สภาพอากาศประเทศไทยทะลุจุดเดือด ทะลักจุดแตก ไม่มีอะไรดีไปกว่าการดื่มอะไรหวานๆ เย็นๆ จำพวก ‘ชาไทย’ จำพวก ‘สตรอว์เบอร์รี’ หรือเครื่องดื่มสมานฉันท์อย่าง ‘ช็อกมินต์’ ฉะนั้น พอถึงเวลาบ่ายๆ อาหารกลางวันเริ่มย่อย หนังท้องตึง หนังตาหย่อน ไม่มีอะไรดีไปกว่าการสั่งเครื่องดื่มพวกนี้มาดื่ม แต่จะสั่งคนเดียวก็กะไรอยู่ ฉะนั้น ลอง ‘เปิดตี้’ หาพรรคพวกมาหารค่าส่ง มาทำให้รู้สึกผิดน้อยลง

แต่การอยากกินเครื่องดื่มพวกนี้ยามบ่ายไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร อันที่จริงมีเหตุผลที่เป็นวิทยาศาสตร์อยู่เบื้องหลัง เพื่อให้คุณสบายใจมากขึ้นเวลาสั่งน้ำพวกนี้ ที่มี ‘ค่าน้ำตาลสูง’ แม้จะเลือกแล้วว่าหวาน 25% หรือหวาน 50% ก็ตามที

1. ก็มันร้อน – อันดับแรก สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือในช่วงเวลาที่อากาศร้อน มนุษย์อาจเกิดอาการ ‘เซื่องซึม’ ได้มากขึ้น อากาศร้อนอาจทำให้คนเครียด และในเวลาเดียวกัน อากาศร้อนก็ทำให้คน ‘เดือด’ ได้ง่าย เหงื่อออกง่ายขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจยากขึ้น งานวิจัยชิ้นหนึ่งในออสเตรเลียพบว่า ในช่วงที่มี ‘คลื่นความร้อน’ อัตราการแอดมิตเข้าโรงพยาบาลที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตมีเพิ่มขึ้นกว่า 7.3% และหากสังเกตตัวเองดีๆ ก็จะพบว่าในช่วงเวลานี้ เราต่างก็มีสภาพจิตที่หงุดหงิดได้ง่ายทั้งสิ้น

ฉะนั้นจะมีอะไรที่ดีไปกว่าการสั่ง ‘น้ำหวาน’ มากินสักแก้ว ให้รู้สึกโล่งใจขึ้น อารมณ์ดีขึ้น เครื่องดื่มหวานยังกระตุ้นการปล่อยฮอร์โมน ‘โดปามีน’ ซึ่งจะทำให้รู้สึกดี เพิ่มความชุ่มชื้นในหัวใจ

ขณะเดียวกัน หากร่างกายได้รับน้ำตาลในระดับพอเหมาะ ตับอ่อนจะปล่อยอินซูลินเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้สมองสร้างสารเซโรโทนิน ช่วยลดความวิตกกังวลได้

2. น้ำตาลทำให้ ‘แอ็กทีฟ’ จริงหรือ? – ชาไทย โอเลี้ยง กาแฟโบราณ นั้นมีน้ำตาลที่มากพอจะ ‘พิฆาต’ อยู่ในระดับที่ ‘หวานตัดขา’ ความเชื่ออย่างหนึ่งก็คือการดื่มเครื่องดื่มหวานระดับนี้จะช่วยทำให้ ‘แอ็กทีฟ’ มากขึ้นในยามบ่าย ทำให้สมองกระเตื้องขึ้น แต่เอาเข้าจริงแล้ว เรื่องนี้เป็นไปได้หรือ?

