามาช่วย คือถ้าเราทำให้ดีที่สุด ต่อให้สิ่งที่ออกมามันไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราก็ไม่เสียใจ เพราะเราทำดีที่สุดแล้ว และเราก็ได้รู้ว่าอะไรที่เราพลาดไป ที่ทำให้มันออกมาไม่ดี เราก็กลับไปแก้ไข”

ชีวิต

หลังจากเรียนจบ คุณอุ้มผ่านการใช้ชีวิตในฐานะพนักงานกินเงินเดือนมาระยะหนึ่ง ซึ่งมันทำให้เธอรู้จักโลกและตัวเธอเองมากขึ้น

“หลังจากเรียนจบก็กลับมาเป็นลูกจ้าง ไปทำโพรดักชันเฮาส์ ไปทำงานรัฐวิสาหกิจ คือลองให้รู้ว่าถ้าเราต้องอยู่โพรดักชันเฮาส์ ซึ่งตอนเด็กๆ เรามองว่ามันเจ๋ง มันเท่ จริงๆ แล้วมันเป็นอย่างไร ซึ่งพอเข้าไปทำ เราสนุกกับเนื้องานนะ แต่วิถีชีวิตมันไม่ใช่ ชีวิตมันมีค่ากว่านั้น ก็เลยคิดว่าต่อให้รักงานนั้นก็ต้องปล่อย เพราะเราต้องเลือกชีวิตของเรา จากนั้นก็เปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ ลองไปเรื่อยๆ พอไปทำงานโฆษณา เราเห็นความไม่จริงใจเยอะมาก เรารู้สึกอยู่ในใจลึกๆ ว่าสิ่งที่เราทำ เรากำลังหลอกคนอื่น มันก็ขัดกับความรู้สึกข้างใน เพราะสิ่งที่ทำมันลวงโลก ก็เลยเปลี่ยนไปทำงานวิสาหกิจ แต่ก็ไปเจอกับระบบที่ไม่ต้องทำงานก็ได้ดี ตอนนั้นอุ้มก็คิดว่า ให้รู้ไปว่ามันเป็นอย่างนี้ เราก็ทำงานของเรา เรามีงานส่ง และเราก็ส่งก่อนเวลาตลอด พอพ้นโปรฯ แล้วอุ้มก็ลาออกเลย คือพิสูจน์ว่าทำได้นะ ถ้าจะทำก็ทำได้ แค่เลือกที่จะไม่ทำ”

เธอเคยกระทั่งสมัครเป็นแอร์โฮสเตส

“คืออยากลองทุกอย่าง ชีวิตนี้คิดว่าไม่มีอะไรเสีย ตอนนั้นอายุ 26 พอดี มันเป็นอาชีพที่ไม่เคยลอง และก็ไม่เคยคิดจะลอง ก็เลย… ลองมั้ย ไม่มีอะไรจะเสียนี่ ลองดูก็แล้วกัน ก็ไม่ติด ก็จบ แต่ก็ได้ลอง อย่างน้อยการไปสมัครเป็นแอร์ฯ สิ่งที่อุ้มได้คืออุ้มใส่ส้นสูง 2 นิ้ว แล้วเดินได้อย่างสบายๆ การแต่งหน้าแบบแอร์ฯ ต้องใช้อะไรบ้างคะ ทำให้แต่งหน้าเป็น เฮ้ย ก็ทำได้นะเว้ย ต่อให้ไม่ได้เป็นแอร์ฯ แต่เราก็ได้เรียนรู้ มันก็สนุกดี”

ครั้งหนึ่ง คุณอุ้มเคยให้สัมภาษณ์ว่าเธอรักการเป็นครูอนุบาล ผมจึงถามถึงเรื่องนี้อีกครั้ง ซึ่งเธอบอกว่า “มันเป็นงานที่อุ้มทำแบบไม่เอาเงินเดือนก็ได้”

