เครื่องปั้นดินเผาทรงกระบอกวางเรียงซ้อนกันอยู่สามชั้น ระหว่างชั้นมีพื้นที่ตรงกลางเปิดทะลุถึงกันเพื่อให้เศษอาหารหรือขยะสดจากชั้นบนเลื่อนตัวลงมา เมื่อเศษขยะชั้นล่างสุดผ่านกระบวนการหมักจนได้ที่จนกลายเป็นดินปุ๋ยเพื่อนำไปใช้ในงานเพาะปลูกต่อ
คอนโดดินเผานี้มีชื่อว่า ‘ปั้นปุ๋ย’ ที่พัฒนาขึ้นโดยชาว ‘ผักDone’ ซึ่งต่อยอดจากถังหมักพลาสติกแบบเดิม เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับผู้ที่อยากจัดการเศษอาหารภายในบ้านให้เกิดประโยชน์ แทนที่จะปล่อยทิ้งไปเปล่าๆ
เริ่มต้นจากอยาก ‘กินดี’
นิต้า-มานิตา วิวัฒน์เศรษฐชัย คือเจ้าของไอเดียที่ก่อร่าง ‘ปั้นปุ๋ย’ ขึ้นมา ก่อนจะถึงวันนี้ที่ปั้นปุ๋ยผลิตไม่ทันออร์เดอร์ เราขอพาเธอย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นก่อน เพราะความตั้งใจในวันนั้นนำมาสู่ผลลัพธ์ในวันนี้
“ต้าสนใจเรื่องอาหารการกิน แล้วรู้สึกว่าที่มาของอาหารที่เรากินมันไม่ค่อยปลอดภัย ซื้อสินค้าออร์แกนิกราคาก็สูง เลยคิดว่าเราต้องพึ่งพาตัวเองด้วยวิถีปลูกเองกินเอง เพื่อจะได้ความปลอดภัยด้วย”
ความสนใจของนิต้านำพาเธอเข้าไปสู่โครงการสวนผักคนเมืองเพื่อเรียนรู้วิถีพึ่งพาตนเอง ในทุกๆ ปี สวนผักคนเมืองจะมีทุนสนับสนุนให้คนที่ต้องการสร้างพื้นที่เกษตรในเมือง เธอจึงเสนอความคิดเข้าไปใน ‘โครงการสวนผักคนเมือง : ไอเดียสร้างสรรค์ ปลูกเมือง ปลูกชีวิต’ ว่าต้องการสร้างปัจจัยการผลิตให้คนเมือง โดยนำขยะมาแปรรูปเป็นปุ๋ยและดิน ในทางเดียวกัน ก็เพื่อการลดขยะด้วย
“ต้าได้พื้นที่จากพี่ที่รู้จักกันมาหนึ่งแปลง ขนาดสองงาน แล้วไปขอเศษอาหารจากตลาด จากร้านอาหารมาทำ ในสวนผักคนเมืองจะมีผู้รู้หลายท่านที่ให้คำแนะนำอย่างเรื่องการปรุงดินโดยใช้ขยะ เศษผักผลไม้
“วิธีการหมัก เราก็ตั้งกองปุ๋ยในพี้นที่แปลงนี้ เอาเศษอาหารไปตั้งสลับกับใบไม้แห้งและขี้วัว ตอนนั้นเราเอาขยะสดมาทำทุกวัน วันละสามสิบกิโลฯ โครงการหกเดือนเราจัดการขยะได้เกือบห้าพันตัน แต่ก็มีคอมเมนต์ว่า การที่เราไปเอาขยะมาทุกวัน มันไม่ได้ช่วยลดขยะเลย งานของเราไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงคนหรือชุมชนโดยรอบเลย คนแค่รู้สึกว่าเราไปเก็บขยะให้เขา เขายังสร้างขยะเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ”
โจทย์นี้จึงถูกนำกลับมาคิดใหม่ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของโครงการที่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของคนด้วย แล้วกล่องหมักปุ๋ย นวัตกรรมจัดการขยะของ ชูเกียรติ โกแมน หนึ่งในที่ปรึกษาของโครงการสวนผักคนเมือง ก็ถูกนำมาเผยแพร่ต่อโดยกลุ่ม ‘ผักDone’ ธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งมีนิต้ากับรุ่นพี่อีกสองคนคือ บี-อรสรวง บุตรนาค และโจ๊ก-ธนกร เจียรกมลชื่น ร่วมกันก่อตั้งขึ้น
