การระบาดของโรค Covid-19 ดำเนินมาแล้วกว่าครึ่งปี จนถึงตอนนี้ความพยายามในการผลิตวัคซีนก็ยังคงอยู่ในระยะทดสอบในห้องปฏิบัติการณ์กันอยู่ ขณะที่รัฐบาลในแต่ละประเทศก็มีวิธีรับมืออันแตกต่างกันไป บางประเทศสามารถควบคุมการระบาดได้เป็นอย่างดี แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายประเทศที่เจอกับคลื่นลูกใหม่ หรือที่หลายคนเรียกกันว่าการระบาดระลอกที่สองเกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นจากข้อผิดพลาดในกระบวนการตรวจสอบและรับมือ ไปจนถึงการเปิดเมืองหรือผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ลง ที่ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่เชื้อจะแพร่ขึ้นมาได้ใหม่ได้ในที่สุด ในสภาวะเช่นนี้ ไม่มีส่วนไหน หรือแวดวงใดเลยที่จะไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดครั้งนี้ ผู้คนต่างเหนื่อยอ่อน โหยหาการที่จะได้ออกไปจากการควบคุมทั้งหลาย ถึงแม้จะเป็นที่แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ย่อมมีโอกาสเพิ่มการแพร่กระจายของเชื้อ เป็นการยืดสถานการณ์ทั้งหมดนี้ให้ยาวออกไปอีก 

และก็อาจจะไม่ผิดคาดเท่าไหร่นัก ที่ในที่สุดประเทศไทยเองก็กำลังตกที่นั่งลำบากกับการเผชิญการระบาดรอบสองที่ว่านี้เข้าจนได้ จากเคสทหารอียิปต์ที่เข้ามาโดยไม่ยอมทำการรกักตัว ทั้งหมดนี้ทำให้ผมนึกถึงรูปแบบของ “Security Breach” หรือการที่มาตรการด้านความปลอดภัยนั้นเจอกับช่องโหว่เข้าแบบเต็ม ๆ ถึงแม้จะมีการกักโรค (Quarantine) แล้วก็ตาม

ทีนี้ทางรัฐบาลจะทำการรับมืออย่างไร ประชาชนจะต้องปฏิบัติกันแบบไหนเพื่อที่จะไม่ให้เกิดการระบาดใหม่ขึ้น ทั้งหมดนี้ก็คงไม่ต่างจากสิ่งที่เราทำกันมาตลอดหลายเดือนซักเท่าไหร่นัก แต่มีหลาย ๆ อย่างที่ทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมาได้เหมือนกัน ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ถ้าเอาไปเทียบกับในภาพยนตร์ โดยเฉพาะกับพวกหนังซอมบี้น่าจะทำให้เราได้แง่มุมใหม่ ๆ ขึ้นมาเหมือนกัน 

ว่าแล้วก็ไม่รอช้า เปิดเน็ตฟลิกซ์และเตรียมขนมให้มั่น แล้งลองย้อนกลับไปดูหนังซอมบี้ชื่อดังจากปี ค.ศ. 2013 นี้กันเลยดีกว่า

*มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ

World War Z

แน่นอนครับว่าการเอาไวรัสที่ระบาดในภาพยนตร์ซอมบี้ฟอมยักษ์จากฮอลลีวูด มาเปรียบเทียบกับโรคระบาดในความเป็นจริงกันแบบตรง ๆ ย่อมเป็นเรื่องตลกอยู่แล้ว (ในหนังนี่ไวรัสทำให้คนกลายเป็นผีดิบวิ่งสี่คูณร้อยได้ แถมอัตราการเสียชีวิตคือ 100 เปอร์เซ็นอีกต่างหาก) ดังนั้นแล้วเรื่องราวทั้งหมดที่ผมจะยกมาเฉพาะจากภาพยนตร์ World War Z (ไม่รวมนิยายนะ เพราะว่าละเอียดแบบสุด ๆ ไปเลย) ขอให้คิดเสียว่าเป็นกรณีตัวอย่างที่สมมุติขึ้นมาละกัน