ทุกวันนี้ หากมีเวลาว่าง เธอจะไปเป็นอาสาสมัครดูแลเด็กพิการซ้ำซ้อน หรือคอยรับฟังคำบอกเล่าของผู้ใหญ่ที่ร่างกายและจิตใจบอบช้ำ

“ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายจนสภาพจิตใจของเขาย่ำแย่ เขาแค่ต้องการคนคุยด้วย แค่ต้องการคนรับฟัง ตอนว่างๆ เราก็ไปนั่งคุยเป็นเพื่อน เราก็จะพูดแง่บวกของชีวิตให้เขาฟังบ้าง เขาอาจจะไม่ได้รับมันเลย ณ ตอนนั้น แต่บางทีตอนที่เรากลับไป เขาก็ดีขึ้นจริงๆ เด็กหลายคนก็จำกันได้ วิ่งมากอดขา มันก็แบบ… เออ ถึงแม้เราจะเหนื่อยกับตัวเลข เหนื่อยกับการรับแขก ซึ่งจริงๆ แล้วอุ้มไม่ได้ชอบเจอคนมากมาย ชอบความเป็นส่วนตัวมากๆ เราก็ไปหาความสุขได้ มันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่มันก็ทำให้เรารู้สึกโอเคขึ้น”

สำหรับเธอ เงินกับความสุขจึงไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

“ได้เงินแล้วไง มันอยู่ในธนาคาร แล้วไง เราก็ยังต้องทำงานเหมือนเดิม เวลาก็ไม่มีเหมือนเดิม คือถ้ายิ่งอยากให้เงินมันเยอะ เวลาก็ยิ่งหายไป แล้วชีวิตของเราก็ยิ่งหายไป”

ผมกับช่างภาพใช้เวลาอยู่ที่ Bangkok Publishing Residence เกือบสองชั่วโมง พยายามซึมซับบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยของเก่าซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีส่วนร่วมกับความเจริญรุ่งเรืองของธุรกิจสิ่งพิมพ์ ก่อนที่ยุคสมัยจะแปรเปลี่ยน ผู้คนจำนวนหนึ่งล้มหาย และข้าวของมากมายถูกทิ้งขว้าง

และพูดก็พูดเถอะ ผมนั่งรถเมล์ผ่านอาคารหลังนี้มาตั้งแต่ปี 2540 โดยไม่เคยรู้ว่าที่นี่คือโรงพิมพ์แห่งแรกของ ‘การพิมพ์บางกอก’ และบ้านไม้ที่อยู่ข้างๆ เคยเป็นที่พักอาศัยของ มิตร ชัยบัญชา

ทุกวันนี้ บ้านไม้ทรงโบราณอันงดงามกำลังผุพังไร้คนเหลียวแล ขณะที่โรงพิมพ์กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งในรูปแบบใหม่

ประวัติศาสตร์ของ บางกอก ตะวัน จันทร์ แหล่งรถ และอีกมากมายหลายหัวยังไม่สูญหายไปไหน

สำหรับคนที่มองเห็นคุณค่า ‘ของเก่า’ ย่อมมีที่ทางของมันเสมอ

 

ถ่ายภาพโดย ขจรศิริ อุ่ยมานะชัย

FACT BOX:

อารีย์การ์เด็น (Aree Garden)

สวนหลังบ้านบนเนื้อที่กว่า 1 ไร่ ที่พักผ่อนสำหรับคนเมืองผู้รักธรรมชาติ พร้อมกับร้านค้าและร้านอาหารสำหรับวันสบายๆ
ดูรายละเอียดของโครงการได้ที่ www.areegarden.com, www.facebook.com/areegarden

Bangkok Publishing Residence

ที่พักเงียบสงบบนถนนหลานหลวง
ดูรายละเอียดของห้องพักได้ที่ www.bpresidence.com, www.facebook.com/bangkokpublishingresidence

Tags: , , , ,