เด็กชายตัวผอมในวัยประมาณ 8 ขวบเดินไปซื้อสีน้ำหลุมจาก 7-11 แล้วกลับมาวาดรูปองุ่นและผลไม้ต่างๆ นั่งตากแดดเพื่อขายภาพหน้าบ้านรูปละ 80 บาท จากนั้นเขาก็จำความได้ว่าสีและลายเส้นวาดเวียนอยู่ในชีวิตเขาตลอด ตั้งแต่ในเลคเชอร์, ข้อสอบ หรือพื้นที่ว่างเปล่าใดๆ ก็ตาม

จนถึงตอนนี้ เตว-จารุวัฒน์ น้อมรับพร หรือที่เคยรู้จักกันดีในนามศิลปินชื่อ LoveSyrub วัย 27 ปีก็ยังตัวผอมโปร่งเหมือนเดิม สูงปรี๊ด รอยยิ้มขี้อายแต่สดใสนั้นตอบเต็มๆ ว่าตอนนี้เตวคือศิลปิน นักวาดภาพประกอบอิสระ หรือจิตรกร ที่มีจานสี ผลงานสีน้ำมัน และสีชอล์กของตัวเองวางพิงเต็มผนัง

อธิบายยากว่างานศิลปะของเตว เป็นภาพวาดแนวไหน มีคอนเซ็ปต์อย่างไร เพราะขนาดเจ้าตัวก็ยังนิยามมันไม่ได้ เขามีทฤษฎีสีของตัวเอง โครงสร้างสมส่วนแบบไม่สมส่วนของตัวเอง ฝีแปรงที่หนืดอย่างควบคุมได้ และความหมายในภาพที่ซุกซ่อนความสงบซับซ้อนเอาไว้ในสีสันงามๆ

และในเดือนนี้ ตั้งแต่วันที่ 9-20 กุมภาพันธ์ เตว จารุวัฒน์ ก็มีนิทรรศการแสดงภาพวาดเดี่ยว Jaruwat: Not Made By Design A flow of honest development in solitude ที่แกลเลอรี่ 1X1 Wall นิทรรศการเดี่ยวครั้งที่สองของเขา เขยิบจากการสังเกตคนในความทรงจำจากนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก Jaruwat : Mostly People มาสังเกตภาพที่สายตาเห็นที่โตเกียวและเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

เหมือนเตวจะเป็นคนขี้เขินและไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง แต่เมื่อเราถามถึงต้นตอว่ามั่นใจได้อย่างไรว่าจะวาดรูปหาเลี้ยงชีพ เตวก็ตอบอย่างเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติว่า “ทำได้สิ” ปราศจากความลังเลโดยสิ้นเชิง

Not Made By Design

“เราเริ่มขายงานได้ในงาน Art ground แค่เอาภาพไปหนีบๆ ไว้เฉยๆ แล้วขายได้เรื่อยๆ เลย ถึงแม้ว่ามันจะเป็นระยะเวลาแค่สามวัน เราก็รู้สึกวามันหาเงินได้ จะทำอะไรต่อจากนี้ก็ไม่รู้ เราเลยวาดหนังต่อสักพักหนึ่งแล้วก็เริ่มไปสนใจงานแบบ painting จริงๆ จังๆ สีน้ำมันก็เริ่มทำบนแคนวาสแล้ว ไม่วาดลงบนกระดาษ วันนั้นเลยตัดสินใจว่าฉันจะไปวาดรูป เป็นศิลปิน จากที่วาดฟรีแล้วก็ขอแม่เดือนละ 6000 บาท”

