ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกแห่งการทำงานเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แนวคิดของการทำงานของคนรุ่นหนึ่งอาจเริ่มใช้ไม่ได้กับคนอีกรุ่นหนึ่ง ดังที่เห็นตัวอย่างมากมายและกำลังกลายเป็น ‘อดีต’ ไปเรื่อยๆ ตามความเร็วของโลก รวมถึงปัจจัยสำคัญอย่างเทคโนโลยีที่เข้ามาดิสรัปต์และขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ส่งผลต่อโลกของการทำงานเช่นกัน ทั้งเรื่องของความเท่าเทียม การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัย ไปจนถึงการตระหนักรู้เรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ความตึงเครียดของสถานการณ์สังคมโลก โรคระบาด หรือสภาพภูมิอากาศ!

ยิ่งคิดยิ่งเหนื่อย เพราะเช่นนั้นแล้ว ในปี 2024 นี้ นอกจากที่เหล่าคนทำงานต้องต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ก็ยังต้องต่อสู้กับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นที่มีต่อโลกของการทำงานไปพร้อมกัน 

ความท้าทายเหล่านี้ทำให้เว็บไซต์ Forbes ลิสต์ 8 เทรนด์การทำงานแห่งอนาคตสำหรับปี 2024 เพื่อเตรียมตัวสำหรับคนทำงานอย่างเราๆ ให้เตรียมพร้อม ไม่ใช่แค่ในแง่ของการทำงาน แต่ยังรวมถึงเรื่องสมดุลของชีวิตด้วย

1. Generative AI 

ในโลกการทำงาน เรื่องของ AI เป็นสิ่งที่ถูกพูดมาตลอด (และหลีกเลี่ยงไม่ได้) ปัจจุบัน อย่างที่เห็นกันแล้วว่า Generative AI หรือ AI ที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ ให้มีความสามารถต่อยอดสร้างใหม่จากชุดข้อมูลเดิมที่มีอยู่แล้ว กำลังถูกพูดถึงมากขนาดไหน (ตัวอย่างเช่น ChatGPT) โดยเทคโนโลยีเหล่านี้กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วจนถึงจุดที่สามารถแก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการทำงานได้หลากหลายสาขามาก (บ้างก็เป็นที่ถกเถียง) อย่างไรก็ดี ในฐานะคนทำงานอย่างเราๆ การเข้าใจข้อจำกัดของเทคโนโลยีเหล่านี้ รวมถึงการตระหนักรู้ว่าจุดไหนควรใช้ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ของตนเองก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ

2. หลักปฏิบัติในการทำงานอย่างยั่งยืน 

ความยั่งยืนเป็นสิ่งที่องค์กรหรือบริษัททุกวันนี้กำหนดเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลัก และคนทำงานอย่างเราๆ ต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามอย่างมีสติ เพราะความพยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มาจากการกระทำของเรา จำเป็นต้อง ‘คิดใหม่’ ในหลายแง่มุมของชีวิตการทำงาน ตั้งแต่สถานที่ทำงานไปจนถึงวิถีการทำงาน เนื่องจากทุกการกระทำของเราอาจส่งผลต่อการลดการใช้ขยะ ส่งเสริมการรีไซเคิล และการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ได้

3. ทักษะแห่งอนาคต 

เทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกการทำงานและธุรกิจ ทำให้คนทำงานต้อง ‘เตรียมพร้อม’ พัฒนาตนเองด้านทักษะแห่งอนาคต (Future Skill) เพื่อใช้งานเทคโนโลยีเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่เรื่องของ Hard Skill อย่างเช่น ความเข้าใจในการใช้เครื่องมือ โปรแกรม หรือใดๆ ที่เป็นทักษะทางวิชาชีพ รวมถึงเรื่องของ Soft Skill เช่น การปรับตัว ความคิดสร้างสรรค์ หรือใดๆ ที่เป็นทักษะทางบุคลิกภาพ ซึ่งความเข้าใจของทั้งสองทักษะนี้คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้คนทำงานอย่างเราสามารถพัฒนาทักษะแห่งอนาคตได้

4. การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้พนักงาน

ถึงแม้ว่า ‘ประสบการณ์’ ของคู่ค้าจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับองค์กรหรือบริษัทมาทุกยุคสมัย แต่ปัจจุบันการให้ความสำคัญกับ ‘พนักงาน’ เป็นเรื่องที่องค์กรและบริษัททุกแห่งต้องตระหนัก โดยเฉพาะ ‘ความพึงพอใจ’ โดยรวม ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของเงินเดือนหรือค่าตอบแทนที่เพียงพอ แต่ยังรวมไปถึงการสร้างสมดุลระหว่างงาน ชีวิต และสุขภาพ ในขณะที่ยังมีความท้าทายในเรื่องงานไปจนถึงการเติบโตในเส้นทางอาชีพให้แก่พนักงานทุกคน

