แทบไม่มีใครไม่รู้จักปราสาทนอยชวานสไตน์ (Neuschwanstein Castle) ที่ตั้งอยู่ในแคว้นบาวาเรียของเยอรมนีในปัจจุบัน เพราะนอยชวานสไตน์คือปราสาทต้นแบบของปราสาทดิสนีย์ที่โด่งดังไปทั่วโลก และเป็นปราสาทที่สวยงามเหลือเกิน งามขนาดที่มีคนนำไปเปรียบเทียบกับพระราชวังแวร์ซายอันยิ่งใหญ่ แล้วบอกว่านอยชวานสไตน์นั้นงามกว่ามาก งามชนิดที่หากหยิบอะไรออกไปหนึ่งอย่างหรือเติมอะไรเข้าไปอีกหนึ่งอย่างก็จะไม่งามถึงเพียงนี้

นั่นก็คือความ ‘งามอย่างสมบูรณ์แบบ’ นั่นเอง

และถ้ารู้จักนอยชวานสไตน์ ก็ต้องรู้จักผู้สร้างปราสาทนี้ ซึ่งก็คือพระราชาองค์หนึ่ง

ในสมัยศตวรรษที่ 19 เยอรมนียังไม่ได้เป็นรัฐชาติอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน แต่ยังแบ่งออกเป็นแคว้นๆ หรือเป็น ‘รัฐย่อย’ อยู่ บาวาเรีย (Bavaria) ซึ่งเป็นที่ตั้งของนอยชวานสไตน์ก็เป็นเช่นนั้น เพราะคือ Kingdom of Bavaria ที่ปกครองโดยกษัตริย์หรือพระราชา เดิมทีเดียวถือว่าเป็นรัฐ และมีผู้ปกครองที่ได้รับเลือกจาก ‘คณะเลือกตั้ง’ ที่เรียกว่า Electorate of Bavaria อีกทีหนึ่ง แต่มายกฐานะเป็น ‘ราชอาณาจักร’ หรือ Kingdom ในปี 1805 โดยกษัตริย์แมกซิมิเลียนที่หนึ่ง (Maximilian I) ซึ่งจะถือว่าเป็นต้นตระกูลพระราชารวมทั้งหมด 6 องค์ ที่ปกครองบาวาเรียมาจนถึงปี 1918 ก็ได้

ในจำนวนพระราชาทั้งหมดนี้ อย่างน้อยที่สุดก็มีอยู่ 2 องค์ ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีสภาวะทางจิตไม่ปกติโดยแพทย์คนเดียวกัน องค์หนึ่งจบชีวิตลงอย่างปริศนา แต่อีกองค์หนึ่งแทบไม่ได้แตะต้อง ‘อำนาจ’ อะไรเลย เพราะถูกกล่าวหาว่าวิกลจริต จนต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนตลอดทั้งชีวิต

พระราชาองค์แรกก็คือ ลุดวิกที่สอง (Ludwig II) ที่เป็นผู้สนใจในเรื่องศิลปวัฒนธรรมมาก ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์คีตกวีอย่างริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner) และเป็นผู้สร้างปราสาทนอยชวานสไตน์นั่นเอง

ส่วนองค์ที่สอง หลายคนอาจรู้จักน้อยกว่าลุดวิกที่สองมาก แต่แท้จริงแล้วก็คือ ‘น้องชาย’ ของลุดวิกที่สองนั่นเอง ทรงมีชื่อว่า ‘ออตโต’ (Otto) ทั้งคู่เป็นลูกของกษัตริย์แมกซิมิเลียนที่สอง ซึ่งเป็นหลานของแมกซิมิเลียนที่หนึ่ง

ลุดวิกที่สองขึ้นครองราชย์ในปี 1864 ในวัยแค่ 18 ปีเท่านั้น เขาเป็นลูกของแมกซิมิเลียนที่สองแห่งบาวาเรียกับมารีแห่งปรัสเซีย (Marie of Prussia) ซึ่งต้องเน้นไว้ตรงนี้ว่าการแต่งงานของพ่อกับแม่ของเขามีนัยทางการเมืองแฝงอยู่ด้วย เพราะในแง่หนึ่ง มันก็คือการแต่งงานระหว่างบาวาเรียกับปรัสเซียนั่นเอง

