1
เรื่องที่น่าเสียดายที่สุดเมื่อไปเยือนเกาะคาปรีก็คือ ผมไปไม่ถึง วิลล่าโจวิส (Villa Jovis)
มันเป็นวิลล่าหลังใหญ่ที่สร้างขึ้นเมื่อเกือบสองพันปีที่แล้ว และเป็นที่อยู่ของกษัตริย์เหนือกษัตริย์ (ซึ่งก็คือองค์จักรพรรดิแห่งโรมัน) องค์หนึ่ง
เขาเป็นกษัตริย์ที่เบื่อหน่ายการเมือง และถอนตัวจากการบริหารกรุงโรมมาใช้ชีวิตสำเริงสำราญอยู่ในวิลล่าส่วนตัวบนเกาะห่างไกล ปล่อยให้ขุนนางคนอื่นว่าราชการแทน
เขาคือ จักรพรรดิทิเบริอุส (Tiberius) ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากจักรพรรดิออกุสตุส (Augustus) ผู้ยิ่งใหญ่ และเป็นผู้รับและสถาปนาคริสต์ศาสนาในโลกตะวันตก หลังคำมั่นสัญญาของพระเยซูว่า – วันสิ้นโลกจะมาถึงในช่วงอายุขัยของอัครสาวกไม่เป็นจริง และความเชื่อในคริสต์ศาสนาเริ่มเกิดวิกฤต ทว่าเหตุมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น เมื่อจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ของโรมันอย่างออกุสตุสกลับกลายมาเป็นผู้เชื่อ และทำให้ศาสนาเล็กๆ นี้ ค่อยๆ หยั่งรากอีกครั้ง
คนที่จะสืบทอดตำแหน่งต่อจากทิเบริอุส คือจักรพรรดิอีกองค์หนึ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องความโหดเหี้ยมอำมหิตอย่างยิ่ง เขาคือ คาลิกูลา (Caligula) และที่จริง ก่อนคาลิกูลาขึ้นรับตำแหน่งจักรพรรดิ ก็เคยไปอยู่กับทิเบริอุสที่คาปรีนานถึงหกปีด้วยเช่นกัน
นั่นจึงเป็นเหตุผลอันน่าเสียดาย ที่ผมไปไม่ถึงวิลล่าโจวิส สถานที่ที่ร่ำลือกันว่าเกิดเรื่องพิสดารพันลึกมากมายขึ้นที่นั่น โดยเฉพาะเรื่องความสำเริงทางเพศ และความโหดเหี้ยมของทิเบริอุส
2
คาปรีเป็นสถานที่หนึ่งที่งดงามที่สุดในโลก มันตั้งอยู่ในทะเลทรีรีเนียน (Thrrhenian) ทางตอนใต้ของอิตาลี ใกล้กับเมืองเนเปิลส์หรือนาโปลี อยู่ใต้เงื้อมเงาตระการของภูเขาไฟวิสุเวียส
น้ำทะเลของคาปรีสวยชนิดลืมหายใจ โดยเฉพาะตามแก่งถ้ำริมทะเลที่เดินเท้าเข้าไปไม่ได้ ต้องนั่งเรือเข้าไปเท่านั้น สถานที่ลือชื่อในระดับโลกคือ บลูกร็อตโต้ (Blue Grotto หรือ Grotta Azzurra) เป็นถ้ำที่ค้นพบในศตวรรษที่ 19
ภูมิประเทศของคาปรีนั้นน่าตื่นใจนัก ถ้าว่ากันตามความรู้สึก คาปรีเหมือนผีเสื้อที่แผ่ปีกออกจากท่าเรือใหญ่ตอนเหนือที่เรียกว่า Marina Grande ผืนดินค่อยๆ ลาดสูงชันขึ้นไปจนถึงท่าเรือด้านหลังเกาะที่เรียกว่า Marina Piccola เป็นบริเวณกลางเกาะนี้เองที่เต็มไปด้วยโรงแรม ร้านรวง และสวนส้มแห่งเมดิเตอร์เรเนียนอันขึ้นชื่อ ส่วนสองฟากข้างลำตัวของผีเสื้อเลยไปทางตะวันตกจะเป็นปีกที่ใหญ่กว่าและสูงชันขึ้นไป เรียกว่า Anacapri ในขณะที่ฝั่งตะวันออกอันเป็นปีกที่เล็กกว่านั้น จะยิ่งสูงลิบลิ่วจนกระทั่งกลายเป็นหน้าผาสูงถึง 330 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลที่ดิ่งชันลงไปเบื้องล่าง
