ท่ามกลางกระแสของคนรุ่นใหม่ที่มีความฝันอยากทำงานตามความชอบ ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กในรูปแบบสตาร์ทอัพผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด และภาคอุตสาหกรรมการขนส่งระหว่างประเทศก็ถือเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่หลายๆ คนกระโดดลงไปโลดแล่นท้าทายในวงการวาณิชย์
ขณะที่ทั่วโลกตกอยู่ในยุคดิจิทัล แต่ระบบการขนส่งข้ามประเทศของไทยยังคงอยู่ในยุค ‘แอนะล็อก’ การติดต่อซื้อขายระหว่างประเทศกลับใช้ทรัพยากรคนเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่การติดต่อซื้อขาย การสอบถามราคา การแปลภาษา การจองตู้คอนเทนเนอร์ ทุกอย่างล้วนดำเนินการผ่านเอกสารกว่า 95% จะดีกว่าหรือไม่ หากเราสามารถติดต่อซื้อขายระหว่างประเทศได้เสมือนการซื้อของออนไลน์ ผู้ประกอบการไม่ว่าจะรายเล็กหรือรายใหญ่ สามารถเช็กราคาการขนส่งได้แบบออนไลน์ สั่งจองตู้คอนเทนเนอร์ผ่านเว็บไซต์ และไม่ต้องใช้เอกสารเป็นจำนวนมาก
The Momentum ชวนสำรวจปัญหาเกี่ยวกับธุรกิจการนำเข้า-ส่งออก และปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ผ่านมุมมองของ ก้องกิติ ลิ่วเจริญชัย หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ZUPPORTS สตาร์ทอัพไทย ที่ต้องการพัฒนาการขนส่งระหว่างประเทศให้ทัดเทียมกับทั่วโลก ด้วยเป้าหมายอยากให้การขนส่งระหว่างประเทศง่ายเหมือนกับการ ‘ช้อปปิ้งออนไลน์’
ZUPPORTS ก่อตั้งโดย ก้องกิติ ลิ่วเจริญชัย, เอกชัย งามพิทักษ์จิตต์ และ ธัญมน ธนะเพิ่มพูล ด้วยการทำงานเกี่ยวกับการขนส่งมาตลอด ทำให้เล็งเห็นปัญหาการทำงานได้อย่างชัดเจน นอกจากปัญหาการขนส่งที่มีความยุ่งยากซับซ้อนและมากด้วยเอกสาร พวกเขาเล็งเห็นว่า แท้จริงแล้วผู้ประกอบการที่ทำกิจการเกี่ยวกับการส่งออก กลับมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการส่งออกน้อยมาก
‘‘ช่วงนี้มันเป็นช่วงที่ช็อตไปหมดเลย โดยเฉพาะประเทศไทย ที่เราบอกว่าเราส่งออกเยอะ เราส่งออกตู้คอนเทนเนอร์ไปปีละ 5 ล้านตู้ แต่นำเข้ากลับมาได้เพียง 3 ล้านกว่าตู้ มันกลายเป็นว่าจำนวนตู้เราติดลบ พอไทยส่งออกอย่างเดียว ขณะที่ประเทศทางยุโรปยังไม่เปิดทำการเต็มรูปแบบ เราก็เลยเจอปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์’’ ก้องกิติกล่าว
‘ตู้ช็อต’ หมายถึง ตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอต่อความต้องการด้วยหลายปัจจัย ทั้งจำนวนของตู้คอนเทนเนอร์ คุณภาพตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่พร้อม เนื่องจากสินค้าบางอย่าง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารที่ผู้ทำธุรกิจต้องใช้ตู้ที่ได้มาตรฐาน ไร้สนิม ปัญหาการขาดแคลนดังกล่าวถือเป็นปัญหาในระดับมหภาค ไม่ใช่แค่เมืองไทยที่กำลังเผชิญอยู่ แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ในทุกๆ ปี โดยเฉพาะในช่วงปลายปี ก่อนจะเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ของชาวจีน หรือตรุษจีน
‘นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า’ เพจเฟซบุ๊กนี้จึงเกิดขึ้นพร้อมๆ กับแพลตฟอร์ม ZUPPORTS ด้วยแนวคิดที่ต้องการนำเข้าความรู้ ส่งออกความคิด ให้แก่ผู้ประกอบการที่ทำงานเกี่ยวกับโลจิสติกส์ ให้มีความรู้ความเข้าใจในปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบทความ สรุป air freight ปี 2563, ตามรอยตู้คอนเทนเนอร์หายไปไหนหมด, 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับตู้คอนเทนเนอร์ และค่าขนส่งแพงต่อเนื่องจนถึงตรุษจีน
“เราทำบทความเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออกมาตลอด เพราะมองว่าข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการส่งออกมันไม่มีเลย ยิ่งรวมกับสถานการณ์ตอนนี้ที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤต ‘ตู้คอนเทนเนอร์ช็อต’ ก็เลยตัดสินใจทำเพจเฟซบุ๊กขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งรวมความรู้ และเป็นแหล่งรวมผู้ประกอบการในอนาคต”
