ในขณะที่ผู้ใช้บริการระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ ยังบ่นเช้าบ่นค่ำถึงระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่เอื้อต่อการใช้งาน ไม่ว่าจะเรื่องราคา ความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และความยุ่งยากซึ่งไม่เป็นไปตามคอนเซ็ปต์ชวนเชื่ออย่าง smart city เท่าใดนัก มิหนำซ้ำงบประมาณประจำปี 2020 ของกระทรวงคมนาคม ยังถูกปรับงบลงเหลือ 178,840.07 ล้านบาท ซึ่งลดลงกว่า 758.5 ล้านบาท (หรือลดลง 0.4%) อย่างไรก็ตาม เราลองหันมามองสถานการณ์ขนส่งสาธารณะของบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างเมียนมาดูบ้าง

หลังจากเมียนมาตกอยู่ในหลุมดำของเผด็จการมานานกว่า 5 ทศวรรษ เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปและพรรค NLD ได้ขึ้นมานั่งเก้าอี้บริหารประเทศ นอกจากเรื่องการเร่งสร้างสันติภาพและความปรองดองในกลุ่มชาติพันธุ์ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว การปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานก็นับเป็นอีกหนึ่งในวาระสำคัญที่รัฐบาลดำเนินการ และดูเหมือนว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีภายใต้การบริหารของรัฐบาล การปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูประบบขนส่งสาธารณะในเมืองย่างกุ้งเพื่อก้าวสู่เมืองอัจฉริยะดูจะเห็นผลเป็นรูปธรรม ที่เรา—ในฐานะผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางมืออาชีพ และผู้สังเกตการณ์มือสมัครเล่นในเมียนมา ตั้งแต่ก่อนและหลังการปฏิรูประบบขนส่งมวลชนครั้งใหญ่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด และในปีงบประมาณ 2020 ล่าสุด กระทรวงคมนาคมและการสื่อสารของเมียนมาก็ยังได้รับงบเพิ่มมากขึ้นถึง 25% เพื่อสานต่อโครงการปฏิรูประบบขนส่งมวลชนอย่างเอาจริงเอาจัง

สำหรับระบบการคมนาคมบนท้องถนนในมหานครย่างกุ้งนั้น สามารถใช้ได้เพียงแค่รถยนต์ รถเมล์  รถจักรยาน และรถสามล้อเท่านั้น ไม่สามารถใช้จักรยานยนต์ได้ ปริมาณรถบนท้องจึงหนาแน่นมาก การปฏิรูประบบขนส่งมวลชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังที่ด่อว์ นิลา จ่อ หนึ่งในผู้บริหารของกรมการขนส่งรถประจำทางนครย่างกุ้ง (YRTA) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวฟรอนเทียร์ เมียนมา (Frontier Myanmar) ไว้ว่า “เพราะเมืองย่างกุ้งไม่มีรถไฟฟ้าหรือรถไฟฟ้าใต้ดิน เราจึงต้องพยายามพัฒนารถเมล์ให้ดียิ่งขึ้น”

ย้อนกลับไปในปี 2016 สภาพรถเมล์เก่าซอมซ่อ ชนิดที่บางคันแทบจะเหมือนเศษเหล็กเคลื่อนที่ได้ หลากสี หลายยี่ห้อ เปิดประตูหน้าต่างเท่าที่จะกว้างได้เพื่อรับลมธรรมชาติ วิ่ง (จนถึงซิ่ง) กันขวักไขว่ไปมาบนถนนใจกลางมหานครย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา พร้อมกับเสียงเรียกผู้โดยสารของกระเป๋ารถเมล์แข่งกันระงม แต่สภาพรถเหล่านี้ไม่เป็นปัญหานักสำหรับเรา—นักเดินทางจากเมืองไทยที่ขึ้นชื่อฤาชาเรื่องรถเมล์ไม่แพ้กัน เว้นแต่เรื่องระบบตัวเลขบอกสายบนตัวรถที่มีแต่ตัวเลขแบบเมียนมา! (ระบบตัวเลขของเมียนมาเขียนต่างกับตัวเลขอารบิก) จะไปไหนจึงต้องพกกระดาษเทียบตัวเลขไปด้วยทุกครั้ง 

ผ่านมาไม่ทันไร การพัฒนาก็กวาดเอารถเมล์เก่าๆ บนท้องถนนหายวับไปกับตา รัฐบาลปฏิรูปขนส่งมวลชนอย่างรถเมล์ใหม่ทั้งระบบ จากเดิมที่บริหารและให้บริการโดย ‘มะทะตะ’ หรือคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านยานยนต์เขตนครย่างกุ้ง ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1962 ก็เปลี่ยนมาเป็นระบบรถเมล์ที่ทันสมัยมากขึ้นในชื่อ Yangon Bus Service (YBS) ภายใต้การดูแลของกรมการขนส่งรถประจำทางนครย่างกุ้ง หรือ Yangon Region Transport Authority (YRTA) เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2017 โดยการปฏิรูปนี้มีการนำเข้ารถเมล์ใหม่มากกว่า 5,319 คัน แทนที่รถเก่าจากเดิมที่มีอยู่ 4,000 คัน และปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถจากเดิม 357 สาย ให้เหลือเพียง 90 สาย ที่ยังคงครอบคลุมเส้นทางเดิมทั้งหมด