ท้าวความไปไกลๆ เตวเป็นเด็กสายวิทย์-คณิต จบออกมาก็พลัดไปเอนทรานซ์เข้าคณะวิทยาศาสตร์ ภาคชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล วาดรูปท่ามกลางความเป็นเหตุเป็นผลในเนื้อหาการเรียน ก่อนจะกระทำการอกหักช่วงปีสามเลยรู้สึกว่าต้องระบายด้วยการวาดรูป เขาเขียนการ์ตูนสั้น 6 ช่องให้เพื่อนอ่าน ผลกลายเป็นว่าเพื่อนอ่านแล้วอิน จึงเริ่มเปิดเพจตั้งแต่เวลานั้น

“เราจับกระแสได้ว่าคนอ่านน่าจะชอบสไตล์คำคม เราเลยทำเพจมาจนจบปีสี่ ซึ่งระหว่างนั้นไปรู้จักอาชีพนักวิจารณ์หนังก็เลยรู้จักเฟซบุ๊กคนหนึ่งชื่อชญานิน เตียงพิทยากร ซึ่งเขาเขียนวิจารณ์หนังเป็นบ้าเป็นหลัง เลยเริ่มตั้งปณิธานว่าจะดูหนังตามเขา ชญานินอัพอะไรก็จะไปหาโหลดดูหรือนั่งดูในโรงภาพยนตร์แล้วก็ซึมซับมา หลังจากนั้นก็ไปเจอนักวิจารณ์คนอื่นๆ เช่น จิต โพธิ์แก้ว, วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา, รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค แล้วเราก็เริ่มอ่านนิตยสารหนัง จากนั้นจึงเริ่มวาดหนังเป็นชิ้นเป็นอันตอนปีสี่ โดยใช้สีชอล์ก

เราชอบสีชอล์กเพราะว่าเครียดมากกับการใช้สีน้ำ มันควบคุมยาก เราเป็นพวก control freak ชอบควบคุม (หัวเราะ) แล้วสีน้ำมันต้องเรียนรู้ที่จะปล่อย เข้าใจธรรมชาติของกระดาษและความเข้มข้น สรุปคือแม่งยากว่ะ แต่พอเป็นสีชอล์กปุ๊ปมันแห้ง แล้วมันค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปได้ เราเลยคิดว่าน่าจะมาแนวทางนี้แหละ แล้วสีชอล์กก็มีเซนส์ของความ expressive ด้วย”

จุดเปลี่ยนจริงๆ ของเตวจึงเป็นการได้มาออกบูธที่งาน Art Ground ครั้งที่ 1 จากคำชักชวนของหน่อไม้ สุภัทรชัย เชื่อธรรมสอน ศิลปินที่เป็นหนึ่งในทีมจัดงาน เมื่อได้พบเจอกับป่าน ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา (Juli Baker and Summer) ที่จัดบูธอยู่ตรงข้ามกัน ชีวิตของเตว ที่เริ่มใช้ชื่อ ‘T Jaruwat’  ก็เปลี่ยนรสชาติไปตั้งแต่วันนั้น

A flow of honest development

“เราวาดภาพจากหนังมาเรื่อยๆ แล้วเราไม่รู้ว่ามันคืออะไร จนมีพี่คนหนึ่งมาบอกว่าที่เราชอบสีๆ นี่ไง คือจุดเด่น เราก็เลยอ๋อเหรอ แล้วมาสังเกตว่าตอนที่เราวาดมันก็มีสีเราก็เลย โอเค ชอบสีก็ได้ จนมีงาน Art Ground ที่ได้เจอป่านก็เลยเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเลยว่า อ๋อ ไอ้ที่สีๆ เนี่ย คือป่านเลย แล้วก็ได้เรียนรู้อะไรจากป่านเยอะ ลองศึกษาการวาดรูปในแบบของป่าน แล้วเราก็วาดไปเรื่อยๆ จนมาถึงตอนนี้”