ผ่านมากว่าเจ็ดทศวรรษที่มนุษยชาติได้ใช้งานตู้คอนเทนเนอร์ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันตู้ขนส่งสินค้าขนาดใหญ่นี้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ได้หลายอย่าง อาทิ การนำมาปลูกสร้างเป็นที่พักอาศัย ร้านรวง หรือแม้กระทั่งเอามาใช้รับมือกับม็อบทางการเมืองบนท้องถนน และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะของตู้ช็อต เนื่องด้วยหลายประเทศมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ หรือการปิดเมือง เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจเกิดความเปลี่ยนแปลง อุตสาหกรรมด้านโลจิสติกส์จึงได้รับผลกระทบ
“ลองนึกภาพช่วงโควิด-19 ระบาด ประเทศโซนยุโรปและอเมริกาประสบปัญหาหนัก ทำให้ต้องมีการสั่งซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ไปเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเริ่มมีการกลับมาเปิดประเทศมากขึ้น ตู้ที่ส่งออกไปยังยุโรปและอเมริกาก็ไม่มีการส่งกลับคืนมา เพราะว่าไม่มีการซื้อขาย ตู้คอนเทนเนอร์จึงยังค้างอยู่ในเมืองท่าหลายแห่ง เมื่อทั่วโลกได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้การส่งออกต้องหยุดชะงัก ค่าขนส่งทางเรือถูกเพิ่มราคา ยกตัวอย่าง จากเดิมราคาการขนส่งทางทะเลจากประเทศไทยไปเซี่ยงไฮ้ ราคาอยู่ที่ร้อยกว่าเหรียญ ประมาณ 3 พันกว่าบาท คิดดูว่าการที่เราส่งของเต็มตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต ก็จะสามารถบรรจุของได้ประมาน 20 ตัน ซึ่งถือว่าถูกมาก แต่ตอนนี้ราคาการขนส่งอยู่ที่ตู้ละ 1,000 เหรียญฯ
“ลูกค้าหลายคนก็เครียดในการจัดการสิ่งต่างๆ ในรูปแบบออฟไลน์ ซึ่งกระบวนการติดต่อซื้อขายต้องใช้พลังและใช้เวลาเยอะพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอกสารอันเป็นปัจจัยหลักของความยุ่งเหยิง และสินค้าที่ส่งออกมักเป็นของที่มีราคาสูง เราจึงสร้างแพลตฟอร์มการขนส่งระหว่างประเทศขึ้นมา เพื่อให้การขนส่งระหว่างประเทศเป็นเพียงเรื่องง่ายๆ เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้าไปช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการและผู้อำนวยการขนส่ง เพื่อให้ทุกฝ่ายลดภาระในการจัดการ”
ZUPPORTS ให้บริการการจัดการขนส่งระหว่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ (online freight management services) ใน 3 รูปแบบ ประกอบไปด้วย 1. ZUPPORTS BIDDING ให้ผู้ให้บริการนำเข้า ส่งออก สามารถนำเสนอราคาโลจิสติกส์ในแพลตฟอร์มออนไลน์ได้เอง โดย ZUPPORTS จะเป็นตัวกลางรวบรวมเปรียบเทียบราคาให้เห็นค่าใช้จ่ายได้อย่างครบถ้วน 2. ZUPPORTS BILLING มีบิลค่าใช้จ่ายแต่ละรายการอย่างชัดเจน เพื่อช่วยลดปัญหาค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่ไม่ได้ตกลงกันไว้ 3. ZUPPORTS TRACKING สร้างความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถติดตามสถานะสินค้าและสถานะเอกสารได้แบบออนไลน์
แน่นอนว่าเมื่อเกิดช่องทางการขนส่งระหว่างประเทศบนโลกออนไลน์ ย่อมทำให้มีความสะดวกในการใช้บริการในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก การจองตู้คอนเทนเนอร์ การติดตามสถานะสินค้า หรือการติดต่อกับผู้ให้บริการ จะเป็นเหมือนการจองตั๋วเครื่องบิน และสั่งซื้อของออนไลน์ ซึ่งครอบคลุมทุกกระบวนการตั้งแต่ขั้นตอนการชำระเงิน ไปจนถึงการจัดส่งจนถึงที่หมายปลายทาง
“ผู้ประกอบการส่งออกจะได้คนที่น่าเชื่อถือ สามารถจองพื้นที่ได้ และได้ราคาขนส่งที่ดี สำหรับผู้ทำการขนส่งก็จะบริหารจัดการง่ายขึ้น เพราะเราจะรวม volume weight (การคำนวณค่าระวางการขนส่ง ) ให้”
สตาร์ทอัพไทยจึงขออาสาเป็นตัวกลางแก้ไขปัญหาการขนส่งระหว่างประเทศ ให้ผู้ประกอบการทุกคนสามารถเข้าถึงผู้ให้บริการนำเข้า-ส่งออกมืออาชีพ โดยการเปรียบเทียบราคาและบริการ ทั้งยังให้ความมั่นใจว่า ผู้ประกอบการทุกท่านจะได้รับข้อเสนอที่ดีที่สุด และปัญหาทุกอย่างต้องได้รับการแก้ไข ราคาที่เคยเช็กไม่ได้ก็จะเช็กได้ ระยะเวลาการขนส่งก็ต้องตรวจสอบได้ รวมไปถึงตู้คอนเทนเนอร์ที่จองที่อื่นไม่ได้ แต่เมื่อมาใช้บริการ ZUPPORTS ก็ต้องได้ตู้คอนเทนเนอร์กลับไปอย่างแน่นอน
Tags: startup, เศรษฐกิจ, โควิด19, ตู้คอนเทนเนอร์