การนำรวมหมู่ในการปกครองของจีน อาจแปรเปลี่ยนเป็นระบอบผู้นำสูงสุดเป็นใหญ่ในยุคของสีจิ้นผิง ด้วยข้ออ้างที่จะพาประเทศสู่สถานะมหาอำนาจโลก

ในวันจันทร์ที่ 5 มี.ค. สภาผู้แทนประชาชนจีนมีกำหนดเปิดประชุมประจำปี ใช้เวลาสองสัปดาห์ ที่ประชุมมีวาระที่จะประทับตรายางผ่านมติสำคัญที่โลกกำลังจับตา นั่นคือการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีประเด็นเสนอแก้ไขสองเรื่อง

เรื่องแรก การลงมติผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ยกเลิกการจำกัดวาระดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ซึ่งปัจจุบันห้ามนั่งเกินสองสมัยติดต่อกัน

เรื่องที่สอง บรรจุอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้นำคนปัจจุบันไว้ในรัฐธรรมนูญ หลังจากได้บรรจุไว้ในธรรมนูญพรรคคอมมิวนิสต์แล้วก่อนหน้านี้ อุดมการณ์ที่ว่านี้มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า “ความคิดสีจิ้นผิงว่าด้วยสังคมนิยมแบบจีนในยุคใหม่”

นักสังเกตการณ์บอกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเป็นสัญญาณว่า จีนกำลังละทิ้งระบบการปกครองแบบ ‘การนำรวมหมู่’ มุ่งไปสู่ ‘การนำโดยบุคคลคนเดียว’

ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกอย่างจีน เมื่อขยับปรับเปลี่ยนตัวเองเช่นนี้ มีนัยอย่างไรต่อภูมิภาค ส่งผลอย่างไรต่อโลก ยังเป็นคำถามระยะยาว

นาทีนี้ คงต้องตั้งต้นที่การทำความเข้าใจภูมิหลังของการเปลี่ยนแปลง

สี จิ้นผิง ในการประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองของจีน (CPPCC) ในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2018
(ภาพโดย Jason Lee/REUTERS)

การนำรวมหมู่

จีนเริ่มใช้ระบบการนำรวมหมู่หลังจากระบอบเหมาเจ๋อตงนำไปสู่การล้มตายของประชาชนหลายสิบล้านคน การนำรวมหมู่เป็นผลลัพธ์จากการสรุปบทเรียนของลัทธิบูชาตัวบุคคลซึ่งเฟื่องฟูในช่วงทศวรรษ 1950-1970

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1949 เหมาเจ๋อตง ผู้นำสูงสุดของจีน รณรงค์นโยบายก้าวกระโดดครั้งใหญ่ ในปี 1958 เหมามุ่งมั่นเปลี่ยนประเทศสู่สังคมนิยม เช่น นำระบบนารวมมาใช้ ห้ามเก็บผลผลิตเป็นของส่วนตัว ใครฝ่าฝืนถูกลงโทษในข้อหาปฏิปักษ์ปฏิวัติ ผลคือ ในช่วงปี 1958-1962 ผู้คนอดตายเป็นเบือ

ในช่วงกลางทศวรรษ 1960s ประชาชนยังทุกข์ยากต่อเนื่องอีกระลอกเพราะนโยบายปฏิวัติวัฒธรรม ในช่วงปี 1966-1976 มีคนเดือดร้อนแสนสาหัสเต็มแผ่นดิน

เมื่อถึงทศวรรษ 1980s เติ้งเสี่ยวผิง จึงปฏิรูปการปกครองด้วยการใช้ระบบการนำรวมหมู่ การตัดสินใจกำหนดนโยบายต้องผ่านความเห็นชอบของพรรค ไม่ใช่ประธานพรรค โดยรวมศูนย์อำนาจไว้ที่การนำของคนชั้นบนสุดเจ็ดคนที่เรียกว่า คณะกรรมการประจำของกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน

หลักการนำรวมหมู่ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญและธรรมนูญพรรค ก่อรูประบอบการปกครองที่แยกระหว่างรัฐกับพรรค อำนาจแท้จริงอยู่ที่พรรค โดยความสนับสนุนของกองทัพ ประมุขของรัฐคือ ประธานาธิบดี ซึ่งเป็นเพียงตำแหน่งทางพิธีการ

ระบอบปกครองแบบนี้ถือปฏิบัติมาโดยตลอดตั้งแต่ทศวรรษ 1990s ทั้งในยุคของ เจียงเจ๋อหมิน และ หูจิ่นเทา เจียงและหูต่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนละสองสมัย หรือรวมระยะเวลา 10 ปี

ถือกันว่า การนำรวมหมู่เป็นหลักประกันความราบรื่นของการผ่องถ่ายอำนาจ และความเป็นเอกภาพของพรรคคอมมิวนิสต์

ยกสถานะ ‘ประธานาธิบดี’?