ว่าแล้วก็เริ่มเรื่องกันเลยครับ ในภาพยนตร์เรื่องนี้เราต้องตามติดชีวิตชายหนุ่มนามแกรี่ เจ้าหน้าที่สายสืบมือเก๋าจากสหประชาชาติที่จับผลัดจับผลูหนีรอดจากดงซอมบี้ได้เพราะเพื่อนผู้กว้างขวาง แต่ตัวเขาเองต้องยอมทิ้งครอบครัวไปร่วมผจญภัยตามล่าหาต้นเหตุของเชื้อซอมบี้และพยายามหาทางรักษาโรคระบาดนี้ให้ได้ (ตอนจบจะเป็นอย่างไร แนะนำให้ติดตามชมกันเองครับ) 

ในภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เราได้เห็นการรับมือของหลาย ๆ ประเทศต่อโรคระบาด หลัก ๆ เลยก็จะมี สหรัฐอเมริกา, อิสราเอล, อินเดีย, ปากีสถาน, เกาหลีใต้, สหราชอาณาจักร ฯลฯ 

เริ่มต้นกันที่อเมริกา ถิ่นฐานบ้านเกิดของแกรี่ ในภาพยนตร์นั้น รัฐบาลส่วนใหญ่ถูกซอมบี้โจมตีอย่างย่อยยับ แต่กลุ่มทหารและเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ยังรอดชีวิตก็ได้ทำการอพยพคนออกไปยังจุดที่ปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งว่าหนึ่งในนั้นคือกลางมหาสมุทรแอตแลนติกที่คงไม่มีซอมบี้ตัวไหนสามารถว่ายไปถึงได้ กองเรือสหประชาชาติทั้งหมดจึงยกขโยงกันไปลอยลำกันอย่างพร้อมเพรียง แต่เนื่องด้วยว่าบรรดาเรือทั้งหมดไม่มีทางจุคนทั้งประเทศได้ คนที่เหลือที่ต่างหนีเอาชีวิตรอดกันอย่างสุดกำลัง แคมป์ผู้รอดชีวิตจึงถูกสร้างขึ้นริมทะเล หรือในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก โดยมีกองกำลังทหารป้องกันอีกทีหนึ่งเพื่อไม่ให้มีใครออกไปและกันฝูงซอมบี้ไม่ให้เข้ามา

ตัดภาพมาที่เกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศที่พระเอกของเราไปเยี่ยมเยือน กลุ่มทหารที่รอดชีวิตในฐานทัพอากาศต้อนรับพระเอกอย่างอบอุ่นโดยการโชว์ห้องขังที่คนไข้ซึ่งติดเชื้อซอมบี้ถูกเผาจนเหลือแค่เถ้าถ่าน ทุกคนที่รอดชีวิตถูกกันแยกออกจากสภาพแวดล้อมภายนอก ประตูทุกบานปิด มีการตั้งรั้วลวดหนามและสิ่งกีดขวางขึ้นเพื่อป้องกันซอมบี้ที่ยังคงซ่อนตัวอยู่ในความมืด ไม่เพียงแค่นั้น ทุกคนที่เข้ามาในฐานทัพต้องถูกจับตรวจลูกตากันด้วย เพื่อเช็คให้ชัวร์ว่าไม่ได้ติดเชื้อเข้ามาจริง ๆ

ต่อกันที่กรุงเยรูซาเลม รัฐบาลที่นี่รู้ตัวล่วงหน้าถึงภัยคุกคามจากผีดิบที่กำลังคืบคลานเข้ามา กำแพงขนาดใหญ่พร้อมด้วยสิ่งกีดขวางและป้อมปราการถูกสร้างขึ้นเพื่อแยกเมืองออกจากโลกภายนอกอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมด้วยเฮลิคอปเตอร์ตรวจการณ์ติดอาวุธที่บินลาดตระเวนกันแนวพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง

วิธีนี้ได้ผลเป็นอย่างดี เพราะด้วยมาตรการตรวจคนที่เข้มงวดแบบสุด ๆ นำโดยกองทัพอิสราเอล ทำให้สามารถป้องกันเมืองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ผู้คนภายในกำแพงใช้ชีวิตได้อย่างปกติ สนามบินยังคงเปิดให้บริการ และระบบคมนาคมยังพอใช้งานได้ ทั้งหมดนี้ช่วยให้การขนส่งผู้รอดชีวิตเข้าและออกจากเมืองสามารถทำได้ ในสถานการณ์ซอมบี้แบบนี้ เมืองที่ปิดตายส่วนใหญ่แทบจะฟรีซตัวเองเอาไว้เลย เรื่องขนถ่ายพลเมืองยิ่งไม่ต้องพูดถีง

