เดือนนี้เป็น Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจในความหลากหลายทางเพศ ซึ่ง สเปนเซอร์ คอร์นฮาเบอร์ (Spencer Kornhaber) แห่ง The Atlantic บอกเอาไว้ว่า Pride หมายถึง Crowds 

ความหมายของเขาก็คือ ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ความภาคภูมิใจในความหลากหลายทางเพศนั้น มักแสดงออกมาด้วยการ ‘รวมตัว’ กันเสมอ

เริ่มต้นจากการรวมตัวกันประท้วงที่สโตนวอลเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว หรืออาจเป็นการเดินขบวน พาเหรด หรืองานมาร์ดิกราส์ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นการรวมตัวกันครั้งใหญ่ๆ ทั้งสิ้น หลายงานมีขบวนยาวเหยียดทั้งเมือง มีคนมาคอยดูเป็นหมื่นเป็นแสน

ส่วนในชีวิตประจำวัน วัฒนธรรมที่เรียกว่า Queer Culture หรือวัฒนธรรมเควียร์ ก็ล้วนมีศูนย์กลางอยู่ตรงการรวมตัวกันทั้งสิ้น ง่ายๆ ก็คือการไปรวมตัวกันในยามค่ำคืนในบาร์ คอนเสิร์ตต่างๆ รวมไปถึงการรวมตัวกันเพื่อถกเถียงเสวนาถึงประเด็นทางสังคมและการเมือง หรือกระทั่งการรวมตัวกันจนเกิดเป็น ‘ย่าน’ บางย่านขึ้นในบางเมือง เช่น ย่านแคสโตรของซานฟรานซิสโกและอื่นๆ

คำว่า Pride คือการแสดงออกให้คนอื่นเห็นถึงความภาคภูมิใจที่ได้ ‘เป็น’ ในสิ่งที่ตัวเองเป็น ดังนั้น หลายคนจึงบอกว่า Pride ไม่ได้ ‘ถูกสร้าง’ ขึ้นมาสำหรับ Social Distancing หรือการรักษาระยะห่างทางสังคมเลย

ในสังคมไทย เราจะเห็นได้เลยว่า แวดวงที่มีการแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในการเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ก็คือแวดวง ‘นางโชว์’ หรือ drag queen ที่เปิดการแสดงในยามค่ำคืนทุกๆ คืน แต่เมื่อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่มาเยือน สถานที่เหล่านี้จำเป็นต้องปิดตัวลงอย่างน้อยก็ชั่วคราว ผู้คนออกไปไหนมาไหนในยามค่ำคืนไม่ได้เพราะติดเคอร์ฟิว สิ่งที่ขาดหายไปจึงคือชีวิตกลางคืน และแวดวงแห่งการโชว์ก็เกี่ยวพันกับชีวิตกลางคืนอย่างลึกซึ้ง

เมื่อชีวิตกลางคืนหายไป สิ่งที่หายตามไปด้วยไม่ใช่แค่เม็ดเงิน สถานภาพทางเศรษฐกิจ หรือกระทั่งเซ็กซ์ ความสนุก สายสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ หรืออะไรทำนองนี้เท่านั้น แต่สิ่งสำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งที่ขาดหายไปด้วย ก็คือที่ทางสำหรับแสดงออกซึ่ง ‘อัตลักษณ์’ ซึ่งก็คือ ‘ความเป็น’ ตัวตนของคนคนนั้น ในแบบที่ไม่สามารถหาที่อื่นเพื่อแสดงออกได้ง่ายนัก

คอร์นฮาเบอร์พูดไว้ประโยคหนึ่งว่า

Queer gatherings are a rejection of queer isolation.

การรวมตัวกันของเหล่าเควียร์ ก็คือการปฏิเสธการทำให้เควียร์ต้องโดดเดี่ยว

คำพูดนี้สำคัญมากๆ เพราะหากคุณเป็น ‘เพศอื่นๆ’ ที่ไม่เข้ากันกับมาตรฐานเรื่องเพศของสังคม (โดยเฉพาะในสมัยก่อน) สิ่งที่คุณทำได้ก็คือการ ‘ซ่อน’ ตัวอยู่ในตู้ หลายคนต้องเจ็บปวดโดดเดี่ยว รู้สึกเหมือนถูกขังอยู่ในจักรวาลนี้เพียงลำพังคนดียว เพราะไม่สามารถจะติดต่อสื่อสาร หรือบอกเล่าความต้องการของตัวเองออกมาได้ ประวัติศาสตร์แห่งเพศบอกผู้คนเหล่านี้ว่าพวกเขาควรละอาย ไม่ควรนำเสนอความต้องการและตัวตนออกมาในที่สาธารณะ

ตลอดประวัติศาสตร์ พื้นที่สำหรับเพศหลากหลายจึงเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างปิดลับ ซึ่งก็เหมาะสมยิ่งนักกับยามค่ำคืนที่ความมืดช่วยทำหน้าที่ปกปิด การลุกขึ้นหยัดยืนเพื่อบอกทุกคนว่า – ฉันเป็นอย่างที่ฉันเป็น และฉันภูมิใจในสิ่งที่ฉันเป็น, คือเรื่องยากลำบาก และดังนั้น เดือนแห่ง Pride จึงเกิดขึ้นเพื่อให้กำลังใจและปลุกเร้าผู้คนให้สามารถแสดงออกอย่างที่ตัวเองเป้นได้