ตอนเกิด พ่อแม่อยากตั้งชื่อลุดวิกว่าออตโต แต่ปู่ของลุดวิกไม่ยอม ปู่ของลุดวิกก็คือกษัตริย์ลุดวิกที่หนึ่ง เขาอยากให้ตั้งชื่อหลานตามชื่อตัวเอง ประกอบกับลุดวิกเกิดในวันที่ 25 สิงหาคม อันเป็นวันฉลองนักบุญหลุยส์ของฝรั่งเศสด้วย พ่อแม่ก็เลยยอมตามใจตั้งชื่อลูกว่าลุดวิกตามชื่อปู่ เพราะคำว่าลุดวิก ก็คือคำว่าหลุยส์ในภาษาเยอรมันนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ สามปีต่อมา เมื่อน้องชายของลุดวิกเกิด พ่อกับแม่ก็เลยตั้งชื่อเขาว่าออตโต จึงเกิดเป็นสองคนพี่น้อง ลุดวิกกับออตโตขึ้นมา

แม้แมกซิมิเลียนผู้พ่อจะอบรมบ่มนิสัยลูกให้ต้องแบกรับสถานะ ‘ราชวงศ์’ อันสูงส่งอยู่เสมอ แต่คนที่ถูกเตือนให้รำลึกถึงสถานภาพของตัวเองมากที่สุดก็คือลุดวิก เพราะเขาเป็นผู้ที่จะต้องขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากพ่อ เขาจึงถูกเลี้ยงดูอย่างเข้มงวดมากจากพ่อและแม่ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ลุดวิกก็ได้รับการตามใจอย่างที่สุดเหมือนกันจากบรรดาข้ารับใช้ทั้งหลาย สองลักษณะที่สุดขั้วนี้จึงปรากฏอยู่ในชีวิตวัยเด็กของลุดวิกและออตโต จนเหมือนทั้งคู่ถูกฉีกกระชากออกเป็นสองเสี่ยง ซึ่งบางคนก็วิเคราะห์ว่าอาจมีผลต่อสภาพจิตใจของทั้งคู่เมื่อโตขึ้นได้ด้วย ทำให้ทั้งคู่มีพฤติกรรมแปลกๆ หลายอย่าง

ความเครียดในการเติบโตขึ้นในครอบครัวราชวงศ์นั้นมีสูงมาก ทั้งคู่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับ ‘เหล่าคนรับใช้’ ที่มีชื่อเสียงและฐานันดรต่างๆ มากมาย แต่ก็ยังเป็นได้แค่ ‘เหล่าคนรับใช้’ อยู่นั่นเอง คนเหล่านี้ไม่ใช่พ่อแม่ของเขา ในขณะที่พ่อแม่มัวแต่อยู่ในสถานะที่ ‘เป็นทางการ’ เลยไม่มีเวลาอยู่ใกล้ชิดกับลูก ซึ่งในทางจิตวิทยายุคหลัง มีการค้นพบมากมายจากการทดลองทั้งในสัตว์และในมนุษย์ ว่าการที่เด็กไม่ได้รับการเลี้ยงดูใกล้ชิดกับพ่อแม่นั้นมีผลอย่างมากเมื่อเติบโตขึ้น แต่คนในศตวรรษที่ 19 ไม่ได้คิดแบบนั้น มีหลักฐานค่อนข้างมากที่บ่งชี้ว่าคนในยุคนั้นเชื่อว่าเด็กจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและครัดเคร่งได้ ก็ต้องไม่ ‘ถูกโอ๋’ มากเกินไป

ตอนที่พ่อของเขาล้มป่วยลงเป็นเวลาสามวันแล้วก็ตายจากไป มกุฏราชกุมารลุดวิกอายุแค่ 19 ปีเท่านั้นเอง นั่นทำให้เขาต้องขึ้นครองราชย์อย่างกะทันหันไม่ได้ตระเตรียมตัว แต่ก็เหมือนกับ ‘กษัตริย์หนุ่ม’ โดยทั่วไปที่ได้ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ยังเยาว์นั่นแหละ ด้วยพระฉวี ใบหน้า ความอ่อนเยาว์และหล่อเหลา ทำให้ลุดวิกโด่งดังเป็นที่นิยมทั้งในบาวาเรียและที่อื่นๆ