แล้ววิธีการศึกษาลงลึกของเตวเป็นอย่างไร เราถาม

“เราลองใช้อุปกรณ์ก่อนจนเราเข้าใจธรรมชาติของมัน แล้วพอเราดูงานศิลปิน ถ้าภาพมันละเอียดพอ เราจะแกะได้ว่าเขาทำงานยังไง ซึ่งด้วยประสบการณ์ส่วนตัว เราก็จะแกะงานคนอื่นได้ (แต่ถ้าเทคนิคเยอะก็อีกเรื่อง) เราจะรู้ว่าคนนี้รองพื้นแบบนี้ แล้วยิ่งถ้าเห็นภาพที่ยังทำไม่เสร็จหรือเห็นสเก็ตช์ เราก็จะมั่นใจว่าใช่ คนนี้ทำงานแบบนี้จริงๆ”

ส่วนใหญ่แล้วเตวจะดูงานของศิลปินต่างชาติ สะท้อนว่างานตัวเองน่าจะเป็นทั้งแนวอิมเพรสชันนิสม์และเอ็กเพรสชันนิสม์

“เราดูงานอิมเพรสชันนิสม์ (impressionism) ของฝรั่งเศสเยอะ ช่วงไหนอยากเป็นใครก็ทำแบบคนนั้น ตอนเราเรียนรู้การวาดของป่าน เราก็ไปจนสุดเหมือนกันจนเรารู้สึกว่า เฮ้ย นี่เราอึดอัดแล้ว มันมากเกินไปสำหรับเรา เรารู้สึกว่ามันเป็นสีชนสีที่มันหนักเกินไป บางทีมันดูแล้วไม่สบายตาสบายใจเท่าไหร่ เลยถอยออกมา ไม่ใส่ลายเยอะขนาดนั้น พอรู้น้ำหนักมือคนนี้แล้วก็ไปเรียนรู้ศิลปินคนอื่นต่อ เช่น อองรี มาติส (Henri-Émile-Benoît Matisse) หนึ่งในผู้ริเริ่มลัทธิศิลปะบาศกนิยม, ปีแยร์ บอนาร์ (Pierre Bonnard) จิตรกรชาวฝรั่งเศส, แวนโก๊ะ (Vincent van Gogh) หรือคนที่ดังๆ ตอนนี้ชอบเอ็ดเวิร์ด มุงค์ (Edvard Munch) ศิลปินชาวนอร์เวย์ เราเลยตัดสินใจเป็นมุงค์ ชิ้นนี้ก็มุงค์ๆ หน่อย”

การดูและแกะงานศิลปินต่างๆ อย่างลึกซึ้งเป็นทักษะที่สำคัญของศิลปินก็จริง แต่พอเรายิงคำถามไปว่าถึงจุดไหนถึงจะรู้ว่านี่เราไม่ได้กำลังลอกงานของคนอื่นอยู่ เตวหัวเราะร่าแล้วตอบว่า

“ทำจนรู้สึกละอาย (หัวเราะแรง) เราทำตามแบบมาติสเยอะมาก แล้วพอมันรู้สึกเสร็จแล้ว ก็คือเสร็จจริงๆ คนมันก็ดูออกว่าคุณศึกษาใครมา พอเราเบื่อก็คือเสร็จ

เราคิดว่าการศึกษาคนอื่นก็เป็นเรื่องจำเป็นประมาณหนึ่ง อาจจะไม่ได้จำเป็นมาก แต่เรากำลังจะไปสู่จุดที่เราศึกษาจากธรรมชาติของจริงแล้ว ไม่ได้ศึกษาจากผลงาน แต่เราก็ยังอยากได้เทคนิคนู่นนี่นั่นมาเก็บเอาไว้สักหน่อยเพราะมันอาจจะทำให้เรามองธรรมชาติอีกแบบหนึ่งไปเลย