5. การไม่แบ่งแยกในที่ทำงาน

ปัจจุบันเทรนด์ของสังคมโลกกำลังก้าวเข้าสู่เรื่องของ ‘ความเท่าเทียม’ มากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงประเด็นของประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น หรือการโยกย้ายถิ่นฐานการทำงาน ทำให้องค์กรหรือบริษัทต่างๆ ตระหนักถึง ‘คุณค่า’ ของความหลากหลายเหล่านี้มากขึ้น นั่นหมายถึงว่า แนวคิดแบบการทำงานยุคเดิมที่มีลำดับชั้นกำลังค่อยๆ ถูกสั่นคลอนมากขึ้น เนื่องจากช่องว่างของความแตกต่างกำลังลดลง ไม่ว่าจะในแง่ของอายุ เชื้อชาติ เพศสภาพ หรือแม้กระทั่งการสำเร็จการศึกษา

6. ข้อมูลที่กลายเป็นดิจิทัล

แต่ไหนแต่ไร ‘ข้อมูล’ ส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงานในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลชี้วัดเพื่อใช้ในการประเมินการทำงาน ไปจนถึงข้อมูลในการเข้างานสำหรับพนักงาน ซึ่งปัจจุบันโลกเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้องค์กรหรือบริษัทสามารถเลือกใช้ ‘แพลตฟอร์ม’ หรือ ‘เครื่องมือ’ หลากหลายขึ้นในการ ‘จัดการข้อมูล’ เหล่านั้นไปสู่รูปแบบดิจิทัล ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่เก็บรวบรวม แต่เพื่อสร้างคุณค่าใหม่ๆ สำหรับการทำงาน รวมถึงการสร้างผลผลิตใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ทั้งคนทำงานและลูกค้าได้มากขึ้น

7. ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต

โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันทำให้เรื่องของ ‘การศึกษา’ ไม่ได้ถูกมองว่า เป็นเพียงกระบวนการเรียนรู้ของวัยเด็กหรือวัยหนุ่มสาวอีกต่อไป คนทำงาน (หรือบางครั้งคนที่เกษียณแล้ว) ก็จำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อเอาตัวรอดในโลกการทำงานให้ได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือองค์กรหรือบริษัทควรมีการเปิดอบรมหรือเวิร์กช็อปใดๆ ให้พนักงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มพูดทักษะใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสที่หลากหลายให้กับพนักงานและผลประโยชน์ของบริษัทเอง

8. การกระจายอำนาจในที่ทำงาน

ตั้งแต่โลกเผชิญกับโควิด-19 การทำงานระยะไกลหรือที่คุ้นชินกันว่า Work from Home กลายเป็นสิ่งจำเป็น และกลายเป็นสิ่งที่องค์กรหรือบริษัทหลายแห่งยังยึดถือในการทำงาน แม้จะผ่านพ้นช่วงระบาดใหญ่มาแล้วก็ตาม เพราะการทำงานในรูปแบบนี้มีข้อดีในแง่ของการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิตได้ เช่น เราสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องเสียเวลา เสียเงิน เสียสุขภาพจิตในการเดินทางไปที่ทำงาน ดังนั้น เมื่อเทรนด์การทำงานกำลังเปลี่ยนแปลง การปรับตัวขององค์กรเพื่อสร้างคนทำงานที่มีความเข้าใจการทำงานแบบผสมผสาน ทั้งสามารถเข้าออฟฟิศมาเจอหน้ากันได้ ในขณะเดียวกัน ก็พร้อมทำงานอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดแม้ไม่ได้เข้าออฟฟิศ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

อ้างอิง

https://www.forbes.com/sites/bernardmarr/2023/10/17/the-8-biggest-future-of-work-trends-in-2024-everyone-needs-to-be-ready-for-now/?sh=64de615a2ac2

https://hbr.org/2024/01/9-trends-that-will-shape-work-in-2024-and-beyond

https://techsauce.co/saucy-thoughts/what-is-generative-ai-and-how-it-changing-possibility

https://www.truedigitalpark.com/insights/articles/346/five-essential-skills-to-learn-to-advance-your-career_1

Tags: , , , , ,