ลุดวิกปกครองบาวาเรียแบบเดิมเหมือนกับพ่อ เขาไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เพราะความสนใจที่แท้จริงของเขาอยู่ที่ศิลปะ ดนตรี และสถาปัตยกรรมต่างหาก สิ่งแรกๆ หลังขึ้นครองราชย์ก็คือการเรียกตัว ริชาร์ด วากเนอร์ คีตกวีผู้ประพันธ์อุปรากรเรื่องดังหลายเรื่องมายังราชสำนัก และในปีเดียวกันก็วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างโรงละครหลวงโรงใหม่อันอลังการงดงามเหลือเกิน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าลุดวิกเป็นคนที่มีรสนิยมดีมากทั้งในเรื่องศิลปะ ดนตรี และสถาปัตยกรรม แต่เรื่องนี้ก็ทำให้เกิดข่าวเล่าลือกันขึ้นมาถึงรสนิยมเรื่องอื่นๆ ของเขาด้วย โดยเฉพาะรสนิยมทางเพศ ลุดวิกนั้นหมั้นหมายกับดัชเชสโซฟีแห่งบาวาเรีย ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของเขา แต่ประเด็นที่ทำให้ทั้งคู่สนิทสนมกันก็คือทั้งคู่ชอบดนตรีของ ริชาร์ด วากเนอร์ อย่างมากเหมือนกัน สุดท้ายแล้วลุดวิกก็เลยเอาแต่เลื่อนวันแต่งงานออกไปเรื่อยๆ คล้ายประวิงเวลาไป และที่สุดก็ถอนหมั้น

ลุดวิกไม่เคยแต่งงานหรือมีนางสนมนางในใดๆ เลยแม้แต่คนเดียว มีการสำรวจจากบันทึกและจดหมายส่วนตัวของเขาในภายหลัง และพบว่าเขาน่าจะเป็นคนรักเพศเดียวกันที่น่าเห็นใจ เพราะต้องต่อสู้กับความต้องการภายใน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาทั้งสถานะกษัตริย์แห่งบาวาเรีย รวมถึงการเป็นชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่ดีด้วย และรักของคนเพศเดียวกันคือรักต้องห้ามในนิยามแบบคาทอลิก

ตลอดพระชนมายุ ลุดวิกมีเพื่อนสนิทเป็นชายคนแล้วคนเล่า เช่น ริชาร์ด ฮอร์นิก (Richard Hornig) หัวหน้าพนักงานดูแลม้า (Equerry) หรือเจ้าชายอีกองค์หนึ่งชื่อ Paul von Thurn und Taxis หรือนักแสดงละครชาวฮังกาเรียน และอีกหลายคน

นั่นทำให้ลุดวิกหมายมั่นปั้นมือเอาไว้ว่าออตโต ผู้เป็นน้องชาย จะต้องเป็นผู้ขึ้นครองราชย์ต่อจากเขา และออตโตจะต้องมีลูกเพื่อสืบราชสันตติวงศ์ต่อไปให้ได้!

เรื่องหนึ่งที่น่าจะทำให้ลุดวิกยิ่งต้องปิดขังตัวเองมากขึ้นไปอีก ก็คือการที่บาวาเรียไปเข้าร่วมกับสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ (North German Confederation) คือไปร่วมกับปรัสเซีย ซึ่งในตอนนั้นปรัสเซียเรืองอำนาจมาก เพราะได้ชัยเหนือฝรั่งเศส โดยผู้นำคนสำคัญของปรัสเซียก็คือ ออตโต วอน บิสมาร์ก (Otto von Bismarck) ซึ่งถือว่าเป็นรัฐบุรุษคนสำคัญของเยอรมนีตั้งแต่นั้นมาจนถึงบัดนี้

การเข้าร่วมนั้นทำให้บาวาเรียสูญเสียสถานะการเป็นราชอาณาจักรอิสระไป แต่ไปรวมเป็นหนึ่งในจักรวรรดิเยอรมัน โดยมีวิลเฮล์มที่หนึ่งแห่งปรัสเซียเป็นจักรพรรดิแทน ว่ากันว่าเรื่องที่น่าจะทำให้ลุดวิกกดดันที่สุดก็คือเมื่อบาวาเรียยังเป็นบาวาเรียอยู่นั้น ยังไม่มีกฎหมายระบุว่าการรักคนเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิด แต่เมื่อรวมกับปรัสเซียแล้ว ปรากฏว่าปรัสเซียมีกฎหมายที่ถือว่าเรื่องนี้เป็นอาชญากรรม เรื่องเหล่านี้น่าจะยิ่งกดดันลุดวิกมากขึ้นไปอีก

