“เรายังดีไม่พอสำหรับงานนี้”

หลายครั้งในฐานะพนักงานออฟฟิศมักเผชิญความรู้สึก ‘ดีไม่พอ’ ในการทำงาน หรือน่าจะ ‘ทำได้ดีกว่านี้’ นั่นเป็นเรื่องปกติที่แม้กระทั่งมืออาชีพต้องพบเจอ แต่มันจะเริ่มไม่ปกติเมื่อความรู้สึกเหล่านี้ ‘ครอบงำ’ ชีวิต และส่งผลต่อเราในทุกวันที่ตื่นนอนขึ้นมา จนกลายเป็นความทุกข์ทรมานจากพฤติกรรมที่เสมือนเป็นการบ่อนทำลายตนเองลงไปเรื่อยๆ เช่นนี้

การตั้งคำถามถึงความสามารถของตนเองเพื่อพัฒนาเป็นสิ่งที่ดี แต่ความรู้สึกดีไม่พอนั้นต่างออกไป เพราะมันกดให้เราเริ่มมีความภูมิใจในตนเองต่ำลง จนอาจกลายเป็นไฟในการทำงานที่ค่อยๆ มอดดับ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ

สัญญาณของความรู้สึกดีไม่พอมีหลายข้อ ลองสังเกตกันดู

1. ความนับถือตนเองต่ำ-นั่นเพราะขาดความมั่นใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุเป้าหมายของการทำงาน

2. เกิดคำถามในความท้าทายของการงาน-ความรู้สึกดีไม่พอจะสั่นคลอนความท้าทายในบทบาทของการทำงาน รู้สึกตื่นเต้นน้อยลง

3. อ่อนไหวต่อคำแนะนำ-แม้จะเป็นคำแนะนำที่สร้างสรรค์และมีคุณค่าสำหรับการเติบโตก็ตาม

4. เริ่มอิจฉา-ความสำเร็จและการถูกยกย่องของคนอื่นกลายเป็นความน่าอิจฉาสำหรับเรา

5. อยากล้มเลิก-ความรู้สึกดีไม่พออาจทำให้เรารู้สึกอยากแยกออกจากกลุ่มหรือในสภาพแวดล้อมของการทำงาน

จะเห็นได้ว่า หากปล่อยไว้นานวัน ความรู้สึกดีไม่พอนั้นอาจฝังรากลึกมากจนเกินจะถอน และทำให้เราต้องดิ้นรนมากขึ้นในการใช้ชีวิตและทำงานในแต่ละวัน

ถึงเวลาแล้ว ที่จะเอาชนะความรู้สึกนี้และเพิ่มความมั่นใจสักหน่อย!

1. นิยามความสำเร็จของตนเองใหม่

ความรู้สึกดีไม่พอในที่ทำงานอาจเกิดขึ้นได้ หากเราเริ่มคิดว่าตนเองไม่ประสบความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายของการทำงานเลยในช่วงที่ผ่านมา หากเป็นเช่นนั้น การกำหนดแนวคิดเรื่อง ‘ความสำเร็จ’ ขึ้นใหม่สามารถช่วยได้ โดยการกลับมาให้คำจำกัดความเรื่องความสำเร็จอีกครั้ง และพิจารณาว่าความคาดหวังดังกล่าวนั้นเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งถ้าความคาดหวังนั้นสมเหตุสมผล ก็เป็นไปได้ที่เราจะสามารถบรรลุเป้าหมายนั้นได้

2. พิจารณาถึงความสำเร็จ

หลายคนบอกว่า เราควรมองข้ามความสำเร็จในอดีตและมุ่งไปหาความท้าทายในปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องไม่ดี หากแต่วันนี้เรากำลังเผชิญกับความรู้สึกดีไม่พอ การย้อนกลับไปมองความสำเร็จที่ผ่านมาของตนเองก็สามารถช่วยยืนยันทักษะและความสามารถที่เรามีอยู่ และการทำเช่นนั้นจะเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้มี ‘มุมมองที่ถูกต้อง’ เกี่ยวกับความสามารถในการทำงานของเรา มากกว่าการปล่อยให้ความรู้สึกดีไม่พอครอบงำจนคิดว่าตนเองมีแต่ความแย่

3. ลองคิดริเริ่มบางสิ่ง

ความรู้สึกดีไม่พออาจเกิดจากความคิดที่ว่า เราไม่ได้รับการยอมรับจากสิ่งภายนอก การลองริเริ่มนำเสนอบทบาทของเรามากขึ้นอาจช่วยได้ เช่น การเสนอความช่วยเหลือแก่เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ในสิ่งที่เรารอบรู้หรือมีทักษะ การลองให้ความช่วยเหลือในเวลาที่ทีมต้องการความคิดมากๆ หรือลองเสนอความเปลี่ยนแปลงบางอย่างต่อการทำงานที่จะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้เพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานเริ่มสังเกตเห็นความคิดริเริ่มของเราได้

4. ลองขอคำแนะนำหรือความคิดเห็น

หลายครั้งที่ความรู้สึกดีไม่พอจากการทำงานเกิดขึ้นได้เนื่องจากขาด ‘คำติชม’ เพราะเมื่อไร้คำติชมในการทำงาน เราก็ไม่มีทางรู้ว่าตนเองได้ทำตามความคาดหวังของทีมมากน้อยแค่ไหน หรือประสบความสำเร็จหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อความสามารถตนเองในเวลาต่อมา ดังนั้น การลองขอรับคำติชมผลงานตนเองจากเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานบ้างก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย

5. สร้างสัมพันธ์มากกว่าแยกตัว

อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่าความรู้สึกดีไม่พอในการทำงาน อาจทำให้เราอยากแยกตัวออกจากกลุ่มหรือสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์แย่ลง ดังนั้น แทนที่จะ ‘ถอนตัวออกมาเงียบๆ’ การลองสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานที่สามารถรับฟังข้อเสนอหรือมุมมอง และให้การสนับสนุนเราได้ อาจเป็นประโยชน์ทั้งในแง่ของการทำงาน และการเอาชนะหรือลดความรู้สึกดีไม่พอที่เกิดขึ้น

อ้างอิง

https://www.themuse.com/advice/how-to-get-over-the-feeling-that-youre-not-good-enough-for-your-job

https://www.indeed.com/career-advice/career-development/feeling-inadequate-at-work

https://houseofself.co.uk/the-not-good-enough-paradox-and-5-ways-to-work-through-it/

Tags: , ,