ยามหยิบสบู่มาชำระล้างร่างกาย คุณเคยสงสัยไหมว่าเรื่องราวความเป็นมาของก้อนสี่เหลี่ยมเล็กๆ ในมือนั้นเป็นอย่างไร
ในทางวิทยาศาสตร์ สบู่ไม่ใช่อะไรเลย นอกจาก ‘เกลือ’ ของกรดไขมันที่ทำให้ตัวของมันกลายเป็นก้อนโมเลกุลที่มีลักษณะสองแบบอยู่ในตัวเอง คือปลายหนึ่งมีขั้ว อีกปลายหนึ่งไม่มีขั้ว ดังนั้น มันจึงสามารถจับกับทั้งน้ำและน้ำมันได้ กลายเป็นสารที่ช่วยล้างคราบไขมันให้หลุดติดออกไปกับน้ำได้โดยง่าย
ที่จริงแล้ว สบู่มีสองประเภทใหญ่ๆ คือสบู่ที่เรียกว่า Toilet Soap หรือสบู่ที่เราใช้กันในห้องน้ำ ใช้ล้างมือ อาบน้ำ หรือแม้แต่ล้างหน้า ในสบู่แบบนี้ องค์ประกอบสำคัญของโมเลกุลสบู่จะเป็นโซเดียมหรือโพแทสเซียม (หลายคนคงคุ้นเคยดีกับเกลือแกงที่สูตรเคมีคือโซเดียมคลอไรด์) แต่ถ้าเป็นสบู่ที่ไม่ได้ใช้กับเนื้อตัวร่างกายของเรา ใช้เพื่อชะล้างคราบไขมันหนักๆ ไปเลย เช่น ใช้ขัดถูพื้นผิวต่างๆ องค์ประกอบสำคัญจะเปลี่ยนจากโซเดียมหรือโพแทสเซียมไปเป็นธาตุอื่นๆ เช่น แมกนีเซียม แคลเซียม หรือแม้กระทั่งลิเธียม
แต่เราจะไม่พูดถึงสบู่เหล่านั้น และอันที่จริงในภาษาไทย เราแทบไม่เรียกสารทำความสะอาดเหล่านั้นว่าสบู่ด้วยซ้ำ
สบู่ที่เราจะพูดถึง ก็คือ Toilet Soap และความเป็นมาของสบู่ชั้นเลิศที่ว่ากันว่าต้องผลิตจากเมืองสามเมืองในโลกเท่านั้น
ที่จริงแล้ว ประวัติศาสตร์แห่งสบู่นั้นยาวนานเหลือเกิน เชื่อกันว่า มีการทำสบู่หรือสารคล้ายสบู่ครั้งแรก ตั้งแต่ 2,800 ปีก่อนคริสตกาล ในเมืองบาบิโลน ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ใน ‘คลื่นอารยธรรมเมือง’ ลูกที่สองที่เกิดขึ้นหลังเกิดคลื่นอารยธรรมเมืองลูกแรกในแถบเมโสโปเตเมีย โดยสูตรการทำสบู่ในบาบิโลนนั้น แท้จริงแล้วคลับคล้ายสูตรทำสบู่ในปัจจุบันไม่น้อย เพราะทำจากน้ำ ด่าง และน้ำมันจากเมล็ดแคสเซียซึ่งคล้ายๆ มะขามแขกของไทย
อียิปต์โบราณก็มีบันทึกถึงการทำสบู่เหมือนกัน โดยการผสมระหว่างเกลือของด่าง (Alkaline Salts) ชนิดต่างๆ เข้ากับน้ำมันพืช ทำให้เกิดสารคล้ายๆ สบู่ แต่คำว่าสบู่หรือ Soap เกิดขึ้นครั้งแรกในบันทึกของพลินีผู้เฒ่า (Pliny the Elder) ที่เสียชีวิตเพราะภูเขาไฟวิสุเวียสระเบิดและฝังเมืองปอมเปอีไปทั้งเมือง เขาบรรยายถึงการผลิตและใช้สบู่ในแบบที่อ่อนโยนกว่าเดิม ก่อนหน้านั้น ชาวโรมันไม่ค่อยนิยมใช้สบู่เท่าไร เพราะมันรุนแรงกับผิว
