ความมั่นใจนับเป็นคุณลักษณะหนึ่งที่สำคัญของมนุษย์ เช่นเดียวกับในโลกของการทำงาน ลองสังเกตเพื่อนร่วมงานบางคนที่มีความมั่นใจ พวกเขามักจะมี ‘เหตุผล’ ในแง่ของความคิด และมักตัดสินใจบางอย่างได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำ การแสดงความมั่นใจในการทำงานจะทำให้ผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาพลอยมั่นใจไปด้วย ในทางกลับกัน หากผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีความมั่นใจ การจัดการทีมก็ย่อมง่ายขึ้นตาม

แน่นอนว่าในแง่นี้ การมี ‘ความมั่นใจ’ ย่อมส่งผลดีมากกว่าเสีย

แต่ทุกเหรียญมีสองด้านเสมอ เพราะ ‘ความมั่นใจ’ ที่มากจนเกินพอดี ก็สามารถสร้างปัญหาได้เช่นกัน ไม่ว่าพนักงานหรือหัวหน้างาน หากมีความมั่นใจสูงเกินไป พวกเขาหรือเธอก็อาจกลายเป็น ‘ตัวทำลาย’ บรรยากาศที่ดีในการทำงานได้อย่างไม่คาดคิด

และในบางครั้ง หากลองสำรวจลงไปในเบื้องหลัง ‘ความมั่นใจ’ นั้น เราอาจพบว่าเป็นเพียง ‘ความว่างเปล่า’ ก็เป็นได้ เหมือนที่ เคลลี ล็อควูด ซีอีโอ และประธานขององค์กร Leading Women ที่ทำการฝึกฝนกลุ่ม ‘ผู้นำ’ ที่มีศักยภาพสูงเคยกล่าวว่า “ใครๆ ก็เชื่อสุดใจว่าตนเองมีความมั่นใจ แต่สิ่งที่พวกเขาไม่รู้ คือ พวกเขาไร้ความสามารถ”

นั่นหมายถึงว่า แม้เหล่าพนักงานที่มีความมั่นใจสูง ‘เชื่อ’ ว่าตนเองกำลังทำงานได้อย่างดีเยี่ยม หรือ ‘คิด’ ว่าตนเองเป็นฟันเฟืองสำคัญขององค์กร แต่ในความเป็นจริงอาจเป็นไปได้ว่า ‘ประสิทธิภาพ’ ที่พวกเขาแสดงออกมาอาจกลับตรงกันข้าม

สิ่งที่อันตรายก็คือ ‘ความมั่นใจ’ ที่มากเกินไปก็ไม่ต่างกับ ‘อัตตา’ มหาศาล ที่ทำให้พวกเขาคิดว่าตนเองไม่จำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานใดๆ และไม่ต้องการคำแนะนำจากผู้อื่น 

ยังไม่นับที่บางคนที่มีความมั่นใจสูงๆ อาจส่งผลต่อการแสดงออกในที่ทำงานบางอย่างที่ทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึก ‘หงุดหงิด’ แต่พวกเขากลับรู้สึกว่าตนเอง ‘ไม่ได้ผิด’ อะไร และนั่นอาจเป็นสัญญาณที่ทำให้บรรยากาศของที่ทำงานแย่ลง

แล้วเราจะมีวิธีจัดการคนที่มีความมั่นใจสูงเหล่านี้อย่างไร

1. ระบุปัญหาให้พวกเขารับรู้โดยตรง

หลายครั้งที่หัวหน้างานมักเลือกที่จะ ‘เลี่ยง’ การเผชิญหน้ากับพนักงานที่มีความมั่นใจมากเกินไป ซึ่งอาจกลายเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมเหล่านั้นในทางอ้อม ดังนั้น การเรียกพวกเขามานั่งคุยเป็นการส่วนตัวและพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาเป็นวิธีที่ดี แต่อย่าลืมว่าต้องแจ้งด้วยว่า พฤติกรรมของพวกเขาส่งผลต่อบรรยากาศทีมอย่างไร ที่สำคัญ การพูดคุยต้องไม่เป็นไปในลักษณะที่กระทบต่อ ‘ศักดิ์ศรี’ ของพวกเขา แต่ให้พยายามสื่อสารว่า ‘ความอ่อนน้อมถ่อนตน’ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำงานร่วมกัน

2. กำหนดขอบเขตที่ชัดเจนและผลบังคับใช้ที่ตามมา

ทำให้พนักงานรับรู้ว่า แม้พวกเขาจะมีความสามารถสูงในการทำงาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะมีอิสระในการ ‘เย่อหยิ่ง’ และแสดงออกหรือพูดทุกสิ่งอย่างที่ต้องการ โดยไม่คำนึงว่าอาจไปกระทบผู้อื่น ดังนั้น การมีข้อบังคับที่ทำให้พนักงานที่มีความมั่นใจสูงเข้าใจชัดเจนว่า ‘ขอบเขต’ ที่พวกเขาต้องเคารพคืออะไร นับเป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่เช่นนั้น การแสดงออกของพวกเขาอาจกลายเป็นการล้ำเส้นพนักงานคนอื่นๆ 

3. พยายามหลีกเลี่ยงการเอาใจพนักงานที่มีความมั่นใจสูงเกินไป

แม้ว่าพนักงานที่มีความมั่นใจสูงบางคนจะทำงานที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่บางครั้งการ ‘ชมเชย’ พวกเขาอย่างต่อเนื่อง อาจกลับกลายเป็นดาบสองคมที่ทำให้ ‘อัตตา’ ของพวกเขาสูงขึ้นอีก จนทำให้สถานการณ์แย่ลง เพราะพวกเขาอาจคิดว่าตน ‘เหนือ’ กว่าพนักงานคนอื่น ดังนั้น ชั่งน้ำหนักให้ดี การชื่นชมไม่ใช่เรื่องผิด แต่อย่าเอาใจพนักงานที่มีความมั่นใจสูงเกินไปเพียงเพราะพวกเขาทำงานเก่ง และพยายามดึงให้พวกเขาโฟกัสคำชมไปที่เรื่องงานมากกว่าตัวตน

4. ลองตั้งคำถามหรือโต้แย้ง

บางครั้งการพยายาม ‘โตแย้ง’ สามารถช่วยจัดการพนักงานที่มีความมั่นใจสูงได้ และหากพวกเขาพยายามแย้งกลับ ต้องไม่ยอมถอย โดยเฉพาะหากสิ่งที่พวกเขาทำนั้นเป็นเรื่องที่ผิดจริง สิ่งสำคัญคือ ต้องมีเหตุผลที่มากเพียงพอรองรับในการโต้แย้งกับพนักงานเหล่านั้น และจำไว้ว่า สิ่งที่กำลังอยู่ไม่ใช่การ ‘เอาชนะ’ แต่เป็นการพยายามช่วย ‘ขจัดอัตตา’ ของพวกเขาให้เบาบางลง

Tags: , ,