ปีเตอร์ ฮัมฟรีย์ นักสืบเอกชนชาวอังกฤษ ซึ่งถูกจับเข้าคุกโดยทางการจีนเมื่อสองปีก่อน (จากกรณีเข้าไปสืบสวนเรื่องการให้สินบนแพทย์ของบริษัทยา) เปิดเผยในเว็บไซต์ไฟแนนเชียลไทมส์ถึงสภาพชีวิตอันตรากตรำระหว่างปี 2014-2015 ขณะถูกจองจำในคุก Qingpu ชานเมืองเซี่ยงไฮ้ หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจคือ การใช้นักโทษเป็นแรงงานผลิตสินค้าให้บริษัทต่างชาติอื่นๆ

เขากล่าวว่า “เรือนจำคือธุรกิจ ทำงานผลิตให้กับบริษัทต่างๆ” โดยแบรนด์ที่เขาจำได้จากตราที่ติดบนผลิตภัณฑ์ได้แก่ H&M C&A และ 3M

อันที่จริง การใช้แรงงานนักโทษไม่ได้ละเมิดกฎขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) และฮัมฟรีย์ก็บอกว่า ถ้าเป็นนักโทษต่างชาติ ก็จะไม่ได้ถูกบังคับให้ทำงาน และได้รับค่าตอบแทน แต่ไม่แน่ชัดว่านักโทษชาวจีนได้รับค่าตอบแทนในทำนองเดียวกันหรือเปล่า และผลิตภัณฑ์ของยี่ห้อใดบ้างที่พวกเขาทำการผลิต

แม้การใช้แรงงานนักโทษไม่ได้เป็นการกระทำผิด แต่แบรนด์ระดับโลกหลายแบรนด์ระบุชัดว่า ไม่มีแรงงานจากเรือนจำอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของพวกเขา เพราะมีแนวโน้มใกล้เคียงกับการใช้แรงงานโดยการบังคับ และถึงแม้ ILO จะมีแนวปฏิบัติที่ยอมรับได้ออกมา แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่จะรับรองว่ากฎเกณฑ์เหล่านี้ได้รับการปฏิบัติตาม และหลายครั้ง บริษัทต่างๆ ก็โดนหลอกจากผู้รับจ้างผลิตว่าแรงงานเหล่านี้ได้ปฏิบัติตามมาตรฐาน ILO แล้ว

กรณีของ H&M บริษัทได้กำหนดให้โรงงานผู้รับจ้างผลิตเซ็นสัญญาที่ระบุว่าจะต้องไม่มีการใช้ “แรงงานบังคับ แรงงานทาส แรงงานนักโทษ หรือแรงงานผิดกฎหมายต่างๆ” และในกรณีที่ถูกเปิดเผยออกมาในไฟแนนเชียลไทมส์นี้ โฆษกก็ได้ออกมากล่าวว่า หากเป็นจริง ผู้รับจ้างผลิตจากจีนที่ฝ่าฝืนจะถูกยุติสัญญาทันที

ส่วนกรณีของ 3M ก็ได้กำหนดเงื่อนไขความรับผิดชอบของผู้ผลิต ซึ่งห้ามไม่ให้ใช้ “แรงงานนักโทษที่ไม่เต็มใจ” และตอนนี้ยังไม่แน่ชัดว่า 3M มีความคิดเห็นอย่างไรต่อกรณีเรือนจำ Qing Pu เพียงแต่ให้ข้อมูลกับเว็บไซต์ Quartz ว่า 3M ไม่ทราบว่ามีการใช้แรงงานนักโทษในจีน และจะทำการสืบสวนกรณีนี้ตามรายงานต่อไป

ไม่ใช่แค่เพียงแรงงานในเรือนจำ แต่ในบางกรณี ห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อนก็ทำให้แบรนด์ต่างๆ ไม่อาจรู้ หรือกล่าวอ้างว่าไม่รู้ได้ว่าต้นตอของการผลิตนั้นมาจากไหน เช่นเดียวกับกรณีที่ผลิตภัณฑ์แปะป้าย Made in China ในจีน แท้จริงอาจมีแหล่งผลิตในเกาหลีเหนือ ตามที่นำเสนอไปก่อนหน้านี้ https://goo.gl/ozpDQG

ที่มาภาพ: REUTERS/Aly Song

ที่มา:

https://qz.com/1209468/hm-and-ca-are-accused-of-benefitting-from-chinese-prison-labor/

http://www.ilo.org/empent/areas/business-helpdesk/faqs/WCMS_DOC_ENT_HLP_FL_FAQ_EN/lang–en/index.htm#Q3

Tags: , , , , , , ,