อีกภูมิภาคหนึ่งที่มีร่องรอยหลักฐานการใช้สบู่มานานนับพันปีแล้ว ก็คือแถบตะวันออกกลางและเมดิเตอร์เรเนียน ในแถบนั้นนอกจากจะมีการปลูกต้นมะกอกมาเนิ่นนานจนสามารถผลิตน้ำมันมะกอกมาเป็นวัตถุดิบต้นธารในการผลิตสบู่ได้แล้ว ก็ยังมีการปลูกผลไม้ประเภทส้มหรือมะนาวมากมายด้วย เนื่องจากเหมาะสมกับสภาพอากาศ สิ่งเหล่านี้กลายมาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสบู่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ
ตามทฤษฎี สบู่จะทำจากไขมันอะไรก็ได้ ขอให้เป็นไตรกลีเซอไรด์ (ไขมันและน้ำมัน) อาจจะเป็นน้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม หรือแม้กระทั่งไขมันจากสัตว์ก็ยังได้ แต่ในทางปฏิบัติ สบู่ที่ถือว่าล้ำเลิศที่สุด คือสบู่ที่ทำจากน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ ถึงจะนำมาใช้กับร่างกายได้ดีและขายได้ราคาแพง
ในโลกนี้ มีเมืองอยู่อย่างน้อยสามแห่งที่ถือว่าเป็นต้นตำรับสบู่ที่ทำจากน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ และตัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยม (เรียกกันว่า Hard Soap หรือ Curd Soap) เมืองทั้งสามได้แก่เมืองอะเล็ปโป (Aleppo) ในซีเรีย, เมืองคาสตีล (Castile) ในสเปน และเมืองมาร์แซย์ (Marseille) ในฝรั่งเศส ซึ่งจะสังเกตได้เลยว่าทั้งสามแห่งอยู่ในแถบเมดิเตอร์เรเนียนทั้งนั้น
ที่เรียกสบู่แบบนี้ว่า Hard Soap ก็เพราะขณะเตรียมสบู่ จะมีการเติมเกลือแกงธรรมดาๆ (โซเดียมคลอไรด์) ลงไป ทำให้ตัวสบู่เกิดการแยกตัวออกจากกลีเซอรีน (Glycerin) ซึ่งเป็นสารในสบู่ที่ทำให้เกิดความอ่อนตัวยามโดนน้ำ แต่เมื่อกำจัดกลีเซอรีนออกไปแล้ว สบู่ที่ได้จะมีความแข็งมากกว่า ใช้งานได้นานกว่า และมีคุณสมบัติที่ดีกว่าด้วย
ไม่มีใครรู้ว่า สบู่ของอะเล็ปโปนั้นผลิตครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่เชื่อกันว่า กระทั่งราชินีระดับตำนานอย่างคลีโอพัตราแห่งอียิปต์ และราชินีเซโนเบียแห่งซีเรีย ก็ใช้สบู่จากอะเล็ปโปในการทำความสะอาดผิว ทำให้ผิวนวลเนียนดุจแช่น้ำนม โดยสบู่จากอะเล็ปโปต้นตำรับนั้น ใช้น้ำมันมะกอก น้ำมันจากผลลอเรล (Laurel Berry) น้ำ และด่างจากเถ้าของไม้ (Lye) ซึ่งเป็นโซเดียมไฮดรอกไซด์หรือโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ โดยสิ่งที่เป็นเครื่องกำหนดราคาของสบู่ คือตัวน้ำมันที่ใช้นั่นเอง สบู่ของอะเล็ปโปแพงเพราะใช้ทั้งน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ และน้ำมันจากผลลอเรลที่หายาก แต่ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นวัตถุดิบที่ได้จากธรรมชาติในพื้นถิ่นทั้งสิ้น
แล้วสบู่อะเล็ปโป ก็ค่อยๆ สืบสายสาแหรกสบู่มาสู่สบู่คาสตีล ไม่ใช่เพราะมันเป็นสัตว์ที่ย้ายถิ่นฐานได้ แต่การสืบสาแหรกนี้เกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งทางศาสนาต่างหากเล่า