เราอาจจะกำลังติดอยู่ในกรอบบางอย่างแล้วเราพยายามจะไปถึงจุดที่เราไม่ต้องเป็นใครแล้ว แต่เป็นธรรมชาติของเรา ในที่นี้คือเราไม่ได้บอกว่าสไตล์หรือรูปแบบคือตัวเรา เราคิดว่าสไตล์มันคือคุกแบบหนึ่งซึ่งถ้าคุณยึดอยู่กับมันคุณจะไม่ได้ไปไหนเลย เพราะเราเคยศึกษาคนอื่น แล้วพยายามเกาะสไตล์เขาแน่นมาก ไม่ปล่อยเลยจนรู้สึกว่าวาดรูปอึดอัดจังเลย ทำไมมันไม่ผ่อนคลายวะ ทำไมนิ้วมันไม่ได้แบบที่เราต้องการ แบบที่คนนี้เขาวาดนิ้วแบบนี้ เราก็ทำงานไปเรื่อยๆ แหละตบไปตบมา คนบ้าง ธรรมชาติบ้าง มันก็คงเป็นเรา ถ้าสไตล์ก็คือสิ่งที่เป็นธรรมชาติของตัวเอง นั่นคือที่ที่เรากำลังจะไป”

นอกจากการอยากพัฒนามิติในตัวเอง สิ่งที่ยังคงเหมือนเดิมคือเขารู้สึกว่าเวลาอยากวาดรูปเมื่อไหร่ แค่ดินสอกับกระดาษก็เป็นวัตถุดิบที่มากพอแล้ว ถ้ามีสีชอล์กอีกสักกล่องเพิ่มมาอาจจะเพลิดเพลินใจมากขึ้น แต่เมื่อได้รับการจ้างงานหรือทำงานตามบรีฟก็จะกังวลใจทุกที ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่าผู้ว่าจ้างจ้างเพราะเขาก็คือเขา

“เวลาเราส่งงานทุกครั้งเราจะไม่อยากดูการตอบมาของเขาว่าเขาให้ฟีดแบ็กยังไง แต่สุดท้ายมันก็ต้องอ่าน ก็จะตื่นเต้นทุกครั้งเพราะกลัวเขาไม่ชอบ ซึ่งมันก็เปลี่ยนอะไรไม่ได้ เราก็พยายามที่จะเลี่ยงไม่ทำงานคอลแลบฯ ไม่เพนท์กำแพงคนเดียว เพราะมันรับผิดชอบสูงเหลือเกิน (ซึ่งคิดไปเอง) เราว่าเราสบายใจกับการไปเที่ยว นู่นนี่แล้วกลับมาทำสเกตช์ของเรา ถ้าใครชอบก็ซื้อ เราว่าเราอยากให้มันเรียบง่ายแค่นั้น”

แล้วในความเป็นจริงมันเรียบง่ายแบบนั้นได้ไหม ในฐานะศิลปินที่วาดภาพเป็นอาชีพ

“ได้ เพราะเราคิดว่าการเล่นเกมสังคมเป็นอีกหนึ่งสิ่ง เราต้องผลักตัวเองไปในพื้นที่ที่คนจะเห็นเราและงานเรา โดยที่คนเหล่านั้นมีเงินพอที่จะซื้องานเรา มันก็เป็นเกมการเมืองอย่างหนึ่งที่เราจะพรีเซนท์ตัวเองยังไง เรารู้สึกว่ามันคงปล่อยธรรมชาติไม่ได้หรอก เพราะอยู่ดีๆ คงไม่มีใครมาเห็นงานเราถ้าเราไม่พรีเซนต์ตัวเอง

เราเล่นเกมแบบนี้ได้ อาจจะยากหน่อย เราไม่ได้มีคนอุปถัมภ์น่ะ ถ้ามีคนบอกว่าเอาไปเลยเดือนละ สี่หมื่น ขอเดือนละรูป กูจะแฮปปี้มาก ไม่ต้องมานั่งเล่นเกมด้วย ถ้ามีเงินเหลือเราก็แต่งห้อง อัพรูปห้อง อินสตาแกรมเราจะไม่ค่อยมีรูปไปเที่ยว จะมีแต่งานกับรสนิยมของเรา จะมีแต่งานกับของที่เราใช้ เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่คนจะเห็นเราจากสิ่งนี้แล้วเขาก็จะคิดว่าจะตามเราไหม”