“ถ้าเป็นรูปแบบนี้จะทำให้แต่ละบ้านสามารถจัดการขยะได้ด้วยตัวเอง คนที่ปลูกผักกินเองก็มีปุ๋ยไว้ใช้ คนที่ยังไม่ปลูกก็ได้เริ่มลงมือปลูก จากที่เราคิดว่าเราจะจัดการขยะ กลายเป็นว่าผลพวงที่ได้คือ เขาเกิดความเปลี่ยนแปลงที่สร้างพื้นที่อาหารที่ปลอดภัยของเขาเอง หรือถ้าเขาไม่ได้ใช้ปุ๋ย เขาสามารถส่งปุ๋ยกลับมาที่เราเพื่อให้ส่งต่อไปยังคนที่ต้องการได้ แบบนี้ก็จะครบวงจร”
‘ปั้นปุ๋ย’ โรงผลิตขยะสดที่ทำเองได้ในบ้าน
กล่องหมักปุ๋ยซึ่งเป็นกล่องพลาสติกสีดำ คืออุปกรณ์ที่เริ่มมีแพร่หลายอยู่ทั่วไป เป็นกล่องปิดมิดชิดที่มีท่อให้อากาศเข้าไปได้ เหมาะสำหรับคนเมืองที่ไม่มีพื้นดินในการตั้งกองปุ๋ย ท่อจะช่วยให้มีอากาศถ่ายเทในภาชนะปิด โดยในกล่องจะมี compost starter ซึ่งประกอบไปด้วยขี้วัว ใบไม้แห้ง กากกาแฟ ดิน และหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีลักษณะเป็นราขาวๆ ที่เกิดขึ้นในป่าหรือสวนที่ชื้น หรือขอนไม้ที่กำลังย่อยสลาย จากนั้นเราสามารถนำเศษอาหารหรือขยะสดในครัวเรือนเติมลงไปในกล่องที่มีสตาร์ตเตอร์อยู่แล้ว แต่ก็ต้องคอยพลิกเพื่อไม่ให้กองขยะเปียกจนเกินไป หรือหากเปียกก็เพิ่มของแห้งเข้าไปในกล่อง ระหว่างนั้นจะเกิดกระบวนการหมักและย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยต่อไป
ในระยะเริ่มต้นของผักDone กล่องหมักปุ๋ยของพวกเขามีเพียงกล่องพลาสติกขนาดบรรจุ 40 ลิตร และกล่องเล็กจิ๋วขนาด 2 ลิตร กระทั่งปีที่แล้วนี้เองที่การพัฒนาอุปกรณ์หมักได้ต่อยอดมาสู่ภาชนะดินเผา ซึ่งมีชื่อว่า ‘ปั้นปุ๋ย’
นิต้าได้ไอเดียนี้จากการเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะผู้นำที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่สถาบัน Kanthari เมือง Trivandrum ในรัฐ Kerela ของอินเดีย เมืองที่มีนโยบายกำจัดขยะอันสุดโต่ง เพราะภาครัฐไม่รับภาระในการจัดเก็บขยะ และชาวเมืองจะต้องจัดการขยะที่ก่อขึ้นเอง
“เดิมทีเมืองนี้ก็มีเทศบาลที่คอยบริการจัดการขยะ แต่บริเวณที่จัดการขยะก็ถูกประท้วงโดยคนที่อยู่โดยรอบ ทำให้ต้องปิดตัวลง เทศบาลเลยตัดสินใจว่าจะไม่จัดการขยะให้แล้ว ให้แต่ละบ้านจัดการกันเอง ในวิกฤตนี้ก็เกิดผลลัพธ์สองแบบ คือกลุ่มที่ไม่สนใจก็เผาขยะกันไป ทุกวันอาทิตย์เมืองนี้จะเต็มไปด้วยควัน แต่อีกด้านหนึ่งก็มีชาวบ้านที่ตื่นตัว คิดถึงเรื่องสิ่งของที่จะซื้อเข้ามาในบ้าน ว่าถ้าเป็นขยะจะจัดการยังไง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเอง
“ตอนที่ต้าไปอินเดีย เราเพิ่งเริ่มทำผักDone กันเมื่อช่วงมีนาคม 2017 ระหว่างที่ต้าไปอินเดีย เพจผักDone ก็เป็นรูปเป็นร่าง แล้วเราก็ขายกล่องหมักปุ๋ย ส่วนต้าก็เอาเรื่องราวผักDone ไปต่อยอดในโครงการนี้ เพื่อนอินเดียรู้ว่าเราทำเรื่องจัดการขยะ เขาก็เอาโปรเจ็กต์ต่างๆ ในอินเดียให้ดู แต่ก็ไม่ได้เห็นของจริงที่อินเดียนะคะ แล้วเราก็มีความตั้งใจพัฒนาตัวกล่องตั้งแต่ก่อนไปอินเดียอยู่แล้ว เจ็ดเดือนจบโครงการ กลับมาเมืองไทยก็เลยทำตัวปั้นปุ๋ยขึ้นมา”