ที่นี่เอง คือที่ตั้งของวิลล่าโจวิส และผู้คนก็ขนานนามดินแดนแถบนี้ว่า ‘ทิเบริโอ’ (Tiberio) ตามชื่อของทิเบริอุส
3
เมื่อออกุสตุส จักรพรรดิองค์แรกของกรุงโรม เสียชีวิตใน ค.ศ. 14 แล้ว ทิเบริอุสก็ได้ขึ้นครองบัลลังก์แทน ว่ากันว่า ทิเบริอุสเป็นกษัตริย์ที่ไม่อยากเป็นกษัตริย์สักเท่าไร
ผู้เฒ่าพลินี (Plini the Elder) คนที่ตายเพราะภูเขาไฟวิสุเวียสระเบิด เคยเรียกทิเบริอุสว่าเป็น ‘ชายผู้หดหู่ที่สุด’ เพราะเขาไม่เอาใครเลย ไม่สนใจใคร เป็นคนประเภทที่เรียกได้ว่าถอนตัวออกจากโลก เหนื่อยหน่าย ไม่อยากว่าราชการ โดยเฉพาะเมื่อต้องรับมือกับพวกขุนนางในสภาทั้งหลาย ยิ่งทำให้ทิเบริอุสเก็บตัว
เชื่อกันว่า ยุคของทิเบริอุสนี่เองคือยุคที่พระเยซูถูกตรึงกางเขน แต่นั่นก็ไม่เกี่ยวข้องกับทิเบริอุสโดยตรงนัก เพราะเขาแทบไม่ได้สนใจความเป็นไปของบ้านเมืองสักเท่าไร
ทิเบริอุสเป็นลูกติดของลิเวีย ซึ่งเป็นชายาของออกุสตุส ออกุสตุสจึงเป็นพ่อเลี้ยงของเขา แม้ว่าทั้งคู่จะไม่ได้รักใคร่กันนัก แต่เนื่องจากไม่เหลือผู้สืบทอดบัลลังก์คนอื่นๆ อีกแล้ว ตำแหน่งนี้จึงต้องยกให้กับทิเบริอุส
ออกุสตุสนั้นเก่งเรื่องการเมืองและการทูต แต่ทิเบริอุสมีความเป็นนักรบหรือเป็นทหารมากกว่า ออกุสตุสชอบอยู่อย่างสมถะ แต่ทิเบริอุสชอบบ้านใหญ่โต ว่ากันว่า เขาชอบสร้างวังขนาดมหึมาที่มีความซับซ้อน ทั้งคู่มีที่พักอยู่บนเนินเขาที่ชื่อ Palatine Hill ในกรุงโรมเหมือนกัน โดยคำว่า Palatine นั้น เป็นต้นรากของคำว่า Palace หรือพระราชวังที่เราใช้กันในปัจจุบัน
ที่จริงแล้ว ก่อนหน้าที่ทิเบริอุสจะได้เป็นจักรพรรดิ เขาก็ออกอาการ ‘หน่าย’ บ้านเมืองอยู่แล้ว ช่วงหนึ่ง เขาถือได้ว่าเป็นคนที่มีอำนาจเป็นอันดับสองของโรม แต่จู่ๆ เขาก็ประกาศว่าไม่เอาอะไรแล้ว แล้วก็ถอนตัวจากการเมืองทั้งปวงไปอยู่บนเกาะโรดส์ (Rhodes) โดยไม่มีใครรู้เลยว่าเหตุผลแท้จริงของการถอนตัวนี้คืออะไร
แต่การถอนตัวนี้ทำให้ออกุสตุสเจ็บปวด เพราะการวางแผนผู้สืบทอดอำนาจของเขาสะดุดลง มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งขณะออกุสตุสป่วยหนัก เขาวิงวอนขอให้ทิเบริอุสอยู่ต่อ แต่ทิเบริอุสรีบถอนสมอออกเรือหนีไปเลยเพราะเขาคิดว่าพ่อเลี้ยงกำลังจะตายแล้ว แต่ปรากฏว่าออกุสตุสไม่ตาย สุดท้ายทิเบริอุสเลยต้องขอกลับเข้ากรุงโรมเพื่อมาขอขมา แต่ออกุสตุสก็ปฏิเสธ
อย่างไรก็ตาม ด้วยความขาดแคลนทายาทที่เหมาะสม ประกอบกับทิเบริอุสเองก็ดูคล้ายจะเปลี่ยนใจ สุดท้ายเขาจึงรับตำแหน่งจักรพรรดิ แต่ไม่ถึงสิบปีเขาก็เบื่อหน่าย และเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวไปทางตอนใต้ของอิตาลีปัจจุบัน และเมื่อลูกชายของเขาเสียชีวิตอย่างลึกลับ ทิเบริอุสก็ล้มเลิกความพยายามจะแสร้งปกครอง
