“ชื่อเล่นยายเพิ้งค่ะ” จิตตกานต์ สุวรรณภัฏ บอกกับเราพร้อมยิ้มสว่าง เมื่อเราถามถึงชื่อเล่นซึ่งเป็นที่มาของแบรนด์ ‘Yaipoeng & Naipran’ ที่เริ่มมาได้ราวหนึ่งปี นับจากที่งานศิลปะของศิลปินคู่หู ‘นายพราน’ ธณัฐ สุวรรณภัฏ ได้ปรากฏอยู่บนเสื้อยืดที่ออกแบบมาเพื่อ ‘โครงการเสื้อยืดช่วยน้อง’ นำเงินบริจาคให้กับศิริราชมูลนิธิ สมทบทุนหน่วยจิตเวช ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ที่ดูแลเด็กเล็กกลุ่มผู้ป่วยโรคออทิสติก-สมาธิสั้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับเด็กๆ หรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่ดูแลน้องๆ ซึ่งมีปัญหาเรื่องค่ายา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาพบแพทย์ ซึ่งจัดไปแล้วสองครั้ง และกำลังจะต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์อื่นอย่างเป็นจริงเป็นจัง ที่นอกเหนือไปกว่าค่าตอบแทนและพัฒนาการทางศิลปะและการสื่อสารของนายพรานซึ่งดีขึ้นจากการทำงานแล้ว ผลงานของสองพี่น้องคือบทพิสูจน์ที่บอกกับสังคมว่า เด็กพิเศษสามารถทำงานร่วมกับคนปกติได้ หากเขาได้รับโอกาส
ยาวเพิ้งเป็นพี่สาวของนายพราน-น้องชายซึ่งมีอายุห่างจากเธอหกปี และมีอาการออทิสติก หรืออย่างที่เราเรียกกันว่า ‘เด็กพิเศษ’
ศิลปะบำบัดที่เริ่มต้นจากศิลปนิพนธ์ของพี่สาว
ย้อนกลับไป 24 ปีก่อน ในปีที่นายพรานเกิด คำว่า ‘ออทิสติก’ ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย ครอบครัวของจิตตกานต์ก็ไม่รู้เช่นกันว่าทำไมนายพรานถึงยังไม่ยอมพูดสักทีทั้งที่อายุหกขวบแล้ว ทั้งยังเป็นเด็กที่ซน ไม่อยู่นิ่ง เดินเขย่งปลายเท้า ชอบวิ่งตลอดเวลา และมักกินอะไรซ้ำๆ เมื่อเห็นว่านายพรานมีพัฒนาการที่ไม่ปกติ จึงพาเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลศิริราช และได้รู้ว่าน้องชายของเธอเป็นเด็กออทิสติก
“ตอนนั้นเพิ้งอายุสิบสอง เราก็ไม่รู้หรอกว่าออทิสติกคืออะไร รู้สึกได้ว่าเราผิดหวังที่เขาจะไม่ปกติอย่างนี้ต่อไป แต่ก็เศร้าอยู่แค่ช่วงวันที่รู้เท่านั้นเองเพราะเราก็ยังเด็ก ครอบครัวเราก็รักษาเขาต่อไป น้องได้เรียนหนังสือตามปกติ เรียนกับเด็กปกติเขาก็ไปเรียนได้ แต่พอโตขึ้นมาหน่อยก็ย้ายเขาไปเรียนโรงเรียนเฉพาะทางที่สอนเด็กออทิสติกโดยเฉพาะ เขาสามารถอ่านออกเขียนได้ บวกลบคูณหารได้ แต่ก็ไม่ถึงขั้นใช้ชีวิตปกติได้ เรายังไม่กล้าปล่อยให้เขาไปไหนเองด้วย นายพรานนี่ถ้าดูแค่สีหน้าจะดูไม่ออกว่าเขาเป็นออทิสติก จะรู้ก็เวลาที่เขาพูด เพราะเขาจะพูดอะไรซ้ำๆ หรือพูดอะไรที่คนอื่นไม่ได้พูดกัน”
สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือสองพี่น้องชอบศิลปะ จิตตกานต์เรียนจบปริญญาตรีสาขาจิตรกรรม จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ขณะที่น้องชายก็ชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก ฝีมือทางศิลปะของนายพราน เริ่มแสดงออกอย่างจริงจังในวันที่จิตตกานต์ต้องทำศิลปนิพนธ์ ‘ศิลปะบำบัดจากสัมพันธภาพแห่งความรัก’ เมื่อห้าปีที่แล้ว
“ที่ผ่านมาเราทำงานจากเรื่องของตัวเองมาโดยตลอด ถึงวันหนึ่งมันหมดแรงบันดาลใจก็เลยกลับมามองว่าเราสนใจอะไรมากที่สุด บางคนสนใจการเมือง สังคม พุทธศาสนา แต่เราไม่ได้มีความสนใจอะไรจริงจังเลย สิ่งเดียวที่เราให้ความสำคัญ ผูกพันกับมัน และรักมันที่สุด มีแค่เรื่องครอบครัวเป็นปัจจัยเดียว พอทำเรื่องศิลปะบำบัดกับนายพราน อาจารย์ที่ปรึกษาคืออาจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก ก็แนะนำว่า เด็กพิเศษเป็นเด็กที่มีความสามารถและมีความพิเศษมากนะ ขึ้นกับว่าเราค้นเขาให้เจอแล้วช่วยเขาได้มากแค่ไหน เพิ้งเลยรู้สึกว่าถ้าน้องไม่มีแววฉายออกมา ไม่ใช่ความผิดของน้อง เป็นความผิดของเราด้วยซ้ำ เลยพยายามผลักดันเขา ให้ความรักและใช้เวลากับเขาให้มากขึ้น ทำศิลปะบำบัดที่เราทำด้วยกันได้”
จิตตกานต์ศึกษาการทำศิลปะบำบัดจากตำราเพื่อนำมาใช้กับน้องชาย เธอเล่าว่าการทำงานกับเด็กออทิสติกต้องรู้ว่าพฤติกรรมของเขาเป็นอย่างไร มีอะไรเป็นข้อดีข้อเสีย แล้วนำมาปรับใช้กับตัวบุคคล
“เด็กเหล่านี้เขาสามารถทำอะไรได้นาน ทำต่อเนื่องได้ซ้ำๆ ไม่เบื่อ เป็นธรรมชาติของเขา แล้วถ้าเขามีสมาธิกับอะไร เขาจะอินอยู่อย่างนั้น ซึ่งเราเอามาปรับใช้กับการทำงานร่วมกันของเรา เพิ้งเริ่มต้นด้วยการให้เขาวาดรูปกับเรา นึกถึงตัวเองว่าตอนเริ่มเรียนศิลปะเราเริ่มยังไง อาจารย์หรือรุ่นพี่สอนเรายังไง อย่างให้เราเขียนสามเหลี่ยม วงกลม สี่เหลี่ยม หุ่นนิ่งอย่างขวดน้ำ แก้วน้ำ ข้าวของที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เราก็ให้เขาเขียน แต่เราไม่ใช้วิธีการสอน แค่แนะให้ดูว่าวาดเป็นวงกลมนะ แล้วขึ้นมาเป็นทรงกระบอกนะ ให้เขาถ่ายทอดจากสิ่งที่เขาเห็น ก็รู้สึกได้ว่าเขามีการใช้สมอง ตา และมือที่สัมพันธ์กัน แต่ถ้าเขาไม่มีสมาธิเราจะเห็นเลยว่าเขาทำแบบไม่ตั้งใจ ก็จะบอกให้เขาทำใหม่ วาดด้วยสมาธิกับไม่มีสมาธินี่ผลลัพธ์ต่างกันมาก คนใกล้ชิดจะดูรู้ว่ารูปนี้เขาทำด้วยความคิดบริสุทธิ์แบบใหม่หรือทำด้วยความเคยชิน นายพรานจะมีความคิดใหม่ๆ ออกมาอยู่เรื่อย อย่างรูปเสือที่เขาวาดก็จะเปลี่ยนไปจากตัวเดิม ทั้งสี ลาย แพทเทิร์นจะต่างกันไปเลย