ท้ายที่สุด ในสหราชอาณาจักร อันเป็นที่ตั้งศูนย์วิจัยขององค์การอนามัยโลก ประชาชนต่างล็อคตัวเองอยู่แต่ในบ้าน นักวิจัยที่ช่วยเหลือแกรี่เองก็จำเป็นต้องจับเขามัดไว้เพื่อตรวจสอบว่าไม่ได้ติดโรคเข้ามาในศูนย์ ผู้รอดชีวิตที่เหลือตัดขาดตนเองออกจากปีกตึกที่ถูกซอมบี้ยึด โดยใช้ทุกอย่างที่พอจะควานหามาเป็นเครื่องกีดขวางได้ 

มีซึ่งหนึ่งที่ทุกตัวอย่างที่ผมว่ามานี้ทำเหมือนกันหมด (อาจจะด้วยความเข้มข้นที่ต่างกันไป) นั่นก็คือการกักโรค (Quarantine) หรือการแยกประชากรที่ยังคงมีสุขภาพดีอยู่ออกไปจากกลุ่มผีดิบและผู้ติดเชื้อให้ได้เพื่อสร้างบริเวณปลอดภัย หรือ Safe Zone ขึ้นมา รวมถึงตรวจสอบผู้คนที่เข้ามาในบริเวณปลอดภัยนั้น ๆ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตามนั่นเอง

วิทยาศาสตร์ของการ Quarantine

มนุษย์กับโรคระบาดเป็นของที่คู่กันมายาวนานก่อนที่พวกเราจะเข้าใจว่าเชื้อโรคอย่างไวรัสสามารถแพร่ระบาดโดยใช้พวกเราเป็นพาหะได้ การระบาดของโรคในสมัยก่อนจึงมียอดผู้เสียชีวิตที่สูงมาก เพราะนอกจากจะไม่มียารักษาแล้ว ผู้คนยังไปมาหาสู่กันโดยไม่มีการกักโรคเท่าที่ควร 

การกักโรคเริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นพร้อมกับความเข้าใจทางด้านระบาดวิทยาของมนุษย์ เมื่อพวกเรารู้ตัวว่าเชื้อโรคนั้นแพร่ผ่านมนุษย์ด้วยกันเองเป็นหลัก การแยกผู้ป่วยออกจากคนที่ยังสุขภาพแข็งแรงอยู่จึงกลายเป็นหลักสามัญในการปฏิบัติมานับแต่นั้น บรรดาโรงพยาบาลเริ่มมีการแยกหอผู้ป่วยและห้องกักโรคออกมาเป็นพิเศษ วงการเดินเรือก็มีขั้นตอนในการกักโรคหากเรือลำไหนมีการระบาดของเชื้อโรค รัฐบาลต่างเรียนรู้วิธีการในการกักโรคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จนกระทั่งในปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่เริ่มตระหนักว่าต้องทำตัวอย่างไรในสภาวะโรคระบาด ไม่ว่าจะเป็นการรักษาระยะห่างไปจนถึงการป้องกันตนเองด้วยผ้าปิดปาก หรือเก็บตัวอยู่ในบ้าน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีทีเดียวเมื่อเทียบกับเมื่อหลายร้อยปีก่อน

การระบาดของโรคในยุคสมัยใหม่อย่างเช่น โรคฝีดาษในยูโกสลาเวีย, อีโบลาในแอฟริกาใต้, และล่าสุดคือโรค Covid-19 จึงผ่านการควบคุมดูแลที่เป็นระบบมากขึ้นแต่ก่อนมาก การกักโรคถูกตรวจสอบโดยองค์การอนามัยโลก และรัฐบาลท้องถิ่น ผู้คนมีความรู้มากขึ้นและเข้าใจการกักโรคมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่การกักโรคจะล้มเหลวก็ยังคงมีอยู่