นอกจากตัวรถเมล์ใหม่จะไฉไล มีเลขอารบิก และแอร์เย็นฉ่ำกว่าเก่าแล้ว ค่าโดยสารก็ยังคงเป็นมิตรเหมือนเดิมที่ 200-300 จ๊าด (ประมาณ 4 บาท) ตลอดสายสำหรับสายทั่วไป  ต่อมาที่ 500 จ๊าด สำหรับสายแอร์พอร์ต และ 1000 จ๊าด สำหรับสายที่จะวิ่งไปยังท่ารถอองมิงกลา (Aung Mingalar Highway Bus Terminal) ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ ส่วนการชำระเงินก็จะมีกล่องให้หยอดตรงหน้าประตูทางขึ้น (ระบบการขึ้นลงรถจะขึ้นทางเดียวทางประตูข้างหน้าและลงทางเดียวทางประตูด้านหลัง ระบบนี้ทำให้การขึ้นลงรถเป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น) ไม่มีกระเป๋ารถเมล์ ไม่มีระบบการนับหรือทอนเงิน มีเพียงแต่ระบบคุณธรรมเท่านั้นที่ทำหน้าที่นับเงินค่าโดยสาร ฉะนั้นการขึ้นรถเมล์ที่นี่จึงควรเตรียมไว้ให้พอดีหรือหากไม่มีจริงๆ ก็สามารถแลกกับผู้โดยสารคนถัดไปได้

และตลอดระเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา ทาง YRTA ก็ยังคงพัฒนาระบบโครงสร้างอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ โดยเฉพาะป้ายรถเมล์ที่มีการจัดระเบียบใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ที่นั่งรอ ป้ายให้ข้อมูล และตำแหน่งจอดรถของสายต่างๆ เช่น สาย 12 ก็ต้องจอดในพื้นที่ของตัวเองเท่านั้น จะไปจอดนอกป้าย เลยป้าย หรือพื้นที่ของรถสายอื่นไม่ได้ พื้นที่จอดก็มีการติดป้ายใหญ่โตชัดเจน สะดวกทั้งคนขับและผู้โดยสาร ส่วนที่รอรถก็จะมีข้อมูลบอกต้นทาง-ปลายทาง เวลาเดินรถ และระยะเวลารอรถโดยประมาณ ที่สำคัญที่ป้ายรอรถยังมีช่อง USB ไว้สำหรับเสียบชาร์ตให้ด้วย ซึ่งทดลองแล้วว่าใช้ได้จริง มีไฟเข้าจริงๆ! นอกจากโครงสร้างต่างๆ ข้างต้น ก็ยังมีแอปพลิเคชั่นบอกเส้นทางเดินรถทั้งหมด จะไปไหน ต่อสายไหน ยังไงก็ถึง ไม่มีหลงแน่นอน (เสียดายที่มีแต่เวอร์ชั่นภาษาพม่าให้ใช้) เรียกได้ว่าระบบขนส่งมวลชนที่นี่เอื้อประโยชน์ต่อการใช้บริการอย่างแท้จริง 

อ่านแล้วอย่าเพิ่งอิจฉา เพราะบ้านเขายังมีเรื่องให้น่าอิจฉามากกว่าอย่างการนำระบบชำระค่าโดยสารผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ Yangon Payment Services (YPS) มาใช้แทนการชำระด้วยเงินสดแล้วด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการติดตั้งและทดลองใช้งาน โดยคาดว่าในอนาคตจะมีการใช้บัตร smart card นี้ร่วมกับการคมนาคมและบริการอื่นๆ นอกจากระบบนี้จะสอดคล้องกับนโยบายการผลักดันประเทศไปสู่สังคมดิจิทัลแล้วก็ยังช่วยแก้ปัญหาการชำระค่าโดยสารไม่ครบ ไม่มีเงินทอน ธนบัตรปลอม และธนบัตรชำรุดฉีกขาดอีกด้วย

ตัดภาพมาที่ระบบรถเมล์บ้านเราที่ยังคงประสบกับอุปสรรคมากมาย การปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่องสวนทางกับคุณภาพรถและการบริการที่กระทบกับผู้โดยสารโดยตรงแล้ว ระบบอำนวยความสะดวกอื่นๆ ก็ไม่เอื้อประโยชน์ต่อการใช้เท่าใดนัก แม้แต่ระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Ticket) มูลค่าพันกว่าล้าน ที่ยังไม่ทันได้ใช้งานก็ต้องโละทิ้งหรือปล่อยไว้เป็นเศษเหล็กดูต่างหน้าอยู่คู่รถเมล์พื้นไม้ต่อไป 

อย่างไรก็ตาม แม้จะชื่นชมรถเมล์ที่ย่างกุ้งไปเสียมากก็ไม่ใช่ว่าระบบรถเมล์ที่นั่นจะดีงามไปหมด 100% เพราะผู้ใช้ยังคงประสบปัญหาความแออัดในโมงยามเร่งรีบ รถเมล์บางคันที่ติดป้ายว่ามีแอร์ก็ร้อนยิ่งกว่าเตาอบ การขับขี่แบบที่รถเมล์สาย 8 ต้องยอม หรือปัญหารถติดที่ยังแก้ไม่หาย แต่อย่างน้อยผู้ใช้ก็มั่นใจว่ารถเมล์ที่นั่นกำลังวิ่งไปสู่ถนนสายพัฒนา ส่วนรถเมล์ไทยเราขอกล่าวถึงไว้เพียงเท่านี้


Tags: , ,