นักสังเกตการณ์มองว่า การเปิดทางให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้โดยไม่จำกัดเวลา อาจเป็นความพยายามที่จะยกสถานะ บทบาท รวมทั้งเพิ่มอำนาจแก่สีจิ้นผิง

สีเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่เดือนมีนาคม 2013 เขานั่งเก้าอี้ตัวนี้ครบวาระห้าปีแรกแล้ว คาดกันว่าสภาผู้แทนประชาชนจะเปิดไฟเขียวให้เขาดำรงตำแหน่งในสมัยที่สองจนถึงปี 2023

เวลานี้ สีมีอายุ 64 ปี เมื่อครบเทอมในสมัยที่สอง เขาจะมีอายุ 69 ปี ถ้าสภาตรายางมีมติยกเลิกการจำกัดระยะเวลาดำรงตำแหน่ง สีจะตีตั๋วต่อบนเก้าอี้ประธานาธิบดีได้อีกคราวละห้าปี อายุอานามก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก

นักวิชาการด้านจีนศึกษาบางรายบอกว่า ถ้าสีจิ้นผิงตั้งใจอยู่ยาว อาจมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก เพื่อเพิ่มอำนาจให้แก่ประมุขของรัฐ ซึ่งจะทำให้ประธานาธิบดีมีสถานะและบทบาทสูงขึ้น

สีจิ้นผิงมีเป้าหมายอย่างไรในการครองอำนาจยาวนาน?

บางคนบอกว่า เขาอาจต้องการทำฝันให้เป็นจริง ดังที่เจ้าตัวเคยพูดถึง “ความฝันของจีน” ที่อยากเห็นประเทศชาติยิ่งใหญ่รุ่งเรือง มีสถานะเป็น ‘ประเทศพัฒนาแล้ว’ ภายในปี 2049 ในโอกาสครบ 100 ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน

กลยุทธ์อย่างหนึ่งที่จะสานฝัน ก็คือ อภิมหาโครงการ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ซึ่งจะหนุนส่งให้จีนกลายเป็น ‘ฮับ’ ของโครงข่ายเส้นทางสัญจรของโลก

ถ้าอยู่ยาวได้ถึงตอนนั้นจริงๆ สีจิ้นผิงจะมีอายุ 96 ปี

ก้าวกระโดด (ถอยหลัง) ครั้งใหญ่?

บนเส้นทางของการครองอำนาจยาวนาน ด้วยระบอบปกครองที่ยึดถือตัวบุคคล ไม่ว่าที่แห่งไหนในโลก ไม่ว่าห้วงเวลาใดของประวัติศาสตร์ มีความเสี่ยงที่จะเกิดการกดขี่บีฑา

สัจพจน์ที่ว่านี้ สีจิ้นผิงย่อมซาบซึ้งดี เพราะบิดาของเขา สีจงซวิน นักปฏิวัติผู้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ถูกปลดและถูกจำกัดบริเวณในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ครอบครัวของเขาต้องตกระกำลำบากเพราะการเมือง

แม้อ้างว่าอยู่ยาวเพื่อผลักดันการพัฒนาประเทศ แต่หากละทิ้งการนำรวมหมู่ ย้อนยุคกลับไปหาระบอบผู้นำเป็นใหญ่ ย่อมจุดประเด็นคำถามว่า เป้าหมายนี้ต้องแลกด้วยอะไร

ในโลกการเมือง การมุ่งสู่เป้าหมายที่เชื่อว่าดีงาม มีต้นทุนสูงลิบลิ่วเสมอ

 

อ้างอิง:

ภาพเปิด โดย Damir Sagolj/REUTERS

Tags: , , ,