‘ความง่วง’ ไม่ใช่เรื่องแปลก มันคือกลไกทางร่างกายที่ส่งเสียงเตือนว่าถึงเวลาพักผ่อนแล้ว แต่หากความง่วงเจ้ากรรมดันมาทำงานในระหว่างที่เราอยู่ออฟฟิศ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นช่วงเวลากลางวัน นั่นอาจไม่ใช่เรื่องปกตินัก เพราะมันอาจรบกวนสมาธิในการจดจ่อกับงาน ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน และพาลไปถึงเรื่องของปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน

เมื่อความง่วงอาจกลายเป็นอุปสรรคในการทำงาน เราควรมาเริ่มต้นดูกันก่อนว่า เจ้าความง่วงนี้มีสาเหตุจากอะไร?

เว็บไซต์ทางการแพทย์ระบุว่า สาเหตุของการง่วงเหงาหาวนอนระหว่างวัน มักเกิดจาก 3 ข้อ คือ รูปแบบการใช้ชีวิต ปัญหาสุขภาพจิต และปัญหาสุขภาพร่างกาย ซึ่งแต่ละข้อก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป

– รูปแบบการใช้ชีวิต หมายถึง วิธีที่เราใช้ชีวิตในแต่ละวันล้วนส่งผลถึงอาการง่วงนอนระหว่างวันไม่มากก็น้อย ลองนึกภาพว่า เราเป็นนักย่ำราตรีที่กลับบ้านหัวถึงหมอนเกือบเช้าทุกวัน หรือนอนดึกเพราะเล่นเกม ดูซีรีส์ สิ่งเหล่านี้ล้วนเบียดเบียนเวลาปกติของร่างกายในการพักผ่อนทั้งสิ้น และแน่นอนว่ามันย่อมส่งผลต่อเวลากลางวันที่เรากลับมาใช้ชีวิตปกติ ยังไม่นับเรื่องของการบริโภคคาร์โบไฮเดรตที่มากเกินไปในระหว่างวันด้วย

– ปัญหาสุขภาพจิต หมายถึง เรื่องของอารมณ์ที่ส่งผลต่อความรู้สึก ทั้งความเบื่อหน่าย ความกังวล ไปจนถึงเรื่องของภาวะซึมเศร้า สิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอนระหว่างวันได้ทั้งสิ้น

– ปัญหาสุขภาพร่างกาย หมายถึง โรคต่างๆ ที่เราเผชิญอยู่ เช่น โรคนอนไม่หลับ โรคหยุดหายใจขณะหลับ หรือโรคลมหลับ เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้ก็ส่งผลให้เกิดอาการง่วงนอนระหว่างวันได้เช่นกัน

ทว่าในเมื่อเรายังต้องลุกจากเตียงไปทำงานทุกวัน สิ่งที่เราทำได้ (ยกเว้นเรื่องของปัญหาทางด้านสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายที่ควรปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด) คือการพยายาม ‘ปรับรูปแบบชีวิต’ ให้มีการพักผ่อนอย่างเพียงพอ หรือ ‘เปลี่ยนพฤติกรรม’ ต่างๆ เช่น เรื่องของอาหารการกิน และการออกกำลังกาย

แต่หากความพยายามในการปรับรูปแบบการใช้ชีวิตยังไม่เข้าที่เข้าทางนัก (ก็มันจะไปง่ายอย่างนั้นได้ไงล่ะ) และความง่วงยังคงตามหลอกหลอนในช่วงเวลากลางวันที่อยู่ออฟฟิศหรือที่ทำงาน วิธีที่ง่ายที่สุดคือการมองหาเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ เพื่อ ‘เติม’ พลังให้กับร่างกายเบื้องต้นก่อนได้ ดังนี้

1. สัก ‘ช็อต’ ก่อนไหม?