“แต่เพิ้งไม่ได้ถึงกับมองว่าเขามีความสามารถพิเศษนะคะ ไม่ได้รู้สึกว่าเด็กพิเศษทุกคนต้องมีความสามารถพิเศษที่สังคมยอมรับขนาดนั้น เพียงแต่เป็นสิ่งที่เขาทำได้ และเขาทำบางส่วนที่เราทำไม่ได้เท่านั้น เช่น ศิลปะที่บริสุทธิ์ รูปสเก็ตช์ของเขา รูปสัตว์หรือรูปอะไรก็ดี นายพรานจะเขียนขึ้นมาจากใจโดยไม่ได้คำนึงถึงความผิดความถูก ซึ่งเป็นศิลปะที่ผู้ใหญ่หลายคนพยายามลอกเลียนแบบแต่เลียนแบบไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่มาจากใจของเขาจริงๆ เป็นตัวของเขา ลายเส้นของนายพรานจะเป็นศิลปะที่บริสุทธิ์ ไร้การปรุงแต่ง”
ศิลปะ พัฒนาการ และการเติบโต
แทบทุกวันภายในสตูดิโอซึ่งอยู่ในมุมหนึ่งของบ้าน จิตตกานต์และน้องชายจะทำงานศิลปะอยู่ด้วยกันสม่ำเสมอ ห้าปีของเวลาเหล่านั้นสร้างผลงานเอาไว้มากพอดู และได้นำส่วนหนึ่งออกมาจัดนิทรรศการร่วมกันครั้งแรกในชื่อ ‘Beyond Autism’ ที่แกลเลอรี Kinjai Contemporary เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สิ่งที่ปรากฏอยู่ในงานแสดงคือภาพผลงานของนายพรานในคาแรกเตอร์ไร้เดียงสาและสีสันฉูดฉาด บางภาพนำเสนอบนเฟรมจิ๊กซอว์เครื่องหมายบวก ซึ่งแสดงถึงการคิดบวกและเติมเต็มซึ่งกันและกันระหว่างพี่น้อง โดยจิตตกานต์ซึ่งเป็นทั้งศิลปินและอาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยบัณฑิตพัฒนศิลป์ คอยช่วยในการจัดองค์ประกอบภาพ และจัดการกับพื้นที่ในเฟรม
“เวลาวาดเพิ้งจะปล่อยเขาอิสระเลย บางทีเขาเริ่ม บางทีเพิ้งเป็นคนเริ่ม เริ่มในที่นี้คือถ้าเราเขียนบ้านเขียนหุ่นนิ่ง เพิ้งอาจจะเริ่มด้วยการเขียนโต๊ะเก้าอี้ เขียนเปอร์สเปกทีฟในห้องไกด์เขา แล้วให้เขาเอาสิ่งของมาวางบนโต๊ะด้วยการวาด หรือบางทีก็ปล่อยให้เขาวาดอย่างอิสระ แล้วค่อยมาจัดการว่าจะวางองค์ประกอบยังไง เติมเต็มไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้มีรูปแบบจริงจังมาก่อน เรามองเขาว่าเขาเป็นเด็กปกติคนหนึ่ง แต่จะไม่เข้าไปสอนเขาเยอะเพราะเขามีความสามารถพิเศษในการถ่ายทอดอยู่แล้ว แค่ชี้แนะเรื่องหลักๆ เท่านั้น
“การทำงานตลอดห้าปี นายพรานมีพัฒนาการรูปแบบในการนำเสนออยู่แล้ว เพราะแต่ละรูปแต่ละช่วงมันไม่เหมือนกัน สิ่งที่เขาเห็นมันเป็นแบบเดิมนั่นแหละ แต่ความคิดเขาไม่เหมือนเดิม การที่เขาวาดออกมาอีกแบบหนึ่งนั่นหมายความว่าเขาไม่ได้วาดออกมาจากความเคยชิน มันมีการพัฒนารูปแบบไปเรื่อยๆ การใช้สีของเขาจะเป็นสีแบบที่เด็กๆ ชอบใช้ทั้งนั้นเลย น้ำเงิน ม่วง แดง สามสีนี้จะชอบมาก เป็นสีประทับสายตา มันสื่อถึงความไร้เดียงสา ไม่เหมือนผู้ใหญ่ที่จะคำนึงถึงเรื่องคู่สี