เราคงรู้กันอยู่แล้วว่า ชาวสเปนนั้นเคร่งศาสนามาก ดังนั้นเมื่อเกิดสงครามครูเสด ทหารครูเสดจำนวนมากจึงมาจากสเปน และเป็นหนึ่งในพวกที่ได้บุกไปถึงอะเล็ปโป (ที่จริงไปไกลกว่านั้นอีกมาก) เชื่อกันว่าทหารครูเสดเป็นผู้นำสบู่อะเล็ปโป (หรืออย่างน้อยก็สูตรและวิธีทำ) กลับสู่สเปนในศตวรรษที่ 11 แต่ก็อาจเป็นไปได้เหมือนกันที่วิธีทำสบู่นี้ ทหารครูเสดจะได้มาจากชาวกรีก เพราะชาวกรีกรับเอาวิธีทำจากอะเล็ปโปมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษแรกแล้ว และใช้กันแพร่หลาย
สบู่จึงข้ามฝั่งเมดิเตอร์เรเนียน จากตะวันออกไปสู่ตะวันตกได้ด้วยสงครามครูเสดอันเป็นสงครามศาสนานี่เอง
เรื่องราวของสบู่คาสตีลที่เกี่ยวข้องกับศาสนายังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะเมื่อสบู่คาสตีลมีที่มาจากทหารครูเสด ก็แปลว่าสูตรและกรรมวิธีผลิตสบู่อยู่ในมือของชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่ขึ้นตรงต่อพระสันตะปาปา แถมยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่คนนิยมใช้เป็นอย่างมากด้วย จากสเปน สบู่คาสตีลค่อยๆ ได้รับความนิยมแพร่ไปเป็นวงกว้าง จนกระทั่งไปถึงอังกฤษซึ่งแม้จะมีอุตสาหกรรมทำสบู่อยู่ แต่ก็ไม่ใช่สบู่ที่ถือว่าดีนัก เพราะอังกฤษปลูกมะกอกไม่ได้ดีเท่าแถบเมดิเตอร์เรเนียน สบู่ในอังกฤษยุคนั้นจึงเป็นสบู่ที่ไม่มีชื่อเสียง สบู่คาสตีลจึงเข้าไปตีตลาดอังกฤษและเป็นที่นิยมมากกว่า
แต่ปัญหาก็คือ สบู่คาสตีลเป็นสบู่ที่ผลิตโดยชาวคาทอลิก ในขณะที่ชาวอังกฤษเป็นโปรเตสแตนต์ ต่อมาจึงเกิดความขัดแย้งกันอย่างหนักด้วยเรื่องสบู่ๆ เพราะสบู่จากคาสตีลถูกกล่าวหาว่าเข้าไปผูกขาดการค้า จนตอนหลังต้องมีกฎหมายยกเลิกการผูกขาดสบู่ขึ้นมา นับเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร เพราะสบู่เกี่ยวพันกับ ‘ความสะอาด’ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในคุณค่าที่เกี่ยวพันกับศาสนาด้วยเหมือนกัน
สบู่จากคาสตีลนั้น แม้จะรับสูตรมาจากสบู่อะเล็ปโป แต่เนื่องจากหาน้ำมันลอเรลได้ยาก ตำรับคาสตีลจึงตัดน้ำมันลอเรลออกไป เหลือไว้เพียงน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ แล้วสุดท้ายก็เลย ‘สร้างสตอรี’ ให้น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์กลายเป็นเครื่องหมายการค้าหรือจุดขายสำคัญของสบู่จากคาสตีล คือต้องทำจากน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ของสเปนเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีกรรมวิธีบางอย่างที่ทำให้สบู่คาสตีลมีสีขาวบริสุทธิ์ด้วย ในขณะที่สบู่อะเล็ปโปจะมีสีเขียว ในแง่การตลาดจึงถือว่าเป็นวิธีสร้างจุดขายอย่างชัดเจน