และเมื่อถามว่ามีความคิดทำนองว่า art for art’s sake บ้างไหม

“เอาจริงๆ เราก็ไม่เข้าใจว่า art for art’s sake คืออะไร มันจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยไหม เพราะอย่างในยุคนี้ก็คือคุณต้องทำ performance หรือ installation art ถึงจะเป็น art for art’s sake ได้ เราเข้าใจแบบนี้นะ แต่เราคิดว่าเราไม่ทำเพื่ออาร์ต เราทำเพื่อเลี้ยงชีพ คือเราต้องรู้เส้นแบ่งก่อนว่า art for art’s sake มันคือการทำแล้วไม่ได้เงินเหรอ หรือว่าอะไร เรารู้จักศิลปินคนหนึ่งจากงานหนังสือก็คือ อ.อารยา ราษฎร์จำเริญสุข ซึ่งก็ไม่รู้ว่าได้เงินหรือไม่ หรือมันต้องสร้างการเคลื่อนไหวในสังคมหรือยังไง”

แม้จะออกตัวว่าไม่ได้ทำเพื่ออาร์ตมากมาย แต่เตวก็บอกว่าไม่ค่อยรู้สึกตันกับการวาดรูป อาจจะเป็นเพราะไม่ได้วาดทุกวัน เมื่อไหร่ที่หยิบดินสอกับสมุดไปก็จะวาดได้โดยอัตโนมัติ การรู้ล่วงหน้าว่าหัวจะตันหรือไม่ตัน เคยชินกับการวาดรูปมากไปหรือเปล่า คิดมากไปก็ไม่สนุก แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็เคยประสบกับช่วงเวลาที่สาหัสในขณะที่เลือกอาชีพจิตรกรนี้เช่นกัน

“บางทีไม่มีเงินเลยนะ แบบ ไอ้เชี่ย เหลืออีก 500 ในบัญชีเนี่ยทำไงดีวะเนี่ย ก็ยืมเงินแม่มาทำของขาย ขายก็ไม่ดี คือเราไม่มีเซนส์เรื่องการทำของขายเท่าไหร่ ฉะนั้นของก็อาจจะขายได้แบบพันสองพันอะไรแบบนี้ แต่ตอนนี้เราเริ่มเบื่อขายของ เพราะขายรูปมันสนุก เรามีความสุขกับสิ่งนี้”

แล้วขายรูปไม่ยากกว่าเหรอ

“ยาก มีหลายเดือนที่ 0 บาท ตลอด 4-5 เดือนเลยก็มี แต่อย่างเดือนนี้เราก็ขายได้ 4 รูป ได้เงินมาเราก็คิดว่าไว้เก็บเพื่อซื้อสีกับผ้าใบไว้ก่อน ต้องบังคับตัวเองล่วงหน้าเพราะค่าของแพง แต่ถ้าต้นทุนในการดำรงชีวิตเราว่าเราอยู่ประหยัดได้ เราไม่ค่อยซื้อเสื้อผ้า เราไม่ค่อยออกไปเจอเพื่อน เรากินง่ายอยู่ง่าย พอได้เงินเยอะๆ มาก็ว่าจะไปยุโรป คือ ไปลอนดอน, อิตาลีต่อด้วยฝรั่งเศส

เราว่าการเดินทางสำคัญสำหรับเราประมาณหนึ่ง เราอยากไปเจอว่าของจริงเขาวาดละเอียดแค่ไหน เราเห็นในหนังสือคือมันย่อส่วนจนทุกอย่างเกลี่ยสวย ดูไม่มีที่ติไปหมด เราจึงอยากเห็นของจริงว่ามันเบอร์ไหนวะ เราจะได้ผ่อนคลายกับงานตัวเอง แล้วเราว่าการท่องเที่ยวมันก็เป็นการลักไก่ประมาณหนึ่ง เพราะว่าถ้าไปมันก็ต้องประทับใจอะไรสักอย่างอยู่แล้ว ก็ต้องอยากวาดออกมา”