“ส่วนตัวเขาเองก็มีพัฒนาการที่ได้จากการทำงานศิลปะคือเรื่องการสื่อสาร อย่างครั้งแรก เราพูดแค่ว่าแบ็กกราวด์เอาสีอะไรดี อธิบายไปเขาก็ยังไม่เข้าใจหรอกว่าแบ็กกราวด์คืออะไร แต่ตอนหลังเขาจะเข้าใจและพูดโต้ตอบได้ว่าตรงนี้เอาสีแดง ตรงนี้เอาสีนั้นนี้ เขาโต้ตอบได้เร็วขึ้น แสดงความต้องการของเขาออกมาได้ จากตอนแรกพูดไม่รู้เรื่อง นั่นหมายความว่าการสื่อสารดีขึ้น ซึ่งมันพัฒนาไปใช้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวันของเขาได้ สองคือเรื่องสมาธิ เขาจดจ่อได้นาน อย่างคนปกติทำแล้วถ้ารู้สึกว่าปวดเมื่อยตัว หิวข้าว ก็จะพักแล้ว แต่อันนี้เขาจะอยากทำให้เสร็จ มุมานะมาก ตีสองตีสามก็อยากจะทำ จนเราต้องบอกว่าไม่ได้ วันนี้แค่นี้พอ เราก็ต้องควบคุมเขาด้วย ไม่ใช่ปล่อย”
ไม่เพียงแต่การวาดภาพที่จิตตกานต์นำมาใช้กับนายพราน เธอคิดว่าเด็กพิเศษควรจะได้ทำงานศิลปะแนวทางอื่นบ้างนอกจากงานที่ทำจนเคยชิน และเซรามิกซึ่งทำให้น้องได้ใช้มือในการปั้นการนวด คือสิ่งที่เธอเลือกและเริ่มต้นจากศูนย์ไปด้วยกัน เพราะเธอเองก็ไม่เคยทำงานปั้นมาก่อน
“คิดว่าเซรามิกน่าจะดี น่าจะช่วยเรื่องมือและสมองเขาได้ เพิ้งหาข้อมูลและหัดทำอยู่สามปีเพื่อค้นคิดวิธีการแสดงออก ทำยังไงให้มันลงตัว ใช้น้ำเคลือบยังไง เราสองคนช่วยกันขึ้นรูปเซรามิก แล้วเพิ้งมีหน้าที่เอาลายที่เขาวาดเป็นต้นแบบมาวาดบนเซรามิกอีกที เพราะการวาดบนพื้นผิวแบบนั้นจะยาก เขาทำได้ไม่ถนัดแล้วเขาจะเครียด เรามองแล้วว่ามันไม่เหมาะกับเขา เราก็ทำส่วนนั้นเอง”
ผลงานเซรามิกที่ขึ้นรูปด้วยมือ เพนต์ลายด้วยภาพวาดต้นแบบของนายพราน เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากเสื้อยืด และพร้อมที่จะเติบโตสู่การเป็นแบรนด์น้องใหม่
แชริตี้เพื่อเด็กออทิสติก ที่นำไปสู่แบรนด์ Yaipoeng & Naipran และการเดินไปข้างหน้าด้วยกัน
“น้องเป็นเหมือนแรงผลักดันให้เพิ้งเริ่มต้นทำอะไรหลายๆ อย่าง การเอาเรื่องของน้องมาทำศิลปนิพนธ์ก็เพราะเขาจุดประกายให้เราเห็นคุณค่าของเขา ตอนทำเสื้อยืดเพื่อแชริตี้ เพิ้งก็ได้เห็นว่าเขามีความสามารถ และอยากฉายให้เขาเอาความสามารถออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ หลายๆ อย่างที่เขาทำทำให้เราต้องคิดต่อ เหมือนเราคิดเพื่อเขา ไม่ได้คิดทำอะไรเพื่อตัวเองเลย
“เรื่องทำแชริตี้นี่เกิดจากเพิ้งคิดว่านายพรานเขาวาดรูปดี และสิ่งที่เขาทำก็น่าจะเอามาทำเป็นโปรดักต์ได้ และเราอยากเอาเงินที่ได้จากการขายไปทำบุญเพราะนายพรานชอบทำบุญ ที่เลือกนำไปมอบให้ศิริราชมูลนิธิฯ ก็เพราะเวลาเราพาน้องไปโรงพยาบาล เราจะเห็นว่าคนที่พาลูกมาหาหมอเขาไม่ได้มีเงินกันทุกคน บางคนหาเช้ากินค่ำก็ไม่อยากพาลูกมาหาหมอเพราะเขาต้องหยุดงานตั้งหนึ่งวัน แล้วเขาจะไม่มีรายได้เลยเพื่อพาลูกมาบำบัด แล้วการบำบัดมันต้องมาต่อเนื่อง เขาต้องหยุดงาน มีค่าเดินทาง ค่ากินค่าใช้จ่าย ค่ายาบางตัวที่บัตรทองไม่ครอบคลุม ไม่เหมือนบางประเทศอย่างอังกฤษที่เด็กออทิสติกมีสวัสดิการรัฐดูแล ได้เรียนฟรี รักษาฟรี
“เราทำขายกันทางเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม มีคนช่วยแชร์ ทำสองครั้งแล้วค่ะ คนก็ให้การยอมรับและติดตาม เพิ้งเองก็อยากให้ผลงานของน้องออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไปเรื่อยๆ ให้เขาได้เห็นว่าเรามีการพัฒนา เราส่งเสริมให้เด็กพิเศษมีอาชีพได้ เราให้เขาวาดรูปแล้วเอาผลงานเขามาทำประโยชน์ได้จริง แล้วไม่ได้เฉพาะประโยชน์แต่ตัวเอง เราอยากให้สังคมเด็กออทิสติกได้รับตรงนี้ด้วย ตอนนี้มีเสื้อ กระเป๋า เซรามิก แก้ว จานชาม แต่เซรามิกเรายังอยู่ในรูปแบบที่เป็นอาร์ตจ๋าอยู่ ทำทีละชิ้น ชิ้นหนึ่งใช้เวลาหลายวันมาก ข้อจำกัดคือทำได้ช้า แต่มีคุณค่ามากสำหรับเรา”
งานของสองพี่น้องได้รับการติดต่อจากห้างสรรพสินค้าดังเพื่อให้พื้นที่ในการวางจำหน่าย แต่จิตตกานต์ยังไม่รีบคว้าโอกาส เธอบอกว่าอยากจะให้ผลิตภัณฑ์ของ Yaipoeng & Naipran ‘พร้อม’ มากกว่านี้
“คำว่าพร้อมในความหมายของเราก็คือ ผลิตได้มีจำนวน ควบคุมการผลิตและระยะเวลาได้ มีต้นทุนที่เพียงพอ มีไอเดียที่ดี มีงานดีไซน์ที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งเพิ้งให้ความสำคัญกับคุณภาพมากๆ สินค้าตัวต่อไปที่คิดเอาไว้จะเป็นพวกผ้าครามแล้วนำมาแมตช์กับลายที่นายพรานเขียน เพิ้งชอบผ้าพวกนี้ และเราจะได้สนับสนุนคนแก่ที่ผลิตผ้าครามในต่างจังหวัดด้วย
“ถ้าไม่มีนายพราน เพิ้งไม่คิดจะทำอะไรตรงนี้เลย เพราะเราคงไม่ถนัดที่จะทำทั้งหมด แต่พอมีเขาเป็นคนเขียนลาย เป็นดีไซเนอร์ มันทำให้งานง่ายไปครึ่งหนึ่งเลย เราไม่ต้องไปโฟกัสเรื่องการเขียนลาย แต่ไปโฟกัสเรื่องการตลาด เรื่องการผลิต มันเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน เพิ้งจะพูดอยู่เสมอว่า น้องทำได้ในสิ่งที่เพิ้งทำไม่ได้ เพิ้งทำในสิ่งที่น้องทำไม่ได้ แล้วมันลงตัว”
ระยะหลังมานี้สังคมไทยให้การยอมรับความสามารถของกลุ่มคนที่มีอาการออทิสติกมากขึ้น ธุรกิจหรือบางองค์กรมีพนักงานออทิสติกที่ผ่านการฝึกฝนและรับเข้าทำงานเมื่อผ่านเกณฑ์ เช่นเดียวกับที่จิตตกานต์มองเห็นความสามารถของน้องชาย และดึงความสามารถนั้นออกมาเพื่อสร้างคุณค่าให้เจ้าตัวได้ภูมิใจในตัวเองผ่านงานที่ทำ
“ต้องมีทัศนคติในแง่บวกกับคนเหล่านี้ พวกเขามีความสามารถ เขาทำงานอะไรได้ เขาไปอยู่ตรงไหนแล้วเขามีความภาคภูมิใจ มีตรงไหนที่เขาจะทำประโยชน์กับคุณได้บ้าง นั่นเป็นหน้าที่ของสังคมที่ต้องคิด คิดแล้วดึงประโยชน์จากพวกเขาไปใช้ แต่ไม่ใช่ไปเอาเปรียบเขา ต้องให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กับเขาด้วย และเห็นคุณค่าความสามารถของเขาเท่าเทียมกับคนทั่วไป”
Fact Box
ติดตามและสนับสนุนผลงานของยายเพิ้ง & นายพราน ได้ที่ Facebook : yaipoeng & naipran art therapy studio และ Instagram : yaipoeng_naipran