แม้กล่องพลาสติกจะใช้งานได้ดีในการหมักปุ๋ย แต่เธอก็ยังมองเห็นปัญหาบางอย่างซึ่งสะท้อนจากผู้ใช้ ทั้งในแง่รูปลักษณ์ ความไม่สะดวกในการใช้งานที่ต้องคอยเปิดฝากกล่องคอยพลิกเศษขยะที่มักเกิดความชื้นแฉะในก้นกล่อง รวมถึงความรู้สึกที่อยากจะให้การจัดการปุ๋ยสอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ ต้นแบบภาชนะดินเผาที่อินเดียจึงถูกนำมาปรับให้สะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น
“ที่อินเดียจะเป็นชั้นแยกเหมือนกัน แล้วใช้ทีละชั้น ต้องคอยยกขึ้นลงสลับกัน เราก็มาคิดว่าจะทำยังไงที่ไม่ต้องคอยยก เลยทำประตูเปิดปิดที่ชั้นล่างสุด ซึ่งชั้นล่างจะเป็นชั้นที่ผ่านกระบวนการหมักก่อน ก็จะกลายเป็นปุ๋ยก่อน แล้วเราก็ตักออกมา ชั้นด้านบนก็จะเลื่อนลงไปข้างล่างแทนที่กัน โดยที่เราไม่ต้องคอยยกย้าย ข้อแตกต่างจากแบบพลาสติกคือ ในกล่องพลาสติกต้องมีความชื้นที่เหมาะสมจึงจะหมักได้ดี จึงต้องคอยดูคอยพลิก ไม่อย่างนั้นจะเน่าแฉะได้ ถ้าเป็นดินเผาจะระบายความชื้นได้ดี ปัญหาที่จะเกิดคือแห้งไปแล้วขยะไม่ย่อย เราแก้ได้ด้วยการพรมน้ำช่วย แต่จะไม่เกิดการเน่าแฉะ”
นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาบางประการจากกล่องหมักพลาสติก ปั้นปุ๋ยยังช่วยสร้างงานให้กับช่างปั้นที่ขึ้นแบบด้วยมือล้วนๆ
“เราหาช่างที่ปากเกร็ดก่อน แต่คนรับปั้นงานชิ้นใหญ่เหลือน้อยลงแล้ว ก็หายาก จนสุดท้ายไปได้ช่างปั้นที่นครสวรรค์ เขาอายุหกสิบกว่าแล้ว เรารู้สึกว่างานมือมันมีเสน่ห์ แล้วเราก็อยากได้ภูมิปัญญาชาวบ้านมาจัดการด้วย แต่ความที่เป็นงานมือ ปรากฏว่าตอนแรกก็มีปัญหา (หัวเราะ) เราโชว์ตัวปั้นปุ๋ยงานแรกที่งาน Good Society เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ได้ออร์เดอร์มาสามสิบชุด เราส่งได้แค่สิบชุด เพราะอีกยี่สิบชุดมีสัดส่วนที่ไม่พอดี มันใช้งานได้นะคะ แค่ไม่สวย เราเลยบริจาคให้พื้นที่ที่อยากจัดการขยะไป”
เพิ่งต้นปีนี้เองที่ปั้นปุ๋ยได้ส่งถึงมือผู้ใช้จริง เนื่องจากข้อจำกัดของเครื่องปั้นดินเผางานมือที่ต้องรอราวสองเดือน ตอนนี้มียอดสั่งซื้อเข้ามาเรื่อยๆ ด้วยราคาต่อชุด 3,000 บาท
“ผลตอบรับค่อนข้างดี ด้วยวัสดุที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ในอนาคตเราอยากให้คนเกิดภาพจำว่า ถ้าเห็นถังแบบนี้เราทิ้งขยะสดได้นะ และให้คนรู้โดยอัตโนมัติว่าทุกพื้นที่มีการจัดการขยะเป็นเรื่องปกติ ถ้าหมักเป็นปุ๋ยแล้วไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ก็สามารถบริจาคให้คนที่มีความต้องการปุ๋ยได้ เช่น มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนซึ่งเป็นเจ้าของโครงการสวนผักคนเมือง ในอนาคตเราก็อยากเชื่อมโยงเกษตรกรกับคนเมืองที่มีขยะ โดยเกษตรกรได้ปุ๋ยหมักจากขยะ ส่วนเจ้าของปุ๋ยหรือเจ้าของขยะก็ได้บริโภคผลผลิตที่ปลอดเคมีในราคาย่อมเยาด้วย”
Fact Box
สนใจปั้นปุ๋ย สามารถติดต่อได้ที่ https://facebook.com/PakDoneThailand/ และชมของจริงได้จากการออกงานในตลาดนัดสีเขียวต่างๆ ซึ่งจะแจ้งรายละเอียดไว้ในเพจ