คำตอบคือ ‘ไม่จริง’ การได้รับพลังงานจากเครื่องดื่มเหล่านี้เป็นไปเพียงชั่วคราว เอาเป็นว่าหากหวานมากๆ อาจตามมาด้วยภาวะเหนื่อยล้า ไม่มีสมาธิ และหงุดหงิด อีกทั้งเครื่องดื่มหวานตัดขาเหล่านี้ ยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ซึ่งหมายความว่าหากดื่มเข้านานๆ ยิ่งกินมากเท่าไร ยิ่งรู้สึกขาดน้ำมากขึ้น ซึ่งเป็นการบั่นทอนสมาธิ บั่นทอนจิตใจในระยะยาว และแน่นอน สิ่งที่ตามมาหนีไม่พ้นการ ‘อ่อนเพลีย’ และง่วงนอน

ขณะเดียวกัน หากคุณรู้สึก ‘ติด’ น้ำหวานมากเท่าไร ระยะยาวย่อมไม่เป็นผลดีแน่ เพราะเครื่องดื่มรสหวานอาจนำมาทั้งโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งจะพาคุณไปสู่อีกหลายโรคภัยไข้เจ็บ และเท่ากับว่าคุณต้องออกกำลังกายมากขึ้น เพื่อขับผลจากความหวานเหล่านี้ออกไปจากร่างกาย

3. อันที่จริงก็ไม่ได้อยากกินหรอก เป็นเรื่องโฆษณาและอุปทานหมู่ – แน่นอนว่าปัจจุบันเราอยู่ในโลกของการ ‘ยิงโฆษณา’ เมื่อขึ้นรถไฟฟ้ามาทำงานก็เจอกับโฆษณาร้านน้ำหวาน ร้านน้ำอัดลม เมื่อลงรถไฟฟ้าก็เจอร้านชาไข่มุกชื่อดัง และเมื่อทำงาน แอบเปิดเฟซบุ๊ก เปิดไอจี เปิด TikTok ก็เจอโฆษณาทั้งจากที่ถูกยิงแอดโดยตรง ทั้งจากบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ที่บอกว่าเครื่องดื่มนี้ดีจริงๆ อร่อยจริงๆ สำทับด้วยเสียงจากเพื่อนโต๊ะข้างๆ ที่บอกว่า ‘สั่งสิ’

ผลจากโฆษณา ผลจากบรรดาเพื่อนฝูง ทำให้รู้ตัวอีกที ก็เปิดตี้สั่งชาไทยยี่ห้อดัง หรือสั่งกาแฟที่มีโปร 7 แถม 1 ไปเรียบร้อย รู้ตัวอีกทีก็กินอิ่ม จุกน้ำตาลไปในบัดดล

4. แล้วบ่ายนี้จะสั่งอะไรดี? – ตอบแบบ ‘กำปั้นทุบดิน’ ลองหาอะไรที่ไม่ได้หวานมากนัก เป็นต้นว่า ‘น้ำส้มคั้นสด’ ‘น้ำมะนาวเปรี้ยวๆ’ หรือจำพวกเครื่องดื่มเบอร์รี (น้ำตาลน้อย) หรือสมูตตี้ก็พอไหว ส่วนถ้าไปสายคาเฟอีน ลองหาชาดำ ชาเขียวเย็น ชาสมุนไพรเย็น ที่ไม่หวาน หรือ ‘กาแฟดำ’ มารับประทานก็น่าจะพอให้คุณกระปรี้กระเปร่ามากขึ้นได้

ทางที่ดี ควรเริ่มต้นจากการพักผ่อนให้เพียงพอ จัดลำดับความสำคัญของงานที่ทำในแต่ละวัน ทำงานในเวลางานให้มากขึ้น คุยให้น้อยลง พร้อมๆ กับจิบเครื่องดื่มเหล่านี้ไปด้วย เชื่อเถิดว่างานจะออกมาดี โดยไม่ต้องเปิดตี้สั่งน้ำอร่อยมาให้เครียดภายหลัง หรือทำให้เงินหมดเร็วก่อนสิ้นเดือน

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://shorturl.asia/g5a2r

https://shorturl.asia/doEh1

Tags: , , , ,