เหมือนการไปทริปญี่ปุ่นที่ผ่านมาของเขา กะว่าไปเยี่ยมป่านแบบชิลล์ๆ แต่เรียกได้ว่าการเดินทางครั้งนี้เป็นปลายทางของนิทรรศการเดี่ยวของเตว จารุวัฒน์เลยก็ว่าได้

In solitude

Jaruwat: Not Made By Design A flow of honest development in solitude เป็นนิทรรศการเดี่ยวที่จัดแสดงภาพซึ่งสเก็ตช์ซีนที่ญี่ปุ่นไว้ แล้วนำกลับมาวาดต่อที่ประเทศไทย ภายในนิทรรศการเขาเขียนเปิดงานไว้ได้อย่างมีวรรณศิลป์ว่า

“เตวประทับใจความงามของธรรมชาติ มันต่างกับความงามของผู้คน ทั้งสองอย่างมีความงามต่างกัน กับผู้คนคือความสุขจากความสนุก แต่กับธรรมชาติแล้วมันคือความสุขจากความสงบ เป็นโอกาสดีที่เตวไปพักในที่ที่ห้อมด้วยธรรมชาติแปลกตา ล้อมด้วยคนแปลกหน้าที่ไม่สำคัญ เตวเลยเรียนรู้ที่จะทำงานโดยแบกความคาดหวังน้อยลง เหลือแค่เตวและความต้องการของเตว ทำงานแบบที่ References คือสำเนาในสมอง…”

เขาเล่าว่าตลอดระยะเวลา 15 วันที่อยู่ญี่ปุ่น หลายๆ เช้าเขาจะพกข้าวปั้นกับนมไปกินริมแม่น้ำ ไม่ได้กินหรูอะไร แต่พออยู่ใกล้แม่น้ำก็มีความสุขดี พอเห็นฉากที่ชอบแล้วก็หยิบสมุด หยิบสีขึ้นมาวาดเลย ขอบกระดาษไปหยุดตรงไหนก็จบตรงนั้น

“เราไม่ได้คิดว่าคอมโพซิชั่นมันต้องเป๊ะ ตรงจุดตัด 9 ช่อง หรือจะต้องมีจุดไหนเป็นพระเอกหรือพระรอง เราไม่ได้ไปโฟกัสตรงนั้นมาก เราวาดต่อไปเรื่อยๆ กระดาษสุดก็คือสุด แล้วนิทรรศการนี้จะมีชื่อรองคือ a flow of self development in solitude หมายความว่าเราอยู่คนเดียวจริงๆ กับธรรมชาติ

ตอนแรกดูไปอาจจะรู้สึกเกร็งๆ แต่ถ้าดูลำดับภาพไปเรื่อยๆ จะเห็นพัฒนาการของฝีแปรงที่เรารู้สึกว่าผ่อนคลายขึ้น แล้วพอไปจบที่ภาพภาพหนึ่งคือภาพเบอร์ 9 เราหันไปดูแล้วเรารู้สึกว่าฝีแปรงมันเปลี่ยนชัด แต่สีและองค์ประกอบมันบังคับมาจากสเก็ตช์ที่เรามีอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าดูที่ฝีแปรงน่าจะเห็นพัฒนาการบางอย่าง ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย”

การเรียงภาพจะเรียงตามลำดับการวาดที่ไทย เพราะถ้าในสเก็ตช์ เตวจะเรียงตามวันที่เขาไปนั่งจ๋องสังเกตการณ์ริมแม่น้ำ ซึ่งถ้าบางภาพต้องการคอนทราสต์แบบที่ตัวเองยังทำได้ไม่สำเร็จในวันนั้น เขาก็จะวาดภาพอื่นก่อน การวาดอาจจะไม่ตรงกับลำดับวัน เพราะเราเรียงลำดับตามที่วาดที่ประเทศไทย