เขาเนรเทศตัวเองไปอยู่บนวิลล่าโจวิสที่คาปรี และเรียกดินแดนที่ตนอยู่ว่า Apragopolis ซึ่งแปลว่า City of Doing Nothing คือเป็นดินแดนแห่งการไม่ต้องทำอะไรเลย
อย่างไรก็ตาม การ ‘ไม่ต้องทำอะไร’ ของทิเบริอุสนั้น ไม่ได้แปลว่าจะนั่งทอดหุ่ยอยู่เฉยๆ มองฟ้าดื่มลมแกล้มแสงแดดแห่งเมดิเตอร์เรเนียนไปวันๆ เท่านั้น
นักบันทึกประวัติศาสตร์อย่าง ซูโทนิอุส (Suetonius) ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้บันทึกเรื่องซุบซิบร่ำลือของคนชั้นสูง เขียนไว้ (อ่านรายละเอียดที่ https://bit.ly/3oNVwvZ) ว่า เมื่ออยู่ที่วิลล่าโจวิส ทิเบริอุสมีพฤติกรรมวิตถารประหลาดมหัศจรรย์หลายอย่างมาก
โดยเฉพาะในเรื่องเพศ
ซูโทนิอุสบอกว่า เมื่อเนรเทศตัวเองไปอยู่ที่คาปรี ทิเบริอุสคิดค้นความสำราญเพื่อตอบสนองความต้องการลับๆ ของตัวเองอย่างมาก มีการระดมพลคนทั้งหญิงชาย คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญการร่วมเพศพิสดารมารวมตัวกัน มีการร่วมเพศทางเวจมรรค ห้องนอนของเขาตกแต่งด้วยภาพวาดและรูปปั้นเชิงกามารมณ์อันโจ๋งครึ่มเพื่อเป็นแบบอย่างให้คนที่เข้ามาประกอบกิจกรรมทางเพศได้กระทำเลียนแบบ คนที่เขาบัญชาให้มาร่วมเพศด้วยมีทั้งชายหญิง และกระทั่งเด็กเล็ก ทั้งยังจัดที่ทางในป่าเขาของคาปรี เพื่อให้เด็กเล็กทั้งหญิงชายได้เปลือยกายวิ่งเริงร่าแต่งตัวเป็นเทพตัวน้อยอย่าง เทพแพน (Pan) ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่มีรูปร่างเหมือนแพะ จนทำให้คนเรียกพื้นที่อุทยานของทิเบริอุสว่า The Old Goat’s Garden
ที่จริงแล้ว คำว่า ‘Capri’ ในภาษาละติน หมายถึงแพะอยู่ด้วย ดังนั้น การเกิดอุทยานแพะของทิเบริอุสขึ้นมา จึงเป็นเรื่องที่สอดคล้องต้องกันดี
4
ว่าแต่ว่า เมื่อทิเบริอุสไม่ปกครองบ้านเมือง แต่เนรเทศตัวเองไปเสพสุขอยู่บนเกาะห่างไกลแล้ว ใครล่ะจะเป็นผู้ทำงานแทนเขา
คำตอบก็คือ ลูซิอุส เซจานุส (Lucius Sejanus) นั่นเอง
เขาเป็นคนสนิทของทิเบริอุสมาตั้งแต่ยังหนุ่ม ดังนั้น ทิเบริอุสจึงมอบหมายงานให้เขาคอยดูแลกิจการของจักรวรรดิโรมันแทน ว่ากันว่า เป็นเซจานุสนี่เอง ที่ค่อยๆ วางยาพิษลูกชายของทิเบริอุสเพื่อจะรักษาอำนาจไว้กับตัวเอง นั่นยิ่งทำให้ทิเบริอุสไม่กลับมากรุงโรมอีก ทุกอย่างจึงอยู่ในกำมือของเซจานุสทั้งหมด
แต่แล้วจู่ๆ เซจานุสก็ถูกทิเบริอุสสั่งจับและสั่งประหารในเวลาอันสั้น นักประวัติศาสตร์ยังสงสัยกันอยู่ว่า เหตุผลที่เซจานุสต้องตายทั้งที่เป็นคนสนิทและคอยดูแลบริหารบ้านเมืองให้คืออะไร แต่ก็เชื่อกันว่า เซจานุสน่าจะวางแผนล้มล้างทิเบริอุส