หากเริ่มมีอาการง่วงในที่ทำงาน การดื่มคาเฟอีนสักช็อตก็อาจเป็นการ ‘บูส’ พลังงานเร่งด่วนให้คุณได้ เพื่อจัดการงานที่จำเป็นให้เสร็จเรียบร้อย เพราะคาเฟอีนจะเป็นตัวกระตุ้นเพิ่มกิจกรรมในสมองและระบบประสาท ช่วยต่อสู้กับความง่วงนอนได้ แต่ข้อควรระวังก็คือ อย่าบริโภคคาเฟอีนมากเกินไป เพราะมันอาจส่งผลตรงข้ามทำให้เกิดอาการ ‘กระวนกระวาย’ ใจได้เช่นกัน

2. งีบสั้นๆ 20 นาที

ไม่ต้องกังวลว่า ‘การงีบหลับ’ ในที่ทำงานจะส่งผลเสีย เพราะมีการวิจัยที่ระบุว่า พนักงานที่นอนพักกลางวันเป็นระยะเวลาสั้นๆ (Power nap) มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น และการงีบหลับ 20 นาทีต่อวันช่วงระหว่างเวลาบ่ายโมงถึงบ่ายสาม จะช่วยเสริมพลังได้ เพราะเหมือนเป็นการเพิ่มพลังอีกครั้งก่อนกลับมาลุยงานต่อ แต่ข้อควรระวังก็คือ อย่างีบนานเกิน 20 นาที จนกลายเป็น ‘การนอน’ ไปเสียล่ะ

3. ลองลุกจากโต๊ะไปป่วนคนอื่น

การนั่งอยู่กับที่นานๆ ไม่ส่งผลดี ทั้งในแง่ของอาการ ‘ออฟฟิศซินโดรม’ ต่างๆ ที่อาจผลัดเปลี่ยนแวะเวียนมาถามหา รวมถึงการทำให้เกิดอาการง่วงเหงาหาวนอนได้เช่นกัน ทางที่ดีลองหาเวลาลุกเปลี่ยนบรรยากาศไปเดินเล่น ทักทาย หรือแวะไปป่วนเพื่อนที่แผนกอื่นสักหน่อย (ดูหัวหน้าให้ดีๆ ก่อนล่ะ) เพราะจะทำให้ระบบเลือดในร่างกายไหลเวียนได้ดีขึ้น และเป็นการเพิ่มความตื่นตัวให้กับการทำงานของเราได้ นอกจากนี้ การเดินไปรอบๆ ที่ทำงานอาจทำให้เราเกิด ‘ปิ๊ง’ ไอเดียใหม่ๆ ได้ด้วยเช่น กัน

4. ฟังเพลงจากเพลย์ลิสต์โปรดหน่อยไหม

บรรยากาศของการทำงานที่เงียบสงบอาจส่งผลต่อสมาธิได้ก็จริง แต่หากมันสงบจนกลายเป็นสงัดราวกับอยู่วัด ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการง่วงได้ การปลุกสมองด้วยบทเพลงที่เราชอบ จังหวะดนตรีที่คึกคัก ก็เป็นทางเลือกที่ดีให้เรากระปรี้กระเปร่าขึ้น แต่ข้อควรระวังคืออย่าให้มันเสียงดังจนไปรบกวนเพื่อนพนักงานคนอื่นๆ ล่ะ หูฟังก็มี ใส่ซะ โดนเพื่อนด่าจะหาว่าไม่เตือน

5. ทำให้พื้นที่นั่งทำงาน ‘สว่าง’ เพียงพอ

‘แสง’ ส่งผลต่อความรู้สึกฉันใด ก็ส่งผลต่อความง่วงในที่ทำงานได้ฉันนั้น การปล่อยให้พื้นที่นั่งทำงานของคุณมีแสงสว่างไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลในแง่ความรู้สึกให้เกิดอาการง่วงระหว่างวันได้ ดังนั้น หากโต๊ะทำงานของเราอยู่ใกล้หน้าต่าง การเปิดม่านให้แสงสว่างส่องเข้ามาเพิ่มเติมจากเพียงแค่แสงจากหลอดไฟในออฟฟิศ จะสามารถเพิ่มความตื่นตัวในการทำงานได้

อ้างอิง

https://www.healthline.com/health/daytime-sleepiness/tips-for-work#6.-Keep-your-workspace-bright

https://www.businessnewsdaily.com/8165-sleeping-at-work.html

Tags: , , , ,