ในบทความของคอร์นฮาเบอร์ เขาเล่าถึงเพื่อนคนหนึ่งว่า เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้นมา สิ่งที่เขารู้สึกว่าขาดหายไปไมใช่การได้พบปะเพื่อนฝูงหรือความสนุกสนาน แต่สิ่งที่ขาดหายไปนั้นแทบเทียบเท่ากับ ‘โบสถ์วิหาร’ เลยทีเดียว นั่นก็คือบาร์และชีวิตกลางคืน ชีวิตที่พวกเขาได้ปลดปล่อย เป็นตัวเอง พบปะเพื่อน และแสวงหาความหมายของชีวิตในแบบที่พวกเขาต้องการ

ที่จริงแล้ว ก่อนหน้าจะมีโควิด-19 สถานที่กลางคืนเหล่านี้กำลังลดน้อยถอยลง สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า บาร์เกย์ที่เคยมีมากถึง 2,500 แห่ง ในปี 1979 พอถึงปี 2019 กลับลดลงเหลือเพียง 1,400 แห่งเท่านั้น คือลดลงไปเกือบครึ่ง

การลดลงของบาร์เกย์ไม่ได้แปลว่าวัฒนธรรมเกย์ตกต่ำลง กลับกัน นี่คือการแสดงให้เห็นถึงการ ‘ยอมรับ’ เพศหลากหลายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน คนที่เป็นเกย์ (รวมถึงเพศอื่นๆ ด้วย) สามารถเกลื่อนกลืนเข้าไปอยู่ใน ‘เนื้อเมือง’ แบบอื่นๆ รวมถึงช่วงเวลาอื่นๆ ที่ไม่ต้องอาศัยความมืดเป็นตัวช่วยอีกต่อไป เมืองจำนวนมากเกิดการเปลี่ยนแปลงของย่าน (Gentrification) เพราะความจำเป็นที่จะต้องแยกตัวออกมามี ‘ย่านเกย์’ หรืออะไรทำนองนี้ลดน้อยลงมาก ยังไม่นับเทคโนโลยีดิจิตอล ที่ทำให้ผู้คนสามารถเชื่อมโยงกันได้ออนไลน์ และนัดพบกันได้โดยไม่ต้องอาศัยพื้นที่ทางกายภาพเป็นแหล่งรวมอีกต่อไป พื้นที่เหล่านี้จึงลดน้อยลง

แต่ยิ่งลดน้อยลงเท่าไหร่ มันก็ยิ่งสลักสำคัญมากขึ้นเท่านั้น เพราะพื้นที่ที่เหลือรอดอยู่ ถ้าไม่ใช่พื้นที่ที่มีไว้สำหรับแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น บาร์สโตนวอล ก็เป็นพื้นที่สำหรับจัด event เพื่อการรวมตัวกันในวาระพิเศษ 

แต่แล้วพื้นที่เหล่านี้ก็ถูกปิดลง พร้อมกับกระแส ‘ต่อต้านเกย์’ (anti-gay) ที่ดังขึ้นพร้อมๆ กับกระแสสั่งปิดพื้นที่กลางคืน 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือเกาหลีใต้ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้พบผู้ติดเชื้อระลอกสองในย่านอิแทวอน ซึ่งเกิดจากการเที่ยวกลางคืน

หน่วยงานอย่าง KCDC หรือหน่วยงานควบคุมและป้องกันโรคของเกาหลี ให้ข้อมูลว่าอิแทวอนถือได้ว่าเป็น ‘ย่านเกย์’ ของกรุงโซล ดังนั้นเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นมาในย่านนี้ กระแสต่อต้านเกย์ก็เริ่มเกิดขึ้นพร้อมกันด้วย 

เกย์เกาหลีคนหนึ่งบอกกับ The Guardian ว่า เขารู้สึกเหมือนติดกับดักและถูกตามล่า สำหรับเขา การออกเที่ยวในยามค่ำคืนเป็นหนทางเดียวที่เขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ แต่เมื่อเกิดการระบาดขึ้น หากเขาเข้ารับการตรวจ ก็เท่ากับเปิดเผยตัวเองว่าเป็นเกย์ ซึ่งอาจส่งผลต่อหน้าที่การงานและทำให้เกิดความอับอายทางสังคมขึ้นมาได้ 

ในเดือน Pride จึงเป็นโอกาสที่เราจะพยายามมองให้เห็นว่า การล็อคดาวน์หรือ Social Distancing ส่งผลอย่างไรกับคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคมบ้าง และ ‘วัฒนธรรมเควียร์’ เหล่านี้ จะปรับตัวเพื่ออยู่รอดต่อไปอย่างไรเหมือนที่เคยปรับตัวและอยู่รอดมาแล้วไม่กี่ครั้งในประวัติศาสตร์

ภาพ: REUTERS/Lucas Jackson

Tags: