องค์การอนามัยโลกประกาศให้ทรานส์เจนเดอร์ไม่ได้เป็นบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตอีกต่อไปแล้ว โดยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา สมัชชาอนามัยโลก องค์กรที่อยู่ภายใต้องค์การอนามัยโลกซึ่งมีตัวแทนของรัฐสมาชิก 194 ประเทศ มีความเห็นร่วมกันว่าให้ถอด ‘คนข้ามเพศ’ ออกจากคู่มือวินิจฉัยโรคสากล

นิยามที่มาตามคู่มือวินิจฉัยโรคขององค์การอนามัยโลกนี้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนนโยบายของแต่ละประเทศด้วย ตัวอย่างเช่น กฎหมายการรับรองเพศสภาวะ (Gender Recognition Act) ของสหราชอาณาจักร ที่ระบุว่า คนข้ามเพศต้องให้หมอวินิจฉัยว่าป่วยทางจิตเพื่อขอใบรับรองให้สามารถเปลี่ยนคำระบุเพศได้ ซึ่งเป็นระบบที่ไม่เท่าเทียมและเต็มไปด้วยอคติ ลดทอนความเป็นมนุษย์ โดยจากการประกาศขององค์กรอนามัยโลกนี้ ก็จุดประกายความหวังว่า จะนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายนี้ในสหราชอาณาจักร

องค์การอนามัยโลกหวังว่า การถอดคนข้ามเพศออกจากหมวดอาการป่วยทางจิต จะช่วยขจัดการเลือกปฏิบัติต่อคนข้ามเพศ แม้ว่าหนทางแห่งความสำเร็จจะยังอีกยาวไกลที่จะเกิดความเสมอภาคต่อทรานส์เจนเดอร์ ซึ่งจากรายงานล่าสุดของ Stonewall พบว่าร้อยละ 45 ของทรานส์เจนเดอร์ที่อายุน้อย เคยพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศตรงกับเพศในใบรับรองการเกิดของพวกเขา

เกรม รีด ผู้อำนวยการด้านสิทธิ LGBT แห่งองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ บอกว่า การตัดสินใจของ WHO จะช่วยให้คนข้ามเพศทั่วโลกเป็นอิสระ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ รีบปฏิรูประบบการแพทย์และกฎหมายที่ระบุให้ต้องวินิจฉัยเรื่องนี้ได้แล้ว

เกรม รีด บอกว่า เรื่องสุขภาพจิตไม่ได้เกี่ยวอะไรกับอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล แต่ความกดดันจากเรื่องนี้ต่างหากที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของพวกเขา

“คนข้ามเพศกำลังต่อสู้กับการตีตราและการเลือกปฏิบัติ ซึ่งส่วนหนึ่งก็อยู่ในระบบการแพทย์เหล่านี้ที่เคยวินิจฉัยว่าการแสดงออกที่ไม่สอดคล้องกับเพศ เป็นความผิดปกติทางจิต”

ในขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลกได้ขึ้นทะเบียนโรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆ ในบัญชี International Classification of Diseases หรือ ICD-11 ซึ่งจะนำมาใช้เป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยโรคและการประกันสุขภาพใหม่ทั่วโลก โดยหนึ่งในโรคที่องค์การอนามัยโลกเพิ่มเข้าไปใหม่นั้น มี “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” หรือ Burn-out ที่เป็นหนึ่งในรายชื่อของโรคใหม่ในบัญชี ICD โดยให้เหตุผลว่า โรคนี้ควรได้รับการดูแลทางการแพทย์ ก่อนที่มันจะขยายความรุนแรงไปยังส่วนอื่นๆ ของชีวิตนอกเหนือจากการทำงาน

 

อ้างอิง

Tags: , , ,