เปรียบเทียบกับสถานการณ์ของ World War Z (และหนังซอมบี้อีกเพียบ) ที่เชื้อสามารถแพร่ได้ผ่านกัดเพียงครั้งเดียว การกักโรคจึงเป็นไปได้แค่สองอย่างคือสำเร็จกับล้มเหลวไปเลย หากการป้องกันและมาตรการคัดกรองไม่เข้มแข็งพอ ซอมบี้เพียงแค่หนึ่งตัวที่วิ่งฝ่ารั้วเข้ามาย่อมหมายความถึงจุดจบของทุก ๆ คนในพื้นที่นั้น ดังนั้น ทุกขั้นตอนย่อมต้องสมบูรณ์แบบ โดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม ทุกคนต้องผ่านการตรวจโรคก่อนที่จะเข้าสู่เขตปลอดภัย และหากมีใครแสดงอาการคล้ายผีดิบออกมา เจ้าหน้าที่แทบทุกคนก็พร้อมที่จะรัวลูกปืนใส่โดยไม่ต้องถามล่วงหน้าเลยด้วยซ้ำ

เหตุการณ์ในภาพยนตร์นั้นอาจจะดูรุนแรงและน่ากลัวกว่าความเป็นจริงอย่างชัดเจน แต่หลักสำคัญที่เราสามารถสรุปได้จากกรณีตัวอย่างทั้งหมดนี้คือ การกักโรคที่มีประสิทธิภาพนั้นต้องไม่มีข้อยกเว้น สิ่งที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยตอนนี้คือการที่ ข้อยกเว้น กลายมาเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้การระบาดนั้นกลับมาอีกระลอก เพราะลำพังเหตุสุดวิสัยอย่างข้อผิดพลาดในการตรวจโรค หรืออุบัติเหตุจากตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้ก็เป็นสาเหตุในการเพิ่มความเสี่ยงที่การกักโรคจะล้มเหลวอยู่แล้ว

ดังนั้นการแก้ไขปัญหานี้นั้นไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากมายเลย เพียงแค่ยอมรับความจริง และเร่งมือในการการอุดรอยรั่วนี้เพื่อให้มาตรการกักโรคกลับมามีประสิทธิภาพอีกครั้งหนึ่งก็เพียงพอแล้ว ตามตัวผู้ป่วยกลับมารักษาและแจ้งข่าวให้ประชาชนทุกคนทราบโดยเร็วที่สุด หากปล่อยให้เวลาผ่านไป เชื้อก็จะยิ่งมีโอกาสแพร่ต่อไปได้มากขึ้นเท่านั้น ไม่ต่างอะไรกับในภาพยนตร์

หนังประเภทภัยธรรมชาติ, โรคระบาด, รวมไปถึงซอมบี้ย่อมถูกแต่งเติมเพิ่มเรื่องราวให้เกินจริงอยู่เสมอ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ยังคงสะท้อนความต้องการพื้นฐานที่สุดของมนุษย์อยู่ดี นั่นก็คือความต้องการในการเอาชีวิตรอดนั่นเอง ไม่ว่าหนังจะสะท้อนสิ่งนี้ออกมาในแง่มุมไหนหรือวิธีการใด สื่อบันเทิงประเภทนี้ก็ได้สร้างการรับรู้และวัฒนธรรมเกี่ยวกับการกักโรคไปในวงกว้างเป็นที่เรียบร้อย แม้แต่ CDC หรือหน่วยควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกาเองก็หยิบเอาซอมบี้และความสำเร็จของป๊อปคัลเจอร์นี้มาใช้กระจายข้อมูลเรื่องโรคระบาดได้เหมือนกัน ผ่านคู่มือการเอาชีวิตรอดจากซอมบี้ ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

การต่อสู้ในโลกมายาและโลกแห่งความเป็นจริงนี้จะยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ แต่ในเมื่อเราอยู่ในยุคที่มีทั้งข้อมูล และอุปกรณ์ครบครันเช่นนี้ ทำไมยังจะปล่อยให้เกิดข้อยกเว้นขึ้นมากันนะ

เพราะตราบใดที่เรามีข้อยกเว้นให้กับเชื้อโรค แน่นอนน่าเชื้อนั้นกำลังจะได้ช่องโหว่ใหม่สำหรับเจาะมาตรการรักษาความปลอดภัยของพวกเราเข้ามาอีกครั้งอย่างแน่นอน ไม่ต่างจากซอมบี้ตัวเดียวที่พร้อมทำลายล้างผู้คนนับล้านได้ในพริบตา


อ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Quarantine#Eyam_village,_1665_(plague)

https://www.who.int/publications/i/item/considerations-for-quarantine-of-individuals-in-the-context-of-containment-for-coronavirus-disease-(covid-19)

https://worldwarz.fandom.com/wiki/World_War_Z_(Movie)

https://www.cdc.gov/cpr/zombie/index.htm

Tags: ,