นอกจากสบู่จากอะเล็ปโปและคาสตีลแล้ว อีกเมืองหนึ่งที่มีสบู่ขึ้นชื่ออย่างมาก ก็คือเมืองมาร์แซย์อันเป็นเมืองท่าทางตอนใต้ของฝรั่งเศส
สบู่จากมาร์แซย์นั้น แม้ไม่ปรากฏที่มาว่ารับสูตรมาจากไหน แต่ก็มีบันทึกตั้งแต่ปี 1370 ว่ามีช่างทำสบู่ในมาร์แซย์อยู่แล้ว เชื่อกันว่าในฐานะเมืองท่า สูตรและความนิยมในสบู่ที่เป็นสินค้าสำคัญอย่างหนึ่งก็น่าจะได้รับถ่ายทอดมากับเส้นทางการเดินเรือเพื่อการค้านี่เอง
สบู่ของมาร์แซย์มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Savon de Marseille ซึ่งชื่อนี้ก็มีกรณีพิพาทอีกนั่นแหละ เนื่องจากมีคนนำไปใช้กันมาก แต่บางครั้งก็เป็นสบู่ที่ไม่ได้คุณภาพ ดังนั้น ในยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จึงมีการออกกฎหมายเพื่อเรียกชื่อสบู่มาร์แซย์โดยเฉพาะ กฎหมายที่กำหนดว่าสบู่จากมาร์แซย์จะใช้ชื่อว่า Savon de Marseille ได้ จะต้องใช้น้ำมันมะกอกจากมาร์แซย์ (หรือฝรั่งเศสตอนใต้) เท่านั้น ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่ผูกสินค้าเข้ากับแหล่งกำเนิดพื้นถิ่นเช่นเดียวกันกับสบู่อะเล็ปโปและสบู่คาสตีล ซึ่งในปัจจุบันเราเรียกว่า GI หรือ Geographical Indication นั่นเอง
ที่จริงแล้ว วิธีผลิตสบู่ของมาร์แซย์แบบดั้งเดิมนั้นน่าทึ่งมาก เพราะนอกจากใช้น้ำมันมะกอกในท้องถิ่นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่มีที่ไหนเทียบเทียมได้ ก็คือมีการใช้น้ำทะเลจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาผสมด้วย น้ำทะเลนั้นมีเกลืออยู่แล้ว แถมยังใช้เถ้าด่างที่มาจากการเผาพืชทะเล นำมากวนเข้าด้วยกันแล้วอุ่นให้ร้อนพร้อมกับคนต่อเนื่องนานหลายวัน จากนั้นจึงปล่อยให้ตกตะกอนแล้วเทลงพิมพ์ สบู่ของมาร์แซย์ถือเป็น Hard Soap ชั้้นเลิศเหมือนสบู่อะเล็ปโปและสบู่คาสตีลนั่นเอง
จะเห็นได้ว่า แม้กับเรื่องสบู่ที่เราอาจคิดว่าเป็นของพื้นฐานมากๆ แท้จริงแล้วมีเรื่องเล่าของการสร้างแบรนด์และสถานะให้กับสินค้าที่ผ่านประวัติศาสตร์ยาวนาน จนกระทั่งกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองและวิถีชีวิตของผู้คนได้เลย
เราอาจรู้จักสบู่และใช้สบู่กันมาเนิ่นนานตลอดชีวิต แต่ประวัติศาสตร์ของสามนครแห่งสบู่ ทำให้เราเห็นความเป็นมาเป็นไปที่หวนคืนสู่อดีตได้ยาวไกลอย่างที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง
Tags: ประวัติศาสตร์, World’s End, สบู่, History