แล้ว ‘แพทย์’ ที่จั่วหัวไว้ในชื่อเรื่องเข้ามาเกี่ยวข้องอะไรกับด้วยลุดวิกและออตโต

แพทย์คนที่ว่าคือ เบิร์นฮาร์ด วอน กุดเดน (Bernhard von Gudden) เขาเป็นจิตแพทย์ที่มีชื่อเสียงและทำงานมายาวนานกับหลายมหาวิทยาลัย ทั้งมหาวิทยาลัยซูริก มิวนิก และที่อื่นๆ ถือกันว่าเขามีคุณูปการต่อสาขากายวิภาคศาสตร์ (Neuroanatomy) โดยเขาสามารถทำแผนที่และบอกเล่าถึงเส้นทางเชื่อมต่อของเส้นประสาทต่างๆ เป็นเครือข่ายได้

เป็นกุดเดนนี่เอง ที่มีส่วนสำคัญในการวินิจฉัยว่าทั้งลุดวิกและออตโตมีอาการผิดปกติทางจิต

เรื่องของเรื่องก็คือ ลุดวิกนั้นใช้เงินเพื่องานศิลปะและการสร้างปราสาทมากเกินตัว แม้เขาเป็นกษัตริย์ที่ไม่ได้ใช้เงินของรัฐมาจับจ่าย ใช้เฉพาะเงินของตัวเอง แต่สุดท้ายก็เป็นหนี้มากถึง 14 ล้านมาร์ค ทำให้ต้องหยิบยืมจากคนโน้นคนนี้มาเพิ่ม แต่ถึงเป็นหนี้ เขาก็ไม่ประหยัด ยังคงวางแผนสร้างสิ่งหรูหราต่างๆ ต่อไปอีก นั่นทำให้เหล่ามุขมนตรีทั้งหลายเห็นว่าเป็นปัญหา เลยไปขอให้ลุงของลุดวิก คือเจ้าชายลุยต์โปลด์ (Luitpold) ยอมตกลงอย่างลับๆ ว่าจะขึ้นมาเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ถ้าหากว่ามีการ ‘ปลด’ (Deposition) ลุดวิกออกจากตำแหน่งกษัตริย์ ซึ่งลุยต์โปลด์ก็ตกลง

ว่ากันว่าแผนการนี้วางกันยาวนานและซับซ้อน โดยรวบรวมเสียงบ่น ตำหนิ ว่าร้าย และอื่นๆ ที่เหล่าข้าราชบริพารมีต่อลุดวิกมาประมวลกัน แล้วผลลัพธ์สุดท้ายก็ออกมาเป็นรายงานอาการป่วยทางจิตของพระราชา แล้วนำข้อกล่าวหาเหล่านี้ไปให้บิสมาร์กรับทราบในต้นปี 1886

เมื่ออ่านรายงานแล้ว บิสมาร์กรู้เลยว่าเสนาบดีเหล่านี้ต้องการจะ ‘บูชายัญ’ กษัตริย์ เพราะไม่มีวิธีอื่นอีกแล้วที่จะรักษาตัวเองเอาไว้ได้ บิสมาร์กแนะนำว่านี่เป็นเรื่องภายในของบาวาเรีย ควรนำขึ้นมาหารือในสภาของบาวาเรียเอง

ก่อนหน้านั้นกว่าสิบปี ในปี 1872 ออตโต น้องชายของลุดวิก เคยถูกวินิจฉัยมาก่อนแล้วว่ามีอาการผิดปกติทางจิต หลังสงครามระหว่างปรัสเซียกับฝรั่งเศส ออตโตเริ่มมีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล เขามีอาการเหวี่ยงไปมาระหว่างนอนไม่หลับ เศร้า กระวนกระวาย กับการแสดงออกอย่างสุดโต่ง ซึ่งละม้ายอาการไบโพลาร์ที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบัน แต่เมื่อไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาการของเขาก็ยิ่งเป็นมากขึ้น ในที่สุดเขาก็ถูกกักบริเวณอยู่ในวังตามลำพัง โดยแพทย์ที่ดูแลออตโตก็คือหมอกุดเดนนี่เอง

วันหนึ่งในปี 1875 ขณะกำลังมีพิธิมิสซาใหญ่ที่โบสถ์ในมิวนิก งานนี้ออตโตที่ป่วยอยู่ไม่มีกำหนดการเข้าร่วมด้วย แต่จู่ๆ ออตโตก็เปิดประตูโบสถ์ผลุงเข้ามา แล้วถลาเข้าไปหาบาทหลวง ร้องขออภัยโทษที่ได้ทำบาป ทำให้พิธีกรรมหยุดชะงัก ออตโตจึงถูกนำตัวกลับวัง คราวนี้ถูกขังล็อกตาย มีรายงานว่าหมอกุดเดนไม่ได้พยายามช่วยอะไรออตโตเลย อาการของออตโตหนักลงเรื่อยๆ จนหลังปี 1875 เขาก็ไม่ได้ปรากฏตัวกับสาธารณชนอีกเลย

ข้อเท็จจริงหนึ่งก็คือ ทั้งลุดวิกและออตโตไม่ชอบปรัสเซีย และไม่อยากผนวกควบรวมเป็นหนึ่งเดียวกับปรัสเซีย แต่คนที่ฝักใฝ่ในปรัสเซียก็คือเจ้าชายลุยต์โปลด์ผู้เป็นลุงของทั้งคู่ รวมถึงหมอกุดเดนที่เป็นแพทย์ประจำตัวของทั้งคู่ด้วย

นักประวัติศาสตร์ยุคใหม่บางคนถึงกับเชื่อว่า การวินิจฉัยและการรักษาของกุดเดนที่มีต่อทั้งลุดวิกและออตโตนั้น เกิดขึ้นโดยมีแรงขับเคลื่อนทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง ซึ่งหากเป็นจริงก็นับว่าเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงอย่างมาก

ในวันที่ 10 มิถุนายน 1886 หลังคณะรัฐบาลประกาศปลดลุดวิกออกจากตำแหน่ง เขาพยายามจะหนี แต่ก็สายเกินไป ลุดวิกถูกจับเสียก่อน เขาได้พบกับหมอกุดเดน และถามว่าหมอมากล่าวหาว่าเขาเป็นบ้าได้อย่างไร ทั้งที่ไม่เคยตรวจร่างกายเขามาก่อนเลย มีบันทึกว่ากุดเดนตอบว่าการตรวจร่างกายนั้นไม่จำเป็นเลย เพราะมีหลักฐานทางเอกสารที่เป็นคำให้การของคนรับใช้และข้าราชบริพารต่างๆ ชัดเจนอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เราไม่มีวันรู้หรอกว่ากุดเดนมีแรงขับเคลื่อนอย่างไรอยู่เบื้องหลังการวินิจฉัยนี้ เพราะในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 13 มิถุนายน ลุดวิกขอให้กุดเดนออกไปเดินเล่นเป็นเพื่อนที่ริมทะเลสาบสตาร์นเบิร์ก (Starnberg) กุดเดนตกลง ที่น่าสนใจก็คือ กุดเดนเป็นคนสั่งว่าไม่ต้องให้ใครตามไป ทั้งคู่ควรจะกลับมาที่ปราสาทตอนสองทุ่ม แต่ก็ไม่กลับมา และไม่เคยกลับมาอีกเลย

ราวสี่ทุ่มครึ่งของคืนนั้น มีผู้พบร่างของทั้งลุดวิกและกุดเดนอยู่ในน้ำตื้นๆ ริมทะเลสาบ นาฬิกาของลุดวิกหยุดเดินที่เวลา 6:54 น. ในตอนเย็น ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะแม้รายงานอย่างเป็นทางการจะบอกว่าลุดวิกจมน้ำตาย แต่ปอดของเขาไม่มีน้ำ และเป็นที่รู้กันว่า ลุดวิกนั้นว่ายน้ำเก่ง ส่วนร่างของกุดเดนมีร่องรอยการถูกตีที่ศีรษะและถูกรัดคอ เรื่องนี้ทำให้เกิดทฤษฎีต่างๆ ตามมามากมาย สามารถหาอ่านได้ทั่วไป

ส่วนออตโตนั้น แม้เขาจะได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระราชาแห่งบาวาเรีย แต่ก็เป็นลุยต์โปลด์ต่างหากที่สำเร็จราชการว่าราชการทั้งปวงแทนเขา ออตโตไม่ได้รับรู้อะไรด้วยเลยจนกระทั่งเขาเสียชีวิตในปี 1916 ด้วยอาการลำไส้อุดตันกะทันหัน

แล้วในปี 1918 หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ราชอาณาจักรบาวาเรียก็จบสิ้นลงไปด้วย

สิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่ใช่อาการผิดปกติทางจิตของพระราชาหรือคำวินิจฉัยของแพทย์ แต่คือความงามอย่างเหลือเกินของปราสาทนอยชวานสไตน์

ปราสาทในเทพนิยายหลังนั้น

Tags: , , , , , , ,