ทาซิตุส (Tacitus) นักบันทึกประวัติศาสตร์อีกคนหนึ่งบอกว่า การประหารนี้ดูเหมือนจะเป็นตัวเร่งเร้าความโกรธเกรี้ยวรุนแรงของทิเบริอุสมากขึ้น เขาสั่งฆ่าคนที่เชื่อว่าสมคบคิดกับเซจานุสทั้งหมด แล้วนำมากองสูงท่วมทับถม ไม่ว่าจะเป็นหญิง ชาย เด็ก ผู้ใหญ่ ถ้าอยู่ในตระกูลจูเลียนส์ที่เชื่อว่าสมคบคิดด้วยแล้ว เป็นไม่รอด ก่อนถูกจับ คนเหล่านี้จะถูกสายลับคอยตาม และมีคำสั่งห้ามชาวบ้านและเพื่อนพ้องไปเยี่ยมหรือเข้าใกล้
ความโหดเหี้ยมของทิเบริอุสเป็นที่เลื่องลือ กระทั่งบนเกาะคาปรี ก็มีสถานที่ที่เรียกว่า Tiberius Leap หรือหน้าผาทิเบริอุส ซึ่งว่ากันว่าพอสังหารใคร ทิเบริอุสก็จะให้โยนร่างลงมาจากหน้าผานี้ ทั้งหมดนี้ทำลายภาพลักษณ์และชื่อเสียงของทิเบริอุสอย่างหนัก ซึ่งก็ยิ่งทำให้เขาไม่มีความสุขมากขึ้นไปอีก ซูโทนิอุสบันทึกว่า ในระยะหลัง ทิเบริอุสเป็นโรคหวาดระแวง และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับรำพันถึงความตายของลูกชาย
ทิเบริอุสตายเมื่ออายุเกือบ 78 ปี เมื่อตายแล้ว สภาแห่งกรุงโรมมีมติไม่มอบเกียรติยศให้กับเขาเหมือนที่มอบให้กับออกุสตุส ผู้คนก็ออกมาตามท้องถนน ร้องตะโกนให้โยนร่างของเขาลงไปในแม่น้ำแทนที่จะนำไปฝังหรือเผา อันเป็นวิธีที่ปฏิบัติกับอาชญากร แต่สุดท้ายทางการก็เลือกที่จะเผาร่างของทิเบริอุสแล้วนำเถ้าไปเก็บไว้รวมกับเถ้าของออกุสตุสแทน
นักประวัติศาสตร์บอกกันว่า ถ้าทิเบริอุสตายก่อนหน้านี้สักสิบกว่าปี เขาน่าจะได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ปกครองชั้นเยี่ยม เพราะขนาดหนีไปอยู่บนเกาะคาปรีแบบนี้ กรุงโรมในปกครองของเขา (หรือที่จริงคือสภา) ก็ยังมีคลังสมบัติมากมายมหาศาล เพราะเขาเลือกใช้วิธีขู่ทางการทหาร และการเจรจาทางการทูตแทนการบุกไปพิชิตดินแดนต่างๆ จึงทำให้ไม่เสียเลือดเสียเนื้อเสียทรัพยากรมากเกินไป
ใน Game of Thrones นั้น ผู้เขียนคือ จอร์จ อาร์.อาร์. มาร์ติน บอกว่าเขาได้แรงบันดาลใจในการสร้างตัวละครอย่าง สตานิส บาราเธียน มาจากทิเบริอุสนี่เอง
5
เมื่อเดินอยู่บนถนนเวีย ทราการา (Via Tragara) เพื่อไปดูบ้านร้านถิ่นที่กวีอย่าง ปาโบล เนรูด้า เคยถูกเนรเทศให้มาพำนักอยู่เพราะเผด็จการผลักไสออกจากดินแดนบ้านเกิดของตัวเอง ผมจึงรู้สึกเสียดายนักที่ไม่มีเวลามากพอจะเดินต่อไปให้ถึงวิลล่าโจวิส ที่ที่จักรพรรดิและเผด็จการคนสำคัญอีกคนหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกเคยมาอยู่
จำได้ว่า ในวันนั้น ลมเมดิเตอร์เรเนียนพัดปลอดโปร่งคล้ายโลกนี้ไม่มีโชคร้าย
แต่จากเรื่องราวของทิเบริอุสและผู้คนเมื่อสองพันปีที่แล้ว เราก็คงรู้กันอยู่ ว่าแม้ในดินแดนอันงดงามคล้ายเป็นสวรรค์แห่งนี้
ที่จริงแล้วเคยเกิดอะไรขึ้นบ้าง
Tags: Capri, History, Law, Social, World’s End