“สนุก เรารู้สึกว่าตัวเองไม่พยายามที่จะเป็นใครแล้ว แต่เรียนรู้จากธรรมชาติ ก็เป็นอีกแบบหนึ่งที่เราคิดว่าสำคัญ อยากให้ภาพขายดีๆ ด้วย (หัวเราะ) แต่ละซีนก็คงมีพระเอกหรือจุดสนใจบางอย่างที่มันดึงเราไปวาดมันได้ เราไม่รู้ว่ามันใช่หรือเปล่า แต่ตอนที่เราอยู่ริมแม่น้ำเราเลยจะเห็นภาพสะท้อนเยอะ ฉะนั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นภาพสะท้อนแม่น้ำหรือริมแม่น้ำ เราชอบแม่น้ำคาโมะที่เกียวโต เรารู้สึกว่ามันเป็นแม่น้ำที่ไม่ลึก มีหญ้าขึ้น ไหลไปตามทางน้ำ มีทางเดินที่มีพุ่มไม้ รู้สึกว่านี่คือบ้านเมืองที่เข้ากับธรรมชาติได้ สวย สวยไปหมด มีแสงสะท้อน เราเลยต้องหยิบสีขึ้นมาวาด”

เชื่อเลยว่าถ้าไปเยี่ยมเยียนงานแล้วเจอศิลปินเดินวนอยู่ในนั้น การเข้าไปถามเรื่องฝีแปรงหรืออารมณ์ตอนที่กำลังวาด เวลาครึ่งชั่วโมงอาจจะผ่านไปโดยไม่รู้ตัวเลยก็ได้

อาจจะยากที่จะนิยามว่าความงาม หรือ ความหมาย ในแต่ละภาพของจิตรกรนั้นมีความลึกซึ้งหรือเรียบง่ายมากแค่ไหน แต่เราเชื่อว่าในงานศิลปะของเตว จารุวัฒน์ จิตรกรตัวแห้ง (ที่ไส้ไม่แห้ง) กับภาพสะท้อนแม่น้ำทั้งหลายที่สะท้อนมาจากตัวเขาอีกที เราเพียงใช้สายตาแผ่วเบากะพริบจับไปที่แคนวาสและจุดสีสักสี เท่านั้นมันก็ให้ความหมายที่ดีสำหรับศิลปินแล้ว

เราปิดท้ายบทสนทนาในวันที่กรุงเทพฯ ร้อนระอุ เต็มไปด้วยฝุ่นควันและแสงที่ไม่สวย ด้วยข้อความที่ว่า “จริงๆ ศิลปินก็คือมนุษย์นั่นแหละนะ แค่เราทำมาหากินแบบนี้เฉยๆ”

Fact Box

  • งานนิทรรศการแสดงภาพวาดเดี่ยว Jaruwat: Not Made By Design A flow of honest development in solitude ที่แกลเลอรี่ 1X1 Wall เอกมัย จัดตั้งแต่วันที่ 9-20 กุมภาพันธ์
  • เตว จารุวัฒน์โปรดปรานการอ่านหนังสือ เริ่มเปิดโลกการอ่านจากเล่ม ก็ไพร่นี่คะ ของคำ ผกา และเล่มต่อๆ มาเช่น ชาติคืออะไร?, สัจนิยมมหัศจรรย์ในวรรณกรรมของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ และเล่มล่าสุดที่เพิ่งอ่านจบไปคือ ผุดเกิดมาลาร่ำ
  • เขายังเป็นคอภาพยนตร์อย่างมาก หนึ่งในภาพยนตร์ที่ชอบคือเรื่อง Stalker ของผู้กำกับชาวรัสเซีย Andrei Tarkovsky
Tags: , , , ,